ThaiPublica > เกาะกระแส > 1 ปีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติหลังน้ำท่วมปี’54 – เล็งลดเบี้ยประกันเอสเอ็มอีและที่อยู่อาศัย

1 ปีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติหลังน้ำท่วมปี’54 – เล็งลดเบี้ยประกันเอสเอ็มอีและที่อยู่อาศัย

13 มีนาคม 2013


เปิดผลงาน 1 ปีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ รับประกันภัยต่อเพียง 51,527 ล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ 4-5 แสนล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นฟื้น พร้อมเล็งลดเบี้ยประกันให้กลุ่มที่อยู่อาศัยและเอสเอ็มอี เผยปีแรกมีรายได้ค่าเบี้ยประกัน 389 ล้านบาท

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ

มหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งจัดว่าเป็นครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 50-70 ปีของประเทศไทย และเป็นมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารโลกประเมินความเสียหายว่าสูงถึง 1.35 ล้านล้านบาท และทำให้เศรษฐกิจแทบไม่ขยายตัว หรือขยายตัวเพียง 0.1% เท่านั้น

ภัยพิบัติครั้งนั้นยังทำให้นักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สูญเสียความเชื่อมั่น และตื่นตระหนก เนื่องจากไม่มั่นใจรัฐบาลว่า ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกจะสามารถบริหารจัดการน้ำท่วมได้หรือไม่

แต่ผ่านมากว่า 1 ปี ความพยายามของรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายเรียกความเชื่อมั่นและแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็ได้ทำให้ความเชื่อมั่นเริ่มฟื้นกลับมาดีขึ้น โดยในระยะสั้นมีการเร่งตั้งกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ ด้วยการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 50,000 ล้านบาท และในระยะยาวมีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ

โดยเฉพาะ “กองทุนส่งเสริมการประกันภัย” ที่ตั้งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คือ หลังออก พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเพียงเดือนกว่า ก็สามารถจัดตั้งและดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ 28 มีนาคม 25555 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และทำให้ธุรกิจประกันภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด โดยต้องทำให้เบี้ยประกันปรับลดลงมาในลักษณะที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป

กองทุนฯ จะมีบทบาทในการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นจริง เพื่อรับความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ

ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยเดียวกันทั่วประเทศสำหรับแต่ละกลุ่ม คือ อยู่ระหว่าง 0.5-1.25% เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยทุกกลุ่มมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ และจูงใจให้มีการทำประกันภัยอย่างกว้างขวาง เพื่อเกิดการกระจายตัวของความเสี่ยง แต่การคุ้มครองจะเป็นแบบจำกัดความรับผิด (Sublimit) หรือ จำกัดความคุ้มครองความเสียหาย

อัตราเบี้ยประ กัน ภัย_Page_2

ในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ก็จะ “ครบรอบ 1 ปีการดำเนินการของกองทุนฯ” ซึ่งปรากฏว่ามีผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดย “นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฯ เปิดเผยว่า ตอนแรกคิดว่าจะมีการทำประกันภัยต่อมาถึงเราเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท หรือ 400,000-500,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามาไม่มากเพียง 51,527 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทประกันของไทยและบริษัทประกันต่างประเทศเริ่มเข้าใจมากขึ้น ทำให้มีช่องทางไปทำประกันต่อ และสามารถรับความเสี่ยงเองได้มากขึ้น โดยบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 52 บริษัท

ตัวเลขล่าสุด ณ 8 กุมภาพันธ์ 2556 มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุน หรือการรับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันภัยเพียง 51,527 ล้านบาท แบ่งเป็นกรมธรรม์ของบ้านที่อยู่อาศัย 28,323 ล้านบาท ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 8,049 ล้านบาท และอุตสาหกรรม 15,155 ล้านบาท

“แสดงว่าเขาประกันภัยต่อหรือเขาสามารถรับประกันทำธุรกิจไปได้เอง กับอีกประเด็นคือการทำประกันภัยน้ำท่วมลดลง แทนที่ผู้ทำประกันจะทำประกันภัย 10,000 ล้านบาท เขาก็ไม่ทำ อาจทำเหลือแค่ 1,000 ล้าน หรือ 2,000-3,000 ล้านบาท ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น” ประธานกรรมการกองทุนฯ กล่าว

การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประ กัน ภัย_Page_1

จากตารางจะเห็นว่า บริษัทประกันภัยมีความเชื่อมั่นและรับความเสี่ยงได้มากขึ้น อาทิ กรณีบ้านที่อยู่อาศัย ในปี 2555 รับประกันภัยไว้เองเพียง 35% ที่เหลือซื้อประกันภัยต่อ แต่ในปี 2556 รับประกันภัยไว้เอง 78% หรือเพิ่มขึ้น 43% ที่เหลือซื้อประกันภัยต่อซึ่งลดลงจากก่อนหน้า

“แนวโน้มการประกันภัยต่อลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่าธุรกิจประกันภัยสามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากช่วงแรกที่มีปัญหาบริษัทรับประกันภัยต่อเขาจะรับน้อยหรือไม่อยากรับ แต่เราก็เปิดว่า เรารับทั่วประเทศเท่ากันหมด คุณไม่มีที่ไปมาที่นี่เรารับหมด ในแง่ประเทศเราประเทศไทยดูแลให้หมด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น” ประธานกรรมการกองทุนฯ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงภัยพิบัติปลายปี 2554 นายพยุงศักดิ์เล่าว่า บริษัทประกันภัยต่างประเทศไม่รับประกันต่อเลย มองประเทศไทยเป็นจุดอันตรายทั้งประเทศ ในช่วงแรกๆ ถ้ารับก็จะคิดเบี้ยประกันภัย 8-10% ซึ่งสูงมาก เพราะไม่ต้องการรับประกันภัย ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก ภาครัฐจึงได้ตั้งกองทุนภัยพิบัติขึ้นมาดูแล ซึ่งเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 และหลังจากนั้นความเชื่อมั่นดีขึ้นมาก เนื่องจากรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว

ดังนั้น ปัญหาบริษัทประกันภัยต่างประเทศไม่รับประกันภัยต่อ และปัญหาค่าเบี้ยประกันแพง จึงเริ่มคลี่ลายเพราะความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา

แต่ประธานกรรมการกองทุนฯ ย้ำว่า ถ้าไม่สามารถไปซื้อประกันอื่นที่ถูกกว่ากองทุนฯได้ ก็ให้มาซื้อที่กองทุนฯ เพราะเป็นนโยบายของกองทุนฯ ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่น ต้องการให้ธุรกิจประกันภัยกลับสู่ภาวะปกติ

ขณะที่การทำประกันภัยน้ำท่วมในอดีต นายพยุงศักดิ์เล่าว่า บริษัทประกันภัยของไทยมีประมาณ 50-60 บริษัท มีทุนประกันภัยประมาณ 90,000 ล้านบาท เวลาประกันเรื่องน้ำท่วมมักจะแถมให้ คือ เมื่อประกันภัยความเสี่ยงรวม (all risks insurance) แล้วจะแถมประกันภัยน้ำท่วมให้ ซึ่งเบี้ยประกันพูดกันที่ 0 .001% น้อยมาก ทุกคนก็ทำประกันภัยน้ำท่วมเต็มที่

อาทิเช่น ทำประกันภัย all risks วงเงิน 1,000 ล้านบาท ก็ทำประกันภัยน้ำท่วม 1,000 ล้านบาท หรือทำประกันภัย all risks วงเงิน 10,000 ล้านบาท ก็ทำประกันน้ำท่วม 10,000 ล้านบาท นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทประกันภัยได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 เพราะรับประกันไว้แล้วก็ต้องรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันการทำประกันน้ำท่วมถูกแยกจาก all risks และมีการคิดเบี้ยประกันแพงขึ้น ทำให้การซื้อประกันภัยน้ำท่วมไม่มากเหมือนในอดีต

“โดยสรุป เบี้ยประกันหลายบริษัทบอกว่าเขาเริ่มไปทำเองแล้ว ก็ผ่านกองทุนน้อยลง ยกเว้นทางด้านของบ้านที่อยู่อาศัย เพราะเราพ่วงเข้าไปอยู่กับอัคคีภัย ก็เยอะหน่อย” นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากองทุนฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทประกันภัย 4 แห่ง ที่มีความเชื่อมั่น สามารถรับประกันภัยพิบัติไว้เองโดยไม่ต้องเข้าร่วมโครงการกองทุนฯ ได้แก่ 1. บริษัทแอกซ่าประกันภัย 2. บริษัทกรุงเทพประกันภัย 3. บริษัทบางกอกสหประกันภัย และ4. บริษัทเทเวศประกันภัย

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2555 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2556 ประธานกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนฯ ได้รับเบี้ยประกัน 389 ล้านบาท เป็นเบี้ยประกันภัยของกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุด 169 ล้านบาท รองลงมาเป็นบ้านที่อยู่อาศัย 141 ล้านบาท และธุรกิจเอสเอ็มอี 78 ล้านบาท (ดูรายละเอียดจากตารางรายงานความคืบหน้าฯ)

ความคืบหน้าประ กัน ภัย_Page_3

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดดำเนินงานมา 1 ปี ยังไม่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากน้ำไม่ท่วม เพราะฉะนั้น เงินเข้ากองทุนเป็นรายจริงๆ 389 ล้านบาท และน้ำก็คงไม่ท่วม แปลว่าไม่ต้องจ่ายเงินสินไหมทดแทน ดังนั้นกองทุนฯ ยังไม่ต้องควักเงินที่เตรียมไว้ 50,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง มีการเตรียมเงินไว้ให้แล้วหากจำเป็น

“ตั้งแต่กองทุนฯ เปิดดำเนินการ เรายังไม่ซื้อประกันภัยต่อเลย ตอนนั้น เขามาประมูลกัน 2 บริษัท เพื่อมาช่วยดูเรื่องการประกันภัยต่อ เพราะตอนแรกคิดว่าจะมีวงเงินประกันมาหลายหมื่นล้านบาท ถ้าวงเงินประกันที่เกิน 4-5 แสนล้านบาท เราคิดว่า จากเงินกองทุนที่มี 50,000 ล้านบาท อะไรที่เสียหายจะเก็บไว้ 2-3 หมื่นล้าน ที่เหลือก็ไปทำประกันภัยต่อ แต่ตอนนี้เบาใจเพราะน้อย เลยไม่จำเป็นต้องซื้อ” นายพยุงศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ กองทุนฯ กำลังมีแนวคิดปรับลดเบี้ยประกันภัย คือ ถ้าเหตุการณ์นิ่ง จะลดเบี้ยประกันภัยในส่วนของบ้านที่อยู่อาศัย 0.5% ลงได้ไหม รวมถึงในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีจะยังอยู่เท่าเดิม 1% หรือปรับลดลงได้ไหม เพราะเราอยากทำให้ต้นทุนถูกสำหรับผู้ประกอบการ โดยอาจจะใช้ทฤษฎีคณิตศาสตร์ประกันภัยมาช่วยในการคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยของประเทศ แล้วคิดเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงของพื้นที่ อาทิ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะเสี่ยงมากหน่อย เป็นต้น การทำอย่างนี้ คือลักษณะการประกันภัยที่ถูกต้อง

“เรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวคิด ต้องขอคุยกันโดยมอบให้ทางคณะอนุกรรมการประกันภัยไปลองคิดดู” นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากกองทุนฯ จะรับประกันภัยคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ ให้แก่ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมแล้ว รัฐบาลยังขยายบทบาทของกองทุนฯ ให้เข้ารับ “การประกันภัยข้าวนาปี” ปีการผลิต 2555 โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าว จะได้รับความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ สำหรับภัยพิบัติธรรมชาติ 6 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย ส่วนประกันภัยในส่วนภัยศัตรูพืชและโรคระบาด เกษตรกรจะได้รับความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่

สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยข้าวกำหนดไว้ที่ 120 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 60 บาท ส่วนที่เหลืออีก 60 บาทรัฐบาลเป็นผู้รับภาระเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่ม 69 บาท แต่หากเกษตรกรเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเบี้ยเพียง 50 บาทต่อไร่ ซึ่งการจ่ายเบี้ยประกันต้องจ่ายตามฤดูการผลิต

โดยตลอดปี 2555 มีเกษตรกรทั่วประเทศทำประกันภัยข้าว (ข้าวนาปี) ปีการผลิต 2555 จำนวน 45,272 ราย มีพื้นที่ที่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 865, 863 ไร่ แต่มีเกษตรกรขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 10,908 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 196,727 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรภาคใต้เป็นพื้นที่เดียวไม่มีปัญหา จึงไม่ขอรับค่าสินไหมทดแทน

ประกันภัยข้าว_Page_4

“ในส่วนการประกันภัยข้าว มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ในกรณีนี้อาจขาดทุนเพราะเงินจ่ายค่าสินไหมสูงกว่าค่าเบี้ยประกันที่ได้รับ แต่โดยภาพรวมแล้วกองทุนฯ ไม่ขาดทุน โดยเม็ดเงินที่ได้ เรามีค่าใช้จ่าย เหลือก็อยู่ในบัญชี ยังไม่คิดลงทุน เรื่องเงินที่มีอยู่ จะมีคณะกรรมการดูแลผลประโยชน์ ” นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลประมาณการเงินสดรับของกองทุนฯ จากการประกันภัยพิบัติตามสัดส่วนกองทุนฯ ระบุว่า ณ วันที่ 1 เม.ย. 2556 จะมีค่าเบี้ยประกันภัยต่อสัดส่วนกองทุนฯ 321 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย) 23 ล้านบาท ดังนั้น ค่าเบี้ยประกันภัยสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยจะมีจำนวน 298 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ของกองทุนฯ

สำหรับทิศทางของกองทุนฯ จะทำหน้าที่รับประกันภัยพิบัติชั่วคราวหรืออยู่ถาวรนั้น ประธานกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแนวนโยบาย แต่ในกฎหมายระบุไว้ประมาณว่าหากหมดความจำเป็นก็เลิกได้ โดยให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกได้ แต่กองทุนฯ ถ้าดำรงอยู่และรับประกันภัยแบบนี้ ในต่างประเทศมีเปิดดำเนินงานเป็น 10 ปี 20 ปี ในปีที่ไม่มีความเสียหายก็รับเบี้ยประกันเข้ามา ปีไหนเสียหายก็จ่ายออกไป ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

“แต่ในความเห็นส่วนตัว ถ้ากองทุนฯนี้อยู่ต่อไป เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอีกก็ยังช่วยสร้างความมั่นใจได้ แต่ถ้าไม่มีกองทุนฯ เมื่อเกิดภัยพิบัติก็จะเกิดปัญหาเหมือนปี 2554 ว่า แล้วจะอย่างไร หรือจะตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาใหม่อีก” นายพยุงศักดิ์กล่าว