ThaiPublica > คนในข่าว > เล่นจริง จบไม่จริง? ปรองดองเวอร์ชัน “เจริญ จรรย์โกมล” ละครที่มีแต่ “สแตนด์อิน”

เล่นจริง จบไม่จริง? ปรองดองเวอร์ชัน “เจริญ จรรย์โกมล” ละครที่มีแต่ “สแตนด์อิน”

21 มีนาคม 2013



“…ไม่คุย เพราะพวกนี้ชอบอยู่เบื้องหลังไง… แล้วพวกนี้เขาก็ไม่อยากเปิดเผยตัว…”

ในระยะหลัง เมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวเรื่องการสร้าง “ความปรองดอง” ผู้คนบางส่วนเลิกลุ้น-ล้มความคาดหวังในการเห็นตอนจบแบบ “แฮปปี้เอ็นดิ้ง”

ด้วยเพราะตระหนักว่าความขัดแย้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาซึมลึก ยากจะหย่าศึกได้ด้วยการ “จัดฉาก” เพียงไม่กี่ฉาก

ด้วยเพราะยังมองไม่เห็น “เงื่อนไขใหม่” ที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคมไทยได้ ตรงกันข้าม “ตัวละครหลัก-ผู้กำกับ-คนเขียนบท” ยังคงเป็นคนหน้าเก่าๆ คู่ขัดแย้งยังเป็นกลุ่มเดิมๆ เพียงแต่ขยายวง “กองเชียร์-กองชัง” ออกไปเท่านั้น

เมื่อ “เงื่อนแง่” ที่เป็นหัวใจหลัก-ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่อาจตกลงกันได้ในที่โล่งแจ้งได้

เมื่อ “ตัวจริง” ไม่อาจเปิดตัว

การแสดงตนเป็น “หัวขบวนปรองดอง” รอบใหม่ของ“เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย จึงถูกตั้งคำถามว่า เป็นเพียง “หนังเก่าเล่าใหม่?” เป็น “กิจกรรมคั่นเวลา” เพื่อรักษามิตรรัก-แฟนเพลงพรรครัฐบาลเท่านั้น?

ในขณะที่ละครปรองดองเวอร์ชัน “เจริญ” กำลังออนแอร์ สำนักข่าวออนไลน์ “ไทยพับลิก้า” ชวนเขาสนทนานอกสคริปต์ ณ ห้องทำงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในอาคารรัฐสภา 1 ซึ่งถูกใช้เป็น “ฉากสำคัญ” ตั้งวงถกปรองดองหลายครั้งหลายครา

ใครเล่นนอกบท ใครกำหนดสคริปต์ พินิจพิเคราะห์ได้นับจากบรรทัดนี้ แต่อย่าลืมว่าละครไม่จำเป็นต้องจริงแท้ทั้งหมด…

ไทยพับลิก้า : กระบวนการปรองดองจะไปต่ออย่างไร หลังเกิดเหตุวงแตกเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา จากผู้ร่วมถก 8 ฝ่าย เหลือเพียง 4 ฝ่าย

เราคิดวิธีการโดยเริ่มต้นจากปัญหา ทั้งหมดมีแต่คนพูด ทุกคนเสนอความเห็น แต่หาจุดร่วมไม่ได้ ผมเลยใช้วิธีเชิญมาปรึกษากันในวงเล็กก่อน โดยดูว่าใครบ้างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ก็มีเสื้อเหลือง-เสื้อแดง คู่ขัดแย้งทางการเมืองก็มี 2 พรรคใหญ่ ผมก็คุยกับปานเทพ (พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เขาก็แนะนำว่าทำไมไม่เอา เสธ. อ้าย (พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม) มาด้วยล่ะ ทีแรกท่านก็รับ แต่ตอนหลังบอกไม่สบาย ให้พิจารณาไปเลย ก็เลยเชิญเหลือง-แดงมานั่งคุยกันก่อน ยังไม่เชิญพรรคการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องการเมือง ไม่อาจนำไปสู่สันติได้ เพราะการเมืองต้องเอาแต้มต่ออยู่ตลอดเวลา ก็หารือกันเบื้องต้น ซึ่งวิธีการที่จะลดความขัดแย้ง เลิกความแตกแยก นำไปสู่ความสงบในบ้านเมืองได้คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่รายละเอียดต่างๆ ที่จะเป็นทางเลือกนั้น เราไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย มันเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองต้องออกกฎหมาย

ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่เสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรอก เพราะถ้าเสนอไป พรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องไปร้องศาล ถ้าศาลชี้ว่าโมฆะ ปชป. ก็ต้องจี้รัฐบาลต่อไปว่าให้รับผิดชอบ ดังนั้น เมื่อเข้าใจจุดนี้ เราก็มาปรึกษา ประชุม ทำกันเอง เมื่อเราคุยกันจบ สุดท้ายก็พรรคการเมืองเสนอ ส.ส. เสนอ ถึงตอนนั้นเราค่อยเชิญ 2 พรรคการเมืองใหญ่มาคุยกัน ถ้าเขาเห็นด้วยก็จบ สรุปในการประชุมวันแรกคือเห็นด้วยที่จะเอาประชาชนออกจากคุก เห็นด้วยที่จะมีกฎหมาย ส่วนจะทำอย่างไรให้ปรึกษากันก่อน

หลังจากนั้นผมได้เชิญพรรคเพื่อไทย พรรคประชาิปัตย์ เสื้อเหลือง เสื้อแดงมา แต่คุณปานเทพมายื่นจดหมายเสนอ 8 กลุ่ม มี คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ) คุณนิชา (หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภริยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553) เสธ.อ้าย ผมบอกว่า เสธ.อ้ายไม่มานะ และ ปชป. ก็ไม่มา ปานเทพบอกไม่มาก็ประชุมต่อ

นายเจริญ  จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย

ไทยพับลิก้า : นายปานเทพรู้ล่วงหน้าว่าองค์ประกอบไม่ครบ

รู้ๆ และวันประชุมก็มีมา คือ เพื่อไทย ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับผลกระทบ ส่วนคุณนิชาก็ทำหนังสือมา ที่เชิญเพิ่มเติมก็คือทหาร ซึ่งเขาก็มา ที่ไม่มาคือเสื้อเหลืองกับ ปชป. เท่านั้น

ไทยพับลิก้า : กำลังบอกว่าไม่ใช่วงแตก

ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มา

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ววงปรองดอง 8 ฝ่ายไม่มีอยู่จริงตั้งแต่ต้น ท่านและเพื่อไทยเพียงแต่จุดกระแสลวงขึ้นมาเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น

ไม่จริง เพราะตอนเริ่มต้นเราก็ไม่ได้ถามเพื่อไทยนี่ แต่เขามีสิทธิคิด เพราะผมเป็นคนของเพื่อไทย แต่มันอยู่ที่เจตนาน่ะ ผมบอกว่าคุณมาคุยกันก่อนสิ เพราะการเจรจาแต่ละครั้งไม่มีเงื่อนไข และไม่ใช่จะได้ข้อยุติทันทีนะ แต่ถ้าได้ข้อยุติประการใด เนื้อหาในการทำกฎหมาย เราบอกอย่างแฟร์ๆ เลยว่าจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ยกร่างมาให้ดู ดูจนพอใจ แล้วคุณก็ไปเสนอ เนี่ย…วิธีปฏิบัติมันก็แฟร์อยู่

ไทยพับลิก้า : ยืนยันว่าการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปรองดองเกิดจากความคิดแบบปัจเจก ไม่เกี่ยวอะไรกับพรรคเลย

ผมคิดมาตั้งนานแล้ว ผมเห็นแต่ละคนมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง คนนั้นก็พูด คนนี้ก็พูด แต่ไม่มีใครเชิญมานั่งคุยกัน

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่ทางการเมืองหลายคนออกมาเป็นหัวขบวนปรองดอง อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ แต่สร้างรูปธรรมให้สังคมเห็นไม่ได้ คิดว่าตัวเองมีต้นทุนอะไรที่เหนือกว่าบุคคลเหล่านั้น

คืออย่างนี้…ผมมองว่าบ้านเมืองไม่สงบ ขัดแย้ง แตกแยก นำไปสู่ความเบื่อหน่ายของสังคม ประเทศชาติเสียโอกาส บวกกับผมต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองไม่หยุดไม่หย่อน เขาก็ถามว่าประเทศคุณนี่จะเป็นเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำไมขัดแย้งกันไม่หยุด คุณจะสมานสามัคคีกับเพื่อนบ้านแต่ภายในยังไม่สามัคคีเลย มันฟังแล้วก็สะท้อนใจ ต่างชาติเขายังถาม เราเป็น ส.ส. เป็นตำแหน่งนี้ ทำไมเราจะไม่ทำล่ะ ผมคิดว่ามันทำไม่ยาก ก็รู้จักกันอยู่แล้ว ถ้าเชิญมาคุยตามปกติไม่น่าจะมีปัญหา แต่นี่หวาดระแวงกัน ไม่เชื่อมั่นเชื่อถือกัน ไม่ไว้ใจกัน พอผมเชิญมา แต่ละท่านก็เสนอเงื่อนไขผ่านอากาศ มีอะไรมาคุยกันสิ มาปรึกษากันสิ ยังไม่มีเงื่อนไขผูกพันผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นอะไรกัน

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วความแตกต่างระหว่างแนวทางการปรองดองแบบ “เจริญ” กับแนวทางที่ผ่านๆ มาคืออะไร อะไรคือปัจจัยใหม่ที่ทำให้คิดว่ามีโอกาสสำเร็จ

คือ…ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ ตอนตั้งคณะกรรมการชุดท่านดิเรก (ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ผมเป็น 1 ใน 36 คน ผมบอกมันจะสมานฉันท์ได้อย่างไร เพราะแต่ละฝ่ายมานั่งมันยังฉันกันคนละมุมเลยเวลากินข้าวกลางวันเนี่ย แล้วนักวิชาการพูดๆๆๆ เสร็จ ก็อ้างแต่มีธุระๆ แล้วไปตั้งพวกนักวิชาการซึ่งมองจากมุมวิชาการ ต่างจากผมที่เอาผู้มีส่วนได้เสียมาพูดกัน ดังนั้นวิธีคิดต่างกันฟ้ากับดินเลย นักวิชาการจะเพ้อฝันในเรื่องทฤษฎี คิดว่าของตัวเองถูกอย่างเดียวทั้งที่ตัวเองไม่ได้สัมผัส สมานฉันท์จึงไม่ประสบความสำเร็จ คอป. ก็ศึกษา เสร็จแล้วเอาให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลปัจจุบัน ก็ไม่มีใครทำอะไรต่อ ก็จบ แต่ผู้มีส่วนได้เสียเขาพูดถึงความขัดแย้ง ความแตกต่าง การยอมรับในความแตกต่าง เขายอมรับว่าวิธีคิดมันแตกต่าง แต่การปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นมาเรียกร้อง มันใช้วิธีการเดียวกัน เพียงแต่แต่ละสีมองจากคนละมุม อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าวิธีการนี้มันจะไปได้ แต่เนื่องจากทางการเมืองนี่ไม่ง่าย เพราะมันเป็น 2 ขั้วกันอยู่ ถามว่า 2 ขั้วอยากปรองดองสามัคคีไหม ทุกฝ่ายพูดอย่างนั้น แต่จริงๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าไม่รู้

ไทยพับลิก้า : หากพูดเฉพาะในขั้วพรรคเพื่อไทยเอง กระบวนการปรองดองจะเป็นแนวเดียวกันได้ จำเป็นต้องได้รับอาณัติจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนหรือไม่

ไม่ถูกล่ะ เพราะวันนี้วัฒนธรรมของพรรคเพื่อไทยไม่เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์นี่เขาถกเถียงกัน ด่ากัน ต่อว่ากัน มติออกมาอย่างไรก็ยุติ แต่เสน่ห์ของพรรคเพื่อไทยคือต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ หาข้อยุติไม่ได้ มันจึงเกิดเหตุการณ์ใครอยากจะยื่นอะไร ใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป (หัวเราะเล็กๆ) อย่างนี้ บรรยากาศมันไม่เหมือนกันไง ทำให้อีกฝ่ายคิดว่าแยกกันเดินรวมกันตีหรือเปล่า มันไม่ใช่ นี่วัฒนธรรมเพื่อไทย ส.ส. คิดว่าเขามีอิสระ คุณมีอิสระก็จริง คุณยื่นก็จริง แต่จะได้รับการพิจารณาหรือไม่เท่านั้น

ไทยพับลิก้า : นอกจากวัฒนธรรมอิสระที่อ้างถึง ลึกๆ แล้วมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันก่อนหรือเปล่า ทั้งกรณีความเคลื่อนไหวของท่าน กรณีนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ กับพวกรวม 42 คนเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา และกรณี พ.ต.ท.ทักษิณสไกป์มาที่ประชุมพรรคเพื่อไทยสั่งให้ดูแลมวลชนเสื้อแดง

คือ…ทุกคนก็อยากจะให้บ้านเมืองสงบนั่นแหละ แต่จะรวดเร็วทันใจมันไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็เป็นการเมือง ถ้าบ้านเมืองสงบ อะไรเรียบร้อย มันก็จะเป็นคะแนนเป็นเสียงให้รัฐบาลไง อีกฝ่ายเขามองอย่างนี้ อยากให้บ้านเมืองสงบไหม อยาก แต่ต้องมีเงื่อนไข

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้ถ้ามองไปที่พรรค เห็นใครสนับสนุน ใครคัดค้านการเดินเกมปรองดองของนายเจริญบ้าง

ถ้าไม่เอาแนวนี้จะเอาแนวไหนล่ะ ไปบอกให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. รัฐบาลก็ไม่ออก เห็นไหมล่ะ

นายเจริญ  จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย

ไทยพับลิก้า : ตอนนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกับ พล.อ.สนธิ เดินเกมปรองดองเมื่อปี 2555 ก็ล้มเหลวไปไม่เป็นท่า เหตุเพราะคนในส่วนหนึ่งถอดบทเรียนจากตรงนั้นอย่างไร

อ๋อ…ข้อเท็จจริงมันต่างกันนะ อันนั้นเขาคิดว่าเสียงข้างมากแล้วออกกฎหมาย ยกมือ แล้วเป็นอย่างไรล่ะ เสียงข้างมากไปได้หรือไม่ เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมาก แต่เป็นเรื่องข้อตกลงในสภาก่อนว่าสามารถปรองดองกันได้หรือไม่ เจรจากันได้หรือไม่ ถ้าประชาธิปัตย์กับรัฐบาลเจรจากันได้ เอาล่ะ เห็นแก่บ้านเมืองที่จะลดความแตกแยก ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าจะทำอย่างนี้ ก็ทำเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน มันก็ผ่าน แต่ไอ้ที่คุณบอกว่าใช้เสียงข้างมาก คุณอย่าไปคิด แต่เขาไม่เชื่อผม จะให้ทำอย่างไรล่ะ

ไทยพับลิก้า : ขณะนั้นได้ให้ความเห็นท้วงติงนายวัฒนาแล้วว่าใช้เสียงข้างมากลากไปไม่ได้

ก็… ให้เขาลองดู

ไทยพับลิก้า : ให้เขาลองดู หรือจงใจวางยาเขา

ให้เขาลองดู พอลองแล้วแทนที่จะด่า ส.ส. มาด่าประธานอีก (หัวเราะ) คือวิธีคิดในทางการเมือง เราต้องยอมรับว่ามันไม่เหมือนกันหรอก มันแตกต่างกัน เราบอกว่าแบบนั้นมันไปได้

ไทยพับลิก้า : มาถึงคราวนี้ หากประชาธิปัตย์ยืนยันไม่เอาด้วย เสียงข้างมากจะทำหน้าที่หรือไม่

ตอบไม่ได้ ตอบแทนเขาไม่ได้

ไทยพับลิก้า : การออกมาจัดเวทีปรองดองครั้งนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กับนายวัฒนา มีส่วนสนับสนุนหรือไม่

ไม่เคยได้คุยกันเลย อย่าว่าแต่สนับสนุน ยังไม่ได้คุยกันเลย จริงๆ เหมือนอยู่พรรคเดียวกัน แต่ไม่ได้คุยกัน ไม่ได้เจอกัน

ไทยพับลิก้า : แบ็คอัพที่สนับสนุนภารกิจปรองดองของท่านคือใครในพรรคเพื่อไทย

ไม่มี ในพรรคเพื่อไทยไม่มี

ไทยพับลิก้า : ออกมาเดินลำพัง ไม่รู้สึกเดียวดายหรือ

(ตอบสวนทันที) มันจะไปเดียวดายได้อย่างไร คนเขามาเจรจากับเรา อย่างนั้นทหารเขาจะมาหรือ ทหารยังบอกว่าไม่ได้นะ ต่อไปต้องให้ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เพราะเขามีส่วนได้เสียด้วย พ่อค้าก็มา มันจะเดียวดายได้อย่างไร วันนั้นก็คุยกัน 6 กลุ่ม เหลืออยู่ 2 กลุ่มเท่านั้นที่ไม่มา ถ้าประชาธิปัตย์กับเสื้อเหลืองเข้ามามันก็น่าจะเดินได้ แต่เขาติดเงื่อนไข

ไทยพับลิก้า : นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตที่ปรึกษา คอป. ระบุว่ากระบวนการปรองดองตั้งต้นจากสภาไม่ได้ เพราะธรรมชาติมันเป็นสถานที่ที่ขัดแย้ง แบ่งฝ่ายตลอดเวลา ส่วนตัวมองเห็นความเป็นไปได้แค่ไหน

เป็นไปได้สิ (บนเงื่อนไขอะไร?) ก็ความสุกงอมของสังคมที่จะเร่งรัดคู่เจรจา วันนี้เราต้องเข้าใจนะว่าคู่เจรจาเสื้อเหลืองเสื้อแดงนี่เขายังเงื่อนไขไม่มากเหมือนฝ่ายการเมืองนะ มันมาครึ่งทางแล้วนะนี่ เห็นไหมว่าเหลืองแดงเขาเริ่มเจรจากัน เหลือแต่ประชาธิปัตย์

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้เชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา เกิดจากระดับฝ่ายการเมืองลงมา

การเมือง (ลากเสียงยาว) การเมืองแย่งชิงอำนาจกัน แล้วก็มีความคิดว่าฝ่ายหนึ่งเป็นอีกแบบหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : แต่ที่ผ่านมามีการพาดพิงบุคคลที่อยู่เหนือรัฐบาลตลอดว่ามีส่วนสำคัญในการจุดชนวนความขัดแย้ง

มันเป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งแต่ละฝ่ายมีผู้อยู่เบื้องหลัง มีกองเชียร์ วันนี้คนที่ทำปฏิวัติก็ออกมาพูดแล้วนี่ คืออะไร อำนาจไง เวลาจะทำก็ไปตกลงกัน พอตกลงแล้วก็ไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาพูด วันนี้ไอ้คนที่ออกมาต่อต้านเขาทั้งหลาย เวลาเข้ามาบริหารประเทศมันทำได้ไหม มันทำไม่ได้ ที่ออกมาวิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจเช้าบ่ายเช้าบ่าย ที่อยู่ทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) น่ะ เอาคนนั้นมาเป็น รมว.คลัง แล้วทำได้ไหม ทำไม่ได้ คือ…ประเทศไทยชอบวิพากษ์วิจารณ์ ไม่รัก ไม่สามัคคีกัน

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อท่านเองก็ยอมรับเรื่องการมีอยู่ของผู้สนับสนุน ซึ่งรวมความถึงมือที่มองไม่เห็น และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ดังนั้นถ้าจับนักการเมืองมาคุยกัน ปัญหามันจะจบจริงหรือ

มันก็ไม่ง่ายล่ะ ที่เราเชิญประชาธิปัตย์ยังไม่จบเลย อีกอันหนึ่งคือความเคยมีอภิสิทธิ์ชน ตัวเองเริ่มหมดอภิสิทธิ์ นำไปสู่กระบวนการกระจายอำนาจให้ประชาชน ตรงนี้คนรุ่นเก่ายังรับไม่ได้ เคยได้อภิสิทธิ์อย่างไรก็ยังอยากได้อย่างนั้น แต่เนื่องจากประเทศไทยคนมันมากขึ้น คนชั้นกลางและชั้นล่างมากขึ้น ข้อเรียกร้องของคนกลุ่มนี้ก็มากขึ้นตามลำดับ พอทรัพยากรต่างๆ เริ่มกระจายไปสู่คนอื่น ก็เลยหวาดวิตกว่าตัวเองจะหมดอำนาจ หมดบทบาท ไม่มีบารมี ข้อเสนอพิเศษที่เคยได้ก็ไม่ได้ ก็เลยเกิดความคิด มีการรวบรวมคนกลุ่มเก่ามาต่อต้าน แล้วนำไปสู่การยึดอำนาจ พอยึดแล้วคนเหล่านี้ได้ แต่ประชาชนเสียหายยับเยิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความเสียหายเลย แม้แต่คนทำปฏิวัติก็ยังยอมรับ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าสังคมมันเริ่มเปลี่ยน แต่มีคนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมเปลี่ยน เพราะได้ประโยชน์จากประเทศไทยไปเยอะ

นายเจริญ จรรย์โกมล
นายเจริญ จรรย์โกมล

ไทยพับลิก้า : สรุปได้ว่าอภิสิทธิ์ชนคือคู่ขัดแย้งหลัก

อ๋อ…แน่นอน

ไทยพับลิก้า : จะเชิญมาพูดคุยหรือไม่

โอ้ย! ไม่คุย เพราะพวกนี้ชอบอยู่เบื้องหลังไง

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่ผลักพวกเขาออกมายืนข้างหน้า ความขัดแย้งจะจบได้อย่างไร

แล้วพวกนี้เขาก็ไม่อยากเปิดเผยตัว

ไทยพับลิก้า : คิดว่าสามารถเจรจาผ่านประชาธิปัตย์ได้

ตอนนี้ประชาธิปัตย์ต้องแคร์เสียงประชาชน เขาจะอยู่ได้เพราะประชาชน ถ้าประชาชนไม่เลือกเขา เขาก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ถ้าคุณอยากเป็นรัฐบาล ก็ต้องแคร์เสียงประชาชน เอาใจประชาชน

ไทยพับลิก้า : หากเอาสแตนด์อิน (นักแสดงแทน) มาเข้าฉาก ไม่ใช่ตัวจริง จะเกิดความปรองดองอย่างแท้จริงได้อย่างไร

ไม่รู้ ถ้าเขาตกลงกันได้มันก็ได้ เพราะคนเสนอกฎหมายจริงๆ ก็คือฝ่ายการเมือง ตอนนี้เขาไม่ได้บอกว่าไม่ตกลงนะ เพียงแต่มีเงื่อนไขผ่านอากาศมาว่าให้ถอนร่างเก่าออกเท่านั้นเอง เขาถึงจะคุย ถ้าเขาถอนจริง เขาจะมาเจรจาหรือเปล่ายังไม่รู้เลย

ไทยพับลิก้า : ประชาธิปัตย์อาจเห็นว่าตัวแทนพรรคเพื่อไทยที่มาร่วมวงเจรจาก็ไม่ใช่ตัวจริงเหมือนกัน

(หัวเราะ) แล้วตัวจริงคือใครล่ะ

ไทยพับลิก้า : คนที่สไกป์มา

ไม่ใช่ เวลาเชิญเราให้เอาตัวแทนมานะ และไม่ได้ผูกมัดว่าต้องสรุปอย่างนั้น ในเบื้องต้นเราอยากให้มาครบก่อน ถ้ามาครบ บรรยากาศมันก็จะดี เห็นไหมล่ะ วันนั้นทหารกับเสื้อแดงนั่งติดกัน คุยกันกระหนุงกระหนิงเลย ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 1-2 ปีเอาเป็นเอาตายกัน

ไทยพับลิก้า : ท้ายที่สุดคนไทยจะได้อะไรจากการเดินเกมปรองดองแบบ “เจริญ” หรือได้เห็นเฉพาะภาพ

ตอนนี้มันอยู่ระหว่าง…ก็ต้องให้เวลา บางประเทศเขายังปรองดองกันไม่ได้เลย อย่างอิรัก ลิเบีย แต่ของไทยเป็นเมืองสงบ เพียงแต่มีคนไม่กี่กลุ่มขัดแย้งกัน ซึ่งคนที่ทุกข์คือประชาชน

ไทยพับลิก้า : แล้วสังคมจะได้เห็นนายเจริญอยู่ตรงไหนของกระดานการเมือง

ผมก็ยังทำหน้าที่เป็นฝ่ายการเมืองธรรมดานี่แหะ ไม่ต้องไปอยู่ตรงไหน อยู่ตรงนี้ก็ไม่เห็นมีปัญหา เราอยู่ในสภา ประชาชนให้เราเอาปัญหามาถกกัน เราก็เชิญคนมาพูดจา

ไทยพับลิก้า : ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีขุนและเบี้ยมากมายบนกระดานเพื่อไทย หากตัวไหนเดินพลาดก็ใช้แล้วทิ้งเลย กลัวประสบจุดจบเช่นนั้นบ้างหรือไม่

ก็ไม่รู้ ท่านไม่เคยโทรหาผม ผมก็ไม่เคยคุยกับท่าน ผมไม่ปฏิเสธนะว่าท่านดูแล ส.ส. ที่เคารพนับถือ นั่นก็เป็นเรื่องของท่านกับ ส.ส. แต่กับผมท่านไม่เคยคุยนะ ท่านสมชายก็ไม่คุย คุณเยาวภา (น้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ) ก็ไม่ได้คุย นายกฯ ปูก็ไม่ได้คุย

ไทยพับลิก้า : ไม่เคยคุยตั้งแต่ก่อนออกมาเป็นหัวขบวนปรองดอง

(พยักหน้า) ใช่

ไทยพับลิก้า : การไม่คุยนี่แปลว่าเอาด้วย หรือไม่เอาด้วย

อ้าว…จะไปรู้ได้อย่างไรล่ะ พรรคก็ไม่เคยประชุมเลย พอบอกจะประชุมเรื่องปรองดองสัปดาห์นี้เขาก็เอาเรื่องอื่นเข้ามา แต่เวลาเชิญมาร่วมวงเขาก็ส่งคนมานะ แสดงว่าเขาก็อยากจะร่วมมือเหมือนกัน ทำไมไม่ไปถามคนไม่มาร่วมบ้างล่ะ วันนี้เราไม่สามารถพูดความจริงได้ในบางเรื่อง เพราะเดี๋ยวจะไปรู้ว่าจุดอ่อนแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร และบางสิ่งก็ไม่น่าเอามาพูดต่อสังคมเพราะอยู่ระหว่างเจรจาปรองดอง

ไทยพับลิก้า : ความจริงที่ไม่อาจพูดได้จนกว่าจะจบภารกิจนี้คืออะไร

ก็หลายเรื่อง เช่น ทำไมวรชัยยื่น ทำไมประชาธิปัตย์ยังไม่เข้ามาร่วม

ปรองดอง ดังแล้วดับ?

นายเจริญ จรรย์โกมล
นายเจริญ จรรย์โกมล

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการ “ตั้งวงปรองดอง” เพื่อสยบความแตกแยกในบ้านเมืองหลัง “คน 2 ขั้ว” ปะทะกันครั้งใหญ่ หากแต่ที่ผ่านมาการเจรจาของบุคคลระดับ “คีย์แมน” มักเกิดขึ้น “ใต้ดิน” มากกว่า “บนดิน”

กล่าวสำหรับ “วงปรองดอง” ซึ่งอยู่ในความรับรู้ของสังคมแล้วมีอยู่ 4 วงหลัก คือ

หนึ่ง “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” มี “ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ลงนามแต่งตั้งโดย “ชัย ชิดชอบ” อดีตประธานรัฐสภา เมื่อปี 2552

สอง “คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” มี “คณิต ณ นคร” อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ลงนามแต่งตั้งโดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2553

สาม “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” มี “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ซึ่งเป็นไปตามมติสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554

สี่ “คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)” มี “อุกฤษ มงคลนาวิน” เป็นประธาน ลงนามแต่งตั้งโดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2554

ทว่ กว่าจะมีการเปิดชื่อ-เปิดตัวกรรมการแต่ละคน หลายเสียงจาก “ผู้ร่วมวง” ยืนยันตรงกันว่า “ผู้มีอำนาจจริง” ของแต่ละฝ่ายต้องตกลง-ต่อรองใน “ทางลับ” จนได้ข้อสรุปร่วมกันระดับหนึ่ง ก่อนขยายผลสู่ “ทางแจ้ง”

เป็นผลให้วิถีปรองดองแบบ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกมองด้วยสายตาปร่าแปร่ง เพราะดันไปเปิดตัวคู่เจรจา ก่อนหาข้อสรุปในแนวทางหลัก

“ไม่ใช่ เราไม่ได้เชิญสื่อมวลชน เราเชิญคนมานั่งคุย แต่คุยเสร็จเป็นข่าวได้อย่างไรไม่รู้” เขาแก้ต่าง

“เจริญ” ยอมรับว่าก่อนเรื่องรั่วถึงหูสื่อ เขาเคยต่อสายตรงถึงตัวแทนแต่ละสีหลายครั้ง แต่มีโอกาสปิดห้อง-เปิดใจคุยกันเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นทุกอย่างก็ถูกติดตาม ตั้งคำถาม วิจารณ์ ขยายผลโดย “นักข่าว”

เมื่อใครบางคนจงใจโยนเกมปรองดองขึ้นมาบนโต๊ะ เปิดหน้าคู่ขัดแย้ง จึงน่าสงสัยว่าผู้ร่วมวงแต่ละคนจะกล้าเปิดไพ่ที่ถือไว้ในมือจริงหรือ?

เขาตอบว่าหลังจากนี้คงต้องหารือกัน แต่ยืนยันการใช้รูปแบบพูดคุยโดยไม่เปิดเผยเท่านั้น

“ผมยังคิดว่าผู้ร่วมวงจะกล้าเสนอในความต้องการของตนนะ สถานการณ์จะบังคับเอง สังคมจะบังคับเขา เออ…ไอ้นี่ยังไม่ไปคุยเลย ตั้งเงื่อนไขอะไรเยอะแยะ คนก็จะวิจารณ์ ขนาดคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเขายังมาเลย อย่างทหารอย่างนี้ เห็นไหม ยังอยากสร้างความสามัคคี เขาบอกว่าเขาคือปลายเหตุ แต่ต้นเหตุจริงๆ คือฝ่ายการเมือง ถ้าฝ่ายการเมืองคุยกันมันก็จบ ดังนั้นพูดก็พูด มันพอเห็นเส้นทางแล้วล่ะ เพียงแต่ฝ่ายการเมืองยังไม่จูนเข้าหากันเท่านั้น”

หากย้อนดู “วงปรองดอง” ในอดีตจะพบว่า ไม่มีครั้งไหนที่พอปรากฏเป็นข่าว “ดัง” แล้ว จะไม่ “ดับ” ยิ่งมีหลายฝ่ายพร้อมสอดตัว-สร้างปัญหาแทรกซ้อนตลอดเวลา

ดังจะเห็นได้จากบทเรียนสำคัญที่ถูกสรุปในวงประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ที่มี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อปีก่อน ซึ่งกลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาถึงปัจจุบัน เพราะจนขณะนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองหรือนิรโทษกรรมก็ยังไม่เกิดผล จากการที่ต่างฝ่ายต่างเบียดซีนกันเอง

ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะจัดลำดับอย่างไร ระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม และความเคลื่อนไหวในการสร้างความปรองดอง?

“เจริญ” สารภาพตามตรงว่าไม่รู้ยุทธศาสตร์พรรค เพราะพรรคไม่ได้เชิญไปร่วมวงคณะกรรมการยุทธศาสตร์

ถ้าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ไม่ไปด้วยกันทั้ง 265 เสียง จะมีอะไรเป็นรูปธรรมสักเรื่องก่อนปิดสมัยประชุมสภา 18 เมษายน?

“ก็อยู่ที่วิปรัฐบาล (คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล) ว่าจะเอาอย่างไร แต่ยังไม่เห็น เพราะเวลาประชุมพรรคนี่ประชุมไปเรื่อยๆ หาข้อสรุปไม่ได้ วัฒนธรรมพรรคเพื่อไทยมันเป็นอย่างนั้น ถามเรื่องหลักการ ใช่ มันเป็นอย่างนั้น แต่ภาคปฏิบัติมันไม่ใช่”

ทั้งหมดนี้น่าจะพอให้สังคมมองเห็นคำตอบว่าที่สุดแล้วความเคลื่อนไหวสร้างความปรองดองแบบดังๆ จะจบลงอย่างไร!!!