ThaiPublica > เกาะกระแส > “ทักษิณ”เดินเกมยุทธศาสตร์ AEC Connectivity ถกหาสันติภาพทุกชาติอาเซียน เคลื่อนทัพลงทุนผ่านระเบียงเศรษฐกิจ

“ทักษิณ”เดินเกมยุทธศาสตร์ AEC Connectivity ถกหาสันติภาพทุกชาติอาเซียน เคลื่อนทัพลงทุนผ่านระเบียงเศรษฐกิจ

22 กุมภาพันธ์ 2013


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th

รัฐบาลชุดนี้แม้จะถูกมองว่าเป็นการบริหารโดยใช้ระบบสไกป์, ไลน์ หรืออีเมล์ก็ตามที แต่ความจริงแล้วคีย์แมนสำคัญๆ ก็ยังคงเป็นคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างกุนซือหูกระต่ายที่มีนามว่า พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ

แนวคิดการเป็น “เกตเวย์” หรือ “ศูนย์กลางสู่อาเซียน” เพื่อกวักมือเรียกนักลงทุนให้เข้ามายังประเทศไทย เป็นพลวัตใหม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณอาศัยเครื่องยนต์กลไกที่วางไว้ในจุดต่างๆ อาทิ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงต่างประเทศ ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนไกลบ้านรับอาสาเดินเกมแก้ปัญหาในภาพใหญ่มาจากภายนอก คือ เร่งเจรจาหรือสนทนาเพื่อ “สันติภาพ” กับประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่นอมินีในประเทศก็รับลูก เดินเกมกับมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เพียงแค่ขึ้นเครื่องบินไปจับมือกับผู้นำอย่างพม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนด้านถนน รถไฟ และการขนส่ง เชื่อมโยงให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าได้สำเร็จตามเป้าหมาย

หนึ่งในพิมพ์เขียวของรัฐบาลคือ การปัดฝุ่น “ระเบียงเศรษฐกิจ” หรือ “Economic Corridor” ที่มีความพยายามทำมานานนับ 10 ปี แต่ยังรุกไปข้างหน้าได้ช้า เนื่องจากติดปัญหาความ “ไร้เสถียรภาพ” ทางการเมืองของทุกประเทศในอาเซียน แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับตรงกันข้าม เมื่อต่างฝ่ายต่างมองเห็นโอกาสที่จะยกระดับประเทศจากการเปิดประชาคมอาเซียน

พ.ต.ท.ทักษิณมองว่า หากจะทำให้ระเบียงเศรษฐกิจสำเร็จได้ จะต้องเปิดเจรจาสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศทั้งในแถบลุ่มน้ำโขงตอนบน กัมพูชา รวมถึงพม่า และที่สำคัญคือกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ให้สำเร็จลุล่วงก่อน จึงจะทำให้ระเบียงเศรษฐกิจทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ และไทยจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากตรงนี้ได้มากที่สุด

สามเส้นทางสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ความยาว 1,450 กิโลเมตร พาดผ่านเวียดนาม ลาว ไทย และพม่า, ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor) ระหว่างนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ผ่านประเทศไทย ไปถึงท่าเรือทวาย ประเทศพม่า และระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) จากนครคุนหมิง ประเทศจีนตอนใต้ ผ่านภาคเหนือของไทยมาถึงกรุงเทพฯ ลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์

เครดิตของ พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนี้ถือว่าฉุดไม่อยู่ เพราะไม่เพียงแต่สามารถเข้าพบผู้นำอาเซียนได้แบบไม่ยากเย็น แต่กับบุคคลสำคัญในประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี พ.ต.ท.ทักษิณก็เดินทางเข้าพบมาแล้ว แม้จะไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ยกเว้นขวากหนามใหญ่ขณะนี้ที่เป็นอุปสรรคและยังแก้ไม่ได้จริงๆ ก็คือ กรณีของมาเลเซียและปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะขยายโครงข่ายถนนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านหลังการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC Connectivity) จำนวน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทาง R1 คือ แนว Southern Economic Corridor (SEC) เชื่อมเส้นทางกรุงเทพฯ อรัญประเทศ ปอยเปต ศรีโสภณ พนมเปญ โฮจิมินห์ซิตี้ ท่าเรือกังเถ่า

เส้นทาง R2 คือ แนว East-west Economic Corridor (EWEC) เส้นทางมะละแหม่ง แม่สอด ตาก สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร สะหวันนะเขต ลาวบาว แดนสะหวัน ดองฮา ท่าเรือดานัง และ R3 คือแนว North-South Economic Corridor (NSEC) แบ่งเป็นเส้นทาง R3 A: ผ่านลาว เชียงราย เชียงของ ห้วยทราย หลวงน้ำตา บ่อหาน เชียงรุ้ง และ เส้นทาง R3 B: ผ่านเวียงจันทร์ คุนหมิง เชียงราย แม่สาย ท่าขี้เหล็ก เชียงตุง เชียงรุ้ง คุนหมิง

โครงการ R3A

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ส่วนหนึ่งจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยมีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงกลุ่มประเทศที่อยู่ติดทะเลทางด้านใต้อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย

“หากมีการลงทุนเส้นทางคมนาคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมกับประเทศอาเซียน จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวถนนที่มีการขนส่งสินค้าและเดินทางระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น” ดร.ชูวิทย์กล่าว

ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคต การค้าขายกับเพื่อนบ้านอาเซียนจะขยายตัวมาก การวางแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับจะส่งผลดีกับประเทศไทยอย่างมาก เพราะไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทั้งประเทศอาเซียนตอนบน คือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และตอนล่าง คือ ประเทศที่ติดทะเล ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ดร.ชูวิทย์กล่าวว่า ตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยังมีโครงการสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า อาทิ การลงทุนสร้างมอเตอร์เวย์เส้นบางใหญ่-บ้านโป่ง มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าวในอนาคต และจะมีการสร้างถนนในฝั่งไทยเพื่อเตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อพม่าก่อสร้างถนนในฝั่งพม่าเสร็จ ก็จะมีการเชื่อมโยงกันได้ทันที ควบคู่ไปกับการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมอีก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักๆ ของโครงการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1. การเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งกับภูมิภาค 8 โครงการ วงเงินเบื้องต้น 1.90 แสนล้านบาท เช่น ด่านศุลกากรชายแดนและโครงสร้างพื้นฐาน 2. การมุ่งสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน 39 โครงการ 1.55 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้า

3. ยุทธศาสตร์การยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค (ฮับ) ทั่วประเทศ 10 โครงการ 1.58 แสนล้านบาท เช่น การสร้างถนนหรือทางรถไฟเชื่อมต่อจุดที่เป็นฮับที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง จุดเชื่อมโยงขนส่งในภูมิภาค เช่น ท่าเรือเชียงของ จุดพักสินค้าที่ จ.หนองคาย

หาก ครม. อนุมัติแล้ว คาดว่าประมาณปลายเดือน มี.ค. 2556 รัฐบาลจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ และคาดว่าการกู้เงินลงทุนจะดำเนินการได้ก่อนสิ้นปีนี้

ในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ทางกระทรวงคมนาคมมีแนวทางค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มประมูลเฟสแรก 4 โครงการนำร่อง ในพื้นที่รัศมี 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-โคราช, กรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน ส่วนโครงการรถไฟสายใหม่จะมีทั้งรถไฟเส้นเชียงราย-เชียงของ และเชียงใหม่-เชียงราย เป็นต้น

ด้านการลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ มุ่งเน้น 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี เบื้องต้นจะเป็นโครงการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมเอกชน หรือ PPPs เพราะเชื่อว่าจะมีเอกชนสนใจเห็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า จะประหยัดเงินของรัฐบาลและทำให้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนในโครงการอื่นได้

Thaipublica G อาเซียน (2)

ด้านมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ที่ปัจจุบันถือเป็นมันสมองให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป ประเทศเพื่อนบ้านจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ มูลค่าการส่งออกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งขยายตัว 10.6% ต่อปีในช่วงปี 2550-2554 จะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น และสัดส่วนการส่งออกของไทยไปประเทศดังกล่าวจะเพิ่มมากกว่า 7% และ เกิน 9% สำหรับที่ไทยส่งไปสหรัฐหรือยุโรปในเวลาอันใกล้

ปัจจัยสำคัญในปี 2556 คือ รัฐบาลต้องเร่งยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหากสถานการณ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นในปี 2555 และประเทศไทยสามารถผนึกกำลังทั้งรัฐ-เอกชน-ประชาชน ร่วมกันกำหนดความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่ชัดเจน เป็นระบบ เป็นที่เข้าใจกันกับทุกประเทศ ก็จะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่อนาคต

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นการติดต่อขนสินค้าผ่านช่องทางการค้าชายแดน ดังนั้น การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนและเมืองชายแดนให้มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายความเชื่อมโยงและการสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต