ThaiPublica > คอลัมน์ > ผู้ชนะแห่งวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ (2)

ผู้ชนะแห่งวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ (2)

1 มกราคม 2013


สมคิด พุทธศรี

เมื่อคราวที่แล้ว ผมได้เล่าถึงบรรดา ‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ’ ที่ได้รับการคัดเลือกจากนักคิดนักเขียนทั้งหลายไปแล้วส่วนหนึ่ง มาคราวนี้ขออนุญาตเก็บความมาเล่าเรื่องต่อนะครับอนึ่ง และขอกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นประเด็นหลักของนิตยสาร Foreign Policy ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2012 และผมหยิบเลือกเพียงบางประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาเล่าต่อเท่านั้น ใครที่สนใจอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและประเด็นอื่นๆ ที่ผมไม่ได้เลือก ก็สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของนิตยสารได้เลยครับ

Kate Sheppard: ผู้ปฏิเสธโลกร้อน

Sheppard เป็นนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมให้กับนิตยสาร Mother Jones ซึ่งเป็นนิตยสาร ‘หัวเอียงซ้าย’ ในสังคมการเมืองอเมริกัน นอกจากนี้เธอยังเป็นนักเขียนรับเชิญในสื่ออีกหลายฉบับ อาทิ หนังสือพิมพ์ The Guardians และ The Washington Independent เป็นต้น ประเด็นที่ Sheppard มีความเชี่ยวชาญและสนใจเป็นพิเศษคือ การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม

ในความเห็นของ Sheppard วิกฤติการณ์แห่งเศรษฐกิจนั้นทำให้เหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธโลกร้อนกลายเป็นผู้ชนะในทันที เพราะท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นการยากที่จะมีใครมานั่งสนใจภาวะโลกร้อน หรือความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ

การสำรวจความเห็นคนอเมริกันเกี่ยวกับเรื่องปัญหาโลกร้อนพบว่าในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่วิกฤติเศรษฐกิจเริ่มต้นขึ้นมีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ที่ใส่ใจกับปัญหาโลกร้อน ทว่าการสำรวจในปี 2011 พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่าตัวเองเป็นกังวลต่อปัญหาโลกร้อนนั้นมีเพียง 51 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก่อนที่จะเพิ่มมาเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012 สถิติดังกล่าวนี้สอดคล้องกับงานวิชาการบางชิ้นที่พบว่า สภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณชน ในขณะที่สภาพความเลวร้ายของสิ่งแวดล้อม และการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก

Sheppard ชี้ให้เห็นว่า นอกจากคนอเมริกันแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้บรรดาหลายๆ ประเทศที่เคยสนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแข็งขันต่างลดความสำคัญของนโยบายสิ่งแวดล้อมกันถ้วนหน้า รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การที่ญี่ปุ่น แคนาดา และรัสเซีย ปฏิเสธที่จะต่ออายุ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ออกไปไม่ต้องพูดถึงว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมกลายเป็นนโยบายที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติ สหภาพยุโรปคือตัวตั้งตัวตีสำคัญในการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อน

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการถูกต้องแล้วที่ในภาวะวิกฤติผู้คนควรจะกังวลกับปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ความต้องการใช้พลังงานย่อมน้อยลง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ย่อมน้อยลงตามไปด้วย Sheppard เองก็เห็นว่าคำอธิบายดังกล่าวพอรับฟังได้ และข้อมูลเชิงประจักษ์เองก็ชี้ชัดว่า การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจริงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ปัญหาคือ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะกลับมาอีกครั้ง
ดังนั้น ตราบใดที่เรายังคิดว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีเสียก่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนทีหลัง ทุกๆ ครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เหล่าผู้ปฏิเสธโลกร้อนก็จะกลายเป็นผู้ชนะอยู่ทุกครั้งไป

Josepth Nye: พวกที่พูดถึง ‘ขาลง’

Nye เป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ร่วมสมัยคนสำคัญ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีของ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัย Harvard และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษของสถาบันการศึกษาแห่งนี้อยู่ Nye คือผู้บุกเบิกความคิดใหม่ๆ ในทางรัฐศาสตร์หลายเรื่อง ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้แก่ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation Theory Neoliberalism) และ แนวคิดเกี่ยวกับ ‘อำนาจอ่อน’ (soft power) เป็นต้น

เมื่อวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี 2008 เริ่มต้นขึ้น บรรดาเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อว่าอเมริกากำลังอยู่ในช่วง ‘ขาลง’ ก็เสียงดังขึ้นมาทันที ในแวดวงวิชาการ หนังสือออกใหม่เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะนักวิชาการฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาต่างพยายามวิเคราะห์ถึง ‘โลกแบบใหม่’ ที่ไม่ได้มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ในแวดวงการเมืองและผู้กำหนดนโยบาย บรรดาเหล่าผู้นำประเทศไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน รัสเซีย และจีน ก็แสดงความเห็นต่อสาธารณะหลายครั้งหลายหนว่า วิกฤติการณ์เศรษฐกิจได้ทำให้ยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำโลกได้จบลงไป

อันที่จริงแล้ว Nye ไม่เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้นนี้ เขาเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่จะพยายามหา ‘ขาลง’ ของชาติมหาอำนาจหนึ่งๆ เพราะรัฐประชาชาติไม่ได้มีชีวิตที่อยู่ภายใต้วัฏจักร ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ เหมือนสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยา หรือหากมันจะมีชีวิตจริงๆ ชีวิตของมันนั้นก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากมาก เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วพริบตา หากแต่กินเวลากว่า 300 ปีเลยทีเดียว เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ชอบยกกันมากในทางประวัติศาสตร์อย่างการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็กินเวลายาวนานเป็น 100 ปี ไม่ต้องพูดถึงว่า เอาเข้าจริงแล้วศตวรรษที่ 19 อาจถือว่าเป็นศตวรรษที่ดีที่สุดของอังกฤษด้วยซ้ำ เมื่อคำนึงถึงดอกผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ Nye เห็นว่า การนำเอาวิกฤติเศรษฐกิจมาเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ขาลง’ นั้นมีโอกาสที่จะผิดพลาดสูง ในทางทฤษฎีแล้ว หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์หรือทำนายสถานการณ์ทางการเมืองคือ ‘การระบุแนวโน้ม’ (identify trends)ให้ถูกต้อง ในแง่นี้แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เหมาะสมสำหรับการระบุแนวโน้ม เพราะตัววิกฤติเองมีลักษณะเป็นวัฏจักร (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับชีวิตของรัฐประชาชาติ) แม้วิกฤติบางวิกฤติจะใช้เวลายาวนาน แต่ที่สุดแล้วมันก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติหรือภาวะที่ควรจะเป็นอีกครั้ง

การกลับสู่ภาวะปกติหรือภาวะที่ควรจะเป็นนี่เองที่เหล่าผู้เชื่อมั่นใน ‘ขาลง’ ของอเมริกามองข้ามไป เพราะภาวะที่ควรจะเป็นนั้นถูกกำหนดจากปัจจัยเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว สหรัฐอเมริกายังมีความโดดเด่นเหนือประเทศอื่นๆ ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การมีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก การเป็นเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพการผลิตสูง ดัชนีผู้ประกอบการก็ยังสูงที่สุดในโลก ในระดับมหภาค สหรัฐอเมริกายังเป็นเศรษฐกิจที่มีความสามารถแข่งขันสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ตามการจัดอันดับของ World Economic Forum 2012 (โดยประเทศที่มีอันดับสูงกว่าสหรัฐอเมริกา 6 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฟินน์แลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ส่วนจีนนั้นอยู่อันดับที่ 29 ในการจัดอันดับครั้งนี้)

Nye เห็นว่า ประเทศจีนที่ว่ากันว่าจะก้าวขึ้นมาแทนสหรัฐอเมริกานั้น แท้จริงแล้วมีความเสี่ยงมากกว่าสหรัฐอเมริกาอยู่มาก จีนอาจะมีจุดแข็งในเรื่องของขนาดประชากร และขนาดเศรษฐกิจที่คงจะแซงสหรัฐอเมริกาได้ในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า แต่ ‘ขนาด’ แทบจะเป็นความได้เปรียบอย่างเดียวที่จีนมี ในเรื่องอื่นๆ จีนยังต้องเผชิญปัญหาอยู่มาก ทั้งในเรื่องของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและปัญหาการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน ในขณะเดียวกัน จีนก็มีความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าสหรัฐอเมริกาโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป Nye เห็นว่าพวกที่พูดถึง ‘ขาลง’ สมควรจะเป็นผู้ชนะแห่งวิกฤติการณ์ เพราะแม้สิ่งที่พวกเขาพูดจะผิดแต่เสียงของพวกเขากลับดังและถูกกล่าวอ้างไปทั่วทุกหนแห่ง

SlavojZizek: ระบบทุนนิยม

Zizek เป็นนักปรัชญาและนักวิพากษ์วัฒนธรรมฝ่ายซ้ายชาวสโลวีเนีย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการระหว่างประเทศสาขามนุษยศาสตร์ของสถาบัน Birkbeck แห่งสหราชอาณาจักร งานของเขามีความหลากหลายและครอบคลุมหลายสาขาวิชา ทั้งรัฐศาสตร์ ภาพยนตร์ศึกษา จิตวิเคราะห์ รวมถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Zizek เขียนงานในประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติของระบบทุนนิยมหลายชิ้น และเขาเคยสร้างความฮือฮาด้วยการไปปราศรัยในที่ชุมนุม ‘ยึดวอลล์สตรีท’ (Occupy Wall Street)ด้วย

AllRoadsLeadToWallStShoort-620x484(1)

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจปะทุขึ้น นักวิชาการและสื่อหลายแขนงต่างพร้อมใจกันตีแผ่ด้านมืดของ ‘ระบบทุนนิยมที่ไร้การกำกับดูแล’ เป็นการใหญ่ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วย ‘ความฉ้อฉลของระบบ’ ที่หลายๆ คนเชื่อว่าเป็นรากเหง้าของวิกฤติ และแน่นอนว่า สิ่งที่มาพร้อมกับเสียงด่า คือ เสียงเรียกร้องร้องให้มีการรับผิดชอบ และการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สำหรับบรรดาฝ่ายซ้าย นี่คือโอกาสอันดีที่จะก่อให้เกิดการ ‘ปฏิวัติระบบทุนนิยม’

ความเคลื่อนไหวของมวลชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ ‘ยึดวอลล์สตรีท’ ที่ขยายไปตามเมืองใหญ่ศูนย์กลางระบบทุนนิยมหลายแห่ง การประท้วงใหญ่ของประชาชนชาวกรีซที่ต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด ความคึกคักของแอคติวิสต์ในที่ต่างๆ คือความหวังของฝ่ายซ้ายเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม Zizek เห็นว่า มุมมองข้างต้นเป็นมุมมองของพวกฝ่ายซ้ายที่มองโลกในแง่ดีเท่านั้น ในความเป็นจริงผล กระทบที่เกิดจากวิกฤติไม่ใช่การปฏิวัติระบบ หากแต่เป็นชุดนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมที่แม้จะทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนทั่วไปกับคนรวยเพิ่มมากขึ้น และทำให้ ‘คนที่จนที่สุด’ (ซึ่งเป็นส่วนน้อยของสังคม) จนไปมากกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางการกล่าวขวัญถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนและสิงคโปร์ ทำให้แนวความคิดในการจับทุนนิยม ‘แต่งงาน’ กับรัฐอำนาจนิยมก็กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

Zizek มองว่า ถึงที่สุดแล้ว การด่า การวิพากษ์วิจารณ์ และการเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ที่มีต่อระบบทุนนิยมนั้น ล้วนกระทำอยู่บนพื้นฐานของรัฐแบบกฎุมพี (bourgeois state)ซึ่งก็เป็นที่พึ่งพิงของระบบทุนนิยมด้วยเช่นกันสำหรับเขารัฐกระฎุมพี คือ รัฐของชนชั้นที่มีความสุขด้วยเรื่อง ‘โง่ ๆ’ เอาแต่ใจ หยาบคาย และมีความเป็นเผด็จการอยู่ในตัวเอง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ตราบเท่าที่ความเป็นรัฐกระฎุมพีนั้นไม่ถูกตั้งคำถาม

อาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายซ้ายนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเสนอทางเลือกใหม่ที่จะมาแทนที่ระบบทุนนิยม ดังนั้น เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจและความล้มเหลวในระบบทุนนิยมเกิดขึ้น ทางออกเดียวที่เหลืออยู่คือ เป็นทุนนิยมให้มากกว่าเดิม

ส่วนเหยื่อแท้จริงของวิกฤติเศรษฐกิจอาจเป็นประชาธิปไตย