ThaiPublica > คอลัมน์ > ‘คนหาย’

‘คนหาย’

14 กันยายน 2012


ตะวัน มานะกุล

ในช่วงไม่นานมานี้ ผมได้ฟังเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่สองเรื่อง อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องแรกมาจากคนรู้จักคนหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน ญาติผู้ใหญ่ของเขาซึ่งเป็นทหาร มีภารกิจต้องเข้าไปในชายแดนลาว แล้วเกิดหายตัวไประหว่างปฏิบัติการ พอทราบข่าว ญาติพี่น้องทุกคนได้แต่หมดหวัง เพราะสถานการณ์สงครามในสมัยนั้นไม่น่าจะปราณีชีวิตใครโดยง่าย อย่างไรก็ตาม ผ่านไปปีกว่าๆ เขาคนนั้นโผล่กลับมาอย่างไม่มีใครคาดฝัน เมื่อกลับมาก็ไปรับราชการทหารดังเดิม ทรัพย์สินต่างๆ ยังคงอยู่ครบถ้วน นอกจากนี้ เพื่อนผมยังเล่าให้ฟังอีกว่า สิ่งแรกที่เขาทำเมื่อกลับมาถึงบ้านคือ ไปตีกอล์ฟในคลับที่บัตรสมาชิกของเขายังไม่หมดอายุ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยที่เพื่อนผมเรียนอยู่ ครั้งหนึ่ง อาจารย์ประจำวิชาพาเพื่อนของผมไปปล่อยทิ้งไว้ในสถานที่ที่ห่างจากห้องเรียนประมาณยี่สิบกิโล แล้วมอบภารกิจให้เดินทางกลับมาที่ห้องเรียน โดยก่อนจาก อาจารย์ได้ริบสิ่งของติดตัวทุกอย่างของเธอ เหลือไว้ให้แค่เหรียญสำหรับโทรศัพท์ติดต่อในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆ

จำได้ว่า วันนั้นเธอกลับมาทั้งน้ำตา พร้อมเรื่องเล่าว่าเมื่อเธอไม่มีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามสารพัดจากคนที่เธอไปขอความช่วยเหลือ มีแม้กระทั่งผู้ชายมาเสนอซื้อบริการจากเธอ แลกกับเงินสำหรับเดินทางกลับ โชคดีที่หลังจากวนเวียนขอความช่วยเหลืออยู่พักใหญ่ แม่ค้าใจดีคนหนึ่งก็สงสารและมอบเงินให้เธอในที่สุด

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไร เธอตอบว่าในช่วงเวลานั้นรู้สึกไร้ตัวตน และเหมือนหายตัวไปจากโลก

สองเรื่องนี้ชวนให้เปรียบเทียบกันอยู่ไม่น้อย เพราะในเบื้องต้น คนทั้งสองล้วนเป็น ‘คนหาย’ จะต่างกันก็ตรงรูปแบบของการหายตัว กล่าวคือ ชายคนแรกหายไปในเชิงกายภาพ แต่บทบาทสถานะทางสังคมต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ เพราะเขายังคงเป็น ‘ประชาชน’ เป็น ‘ทหาร’ เป็น ‘เจ้าของ’ ทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงเป็น ‘ลูกค้า’ กอล์ฟคลับเช่นเดิม หากเป็นสมัยนี้ ทรูวิชั่นก็คงยังไม่ตัดสัญญาณ หากญาติของเขาไม่ไปแจ้งยกเลิกเป็นสมาชิก

ในขณะที่เรื่องหลัง เพื่อนของผมยังคงเดินให้เห็น อยู่ให้สัมผัส แต่กลับกลายหายตัวจากสังคมไปเสียเฉยๆ

ตามความเข้าใจของผม สองเรื่องนี้กำลังบอกว่ามนุษย์คนหนึ่งมีตัวตนอยู่ในสองรูปแบบพร้อมๆ กัน แบบแรก คือ ดำรงอยู่ในทางกายภาพ ให้คนอื่นรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า กับอีกแบบ คือ ดำรงอยู่ผ่านบทบาทสมมติหรือสถานะทางสังคม ซึ่งนิยามผูกติดกับสถาบันต่างๆ เช่น เป็น ‘ประชาชน’ ในรัฐ เป็น ‘ทหาร’ ของกองทัพ เป็น ‘คนไข้’ ของโรงพยาบาล เป็น ‘ลูกค้า’ ของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น การไม่มีตัวตนในรูปแบบหนึ่งๆ ไม่ได้หมายความว่าการดำรงอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งจะต้องหายไปด้วยเสมอไป เช่นตัวอย่างที่เล่าไปข้างต้น

แต่ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็คงยากที่จะกล่าวว่าเขาคนนั้นยังคงมีชีวิต เพราะถึงไม่ตายก็คงตายทั้งเป็น

ทั้งนี้ เพราะระบบสังคมในปัจจุบันถูกออกแบบสำหรับการดำรงอยู่แบบหลังเสียมาก หากเป็นอดีต ไม่มีบทบาทสมมติก็คงไม่เป็นไรมาก เพราะความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ชุมชนท้องถิ่น เพียงพอที่จะอุดหนุนให้บุคคลสามารถมีชีวิตรอดไปได้ในแต่ละวัน แต่ตอนนี้คงเป็นเรื่องเพ้อฝันสำหรับคนส่วนใหญ่ หากคิดจะไปช่วยเพื่อนบ้านลงแขกแล้วขอแบ่งข้าวมาหุงกิน ส่งลูกไปเรียนกับขรัวตาที่วัดหน้าปากซอย หรือจับปลาไปฝากคลินิกฝั่งตรงข้ามบ้านแล้วขอฝากผีฝากไข้

กล่าวด้วยภาษาวิชาการ บทบาทในการดูแล รวมถึงหน้าที่ในการกระจายปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของบุคคล ล้วนถูกโอนจากความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ชุมชน ไปให้สถาบันสมัยใหม่หมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า และนี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้บัตรประชาชน บัตรสมาชิก หรือเงิน เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะขาดสิ่งเหล่านี้เราก็จะไร้ตัวตนไปโดยปริยาย

ในสภาพแบบนี้ ลืมหยิบกระเป๋าสตางค์ออกจากบ้านดูสักวัน ก็เป็น ‘คนหาย’ ได้เหมือนกัน

วัฒนธรรม ‘อุ้มหาย’

เมื่อการดำรงอยู่ทางร่างกายเป็นเพียงขาหนึ่งของชีวิต ในขณะที่อีกขาหนึ่งต้องพึ่งพาอาศัยส่วนรวม การอุ้มให้คนคนหนึ่งหายไปจึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการลักพาร่างกายไปเท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงการที่สังคมตัดเขาคนนั้นออกจากเครือข่าย สายใย ทางสังคมต่างๆ ที่ร้อยรัดเขาอยู่ เช่น ถ้าเป็นนักศึกษา ก็ลบชื่อออกจากสำนักทะเบียน

ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com
ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com

ดังนั้น เมื่อเราทุกคนต้องพึ่งพาสังคม เราจึงคาดหวังให้บ้านเมืองมีสวัสดิการที่ดีในระดับหนึ่ง มีงานให้ทำ จะได้มีเงินไว้ดูแลตัวเอง ในเรื่องของความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นก็พอจะยอมรับได้บ้างตามอัตภาพ แต่ที่สำคัญคือ ยอมมาอยู่ด้วยทั้งทีแล้วอย่ามาทอดทิ้งไม่เห็นหัว ยิ่งปล่อยให้มีการ ‘อุ้มหาย’ กันง่ายๆ นี่ยิ่งยอมรับไม่ได้

แต่หากทิ้งอุดมคติแล้วมามองความจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า บ้านเราเต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ดังนั้นจึงมี ‘คนหาย’ ให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมือง เช่น ผู้คนในภาคชนบทที่กลายเป็นพลเมืองลำดับสอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ทั้งในแง่หลักทฤษฎี และหลักหัวจิตหัวใจ แต่ที่น่าตกใจกว่าคือ คนใหญ่คนโตในบ้านเมืองเรามักชอบ ‘อุ้มหาย’ ผู้คน โดยสังคมส่วนใหญ่มักเลือกนิ่งเฉย หรือหนักกว่านั้นคือสนับสนุนด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นฉันทามติสังคมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เรียกว่าเป็นวัฒนธรรม ‘อุ้มหาย’ ก็คงไม่คลาดเคลื่อนนัก

เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน มีผู้หญิงคนหนึ่ง พื้นเพเธอไม่ได้เป็นคนจนและไม่ใช่คนชายขอบ แต่เป็นชนชั้นกลางที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีกิจการเป็นของตัวเอง และดำรงชีวิตเช่นเดียวกับคนปกติ แต่ต่อมาเกิดโชคร้าย ไปมีเรื่องมีราวกับโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ เนื่องจากความมักง่ายของแพทย์ในโรงพยาบาล ทำให้ลูกในท้องของเธอที่กำลังคลอดพิการและติดเชื้อร้ายแรง แต่กลับปฏิเสธที่จะรับผิดชอบหรือแม้แต่แสดงความเสียใจ ในช่วงแรกเธอร้องไปยังองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลจรรยาบรรณแพทย์และโรงพยาบาล แต่องค์กรเหล่านั้นกลับแสดงท่าทีปกป้องพวกพ้อง ด้วยการชี้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูล แม้จะมีกรรมการในนั้นหลายคนยืนยันว่ามีหลักฐานความผิดของคู่กรณีของเธอก็ตาม ต่อมาเธอจึงเลือกต่อสู้ผ่านกระบวนการทางศาล ฟ้องไปฟ้องมาไม่เคยชนะคดี คาราคาซังมากว่ายี่สิบปีจึงสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องขายกิจการ ทรัพย์สินทั้งหลายทั้งปวงที่เคยมีอยู่ เพื่อประทังชีวิต และจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลลูก รวมถึงเป็นต้นทุนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่บรรลุความยุติธรรมเสียที

ตลอดช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ เธอถูกรบกวนข่มขู่จากเครือข่ายผู้มีอำนาจ ถูกใส่ร้ายป้ายสี ที่พักอาศัยถูกบุกรุก มีการติดต่อเพื่อเสนอติดสินบนให้เธอยอมยุติการต่อสู้ สามีถูกบีบออกจากบริษัทที่ทำงาน เพราะเครือข่ายคู่กรณีของเธอมีอิทธิพลเหนือบริษัทดังกล่าว (โดยแจ้งเหตุผลว่าสามีเธอไม่ยอมไปทำงานตอนน้ำท่วม ทั้งที่พนักงานคนอื่นก็ไม่มีใครไป แต่ไม่มีใครถูกไล่ออก!!!) ที่สำคัญ แพทย์จำนวนมากปฏิเสธที่จะรักษาเธอหรือลูกของเธอเมื่อถูกรังแกถึงเพียงนี้ เธอจึงตระเวนร้องทุกข์ผ่านสื่อ แต่ก็พบอีกว่า เครือข่ายสื่อกระแสหลักล้วนเป็นพรรคพวก หรือไม่ก็เกรงกลัวอิทธิพลของผู้มีอำนาจที่เธอไปทะเลาะด้วย รวมถึงถูกคู่กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายร้อยล้าน จากการที่เธอไปบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง และเมื่อเธอพบว่าแม้ความจริงแล้ว ‘ประเทศไทยนั้นเล็กนิดเดียว’ เพราะอยู่ในมือผู้มีอำนาจไม่กี่คน เธอจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย เคราะห์ดีบางประการทำให้เหตุการณ์สุดท้ายไม่เกิดขึ้น

กล่าวได้ว่าเธอเป็น ‘คนหาย’ ไปพักหนึ่ง ก่อนจะสามารถอารยะขัดขืนด้วยการโกนหัว อดข้าว จนสื่อยอมแห่มาทำข่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านั้น การที่คู่กรณีของเธอปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบ หรืออย่างน้อยแสดงความเสียใจ การที่เธอถูกข่มขู่คุกคามต่างๆ และที่สำคัญคือการที่เธอถูกหมอหลายคนปฏิเสธให้การรักษา ทั้งที่บริการดังกล่าวถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นั่นหมายความว่าสถานะความเป็นมนุษย์เธอถูก ‘อุ้มหาย’ โดยฝีมือของผู้ที่ได้รับชื่อว่าเป็นผู้ช่วยชีวิต

ขั้นต่อมา การที่เธอร้องขอให้องค์กรรัฐเข้ามาช่วยเหลืออำนวยความเป็นธรรมให้กับเธอ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ แปลว่าสถานะ ‘ประชาชน’ ของเธอก็ถูก ‘อุ้มหาย’ ไปโดยฝีมือของรัฐผู้มอบสถานะนี้ให้กับเธอที่อำเภอตอนแรกเกิด

สุดท้าย เธอสิ้นเนื้อประดาตัว จึงหลุดออกจาก ‘ตลาด’ ต้องขายทรัพย์สินทั้งหมด รวมถึงหมดหนทางต่อสู้เพราะสื่อพากันปิดปากเงียบ เธอจึงไม่สามารถส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชาติ กล่าวได้ว่า สถานะทางสังคมของเธอล้วนถูก ‘อุ้มหาย’ โดยสิ้นเชิง

เมื่อถูกอุ้มหายความเป็น ‘มนุษย์’, ‘ประชาชน’, ‘ลูกค้า’, ‘เจ้าของ’, ‘เพื่อนร่วมชาติ’, …

เธอจึงกลายเป็น ‘คนหาย’ โดยสมบูรณ์

ให้หายยิ่งไม่หาย ให้ตายยิ่งมีชีวิต

ตัวอย่าง ‘คนหาย’ ในประเทศไทยมีเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ยกตัวอย่างของผู้หญิงคนนั้น เพราะต้องการย้ำในสองประเด็น ประเด็นแรก คือ เธอไม่ได้ตั้งต้นจากการเป็นคนจน คนไร้อำนาจทางการเมือง หรือเป็นคนชายขอบ ที่เป็น ‘คนหาย’ มาแต่ไหนแต่ไร แต่เธอเป็นชนชั้นกลางธรรมดา ที่ถูกคนใหญ่คนโตและโครงสร้างสังคม ‘อุ้มหาย’ โดยคนส่วนใหญ่นิ่งเฉย ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเรื่องราวของเธอไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองร่วมสมัยอย่างเรื่องนักโทษการเมือง หรือผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งรัฐและสังคมก็มีฉันทามติ ‘อุ้มหาย’ และลืมเลือนพวกเขาในทำนองเดียวกัน ดังนั้น เรื่องเล่าของเธอจึงน่าจะทำให้หลายคนสามารถอ่านเรื่องราวด้วยใจที่ปราศจากอคติ

แน่นอนว่า สังคมที่ทำให้คนหายได้ ย่อมไม่ใช่สังคมที่ดีต่อคนตัวเล็กตัวน้อย แต่เอาเข้าจริง หากใคร่ครวญให้ดีจะพบว่า ลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อคนตัวใหญ่ตัวโตเช่นกัน เพราะแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ความเสื่อมอำนาจในตอนท้าย กล่าวคือ ยิ่งผู้คนถูกผู้มีอำนาจ ‘อุ้มหาย’ ไปเท่าไหร่ คนเหล่านั้นก็ยิ่งดิ้นรนส่งเสียงของตนให้ดังมากขึ้น

แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะน่ากลัวไปกว่าการเผชิญหน้ากับคนที่ไม่มีอะไรต้องเสียอีกต่อไป

นักปรัชญาการเมืองท่านหนึ่งเคยเสนอไว้ว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะส่งเสียง (Voice) แห่งเหตุผล (Logos) แต่เมื่อใดก็ตามที่เสียงดังกล่าวถูกปิดกั้นลง ผู้คนเหล่านั้นจะกรีดร้องเพื่อให้ผู้อื่นตระหนักว่าเขายังดำรงอยู่ (Noise) และเสียงกรีดร้องนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเสียงจริงๆ เท่านั้นแต่หมายรวมถึงการกระทำต่างๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลในสายตาคนทั่วไป

การโกนหัว อดข้าว แต่งชุดดำ ของผู้หญิงที่กล่าวถึงไป การต่อต้านรูปแบบต่างๆ ในเรื่องอื่นๆ หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรง เช่น การก่อการร้าย ก็ล้วนถือเป็นรูปธรรมของการ ‘กรีดร้อง’ ทั้งสิ้น

ในสถานการณ์เช่นนั้น หากมองจากมุมมองผู้คนตัวใหญ่ตัวโต พวกเขามีทางเลือกเหลือสองทาง ทางแรก คือ เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้กลับมามีตัวตน และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง รวมถึงอาจส่งมอบสิทธิ ทรัพย์สินต่างๆ เป็นกำนัล เช่น ให้สิทธิเสรีภาพพวกเขาในฐานะประชาชน หรือค้ำประกันสวัสดิการที่เหมาะสมในฐานะมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้บุ่มบ่ามทำอะไรอีก เพราะยิ่งมีอะไรให้เสีย จะทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น กับอีกทางคือ จัดการจบชีวิตของ ‘คนหาย’ เหล่านั้น ให้หายไปจริงๆ

ซึ่งโดยจริตของผู้มีอำนาจ และผู้คนส่วนใหญ่ที่ร่วมสนับสนุนผลักดันมาถึงทางแพร่งเช่นนี้ ย่อมมีแนวโน้มเลือกแนวทางหลังตามความเคยชินเช่นที่เห็นกันในช่วงพฤษภาเลือด ปี’53

แต่ทางออกดังกล่าวไม่ถือเป็นทางออกดังที่อาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า จากปากคำของผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขายึดถือตำนานเล่าขานเกี่ยวกับผู้คนที่พวกเขาถือเป็นพวกพ้อง และเสียชีวิตลงเพราะถูกฝั่งตรงข้ามปลิดชีวิต ราวกับเป็นเทพปกรณัมอันศักดิ์สิทธิ์ และยินดีอุทิศชีวิตเพื่อโค่นล้มศัตรูของเขาอย่างถึงที่สุด!!!

กล่าวคือ ยิ่งให้หาย คนยิ่งไม่ยอมที่จะหาย และยิ่งให้ตาย ยิ่งทำให้เรื่องราวของพวกเขามีชีวิต

ย้อนกลับสู่หัวข้อตั้งต้น กล่าวอย่างถึงที่สุด ปัญหาเรื่อง ‘คนหาย’ และการทำ ‘คนหาย’ จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวของสังคมการเมืองในระยะยาว อันได้แก่ ความเสื่อมของสังคมการเมือง หรือสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น

เพื่อหลีกเลี่ยงแนวโน้มข้างต้น ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดจึงได้แก่การมอบสิทธิ อำนาจ รวมถึงกระจายทรัพย์สิน ให้กับผู้คนตัวเล็กตัวน้อย รวมถึงสร้างสถาบันทางสังคมที่เข้มแข็ง ไม่ถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ คอยป้องกันไม่ให้ใครมาอุ้มใครหายไปได้ง่ายๆ โดยทั่วไปเราเชื่อว่าต้องเกิดจากการรวมพลังต่อสู้ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมกลับ แนวทางดังกล่าวจะช่วยสร้างสันติสุขให้กับคนตัวใหญ่ตัวโตไม่น้อย เพราะจะไม่ถูกท้าทายจากคนที่ไม่มีอะไรต้องเสีย นักวิชาการบางคนถึงกับฟันธงว่า เหตุผลหลังนี้คือสาเหตุที่ทำให้ชนชั้นนำในอังกฤษยอมขยายสิทธิการเลือกตั้ง และกระจายที่ดินในประเทศให้แก่คนชั้นล่างลงไป

ในสภาพที่ประเทศไทยทรัพย์สินกระจุกตัว อำนาจรวมศูนย์ มีการเหยียดกันทางวัฒนธรรม การร่วมกันค้นหา ‘คนหาย’ และพาพวกเขากลับจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน