ThaiPublica > เกาะกระแส > “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” แจงสินเชื่อโตเกือบ 3 เท่าของจีดีพี ไม่จำเป็นต้องแตะเบรก- ส่วนปีหน้าต้องเกาะติดข้อมูลอย่างใกล้ชิด

“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” แจงสินเชื่อโตเกือบ 3 เท่าของจีดีพี ไม่จำเป็นต้องแตะเบรก- ส่วนปีหน้าต้องเกาะติดข้อมูลอย่างใกล้ชิด

19 พฤศจิกายน 2012


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ที่มา: http://www.matichon.co.th/online

ตัวเลขสินเชื่อ เป็นปรอทวัด “อุณหภูมิ” เศรษฐกิจได้ดีตัวหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้วิเคราะห์ติดตาม ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ เมื่อใดที่สินเชื่อขยายตัวสูงมาก หรือเริ่มเห็นสัญญาณอันตรายของภาวะฟองสบู่ ธปท. มักจะออกมาตรการกำกับการปล่อยสินเชื่อ หรือส่งสัญญาณผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ย

ล่าสุด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 พ.ย.) ธปท. ได้แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2555 มีข้อมูลตัวเลขสินเชื่อและข้อมูลที่น่าสนใจคือ

1. สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวสูงถึง 14.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน ซึ่งขยายตัวสูงในระดับเดียวกันต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส

2. ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อรวม

3. กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 1.347 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 19% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน

4. อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 15.9% เป็นอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 11.9%

ตัวเลขสินเชื่อและฐานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรากฏนั้น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. มีข้อสังเกต 2 ข้อ

ข้อแรก สะท้อนว่าช่วงที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์สามารถปรับตัวรองรับความผันผวนในระบบเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี หรือมี Resilience คือมีเหตุการณ์ผันผวนมากระทบก็สามารถรองรับได้ด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์รุนแรงทั้งความไม่สงบในประเทศ เหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น น้ำท่วมรุ่นแรงในประเทศ เหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป แต่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็มี Resilience ค่อนข้างดี

ข้อสอง ระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี จากตัวเลขสินเชื่อไตรมาส 3 สินเชื่อภาคธุรกิจซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 70% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวถึง 12.5% สินเชื่ออุปโภคบริโภคซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวได้ถึง 18% อัตราการเติบโตของสินเชื่อขนาดนี้อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าสนับสนุนธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี

ดร.ประสารมีความเห็นว่า การที่สินเชื่อขยายตัวมาถึงจุดนี้ได้ ต้องให้เครดิตกับผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งคิดว่าในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งคงจะเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตจากวิกฤติ 2540 โดยธนาคารพาณิชย์มีการปรับระบบการดำเนินงาน ระบบบริหารความเสี่ยง ระบบการบริหาร ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้โดยรวมก็มีความเข้มแข็งพอประมาณ อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะการทำงานของด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการดำเนินงานด้านต่างๆ และการปรังปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ การกำกับดูแลต่างๆ ทำให้เมื่อดูแล้วระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ประเด็นคือ ตัวเลขสินเชื่อ 14.2% หากเปรียบเทียบกับขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ ธปท. ประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 5.7% ถือว่าสินเชื่อขยายตัวสูงกว่าจีดีพีเกือบ 3 เท่า จึงมีคำถามว่า

1. สินเชื่อที่อยู่ระดับ 14.2% เป็นอัตราการขยายตัวที่สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือไม่

2. สินเชื่อในอัตราที่สูงนั้นจะขยายตัวต่อเนื่องหรือไม่

3. เป็นระดับสินเชื่อที่น่าเป็นห่วง ต้องออกมาตรการดูแลหรือไม่

คำถามดังกล่าว ดร.ประสารตอบว่า เป็นโจทย์ที่ ธปท. มีการติดตามอยู่ และพยายามดูว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อมีส่วนสัมพันธ์กับธุรกรรมทางเศรษฐกิจจริงอย่างไร แน่นอนว่าอัตรา 12.5% สำหรับสินเชื่อธุรกิจ และ 18% สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ก็พอ “อธิบาย” ได้ เช่น สินเชื่ออุปโภคบริโภคช่วงปีที่ผ่านมามีมาตรการพิเศษของรัฐ โดยเฉพาะภาครัฐมีนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก และสนับสนุนบ้านหลังแรก ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นทำให้การซื้อรถยนต์และบ้านขยายตัวสูง จะเห็นได้จากการที่สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้านขยายตัวในทำนองเดียวกัน

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ สินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 30.1% และสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 10%

ส่วนสินเชื่อธุรกิจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระยะหลังธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศแล้วนิยมที่จะใช้สินเชื่อในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทแม่กู้ แล้วเอาออกไปใช้ ก็มีเหตุผลพออธิบายได้

ผู้ว่า ธปท. ขยายความว่า “ธุรกิจไทยพอไปลงทุนต่างประเทศจะไม่ก่อให้เกิดจีดีพี เพราะอยู่ในต่างประเทศ แต่ใช้สินเชื่อในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย เพราะว่าคนไทยจะไปมีทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศ เหมือนต่างประเทศมีทรัพย์สินอยู่ในไทย ปัจจุบันหรือในอดีตที่ผ่านมา มักจะเป็นว่าต่างประเทศมีทรัพย์สินในประเทศไทยมากกว่าคนไทยจะไปมีทรัพย์สินต่างประเทศ กรณีนี้เพียงแต่อธิบายว่า ใช้สินเชื่อในประเทศแต่สร้างจีดีพีอยู่นอกประเทศ เพราะฉะนั้น สินเชื่อมีโอกาสสูงกว่าจีดีพี”

อีกอันเป็นเหตุผลเป็นทางเทคนิค ดร.ประสารอธิบายว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจจริง เวลาพูดถึงจีดีพี สมมติโตที่ 5.7% (ตัวเลขประมาณการจีดีพีปีนี้ของ ธปท.) และ Inflation (เงินเฟ้อ) อีกประมาณ 3% รวมเข้าไปแล้วเกือบ 8-9% แต่ตัวที่เรามาคิดราคาจีดีพี ที่เราเรียกว่า GDP Deflator ปกติ Deflator ตัวนี้จะต่ำกว่าเงินเฟ้อในภาคธุรกรรมจริง ทั้งสองตัวนี้ทางวิชาการมีความเหลื่อมกันอยู่

“ทำให้เวลาเราพูดถึง GDP Nominal จะโต 9% 10% ที่เราเห็นสินเชื่อโตกว่า 10% ทางทีมวิจัยของ ธปท. ได้ปรับปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไป ก็ถือว่าเทียบเคียงกันได้ โดยถ้าปรับตัวนี้ลง ทั้งการลงทุนไทยไปต่างประเทศและเรื่องของ GDP deflator กับ Inflation ก็จะเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เสมอกัน”

“เพราะฉะนั้น ถ้าหักปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด สินเชื่อโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน ดังนั้น เมื่อปรับปัจจัยพวกนี้ยังพออธิบายได้ ไม่เข้าขั้นต้อง “กดปุ่มไฟแดง” และการขยายตัวของสินเชื่อก็พอประมาณอธิบายได้ “ไม่ได้ชี้ไปทางว่าจะต้องไปเบรก” โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปีนี้คงจะขยายตัวสูง 14-15%”

โดย ดร.ประสารกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับที่เป็นอยู่ว่า อยู่ในระดับดุลยภาพพอสมควร เศรษฐกิจก็พอไปได้ใกล้ๆ กับระดับศักยภาพ และแรงกดดันเงินเฟ้อไม่ถึงกับสูงจนเกินไป และการขยายตัวของสินเชื่อก็พอประมาณอธิบายได้ และตั้งแต่ลดดอกเบี้ยลง (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.75% ปรับลดลงเมื่อ 17 ต.ค. 2555) ผลต่อเศรษฐกิจคงยังไม่เห็น เพราะระยะเวลาสั้นเกินไป แต่ตลาดเงินระยะสั้นก็มีการปรับตัวลดลง ส่วนภาคธนาคารพาณิชย์ ก็มีการปรับลดลงเช่นเดียวกัน

ดังนั้นในระยะสั้นมีการ “ส่งผ่าน” นโยบายอัตราดอกเบี้ยไปสู่ตลาดเงิน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง “ดุลยภาพ” ดร.ประสารอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นความท้าทายการดำเนินนโยบายการเงินว่า จุด “สมดุล” ควรเป็นอย่าง ความสมดุลในแง่ที่ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจเท่าที่เราติดตามดูอยู่ก็มีอัตราการเติบโตตามศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่ได้มีแรงกดดันสูงนัก

แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น ปีหน้า การขึ้นข้างจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แผนที่จะปรับโครงสร้างพลังงาน จะมีผลส่งผ่านอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องติดตาม ส่วนต่างประเทศก็มีความท้าทายทั้งจากเศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จะคลี่คลายไปอย่างไร เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำลังติดตามและกำลังดูอยู่ ดังนั้น โจทย์ของ กนง. มีพลวัตพอสมควร ไม่ใช่โจทย์ที่หยุดนิ่ง ต้องดูตัวแปรต่างๆ ซึ่งมีความซับซ้อนพอสมควร

โดยสรุป จากคำอธิบายของผู้ว่าการ ธปท .ชี้ได้ระดับหนึ่งว่า สินเชื่อปีนี้ที่โตถึง 14-15% ไม่ใช่สัญญาณของภาวะฟองสบู่ และดอกเบี้ยนโยบายไม่จำเป็นต้องแตะเบรกสินเชื่อ นั่นหมายความว่า ทิศทางนโยบายการเงินยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มปีหน้า มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ต้องติดตามดูต่อไปว่า ธปท.จะ “กดปุ่ม” สัญญาณไฟเขียว หรือไฟแดง