เปิด 25 คดีทุจริตจำนำข้าวสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เผย “พิษณุโลก” ครองแชมป์โกงมากสุด 8 คดี และข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผู้ต้องหามากสุด 25 คน ขณะที่ “ทีดีอาร์ไอ” ระบุการดำเนินคดีจับได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย แก้ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายไม่ได้ จวกโครงการจำนำข้าวเปิดโอกาสคอร์รัปชันทุกขั้นตอน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว การเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันสาธารณภัย และการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รายงานเกี่ยวกับการทุจริตจำนำข้าวให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทราบว่า การสอบสวนดำเนินคดีอาญา เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 ข้อมูลล่าสุด ณ 8 ตุลาคม 2555 พบว่า มีการสอบสวนดำเนินคดี รวม 25 คดี มีผู้เสียหายเป็นเกษตรกรรวม 760 คน ผู้ต้องหา 53 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 307,372,627.35 บาท
ในส่วนของความคืบหน้า ขณะนี้สามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีแล้ว จำนวน 32 คน ปัจจุบันดำเนินคดีเสร็จสิ้น 1 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 14 คดี พนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง ส่งอัยการแล้ว 7 คดี และส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาค 3 คดี
จากเอกสารประกอบการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ระบุว่า ในการดำเนินคดีอาญาโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 ซึ่งมีจำนวน 25 คดี ได้แบ่งข้อหาที่กระทำความผิดออกเป็น 7 ข้อกล่าวหา ดังนี้
1. ความผิดข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์” ลักษณะการกระทำความผิดมีดังนี้ กรณีที่จังหวัดนครนายก มีผู้ต้องหากับพวกร่วมกันสวมสิทธิ์เกษตรกร นำข้าวเข้าจำนำและเบิกของรัฐโดยตนเองไม่มีสิทธิ์ คดีนี้พนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง ส่งพนักงานอัยการ
ขณะที่กรณีในจังหวัดกำแพงเพชร ผู้ต้องหาร่วมกันหลอกลวงนำข้าวเปลือกนาปรังเกินปริมาณที่ผลิตได้จริงไปจำนำที่โรงสี บริษัท สิงโตทอง อาร์ ซีซีไรซ์ จำกัด ซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย กรณีนี้ความคืบหน้าทางคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
และกรณีที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ต้องหากับพวกหลอกลวงผู้เสียหายว่าโรงสีมานะยิ่งเจริญ เป็นโรงสีตามโครงการรับจำนำข้าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายกับพวกหลงเชื่อและขายข้าวเปลือกให้ผู้ต้องหากับพวก แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายให้มารับใบประทวน ผู้ต้องหากับพวกแจ้งว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ คดีนี้พนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง ส่งพนักงานอัยการ
2. ความผิดข้อหา “ร่วมกันพยายามฉ้อโกงทรัพย์” ลักษณะการกระทำความผิด กรณีที่จังหวัดพิษณุโลก คือ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้มาติดต่อขอเอกสารการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากผู้ต้องหาที่ 1 โดยอ้างว่าจะนำไปทำใบประทวนและให้ค่าตอบแทนกับผู้ต้องหาที่ 1 หลังจากผู้ต้องหาที่ 2 นำใบประทวนมามอบให้ผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ผู้ต้องหาที่ 1 ได้นำไปเบิกเงินจาก ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ซึ่ง ธ.ก.ส. ปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากตรวจพบไม่มีข้าวอยู่จริง คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
3. ความผิดข้อหา “โกงเจ้าหนี้” ลักษณะการกระทำความผิด กรณีที่จังหวัดปราจีนบุรี ผู้ต้องหาขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 22,834,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยนำข้าวเปลือกในโกดังของตนเองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต่อมา ธ.ก.ส. ตรวจสอบพบว่าข้าวเปลือกในโกดังดังกล่าวไม่ใช่ข้าวเปลือกที่ผู้ต้องหาจำนำไว้กับ ธ.ก.ส. เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ผลทางคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน
4. ความผิดข้อหา “ร่วมกันยักยอกทรัพย์” ลักษณะการกระทำผิด กรณีที่จังหวัดนครราชสีมา คือ อคส. (องค์การคลังสินค้า) ทำสัญญาฝากเก็บข้าวไว้กับโรงสีรายหนึ่ง ต่อมา คณะอนุกรมการฯ ตรวจสอบพบว่า ปริมาณข้าวหายไปจากบัญชี เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
5. ความผิดข้อหา “เป็นผู้รอบครองข้าวเปลือกตั้งแต่ 15 ตันขึ้นไป ไม่จัดบัญชีคุมสินค้า” ลักษะการกระทำความผิด กรณีจังหวัดปราจีนบุรี คือ เป็นผู้ครอบครองข้าวเปลือกตั้งแต่ 15 เมตริกตันขึ้นไป แล้วไม่จัดทำบัญชีคุมสินค้าแสดงชนิด ปริมาณ ที่มีอยู่ ปริมาณการซื้อ ปริมาณการได้มา ปริมาณจำหน่าย และปริมาณคงเหลือให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน
ทั้งนี้ คดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรีในข้อหาดังกล่าว เป็นคดีเดียวจากทั้งหมด 25 คดี ที่ศาลพิพากษาแล้ว ลงโทษปรับจำนวนเงิน 32,500 บาท
6. ความผิดข้อหา “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” เป็นคดีที่มีผู้ต้องหารวมมากที่สุด 25 คน ลักษณะการกระทำความผิดมีดังนี้
กรณีจังหวัดบุรีรัมย์ คือ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับแจ้งจาก ธ.ก.ส. อ.หนองกี่ และโรงสีไฟฉัตรเจริญ (๑๙๙๔) ว่าพบเหตุผิดปกติในการรับจำนำข้าว ณ ท่าข้าวธนพลพืชผล จึงเข้าทำการตรวจสอบและพบว่า ปริมาณข้าวเปลือกที่มีอยู่น้อยกว่าที่ปรากฏอยู่ในจำนวนที่ระบุในใบประทวนทั้งหมด จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ผู้ต้องหากับพวกร่วมกันออกใบประทวนอันเป็นเท็จ นำไปเบิกเงินจาก ธ.ก.ส. ความคืบหน้าคดีนี้ ได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ ป.ป.ท. ส่งมอบให้ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ดำเนินการ ต่อมา ป.ป.ช. มอบให้พนักงานสอบสวนท้องที่ดำเนินการ
กรณีจังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะการกระทำผิดคือ พบว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 สภ.กมลาไสย ได้รับหนังสือแจ้งความร้องทุกข์จากนายถาวร กุลโชติ ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ดำเนินคดีอาญากับนางสุนทร นันทเพชร กับพวก โดยกล่าวหาว่า เป็นนายหน้าหลอกลวงเกษตรกรนำใบประทวนที่นายหน้าจัดเตรียมไปทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ลักษณะสวมสิทธิ์ มีเกษตรกรถูกหลอกลวงหลายราย โดยมีพฤติการณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้รวมมีเกษตรกรถูกหลอกลวงทั้งสิ้น 71 ราย ความคืบหน้าทางคดีได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ท. ดำเนินการ
กรณีจังหวัดมหาสารคาม ลักษณะการกระทำความผิดคือ พบว่าเมื่อเดือน ก.พ. – ส.ค. 2555 นายเกริกฤทธิ์ อามาตร, นางทองใบ ดาพาโย, นางบัวไข สีตันโพธิ์, นางสังวาล ภูงามแง้, นางทิพย์ ช่างสกล และนางสุพิน แก้วเกตุพงศ์ ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ อคส. ทำการรับจำนำข้าวโดยไม่มีข้าวเปลือกจริง และนำใบประทวนสินค้าไปจำนำกับ ธ.ก.ส. สาขาโกสุมพิสัย และต่อมานายเกริกฤทธิ์ นางทองใบ นางบัวไข นางสุพิน ไม่ขอรับเงินเนื่องจาก ธ.ก.ส. ทักท้วง ส่วนนางสังวาลและนางทิพย์ได้รับเงินจำนำข้าวไปแล้ว ความคืบหน้าทางคดี ส่งสำนวนให้ ป.ป.ท. ดำเนินการ
อีกกรณีที่จังหวัดสกลนคร ลักษณะการกระทำความผิดคือ พบว่าเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2555 นายประภาส เตียงชัย เกษตรกรผู้มีใบรับรองเกษตรกร นำข้าวไปจำนำที่โรงสีล้อมรักธัญญา อ. บางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าข้าวไม่ผ่านเกณฑ์ จึงได้นำข้าวไปขายให้โรงสีโพธิ์ชัยทอง อ.อากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร จากนั้น นายประภาสได้นำใบรับรองเกษตรกรมอบให้กับนายวีนัส ตรงบุญชัย โดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 3,000 บาท และนายวีนัสนำมอบต่อให้กับนางรุ่งทิวา หอมแพน โดยนายวีนัสได้รับค่าตอบแทน 3,000 บาท จากนั้นนางรุ่งทิวานำมอบให้กับนายบุญคุ้ม เดชวิเศษ เจ้าหน้าที่ อคส. เพื่อออกใบประทวน และนำใบประทวนเป็นหลักฐานไปขอเบิกเงินจาก ธ.ก.ส. เป็นจำนวน 80,000 บาท โดยไม่มีข้าวมาจำนำแต่อย่างใด ความคืบหน้าทางคดีขณะนี้คือ ส่งสำนวนให้ ป.ป.ท. ดำเนินการ
7. ความผิดข้อหา “ปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารทางราชการปลอม” ลักษณะการกระทำความผิด กรณีจังหวัดกาญจนบุรี บก.สส.ภ.7 ได้สืบสวนสอบสวนกรณีมีการร้องเรียนว่า การจำนำข้าวในพื้นที่ ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีการทุจริต จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.สร้อยทิพย์ ใจตรง ซึ่งมีหลักฐานรับรองเกษตรกรปลูกข้าวบนเนื้อที่ 37 ไร่ ในที่ดินซึ่งเช่าจากนายเกลี้ยง รอดภัย เนื้อที่ 33 ไร่ และการทุจริตดังกล่าวทำให้น.ส.สร้อยทิพย์ ได้รับเงินจำนวน 400,000 บาท ซึ่งกรณีนี้การดำเนินคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน
อีกกรณีหนึ่งเป็นการตรวจสอบการทุจริตจำนำข้าวในพื้นที่ ม.1 ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี พบว่า นายปรึก พรหมชนะ ได้ยื่นแบบขึ้นทะเบียนเกษตรกร พร้อมสำเนาโฉนดที่ดินซึ่งมีการแก้ไขเนื้อที่จากจำนวน 12 ไร่ 2 งาน เป็น 32 ไร่ 2 งาน และ จาก 3 ไร่ เป็น 13 ไร่ จึงได้มีการดำเนินคดีกับนายปรึก ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการปลอม กรณีนี้ก็อยู่ระหว่างการสอบสวน
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การไล่จับดำเนินคดีทุจริตจำนำข้าวที่รัฐบาลดำเนินการเฉพาะจุด หรือเฉพาะแห่ง ไม่สามารถหยุดยั้งหรือแก้ปัญหาการทุจริตได้ เนื่องจากโครงการจำนำข้าวเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย คือ ออกแบบมาเป็นระบบเพื่อเปิดโอกาสให้ทุจริตได้ทุกขั้นตอน หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นนโยบายสนับสนุนการคอร์รัปชัน จึงไม่มีประโยชน์ที่จะจับจุดใดจุดหนึ่ง เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง
“แม้รัฐบาลต้องการจะป้องกันการทุจริตจำนำข้าว แต่รัฐบาลจะเอากำลังคนที่ไหนไปตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน แค่ตรวจสอบโรงสีที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีจำนวนมาก จะหาคนที่ไหนไปเฝ้าได้ทุกแห่งได้ตลอดเวลา และแม้แต่ ป.ป.ช. ก็ไม่มีระบบการป้องกันการทุจริตทั้งระบบ เนื่องจากข้อกฎหมายทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะจับได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย” ดร.นิพนธ์กล่าว
ทั้งนี้ การทุจริตกับโครงการจำนำข้าวนั้นยากที่จะแยกออกจากกัน เพราะตั้งแต่มีการดำเนินโครงการจำข้าว ก็มีการทุจริตเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยเมื่อย้อนรอยกลับไปดูข่าวเกี่ยวกับการทุจริตจำนำข้าวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีข่าวทุจริตจำนำข้าวทุกปี จับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ที่สำคัญทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการทุจริต ซึ่งรวมถึงรัฐบาลนี้ที่ออกมาประกาศว่า จะดูแลไม่ให้มีการทุจริต โดยพยายามออกมาตรการต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายปัญหาการโกงจำนำข้าวไม่ได้จางหายไปไหน กลับยิ่งมีการโกงกันเข้มข้นขึ้นทุกที
แม้จะมีการทุจริตเกิดขึ้นบ้าง แต่ดูเหมือนรัฐบาลนี้ยังคงพึงพอใจกับนโยบายจำนำข้าว โดยหลุดออกมาจากปาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ว่า “ถ้ามีปัญหาเรื่องโกงก็แก้ไขไปนิดเดียว แต่วัตถุประสงค์หลักคือ 80 คะแนน คือชาวนาได้เงิน อีก 20 คะแนน คือการทุจริต” (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 4 ต.ค. 2555) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องออกมาแก้ข่าวกันพัลวัน โดยให้โฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูด (เดลินิวส์ 8 ต.ค. 2555) แต่ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตจำนำข้าวไม่ได้