ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหาวิทยาลัยนอกระบบ (2) : ความเปลี่ยนแปลงหลังออกนอกระบบ กรณีมหาวิทยาลัยบูรพา

มหาวิทยาลัยนอกระบบ (2) : ความเปลี่ยนแปลงหลังออกนอกระบบ กรณีมหาวิทยาลัยบูรพา

26 ตุลาคม 2012


มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนามาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 และเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2551

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยบูรพาเปิดสอนทั้งหมด 3 วิทยาเขต รวม 23 คณะ โดยมีศูนย์ใหญ่ที่บางแสน ซึ่งมีทั้งหมด 18 คณะคือ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ คณะโลจิสติกส์ คณะวิทยาการสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติ

วิทยาเขตจันทบุรี มีทั้งหมด 3 คณะ คือ คณะเทคโนโลยีทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และคณะอัญมณี และวิทยาเขตสระแก้ว มีทั้งหมด 2 คณะ คือ คณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบปรากฏให้เห็นแทบจะในทุกๆ ด้านของมหาวิทยาลัย ทั้งจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นคน จำนวนอาจารย์ประจำที่น้อยลงหรือเท่าเดิม อาจารย์พิเศษเพิ่มขึ้น จำนวนอาคารเรียนไม่เพียงพอ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ประชาคมมหาวิทยาลัยต้องจ่ายสูงขึ้น

ปัญหาสำคัญที่เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มนิสิตมากที่สุดคือ เรื่องค่าเทอมที่สูงขึ้นเกินกว่าที่ทุกคนจะสามารถจ่ายได้ ซึ่งขัดกับหลักที่ว่า “รัฐต้องจัดการให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างการศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพด้วย”

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยรัฐซึ่งออกนอกระบบแล้วนั้น ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว

หากดูจากค่าเทอมที่ทางมหาวิทยาลัยปรับเมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่า ค่าเทอมของนิสิตที่เรียนในภาคปกติและภาคพิเศษนั้นแตกต่างกัน 2-3 เท่าตัว เพราะนิสิตภาคปกติจ่ายค่าบำรุงคณะน้อยกว่า คือ ประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าภาคพิเศษสำหรับคณะที่คนนิยมเรียน เช่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ฯลฯ

อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าเทอมคือ “ค่าหน่วยกิต” ซึ่งภาคปกติจะมีราคาค่าหน่วยกิตรายวิชาบรรยายอยู่ที่ 100 บาทต่อหนึ่งหน่วยกิต สามารถลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 21 หน่วยกิตต่อเทอมปกติ ส่วนภาคพิเศษรายวิชาบรรยายหน่วยกิตละ 400 บาท สามารถลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 15 หน่วยกิตต่อเทอมปกติ

โดยทั่วไปแล้ว ภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยจะแบ่งเป็น 3 ภาคการศึกษาต่อปี คือ ภาคการเรียนที่ 1-2 และภาคฤดูร้อน ซึ่งทางสถาบันจะบังคับเรียนใน 2 เทอมแรก ส่วนภาคฤดูร้อนนั้นจะเรียนหรือไม่ก็ได้ แต่สำหรับนิสิตภาคพิเศษของมหาวิทยาลัยบูรพานั้นบังคับเรียนภาคฤดูร้อนด้วย โดยลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 12 หน่วยกิต

หากคำนวณค่าเทอมจากค่าบำรุงคณะและค่าบำรุงอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยตามจริง และสมมติให้เทอมนั้นนิสิตทุกคนลงทะเบียนเฉพาะรายวิชาบรรยายเท่านั้น โดยคำนวณจากจำนวนหน่วยกิตสูงสุดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด พบว่า ค่าเทอมเปรียบเทียบระหว่างนิสิตภาคปกติและภาคพิเศษจะแตกต่างกันประมาณเท่าตัว

แต่หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อปีแล้ว พบว่า ค่าใช้จ่ายต่างกันอย่างน้อยถึง 3 เท่าตัว ทั้งๆ ที่ใช้ทรัพยากรและบุคลากรด้านการศึกษาเหมือนกัน

ในความเป็นจริงแล้ว ค่าเทอมของทั้ง 2 กลุ่มจะสูงกว่านี้ เนื่องจากรายวิชาปฏิบัติจะต้องเสียค่าหน่วยกิตรายวิชาปฏิบัติหน่วยกิตละ 200-400 บาท สำหรับนิสิตภาคปกติ และหน่วยกิตละ 1,000-1,500 บาท สำหรับนิสิตภาคพิเศษ โดยหลักสูตรมีสัดส่วนรายวิชาปฏิบัติต่อรายวิชาบรรยายสูงสุดอยู่ที่ 1 ต่อ 3 ในสาขานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

นอกจากนี้ หลังจากออกระบบแล้วทางมหาวิทยาลัยบูรพาได้ปรับค่าเทอมใหม่เป็นแบบเหมาจ่ายในบางคณะ ซึ่งมีอัตราที่สูงกว่าการจ่ายค่าเทอมแบบเก่า เช่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เดิมนิสิตภาคปกติจ่ายเทอมละไม่ถึง 10,000 บาท ต้องจ่าย 14,000 บาท เมื่อเปลี่ยนเป็นแบบเหมาจ่าย หรือคณะเภสัชศาสตร์ที่ค่าเทอมสูงถึง 75,000 บาท ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่ว่าเป็นคณะที่เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว และเป็นคณะที่มีต้นทุนในการเรียนสูง

อีกคณะหนึ่งที่ค่าเทอมสูงก็คือ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภายใต้โครงการผลิตครูที่มีศักยภาพในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน ซึ่งเป็นโครงการสอนเป็นภาษาอังกฤษตลอดหลักสูตร 4 ปี โดยเรียนที่ประเทศไทย 2 ปีแรก และต่างประเทศ 2 ปีหลัง ซึ่งก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่ค่าเทอมจะสูง

แต่สิ่งที่นิสิตบางคนไม่เห็นด้วยคือ ในขณะที่นิสิตไปเรียนที่ต่างประเทศนั้น ก็ยังคงต้องจ่ายเงินให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วยเพื่อคงสภาพการเป็นนิสิต

จริงๆ แล้วการขึ้นค่าเทอมของมหาวิทยาลัยมีการปรับขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว เช่น ค่าบำรุงคณะ ก็ปรับขึ้นเรื่อยๆ จาก 700-1,500-3,000-5,000 ในภาคปกติ หรือปรับจาก 2,400-4,000-5,000-6,000 เป็นต้น แต่สำหรับคณะเภสัชศาสตร์แล้วแตกต่างออกไป เพราะปรับขึ้นค่าเทอมสูงมาก จากเดิมเหมาจ่ายเทอมละ 40,000 บาทในปี 2552 เป็น 75,000 บาทในปี 2555

ด้านจำนวนนิสิตของมหาวิทยาลัย พบว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีมาตั้งแต่ก่อนออกนอกระบบแล้ว แต่จำนวนนิสิตเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัวหลังจากที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

เฉพาะนิสิตใหม่ในปี 2555 รับเพิ่มกว่า 12,000 คน โดยมีนิสิตภาคปกติประมาณ 7,000 คน และนิสิตภาคพิเศษอีกกว่า 5,000 คน และมีแนวโน้มว่าทางมหาวิทยาลัยที่จะรับนิสิตภาคพิเศษเพิ่มขึ้น และลดจำนวนนิสิตภาคปกติในน้อยลงหรือไม่มีเลยในบางคณะในปีการศึกษาต่อๆ ไป

จำนวนนิสิตภาคพิเศษจะมีจำนวนมากในคณะยอดนิยม เช่น คณะการจัดการและการท่องเที่ยว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หรือคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งจำนวนนิสิตภาคพิเศษที่เห็นจากกราฟนั้นมาจากสาขานิเทศศาสตร์เพียงสาขาเดียว

ด้วยจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้เกิดปัญหาจำนวนอาคารเรียนไม่เพียงพอและขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนด้วย

ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงสร้างอาคารเรียนใหม่ทั้งหมด 5 อาคาร แบ่งเป็นอาคารเรียนรวม 3 อาคาร ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว 2 อาคาร อาคารของคณะแพทย์ และอาคารของคณะศึกษาศาสตร์ซึ่งเกิดอุบัติเหตุถล่มระหว่างก่อสร้างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังคงสร้างไม่เสร็จ

จากอาคารเรียนรวมทั้ง 2 อาคารที่เปิดใช้แล้ว สามารถรองรับจำนวนนิสิตได้ประมาณ 2,000 คนต่อคาบเรียน แต่ก็ไม่สามารถใช้ห้องเรียนได้เต็มที่เพราะมีอาจารย์สอนไม่เพียงพอ

และเนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนิสิตจำนวนมากและอาคารไม่เพียงพอ จึงต้องจัดคาบเรียนใหม่เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00-19.00 น. บางวิชาก็เรียน 2 ชั่วโมง บางวิชาก็เรียน 3 ชั่วโมง ซึ่งในช่วงเวลาพักเที่ยง 12.00-13.00 น. นั้น บางครั้งก็ถูกใช้เป็นเวลาเรียนด้วย นอกจากนี้วันเสาร์-อาทิตย์ก็มีการเรียนการสอนในบางวิชา เนื่องจากต้องรออาจารย์พิเศษมาสอน

ด้านจำนวนอาจารย์ผู้สอนก็มีไม่เพียงพอต่อจำนวนนิสิตที่มี ดังนั้นจึงต้องจ้างอาจารย์บางส่วนเวลาหรืออาจารย์พิเศษมาสอนมากขึ้น โดยเฉพาะในคณะที่มีผู้เรียนสูงๆ เช่น คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มีจำนวนนิสิตประมาณ 5,600 คน โดยเป็นนิสิตภาคพิเศษประมาณ 4,700 คน แต่มีอาจารย์ประจำสอนเพียง 32 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นอาจารย์พิเศษทั้งหมด

และถึงแม้จะมีอาจารย์พิเศษมาสอนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนนิสิตที่มี

ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เช่น การขึ้นค่าหอพัก การขึ้นค่าเช่าร้านค้า หรือความไม่เพียงพอของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและทรัพยากรด้านการศึกษาอื่นๆ เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำ หนังสือในห้องสมุด ฯลฯ ซึ่งต่างก็ต้องใช้ “เงิน” ทั้งนั้น

และเมื่อเงินสนับสนุนของรัฐให้มาไม่มากพอ มหาวิทยาลัยจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าไม่ใช่ “ผู้เรียน”