ThaiPublica > Sustainability > Contributor > กรณีศึกษา “ธนาคารที่ยั่งยืน” : แซคแบงก์แห่งมองโกเลีย

กรณีศึกษา “ธนาคารที่ยั่งยืน” : แซคแบงก์แห่งมองโกเลีย

9 สิงหาคม 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

สองตอนที่แล้วพูดถึง “ธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) ซึ่งเคยเป็นแค่กระแสเล็กๆ หลายสิบปีก่อนตอนที่วิกฤตินานัปการยังไม่รุมเร้าเท่ากับในปัจจุบัน แต่มาถึงวันนี้ แทบไม่มีองค์กรไหนไม่ใช้คำว่า “ยั่งยืน” ในโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรอีกต่อไป

แต่ถึงแม้คำคำนี้จะกลายเป็นกระแส ในสังคมไทยมันอาจยังไม่ต่างจากคำฮิตก่อนหน้านี้ เช่น “ซีเอสอาร์”ตรงที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่มากว่าหมายถึงอะไรกันแน่ คนจำนวนมากยังเข้าใจผิดคิดว่า “ซีเอสอาร์” หมายถึง “กิจกรรมช่วยเหลือสังคม” ต่างๆ นานา ที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งที่ซีเอสอาร์ลักษณะนี้ (ที่เรียกว่า after-process CSR) เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้นของการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และแน่นอนว่าไม่ใช่เสี้ยวที่สำคัญที่สุด

กลับมาที่คำว่า “ความยั่งยืน” บางคนนึกว่าหมายถึงความยั่งยืนขององค์กรเอง เช่น ถ้าหากธนาคารไหนทำกำไรได้มาก ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง นั่นแหละคือ “ธนาคารที่ยั่งยืน”

แต่ในความเป็นจริงและในความหมายที่ใช้กันในระดับสากล “ธุรกิจที่ยั่งยืน” จะต้องสอดคล้องกับหลัก “การพัฒนาที่ยั่งยืน” นั่นคือ คำนึงถึงคนรุ่นหลังมากกว่าคนรุ่นปัจจุบัน ฉะนั้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้

ในบริบทของภาคการเงิน “ธนาคารที่ยั่งยืน” ในหลักการของ “แนวร่วมโลกการธนาคารเน้นคุณค่า” (Global Alliance for Banking on Values: GABV) หมายถึงธนาคารที่ “…ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม …ไม่เพียงแต่พยายามไม่ก่อความเสียหาย แต่ใช้การเงินเชิงรุกในการสร้างประโยชน์แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม …รับใช้ชุมชนที่พวกเขาทำงานด้วย ตอบสนองความต้องการทุนในพื้นที่ด้วยการสนับสนุนกิจการที่ยั่งยืน”

ตัวอย่างสมาชิกของ GABV ที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก “ธนาคารที่ยั่งยืน” ข้างต้นมาช้านาน คือธนาคาร แซคแบงก์ (XacBank) แห่งมองโกเลีย ลูกหลานเจงกิสข่านที่กำลังพยายามล่องกระแสโลกาภิวัตน์ ประเทศที่ราบสูงซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยเพียง 1.77 คนเฉลี่ยต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร และยังมีคนจนเกินร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ

จุดกำเนิดและเส้นทางธุรกิจของแซคแบงก์ผิดแผกแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ในปี 1997 เมื่อวิกฤติการเงินเอเชียลุกลามจากไทยไปไกลถึงมองโกเลีย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) จับมือกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (ยูเอสเอด) และแหล่งทุนอื่นๆ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ท้องถิ่น 6 แห่งในมองโกเลีย นำโดยสมาพันธ์สตรีมองโกเลีย (Mongolian Women’s Federation) และโอเพ่น โซไซตี้ ฟอรัม (Open Society Forum) ร่วมก่อตั้งโครงการ MicroStart เพื่อใช้เงินหนุนการพัฒนาชนบทมองโกเลีย ปีต่อมายกระดับเป็นกองทุน X.A.C. เพื่อการพัฒนา

XacBank-mobile
ที่มาภาพ: http://www.incofin.com/en/news/usd-5-million-loan-xacbank

ระหว่างปี 1998 ถึง 2001 XAC ควบรวมกับสถาบันการเงินอีกแห่ง เปลี่ยนชื่อเป็น แซคแบงก์ (XacBank) ดำเนินธุรกิจการเงินเต็มรูปแบบ ปล่อยกู้สินเชื่อขนาดจิ๋ว (ไมโครเครดิต) กว่า 18,000 สัญญา ยอดสินเชื่อรวม 4.2 ล้านเหรียญ มีลูกค้าประจำมากกว่า 4,000 ราย ยอดสินเชื่อเฉลี่ยประมาณ 141 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,200 บาท) ต่อราย ส่วนใหญ่เพื่อการทำปศุสัตว์ตามวิถีชนเผ่าเร่ร่อนของมองโกเลีย

แซคแบงก์ถึงจุดคุ้มทุนเพียง 9 เดือนหลังเปิดให้บริการ ได้รับการกล่าวขานสืบมาว่าเป็นโครงการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดโครงการหนึ่งในมองโกเลีย แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือการปรับเปลี่ยนองค์กร จากสถาบันไม่แสวงกำไรเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ปี 2001 เมื่อรัฐสภามองโกเลียออกกฎหมายส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อกระตุ้นการสร้างงานในกลุ่มผู้เปราะบาง แซคแบงก์เริ่มขยายเพดานสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และคนไม่จนแต่เฉียดจน และกลายเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารแห่งแรก ที่ได้รับอนุมัติจากทางการให้ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

สิบปีให้หลัง แซคแบงก์กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่อันดับสามในมองโกเลีย ณ สิ้นปี 2011 สาขา 85 แห่งให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 300,000 คน โดยไม่เคยทอดทิ้งพลเมืองผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการขนาดจิ๋วซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในพันธกิจตั้งแต่ต้น – ลูกค้าประมาณร้อยละ 24 ได้สินเชื่อขนาดเล็กกว่า 300 เหรียญสหรัฐ (9,000 บาท) ต่อราย อีกร้อยละ 70 ได้สินเชื่อไม่ถึงร้อยละ 2,500 เหรียญ (75,000 บาท) ต่อราย ลูกค้ากว่าร้อยละ 52 อาศัยอยู่ในชนบท เกือบร้อยละ 60 เป็นผู้หญิง ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 1.7 ที่มีหลักประกันให้ธนาคาร แต่ลูกค้ากว่าร้อยละ 55 สามารถชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด

ปัจจุบันมองโกเลียเป็นตลาดที่สถาบันไมโครไฟแนนซ์กว่า 177 แห่งแข่งขันกันแย่งเค้กจนใกล้ถึงจุดอิ่มตัว สถาบันจำนวนมากจึงต้องขยับไปแย่งตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีกันแทน การที่แซคแบงก์เข้าตลาดนี้มาตั้งแต่เนิ่นๆ จึงแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเป็นอย่างดี

xacbank2
ที่มาภาพ: http://www.mercycorps.org/contributors/bijagutoff?page=12

ความสำเร็จของแซคแบงก์มาจากการยึดมั่นในหลัก “ธนาคารที่ยั่งยืน” ในขณะเดียวกันก็ไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงิน เช่น ขยายบริการสินเชื่อไมโครเครดิตไปยังคนจนเมือง ริเริ่มออมทรัพย์ระยะยาวสำหรับเด็ก อมรมทักษะการจัดการเงินให้กับนักเรียนชั้นมัธยมทั่วประเทศ ใช้ระบบแฟรนไชส์กับกลุ่มออมทรัพย์ตามชุมชนเพื่อขยายบริการในชนบทห่างไกล ริเริ่มการให้บริการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking) ฯลฯ

ในปี 2009 แซคแบงก์เริ่มปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว เน้นโครงการและผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน โดยธนาคารจะนำมูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้ไปเชื่อมกับตลาดคาร์บอนเครดิต นำเงินไปขยายสินเชื่อต่อ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ลูกค้าเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนต่อธนาคาร ตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ Global Reporting Initiative (GRI) โดยให้ส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ลูกค้าที่ทำตามเกณฑ์ได้เกินร้อยละ 50 ของตัวชี้วัดทั้งหมด – เป็นวิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนองค์กร เข้าสู่วิถีแห่งความยั่งยืนไปพร้อมกันกับธนาคาร.

บทสัมภาษณ์ แมควาน โบลด์ ซีอีโอของแซคแบงก์ โดยรายการ Microfinance Podcast:

MFP 048. M-Banking. XacBank, Mongolia – Interview with Magvan Bold from Microfinance Podcast on Vimeo.

ตัวอย่างนวัตกรรมและบริการที่ยั่งยืนของแซคแบงก์

บัญชีออมทรัพย์ระยะยาว ควบการอบรมทักษะการจัดการเงิน

ตัวอย่างเช่น “Future Millionaire” บัญชีออมทรัพย์ระยะยาวสำหรับเด็ก ปัจจุบันมียอดเงินฝากกว่า 80,000 บัญชี เงินออมรวมกันกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ แซคแบงก์ตระหนักว่าลำพังการให้บริการออมทรัพย์สำหรับเยาวชนอาจไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ถ้าหากเยาวชนขาดวินัยในการออมและจัดการเงินไม่เป็น นอกจากนี้ลูกค้าของธนาคารกว่า 1 ใน 3 ยังเป็นเยาวชนอายุ 18-35 ปี ถ้าจัดการเงินไม่เป็นก็จะส่งผลให้ใช้หนี้ไม่ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารจึงจัดอบรมทักษะการจัดการเงิน (financial literacy) ให้กับเด็กวัย 14-18 ปี ในโรงเรียนมัธยมกว่า 130 แห่งทั่วประเทศ และกำลังจะขยายไปยังระดับประถมต่อไป

สินเชื่อกลุ่มเพื่อการพัฒนาสตรี

การโยกย้ายถิ่นฐานของผู้ชายเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ภรรยามักจะตกเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนในชนบทห่างไกล แซคแบงก์ลงนามในปฏิญญาของเครือข่ายการธนาคารสำหรับสตรีโลก (Women’s World Banking) เครือข่ายไมโครเครดิตชั้นนำ ว่าจะ “เพิ่มพลังให้กับสตรีผู้มีรายได้น้อย ในฐานะผู้ประกอบการ ผู้นำ และพันธมิตรสร้างการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการให้สินเชื่อกลุ่มกับสตรียากจนในชนบทตั้งแต่ปี 2007 (ปัจจุบันลูกค้าเกือบร้อยละ 60 ของธนาคารเป็นผู้หญิง)

พันธมิตรที่ชาญฉลาด

แซคแบงก์สงวนจุดแข็งจากจุดกำเนิดในฐานะ “โครงการพัฒนาร่วม” ระหว่างองค์กรพัฒนาระดับโลก รัฐบาล และเอ็นจีโอระดับชาติ และนำจุดแข็งนี้มาต่อยอดธุรกิจและการพัฒนาอย่างไม่อยู่นิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ด้วยการก่อตั้ง “ศูนย์ไมโครเครดิต” ขึ้นมารวมศูนย์ความเชี่ยวชาญจากองค์กรพันธมิตร เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับไมโครเครดิตระดับโลก ศูนย์นี้เป็นเจ้าของรายการทีวีแบบเรียลิตี้ ชื่อ “Life Is Always Beautiful” ซึ่งธนาคารใช้เป็นกลไกหนึ่งในการปล่อยกู้ให้กับคนจนที่จนที่สุด และช่วยพัฒนาทักษะในการก่อตั้งกิจการขนาดจิ๋ว

ธนาคารผ่านมือถือ

ริเริ่มในปี 2009 เรียกว่าระบบ AMAR (“ง่าย” ในภาษามองโกเลีย) เพื่อให้บริการธนาคารแก่ลูกค้าคนจนในชนบท ร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศ บริการนี้เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงบริการธนาคาร เพราะมองโกเลียเป็นประเทศที่ราบสูงที่ประชากรจำนวนมากมีวิถีแบบชนเผ่าเร่ร่อน อยู่กันกระจัดกระจายในดินแดนแห้งแล้ง ผู้บริหารประเมินว่าเมื่อถึงปลายปี 2012 ธนาคารจะสามารถเข้าถึงประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศได้ด้วยบริการนี้

นอกจากจะให้บริการธนาคารทั่วไป เช่น ฝาก ถอน และโอนเงินแล้ว บริการ AMAR ผ่านมือถือของแซคแบงก์ยังส่งมอบบริการด้านการตลาดและความช่วยเหลือทางเทคนิคสำหรับลูกค้าเกษตรกรอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในปี 2009 ธนาคารก่อตั้งฝ่าย Eco-Product ขึ้นมาปล่อยสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นธนาคารแห่งแรกในมองโกเลียที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อการประหยัดพลังงาน ฝ่ายนี้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรสถาบันการเงินอื่น อาทิ MicroEnergy Credits (MEC) นำคาร์บอนที่ลดได้จากการประหยัดพลังงานไปขายคาร์บอนเครดิต นำเงินมาขยายโครงการต่อ ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 4,000 โครงการ ตั้งแต่เตาประหยัดพลังงาน ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในบ้าน ผ้านวมฉนวนบุผนังบ้าน ฯลฯ

แรงจูงใจให้ยั่งยืน

แซคแบงก์สนับสนุนให้ลูกค้าเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนต่อธนาคาร ตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ Global Reporting Initiative โดยลูกค้าที่เป็นลูกค้าเกิน 180 วัน และทำตามเกณฑ์ได้เกินร้อยละ 50 ของตัวชี้วัดทั้งหมด จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร