นอกจากเป็นสนามประชันฝีมือของนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกแล้ว “ลอนดอน เกมส์ โอลิมปิก 2012” ยังถูกตั้งเป้าให้เป็น “โอลิมปิกสีเขียว” (green Olympic) การแข่งขันโอลิมปิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนที่สุดเท่าที่เคยจัดมา โดยสามารถดูความกรีนได้จากจุดสำคัญๆ ของงาน เช่น อาคารสถานที่ การใช้พลังงาน สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่วางขายในงาน และระบบคมนาคมขนส่ง
คณะจัดงานโอลิมปิก ลอนดอนเกมส์ ได้พลิกฟื้นพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร ย่านอีสต์ลอนดอน ที่เคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทิ้งร้าง ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว “โอลิมปิกปาร์ค” สวนสาธารณะในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งหนึ่งในรอบ 150 ปีสำหรับแฟนกีฬาทั่วโลกและชาวลอนดอน
โอลิมปิกปาร์คเป็นที่ตั้งของสนามแข่งขันกีฬาหลายประเภท ที่ถูกสร้างและบริหารจัดการภายใต้แนวคิดความยั่งยืน โดยในส่วนของ “โอลิมปิกสเตเดี้ยม” (Olympic Stadium) ที่ใช้จัดพิธีเปิดและปิด และจัดการแข่งขันกีฬาบางประเภท ใช้ปริมาณเหล็กในการก่อสร้างเพียง 1 ใน 10 ของเหล็กที่ใช้สร้าง “รังนก” หรือ Bird’s Nest ในงานโอลิมปิกที่ปักกิ่งเมื่อ 4 ปีก่อน และหลังการจัดงานครั้งนี้ ก็จะมีการดัดแปลงสเตเดี้ยมแห่งนี้ให้เหลือที่นั่งเพียง 25,000 ที่นั่ง จากปัจจุบัน 80,000 ที่นั่ง เพื่อนำไปใช้สำหรับโอกาสอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน และประหยัดต้นทุนในการดูแลรักษา
ถัดจากสเตเดี้ยมหลัก ก็ยังมี “เวโลโดรม” (Velodrome) อีกหนึ่งอาคารที่โดดเด่นในโอลิมปิกปีนี้ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการแข่งขันจักรยานในร่ม เวโลโดรมติดตั้งระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ ช่วยให้แฟนกีฬาประมาณ 6,000 คน ภายในสนามรู้สึกเย็นสบายในช่วงหน้าร้อนได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ พร้อมกับอาศัยแสงสว่างจากธรรมชาติในช่วงเวลากลางวันแทนหลอดไฟทั่วไป ซึ่งคณะจัดงานโอลิมปิกหวังว่าจะช่วยประหยัดพลังงานได้มหาศาล
ขณะที่สนามแข่งขันกีฬาชั่วคราวอีกหลายแห่งก็ใช้วัสดุรีไซเคิล ที่พร้อมจะรื้อทันทีหลังโอลิมปิกจบลง เช่น สนามแข่งขันโปโลน้ำ ที่ก่อสร้างโดยใช้พีวีซี ซึ่งสามารถนำไปใช้สร้างอย่างอื่นได้อีกหลังจบเกมนี้
เช่นเดียวกับ สนามแข่งบาสเก็ตบอล ที่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยมีโครงสร้างเป็นเหล็ก คลุมด้วยแผ่นพีวีซีสีขาวขนาด 20,000 ตารางเมตร และวัสดุที่ใช้ทั้งหมดจะถูกรื้อและนำไปใช้งานอย่างอื่นต่อไปหลังโอลิมปิกจบลง
ด้าน “คอปเปอร์บ็อกซ์” (Copper Box) อาคารสำคัญอีกแห่งในพื้นที่โอลิมปิกปาร์ค ที่ใช้สำหรับแข่งขันแฮนด์บอลล์และแบดมินตัน ถูกสร้างจากทองแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทองแดงรีไซเคิล เป็นที่มาของชื่ออาคารแห่งนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีท่อ 88 ท่อ ซึ่งเป็นตัวส่งผ่านแสงสว่างธรรมชาติเข้ามาในอาคาร ทำให้ช่วยประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 40% ต่อปี ส่วนตัวหลังคาก็คล้ายกับของเวโลโดรม ที่สามารถรองน้ำฝนมาใช้ในห้องน้ำ และคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าน้ำได้ปีละ 40% เหมือนกัน
นอกจากส่วนของสถานที่แล้ว โอลิมปิกปีนี้ก็ให้ความสำคัญกับระบบซัพพลายที่ยั่งยืน (Sustainable Supply) ซึ่งเหล่าซัพพลายเออร์จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องบรรจุภัณฑ์ ต้นทุนการขนส่ง การปล่อยไอเสีย และขยะ ที่จะเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่ตนเองจัดหามา ตัวอย่างเช่น โคคา-โคล่า สปอนเซอร์หลักของงานนี้ คาดว่าจะต้องจัดหาโค้กมาป้อนงานนี้มากกว่า 20 ล้านขวด และขวดพลาสติกทุกขวดจะต้องสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ส่วนตัวขวดก็ต้องผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 20% และวัสดุอื่นๆ ที่นำมาใช้ใหม่ได้
ส่วนบรรดาซุ้มขายอาหารทุกแห่งในโอลิมปิกปาร์ค จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ทำจากแป้งและเซลลูโลส ซึ่งหมายความว่าจะต้องย่อยสลายได้ทั้งหมด ขณะที่ แกรนท์ บาร์เน็ตต์ แอนด์ โค บริษัทผลิตร่มสำหรับโอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงลอนดอนปีนี้ ก็ได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ผลิตร่วมจากพีวีซีเป็นโพลิเอสเตอร์ และกลายเป็นบริษัทผลิตร่มรายแรกของโลกที่ผลิตร่มจากแผ่นโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล
ความยั่งยืนด้านระบบคมนาคมขนส่งในโอลิมปิกก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ลอนดอนเป็นมหานครที่ขึ้นชื่อเรื่องจราจรติดขัดแห่งหนึ่งของโลก คณะจัดงานปีนี้จึงพยายามรณรงค์ให้แฟนกีฬาและคนในลอนดอนใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด และในส่วนของเหล่า VIPs ก็ได้จัดรถของ BMW ไว้ให้บริการตลอดงาน โดยในส่วนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยไอเสียเลย 200 คัน
นอกจากนี้ ผู้จัดงานก็ยังมีโครงการใหม่ที่เรียกว่า “Active Travel” ซึ่งกระตุ้นให้คนใช้พลังงานส่วนตัวในการเดินทาง โดยงานนี้ใช้งบประมาณไปราว 10 ล้านปอนด์ เพื่อปรับปรุงและสร้างเส้นทางสำหรับใช้เดินและปั่นจักรยานระยะทางกว่า 75 กิโลเมตร โดยได้จัดจุดเช่าจักรยานไว้รอบเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่มาเที่ยวโอลิมปิก
ส่วนคนที่เลือกเดินเท้า นอกจากได้ออกแรงออกกำลังกายไปในตัว ก็ยังสามารถช่วยเติมไฟส่องสว่างตลอดทางเท้าระหว่างสถานี West Ham Tube ไปยังโอลิมปิก ปาร์ค เพราะทุกรอยฝีเท้าที่ย่ำลงบนกระเบื้องพิเศษที่ปูตลอดทาง จะกลายเป็นพลังงานสำหรับใช้เป็นไฟส่องสว่างตลอดเส้นทางได้ ซึ่งผู้จัดงานโอลิมปิกปีนี้ก็หวังว่าโครงการนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปหันมาเดินหรือปั่นจักรยานต่อไป หลังโอลิมปิก 2012 ปิดฉากลง
ลอนดอนโอลิมปิก 2012 กรีนแค่ไหน?
เว็บไซต์ www.telegraph.co.uk ได้แจกแจงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ลอนดอน เกมส์ 2012 ในหลายแง่มุม มาดูกันว่ามุมไหนสมควรได้รับเหรียญทองกันบ้าง
เหรียญทอง ได้แก่
อาคารสิ่งก่อสร้าง คู่ควรกับเหรียญทอง
เพราะแทนที่จะใช้เหล็กใหม่ถอดด้าม แต่บรรดาสเตเดี้ยมที่ใช้แข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้กลับเต็มไปด้วยท่อแก๊สเก่า ขณะที่ประมาณ 2 ใน 3 ของเหล็กที่ใช้บนหลังคาก็เป็นเหล็กรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างได้มหาศาล และหากคำนวณแล้วพบว่า ปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานนี้คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของเหล็กที่ใช้ในโอลิมปิก ปักกิ่ง เมื่อ 4 ปีก่อน
ชีวิตป่า คู่ควรกับเหรียญทองเช่นกัน
การปรับปรุงพื้นที่เพื่อที่สร้างโอลิมปิกปาร์คครั้งนี้ คณะทำงานต้องเคลื่อนย้ายและทำความสะอาดดินมากกว่า 2 ล้านตัน ก่อนที่พลิกฟื้นพื้นที่อุตสาหกรรมให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ พร้อมพรั่งด้วยพันธุ์ไม้ดอก ทุ่งหญ้าผืนใหญ่ นก ค้างคาว และผีเสื้อนานาชนิด อีกทั้งยังทำความสะอาดแม่น้ำลีอา (River Rea) และปลุกพื้นที่ชายเลน (wetlands) ให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง
มรดกตกทอด (legacy) คู่ควรกับเหรียญทอง
ลอนดอนเกมส์ 2012 เป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่มีการจัดตั้งบริษัทพัฒนามรดก (Legacy Development Corporation) ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อดูแลเรื่องความยั่งยืนของอาคารสถานที่ ธุรกิจ และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งหากหน่วยงานนี้ทำได้เหมือนที่พูดไว้ โอลิมปิกปีนี้ก็จะเป็นแค่เศษเสี้ยวของโครงการปฏิรูปสีเขียวครั้งใหญ่ของอีสต์ลอนดอน ด้วยการพลิกโฉมพื้นที่ทิ้งร้างรอบๆ ย่านสแตรทฟอร์ด (Stratford) ให้กลายเป็นสนามแข่งขันกีฬาระดับโลก ที่รายล้อมไปด้วยสวนสาธารณะ และเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ดี ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในย่านนี้ต่อไป และจะกลายเป็นแรงหนุนให้แก่คนรุ่นใหม่ในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่น
สำหรับภาคส่วนที่สมควรได้รับเหรียญเงิน ได้แก่
การรีไซเคิล
คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ลอนดอน มีนโยบายว่าจะไม่สร้างขยะให้กับพื้นที่ทิ้งขยะเลย และตั้งเป้ารีไซเคิล พร้อมนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (re-use) ให้ได้ประมาณ 70% และนับถึงตอนนี้ทำได้ประมาณ 73% ซึ่งถือว่าดีกว่าการงานใหญ่ๆ ทั่วไปที่มีอัตราการรีไซเคิลประมาณ 15% เท่านั้น
การปล่อยคาร์บอน ได้รับเหรียญเงิน
คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกปีนี้ตั้งเป้าว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 50% หากเทียบกับการจัดโอลิมปิกตามปกติ ซึ่งตอนนี้บรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนได้ 47% หากรวมการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ระบบคมนาคมขนส่ง คู่ควรกับเหรียญเงิน
ในแง่ของระบบขนส่งมวลชน ถือว่าลอนดอนทำให้ดีทั้งในเรื่องรถไฟ รถเมล์ รถไฟใต้ดิน รวมถึงยังกระตุ้นให้คนมางานเลือกเดินหรือปั่นจักรยานให้มากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการปั่นจักรยานในลอนดอน เพราะยังมีทางจักรยานไม่เพียงพอ แถมมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ผู้โดยสารก็ไม่สามารถเอาจักรยานขึ้นรถไฟได้ ส่วนรถบัสที่คอยรับส่งนักกีฬาไปที่ต่างๆ ก็มักไม่ดับเครื่องระหว่างรอผู้โดยสาร
อาหาร คู่ควรกับเหรียญเงิน
ร้านอาหารทุกแห่งในโอลิมปิกปีนี้จัดหาวัตถุดิบจากท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนเชนฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่างแมคโดนัลด์ สปอนเซอร์หลัก ก็ไม่ขายอาหารชุดใหญ่ (large meals) แถมยังมีการระบุปริมาณแคลอรี่ของแต่ละเมนูอย่างชัดเจนให้คนกินได้รับรู้ ซึ่งแตกต่างจากการขายในร้านนอกเขตโอลิมปิก
น้ำ ควรได้รับเหรียญเงิน
โอลิมปิกปีนี้มีการรีไซเคิลน้ำเพื่อนำมาใช้กับห้องน้ำอีกรอบ นอกจากนี้ หลังคาของหลายอาคารก็สามารถรองรับน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ แต่ในส่วนของน้ำดื่มนั้นยังมีปัญหาอยู่ โดยดูได้จากบริเวณสนามกีฬาส่วนใหญ่ ที่จะมีคนเข้าคิวยาวเพื่อรอกรอกน้ำดื่มใส่ขวด
ส่วนผู้ที่ได้รับเหรียญทองแดงในงานนี้คือ บรรดาผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ
หลายบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ของโอลิมปิกปีนี้อาจถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือบ้างก็อยู่ในธุรกิจน้ำมัน พลังงานนิวเคลียร์ และน้ำอัดลม แต่ก็มีบางบริษัทพยายามอาศัยโอลิมปิกเป็นช่องทางที่แสดงบทบาทดีๆ ของตัวเอง เช่น การประหยัดพลังงานในกรณีของค่ายรถยนต์ BMW ที่ใช้รถยนต์ไฮบริดเพื่อให้บริการนักกีฬาตลอดการแข่งขันปีนี้
รวบรวมข้อมูลจาก