ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.เศรษฐพุฒิ-ดร.นิตินัย” เปิดตัวสถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ หยุดเวลา “กัดกร่อนอนาคตประเทศไทย” – “บุญเก่า” ใกล้หมดแล้ว

“ดร.เศรษฐพุฒิ-ดร.นิตินัย” เปิดตัวสถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ หยุดเวลา “กัดกร่อนอนาคตประเทศไทย” – “บุญเก่า” ใกล้หมดแล้ว

23 กรกฎาคม 2012


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ซ้าย) ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ (ขวา) กรรมการและเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ซ้าย) ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ (ขวา)กรรมการและเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ในวันและเวลาที่ทุกความเคลื่อนไหวอยู่ในสภาวะ “ติดหล่ม” กับ “กับดัก” ทางการเมือง ที่วันนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ “ฉุดรั้ง” ย่างก้าวของประเทศ จนเป็นสัญญาณส่อไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง

มีปรากฏการณ์การรวมตัวของคนระดับ “บิ๊กเนม” ในแวดวงเศรษฐกิจ และนักวิชาการเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา” (Thailand Future Foundation) โดยมี “ศาสตราภิชาน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่นำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจสังคมโดยรวม

สถานการณ์ในปัจจุบันกำลังกัดกร่อนอนาคตของประเทศอยู่หรือไม่ บรรทัดต่อไปมีคำตอบจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการบริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการและเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา สองในฟันเฟืองสำคัญที่เป็นผู้ขับเคลื่อนมูลนิธิ

ไทยพับลิก้า : ที่มาของไทยแลนด์ฟิวเจอร์

ดร.เศรษฐพุฒิ : มาจากกลุ่มนักธุรกิจ ผู้นำทางความคิด เป็นห่วงอนาคตกับทิศทางของประเทศ เพราะตอนนี้เหมือนใส่ใจแต่เรื่องเฉพาะหน้า เรื่องระยะสั้น แต่ไม่มีใครที่พูดถึงเรื่องระยะยาว เรื่องของทิศทาง เลยอยากให้มีสถาบันวิจัยที่จะพยายามหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูด เพื่อให้คนให้ความสำคัญกับตรงนี้ ซึ่งแหล่งทุนหลักๆ ก็มาจากกลุ่มนักธุรกิจที่อยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษา อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่กลุ่มที่สนับสนุนทางการเงินก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย และในอนาคตก็หวังว่ากลุ่มนี้ก็จะขยายมาเป็นสมาชิกเพิ่มด้วย

ภาพที่ผมต้องการในระยะยาวคือ อยากให้เหมือน“conference board” ที่อเมริกา ที่เป็นเหมือนนักธุรกิจต่างๆ เขามาเป็นสมาชิก มาทำงาน ทำงานวิจัย ซึ่งชัดว่าเขาเป็นห่วงภาคธุรกิจ แต่มันไม่ใช่แค่ธุรกิจ ยังมีอย่างอื่น อาทิ ภาคประชาชน บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ธุรกิจก็ทำมาหากินลำบาก ในระยะยาวไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ แต่ตอนเริ่มก็มีภาคธุรกิจให้การสนับสนุนในเรื่องแหล่งเงินทุน จากนั้นก็มาหารือกัน ก็เป็นที่มาของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ จากนั้นก็มองหาคนทำงาน ก็มาที่พวกผม (หัวเราะ)

วัตถุประสงค์หลักๆ ที่กำหนดไว้มี 2 ประการ

ประการแรก คือ พยายามที่จะยกระดับการพูดคุยเชิงนโยบายของประเทศ ทั้งคณะกรรมการใหญ่และคณะกรรมการที่ปรึกษามีความเป็นห่วง คือ เวลามีประเด็นเกี่ยวกับนโยบายออกมา แต่ว่าบางทีสื่อไปสัมภาษณ์ก็สื่อไปทางหนึ่ง ไปคุยกับอีกคนก็ไปทางหนึ่ง บางทีไม่มีใครที่จะโชว์ว่าภาพรวมมันเป็นอย่างไร ทุกคนรู้สึกเหมือนๆ กันว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในโลกนี้ ถ้าคุณพูดว่าจะทำอะไรในเชิงนโยบาย คนที่จะวิจารณ์ก็สามารถวิจารณ์ได้อยู่แล้ว ใช่ไหมครับ แต่สิ่งที่ต้องทำคือชั่งทั้งหมดว่าข้อเสียของมัน ซึ่งมันมีอยู่แล้ว แต่ข้อเสียน้อยกว่าข้อดีหรือเปล่า เบ็ดเสร็จแล้ว ถ้าบวกมากกว่าลบก็ทำไป ให้มันเดินหน้าได้

ตอนนี้เป็นสังคมของผู้วิจารณ์ ไม่ใช่ผู้วิเคราะห์หรือผู้วิจัย มีอะไรปุ๊บก็อย่างโน้นอย่างนี้ กลายเป็นว่าไม่ได้วิจารณ์ที่ความคิด หรือที่คำพูดของคน แต่เป็นการวิจารณ์คน คือไปมองว่าคนพูดนี่คือใคร วิจารณ์ “ใครพูด” มากกว่า “สิ่งที่พูด” ซึ่งการวิจารณ์ลักษณะนี้เป็นอะไรที่ช่วงนี้เป็นกันเยอะ แล้วที่ผมเองรู้สึกมันอาการหนักกว่าด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับคุณนะ แต่มันกลายเป็นมองตัวบุคคล และ sense ที่ผมเห็น กลายเป็นว่าผมคิดอย่างนี้ ผมเป็นคนดี ถ้าคุณไม่คิดเหมือนผม คุณเป็นคนไม่ดี ดังนั้นมันกลายเป็น extreme เข้าไปใหญ่

ดังนั้น สิ่งที่สถาบันฯ อยากจะทำ คือพยายามฉายภาพให้เห็น ให้ครบ ให้คนเข้าใจว่าผลกระทบมันเป็นอย่างไร ข้อดี ข้อเสียมันเป็นอย่างไร แต่ละฝ่าย ฝั่งที่พูด กับฝั่งที่เขาคิด เขาคิดอย่างไร เพื่อพยายามยกระดับของการสนทนาให้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกหรือจุดยืนของคน

ตัวอย่างที่สถาบันฯ ทำคือ Policy Watch ถ้ามีประเด็นอะไรร้อนๆ จะเล่าวิเคราะห์สั้นๆ ไม่เกิน 2 หน้า เล่าที่มาง่ายๆ โดยจะเล่าว่าที่คนพูดกันนี่ ทำไมแต่ละฝั่งถึงพูดอย่างนี้ เช่น การโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ผมว่าตอนนี้เป็นประเด็นที่คนสับสนกันมาก เพราะกระทรวงคลังพูดอย่างหนึ่ง แบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) พูดอีกอย่างหนึ่ง คนก็งงว่า แล้วความจริงมันเป็นอย่างไร สิ่งที่เราทำในเคสนี้คือการอธิบายให้คนเข้าใจว่าเหตุผลของแต่ละที่ไม่มีใครผิดใครถูก ไม่ใช่ว่าแบงก์ชาติไม่ดี กระทรวงการคลังดี หรือกระทรวงคลังไม่ดี แบงก์ชาติดี

“ที่คลังบอกว่าควรทำอย่างนี้ ทำไมถึงต้องพูดอย่างนั้น แบงก์ชาติที่เขาพูด เหตุผลของเขาเป็นอย่างไร เสร็จแล้วเราก็เลย์เอาท์ให้เห็นทั้งสองฝั่ง และบอกข้อเท็จจริง แล้วก็จบ จากนั้นคุณไปคิดเอาเอง ไม่ใช่ว่าผมจะไปนั่งบอกว่าคุณต้องคิดแบบฝั่งโน้น ฝั่งนี้ เราเห็นด้วยกับทางนี้ ไม่ใช่ อย่างน้อยเป็นการยกระดับการถกเถียงกัน ตอนที่คนจะเริ่มเถียงกันนี่ ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากข้อมูล ข้อเท็จจริง”

หรือตอนที่ผมเขียนบทความเรื่องค่าแรง 30 บาทซึ่งกรณีเรื่องค่าแรง 300 บาท นายจ้างพูดอย่างนี้ ลูกจ้างพูดอย่างนี้ ไม่มีใครพูดข้อเท็จจริงเลยว่ากระทบกี่คน ตอนนั้นเราทำข้อมูลขึ้นมาและหาตัวเลข เพราะอย่างน้อยได้ถกเถียงกันบนข้อมูล มันกระทบกี่คน จะได้ตัดสินใจและกำหนดนโยบายถูก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

วัตถุประสงค์ที่ 2 คือ อยากให้มีการนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ เพราะกับงานวิจัยส่วนมาก พวกเราในฐานะนักวิจัยรู้ข้อด้อยของงานวิจัย อยากจะเน้นการวิจัยที่ช่วยในการปฏิบัติได้จริงๆ ที่ผ่านมาคือมีการวิเคราะห์กันสวยหรู แต่ตอนที่ให้ทำอะไรมีนิดเดียว ผมมักจะมีศัพท์ของผมที่เรียกว่า 70 -30 กล่าวคือนักวิจัยมักจะบอกอะไรที่สวยหรู 70% มีเทคนิคมากมาย ส่วนตอนท้ายที่บอกว่าควรทำอย่างไรมีนิดเดียว น้อยมาก อาจจะไม่ถึง 30% ที่บอกว่าควรทำอะไร (หัวเราะ) นักวิเคราะห์เป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ และลงท้ายเสนอแนะว่า ต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีวินัย แบบนั้นมันนามธรรมมากเลย ขณะที่คนสนใจจริงๆ ว่าจะทำอย่างไรให้มีวินัย ทำอย่างไร

หรือที่พูดถึงเรื่องการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี มีการวิเคราะห์กันสวยหรูให้ว่า เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงระบบการเงินได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่ทำอย่างไร!! นี่คือสิ่งที่สถาบันจะพยายามทำ ซึ่งยาก ดังนั้นจึงเหมือนกับการสลับน้ำหนัก คือแทนที่จะวิเคราะห์ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน มันคืออะไร เราจะไม่เน้นทำเอง เราคุยกับคนเราก็ทราบแล้ว นั่นคือการ Engage แต่เมื่อเขาบอกโจทย์มาแล้ว ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เริ่มจากตรงนั้น และก็เอาโจทย์อันนี้ไปวิเคราะห์ให้มันได้อะไรที่มันสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ดังนั้น บทบาทของสถาบัน จะสลับวิธีการทำงาน กล่าวคือไปคุยก่อนแล้วค่อยวิเคราะห์ หรือเริ่มนัยแห่งนโยบาย จะเน้นตรงนี้มากกว่า เพราะเรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่มันขาดหายไปในระบบการทำงาน
ก็เลยพยายามเตือนตัวเองว่า สิ่งที่บ้านเราขาดตอนนี้มันจะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างไร เมื่อทำตรงนี้ออกมาก็คือป้อนออกไปใครจะนำไปใช้ ก็นำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ไทยพับลิก้า : แต่ถ้าทำมาแล้ว คนที่จะเอาไปใช้จริง ทำอย่างไรที่จะทำได้จริงๆ ขบวนการตรงนั้นมีไหม

ดร.เศรษฐพุฒิ : มีคนถามในประเด็นนี้เหมือนกัน แต่เรายังไม่มีคำตอบที่ชัด 100% มันเป็นกระบวนการที่บางอย่างเราอาจจะช่วยได้ แต่จะให้เบ็ดเสร็จไปถึงสุดท้ายนี่อาจจะไม่ได้ หากถามผม ผมว่ามีประเด็นที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ต้องยอมรับว่าบางเรื่องผมคิดว่ามีเหตุผลที่เขาไม่นำไปปฏิบัติ เพราะอาจจะมาจากการขาดความชัดเจนในการปฏิบัติว่าควรทำอย่างไร ไม่ว่าเรื่องเอสเอ็มอีที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กล่าวมา

แต่อีกส่วนหนึ่ง ถ้าถามผมจริงๆ ผมบอกได้ว่าที่เป็นประเด็นหลักๆ คือไม่มีแรงจูงใจให้เขาทำ ทั้งๆ ที่เขารู้อยู่แล้วว่าบางเรื่องต้องทำ และรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ในที่สุดยังไม่ได้ทำ เพราะว่าเรื่องผลประโยชน์ เรื่องแรงจูงใจ ถามว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้ไหม คงบอกได้ว่ามันคงไม่มีทางออกที่จบเบ็ดเสร็จในตัวของมัน

แต่สิ่งสถาบันนี้อาจจะช่วยได้คืออะไร หากมองในแง่แรงจูงใจ เราอาจจะไม่ได้ช่วยสร้างแรงจูงใจที่ดีขนาดนั้น แต่อย่างน้อยช่วยเพิ่มต้นทุนของการทำอะไรที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล โดยการหยิบประเด็นพวกนี้ออกมาให้คนเห็น

เหมือนตัวอย่างที่ผมพูดเสมอๆ ถ้าเรามัวแต่พูดเรื่องจีดีพี คนก็ใส่ใจแต่เรื่องจีดีพี แต่ถ้าเราบอกให้คนมาสนใจเรื่องอื่นๆ ซึ่งมันเกี่ยวข้องเป็นเหตุกับอนาคตประเทศไทยจริงๆ มากกว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสหน้า ตัวเลขเงินเฟ้อ

ดังนั้นตัวชี้วัดหรือข้อมูลอะไรที่มันสื่อถึงอนาคตประเทศไทย เราจะพยายามสื่อออกมา จึงเป็นที่มาของสถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ต้องการจะทำตัวชี้วัด เราพยายามหยิบพวกนี้มาให้คนเห็นมากขึ้น จากนั้นก็แปลงตัวชีวัดนั้นออกมาเป็นอินเด็กซ์ว่ามันดีขึ้นหรือเลวลง

โดยสถาบันกำหนดกรอบไว้มี 4 ภาค ภาคเอกชน ภาคสาธารณะ ภาคประชาชน และ โครงสร้างพื้นฐาน

ขอยกตัวอย่าง เช่น ภาคสาธารณะ รัฐบาลประกาศนโยบายอะไรเป็นสีสัน ก็เป็นข่าวที่คนชอบ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของภาครัฐ คือ “การจัดการ” ประกาศนโยบายสวยหรู แต่การจัดการค่อนข้างมีปัญหา ทำไมเราไม่ไปใส่ใจเรื่องนี้มากกว่า คือถ้าจะพูดก็พูดได้ใช่ไหม การจัดการมันสำคัญ แต่มันวัดอย่างไร ของพวกนี้ถ้าไม่วัด พูดลอยๆ มันไม่เห็นภาพ นี่คือสิ่งที่สถาบันฯ พยายามจะทำ คือการหาตัวชี้วัด ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนเรื่องของการจัดการ คนไม่ค่อยพูดถึง คนไม่ค่อยเห็น คนไม่เก็บตัวเลข แต่เราเก็บมาทำ ในที่สุดแปลงเป็นอินเด็กซ์ เช่น การจัดการที่มันจะดีได้ คน (ผู้บริหาร) ก็ต้องอยู่ในตำแหน่งนานพอที่จะจัดการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ในตำแหน่งนานเท่าไหร่ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ เอ็มดี เปลี่ยนบ่อยแค่ไหน คณะรัฐมนตรีเอง รัฐมนตรีเปลี่ยนตำแหน่ง เราก็จะเอาตัวเลขพวกนี้มาประกอบ วัดเลยระยะเวลาในการอยู่ในตำแหน่ง เฉลี่ยเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงโยกย้าย ผู้ว่าฯ อยู่ในตำแหน่งนานเท่าไหร่

ในที่สุดจะเอามาเป็นอินเด็กซ์ และเอาข้อมูลพวกนี้มาดู เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าจีดีพีในไตรมาสหน้าว่าจะเป็นเท่าไหร่ คือ กับเรื่องความสามารถในการจัดการ คุณต้องสนใจพวกนี้ และเอาข้อมูลนี้มาเป็นอินเด็กซ์ในการจัดการ และสถาบันฯ ทำข้อมูลเหล่านี้ในแต่ละมิติ และจะมาสรุปรวมเป็นอินเด็กซ์อีกทีหนึ่ง

นี่คือสิ่งที่เราทำ แม้มันจะไม่ใช่การแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ แต่อย่างน้อยให้คนได้มอง ดังนั้นเราจึงต้องวัดให้คนเห็น ให้คนใส่ใจ เพื่อเป็นอินเด็กซ์ชี้ว่าต้องทำอย่างไร มันหนีไม่พ้น ถ้าเราอยากเห็นมันเกิดก็ต้องมาวัดกันก่อน ถ้าไม่วัดมันก็ไม่มีทางเกิด ส่วนเราวัดให้แล้ว ไม่ว่าใครจะนำไปใช้หรือไม่ อย่างน้อยเราหยิบให้คนมาเห็น ให้ใส่ใจมากกว่านี้ อย่างเรื่องจีดีพีที่ว่า ตอนนี้ประชาชนสนใจเรื่องนี้เพราะว่าเราลงแต่เรื่องนี้ คนก็คิดว่าเรื่องนี้มันสำคัญทั้งที่เรื่องอื่นที่มันสำคัญกว่า ซึ่งไม่มีคนพูดถึงเลย

ดร.นิตินัย : อย่างเรื่องการว่างงานที่บอกว่า 1% ถึงน้อยกว่า แล้วประเทศเราดีจริงหรือเปล่าสำหรับตัวเลขการว่างงาน 1% ข้อมูลลึกๆ ข้างในพบว่าวัยทำงานของเรา 38 ล้านคน หรือ 40% อยู่ภาคเกษตร เพราะฉะนั้นตกงานจากในเมืองก็ไปอยู่ภาคเกษตรได้ พอหน้าฝนก็ให้ข้าวกินน้ำไป ตัวเองก็มาทำงานในเมือง พอฤดูแล้งกลับไปเกี่ยวข้าว ผู้รับเหมาจะสร้างทางก็ไม่มีแรงงาน เพราะว่ากลับไปเกี่ยวข้าวกันหมด ในทางกลับกัน ตัวเลขการว่างง่าน 1% ดูเหมือนจะดูดี แต่จริงๆ แล้วมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เลยทำให้หลังๆ ผู้ประกอบการก็เลยเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามา

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ

อย่างตัวเลขแรงงานพม่าประมาณ 2 ล้านคน แต่กระทรวงแรงงานบอกว่าที่ไม่จดทะเบียนอีกเท่าตัว สรุปแล้วแรงงานต่างด้าว 4 ล้านคน คิดเป็น 10% ของจำนวนแรงงานในระบบของไทย วันดีคืนดี ถ้าพม่าพัฒนาประเทศได้ แล้วเขากลับไปหมด ดังนั้น การว่างงานที่ดูเหมือนจะต่ำเพราะมีภาคเกษตรที่คอยรองรับ การที่แรงงานย้ายไปย้ายมา ทำให้ผู้ประกอบการปรับนิสัยก็ใช้วิธีเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทน คนตกงาน 1% โดย 40% ของใน 1% เป็นแรงงานที่มีอายุ 24 ปีลงมา กลับกลายเป็นว่าคนแก่ๆ เดี๋ยวนี้ตกงานไม่เป็นไร กลับไปทำไร่ทำนาได้ แต่เด็กยุคใหม่บอกลืมไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สอนทำไร่ทำนา จบออกมาปุ๊บ ตกงาน ก็ไปทำไร่ทำนาไม่ได้ ก็ตกอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละ เกือบครึ่งหนึ่ง กลับกลายเป็นตกงาน อันนี้คือโอกาส

ดังนั้นที่บอกว่าตัวเลขการตกงานต่ำๆ ก็พูดกันไป แต่ประเด็นคืออะไร ประเด็นคือต่ำแล้วคือดีแล้วใช่ไหม ถ้าดูตัวเลขอย่างนี้ก็หมายความว่า นโยบายก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะตัวเลขที่ประกาศมันดี นโยบายก็ออกเป็นว่าไม่ใส่ใจ

ดร.เศรษฐพุฒิ : หรือถ้าเรามองในแง่ประเด็นที่กระทบอนาคตจริงๆ ถ้าถามผมสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่าการว่างงานคือเรื่องของว่าเรากำลังให้โอกาสให้คนหรือเปล่า ตอนที่จะดูว่าเด็กที่จบมาใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ มันมีโอกาสหรือเปล่า มันก็ต้องไล่ไปในหลายมิติ เช่นว่า บ้านเราตอนนี้ ถ้าคุณจะมีโอกาสคือคุณต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ตอนนี้จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้พอที่จะส่งลูกเรียนปริญญาตรีและที่สูงกว่านี้ได้มีกี่ครัวเรือน ถ้าคุณมีเงินออมพอส่ง มีโอกาส ก็จบ นอกจากจบมาแล้วหางานได้หรือเปล่า ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ ดร.นิตินัยเล่าว่าจบใหม่ๆ ก็หางานไม่ได้ หรือถ้าหางานได้ มีโอกาสที่จะหางานตรงกับที่เรียนหรือเปล่า อันนี้เราวัดได้ ตอนนี้คนจบปริญญาตรีเยอะ แต่จบปริญญาตรีก็ไปเป็นเสมียนเยอะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคุณภาพไม่ค่อยดี แต่โอกาสในแง่ของตลาดแรงงานอาจจะไม่ดีด้วย

นอกจากนี้ โอกาสเข้าถึงการเรียนหรือเปล่า จบแล้วหางานได้หรือเปล่า หางานได้แล้ว คุณเจริญในหน้าที่การงานหรือเปล่า หรือรายได้คุณโตหรือเปล่า พวกนี้จริงๆ วัดได้หมดเลย ความคิดเราก็คือทำพวกนี้เป็นตัวชี้วัดเพื่อที่จะสะท้อนเรื่องของโอกาส เอามายำเป็นอินเด็กซ์แล้วก็บอกว่า ดูตัวนี้สำคัญกว่าไปดูตัวเลข 1% ของเขา

ถ้าเห็นว่าตรงนี้มันมีปัญหา ซึ่งมันมีจริงๆ ตัวประชากรเลขเรียนจบมีมากขึ้น ดูตามแนวโน้มแบบนี้ก็ดูดีขึ้นหมด แต่ไม่เคยใส่ใจว่าจบแล้วไปทำอะไร ทำงานตรงตามที่จบมาหรือเปล่า ตัวเลขนี้ไม่ดูเลย เหมือน KPI ประชาชนที่จบปริญญาตรีกี่คน แต่ถ้าคุณเห็นว่า KPI ของคุณไม่ใช่เรื่องว่าคุณผลิตคนมากี่คนแล้ว แต่คือถามว่าคนที่คุณผลิตแล้วมีโอกาสในการหางาน มีงานที่ทำให้รายได้โตหรือเปล่า หากตัวเลขออกมามันเปลี่ยนแล้ว จะเห็นทันทีว่าตัวชี้วัดพวกนี้ไม่ดี ดังนั้นการกำหนดนโยบายต้องเปลี่ยน คุณต้องไปดูเรื่องหลักสูตร เพราะหลักสูตรที่คุณผลิตออกมา มันไม่ตอบโจทย์ตลาด รายได้คุณถึงไม่โต หรือเขาหางานไม่ได้ การที่สถาบันฯ จะหยิบตัวเลขพวกนี้มาหวังว่าจะช่วย เหมือนกระตุกหางหมา อย่างน้อยให้คนระแวงว่าอย่าไปหลงกับตัวเลข

ไทยพับลิก้า : ช่องทางที่จะไปสู่การปฏิบัติในการกำหนดนโยบายมีตรงไหนบ้าง

ดร.นิตินัย : จริงๆ เรามองเป็น 3 ชั้น โดยชั้นในสุดแกนกลางที่เป็นไข่แดง หรือ Policy Maker (ผู้กำหนดนโยบาย) ทำอย่างไรให้ Policy Maker สนใจเรื่องพวกนี้ วงถัดมาเป็นพวกกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ นักคิด นักวิชาการต่างๆ ส่วนวงนอกสุดเป็นวงสาธารณะ สื่อ ประชาชนทั่วไป ตอนที่เราคิดถึงโปรดักส์นี่เราก็ต้องนั่งนึกด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายเรามีใหญ่ กลาง เล็ก ตั้งแต่วงในสุด”ไข่แดง”ยันวงนอกสุด”ไข่ขาว” แต่ละโปรดักส์ของเราสนองความต้องการของแต่ละคนอย่างไร

ยกอย่างตัว Policy watch นี่ พูดถึงแต่อนาคต คนก็บอกว่า เดี๋ยวฉันก็ตายแล้วไม่ต้องมาสนใจอนาคตอะไร แต่ว่าตัว Policy watch เราคงต้องมีเพราะว่าสื่อมวลชนก็ดี ใครก็ดี เขาก็สนใจในปัจจุบันบ้าง เราควรที่จะ Policy watch ปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคตอะไรเป็นหลัก ไม่ใช่ว่า Policy watch ว่าวาเลนไทน์ปีนี้กระตุ้นจีดีพีเท่าไหร่ (หัวเราะ)

ดร.เศรษฐพุฒิ : ผมยืนยันว่าไม่มีใครรู้หรอก (ตัวเลขวาเลนไทน์กระตุ้นจีดีพีเท่าไหร่) แล้วก็ทำไปแล้วไม่รู้ว่าผิดหรือถูก หรือตัวเลขประมาณการซึ่งจริงๆ ในทางปฏิบัตินี่ ไปเอาตัวเลขประมาณการจีดีพี ดอกเบี้ย ลิสต์มาตั้งแต่ต้นปี แล้วบอกว่าปลายปีจะเป็นอย่างไร แล้วก็มาดูซิว่าใครแม่นสุด วอลล์สตรีท เจอร์นัล เขาทำแล้วก็บอกว่า โอ้โห แม่นสุด เป็นซุปเปอร์กูรู ไปนั่งสัมภาษณ์ ทำอย่างไรให้คุณประมาณการแม่นขนาดนี้

แต่ในที่สุดนะครับ ปีหน้านะ คนที่ติดอันดับท็อป ก็เป็นคนละคน เพราะรายชื่อก็เปลี่ยนตลอดเวลา มันสื่อว่าไม่มีใครรู้หรอก แค่เหมือนกับว่ามีใครทำตัวเลขออกมาแล้วโชคดี เหมือนถ้าผมถามว่าค่าเงินบาทปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้ามีคนตอบจำนวนมาก มันก็จะมีคนคาดการณ์ถูก ทุกคนก็บอกว่าคนนี้เป็นกูรู ไม่ใช่หรอก พูดง่ายๆ มันคือการสุ่ม แต่การที่เราไปใส่ใจ ผมว่า ในที่สุดมันไม่มีนัยยะเลย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องการตัวเลข

ดร.นิตินัย : กลับมาที่คำถามก็คือ เรามี 3 วง วงนอกคือ สื่อ ประชาชน วงกลาง นักคิด นักทำ วงในสุดคือ Policy Maker ซึ่งประชาชนเป็นหนึ่งในโปรดักส์ของเรา คือ Policy watch แต่เราจะทำเฉพาะ watch ที่เกี่ยวกับอนาคต ไม่ได้เกี่ยวกับวาเลนไทน์ว่าจะทำให้จีดีพีโตเท่าไหร่ และสถาบันฯ ไม่ใช่จะไปชี้นำ Policy เพียงแต่เราจะยกระดับของการดีเบต ให้รู้ทั้งข้อดีและข้อเสีย พอจบแล้วก็จะไม่ชี้นำอะไร ถ้าใครสงสัยอะไรก็ถามมา เราก็ตอบไปในเว็บเรา แต่ว่าตัว Policy watch จะพยายามให้เห็น 2 มุม นักข่าวจะเอา 2 มุมนี้ไปถามใครก็ได้ หรือจะถามเราก็ได้เหมือนกัน เราเป็นเหมือน Third Opinion แต่ว่าตอนเปิดโปรดักส์ เราไม่ได้ทำโปรดักส์แล้วบอกว่าต้องทำอย่างนี้สิ ไม่ใช่ อันนี้ก็คือฝั่งที่เป็นไข่ขาวข้างนอก (สื่อ ประชาชน)

ส่วนระดับตรงกลางนี่ทีมงานก็คิดกันหัวแตก เราจะสร้างโดยใช้ Network Community เนื่องจากเรามีคนอยู่แค่หยิบมือหนึ่ง ยังไงเราเป็นกูรูทุกเรื่องไม่ได้ ซึ่ง Network Community มีทั้งผู้ใหญ่ในกรรมการที่ปรึกษา ทั้งผู้ใหญ่ในคณะกรรมการ เพื่อนๆ ที่อยู่ตามภาคเอกชนก็ดี ก็บอกว่าเรามีอินเด็กซ์เรื่องนี้ เคยรู้หรือเปล่าว่ เช่นว่าแรงงานที่อยู่ในระบบตกงานเท่าไหร่ ตัวเลข 40% หรือเคยรู้หรือเปล่าว่าอัตราการดำรงตำแหน่งผู้ว่าอยู่ที่ 1 ปีหรือ 1.1 ปี เคยรู้หรือเปล่าว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาเซกเตอร์ไหน เราก็เอาของเหล่านี้ที่เป็นอินเด็กซ์ไปขายในเครือข่ายนักคิด ในอดีตมันก็มีหลายฟอรั่มที่พยายามจะรวมนักคิดรุ่นใหม่ ตั้งแต่รุ่นใหม่ จนขณะนี้เป็นรุ่นเก่า ก็ไม่เห็นใครรวมตัวได้เสียที (หัวเราะ)

หนึ่งในนั้นก็มานั่งถามตัวเองว่า ทำไม เราไม่รักประเทศหรือไง ก็ต้องบอกตามตรงว่าบางทีบางคนก็ต้องทำมาหากินนะ ไอ้รักประเทศก็รัก แต่เวลาส่วนตัวไม่ค่อยมีกันอยู่แล้ว คนเก่งไม่มีงานทำ ไม่มี ทีนี้พอคนเก่งมีงานทำปุ๊บ จะไปรวมกับคนเก่งก็ทำไม่ได้ ก็กลายเป็นไม่รู้ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เราก็คิดว่าอย่างน้อยเราก็ต้องมีอะไรให้เขา มีอินเด็กซ์ไปบอกเพื่อนๆ ว่ามีอะไร หรือเพื่อนๆ อยากได้อินเด็กซ์อะไร เดี๋ยวเราทำเรียบร้อยแล้วจัดให้
อินเด็กซ์ของเราคือทำเพื่ออนาคต หรือเห็นอนาคต หรืออาจจะเห็นปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคต ดังนั้น ในเนื้อของอินเด็กซ์นี่ถ้าเขาจะไปเขียนอะไร เขาต้องไปเขียนเรื่องปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคตอยู่แล้ว ดังนั้นตัวเขา (business community) งานก็เบาลง เพราะเหมือนมีมือไม้ทางนี้ พอเขาโทรมาเราอาจจะจัดข้อมูลให้เขา พอเขียนเสร็จปุ๊บ อย่าลืมนะครับ ปั๊มตรา ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ของเราด้วย

ตอบคำถามที่ว่า พวกที่คิดมาต่างๆ นี่ จะผลักดันให้เป็นจริงอย่างไร โปรดักส์ต่างๆ ที่คิด คิดในเรื่องของการผลักดัน เพราะเราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง คราวนี้ก็จะมีไข่ขาว ระดับตรงกลาง คือพวกกลุ่มนักคิด จะเอาไปช่วยผลักดัน

ดร.เศรษฐพุฒิ : สิ่งที่สถาบันจะป้อนให้เพื่อช่วยในการขับเคลื่อน และช่วยในที่สุดคือ ถ้าความเข้าใจและความสนใจของคนในวงกว้างมีมากขึ้น ก็จะเพิ่มแรงจูงใจไปในทางที่ถูก ซึ่งนั่นเป็นอีกอันหนึ่ง ที่ผมคิดว่าสถาบันวิจัยไทยแลนด์ฟิวเจอร์เน้นเรื่องของเครือข่ายกับเน็ตเวิร์กของทั้งผู้ปฏิบัติกับนักคิด เพื่อนำไอเดียกระจายต่อ และเปิดกว้างสำหรับใครก็ได้ที่เอาไปใช้

ขณะเดียวกันในการทำงาน เราไม่เน้นว่าเราต้องทำเอง หากคนอื่นทำไว้ดีแล้วเราก็เอามาใช้ แล้วมาต่อยอดกัน ในทางกลับกัน หากเราทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็นำไปใช้ได้ เราผลิตข้อมูลที่นำไปใช้ในระยะยาว ให้คนหยิบไปใช้ ไปพูดถึง

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันสังคมไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ณ วันนี้คนไม่ฟังแต่ใช้ความรู้สึกมากกว่า ข้อมูลตรงนี้จะถูกหยิบไปใช้ได้มาน้อยแค่ไหน

ดร.เศรษฐพุฒิ : มันไม่ง่าย เราก็ต้องเริ่มจากคนที่เราพอผลักออกได้ (ยิ้ม) มันถึงต้องมีเครือข่าย และเครือข่ายเราก็เยอะ คือถ้าเราทำเอง อย่างน้อยถ้าเรามีทั้งนักปฏิบัติ นักธุรกิจ ผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในแวดวงนโยบาย ไปขยายต่อ มันจะมีน้ำหนัก มีพลัง ถ้าสมมติจากเราตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักนี่ แล้วไปพูดกับประชาชนทั่วไปเลย ผมว่าตรงนั้นไม่เวิร์กเพราะช่องว่างมันจะห่างไปหน่อย แต่ถ้าเราคุยกับคนเป็นวงๆ ที่ลิงก์กับเรา มันก็จะค่อยๆ ไปได้ มันต้องใช้เวลาพอสมควร แต่มันดีกว่าปล่อยไป

ตอนนี้ส่วนหนึ่งนักธุรกิจอะไรต่างๆ มาคุยกัน ต่างรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปตามยถากรรม ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งมันไม่ดีแน่ ทั้งในแง่ของความขัดแย้งที่เกิด ทั้งในแง่ความเจริญความมั่งคั่งของประเทศ

ถ้าดูผมว่าร่วมเกือบ 10 ปีแล้ว ที่ไม่ใส่ใจเรื่องการแข่งขันกับที่อื่น

ไทยพับลิก้า : วันนี้มีความกังวลเรื่องพวกนี้มากสุด

ใช่ แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้ขยายออกไปได้มากที่สุด สมมติถ้ามีการทำตัวชี้วัดว่า การที่ผู้ว่าฯ ย้ายบ่อยมีผลอะไรกับจังหวัดนั้นบ้าง ก็ทำเป็นตัวชี้วัดออกมา

ดังนั้น สถาบันจะมีการจัดสัมมนาครั้งแรกโดยใช้ชื่อ “อนาคตไทยเราเลือกได้” เพราะอยากจะสื่อว่าถ้าเราตัดสินใจถูกมันจะไปได้ดี

หัวข้อสัมมนา “What Thailand really needs” เรามัวไปใส่ใจเรื่องระยะสั้น แต่ตัวที่ควรเป็น KPI ของไทยมันควรเป็นอะไร จะเอาตัวเลขพวกนี้มาเล่า ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะสื่ออนาคตเราจะเป็นอย่างไรจริงๆ แต่อนาคตประเทศไทย เราเลือกได้ ถ้าเราตัดสินใจที่ถูก มันจะเป็นไปในทิศทางที่ดี

คำถามคือ การตัดสินใจสำคัญวันนี้มันคืออะไร ที่เราได้ดีทุกวันนี้เป็นเพราะการตัดสินใจที่ “ถูกในอดีต” เรากำลังกินบุญเก่าที่ได้ทำ เช่น การเปิดรับการลงทุนในต่างประเทศ สร้างโครงสร้างอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด การทำเรื่องท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ปรับบทบาทจังหวัดภูเก็ต จากการทำเหมืองแร่มาเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว

แต่คำถามคือ แล้ววันนี้สิ่งที่เราต้องตัดสินใจที่จะทำให้อนาคตของประเทศไทยมันดีเหมือนที่เรากำลังเอ็นจอยมันคืออะไร ก็จะนำเสนอในงานสัมมนาวันที่ 31 กรกฏาคมนี้ นำเสนอ 5 เรื่อง เป็นธีมสำคัญในการตัดสินใจ และก็โยนให้ทางผู้ร่วมเสวนาเขาคิดว่าใน 5 เรื่องนี้ 3 เรื่องนี้สำคัญที่สุด หรืออาจจะเป็นเรื่องอื่นที่เราไม่พูดกันก็ได้ และพยายามที่จะสรุปจากงานว่าที่ทุกท่านมองและการตัดสินใจที่จะทำให้อนาคตของประเทศไทยดี มันคืออะไร และพวกนี้จะเป็น research agenda ของทางสถาบันที่จะไปทำต่อเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ในปัจจุบัน จะทำให้อนาคตของประเทศอยู่ตรงจุดไหน

ดร.เศรษฐพุฒิ : ผมเชื่อว่าถ้าปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามยถากรรม เราจะเดินหน้าเป็นประเทศฟิลิปปินส์ ผมว่ามันมีสัญญาณหลายอย่างที่เราคล้ายๆ กับฟิลิปปินส์ ง่ายๆ คือความเหลื่อมล้ำ ฟิลิปปินส์สูง ไทยก็สูงนะครับ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มันถูกคอนโทรลโดยไม่กี่ครอบครัว เขาเคยทำตัวเลขมี 15 ตระกูล บ้านเราอาจจะไม่ใช่ 15 มันอาจจะ 50 (หัวเราะ) แต่มันมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ดีกรีไม่เท่ากัน ประกอบกับระยะหลัง ประเทศไทยไม่ได้ใส่ใจเรื่องการลงทุนด้วย

ฟิลิปปินส์มีความด้อยคือเป็นประเทศที่การลงทุนต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียนหมด แต่ตอนนี้ระเทศไทยเข้าสู่สภาวะคล้ายๆอย่างนี้แล้ว ไม่ค่อยลงทุนเพื่ออนาคต ถ้าดูฟิลิปปินส์ว่าเศรษฐกิจเดินได้อย่างไร มันเดินด้วยการที่ว่า ทุกวันนี้คนเขาไปทำงานที่ต่างประเทศส่งเงินกลับมาที่บ้าน และก็เอาไปบริโภค มันก็เดินไปได้วันๆ แบบนี้ มันเป็นแบบที่เรียกว่า “กินบุญเก่า กัดกร่อนอนาคต” ก็ได้ อยู่ไปวันๆ มันไม่มีการลงทุนเพื่ออนาคต ความเหลื่อมล้ำก็สูง เราไม่สามารถสร้างโอกาสให้คนของเราเท่าที่ควร เขามองว่าถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไร ก็มีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น

แต่ข้อดีของไทยถ้าเทียบกับฟิลิปปินส์ ณ วันนี้ ที่ยังต่างอยู่ เพราะคนไทยชอบอยู่เมืองไทย คนไทยไปทำงานเมืองนอก เรียนเมืองนอก เหน็ดเหนื่อยก็ยังอยากกลับมาเมืองไทย ตรงกันข้ามกับฟิลิปปินส์ ถ้าคนมีการศึกษา หรือ เป็นคนชั้นกลาง ถ้าเขามีโอกาสปุ๊บเขาหนีไปต่างประเทศเลยนะครับ

ตอนที่ผมทำงานที่เวิลด์แบงก์ ประจำที่ฟิลิปปินส์ ผมมีลูกน้องอยู่ 4 คน แต่ 3 คนนี่คนหนึ่งไปอยู่อเมริกา อีกคนไปออสเตรเลีย อีกคนไปแคนาดา ย้ายครอบครัวกันไปเลย ไปตั้งรกรากใหม่ เขาเป็นคนชั้นกลาง เขาบอกว่าเขาอยู่ฟิลิปปินส์เขาไม่เห็นอนาคตของลูกเขา เพราะเขาไม่สามารถส่งลูกเขาไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่มันแพงๆ ได้ แต่ถ้าเขาไปออสเตรเลียไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลก็ดี ลูกเขาก็ได้เรียนดี อนาคตของลูกเขาก็ดี แต่คนฟิลิปปินส์เป็นคนที่รักครอบครัวมาก ไม่ได้อยากไปนะ แต่ต้องไปเพื่อลูก

บ้านเรามันมีสัญญาณแล้วไง เหมือนกับเราไม่เปิดโอกาสเรื่องการศึกษา ผมเป็นห่วงมากเลย “มันเคืองนะ” ต้องใช้คำแบบนี้ แล้ว “วัฒนธรรม” ของการที่ลูกคนมีฐานะต้องเข้าโรงเรียนสาธิต แล้วคนอื่นล่ะมีโอกาสไหม ถ้าไม่ได้เข้าไปอยู่ในสมาคมผู้ปกครอง ไม่ได้ไปช่วยงาน ถ้าเป็นตาสีตาสา ไม่มีทาง (เสียงสูง) และถ้าคุณเข้าโรงเรียนอย่างนี้ไม่ได้ โอกาสที่คุณจะไปเรียนต่อดีๆ มันก็ลำบากเข้าไปอีก ผมว่ามันไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ยุติธรรม ถ้าเราไม่แก้ตรงนี้ เขาก็ไม่มีโอกาส เราก็จะเจอเหมือนฟิลิปปินส์ แม้ว่าคนไทยจะรักเมืองไทยแค่ไหน ในที่สุดเขาต้องรักลูกเขามากกว่าเขาต้องรักเมืองไทย และถ้าเขาไม่เห็นอนาคตสำหรับลูกเขาก็จะไปอยู่เมืองนอก ให้ลูกเขาไปเรียนเมืองนอก

บ้านเรายังโชคดีนะ มีความเหลื่อมล้ำ แต่ความรู้สึกของคนยังไม่ได้แตกแยกเหมือนฟิลิปปินส์ที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่รวยมาก คนชั้นกลางถ้าหนีได้ก็หนี และคนชั้นล่างไม่มีโอกาสก็ต้องอยู่ แต่ถ้าเราไปดูการใช้ชีวิตเขาพบว่าอยู่กันคนละโลกเลย คนรวยเขามีบ้านมีรั้วสูงมาก เวลาคนรวยไปไหนจะมีรถ 2 คัน คันหน้าเป็นรถบอดี้การ์ด แต่เมืองไทยยังดีที่ยังไปไหนมาไหนได้อยู่ แต่ถ้าเราปล่อยไป ยิ่งวันก็อาจจะแย่ลงไป

แต่ถ้าเราตัดสินใจถูกนี่ ไอ้เรื่องที่จำเป็นต้องทำ ผมยังคิดว่าเรายังมีสิทธิที่จะเป็นแบบไต้หวันได้ ซึ่งไต้หวันก็ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์นะ ถ้าเราดูประเทศที่ไปได้ดี หลักๆ เป็นเพราะอะไร ถ้าถามผมนะครับ มันเป็นประเทศที่สามารถสร้างชนชั้นกลางได้ ชนชั้นกลางสามารถช่วยเรื่อง Accountability ไม่ให้คนมาหลอก ถ้าคุณอยากให้สังคมไปได้ดี ต้องช่วยชนชั้นกลาง ไม่ได้หมายความว่าต้องให้ผลประโยชน์เฉพาะชนชั้นกลาง แต่ถ้าชนชั้นกลางดี แข็งแรง อย่างอื่นที่ดีๆ มันจะตามมา เช่น การศึกษามันจะตามมา Accountability ก็จะตามมา

“ชนชั้นผู้นำข้างบนเขาไม่แคร์หรอก ถ้าการศึกษาไม่ดี เขาก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุด ประเทศ ถ้าจะไปได้ดีอย่างไต้หวัน เกาหลี สังคมชนชั้นกลางแรง แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่ อาจจะยกเว้นสิงคโปร์ ตัวนั้นเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุด ถ้าเราสร้างตัวนี้ (ทำให้ชนชั้นกลางแข็งแรง) ผมว่าของอื่นๆ ที่ดีๆ มันจะตามมา”

เหตุผลที่ผมชอบยกตัวอย่างไต้หวันแทนเกาหลี เพราะเขามีบริษัทเล็กๆ เหมือนบ้านเรา แต่บริษัทเล็กๆ สามารถที่จะไปแข่งกับโลกได้ มันมี Global Brand แต่ถ้าเราทำตัวดีผมมองว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่การเมืองไต้หวันผมว่ามันเละพอๆ กับเรา (หัวเราะ) แต่ที่เห็นชัด อันนี้ผมชมเขาเลยนะ ความใส่ใจเรื่องการศึกษานี่สูงมาก

ดร.นิตินัย : ในอดีตเราจับกระแสอะไรที่มันดีๆ และถูกต้อง อย่างกรณีของภูเก็ตตอนที่เปลี่ยนจากการทำเหมืองมาเป็นท่องเที่ยว มีตัวเลขการหักมุมของรายได้การท่องเที่ยวดีขึ้น หรือการลงทุนโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด รับการลงทุนจากญี่ปุ่น เขามาถึงลงทุนปุ๊บ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าเศรษฐกิจเรานี่ 70% ส่งออก แล้วก็มากที่สุดจากอุตสาหกรรมพวกนี้ทั้งนั้น ถ้าวันนั้นถามว่าเราไม่เปิดรับนักลงทุนเข้ามา วันนี้ 70% ของจีดีพีคือการส่งออก และมีพระเอกอยู่ 2-3 ตัว ก็ไม่เกิด

ถามว่าตอนนี้เราไม่ก่อกระแสใหม่ และไม่มีบุญเก่ากลับมา หากดูเลขส่งออกของเรา รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการส่งออกสูงมาก แต่การเพิ่มขึ้นของราคาต่ำมาก

ในทางกลับกัน การท่องเที่ยวของไทยที่เน้น sea-sun-sand จะเห็นว่าตัวเลขโรงแรม แฟรนไชส์ต่างๆ ที่บาหลี โรงแรม 100 แห่ง ที่ไทยโรงแรม 190 แห่ง นั่นหมายความว่าโรงแรมของเรา ในโลก ตามเว็บอโกด้าอะไรต่างๆ เขาพูดถึงประเทศเราเกาะแก่งต่างๆ 17 แห่ง ในขณะที่บาหลีมี 9 แห่ง เป็นอันดับ 2

ถามว่าบาหลีนี่คืออันดับ 2 แล้วนะ ต่อให้อันดับ 2 เขายอมมาจ่ายค่าโรงแรมในประเทศไทยแพงเกือบเท่าตัว เพื่ออันดับ 1 แสดงว่าอันดับ 1 ของเรานี่ห่างอันดับ 2 มาก แต่เมื่อเอาค่าที่พักออก ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของเรานี่ต่ำกว่าในภูมิภาคนี้ 20%

คำถามของเราก็คือ ท่องเที่ยวของเราสรุปได้ดีเพราะโรงแรมหรือเปล่า อย่างอื่นคือไม่ขายอะไรเลย ขายแต่ sea sun sand แล้วต่อไปในอนาคตถ้าประเทศรวยเก่าๆ อย่าง อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น กับรวยใหม่ๆ อย่าง จีน อินเดีย ไลฟ์สไตล์ในการท่องเที่ยวนี่คนละอย่างเลย พวกนี้เขามาเขาช็อปปิ้ง ซึ่งแหล่งช็อปปิ้งของไทยมี 9 ที่ อาทิ จตุจักร แพลตตินั่ม เป็นต้น

เราเห็นชัดว่าพอคนรวยใหม่มา มีธุรกิจบริการโลว์คอสแอร์ไลน์ก็ดี โรงแรมสามดาวขึ้นมาเป็นดอกเห็ด นี่คือ Infrastructure for the future แล้วของไทยอยู่ที่ไหน เรามัวไปหลงทางอยู่หรือไม่ ข้อมูลในอดีตนี้ ปัจจุบันไม่ได้สื่ออนาคตแล้ว เพราะข้อมูลในอดีตมันเป็นรวยเก่าๆ อุปนิสัยเก่าๆ (โรงแรม 5ดาว, sea-sun-sand ) เพราะอุปนิสัยมันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว คนวางแผน วางนโยบายอาจจะใช้ข้อมูลนี้ไม่ได้แล้ว

สุดท้ายเราก็ “กินบุญเก่า” แล้ว sea-sun-sand ดังกล่าวนี่มันสกปรกหรือยัง พวกเกาะต่างๆ นี่ก็รู้อยู่พอนักท่องเที่ยวไปเยอะๆ ก็มีปัญหาเรื่องน้ำจืดทุกที่ ที่สำคัญคือ บุญเก่าที่ว่านี่มันจะหมดหรือยัง ต่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ ช่วยเข็นจีดีพีเยอะๆ แต่ราคาไม่โต ตลาดโลกการแข่งขันอาจจะสูง ท่องเที่ยวเคยทำไว้ดี แต่ตอนนี้ถ้าเอาค่าโรงแรมออก กลับกลายเป็นต่ำกว่าชาวบ้าน 20% ผมว่าแบรนด์ระดับชาติเรามันมีหรือเปล่า เราไปออสเตรเลียก็ต้องฝากซื้อแบล็ค มอลล์ , เดวิดโจนส์ ไปญี่ปุ่นฝากซื้อชิเชโด มาประเทศไทยฝากซื้ออะไร บอกว่ามีอะไรที่จตุจักรถูกๆ ซื้อมาให้หน่อย (หัวเราะ)

ผมมองไม่ค่อยเห็น indicator ว่า”บุญเก่ามันเหลืออีกสักกี่น้ำที่จะให้กิน” ถึงบอกว่ามองไปในอนาคตอย่างไร ให้มองย้อนหลังว่าเรามีวันนี้อย่างไร แล้วเราก็จะมองเห็นอนาคตของเรา

สถาบันไทยแลนด์ ฟิวเจอร์คือใคร!

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ซ้าย)และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ (ขวา)
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ซ้าย)และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ (ขวา)

1. ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ฟาวเดชั่น แตกต่างจากสถาบันวิจัยทั่วไปอย่างไร

“เครือข่ายนักคิด นักปฎิบัติ” – ไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มนักคิด นักวิชาการ แต่ทำงานเป็นเครือข่าย ร่วมมือกับนักปฏิบัติในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ หรือกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย เพื่อร่วมกันคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง และช่วยกันขับเคลื่อนให้แผนปฏิบัตินั้นๆ บรรลุผลสำเร็จ

“เป็นกลาง” – ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ตระหนักดีว่า งานของเราคือการดำเนินงานวิจัยอย่างเป็นกลาง จึงมุ่งเน้นการนำเสนอมุมมองของทุกฝ่ายผ่านการวิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประเทศในภาพรวม “70/30” – หากหยิบงานวิจัยที่เราเห็นโดยทั่วไปขึ้นมาสักหนึ่งชิ้นจะพบว่า งานวิจัยส่วนใหญ่จะทุ่มเททรัพยากร (อย่างน้อย 70%) ให้กับระเบียบวิธีวิจัย และค้นหาคำตอบเชิงวิชาการ แต่กลับให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 30%) กับการค้นหานัยยะหรือข้อแนะนำที่ได้จากคำตอบนั่นในเชิงธุรกิจและนโยบานที่สำคัญ ดังนั้นสิ่งที่จะทำคือการทำในสิ่งที่งานวิจัยรูปแบบเดิมๆ ยังขาดอยู่ และจะทุ่มเททรัพยากรให้กับการหาคำตอบว่าจะมีแนวทางแก้ไขเรื่องนั้นๆ อย่างไร

“Open source” – ในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ดีๆ อยู่จำนวนมาก เราไม่คิดว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง แต่งานของเราคือการให้หลายภาคส่วนนำข้อเสนอแนะของเราไปใช้จริง วิเคราะห์ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่และเสนอแนะทางออกที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริงด้วยการยกระดับงานของเราให้เป็นการพูดคุยในเชิงนโยบายระดับประเทศ เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อน

“หลากมิติ หลายมุมมอง” – ในโลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาหรือประเด็นที่ต้องค้นหาไม่ได้ถูกจัดใส่กล่องตามสาขาทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมา การจะหาทางออกให้กับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยหลากมิติ หลายมุมมอง ดังนั้นเพื่อให้เป็นการแก้ไขอย่างบูรณาการ เราจะใช้เครือข่ายนักคิด นักปฏิบัติที่สถาบันสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลายจากผู้รู้ในหลายสาขาวิชาเพื่อหาทางออกที่ดีพอให้กับประเด็นนั้นๆ

2.เป็นแหล่งรวม “บิ๊กเนม” สำคัญ

โครงสร้างของสถาบันจะประกอบไปด้วยคณะกรรมการสถาบัน คณะกรรมการบริการ คณะกรรมการที่ปรึกษา และชุมนุมนักคิด

โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการ คือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง นพ.ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ราษฎรอาวุโส นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คุณสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Dr.Dipak C.Jain Dean,INSEAD ดร.อุตตม สาวนายน กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยพรอสเพอริตี้ส์ แอ็ดไวซอรี่ จำกัด และดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัทดิแอดไวเซอร์ จำกัด

คณะกรรมการบริหาร มีดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัทดิแอดไวเซอร์ จำกัด เป็นประธานกรรมการบริหาร และมีกรรมการดังนี้ ดร.อุตตม สาวนายน กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยพรอสเพอริตี้ส์ แอ็ดไวซอรี่ จำกัด ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบันบันฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเกียรตินาคิน จำกัด รศ.ดร.นฤมล สะอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการบริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้) และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการและเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบไปด้วย คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยยูนี่น โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ดร.บัณทิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คุณบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองไทยระกันชีวิต จำกัด ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี คุณอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีทีไอ โฮลดิ้ง จำกัด และคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด

3.พลาดไม่ได้กับงานเปิดตัว “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์”

สถาบันอนาคตไทย จัดเสวนาในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย..เราเลือกได้” ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เวลา 13.00-17.00 น. ที่ห้อง Grand Hall ชั้น 2 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กล่าวเปิดงาน และมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “What Thailand really needs” โดยดร.เศรษฐพุฒิ และดร.นิตินัย จากนั้นจะเป็นการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “What are the big decisions that will shape our future” โดยดร.ทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีจะกล่าวสรุป ติดต่อร่วมงานที่ [email protected]