ขยะมูลฝอยที่มาจากสิ่งของเหลือกินเหลือใช้ของคนเมือง จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองในประเทศกำลังพัฒนา
หากย้อนมองไปเมื่อ 10 ปีก่อน มีคนอาศัยอยู่ในเมืองเพียง 2,900 ล้านคน และโดยเฉลี่ยแล้วคนหนึ่งคนจะสร้างขยะประมาณวันละ 0.64 กิโลกรัม ซึ่งรวมแล้วคนเมืองจะทำให้เกิดขยะปีละ 680 ล้านตัน แต่ในปัจจุบัน มีคนเมืองอยู่ประมาณ 3,000 ล้านคนทั่วโลก และแต่ละคนทำให้เกิดขยะประมาณวันละ 1.2 กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อรวมแล้วจะสร้างขยะปีละ 1,300 ล้านตันต่อปี
และในปี 2025 ธนาคารโลกประเมินว่า จำนวนประชากรเมืองน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,300 ล้านคน และแต่ละคนจะสร้างขยะประมาณวันละ 1.42 กิโลกรัม หรือรวมแล้วประมาณ 2,200 ล้านตันต่อปี พร้อมคาดว่าต้นทุนการจัดการขยะเหล่านี้จะเพิ่มจากปีละ 205,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศยากจนจะใช้เงินมากขึ้นอย่างมากเพื่อใช้กำจัดขยะในชุมชนเมือง
รายงานเรื่อง “What a Waste: a Global Review of Solid Waste Management” ของธนาคารโลกบอกว่า การบริหารจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลเป็นบริการสำคัญที่สุด ที่ฝ่ายบริหารเมืองต้องจัดหาให้ประชาชนในทุกประเทศ ทั้งในประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้ปานกลาง เพราะหากจัดการปัญหาขยะไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพคน สิ่งแวดล้อมของเมืองและของโลก และระบบเศรษฐกิจด้วย
ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศจีน ซึ่งได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตขยะมากที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2004 นอกจากนี้ ปริมาณขยะก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแถบเอเชียตะวันออก รวมถึงบางประเทศในยุโรปตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในพื้นที่เหล่านี้ สอดคล้องกับการขยายตัวของเขตเมือง และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีที่เพิ่มขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาของเศรษฐกิจ ระดับของความเป็นเมืองอุตสาหกรรม พฤติกรรมของคนในเมืองนั้นๆ และสภาพแวดล้อมของเมือง ทั้งนี้ ยิ่งสังคมมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีความเป็นเมืองมากขึ้นเท่าไหร่ ปริมาณขยะมูลฝอยก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัว ขณะเดียวกัน ระดับของรายได้และความเป็นชุมชนเมืองก็เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน โดยเมื่อคนมีรายได้สุทธิและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะมีการกินและใช้สินค้าและบริการเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้สร้างขยะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยคนเมืองสร้างขยะมากกว่าคนในชนบทประมาณสองเท่าตัว
หากมองกันในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในแถบเอเชีย รายงานระบุว่า เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสร้างขยะประมาณ 270 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขยะที่มาจากจีน ที่คิดเป็นประมาณ 70% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดของภูมิภาค และชาวเอเชียแต่ละคนสร้างขยะเฉลี่ยประมาณ 0.95 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนเอเชียกลางสร้างขยะปีละ 93 ล้านตันเป็นอย่างน้อย
เมื่อลองแจกแจงประเภทขยะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในแต่ละกลุ่มประเทศ ก็จะเห็นว่ามีหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สภาพอากาศ แหล่งพลังงาน ที่ส่งผลให้แต่ละภูมิภาคมีปริมาณขยะแต่ละชนิดแตกต่างกัน
โดยประเทศที่มีรายได้น้อยมักจะมีสัดส่วนขยะอินทรีย์ หรือขยะที่มาจากสิ่งมีชีวิตมากที่สุด ขณะที่ประเทศรายได้สูงจะมีขยะประเภทกระดาษ พลาสติก และวัสดุอนินทรีย์ แต่หากดูกันในแต่ละภูมิภาคก็พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีสัดส่วนขยะอินทรีย์มากถึง 62% ของขยะทั้งหมด ส่วนประเทศกลุ่ม OECD มีสัดส่วนขยะกลุ่มนี้น้อยที่สุดคือ 27% แต่หากดูกันที่ปริมาณขยะแล้ว ประเทศ OECD ก็ยังมีปริมาณขยะประเภทนี้สูงที่สุดในโลก
สำหรับในแง่ของประสิทธิภาพการเก็บขยะของชุมชนเมืองนั้น พบว่าแต่ละเมืองมีวิธีเก็บขยะต่างกัน เช่น มีคนเก็บขยะไปตามเก็บขยะถึงบ้าน หรือบางแห่งก็ให้แต่ละบ้านนำขยะมาทิ้งที่ถังขยะของชุมชน ขณะที่บางเมืองก็ให้คนเอาขยะมาทิ้งไว้หน้าบ้านตามเวลาที่ทางการกำหนดไว้ ก่อนที่รถขยะจะมาเก็บขยะไป หรือบางแห่งประชาชนก็จะเอาขยะไปทิ้งถึงศูนย์กำจัดขยะ และเทศบาลบางแห่งก็จ้างเอกชนให้มาเก็บขยะและเรียกเก็บค่าบริการจากคนในชุมชน
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีรายได้สูงมีความสามารถในการเก็บขยะเฉลี่ย 98% ของขยะทั้งหมดที่มี แต่ประเทศรายได้น้อยจะเก็บขยะได้เฉลี่ย 41% เท่านั้น และหากเทียบกับเป็นภูมิภาค กลุ่มประเทศ OECD จะมีความสามารถในการเก็บขยะมากที่สุดหรือประมาณ 98% ส่วนแอฟริกา เป็นภูมิภาคที่เก็บขยะได้น้อยที่สุด หรือประมาณ 46% ของขยะทั้งหมดที่มีอยู่ในภูมิภาค
ส่วนเมื่อเก็บขยะได้แล้วจะกำจัดอย่างไรนั้น ข้อมูลของเวิลด์แบงก์บอกว่า การฝังกลบ (landfilling) และการกำจัดขยะด้วยกระบวนการความร้อน (thermal treatment) เป็นสองวิธียอดฮิตที่ประเทศร่ำรวยเลือกใช้เพื่อกำจัดขยะ ส่วนประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีนำขยะไปเทกองกลางแจ้ง หรือทิ้งไว้ตามธรรมชาติ (open dump) มากที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากขยะมูลฝอยคืออีกหนึ่งต้นตอสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเมินกันว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากของเหลือทิ้งหลังการบริโภคคิดเป็นเกือบ 5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก ทำให้ธนาคารโลกมองว่า การลดปริมาณขยะและกำจัดขยะอย่างถูกวิธีจะช่วยบรรเทาปัญหาส่วนนี้ได้ ดังนั้นจึงแนะนำว่า ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปเกี่ยวกับการลดการสร้างขยะ และการรีไซเคิลขยะ หรือนำขยะไปแปรรูปเป็นปุ๋ยมากขึ้น นอกจากนี้ ทางภาครัฐอาจใช้กลไกด้านราคา เช่น การบวกค่ากำจัดขยะเพิ่มเข้าไปกับราคาสินค้า เพื่อจูงใจให้คนหันมารีไซเคิลของ หรือใช้ของรีไซเคิลมากขึ้น และลดการสร้างขยะไปในตัว ซึ่งกลไกราคาเหล่านี้เป็นวิธีที่หลายเมืองใช้เพื่อลดปริมาณขยะถุงพลาสติกมาแล้ว
จากข้อมูลข้างต้นคงเห็นกันแล้วว่า ปริมาณขยะของชุมชนเมืองทั่วโลกมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ซึ่งธนาคารโลกก็มองว่า สิ่งจำเป็นสำหรับชุมชนเมืองยุคนี้ก็คือ แผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบบูรณาการ และแผนที่มีประสิทธิภาพก็ต้องอาศัยการระดมสมองของทุกฝ่ายในสังคมนั่นเอง
อ่านรายงานฉบับเต็ม