ในยุคที่คนเชื่อว่า “กรรม” แก้ได้ด้วย “เงิน” ไม่ว่าจะโกงกิน ฉ้อราษฎร์บังหลวงมากเท่าไหร่ หากได้เป็นประธานทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างวัด กรรมนั้นจะหมดไปหรือเบาบางลงไป
เช่นเดียวกับเคราะห์กรรมอื่นๆ จึงมีการสะเดาะเคราะห์ มีกระบวนการแก้กรรมด้วยการแพคเก็จต่างๆ มากมาย เป็นธุรกรรมของวัดหลายๆ แห่งที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมาก
ยิ่งในระยะ 4-5 ปี ที่ผ่านมา ก่อนขึ้นปีใหม่ทุกๆ ปีจะมีคำทำนายปีชง ปีใหม่จึงเป็นช่วงเทศกาล “แก้ชง” สถานที่ทางศาสนาหลายๆ แห่งจึงจัดแพคเก็จสำหรับการสะเดาะเคราะห์ไว้ พร้อมกับอธิบายทุกขั้นตอนของการแก้กรรมว่าจะต้องทำอะไร ที่ไหน แบบไหน และอย่างไร
ตามความเชื่อของโหราศาสตร์ชาวจีน ที่มาจากการจับสังเกตของกลุ่มดาว เชื่อว่าปีชงคือ การมีพลังที่มองไม่เห็นมากระแทกดวงชะตา ดังนั้นจึงต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ “แก้ชง”
เมื่อคนไทยเริ่มรับเอาความเชื่อ “ปีชง” เข้ามา การมองหาสถานที่ประกอบพิธีกรรมจึงเริ่มตามมา สถานที่ที่กล่าวถึงจะต้องเป็นที่ที่ได้รับความเลื่อมใสของผู้คน ปัจจุบัน วัดจึงไม่ใช่แค่สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ที่ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธใช้จัดพิธีกรรมต่างๆ ตามประเพณีที่ยึดถือกันมาเท่านั้น
กระแสใหม่ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงของสังคมและคนในสังคมได้เพิ่มบทบาทหน้าที่ให้กับวัดมากขึ้นกว่าอดีต ดังนั้น วัดจึงไม่ได้อยู่นิ่งเฉยอย่างสงบเสงี่ยมเหมือนเดิมต่อไปอีกแล้ว วัดเริ่มมีบทบาทในการจัดกิจกรรมทางพิธีกรรมต่างๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้มาทำบุญ หรือถ้ามองในแง่โลกธุรกิจก็คือผู้บริโภคนั่นเอง วัดจึงต้องผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว
เมื่อคนในสังคมนิยมประกอบพิธีกรรมเหล่านี้ จึงเป็นช่องทางให้วัดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมต่างๆ ในวัด ผลิตสินค้าและบริการตอบสนองต่อความต้องการที่ท่วมท้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่จะเชิญชวนผู้คนเข้ามาทำบุญกับวัดนั้นๆ โดยง่าย หลายวัดจะมีการจัดรูปแบบในการทำบุญ สะเดาะเคราะห์ แก้ปีชง เสริมบุญบารมีอย่างเป็นแพคเก็จ เรียกได้ว่าเป็น “บุญกุศลแบบสำเร็จรูป”
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจหลายวัด บางแห่งมีบริการทำบุญสะเดาะเคราะห์ครบวงจร มาวัดเดียวสามารถทำบุญได้ครบ เป็น one stop service ซึ่งจะนำเสนอในตอนต่อไป
สำหรับการสำรวจที่ “วัดเล่งเน่ยยี่2” หรือวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ซึ่งตั้งอยู่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี วัดนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 12 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2551 มีพื้นที่ 12 ไร่ บริเวณโดยรอบของวัดมีลานจอดรถอย่างกว้างขวางทั้งสองด้าน และยังมีพื้นที่จอดรถที่อยู่ถัดออกไปอีก สะท้อนถึงปริมาณความต้องการของคนที่เดินทางมาวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ที่ขายชุดสะเดาะเคราะห์ยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ประชาชนให้ความสนใจมาทำบุญสะเดาะเคราะห์มากขึ้นทุกปี และขายดีมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับบริการชุดทำบุญมีหลากหลายให้ผู้มาทำบุญได้เลือก และมีราคาที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้ทำบุญ ผู้ใดอยู่ในปีชง ต้องการที่จะทำบุญสะเดาเคราะห์ ทางวัดก็จัดชุดทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้ในราคา 100 บาท ส่วนผู้ที่ต้องการจะทำบุญเสริมดวงชะตา ทางวัดก็มีการจัดชุดทำบุญเสริมดวงชะตาให้ในราคา 200 บาท หรือผู้ใดต้องการที่จะทำบุญทั้งสองประเภทก็ได้ตามความประสงค์ในราคา 300 บาท
ชุดทำบุญสำเร็จรูปทั้งสองนี้ ประกอบไปด้วยแผ่นกระดาษต่างๆ ทั้งกระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วให้ผู้ทำบุญกรอกข้อมูลลงไปในกระดาษที่ได้มา โดยทางวัดมีป้ายบอกถึงวิธีการปฏิบัติในการทำบุญด้วยอย่างละเอียด เมื่อผู้ทำบุญเสร็จสิ้นขั้นตอนของการกรอกข้อมูล ผู้ทำบุญต้องนำแผ่นกระดาษเหล่านี้ไปไหว้ต่อเทพเจ้าองค์ไท้ส่วยเอี๊ยะ จากนั้นก็นำกระดาษไปวางในที่ที่ทางวัดจัดเตรียม แล้วทางวัดจะนำไปประกอบพิธีตามความเชื่อ เพื่อแก้ไขหรือเสริมดวงชะตาให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญ เป็นอันเสร็จพิธี
การทำบุญในรูปแบบบุญสำเร็จรูปนี้เปรียบเสมือนเรารับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีเงินซื้อมีน้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้แล้ว เช่นเดียวกันการทำบุญ เรามีเพียงเงินในการซื้อชุดทำบุญเหล่านี้พร้อมกับความศรัทธา เราก็เปรียบเสมือนได้บุญมาแล้วในเวลาน้อยนิดและไม่ต้องเตรียมตัวให้ยุ่งยาก
นอกจากการทำบุญสะเดาเคราะห์สำเร็จรูปจะรวดเร็วทันใจต่อผู้ที่ศรัทธาแล้วนั้น ยังมีการร่วมทำบุญกับทางวัดในรูปแบบของการบริจาคเงินเพื่อทำนุบำรุงสิ่งต่างๆ มากมาย โดยจัดแพคเก็จการทำบุญตามรายการและความเชื่อของแต่ละบุคคล เช่น บริจาคเงินร่วมทำบุญค่าน้ำค่าไฟ บริจาคเงินร่วมทำบุญเพื่อเป็นค่าทุนการศึกษาสามเณร ร่วมทำบุญสร้างพระ สร้างเจดีย์ ทำบุญกระเบื้อง หรือแม้กระทั่งร่วมทำบุญเพื่อชำระหนี้สงฆ์ เป็นต้น
ถ้าสังเกตจะพบว่า ปัจจุบัน วัดส่วนใหญ่จะนำตู้รับบริจาคเหล่านี้มาจัดวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะมีผู้คนเดินผ่านในทุกจุด ถ้าหากให้นับตู้บริจาค บางวัดอาจจะนับไม่ถ้วนก็ได้
นอกจากนี้ยังมีการผลิตวัตถุมงคลต่างๆ ที่ประกอบการแก้ชงในแต่ละปี ทั้งเหรียญและสิ่งปลุกเสกอื่นๆ ในราคาต่างๆ กัน
จากบริการต่างๆ เหล่านี้ วัดอาจจะถูกมองได้ว่ากำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจในเชิงพุทธพาณิชย์มากขึ้น มีการจัดทำรูปแบบการทำบุญไว้สำเร็จแล้ว เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการประกอบพิธี ผู้ศรัทธาหรือผู้ที่จะทำบุญเพียงแค่นำเงินมาก็สามารถได้บุญอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ “คน” เข้าใจได้ว่า ปัจจุบัน เพียงแค่ “มีเงิน” ก็จะ “แก้กรรม” และ “ได้บุญ” โดยทันที
วัดจึงเปรียบเสมือนร้านสะดวกซื้อที่มีบุญสำเร็จรูปขายมากมาย
นี่กระมัง…ที่ทำให้คนทำผิดทำชั่วมากขึ้น เพราะเชื่อว่า “กรรม” แก้ได้ด้วยการ “ซื้อ”
อย่างไรก็ตาม วัดยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ของชาวพุทธ แต่ปัจจุบันวัดเปรียบเสมือนสถานที่ท่องเที่ยวอีกที่หนึ่งที่ผู้คนนิยมมาเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ การมาเที่ยววัดเป็นได้ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ และยังได้บุญกลับบ้านไปด้วย เรียกได้ว่ามาเที่ยวแล้วยังได้บุญอีก
ในเมื่อวัดถูกทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทางวัดจึงปรับและเตรียมตัวเช่นกัน เราจะเห็นได้ว่าวัดต่างๆ เริ่มมีการปรับปรุงบริเวณของวัดให้น่าดู มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวนักแสวงบุญพึงพอใจ อีกทั้งยังปรับปรุงหรือเร่งสร้างปูชณียสถานให้สวยงามยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างสร้างความน่าสนใจต่อผู้คน ด้วยเหตุนี้ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัดเองจะต้องหา “วิธีระดมทุน” ในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงวัดให้สวยงาม
วัดจึงพยายามตอบสนองความต้องการของผู้คน กระแสสังคม และให้เข้ากับยุคสมัย อาจจะดูว่าเป็นสิ่งที่เกินหน้าที่ที่วัดพึ่งกระทำตามหลักของพระพุทธศาสนา จนทำให้เห็นว่าการกระทำเหล่านั้นจะก้าวเข้าสู่เชิงธุรกิจ จนกลายเป็นพุทธพาณิชย์
แต่ในทางกลับกัน ก็มีข้อโต้แย้งจากพระของวัดเล่งเน่ยยี่ 2 ที่กล่าวว่า “ไม่อยากให้มองว่าวัดทำธุรกิจกับพุทธศาสนิกชน พิธีกรรมต่างๆ ที่วัดจัดขึ้นมาเป็นเพียงการทำบุญส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อยากให้มองถึงสถาปัตยกรรมที่สวยงามของทางวัดที่ปรารถนาสร้างขึ้นมา เพื่อให้คนมาชมได้รับรู้ถึงสถาปัตยกรรมของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ผู้คนที่เข้ามาภายในวัดได้พักผ่อนหย่อนใจ ได้ร่วมกับทำบุญเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงไว้ ในส่วนของพิธีกรรมต่างๆ ทางวัดไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญมากมาย เพียงแต่มีทั้งรายการโทรทัศน์ เหล่าดารามาร่วมสร้างกระแส และทำให้ผู้คนรับรู้ในเรื่องของพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์เหล่านี้เอง วัดไม่ได้มีการโฆษณาแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยในหัวข้อ “บทบาทของอุบาสกอุบาสิกาในการบำรุงพระพุทธศาสนา” ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2549-2553 ประเทศไทยมีจำนวนพุทธศาสนิกชนประมาณ 47 ล้านคน ผลการวิจัยพบว่า ชาวพุทธจำนวนกว่าร้อยละ 25.19 ไม่เคยทำบุญตักบาตร (ที่มา: a day ฉบับที่ 139)
ขณะที่ผลการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเมื่อปี 2548 ระบุว่า คนไทยทำบุญเฉลี่ยทั่วประเทศคนละ 809 บาทต่อปี โดยคาดว่ามีเงินสะพัดประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี (อ่านเพิ่มเติม) ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ทำให้เรารับรู้ถึงตัวเงินที่มากมายมหาศาลที่ไหลเวียนเข้าวัด
ทำให้เกิดข้อสังเกตุว่า จะมีวัดไหนบ้างที่เปิดเผยเงินบริจาคแต่เดือนว่ามียอดเงินบริจาคจำนวนเท่าใด แบ่งเป็นประเภทไหนบ้าง และทางวัดบริหารจัดการเงินเหล่านี้อย่างไร โดยติดประกาศในวัดให้สาธุชนผู้ร่วมทำบุญได้ทราบ แม้ว่าคนทำบุญส่วนใหญ่อาจจะไม่ต้องการทราบก็ตาม แต่เพื่อความโปร่งใสและส่งเสริมให้คนร่วมทำบุญและร่วมบริจาค มีจิตศรัทธามากยิ่งขึ้น เพราะวัดคือศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมการทำกิจกรรมของชุมชน และวัดสามารถเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และช่วยสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ดังที่พระสุบิน ปณีโต แห่งวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.ตราด ที่ใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมคน ชุมชน วัดเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างชีวิตความอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยการตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โดยใช้การทำบุญเป็นเครื่องมือในการเชื่อมร้อยสังคมและชุมชนเข้าด้วยกัน จนประสบความสำเร็จมาแล้ว (อ่านเพิ่มเติม)