ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > มาเก็บภาษีฉันเถอะ (จบ) : กฎของบัฟเฟตต์ “ความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่”

มาเก็บภาษีฉันเถอะ (จบ) : กฎของบัฟเฟตต์ “ความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่”

11 มีนาคม 2012


แม้ในด้านหนึ่ง แนวคิดเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” จุดประกายขึ้นในสังคมอเมริกัน จะได้แรงหนุนจากฝ่ายที่ต้องการสังคายนาระบบภาษีครั้งใหญ่ แต่อีกด้านของเหรียญ กฎของบัฟเฟตต์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างที่หยั่งรากลึก

เพราะแม้จะเก็บภาษีจากเศรษฐีและมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้น แต่นี่อาจไม่ได้ช่วยลดภาระหนี้ของรัฐบาล หรือลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐที่มีมหาศาล ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งมาจากโครงสร้างภาษีที่ซ้ำซ้อนและช่องว่างต่างๆ

“เดวิด โลแกน” จากสถาบันด้านภาษี Tax Foundation ระบุว่า ถึงแม้รัฐบาลจะเรียกเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ จากบุคคลที่ทำเงินได้ปีละมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ ก็จะตุนเงินไว้ได้ 1.86 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยลดการขาดดุลงบประมาณลงได้เพียง 12% และช่วยลดหนี้ลงได้แค่ 2% เพราะจำนวนคนรวยในคลับซูเปอร์ริช ไม่ได้มากพอที่จะช่วยขจัดปัญหาของประเทศนี้ได้เพียงแค่ร่ายมนต์ภาษี

และหากเรียกเก็บภาษีเศรษฐีมะกันในอัตรา 50% ของรายได้ พร้อมทั้งกำจัดช่องโหว่และการลดหย่อนภาษีทิ้งไป รัฐบาลจะเก็บเงินได้ประมาณ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เพียงพอที่จะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณได้แค่ 8% และลดหนี้ของสหรัฐลงได้ 1%

วิธีเดียวที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณโดยใช้วิธีนี้ คือ จะต้องยึดเงินทุกบาททุกสตางค์จากชาวอเมริกันทุกๆ คนที่หาเงินได้ปีละ 200,000 ดอลลาร์ขึ้นไป เพราะจะทำให้มีเงินเข้าคลังหลวงประมาณ 1.53 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อผ่ากายวิภาคภาษีของบรรดาซูเปอร์ริชอเมริกัน ที่มีรายได้ปีละ 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป พบทิศทางขาลงทั้งจำนวนคนรวยและภาษีที่จ่ายให้รัฐ

โดยในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่โหมดชะลอตัว จำนวนของเศรษฐีเหล่านี้อยู่ที่ 18,394 รายในปี 2550 มีสัดส่วนแค่ 0.0129% ของจำนวนผู้เสียภาษีอเมริกันทั้งหมด หรือคิดเป็น 1 ในผู้เสียภาษี 7,773 ราย และคนรวยเหล่านี้จ่ายภาษีประมาณ 1.11 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของภาษีทั้งหมดที่จ่ายให้รัฐ

แต่พอถึงปี 2552 จำนวนเศรษฐีที่มีรายได้ 10 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น กลับลดลงอยู่ที่ 8,274 ราย หรือลดลง 55% จากปี 2550 ควักเงินจ่ายภาษีแค่ประมาณ 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 51% จากปี 2550 หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.2% ของภาษีทั้งหมดที่จ่ายเข้ารัฐ ซึ่งการหดหายไปของคนรวยเป็นคำตอบที่อธิบายว่าทำไมรายได้ภาษีของรัฐบาลจึงลดลงเหลือ 15% ของจีดีพีในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และยังส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2552

ดังนั้น แทนที่จะเก็บภาษีในระดับ 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์อย่างที่เป็น หากคิดตามสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลยึดเงินรายได้รวม (AGI) ทุกบาททุกสตางค์ที่คนรวยเหล่านี้ถือครองรวมกัน 2.40 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2552 ก็จะช่วยเพิ่มรายได้เข้ารัฐได้ประมาณ 1.86 แสนล้านดอลลาร์ เงินจำนวนนี้ช่วยลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ราว 12% และลดหนี้ลงได้ 2% เท่านั้น

บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แทนที่บัฟเฟตต์จะเสนอให้เก็บเงินจากเศรษฐีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศ น่าจะกระตุ้นให้รัฐบาลออกนโยบายที่ช่วยเพิ่มจำนวนเศรษฐีในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยก็ระดับใกล้ 18,000 คน เหมือนในปี 2550 เพราะแนวทางนี้จะทำให้ภาษีจากซูเปอร์ริชกลับไปแตะหลักแสนล้านดอลลาร์อีกครั้ง และนี่อาจจะเป็นแนวทางที่ได้ผลมากกว่าการเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิกคลับคนรวยที่เรียกว่า “ภาษี” เพิ่มขึ้น

เพราะการปรับขึ้นภาษีคนรวย แม้จะทำให้เก็บเกี่ยวเม็ดเงินส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากพอที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณมหาศาลของสหรัฐ อีกทั้งไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ให้กลับมาเติบโต และนำพาประเทศให้ผ่านพ้นความยากลำบากได้อย่างแท้จริง เป็นเพียงการเปลี่ยนบทว่าใครจะเป็นคนจ่าย

นอกจากนี้ รัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องภาษีจากต้นเหตุมากกว่า โดยหนึ่งในปัญหาที่ถูกมองข้าม คือ การเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งสะท้อนกรณีที่บัฟเฟตต์จ่ายภาษีเพียง 17.4% ของรายได้ ซึ่งเขามองว่าไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับพนักงานในบริษัทเบิร์กไชร์ แฮทอะเวย์ ที่จ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า

บัฟเฟตต์มีรายได้ส่วนใหญ่จากการลงทุน โดยเฉพาะในรูปของเงินปันผลและผลตอบแทนจากการลงทุนที่เสียภาษีในอัตรา 15% แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่รายได้เหล่านี้ถูกเก็บภาษีในสถานะเงินได้นิติบุคคลที่เรียกเก็บจากบริษัทไปชั้นหนึ่งแล้ว ในอัตรา 35% ดังนั้น เมื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ที่ได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนจากการลงทุนอีก 15% จึงเท่ากับมีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลใกล้ระดับ 45%

นี่เป็นภาระภาษีในระดับที่สูง และทำให้สหรัฐไม่สามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ ในปี 2546 สภาคองเกรสจึงได้อนุมัติให้ลดอัตราภาษีในส่วนของเงินปันผลและผลตอบแทนจากการลงทุนลง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เลือกปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ต่อพนักงานและผู้บริโภคมากกว่า

ข้อเสนอของบัฟเฟตต์กลับเรียกร้องให้เพิ่มอัตราภาษีในทิศทางที่อาจทำให้สหรัฐไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เพราะจะทำให้รายได้จากการลงทุนถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 30% จากอัตรา 15% ในปัจจุบัน ขณะที่อัตราภาษีเงินได้จากการลงทุนของบริษัทจะเพิ่มเป็น 54.5% จากเดิม 44.75% ซึ่งย่อมกระทบต่อการริเริ่มธุรกิจหรือขยายธุรกิจ เมื่อการลงทุนในสหรัฐลดน้อยลง ก็เท่ากับค่าแรงขยายตัวลดลง และกระทบต่อพนักงานในท้ายที่สุด

ทั้งที่การปฏิรูปภาษีที่สมเหตุสมผลควรจะดำเนินการในส่วนหนึ่งส่วนใดระหว่างภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือเก็บภาษีในส่วนเงินปันผลและผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ใช่ทำทั้งสองอย่าง ซึ่งระบบภาษีของสหรัฐนั้นแตกต่างกับหลายชาติในยุโรปที่จะเรียกเก็บภาษีอย่างใดอย่างหนึ่ง

อีกประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ คือ คำว่า “รวย” ของบัฟเฟตต์ อาจกระทบชิ่งถึงคนชั้นกลางค่อนไปทางสูงตามนิยามของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่นับรวมบุคคลที่มีรายได้เริ่มต้น 200,000 ดอลลาร์ หรือ 250,000 ดอลลาร์ กรณีแต่งงานแล้ว

เพราะจากข้อมูลในปี 2552 ผู้เสียภาษีที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ มีอยู่ 237,000 คน จ่ายภาษีรวมประมาณ 1.78 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่มหาเศรษฐีที่มีรายได้เกิน 10 ล้านดอลลาร์ มีอยู่แค่ 8,274 คน จ่ายภาษีรวมประมาณ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ 200,000 ดอลลาร์ขึ้นไป มีมากถึง 3.92 ล้านคน จ่ายภาษีรวมกันมากถึง 4.34 แสนล้านดอลลาร์

หากข้อเสนอเพิ่มภาษีและลดการหักลดหย่อนครอบคลุมถึงคนกลุ่มที่มีรายได้เกินกว่า 200,000 ดอลลาร์ ก็จะจุดคำถามตามมาว่า นี่เป็นแนวทางที่ยุติธรรมแล้วหรือ เพราะความร่ำรวยของเศรษฐีอย่างบัฟเฟตต์มาจากการลงทุน แต่สำหรับคนชั้นกลางเหล่านี้ พวกเขาอาจมีรายได้หลังหักภาษีสูงกว่าเกณฑ์เพียงไม่มาก หรืออาจทำมาหาได้เงินแตะ 250,000 ดอลลาร์ได้เพียงไม่กี่ปีหลังจากทำงานหนักมาตลอดชีวิต

ประเด็นเรื่องช่องโหว่จากการบริจาคเงินเพื่อองค์กรการกุศลเป็นอีกหนึ่งปมที่ควรพิจารณา เพราะสำหรับมหาเศรษฐีพันล้านอย่างบัฟเฟตต์ การหักลดหย่อนภาษีจำนวนมากมาจากการบริจาคเงินก้อนโตให้องค์กรการกุศล ในขณะที่คนชั้นกลางหรือคนชั้นกลางระดับบนไม่สามารถทำได้ แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้เรียกร้องให้ปรับเกณฑ์หักลดหย่อนภาษีส่วนนี้ให้น้อยลง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้บางคนตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของบัฟเฟตต์ที่ออกมาป่าวร้องให้เก็บภาษีคนรวยเพิ่ม
แทนที่บัฟเฟตต์จะมอบทรัพย์สินมหาศาลให้กับองค์กรการกุศลอย่างมูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกตส์ เขาสามารถยกเงินก้อนนี้ให้สรรพากรสหรัฐได้ ซึ่งน่าจะนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเขากังวลกับการจ่ายภาษีที่น้อยเกินไป เหตุใดบัฟเฟตต์จึงไม่เลือกแนวทางนี้

ที่จริงแล้วซูเปอร์ริชอาจไม่ได้ตระหนกกับอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น เพราะข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมเงินมหาศาลในตู้เซฟที่เก็บเกี่ยวมาได้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่จะได้รับผลกระทบมีเพียงเงินที่ได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนับจากนี้

เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ที่อัตราภาษีใหม่ไม่ได้ส่งผลสะเทือนอะไรนัก เพราะไม่สามารถแตะต้องความร่ำรวยที่สะสมมาตลอดหลายปี ทั้งที่ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเสียภาษีในอัตราต่ำมาก บัฟเฟตต์พูดถึงประโยชน์ที่คนรวยได้รับจากอัตราภาษีที่ต่ำมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่กลับต้องการจ่ายเพิ่มในส่วนของอนาคต เท่ากับไม่ได้รับผิดชอบบาปที่ก่อไว้ในอดีต

ขณะที่เบิร์กไชร์ แฮทอะเวย์ ยังมีข้อพิพาทกับสรรพากรสหรัฐที่เกี่ยวกับการจ่ายภาษีในช่วงปี 2545-2552 โดยสรรพากรระบุว่า เบิร์กไชร์ฯ ติดค้างภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐอยู่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์

จึงมีคำถามว่า หากบัฟเฟตต์อยากเพิ่มเงินภาษีให้รัฐ ทำไมไม่ควักจ่ายเงินจำนวนจิ๊บๆ ในหีบสมบัติของเบิร์กไชร์ฯ หลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้สรรพากรไปเสีย หรือไม่อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ คือ บัฟเฟตต์เลือกที่จะรับผลตอบแทนในรูปของรายได้ปกติ เพื่อนำไปคำนวณภาษีในอัตราเท่าๆ กับคนอื่น ไม่ใช่อยู่ในรูปของเงินปันผลหรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่เสียภาษีในอัตราต่ำมาก

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องให้บัฟเฟตต์เปิดเผยว่าในแต่ละปีเขาขอคืนภาษีเท่าไร เพื่อความโปร่งใสในฐานะผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่กระทบผู้คนจำนวนมาก เพราะคนอเมริกันควรรับทราบข้อมูลเพื่อตัดสินใจ

อีกหนึ่งความจริงที่ซ่อนอยู่หลังฉาก คือ บัฟเฟตต์ลงทุนในธุรกิจประกันชีวิต 6 แห่ง อาทิ GEICO ที่ทำกำไรปีละไม่น้อย และนับเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของอาณาจักรเบิร์กไชร์ แฮทอะเวย์

หากใครสักคนมีทรัพย์สินมหาศาล และไม่อยากให้ลูกหลานถูกเรียกเก็บภาษีมรดกหลังจากที่ตัวเองลาโลกไป การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะเมื่อเจ้าของทรัพย์สินตายไปแล้ว บริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยเงินส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี และราว 10% ของรายได้ในอุตสาหกรรมประกันภัยมีความเกี่ยวข้องกับภาษีมรดก

ความหมายระหว่าบรรทัด คือ อย่างน้อยๆ บัฟเฟตต์ที่ออกมาตีปี๊บให้เก็บภาษีจากคนรวย ก็รู้อยู่เต็มอกว่า ยังมีอีกสารพัดวิธีที่บรรดาเศรษฐียังใช้เลี่ยงภาษีได้ ทำไมจึงไม่เสนอให้อุดช่องโหว่เหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม การรื้อระบบภาษีของสหรัฐเป็นเรื่องที่อเมริกันชนต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนกฎของบัฟเฟตต์ หรือฝ่ายที่ยังสงสัยว่านี่จะเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจสหรัฐจริงหรือไม่ แม้แต่ฝ่ายที่ยังคลางแคลงกับท่าทีของบัฟเฟตต์ก็ตาม

แต่อย่างน้อยบัฟเฟตต์ก็มีคุณูปการในฐานะผู้จุดประกายให้สังคมตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนให้ระบบภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสะท้อนว่าแม้แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐ ก็ยังไม่พบสูตรสำเร็จภาษีที่ดีที่สุด และน่าจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากซีเอ็นเอ็น วอลล์สตรีต เจอร์นัล desmoinesregister.com ฟอร์จูน ซีเอ็นบีซี ซีเอ็นเอสนิวส์ เดลีมาร์เก็ตส์ดอทคอม สำนักงานสรรพากร (IRS) วอชิงตัน ไทม์ส