ผลประโยชน์จากการส่งออก “แรงงานไทย” คือขุมทรัพย์มหาศาลของบรรดาบริษัทนายหน้าหาคนงาน ตามออเดอร์ที่แต่ละประเทศต้องการปีละกว่า 2 หมื่นคน
แม้จะสร้างรายได้เข้าประเทศนับหมื่นล้านบาท แต่ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องก็คือ มีนายหน้ากิน “หัวคิว” จากผู้ใช้แรงงานที่ต้องการออกไปขุดทอง โดยเฉพาะแหล่งที่ยังจำกัดโควตานำเข้าแรงงานอย่างประเทศ “อิสราเอล”
ล่าสุด นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่า หลายบริษัทเรียกเก็บค่าหัวคิวจากผู้ใช้แรงงานล่วงหน้าถึง 3 แสนบาทต่อคน บางบริษัทจัดหนักเรียกเก็บถึง 4 แสนบาท
เงินกินเปล่าก้อนนี้ถือว่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นถึงสองเท่า ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ซึ่งมาจากภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำพู อุดรธานี ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบดอกเบี้ยขั้นต่ำเดือนละ 1% มาจ่ายล่วงหน้าเพื่อแลกกับอนาคตที่ดีกว่า แต่เมื่อกลับจากอิสราเอลก็มีเหลือเงินเก็บจริงๆ ไม่เท่าไหร่ ขณะที่บางคนต้องเสียภรรยาไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ไม่เพียงเท่านั้น นายเผดิมชัยยังเปิดไฟเขียวให้มีการเรียกสอบข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่อธิบดีลงมาจนถึงผู้อำนวยการกอง ที่ปล่อยให้มีเหตุการณ์รีดเลือดปูเกิดขึ้น
ล่าสุดได้มีคำสั่งย้าย “บิ๊กลอต” ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการลงนามในคำสั่งเพิ่มโควตาแรงงานไปประเทศอิสราเอล โดยโยกจากงานประจำในส่วนกลางไปอยู่ภาคใต้ ที่ฮือฮาที่สุดคือ คำสั่งย้ายนายสิทธิ สุโกศล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานแรงงานไทยไปต่างประเทศ (สรต.) และนางกนกวรี วงศาโรจน์ หัวหน้าฝ่ายพิจารณาอนุญาตฯ ไปทำงานในตำแหน่งอื่นชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีนายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าหัวคิวด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีการย้ายข้าราชการระดับกลาง ซึ่งเป็นผู้เซ็นอนุมัติจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลประมาณ 20-30 คน ไปทำงานสำนักงานจัดหางานจังหวัดสุราษฎร์ธานี และย้ายข้าราชการระดับล่างสังกัดกรมการจัดหางาน ที่คาดว่าจะมีส่วนรู้เห็นอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ พบว่าบิ๊กข้าราชการกลุ่มดังกล่าว นอกจากไม่แก้ปัญหาค่าหัวคิวที่คาราคาซังแล้ว ยังได้เซ็นอนุมัติคำสั่งออกโควตาแรงงานไปอิสราเอล “ลอตใหม่” ถึง 2,500 คน เอื้อให้บริษัทจัดหางานชักประโยชน์จากผู้ใช้แรงงานคิดเป็นเงินกว่า 750 ล้านบาท เป็นการรวบรัดอนุมัติโดยไม่ดูข้อเท็จจริงเรื่องความเดือดร้อนของแรงงาน
ปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจค้าแรงงานไปยังประเทศอิสราเอลจำนวน 38 แห่ง ส่งแรงงานไทยไปทำงานแล้ว 3,479 คน ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการเกษตรและก่อสร้าง ทำอยู่ตามสัญญาประมาณ 1-2 ปีแล้วก็กลับ
แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานกล่าวว่า บริษัทจัดหางานไปประเทศอิสราเอล มีการเรียกเงินจากผู้ใช้แรงงานโดยอ้างว่าต้องนำไปจ่ายค่าโควตาให้ผู้ใหญ่ในกระทรวง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว นายเผดิมชัยมีการออกนโยบายชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาค่าหัวคิวแรงงาน ทำให้นายเผดิมชัยต้องมีการสอบสวนเรื่องนี้ ไล่ตั้งแต่ผู้บริหารบริษัทจนถึงผู้ใหญ่ในกรมการจัดหางาน
“บริษัทที่ถูกเรียกมาสอบยอมรับว่าเก็บค่าหัวคิวแรงงานจริง 2.8 แสนบาทต่อราย และจากการสอบถามจากญาติของผู้ใช้แรงงานที่ไปอิสราเอล บางรายถูกเก็บถึง 3 แสนกว่าบาท ทั้งที่ควรจ่ายจริงๆ แค่ไม่เกิน 1.3 แสนบาทเท่านั้น ทำให้ต้องกู้เงินนอกระบบมา ซึ่งบางบริษัทก็เป็นนายหน้าให้กู้เงินเองด้วย” แหล่งข่าวระบุ
วิธีที่บริษัทจัดหางานเหล่านี้ใช้คือขอให้เจ้าหน้าที่ออกใบการันตีโควตาแรงงาน เพื่อนำไปขอวีซ่าจากทางสถานทูตอิสราเอล ซึ่งถูกมองว่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงแรงงาน อาจมีการรู้เห็นเป็นใจในการออกใบการันตีดังกล่าว และมีนายหน้าที่อยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้ 3-4 กลุ่ม
“ถ้าผู้ใช้แรงงานไม่ติดต่อผ่านบริษัทจัดหางานรายใหญ่เหล่านี้ ก็หมดสิทธิ์ที่จะได้รับโควตาไปอิสราเอล” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ยอมจ่ายค่าหัวคิดแพงๆ เพราะมองถึงอนาคตของครอบครัวที่ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทในอิสราเอลให้เงินเดือนสูงกว่ารายได้จากการทำนาทำไร่ แต่บริษัทจัดหางานก็ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดว่า เมื่อแรงงานไปแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม
ปัจจุบัน แรงงานไทยได้รับเงินเดือนจากบริษัทในอิสราเอลที่ 36,900 บาท ถูกหักค่าภาษีและประกันสังคมต่างๆ ประมาณ 10% และถูกหักค่าใช้จ่ายที่พักอีก 20% รวมแล้วเป็น 30% เหลือเงินเดือนจริงๆ แค่ 20,000 กว่าบาทเท่านั้น และเมื่อต้องชำระคืนเงินกู้นอกระบบทุกเดือนด้วยอีก สุดท้ายเมื่อครบกำหนดทำงานก็เหลือเงินกลับบ้านไม่มากอย่างที่คิด
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นายเผดิมชัยยังจะมีการแก้ปัญหาเรื่องบริษัทที่ทำธุรกิจ “พิสูจน์สัญชาติแรงงาน” มีการเรียกเก็บค่าหัวคิวแพงมากครั้งละ 5,000 บาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงที่กระทรวงแรงงานเรียกเก็บไม่กี่ร้อยบาท จึงเชิญตัวแทนจาก 5 บริษัทมาชี้แจง
เนื่องจากปัจจุบันมีภาคเอกชนไทยที่ประกอบธุรกิจต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ต้องนำเข้าจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และเวียดนาม เมื่อต้องจ่ายค่าพิสูจน์สัญชาติในราคาแพง ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น
โดยมีการตรวจพบว่า บริษัทพิสูจน์สัญชาติแรงงานแห่งหนึ่ง อาจโยงใยกับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงแรงงาน แต่ไม่มีหลักฐานสาวไปถึง เป็นเพียงการถือหุ้นผ่านตัวแทน แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะไปตกอยู่กับนักการเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงแรงงานยังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่า เมื่อมีการรับแรงงานต่างด้าวจำนวนมากแล้ว ก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบถึง 11 หน่วยงาน ทำให้ต้องจ่ายค่ารับรองอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
ขณะที่ค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่ง จะถูกเรียกเก็บไปยังแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ซึ่งปกติได้รับเงินเดือนแค่เดือนละ 6,000 บาท แต่กลับต้องจ่ายค่าพิสูจน์สัญชาติถึง 5,000 บาท หากไม่จ่ายก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ เช่น เมื่อเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่ชายแดนไทย-พม่า ก็ต้องนั่งรอถึง 3 วัน แต่ถ้าจ้างบริษัทพิสูจน์สัญชาติเหล่านี้ก็จะได้รับอนุมัติทันที
“ตอนนี้เกิดขบวนการพิสูจน์สัญชาติด้วยการเรียกรับค่าหิวคิว ทำให้ผู้ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่กล้าออกมาขึ้นทะเบียนเพราะกลัวเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่แรงงานก็มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย ซึ่งกระทรวงต้องการทำลายวงจรอุบาทว์นี้” แหล่งข่าวระบุ
ด้านนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาค่าหัวคิวแรงงานไปประเทศอิสราเอลจะใช้วิธีการเซ็นบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูระหว่างสองประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายแรงงานให้มากที่สุด ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเกิน 1.2-1.3 แสนบาทต่อครั้ง ไม่ใช่สูงถึง 3 แสนบาทอย่างในขณะนี้
นอกจากนั้น จะให้ทูตแรงงานในต่างประเทศช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ให้ถูกบริษัทหรือนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงแรงงานจังหวัดที่ต้องตรวจสอบพื้นที่ตัวเองด้วยว่า มีการเรียกหัวคิวราคาแพงหรือไม่ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคอีสาน และจังหวัดที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม
“จริงๆ แล้วทูตแรงงานของเราจะอยู่ในต่างประเทศคราวละ 2 ปี แต่เรากำลังพิจารณาอยู่ว่าถ้าจะให้สั้นลงได้หรือไม่ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงแรงงานจังหวัดที่ไม่อยากให้อยู่นานจนเกิดการเรียกรับผลประโยชน์ขึ้น” นายสง่าระบุ