ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐตั้งงบปี ’56 จ่ายดอกเบี้ยบวกเงินต้น 1.82 แสนล้าน เฉพาะ 2 รัฐบาล – 3 พ.ร.ก.เงินกู้ ดอกเบี้ยบาน 2.8 หมื่นล้าน

รัฐตั้งงบปี ’56 จ่ายดอกเบี้ยบวกเงินต้น 1.82 แสนล้าน เฉพาะ 2 รัฐบาล – 3 พ.ร.ก.เงินกู้ ดอกเบี้ยบาน 2.8 หมื่นล้าน

18 มีนาคม 2012


แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโยกภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท จากกระทรวงการคลังไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหารจัดการ แต่ภาระหนี้ของรัฐบาลไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

โดย 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ ประกอบด้วยสำนักงบประมาณ ,กระทรวงการคลัง ,สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และ ธปท. ร่วมกันจัดทำค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2556 พบว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีภาระต้องคืนทั้งเงินต้น จ่ายดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจากการกู้เงินเบ็ดเสร็จ 182,000 ล้านบาท

ยอดจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าว ถือว่าลดลงจากปีงบประมาณ 2555 ประมาณ 39,000 ล้านบาท หรือลดลง 17% สาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากการโยนภาระจ่ายต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้แบงก์ชาติดูแล เหมือนการซุกหนี้ไว้ใต้พรม เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงของคนทั้งประเทศไม่ได้ลดลง แต่อาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ จากการเปิดช่องให้กู้เงินใหม่มาใช้จ่ายมากขึ้น

เมื่อตรวจสอบรายละเอียด “ไส้ใน” ของยอดชำระหนี้ทั้งหมดในปี 2556 จำนวน 180,000 ล้านบาทดังกล่าว พบว่าเป็นภาระจากเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อลงทุนบริหารจัดการน้ำของประเทศวงเงิน 350,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเริ่มจ่ายดอกเบี้ยในปีหน้าคิดเป็นวงเงินถึง 11,600 ล้านบาท

หากคิดรวมกับภาระของการกู้เงินตาม พรก.กองทุนประกันภัยพิบัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องเริ่มจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในปีหน้าอีก 2,500 ล้านบาท เท่ากับว่าในปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์สร้างภาระดอกเบี้ยในระบบงบประมาณขึ้นมาใหม่เป็นเม็ดเงินถึง 14,100 ล้านบาท โดยยังไม่ต้องคิดถึงการชำระคืนต้นเงินกู้ เพราะเพิ่งเริ่มโครงการเป็นปีแรก จึงไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะชดใช้เงินต้นได้หมด

แน่นอนว่า การใช้เงินกู้ในจำนวนที่สูงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ ต้องแลกมาด้วยภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ส่งผลให้ 4 หน่วยงานที่เป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ต้องปรับตัวเลขพยากรณ์ระดับหนี้สาธารณะในปีหน้าให้สูงขึ้นเป็นไม่เกิน 55% ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2555 ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมต.คลัง เคยระบุว่า ยอดหนี้สาธารณะไม่น่าจะเกิน 50% ของจีดีพี

โดยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2555 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการปรับขึ้นเพดานก่อหนี้ เมื่อ ครม. มีมติปรับเพิ่มวงเงินการก่อหนี้ของกระทรวงการคลังประจำปีงบประมาณ 2555 ใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 447,000 ล้านบาทเป็น 1,180,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 400,000 ล้านบาท ,การกู้เงินตามพ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ,พ.ร.ก.กองทุนประกันภัยพิบัติ 50,000 ล้านบาท และการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่รัฐวิสาหกิจอีกกว่า 300,000 ล้านบาท

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีการประเมินว่า เมื่อ ครม. อนุมัติแผนการปรับวงเงินก่อหนี้ดังกล่าว จะทำให้มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับ 48.6% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 9.3% ถือว่ายังไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังรายงาน ครม. ว่า ในปี 2556 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50.4% ของจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณจะอยู่ที่ 7.6% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าตัวเลขหนี้สาธารณะของสำนักงบประมาณ ซึ่งได้ระบุเอาไว้ในเอกสารการจัดทำงบประมาณปี 2556 ครั้งล่าสุดว่า หนี้สาธารณะจะอยู่ไม่เกิน 55% ของจีดีพี

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการใช้สมมุติฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยของ สบน. อ้างอิงดัชนีทางเศรษฐกิจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขณะที่สำนักงบประมาณ อ้างอิงตัวเลขเศรษฐกิจจากสภาพัฒน์ อาจทำให้สัดส่วนของหนี้ที่คำนวณออกมาไม่เหมือนกัน

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการประชุม ครม. ครั้งที่ผ่านมา มีการรุมทักท้วงการใช้งบประมาณเงินกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ว่าอาจเกิดความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายในเดือน มิ.ย. 2555 จำนวน 246 โครงการ วงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง มิได้มีการเสนอรายละเอียดความพร้อมของโครงการมาให้ ครม. อนุมัติ บางโครงการมีแค่แผ่นกระดาษเพียง 1-2 หน้า แต่ต้องการใช้วงเงินหลายร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้บริหารสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณซึ่งอยู่ในที่ประชุม ครม. ได้ทักท้วงว่า การดำเนินการอย่างนี้ไม่ถูกต้อง และจะเป็นบรรทัดฐานให้แก่โครงการที่ใช้เงินกู้ก้อนนี้ต่อไปในอนาคต ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาเบรกว่า ขอให้หน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบในการลงทุน ไปดำเนินการให้ถูกขั้นตอน โดยเสนอรายละเอียดไปให้สำนักงบประมาณพิจารณาก่อน

“ครั้งนี้ผ่อนผันให้เพราะถือเป็นโครงการเร่งด่วน ต้องทำภายในไม่กี่เดือนนี้ แต่ต่อไปขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างถูกต้องด้วย” แหล่งข่าวอ้างความเห็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในที่ประชุม ครม.

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ พ.ร.ก.เงินกู้ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่ในสมัยรัฐบาล “ประชาธิปัตย์” ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช เป็น รมต.คลัง ก็เคยออก พ.ร.ก.เงินกู้โครงการไทยเข้มแข็ง วงเงินถึง 400,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

เพียงแต่โครงการไทยเข้มแข็งเป็นการกระตุ้นการลงทุนในระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการภาครัฐ ที่เป็นการ “เหวี่ยงแห” ไปทุกกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่ พ.ร.ก.เงินกู้ของรัฐบาลชุดนี้ มุ่งเน้นไปที่โครงการป้องกันปัญหาอุทกภัยเป็นหลัก

โดยในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลมีภาระต้องตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมการกู้เงินใน พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งของรัฐบาลก่อน จำนวนถึง 14,200 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบแล้วถือเป็นระดับที่ไม่มาก-ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ส่งผลให้เบ็ดเสร็จแล้ว 2 รัฐบาล คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ได้สร้างภาระเงินต้นจากกการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ รวมกัน 800,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ที่ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายในปีหน้าแค่ปีเดียวถึง 28,300 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่การชำระคืนเงินต้นถือว่าน้อยมาก โดยในปีงบประมาณ 2555 มีการจ่ายเงินต้นเพียง 46,000 ล้านบาท และปี 2556 จ่ายเงินต้นอีก 48,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินหนี้สาธารณะกลับเพิ่มอย่างรวดเร็วขึ้นทุกปี จากปี 2554 อยู่ที่มากกว่า 4.2 ล้านล้านบาท และน่าจะขยับเข้าใกล้ระดับ 5 ล้านล้านบาทในปีนี้

ถ้ายึดตัวเลขของสภาพัฒน์ที่ประเมินว่า มูลค่าจีดีพีในปี 2555 จะอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท และปี 2556 จะอยู่ที่ 12.5 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า ถ้าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับเฉลี่ย 50-55% ของจีดีพี จะคิดเป็นมูลหนี้สาธารณะสูงสุดที่ 6.25-6.8 ล้านล้านบาททีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ประเทศยังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้จีดีพีเติบโตสูงต่อเนื่อง ก็คงไม่น่าเป็นห่วงความสามารถในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่หากเศรษฐกิจไทยเกิดชะลอจากปัจจัยที่ไม่คาดคิดเมื่อไหร่ โอกาสที่รัฐบาลจะสั่นสะเทือนจากวิกฤตหนี้เหมือนในยุโรปและละตินอเมริกาก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

โครงการประชานิยมยอดพุ่ง สำนักงบฯ เปิดช่องขาดดุล 518,000 ล้านบาท

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดวงเงินงบประมาณปี 2556 เบื้องต้นไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 จำนวน 20,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 1.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.4% และคิดเป็นสัดส่วน 78.5% เมื่อเทียบกับวงเงินงบประมาณทั้งหมด ซึ่งถือว่ารายจ่ายประจำสูงกว่าปีก่อน

ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนมีจำนวน 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28,400 ล้านบาทหรือ 6.5% คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของวงเงินงบประมาณรวม

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2556 มาจากฐานรายได้ที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่ารัฐบาลจำเป็นจะตั้งงบประมาณแบบ “ขาดดุล” จำนวน 300,000 ล้านบาท จำเป็นต้องกู้เงินมาโปะอีกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้เปิดเงื่อนไขไว้ว่า หากรัฐบาลเห็นว่าการกู้เงินชดเชยการขาดดุล 300,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ก็ยังมีเพดานให้รัฐบาลหายใจได้ถึง 518,000 ล้านบาท โดยไม่ขัดกับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะที่เปิดช่องไว้ให้ทำได้

ทั้งนี้ เมื่อสำนักงบประมาณ “กางบัญชี” โครงการจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ในปี 2556 พบว่ามีจำนวน 16 รายการ ต้องใช้เงินรวมกันสูงถึง 550,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อแท็ปเล็ตให้เด็ก ป.1, การลงทุนรถไฟฟ้า, การยกระดับราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่่านี้ผูกพันงบประมาณไปจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ถ้าหันมาดูซีกการจัดเก็บ “รายได้” เพื่อมาจัดทำงบประมาณ ก็จะพบว่ากรมภาษีต่างต้องการรีดผลงานกันอย่างเต็มที่ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากภาวะค่าครองชีพและราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น

กระทรวงการคลังมีการประเมินศักยภาพด้านการหารายได้ในปี 2556 ไว้ค่อนข้างสวยหรู โดยกรมสรรพากรตั้งเป้าว่าจะเก็บรายได้ปีหน้าถึง 1.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไปลงมาต่ำกว่า 30%

ด้านกรมสรรพสามิต ตั้งเป้า 412,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% และกรมศุลกากรตั้งเป้ารีดรายได้ 115,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% ที่เหลือคือการจัดส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนั้น 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ยังร่วมกันประเมินตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2556 ไว้ด้วยว่า จะขยายตัวประมาณ 4-5% ลดลงจากปี 2555 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.5-6.5% ขณะที่มูลค่าจีดีพีของประเทศไทยจะทะยานไปแตะหลัก 12.5 ล้านล้านบาท

โดยยอดการส่งออกยังเป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย คาดว่าปีหน้าส่งออกจะทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 306,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นอัตราการขยายตัว 16%

ขณะที่การนำเข้าพุ่งขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียงกับยอดส่งออก อยู่ที่ 298,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 3.8%

ส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยยังขับเคลื่อนไปได้ เพราะรัฐบาลมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการกู้เงินมาลงทุน สิ่งที่ต้องจับตาคือช็อตต่อไปว่าจะมีการ “ต่อยอด” การปักเสาเข็มการลงทุนของภาคเอกชนตามมาหรือไม่ จุดนี้ถือเป็นไฮไลต์สำคัญในการสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ

หากทำได้เช่นนี้ เท่ากับว่าการกู้เงินนั้นสัมฤทธิ์ผล แม้ว่ายอดหนี้สาธารณะจะสูง แต่ถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ในระดับ 5% ก็เป็นตัวการันตีว่ารัฐบาลจะมีรายได้มาชำระคืนแน่นอน และแม้เพดานหนี้สาธารณะจะพุ่งไปถึง 55% ของจีดีพี แต่ประเทศไทยคงไม่ “วัดรอยเท้า” ละตินอเมริกา

ยกเว้นแต่ว่า การปั๊มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างไม่มีคุณภาพ แค่สร้างประชานิยมสมบูรณ์แบบ และโครงการแก้ปัญหาน้ำเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น ทำให้งบประมาณลงไปไม่ถึงรากฐานเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นจุดอันตราย เพราะนั่นหมายความว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะล้มละลาย