ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวนาพิจิตรเข็ดจำนำข้าว สภาพคล่องวิกฤติ ประกาศ “ประชานิยมของรัฐบาลนี้มันอัปยศ”

ชาวนาพิจิตรเข็ดจำนำข้าว สภาพคล่องวิกฤติ ประกาศ “ประชานิยมของรัฐบาลนี้มันอัปยศ”

21 มกราคม 2014


ชาวนาพิจิตรประท้วง จำนำข้าวนาปีฤดูผลิต 2556/57 ยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล
ชาวนาพิจิตรประท้วง จำนำข้าวนาปีฤดูผลิต 2556/57 ยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล

เหตุการณ์การออกมาประท้วงรัฐบาลของชาวนาในหลายๆ จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพิจิตรสำหรับกรณีการทวงเงินจากการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2556/57 ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ เนื่องจากเงินที่ควรจะได้รับจากโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังมีเกษตรกรอีกกว่าล้านรายที่ยังไม่ได้เงินจากรัฐบาล ชาวนาจึงอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ที่ได้ลงพื้นที่ จ.พิจิตร เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ได้รายงานว่า กลุ่ม “ฅนทำนา จังหวัดพิจิตร” ได้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลกรณียังไม่ได้เงินจากการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2556/57 ณ บริเวณสี่แยกโพธิ์ไทรงาม อ.บึงนาราง จ.พิจิตร โดยการปิดทางหลวงหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก บริเวณสี่แยกดังกล่าว โดยชาวนากลุ่มนี้ประกาศจุดยืนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ที่ออกมาประท้วงนั้นเป็นปัญหาความเดือดร้อนและยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร กลุ่ม “ฅนทำนา จังหวัดพิจิตร” มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างชัดเจนว่าจะรับผิดชอบหรือหาเงินมาให้ชาวนาทั้งหมดที่เหลือได้อย่างไรและเมื่อไร

นายประกาศิต จำรัส แกนนำของกลุ่ม “ฅนทำนา จังหวัดพิจิตร” ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าว่า ชาวนาส่วนใหญ่รู้แล้วว่ารัฐบาลไม่มีเงินมาจ่าย และกำลังรอฟังผลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่ารัฐบาลจะสามารถกู้เงินมาให้ชาวนาได้หรือไม่ ส่วนการชุมนุมประท้วงยังจะคงมีต่อไปจนกว่าจะได้ฟังคำแถลงจากรัฐบาล และพร้อมจะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาล

“เราไม่เชื่อรัฐบาลแล้ว โกหกมาหลายรอบแล้ว ทีละ 15 วัน โดยเปลี่ยนหน้าคนที่ออกมาให้ข่าวเรื่อยๆ G2G นี่คนฐานรากหญ้าเขาไม่รู้หรอกครับว่าแปลว่าอะไร แต่มึงเอาข้าวกูไป เงินกูต้องได้ ชาวนารู้อย่างเดียว”

นอกจากนี้ยังยอมรับว่าเข็ดกับโครงการจำนำข้าวและเคยหลงในประชานิยม “ไม่เอาแล้ว เข็ดแล้วครับ ในกลุ่มของพวกเราที่ชุมนุม ผมเป็นตัวแทนบอกได้เลยว่าเราไม่เห็นด้วยและเราไม่อยากได้ และเราไม่เอาแล้ว ทุกคนที่นี่เคยหลงในประชานิยม แต่วันนี้คำว่าประชานิยมของรัฐบาลนี้มันอัปยศ มันสร้างให้ชาวนารากหญ้าเป็นหนี้เป็นสินแทนรัฐบาลที่มันได้เงินของเราไป”

ส่วนชาวนาที่เป็นแกนนำในกลุ่มอีก 2 คน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลจริงๆ คือความชัดเจนเท่านั้นเอง เพราะว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออกมาบอกว่าจะจ่ายเงินจำนำข้าวครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2557 แล้วจนป่านนี้ก็ผิดสัญญาไปแล้ว

“ก็แค่ออกมาบอกผมก็พอว่าเงินไม่มี รู้ว่าเงินไม่มีแล้ว แล้วทำไมรัฐบาลไม่บอกผมล่ะว่าเงินไม่มี จะรอรัฐบาลใหม่อะไรก็ว่าไป อยากให้รัฐบาลออกมาพูดตรงๆ ชัดเจนมากกว่า ไม่มีก็บอก เพราะรอมาหลายเดือนแล้ว ถ้าไม่มีแล้วจะหาวิธีช่วยได้ไหม จะกี่ปีกี่เดือนกี่วันก็บอกมา พอไม่บอกก็ไม่ได้หาวิธีช่วย ตอนนี้ชาวนากู้นอกระบบกันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เดือน ตอนนี้ดอกจะท่วมเงินต้นอยู่แล้ว”

ชาวนาประท้วง-2

สภาพคล่องวิกฤติ ลามนายทุนปล่อยกู้และโรงรับจำนำ

ปัญหาสำคัญที่สุดที่เป็นแรงผลักดันให้ชาวนาออกมาชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ มีที่มาจากการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เงินที่เคยออมไว้ก็นำมาใช้กินใช้อยู่จนแทบจะไม่เหลือ ต้องพึ่งพาการกู้ยืม ในขณะที่ใครสามารถกู้ยืมในระบบ (ดอกเบี้ยต่ำ 7% ต่อปี) ได้ก็กู้กันไป แต่ใครที่กู้ในระบบไม่ได้ก็ต้องพึ่งพาการกู้นอกระบบ (ดอกเบี้ยสูงถึง 3% ต่อเดือน) นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังพบว่า ในบางพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์มีนายทุนเงินกู้นอกระบบที่ขาดสภาพคล่องเสียเอง เนื่องจากไม่มีเงินเข้า มีแต่เงินออก ทำให้ทางเลือกสุดท้ายของชาวนาคือการนำทรัพย์สินและของมีค่าไปเข้าโรงจำนำ

นายนพดล พึ่งวัฒนะ หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม “ฅนทำนา จังหวัดพิจิตร” ให้กล่าวถึงปัญหาสภาพคล่องในพื้นที่บริเวณ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ว่าชาวนาในบริเวณดังกล่าวเริ่มขาดเงินแล้ว ต้องพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะวงเงินกู้ในระบบเต็ม

อย่างไรก็ตาม นายนพดลกล่าวเสริมว่า ขณะนี้แม้แต่นายทุนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบยังพบกับปัญหาสภาพคล่องเสียเอง เนื่องจากมีชาวนาจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าวแล้วต้องมาพึ่งการกู้เงินนอกระบบ ในขณะที่การส่งดอกหรือผ่อนหนี้ของลูกหนี้ (ซึ่งก็คือชาวนา) ที่กู้เงินไปก่อนหน้านั้นก็แทบจะไม่มีใครส่งเงินมาเลย ส่งผลให้แม้แต่นายทุนเองก็เกิดปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีบางครอบครัวถึงกับต้องนำทรัพย์สินไปเข้าโรงรับจำนำเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องอีกด้วย

จากการให้สัมภาษณ์ของชาวนา 2 คน อายุ 49 และ 57 ปี จาก อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ มีที่ดินเป็นของตัวเองคนละ 60 ไร่ พบว่ามีปัญหาขาดสภาพคล่องในเขตดังกล่าวเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเกษตรกรเป็นอาชีพที่ต้องใช้เงินหมุนอยู่ตลอดเวลา ปกติก็แทบจะไม่มีเงินเก็บอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกรณีรัฐบาลยังไม่จ่ายเงินค่าข้าวยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น “เที่ยวแรก 7 วันได้ เที่ยวสอง 15 วันได้ มาเที่ยวนี้ 4 เดือนแล้วยังหาเงินไม่เจอเลย” ชาวนาวัย 49 ปี กล่าว

ในขณะที่กำลังให้สัมภาษณ์อยู่บนหลังรถกระบะคันใหม่ของชาวนาวัย 57 ปี ชาวนาคนดังกล่าวเล่าให้ฟังว่ารถกระบะคันใหม่นี้เพิ่งซื้อมาตอนที่ได้เงินจากการรับจำนำข้าวครั้งแรก ก็เอาเงินที่ได้ไปดาวน์ ซึ่งในช่วงนั้นมีโครงการคืนภาษีรถคันแรกอยู่พอดีก็เลยได้รถมาในราคาที่ถูกกว่าปกติ และเล่าว่าชาวนาในละแวกบ้านก็ซื้อรถใหม่กันทั้งนั้น แต่พอเงินจากการจำนำข้าวนาปี 56/57 เกิดความล่าช้า ยังไม่มีรู้ว่าจะหาเงินจากไหนมาผ่อนชำระ ซึ่งชาวนาคนดังกล่าวได้พูดเสริมว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับแค่ตัวเขาเท่านั้น

“ชาวนาทุกคนมีปัญหาในการหมุนเงินทั้งนั้น เป็นอาชีพที่มีเงินออมไม่ได้ กินไปใช้ไป เลยยากที่จะออม ชาวนาที่เห็นว่ามีที่เยอะๆ แล้วก็มีรถกระบะนี่มีภาระผ่อนกันอยู่ทั้งหมดครับ ไม่มีซื้อสดหรอก มันมาจากโครงการจำนำข้าวแล้วก็จากรถคันแรกด้วย นี่ใกล้ 6 เดือนแล้วยังไม่มีส่งเลย” ชาวนาวัย 57 ปี กล่าวเสริม

ชาวนาประท้วงพิจิตร-1

ลุยทำนาปรังแล้ว แม้ไม่แน่ใจว่าโครงการจำนำข้าวมีหรือไม่

แม้นาปี ฤดูการผลิต 2556/57 จะยังไม่ได้เงินจากรัฐบาล แต่ว่าชาวนาส่วนใหญ่ในจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ได้เริ่มปลูกข้าวนาปรังกันไปแล้ว และพร้อมที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 และจากการสำรวจความเห็น ชาวนาส่วนใหญ่ต่างเริ่มเชื่อว่าจะไม่มีการรับจำนำข้าวในรอบนาปรังที่กำลังจะมาถึงนี้ เพราะนาปีที่ผ่านการเก็บเกี่ยวมาหลายเดือนแล้วยังไม่ได้เงินจากรัฐบาลเลย

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวนาอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าโครงการจำนำข้าวในรอบนาปรัง 56/57 ยังจะคงมีต่อไป เนื่องจากมีมติของ กขช. ที่ให้ปรับราคารับจำนำเป็นตันละ 13,000 บาท ในขณะที่พบว่าบางพื้นที่ใน อ.โพทะเล จ.พิจิตร มีหนังสือจากทางราชการผ่านผู้ใหญ่บ้านให้เริ่มดำเนินการรับลงทะเบียนการปลูกข้าวนาปรังฤดู 56/57 แล้ว

ผู้สื่อข่าวได้ถามชาวนาวัย 75 ปีคนหนึ่งใน จ.พิจิตร ว่า ถ้าหากนาปรังรอบต่อไปไม่มีการรับจำนำข้าวแล้วจะทำอย่างไร ปลูกข้าวไปทำไมทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าถ้าไม่ขาดทุนก็ต้องไม่พอใช้แน่ๆ ซึ่งชาวนาคนนั้นก็ตอบกลับมาว่า “เป็นชาวนาก็ต้องปลูกข้าวสิ จะให้ไปทำอะไรล่ะ”

ต่อเรื่องนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 มีประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ซึ่งหลังการประชุมนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่ามีการรายงานผลการรับจำนำข้าวเปลือก2556/57 ได้ทะยอยจ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้วจำนวน 54,950 ล้านบาท และยังมีใบประทวนค้างอยู่ประมาณ 1 ล้านใบ คิดเป็นข้าวเปลือกประมาณ 10.4 ล้านตัน

“ตอนนี้ยังมีชาวนาที่รอรับเงินอยู่อีกพอสมควร มีการนำเรื่องนี้มาหารือในบอร์ดว่าเงินที่เหลือจะต้องมาจากรัฐบาลที่ต้องหาแหล่งเงินทุนให้ธ.ก.ส.มาจ่ายให้ชาวนา ซึ่งวันนี้คุณกิตติรัตน์ (ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)ได้ไปชี้แจงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน1.3 แสนล้านบาทได้หรือไม่ แต่ธ.ก.ส.ยืนยันว่าไม่ใช้เงินของธ.ก.ส.แต่อย่างใด แต่จะมีมาตรการดูแล บรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนา ซึ่งเป็นมาตรการที่ธ.ก.ส.ทำอยู่แล้ว เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้ การให้สินเชื่อหากจำเป็นต้องใช้ลงทุนจากที่ยังไม่ได้เงินค่าจำนำข้าว”นายสมศักดิ์กล่าว

ส่วนประเด็นการใช้ใบประทวนค้ำประกันเงินกู้นั้นทางธ.ก.ส.จะพิจารณาช่วยเหลือหรือไม่ ในเรื่องนี้ทีมผู้บริหารไม่มีใครให้คำตอบ ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า”เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาคือของจริง”

ผู้สื่อข่าวรายงานในวันเดียวกันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แถลงข่าวหลังการประชุมว่าไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้สำหรับโครงการรับจำนำข้าวตามที่นายกิตติรัตน์ได้มาชี้แจง เพราะเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกกต.

“นิพนธ์ พัวพงศกร” หนุนใช้ใบประทวนค้ำประกันกู้เงินจากแบงก์

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขียนบทความเพิ่มเติมจากเรื่อง “ทำไมชาวนายังไม่ได้เงินค่าจำนำข้าวครบตามที่รัฐบาลสัญญา: ใครต้องรับผิดชอบ?” ว่าหลังจากสื่อมวลชนตีพิมพ์บทความฉบับนี้ คุณบรรจง พิจิตรวิไลเลิศ ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัดของพิจิตรได้โทรศัพท์ถึงผมและเสนอวิธีแก้ปัญหาการหาเงินจ่ายมาให้ชาวนาซึ่งกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ผมสนับสนุนแนวคิดของคุณบรรจง ซึ่งมีข้อเสนอคือเสนอให้ชาวนานำใบประทวนไปกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยใช้ใบประทวนค้ำประกัน วิธีนี้เป็นการกู้ของชาวนา ไมใช่การกู้โดยรัฐบาล ใบประทวนเปรียบเสมือนใบรับสินค้าของรัฐบาล โดย “รัฐ” สัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาเต็มตามมูลค่าที่ระบุในใบประทวน ดังนั้นใบประทวนจึงเป็น “หลักประกันเงินกู้” ที่มีความแน่นอนว่าผู้ถือใบประทวนจะต้องได้รับเงินคืนเต็มจำนวนตามหน้าตั๋วจากรัฐอย่างแน่นอน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งก็ตาม รัฐบาลชุดไหนก็ตามย่อมต้องจ่ายเงินให้ผู้ถือใบประทวน (ยกเว้นว่ารัฐถังแตก) ส่วนการหาเงินมาไถ่ใบประทวนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อไป

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการ “ขอร้อง” ให้สถาบันการเงินหลายๆ แห่งทั้งรัฐและเอกชน ช่วยวางหลักเกณฑ์การให้กู้แก่ชาวนา รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนใบประทวน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ คุณบรรจงบอกว่าชาวนายินดีจ่ายดอกเบี้ยในระบบที่ถูกกว่าดอกเบี้ยนอกระบบ เวลานี้ชาวนาบางคนก็หันไปกู้เงินนอกระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายในบ้าน และเป็นเงินทุนการเพาะปลูก หากชาวนากลุ่มนี้กู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของเขาลง”

ส่วนชาวนาที่ไม่ต้องการจ่ายดอกเบี้ย ท่านก็คงต้องไปทวงถามจากเจ้าของนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดเอง เราไม่ควรโยนภาระดอกเบี้ยให้ผู้เสียภาษี ซึ่งต้องแบกภาระดอกเบี้ยของเงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่ใช้ในการจำนำข้าวอยู่ก่อนแล้ว

ขอเรียนว่าวิธีนี้เป็นการช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่การช่วยรัฐบาล การที่ชาวนาไม่ได้เงินค่าขายข้าวกว่าหนึ่งแสนล้านบาท และปัญหาอื่นๆโดยเฉพาะปัญหาการทุจริตอย่างกว้างขวางในโครงการจำนำข้าว ล้วนเกิดจากความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของตัวนโยบายจำนำข้าวและการบริหารจัดการของรัฐบาล นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ตัวนโยบายเองคือต้นตอของปัญหา รัฐบาลนี้เป็นผู้ก่อปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาเอง