ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.กาญจนา นิตยะ” นักอนุรักษ์ในเครื่องแบบข้าราชการ ปกป้องผืนป่าด้วยสองมือ

“ดร.กาญจนา นิตยะ” นักอนุรักษ์ในเครื่องแบบข้าราชการ ปกป้องผืนป่าด้วยสองมือ

29 กุมภาพันธ์ 2012


ดร.กาญจนา  นิตยะ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ดร.กาญจนา นิตยะ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การปลูกป่า เป็นกิจกรรมยอดฮิตในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างทำสถิติปลูกป่ากันนับพันนับหมื่นนับแสนนับล้านต้น แต่ส่วนใหญ่ป่าที่ปลูก เป็น “ป่าไร้เพื่อน” ไม่มีทั้งสัตว์ป่า สัตว์เล็ก สัตว์น้อย หรือพืชพันธุ์ต่างๆ

การปลูกต้นไม้อาจจะปลูกทดแทนกันได้ แต่การปลูกป่าที่มีชีวิตอาจจะทดแทนกันไม่ได้ทันที

เพราะคำว่า “ป่า” ไม่ได้หมายถึงแค่ผืนดินที่มีต้นไม้ขึ้นจำนวนมากๆ แล้วจะเรียกว่าป่า ป่าคือบ้านของสัตว์ป่า ของพืช ของพันธุ์ไม้ประจำถิ่นต่างๆ มากมาย ต้นไม้ที่ปลูกจึงเป็นได้แค่ป่าไร้เพื่อน ยิ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ ป่าจึงกลายสวนยางพารา สวนยูคาลิปตัส สวนข้าวโพด ฯลฯ ต่างถูกบุกรุกจนกลายพันธุ์ไปหมดแล้ว

ยิ่งปัจจุบันป่าต้นน้ำของไทยเหลือน้อยเต็มที วันนี้ยังมีป่าภูเขียว ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีอดีตหัวหน้าอุทยานหัวใจสีเขียว อย่าง “กาญจนา นิตยะ” ซึ่งได้รับรางวัล SVN Award เชิดชูเกียรติพิเศษ ประจำปี 2554 จากเครือขายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเมื่อเร็วๆนี้ (อ่าน ส.ศิวรักษ์ ให้สติผู้รับ SVN Awards…ไม่ต้องการ to be number one แต่ต้องการ to be quality หรือ to be the best ) เพื่อให้กำลังคุณค่าของนักอนุรักษ์ในเครื่องแบบข้าราชการในป่ากว้าง ต้องทำงานดุจอาสาสมัครของสังคมที่ปฏิบัติภารกิจโดยไม่จำกัดวันเวลา เพื่อปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ด้วยใจรักอย่างทุ่มเท นับว่าเป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชู ให้เป็นขวัญและกำลังใจของผู้ทำความดีโดยสังคมไม่มีโอกาสรับรู้

ตลอดเวลากว่าสี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการประกาศให้ภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีเจ้าหน้าที่ต้องสังเวยชีวิตไปแล้วหลายราย เนื่องจากป่าภูเขียวมีขนาดพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ของผืนป่าเขาใหญ่มรดกโลก มีเนื้อที่เกือบหนึ่งล้านไร่ในสามอำเภอของจังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชและมีสัตว์ป่าหายาก อันเป็นที่หมายปองของนักท่องไพร นับวันเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวต้องทำงานอย่างหนัก กว่าที่จะปกป้องผืนป่าที่สำคัญของประเทศแห่งนี้ไว้ได้

“ดร.กาญจนา นิตยะ” ปัจจุบันเป็นนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เล่าให้สำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงหัวใจของคนล่าฝัน ฝันที่จะอยากจะอนุรักษ์ผืนป่า อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า พันธุ์พืช และระบบนิเวศน์เพื่อคงสภาพป่าต้นน้ำเอาไว้ว่า

ไทยพับลิก้า : การรณรงค์ปลูกป่าสามารถทดแทนป่าที่ถูกทำลายได้มากน้อยแค่ไหน

เราไม่ปฏิเสธการปลูกป่าทดแทน แต่จริงๆ แล้วประเทศไทยป่าที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ทำไมเราไม่รักษา ให้มันคงสภาพเอาไว้ เราไปแห่ปลูกป่า โอเค ปลูกก็ปลูกไป เพราะจริงๆ เราปลูกไปอย่างไรก็ไม่สามารถปลูกทดแทนป่าที่มันเสียไป เพราะมีการตัด การถางทุกวัน

แต่กับป่าที่มันดีอยู่แล้ว ทำไมไม่ทุ่มเทกำลังของเรา ทำไมไม่เอางบประมาณบางส่วนไปดูแล จะรอให้มันโทรมแล้วค่อยปลูกหรือ ไม่เห็นด้วย เวลาป่ามันหายไป มันทดแทนกันไม่ได้และไม่มีทางเหมือนเดิม หรือจะเหมือนเดิมก็ใช้เวลานานมาก

อย่างพื้นที่ป่า แค่ทำถนนเข้าไปสภาพเดิมมันก็เปลี่ยน ถ้าเราไปเผาด้วย ไปปลูกสิ่งปลูกสร้าง และคนเข้าไปเที่ยวทุกวันๆ ยังไงๆ ความเป็นป่ามันค่อยๆ หายไป ยิ่งถ้าคนนิยม ยิ่งเปิดพื้นที่มากขึ้นก็ยิ่งถูกทำลาย

ไทยพับลิก้า : อะไรมันถูกทำลายบ้าง

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็น habitat loss (การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย) เท่านั้นแล้วแหละ การสูญเสียพื้นที่ ถ้าพื้นที่หายไป อะไรจะตามมา ชนิดพันธุ์มันก็ต้องเปลี่ยนแปลง บางอย่างหายไป บางอย่างเข้ามาใหม่ แต่สิ่งที่มาใหม่เทียบไม่ได้กับของที่มันหายไป

ไทยพับลิก้า : ทำไมการปลูกป่าไม่สามารถทดแทนป่าที่ถูกทำลายได้

โฮ… (ร้องแบบตกใจ) มันต้องไปบอกว่า ความเชื่อมโยงกัน อย่างเราปลูกต้นไม้ในพื้นที่ตรงนี้ หรือลองทำแปลงในป่าดิบหรือป่าอะไรก็ได้ในพื้นที่หนึ่ง สมมติพื้นที่ 100 เมตร คูณ 100 เมตร เรามีความหลากหลายในพื้นที่มากมาย ยิ่งถ้าเกิดว่าโดยรอบ 100 เมตร มีสภาพเป็นป่าด้วย จะยิ่งมีความหลากหลาย มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย

แต่ถ้าลงไปในพื้นที่ปลูกป่าทดแทน เราจะเห็นความแตกต่าง อย่างเก่งก็มีเห็ดขึ้นมาหน่อยนึง และไม้พื้นราบก็มีแต่หญ้า และเราต้องปล่อยไว้นานมากกว่าจะมีอย่างอื่นเข้ามาขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องอาศัยลม และต้องอาศัยสัตว์อื่นในการช่วยพัดพาเมล็ดไม้ แต่อย่างน้อย ตรงพื้นที่นั้นจะต้องมีชนิดพันธุ์อยู่ก่อนแล้ว และต้องหามาเสริมด้วย

อย่างไปดูแนวเขตป่าที่ถูกบุกรุก ตรงนั้นจะไม่มีอะไรเลย ในขณะที่เราเดินเข้าไปในป่า จะเห็นชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ความแตกต่างมันชัด นี่ไม่ใช่แค่ชนิดพันธุ์พืชนะ แต่ถ้าพูดถึงสัตว์ป่า โดยรอบ ถ้าสัตว์ป่าขนาดใหญ่หมด จะไปเอาที่ไหน นอกจากต้องไปหามาปล่อย มันไม่มีทางมี ถ้าเป็นระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ จะมีสัตว์ตั้งแต่นาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ก็วนเวียนกินกันอยู่ในนั้น

ถ้าเราดึงตัวใดตัวหนึ่งของนิเวศน์ออกมา มันจะหายไป การสืบพันธุ์ การทดแทน มันจะถูกขัดจังหวะ ดังนั้น ถ้าสิ่งหนึ่งถูกทำลาย ระบบนิเวศน์บางอย่างก็จะขาดไป

ที่ตัวเองเห็นชัดๆ ก็อย่างที่ภูเขียว อธิบายง่ายๆ ในเรื่องความชื้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับเห็ดรามากมายมหาศาล ไม่น่าเชื่อ มีการทำวิจัยเรื่องเห็ดรา พบว่าภูเขียวมีความชื้นสูง จากการสำรวจแค่ครึ่งวัน พบว่ามีตั้ง 50 ชนิด บางอย่างกินได้ บางอย่างกินไม่ได้ มีพิษถึงตาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางอย่างที่มีพิษก็ไม่ได้หมายความว่าเอามาสกัดเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพไม่ได้ มีสารออกกฤทธิ์ทางชีวภาพเยอะแยะที่เรายังไม่ได้ศึกษา อย่างที่ญี่ปุ่น มีความหลากหลายเห็ดราน้อยกว่าเรา แต่เขาสามารถสกัดออกมาทำยา สกัดทำอะไรเยอะแยะ แต่เราเองยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ หากศึกษาจริงๆ มันน่าจะเอามาทำยา ทำอะไรได้เยอะแยะ หรือผลประโยชน์มหาศาล

นักวิจัยบางคนบอกว่า เขาเข้ามาที่นี่ 2-3 ครั้งใน 2- 3 ปี ก็พบเห็ดชนิดนี้อยู่ตรงนี้ ไม่เคยไปเจอที่อื่น ไม่ขึ้นที่อื่น หากเราสื่อออกไปให้คนนอกรู้ว่ามีความหลากหลายตรงนี้ มีมูลค่ามหาศาล และถ้าหากเรารักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่จริงๆ ช่วยรักษาให้มันคงอยู่ ความชื้น อุณหภูมิ สภาพดิน แต่ถ้าระบบนิเวศเหล่านี้ไม่มี มันหายไปแน่นอน มันไม่ขึ้น เพราะ habitat loss มันไม่ให้ นี่แค่ยกตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้นเอง

ไทยพับลิก้า : ความหลากหลายของไทยมีมากมาย

ถ้าเราปลูกป่า กว่าจะได้อย่างนี้…ยาก และจะได้อย่างนี้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย แค่เราเข้าป่าธรรมชาติกับป่าปลูกก็คนละเรื่อง อารมณ์ความรู้สึกมันคนละเรือง ปัจจุบันพื้นที่ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งพืชป่า สัตว์ป่า ในเมืองไทยก็มีไม่เยอะแล้ว เหลือไม่กี่ที่แล้ว บางแห่งมีพืชป่าจริง แต่สัตว์ป่าไม่มีแล้วก็ได้ เพราะคนเข้าไปล่าได้หมดเลย หรือพืชป่า ถ้าเขารู้ว่ามีอะไรเป็นอะไร เขาก็เอาออกไปขายอีกนั่นแหละ และความต้องการก็ทะยอยบูมเป็นเรื่องๆ อย่าง กล้วยไม้ ค่อยๆ เอาออกกมาขาย ค่อยๆ หมดไป อย่างพวกหน่อไม้ ขิง ข่า เขาไม่ปลูกกัน เข้าป่าไปเอาออกมา อย่างหน่อไม้ที่บอกว่าไม่มีวันหมด ไม่ใช่นะ… เดี๋ยวนี้บางพื้นที่เขาเข้าไปแค่หักหน่อแล้วก็เอาออกมา แต่พอเข้าไปลึกๆ เจอหน่อใหญ่ก็ทิ้งหน่อเล็ก คนที่เก็บต้องรู้การเจริญเติบโตของหน่อไม้ด้วย หากไปหักมันหมดจากกอ หน่อใหม่ที่โตขึ้นมาแทนหน่อแม่ในปีถัดไปก็ไม่มี หน่อไม้ในปีถัดไปอาจจะเล็กลงหรืออาจจะไม่มีเลย เพราะหน่อที่เป็นต้นพันธุ์อยู่ได้ 1 ปี 2 ปี ก็จะโรยแล้ว เพราะฉะนั้น การหักหน่อไม้ไม่ควรหักหมดต่อกอ เท่าที่เห็นเวลาคนไปเก็บหน่อไม้ขาย แบกได้เท่าไหร่ เขาจะขุดมาหมด

ไทยพับลิก้า : เจ้าหน้าที่ต้องทำในเชิงรุกให้ความรู้ชาวบ้านไหม

ต้องทำ แต่ชาวบ้านไม่ค่อยอะไรเท่าไหร่ หากเราให้ความรู้เขาแล้วบอกว่าสิ่งที่ทำอันไหนควรจะพอ อันไหนที่มันไม่ถูก ว่าอันไหนผิดกฏหมาย ชาวบ้านเขาก็ฟัง เขาก็กลัวอยู่แล้ว เขาไม่ทำหรอก แต่คนที่สั่งให้เขาทำ ดีมานด์ข้างนอก ลำพังชาวบ้านไม่เท่าไหร่ ชาวบ้านจริงๆ ที่เขาเก็บเขาหากิน เราไม่ทำอะไรเขาอยู่แล้ว เพราะเขาเก็บถุง สองถุง ปริมาณที่เขาเอาออกไปกิน 1-2 อาทิตย์ แต่นี่เล่นเก็บหน่อไม้ที 70 กิโล แบกลงมาต้มกันข้างล่าง มันก็เกินไป

อย่างที่ภูเขียว เราทำกิจกรรมกับชุมชนด้วย อย่างที่ตัวเองกำลังเขียนหนังสือ จะเขียนเรื่องการจัดการพื้นที่ ไม่ใช่แค่จัดการปัจจัยสี่ของสัตว์ป่า หากเราไม่สามารถรักษาถิ่นอาศัยของมันให้ได้ ไม่มีประโยชน์ สัตว์ป่าก็ไม่มี แต่การรักษาได้ไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ของสัตว์ป่า แต่รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เร่งเร้ารุมเร้าเข้ามาหาพื้นที่ด้วย

ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ทำให้เกิดการสูญเสียถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า เกิดจากกิจกรรมกรรมของมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าการพัฒนาเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นการพัฒนา น่าให้พอเหมาะพอควร อาทิ พื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก็ไม่ควรไปปลูกสิ่งปลูกสร้างข้างในพื้นที่

ที่ภูเขียวทำโครงการสนับสนุนการจัดการในพื้นที่กันชน การลดแรงกดดันการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ มีการทำกิจกรรมในเรื่องการเลี้ยงวัวในพื้นที่จำกัด ในเรื่องเกษตรทางรอด โดยเน้นเรื่องที่มีผลกระทบต่อป่าภูเขียว

เรื่องเลี้ยงวัว มีคนเอาวัวไปเลี้ยงในป่า บางครั้งเขาต้องไปพักค้างในป่า เขาเอาข้าวไป แต่ต้องไปหาเนื้อข้างใน ไปปลูกกระท่อม หรือขังน้ำ ไปอาศัยในนั้น หรือถ้าวัวมีเชื้อโรค ไปติดกับสัตว์กีบ หากติดสัตว์ป่า หากตาย สัตว์กินเนื้อมากิน ก็มีผลต่อระบบนิเวศอยู่แล้ว ก็จะเกิดระบาดในป่าได้ ดังนั้น หากให้เขาเลี้ยงในพื้นที่จำกัดได้ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเอาวัวมาเลี้ยงในบ้านแทน ปลูกหญ้าเลี้ยงวัวเอง ก็จะป้องกันได้

ถามว่าการทำอย่างนี้ประสบความสำเร็จไหม ในมุมตัวเองคิดว่ามันสำเร็จ ทำแล้วได้ผล แต่การประสบความสำเร็จกับชาวบ้าน หากเขาเปลี่ยนมาทำอย่างนี้ เขาทำแบบนี้แล้วจะทำไปตลอดชีวิตก็คงไม่ใช่ เพราะการทำงานกับชุมชนต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ต้องพูดคุยกันตลอดเวลา ทำงานงานกับชุมชนต้องลงพื้นที่ พบปะกันบ่อยๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว หากเราทำโครงการนำชุมชนแล้ว เราต้องลงไปหาบ่อยๆ งานมันรอบด้าน ต้องจัดชุดลงพื้นที่ ไปพบปะ

สรุปว่าทำงานอะไรก็ตาม ที่ไหนก็ตาม จะให้ได้ 100% ไม่มีหรอก

ไทยพับลิก้า : ภูเขียวอุดมสมบูรณ์แค่ไหน พูดได้ไหม

ในมุมตัวเองที่เคยทำงานที่นั่น 6 ปี เราสามารถดูแลได้อย่างดี เรามีการสำรวจประชากรสัตว์ป่าด้วย มันเพิ่มปริมาณขึ้น เรื่องการลาดตระเวนเราไม่ทิ้ง เราลาดตระเวนเข้มข้น ที่สำคัญในเรื่องการจัดการ เราจัดการพื้นที่ด้วย ต้องดูแล ตรวจตราติดตามทรัพยากร ตรวจปราบปราม ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งแปลงปลอมเข้ามา สิ่งที่มากระทบจากภายนอก เราต้องดู ต้องทำ ทำไปข้างนอกบ้าง ทำข้างในบ้าง

ไทยพับลิก้า : อย่างเช่นอะไรบ้าง

กิจกรรมในพื้นที่กันชนอย่างที่เล่าไปเรื่องการเลี้ยงวัวในพื้นที่ ให้เขาทำโดยรอบพื้นที่กันชน หากบางพื้นที่ที่ไม่ดูแล เขาจะเข้ามาทั่วพื้นที่ป่า หรือที่ชาวบ้านเข้ามาเอาประโยชน์ เช่น การหาหน่อไม้ เก็บผักหวาน หาสัตว์เล็กๆ น้อยๆ เราไปทำกิจกรรมกับเขาในชุมชนที่ติดแนวเขตกับเรา เราทำแนวเขตที่ชัดเจน ทำข้อตกลงกับชุมชนที่อยู่ติดกับภูเขียว มาเซ็นข้อตกลงกับเราว่าจะช่วยกันดูแล เรามีฐานข้อมูลชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ว่าใครครอบครองอยู่บ้าง หากมีการเปลี่ยนแปลง เราจะรู้ว่าเจ้าของเดิมเป็นใคร ตอนนี้คนที่ครอบครองอยู่ จะได้รู้ว่าคนที่ครอบครองอยู่นั้นไม่ใช่เจ้าของเดิม

ก่อนที่จะออกมา (โยกย้าย) ได้ทำหนังสือประกาศแนวเขตใหม่ เพราะมีทั้งพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นและลดลง เดิมการสำรวจทำตามข้อเท็จจริง อันไหนของเดิมซึ่งมีปัญหาที่เคยเข้ามาอยู่ ก็ตัดออกไป แต่ไม่เยอะ ส่วนพื้นที่รอบนอกก็เพิ่มอีกนิดหน่อย

ไทยพับลิก้า : แล้วการบริหารจัดการในพื้นที่ภูเขียวเป็นอย่างไร

ในพื้นที่เขตภูเขียว ในเรื่องการป้องกันกับชุมชนค่อนข้างเป็นระบบ แต่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น การจัดการพื้นที่ตามหลักวิชาการน่าจะทำได้แล้ว คือการจัดการเรื่องประชากรสัตว์ป่า บางอย่างเริ่มมากขึ้น และต่อไปอาจจะมีปัญหาว่าจะออกนอกพื้นที่ จะทำอย่างไร

หรือการสร้างจิตสำนึก สิ่งแวดล้อมศึกษา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ใช่อุทยาน จึงไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เราต้องมีกิจกรรมให้ความรู้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เป็นสิ่งที่ภูเขียวก็ต้องทำ และเราจะทำอย่างไร หากเขาเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาควรได้ความรู้กลับไป บางคนจะมาแบบฉิ่งฉาบทัวร์ บอกได้ว่าที่นี่ (ภูเขียว) ไม่มีแน่นอน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มาแบบหาความรู้ ไม่ใช่มาท่องเที่ยว

เราก็คิดกิจกรรมอยู่ อย่าง ทุ่งกระมัง อยากทำโครงการจัดการทุ่งหญ้า ทำอย่างไรให้สัตว์ออกมาแล้วคนมาแล้วได้ดู ตัวเองก็คิดฝันไว้ ตอนที่อยู่ที่นั่น ได้เดินรอบทุ่งกระมังหลายรอบก็คิดว่า อยากจะทำสกายวอล์ค มีหอดูสัตว์อย่างน้อย 2 หอ แต่ต้องออกแบบดีไซน์ให้มันซ่อนอยู่ เวลาคนเข้ามา เอารถมาจอด ต้องเข้าใจว่าคนไทยต้องให้ถึงที่ ถ้ามาแค่ถึงที่ (รถเข้าถึงที่) จะไม่ได้ความรู้ เพราะถ้าหากไม่ได้สัมผัส ไม่ได้ไปเดิน แต่จะออกแบบให้จอดที่จุดใดจุดหนึ่ง ให้เดิน จะได้ตื่นตาตื่นใจ ขณะเดียวกันเราจัดการที่หางทุ่ง ทำให้สัตว์ออกมา ดังนั้น คนที่เข้ามา จะเดินตามเส้นทาง หรือจะขึ้นหอดูสัตว์ จะได้เห็นสัตว์ป่า

การเดินกว่าจะมาถึงทุ่งกระมัง จะต้องมาผ่านป่าประมาณ 26 กิโลเมตร คนที่เข้ามาจะต้องอิน จะทำให้คนรู้สึกซาบซึ้งมากขึ้น นี่คือในพื้นที่ที่จินตนาการเอาไว้

เรื่องวิชาการเราก็ต้องศึกษาประชากร เช่น หมาไน ช้างป่า เราเคยศึกษาช้างป่าในปี 2549 ทราบจำนวนประชากร ทราบวัยเจริญพันธุ์ เราจะต้องทำซ้ำอีก เราจะได้จัดการประชากรถูกว่ามากไปหรือน้อยไป หรือนกเหงือกซึ่งแสดงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ หากเราสามารถศึกษาประชากร ศึกษาโครงสร้างประชากรเหล่านี้ได้ ก็จะสะท้อนคุณภาพ ของพื้นที่ด้วย

ไทยพับลิก้า : ทำไมเว้นช่วงการศึกษานาน

อย่างช้าง กว่าเขาจะเข้าฝูง กว่าเขาจะท้องก็ 2 ปี เราต้องให้เวลาเขาด้วย การศึกษาสิ่งมีชีวิตสัตว์ป่าต้องใช้เวลา ไม่ใช่ใช้เวลาสั้นเหมือนพืชเกษตร แต่ต้องทำต่อเนื่อง เพราะมันเห็นผลช้า ตอนนี้กระแสสัตว์ป่าก็เริ่มเห็นว่ามีคนช่วยกันอนุรักษ์มากขึ้น

สำหรับตัวเองก็ยังคิดเรื่องการท่องเที่ยว การเข้าไปดูในที่ปิด คือคนชอบเปิดบริสุทธิ์อยู่แล้ว อยากไปที่ใหม่ๆ เป็นเรื่องธรรมดา แต่บางที่ ไม่ใช่ว่าจะต้องเปิดเพื่อสนองความต้องการพวกนี้ตลอดเวลา ต้องมีที่ปิดให้เขา (สัตว์ป่า) บ้าง แต่คงไม่ใช่วันนี้ ต้องรอให้ถึงจุดหนึ่ง ณ วันหนึ่ง เราอาจจะมีรายการ มีเส้นทางให้คนที่สนใจจริงได้ แต่ไม่ใช่วันนี้ คนต้องมีจิตสำนึกมากกว่านี้ และการเปิดให้เข้ามาแบบนั้นได้ต้องจำกัดจำนวนคนจริงๆ

มีคนถามว่าทำไมไม่ทำ เราก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก คนไทยไม่พร้อม ถามว่าไม่พร้อมอย่างไร แค่เราบอกว่า ให้เข้าได้ 5 คน แต่พวกมา 6 คน ก็มาอ้อนวอน น่านะ มาไกลเลย ขอคนหนึ่ง 6 คนเอง 7 คนเอง แล้วคนไทยไม่มีทางปฏิเสธ และปฏิเสธไม่มีทางได้ ปฏิเสธยาก

ดังนั้น หากคนจะมาเที่ยว ทุกคนต้องเคารพกติกา 5 คน คือ 5 คน อย่าให้คนปฏิบัติงานลำบากใจ ถ้าคนมาเที่ยวพร้อม กติกาคือกติกา รู้กติกาอย่างนี้ ไม่ต้องมาต่อรอง แต่ส่วนใหญ่จะต่อรอง ที่ตัวเองเคยประสบ ก็จะบอกว่าจะปฏิบัติตามทุกอย่าง ขอให้อนุญาต แต่พอถึงเวลาก็ไม่ทำ ไม่เคารพกฎ บอกว่าให้เอาขยะออกไป ก็ทิ้งเอาไว้ แสดงว่ามันยังไม่พร้อมจริงๆ

แต่ก็เริ่มดีขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวคุณภาพก็มีมากขึ้น ต้องขอเวลาสักหน่อย อย่างภูเขียว น่าจะสัก 5 ปี อาจจะทำได้ แต่ก็ไม่รู้อนาคต

ดร.กาญจนา  นิตยะ
ดร.กาญจนา นิตยะ

ไทยพับลิก้า : ภูเขียวถือว่าสมบูรณ์

ที่ผ่านมาไม่มีโครงการท่องเที่ยวทั้งของ อบต. อบจ. หรือโครงการทำฝาย หรือทำโน่นทำนี่ เช่น ปลูกป่า ตอนที่อยู่ตัวเองไม่รับสักอย่าง เพราะมันยังสมบูรณ์อยู่ ไม่ต้องปลูกป่าหรอก ตรงไหนที่เป็นทุ่งหญ้าก็ปล่อยไป เพราะสัตว์กีบเขาต้องการพื้นที่อยู่

ไทยพับลิก้า : ภูเขียวเป็นป่าต้นน้ำ

แหล่งกำเนิดต้นน้ำชี บริเวณนี้ผืนป่า 8 พื้นที่ หากป่าตรงนี้หายไปก็ไม่มีแม่น้ำชี ลำพรหม ลำปาว ลำชี ลำมูล ลำโขง มาให้แม่น้ำป่าสัก

ไทยพับลิก้า : นโยบายมีการให้ความสำคัญกับภูเขียวแค่ไหน

ขึ้นอยู่กับหัวหน้า เพราะว่าพื้นที่ในต่างจังหวัด สมัยก่อนเวลาส่งข้าราชการไปดู เขาต้องไว้ใจคนคนนั้น เพราะต้องเอาคนดีไปดูแล หัวหน้าจะเป็นกำลังหลัก แม้นโยบายจะดีอย่างไร หากหัวหน้าไม่เอาใจใส่ก็ลำบาก ดังนั้น หัวหน้าต้องเอาใจใส่ หากไม่เอาใจใส่ก็ลำบาก

ไทยพับลิก้า : ข้าราชการเข้าใจในหน้าที่มากน้อยแค่ไหน

บางคนเข้าไปอยู่ก็แค่ทางผ่านเพื่อถีบตัวเอง อีกอย่างกระแสไม่เหมือนแต่ก่อน เราก็คาดหวังว่าคนดีจะมีโอกาสบ้าง ควรจะมีเส้นทางของมัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ถ้าไม่มีเส้น ไม่ได้

เราโชคดีที่ได้ไปอยู่ในพื้นที่ แต่จริงๆ คนที่ไปอยู่ในพื้นที่ บางครั้งหากพื้นฐานทางครอบครัวดี การทำให้คนมีแนวคิด ปฏิบัติตัว มาครอบครัวจริงๆ ก็จะซื่อสัตย์สุจริต ในการประกอบอาชีพ

ไทยพับลิก้า : ตอนไปอยู่ภูเขียวรู้สึกอย่างไร

ตอนนั้นไปอยู่ใหม่ๆ ทำโครงการภูเขียว อยู่ในพื้นที่ตลอด ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำอะไรไม่ได้เอง พอจะจบโครงการ พอดีหัวหน้าที่นั่นย้าย ก็ไปอยู่ภาคสนาม มีปัญหาอุปสรรคพอสมควร เราทำไปไม่ใช่ไม่ท้อ เห็นเจ้าหน้าที่หลายคนมีความตั้งใจ เราก็เป็นกำลังใจให้กัน เขาเป็นกำลังใจให้เรา อยู่ๆ ไปมันก็รักกัน รักภูเขียว

ไทยพับลิก้า : จริงๆ ป่าต้นน้ำเหลือกี่ที่

มันก็กระจัดกระจาย ที่เหลืออยู่ถามว่าสมบูรณ์ไหม ก็พูดยาก อย่างภูเขียวเป็นต้นน้ำชี ให้น้ำตลอดปี แต่มีบางพื้นที่ขุดลอกเพื่อขุดทองร่อนทองจนโล่งไม่มีเกาะแก่ง น้ำมาไม่มีอะไรยึด ทำให้น้ำไหลแรง เมื่อต้นปีน้ำชีไหลแรงมาก แต่ละโค้งกระแทกตลิ่งพัง เมื่อพังก็ไม่มีแหล่งที่พักของกุ้ง ปลา พอไม่มี คนที่หากุ้ง ปลา ก็เข้ามาหาในพื้นที่ มันอย่างก็เป็นอย่างนี้ แต่คนที่ดูแล คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เปรียบเทียบความแตกต่างว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าถามชาวบ้านบางคนก็ชอบน้ำไหลแรง แต่ถ้าถามคนที่หาปลา เขาไม่ชอบ ไม่มีกุ้ง หอย ปลา ให้หากิน

และการทำประชาพิจารณ์ คนทำก็ไม่ได้ทำหลากหลาย เขาทำเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุน กลุ่มที่อยากได้

ตอนนี้ ประเด็นน้ำชีเปิดประเด็นการสร้างเขื่อนที่เคยปิดไปแล้ว และมีการเข้ามาในพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้โดยไม่ได้ขออนุญาตก็ถูกยึด ซึ่ง ส.ส. ก็ประกาศว่าใครมีปัญหาให้มาหาเขา ข้าราชการบางคนก็อาจจะกลัว ก็บอกเจ้าหน้าที่ไปว่าหากใครก็ตามที่จะทำให้สิ่งที่ผิดมันถูกได้ หากเขาทำได้ก็ทำไป แต่ต้องไม่ทำมาจากเรา เราในฐานะข้าราชการ เราทำไม่ได้ เพราะพวกนี้ใช้อิทธิพล

เราพูดได้เฉพาะพื้นที่ ตรงอื่นเราไม่รู้ว่าจะหนักหนาแค่ไหน สิ่งที่ตัวเองอยู่มา 6 ปี ที่ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ผิด-ถูก ทำไปตามนั้น การทำงานก็ต้องมีหลักการ ถามว่าการใช้หลักการ เราจะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน เราก็ต้องใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พศ. 2535 ซึ่งกำหนดว่าให้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ปลอดภัยของสัตว์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า ยึดอันนี้เป็นเกณฑ์ เพราะเราไปทำหน้าที่หัวหน้าเขตอุทยาน แต่ไม่ใช่ไม่ยืดหยุ่น เช่น ชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ด หน่อไม้ เล็กๆ น้อยๆ แต่หากการท่องเที่ยวที่กระทบต่อสัตว์ป่า ก็ไม่ให้ทำได้ เช่น ที่เขาจะมาเที่ยว มันไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว หากเปิดคนแห่มาตรึม สัตว์ป่าเยอะแยะ มันไม่อยู่แน่นอน เพราะฉะนั้นก็ให้ไม่ได้

ไทยพับลิก้า : การปฏิบัติตามข้อกฏหมายต้องเข้มแข็ง

ต้องเข้ม และต้องอธิบายให้ได้ ยอมรับสภาพการถูกด่าทุกกรณี (หัวเราะ )อย่างในจังหวัดตอนนั้นก็ถูกกระแหนะกระแหน เขาอยากเปิดที่ท่องเที่ยว อยากให้มีการลงทุน เราก็ไม่อนุญาต ทางจังหวัดก็บอกว่าทำสิ ถ้าต้องการจำกัดจำนวนคนเข้ามาท่องเที่ยวเดี๋ยวจะออกประกาศกฎระเบียบให้ ประเด็นไม่อยู่ที่ประกาศ ประเด็นไม่ใช่เราต้องทำนำเสนอ ประเด็นคือพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้เพื่อการแบบนี้ ด้วยหลักการและเหตุผล

หัวหน้าเขตต้องเข้มแข็งพอสมควร ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ ทุกพื้นที่ต้องการคนที่เข้มแข็ง พื้นที่ตรงนี้มันเข้มอยู่แล้ว ต้องการเวลาสัก 5 ปี พื้นที่นี้ก็จะแข็งแรง อะไรที่ดีอยู่แล้วให้มันคงสภาพอย่างที่มันเป็น

อย่างคนเข้าไปเที่ยวเขาใหญ่ เปิดให้คนท่องเที่ยว ก็ทำให้สัตว์ป่าเสียนิสัย มีถนนตัดผ่าน นักท่องเที่ยว โยนอ้อย เป็นค่าผ่านด่าน ช้างติดใจ ทีหลัง ไม่ให้มัน ช้างก็ยืนปล้นอ้อนเลย จะไปว่าช้างก็ไม่ได้ เพราะไปทำให้เขาเสียนิสัย และเป็นถนนที่ถางเข้าไปในเขตพื้นที่ป่า ไปแย่งชิงพื้นที่เขา นี่เป็น habitat loss มีผลกระทบ

หรืออย่างที่ตัดถนนผ่าน น้ำหนาว ที่ขยายถนน ถามว่าถ้าอ้อมผืนป่าไปอีก 30-40 กิโลเมตร ทำไมทำไม่ได้ ไปรบกวนผืนป่าผืนของเขา ไปรบกวนสัตว์ป่า เพราะเขาต้องการพื้นที่ของเขาเป็นถิ่นอาศัย น่าจะเหลือพื้นที่ให้เขาบ้าง แต่ก็บอกว่าต้องการพัฒนาประเทศ คนที่พัฒนา ก็พัฒนาไป ไม่ได้มองระบบนิเวศของสัตว์ป่า

เราเอาเปรียบสัตว์ เวลาสัตว์ป่ามากินพืชไร่ทำลายเกษตรกรรม ก็บอกว่าช้างป่ามาทำลาย ทำไมไม่พูดบ้างว่าคุณไปเอาพื้นที่ของเขามา ทำไมไม่บอกว่าช้างป่าออกนอกพื้นที่ การไปทำลายพืชผลเกษตร ดูโหดร้าย เหมือนช้างเป็นอันธพาล ไม่ใช่ ช้างก็ไปของมัน แต่คนไปเอาผืนป่าของเขา และปลูกอะไรที่เขาชอบอีก กฏเกณฑ์ทั้งหลายก็คนนั่นแหละ ตั้งขึ้นมาทั้งนั้น

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้มีคนฆ่าสัตว์ป่าเยอะ

คนเรามันสร้างวัตถุจนต้องการเงิน แต่สัตว์ป่าเป็นเรื่องชีวิต การมีโรงฆ่าสัตว์เลี้ยงยังไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่โรงฆ่าสัตว์ป่ามันเป็นการลักลอบ สัตว์ป่าน่าสงสารมาก

ดังนั้น หากไม่มีดีมานด์ จะด้วยความเชื่อต่างๆ ทำให้คนหาสินค้ามาขาย ดูในข่าวอย่างเวียดนาม เมื่อก่อนเอาดีหมี ก็ฆ่าหมี แต่เดี๋ยวนี้โหดร้ายมาก ซื้อหมีแก่เอามาขัง ถึงเวลา 2-3 เดือน เอาขึ้นเตียง ให้ยา ทำให้มันมึน เอาซีริงก์ดูดดีออกมา ทำอย่างนี้สัก 3-4 ครั้ง หมีก็จะตาย ถ้าอย่างนี้สามารถทำได้หลายครั้ง

เดี๋ยวนี้เขาล่าสัตว์ เขาแค่เอาสุนัขเข้ามา ไม่ได้มีอาวุธ เราเห็นบ่อยๆ เราก็ถ่ายรูปๆ เราก็คิดพลิกแพลงของเราด้วย เพราะถ้าเราจะไปจับเขา จะจับในข้อหาอะไร บทกำหนดโทษก็ไม่มี

ไทยพับลิก้า : กฎหมายต้องแก้ไหม

พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มบทลงโทษต้องปรับเพิ่ม บางอันไม่มีบทกำหนดโทษ อย่างบางคนเข้ามาฝ่าฝืน ก็สามารถปรับได้เลย หากทำได้ก็ดี

ไทยพับลิก้า : ภูเขียวที่สามารถรักษาพื้นที่ได้ ถือเป็นโมเดลไหม

โมเดลนี่แล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่สถานภาพของพื้นที่ ภูเขียวก็เป็นรูปแบบหนึ่ง จะเอาไปใช้เลยคงไม่ใช่ ต้องมาดูงานเอาไปปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ อย่างเรามีแนวคิดเรื่องพื้นที่รอบล่าง และการประชาสัมพันธ์กับชุมชน เราก็มีเรื่องเกษตรทางรอด เกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่รอบๆ แต่ไม่ทำอะไร ชอบเข้าป่า เราก็ให้ปลูกไผ่สามฤดู ให้เขาเลี้ยง มีบ่อน้ำ ปลูกผักหวาน อาจจะไม่ได้งินเหมือนปลูกยางพารา เพราะปลูกยางมันได้เงินเยอะ แต่การที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกยางพารา คนก็พยายามถางพื้นที่ปลูก เพราะได้เงินเยอะ ถามว่ายางพารากิโลกรัมละ 25 บาท เขาก็อยู่ได้แล้ว แต่นี่ 100 กว่าบาท เกษตรกรออกรถกันแบบ….เดี๋ยวนี้คนภาคใต้ก็ขึ้นมาขยายพื้นที่ บุกรุกป่าทางภาคอีสาน และกระทบต่ออาชีพอื่นด้วย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าไม้ก็ไปทำสวนยาง ไม่ได้สนใจดูแลป่า

การปลูกยาง หากปลูกเยอะเกินไปดินจะพังทลายง่าย เพราะเป็นไม้ยอดเดี่ยว น้ำฝนตกมา อุ้มน้ำไม่อยู่ ทิ้งน้ำลงไปทีเดียว ไม่เหมือนต้นไม้ที่มีเรือนยอดเยอะ จะค่อยๆ อุ้มไว้ นี่แค่ผลกระทบการพังทลายของดิน เมื่อคนอยากได้พื้นที่ปลูกมากขึ้นเพราะได้เงินเยอะ ก็มีการบุกรุกป่า มีการพูด การยุยงกัน มาหลอกชาวบ้าน ทำให้คนเริ่มเขว ก็ขายที่ดินให้ปลูกยางพารา

การเปลี่ยนมือที่ดิน ชาวบ้านมี สปก. ขายไปแล้วมาขอสิทธิใหม่ ถามว่าคนยากจนคนไม่มีที่ดินทำกินน่าจะหมดไปจากประเทศไทยแล้ว เพราะพื้นที่ที่เอามาแบ่งสรรปันส่วนมีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่คนที่ได้ไปก็เอาไปขายหมดแล้ว ถามว่าคนอายุ 70 ปี บอกว่าไม่มีที่ทำกิน ถามว่าที่ที่มีอยู่ก็ให้ลูกหลานไปหมดแล้ว ถ้าถามตัวเองก็บอกว่าไม่เชื่อ ต้องถามว่าเขาเอาไปขายกี่ครั้ง แต่ก่อนไปอยู่ใหม่ๆ เราก็บอกว่าคนเหล่านี้น่าสงสาร แต่อยู่ๆ ไป ก็ไม่สงสารแล้ว

พวกเราก็รู้ข้อมูลพวกนี้ มีการเปลี่ยนมือ แต่ไม่ได้ทำสถิติ เราก็ฟังมา แต่ไม่รู้ทำอย่างไร มีการกว้านซื้อที่ดินจากคนต่างถิ่น และพวกที่มีอิทธิพลในแถวๆ นั้น บางคน คนแก่ไม่มีลูกก็อยากขาย เพราะรู้ว่ามีที่เยอะแยะ ก็ไปหาใหม่ แต่ที่ภูเขียวเราทำแนวเขตแล้ว

เรื่องมันเยอะแยะมาก อย่างที่ดิน บางหน่วยงานอยากได้พื้นที่เยอะ แต่ไม่อยากดูแล เราบอกว่าจะเอามาดูแลก็ไม่ไห้ พอมีการบุกรุกล่าสัตว์ เราบอกว่าทำไมไม่จัดการ เขาบอกว่าไม่มีอำนาจ เราก็บอกว่าคุณมีหน้าที่ไหม ทำไมไม่ไปแจ้งความ เพราะคุณมีอำนาจดูแลอยู่ ก็ต้องแจ้งความ เรามีหน้าที่ลาดตระเวน เราไปดูแลได้

ไทยพับลิก้า : ขอย้อนไปที่เรื่องปัจจัยสี่ของสัตว์ป่า

อาหาร น้ำ ที่หลบภัย และมีพื้นที่ให้เขา space เป็นเรื่องจำเป็นของสัตว์ป่า เหมือนคนนั่นแหละ ป่าก็คือบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ป่าถูกบีบให้เล็กลง สัตว์ก็ต้องออกนอกพื้นที่ เดี๋ยวนี้มีป่า แต่เป็นบ้านร้าง มีป่าแต่ไม่มีสัตว์ป่า พื้นที่บ้านเล็กลงไปเรื่อยๆ สัตว์ป่าก็อึดอัด สัตว์มันจะอยู่อย่างไร ขนาดบ้านเล็กขนาดนี้ ยังเข้ามาล่าสัตว์อีก จะเอายังไง

คำถามที่เกลียดที่สุดคือคำถามที่ว่าจะ เอาคนหรือเอาสัตว์ ถามอย่างนี้ไม่ต้องคุยแล้ว (เสียงเน้นหนัก) จะทำแหล่งท่องเที่ยว จะทำเขื่อน เราบอกว่าเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ก็จะถูกถามว่าจะเอาคนหรือเอาสัตว์ เฮ้อฮือ อ้างไปเรื่อยๆ คนเราไม่รู้จักพอ พูดอย่างนี้ไม่รู้จะคุยอะไรแล้ว เราทำงานในพื้นที่สัตว์ป่า เราต้องปกป้อง

หรืออย่างการวิจัย ที่ผ่านมาพยายามให้คนที่ต้องการงานวิจัยกับคนทำวิจัยมาคุยกันเพื่อที่จะบอกว่า นักวิจัยควรจะวิจัยในสิ่งที่คนอยากให้วิจัย แต่นักวิจัยบอกว่าอยากทำเรื่องอะไรให้บอก จะหาเงินมาให้ เราไม่ได้อยากได้เงิน แต่เราอยากให้คุณวิจัยเพื่อนำมาแก้ปัญหา แต่เขาวิจัยในสิ่งที่เขาสนใจ เราจึงทำเอง วิจัยเพราะต้องการตอบคำถามของเรา อย่างงานวิจัยชอบเขียนว่าศึกษาเรื่องนี้ๆ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการต่อไป เราก็ถามว่าช่วยบริหารจัดการอย่างไร ก็ตอบไม่ได้ เราเป็นคนปฏิบัติ เราทำไม่ได้

ไทยพับลิก้า : อยู่กับสัตว์สนุกกว่าหรือไม่

มันก็โลกส่วนตัวเกินไป สำหรับภูเขียวตอนนี้ต้องเอาวิชาการมาลงแล้ว เพราะมันเป็นระบบแล้ว ทั้งการลาดตระเวน เรื่องชุมชน ซึ่งมันทิ้งไม่ได้ ต้องเอาใจใส่ตลอดเวลา ต้องลงไปดูพื้นที่ ค่อยๆ ตบ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปจัดวิทยุชุมชน ก็ต้องให้เขาตระหนักในหน้าที่ป่าไม้ ไม่ใช่นักจัดรายการวิทยุ เป็นต้น

ไทยพับลิก้า : กังวลเรื่องผืนป่ากับสัตว์ป่าในประเทศไทยแค่ไหน

จริงๆ ก็มีคนร่วมอุดมการณ์อยู่ สังคมยังมองเห็นอยู่ อย่างเอสวีเอ็นที่มอบรางวัลให้ หากกังวลไป เอามาเป็นความทุกข์คงไม่ได้ ไม่งั้นกลุ้ม

แต่จริงๆ ปัญหาภูเขียวน้อยกว่าที่อื่น เราก็อยากทำให้มันดี ปัญหาที่น้อยเพราะเราไม่ได้ปล่อยปละละเลย มีอะไรเราก็แก้ๆๆ ไม่สะสม

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าภูเขียวต้องมีงานวิจัยรองรับ

การสำรวจประชากรสัตว์ เป็นการวัดคุณภาพของพื้นที่ ทั้งจำนวนสัตว์ป่า การบุกรุก ฯลฯ

ไทยพับลิก้า : หนังสือที่จะเขียน อยากจะบอกอะไร

อยากจะบอกเรื่องการรักษาถิ่นอาศัย ไม่ใช่แค่ดูปัจจัยสี่อย่างที่นักวิจัยทำ ไม่ใช่แค่ทำในพื้นที่ มันเป็นไอดีล เพราะตอนนี้สัตว์ออกนอกพื้นที่เยอะแยะ จะแก้ปัญหาอย่างไร จะเขียนเรื่องการจัดการพื้นที่ สาระสำคัญในการจัดการ 3 ด้าน มันมีเรื่องสังคม พื้นที่กันชน การสร้างจิตสำนึก

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วมองว่าการแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ระบบนิเวศ ต้องทำอย่างไร

ดูแลสิ่งที่มีอยู่แล้วรักษาไว้ให้ได้ ส่วนที่เหลือไปเสริมเอา แต่เราไปเน้นการเสริมเอาแทนที่จะดูและที่มีอยู่แล้ว ต้องรักษาให้ได้ และต้องส่งคนดีไปดูแล แต่ไม่รู้จะวัดอย่างไร

เท่าที่ดูการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม แผนที่จะทำปีนี้สร้างเขื่อนอย่างเดียว มีงบแล้ว ก็เป็นการไปทำลาย ถามว่าประโยชน์ที่จะได้จริงๆ คงไม่ใช่ชาวบ้าน เพราะขายที่ดินกันหมดแล้ว และถามว่ามีน้ำแล้วเขาจะทำไหม ไม่ทำ เขาไม่ได้ขยันทุกคน คนได้ประโยชน์ได้บางส่วน ต้องเข้าใจธรรมชาติอีสาน อีสานพื้นที่สูง น้ำมาเร็วไปเร็ว ทุกบ้านต้องทำบ่อของตัวเอง ถามว่าการสร้างเมืองสมัยขอม อย่างเขมรเขาสร้างเมือง เขาสร้างบ่อน้ำทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นโคราช พิมาย ต้องมีบ่อน้ำเพราะมีน้ำมาก็ไปเร็ว เขาจึงต้องมีบ่อ ไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน เพราะการมีเขื่อนก็ไปขวางที่ ไปขวางทางน้ำ เราต้องดูผังเดิมว่าทำอย่างไร

แค่ขุดบ่อขนาดเล็กเพื่อกักน้ำเอาไว้ใช้ได้ อย่างแม่น้ำชี มีวังเก็บกักน้ำอยู่ มีน้ำตลอดปี ก็สูบน้ำขึ้นมา มีพื้นที่เยอะแยะ แบ่งมาสัก 50ไร่ ทำบ่อ แล้วปล่อยน้ำลงมาให้ชาวบ้านใช้ ใช้สโลป ประหยัดงบประมาณมากกว่า หรือขุดระบบการส่งน้ำระบบท่อก็ได้ พื้นที่ตรงท่อส่งน้ำก็ทำประโยชน์ได้ ปลูกพืชได้ ถั่ว อ้อย ได้ ไม่ต้องรอสร้างเขื่อน

ไทยพับลิก้า : ต้องรู้จักพื้นที่แก้ปัญหาให้ตรงจุด

ใช่ แบบนี้ชาวบ้านได้ใช้น้ำ ใครไม่ต้องการใช้น้ำก็ไม่ต้องเอาท่อ หากให้ทุกคนสร้างบ่อ แต่ทุกคนไม่ยอมลงทุน แต่อยากเปิดท่อแล้วมีน้ำเลย

ส่วนใหญ่จะทำเมกะโปรเจค ต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนบทบาท ทำให้เหมาะกับพื้นที่แต่เด่ยวนี้ทำโครงการขนาดเล็ก ขุดบ่อ ทำไม่เป็นเสียแล้ว