ThaiPublica > เกาะกระแส > “อัมมาร” ชี้ ปฏิรูปการศึกษาทำได้ชาตินี้ งบเพียงพอ แต่บริหารไม่ดี ครูต้องมีความรับผิดชอบ

“อัมมาร” ชี้ ปฏิรูปการศึกษาทำได้ชาตินี้ งบเพียงพอ แต่บริหารไม่ดี ครูต้องมีความรับผิดชอบ

20 กุมภาพันธ์ 2012


วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดการสัมนาวิชาการประจำปี 2554 ในหัวข้อ “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” งานสัมนานี้มีหัวข้อการสัมนาด้วยกัน 4 หัวข้อ คือ หัวข้อทื่ 1 การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง, หัวข้อที่ 2 การสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงาน, หัวข้อที่ 3 ระบบการบริหารการเงินเพื่อสร้างความรับผิดชอบในการศึกษา และหัวข้อสุดท้าย คือ โรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน

ในหัวข้อการสัมนาแรก “การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” มีผู้เสนอบทความคือ ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์

ในตอนเริ่มต้นของการนำเสนอบทความ ดร.อัมมารได้พูดถึงสภาพปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่กลายเป็นโรคเรื้อรัง แม้มีความพยายามที่จะปฏิรูปมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้คุณภาพของการศึกษาไทยดีขึ้นได้ว่า

คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ความล้มเหลวในการปฏิรูการศึกษาที่ผ่านมา เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากร แต่ ดร.อัมมารได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยได้ทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษาเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณการศึกษาของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และมีสัดส่วนงบประมาณการศึกษาต่อจีดีพีไม่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และนักเรียนไทยยังใช้เวลาในห้องเรียนมากกว่านักเรียนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันอีกด้วย

“แต่กลับพบว่า นักเรียนไทยมีผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาต่ำมาก เห็นได้จากผลคะแนนสอบของนักเรียนไทย จากข้อสอบมาตรฐานในประเทศอย่าง O-NET หรือข้อสอบมาตรฐานระหว่างประเทศอย่าง PISA (Programme for International Student Assessment) และ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) ที่มีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย” ดร.อัมมารกล่าว

ต่อมา ดร.อัมมารได้พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาไทยว่า โรงเรียนแต่ละสังกัดมีความแตกต่างด้านคุณภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิต ที่มีค่าคะแนนสอบต่างๆ สูงกว่าโรงเรียนอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีโรงเรียนดีๆ กระจุกตัวอยู่มาก

ดังนั้น จึงแสดงความเห็นในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยว่า “ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาของไทย ยังคงกระจัดกระจายตามความเข้าใจของปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าควรเริ่มแก้ที่จุดใดก่อน และนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชาตินี้ แต่ผมขอเถียงว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้ ดูตัวอย่างต่างประเทศที่ทำได้ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีหรือฮ่องกง ที่มีระดับคะแนน PISA สูงมากอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังสามารถพัฒนาให้คะแนนสูงขึนได้อีกในปีต่อๆ มา”

ดร.อัมมารได้สรุปสาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยว่า “ปัญหาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เกิดจากการขาดทรัพยากร แต่เป็นการขาดความรับผิดชอบ (Accountability) ของระบบการศึกษาตลอดทุกขั้นตอน”

จากนั้น ดร.อัมมารได้เสนอวิธีการสร้างความรับผิดชอบ ว่าต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่ต้องมีการกำหนดล่วงหน้าว่า งานที่ครูทำควรมีขอบเขตแค่ไหนและรับผิดชอบต่อใคร โดยมีขั้นตอนปฏิบัติที่สำคัญคือ ต้องมีการวัดผลลัพธ์ของงานที่ทำด้วยความโปร่งใส และผลลัพธ์นั้นต้องส่งผลให้เกิดความรับผิด หรือรับชอบต่อผู้ทำงาน

ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยจึงไม่ใช่การขาดทรัพยากร แต่เป็นการขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร อันเนื่องมาจากการขาดความรับผิดชอบของระบบการศึกษาต่อนักเรียนและผู้ปกครองนั่นเอง การเริ่มการปฏิรูปการศึกษาจึงต้องมุ่งตรงไปที่การสร้างความรับผิดชอบ ที่ผ่านมา ระหว่างพ่อแม่กับโรงเรียนและครู มีสายความรับผิดชอบที่ยาว ทำให้ครูหรือโรงเรียนไม่รู้สึกถึงความรับผิดชอบเท่าไร แต่หากให้พ่อแม่เข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแลครูและโรงเรียนมากขึ้น ความรับผิดชอบดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามมาด้วย

“หัวใจของความรับผิดชอบคือความสำเร็จของระบบการศึกษา โรงเรียนและครูต้องวัดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของนักเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่โรงเรียนเกือบทั้งหมดผ่านการประเมินคุณภาพโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และครูก็ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะ ทั้งที่ผลการเรียนของนักเรียนแย่จนถึงขั้นอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้และคิดไม่เป็น อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ดร. อัมมารกล่าว

ต่อมา ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาไทยว่า ในระยะหลัง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นมาก โดยความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนปัจจัยระยะสั้นเพียงอย่างเดียว (เช่น การขาดแคลนเงินทุน) แต่ยังเกิดจากปัจจัยระยะยาว ที่มาจากการเลี้ยงดูในครอบครัวและการศึกษาที่ได้รับมาในวัยเด็ก เห็นได้จากคะแนนสอบ PISA กับ ค่าเฉลี่ยดัชนี ESCS (Economics, Social and Cultural Status) ซึ่งเป็นตัววัดสถานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาของครอบครัวเด็กนักเรียน ที่พบว่าเด็กที่ได้คะแนนดีมักจะมีครอบครัวที่มีฐานะดี

ต่อมา ดร.ดิลกะ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยดูจากคะแนน PISA ที่มีปัจจัยสำคัญจากกลไกความรับผิดชอบที่ผูกกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน (Accountability) และความมีอิสระในการบริหารจัดการของโรงเรียนในเรื่องหลักสูตรและงบประมาณ (Autonomy) พบว่า

แนวคิดต่อความมีอิสระในการบริหาร ที่เน้นกระจายอำนาจการบริหารสู่โรงเรียนและท้องถิ่น ที่มีเหตุผลสนับสนุนจากการที่ครูและผู้บริหารมีความเข้าใจนักเรียนและโรงเรียนของตนมากกว่ารัฐ แนวคิดดังกล่าวทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ก็พบว่ายังคงมีเหตุผลโต้แย้ง ที่ผู้บริหารโรงเรียนอาจแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ดังนั้น ความมีอิสระในการบริหารงบประมาณ จึงไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่จะมีผลดีก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ส่วนการให้อิสระในการกำหนดหลักสูตร พบว่า จะมีผลด้านบวกต่อโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำ หากมีหน่วยงานจากส่วนกลางเข้าไปติดตามอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความรับผิดชอบ

“การกำหนดให้โรงเรียนต้องเปิดเผยข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบได้นั้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพ (วัดด้วยคะแนนเฉลี่ย PISA) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของโรงเรียนมากที่สุดคือ การปฏิรูปการประเมินและการให้ผลตอบแทนความดีความชอบของครูใหญ่ ที่ผูกโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียน” ดร.ดิลกะกล่าว

“ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครอง การปฏิรูปต้องเริ่มต้นที่ข้อมูล โดยจะต้องมีระบบการสอบไล่มาตรฐาน ที่วัดความสามารถของนักเรียนได้จริงในหลายระดับชั้น ผลการสอบจะต้องมีความหมายสำหรับนักเรียนและครู และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่อสาธารณะ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีกลไกที่ผู้มีส่วนได้เสียสามารถประเมินให้คุณให้โทษต่อครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยผูกกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นหลัก” ดร.ดิลกะกล่าว