ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ‘สุกุมล คุณปลื้ม’ เซ็นเลิกคำสั่งโทษวินัยร้ายแรงคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ก.พ. วุ่น ตีความอำนาจ ป.ป.ช.

‘สุกุมล คุณปลื้ม’ เซ็นเลิกคำสั่งโทษวินัยร้ายแรงคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ก.พ. วุ่น ตีความอำนาจ ป.ป.ช.

20 มกราคม 2012


คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/120/1120/images/tippawadeeM1.jpg
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/120/1120/images/tippawadeeM1.jpg

เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถูกคำสั่งอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงวัฒนธรรม ปลดออกจากราชการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เช่นเดียวกับนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษทางวินัยเช่นกัน

คุณหญิงทิพาวดีถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. โดยมีการออกหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อ “ล็อคเสป็ค” การตั้งแต่ผู้บริหารกรมสรรพากรเมื่อปี 2544

ส่งผลให้นายไพรัช สหเมธาพัช ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าราชการกรมสรรพากร และมีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร หมดโอกาสที่จะก้าวหน้าทางราชการ มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองและ ป.ป.ช. ซึ่งต่อมามีการตัดสินว่า คำสั่งของคุณหญิงทิพาวดีขัดกับมติ ครม. และเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ

มติ ป.ป.ช. ดังกล่าว ทำให้การประชุม อ.ก.พ. กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ในสมัยที่นายธีระ สลักเพชร เป็น รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ไม่มีทางเลือก ต้องมีมติให้ปลดคุณหญิงทิพาวดีออกจากราชการ ซึ่งเป็นโทษสถานเบากว่าไล่ออกจากราชการ ที่จะทำให้ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ

ขณะที่คุณหญิงทิพาวดี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษทางวินัยทั้งหมด ซึ่งสำนักราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และ มีพระราชกระแสให้อภัยโทษทางวินัยแก่คุณหญิงทิพาวดี

ล่าสุด นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ 3/2555 ณ วันที่ 16 มกราคม 2555 เรื่องยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่คุณหญิงทิพาวดี ตามคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรมที่ 103/2552 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

“เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกระแส ที่ได้อภัยโทษทางวินัยแก่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ตามที่ได้รับแจ้งตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 และแนวทางปฏิบัติการพระราชทานอภัยโทษทางวินัย ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ที่แจ้งมายังกระทรวงวัฒนธรรมว่า เมื่อพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยต้องดำเนินการยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัย โดยให้คำสั่งยกเลิกดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งให้พ้นจากราชการ เพื่อมิให้คำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวมีผลบังคับใช้อยู่่ต่อไป” แหล่งข่าวระบุ

คำสั่งยกเลิกบทลงโทษทางวินัยที่ 3/2555 ระบุไว้ว่า ก่อนที่คุณหญิงทิพาวดีจะถูกปลดออกจากราชการ ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ระดับ 11 รับเงินเดือน บ.11 ชั้น 63,920 บาท (เกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2549) ซึ่งกระทำผิดวินัยกรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ได้ลงนามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด นร 0701/ว 9 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนการคัดเลือกข้าราการพลเรือนสามัญ ที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการคัดเลือกบางส่วนไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ให้ผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง ไม่ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักนักบริหารระดับสูง และไม่มีชื่อในบัญชีผู้ผ่านการประเมิน สามารถเข้ารับการคัดเลือก หรือให้ส่วนราชการเสนอชื่อได้ สร้างความเสียหายแก่คณะรัฐมนตรีและระบบราชการในด้านการบริหารงานทรัพยากรบุคคลอย่างร้ายแรง ส่งผลเสียหายในด้านกฎหมาย

ทำให้เกิดการยกเลิกเพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือดังกล่าว และยกเลิกคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งกระทรวงการคลัง) ที่ออกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้สถานภาพความเป็นข้าราชการ และการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความกระทบกระเทือน จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และ อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ในการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ได้มีมติให้ปลดคุณหญิงทิพาวดีออกจากราชการ

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงทิพาวดี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษทางวินัยทั้งหมด ตามคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรมที่ 103/2552 ลงวันที่ 27 พ.ค. 2552

“เพื่อจักได้ไม่มีมลทินมัวหมอง และจะได้บำเพ็ญตนเป็นข้าราชการบำนาญและพลเมืองที่ดี กระทำประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองสนองพระมหากรุณาธิคุณสืบไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่” แหล่งข่าวระบุเหตุผลในการขอพระราชทานอภัยโทษของคุณหญิงทิพาวดี

ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุดว่า สำนักราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสว่า คุณหญิงทิพาวดี ปฏิบัติหน้าที่ราชการสร้างคุณงามความดีเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อเป็นการตอบแทนความอุตสาหะและให้โอกาสประพฤติตนเป็นพลเมืองดีสืบต่อไป จึงให้อภัยโทษทางวินัยแก่คุณหญิงทิพาวดี

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน ก.พ. ระบุว่า ก.พ. อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางปฏิบัติกรณีคุณหญิงทิพาวดีถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดและให้ปลดออกจากราชการ รวมถึงการได้รับพระราชทานอภัยโทษ เข้าสู่ที่ประชุมอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ ซึ่งมีนายประวีณ ณ นคร เป็นประธานในเร็วๆ นี้

เนื่องจากกรณีดังกล่าว มีหลายประเด็นที่ ก.พ. ต้องพิจารณาต่อ ได้แก่ กรณีการดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่คุณหญิงทิพาวดี ชอบด้วย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือไม่ เนื่องจากในมาตรา 98 ระบุว่า การดำเนินการกับข้าราชการที่ประพฤติผิดวินัยร้ายแรงต่อขาราชการที่เกษียณอายุไปแล้วสามารถทำได้ แต่ต้องดำเนินการภายใน 180 วัน ขณะที่การดำเนินการของ ป.ป.ช. และ อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม เกิดขึ้นหลังจากคุณหญิงทิพาวดีเกษียณอายุไปแล้วถึง 2 ปี 8 เดือน

แหล่งข่าวระบุว่า อ.ก.พ.วินัย ยังจะพิจารณาเกี่่ยวกับอำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษออกตามรัฐธรรมนูญ ว่าจะได้รับการยกเว้นให้ดำเนินการได้เพียงใด เพราะเงื่อนไขต้องให้ดำเนินการภายใน 180 วันตามมาตรา 98 ถือเป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน เท่ากับว่ากฎหมายอาจมีการขัดแย้งกันอยู่ จึงต้องมีการชี้ขาด

“ก.พ. ต้องการทำให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติหลังจากกรณีที่เกิดขึ้นกับคุณหญิงทิพาวดี ซึ่งในอนาคตอาจมีกรณีใกล้เคียงกันเกิดขึ้นซ้ำอีก” แหล่งข่าวระบุ

ปัจจุบัน อ.ก.พ.วินัย มีผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญทางกฎหมายเป็นกรรมการ มีหน้าที่โดยตรงในการวางแนวทางบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ป้องกันไม่ให้ข้าราชการประพฤฒิผิดจรรยาบรรณ การให้ออกจากราชการ การตีความ และอำนาจวินิจฉัยปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับวินัยข้าราชการ

ผลงานโบว์ดำ…มือปฏิรูปราชการ

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544

ผลงานที่สำคัญของคุณหญิงทิพาวดี ก็คือการผ่าตัดระบบราชการ นำไปสู่การปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม ครั้งใหญ่เมื่อปี 2545-2547

ช่วงเวลาดังกล่าว ก.พ. ถือเป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของระบบราชการไทย เพราะมีอำนาจสามารถชี้ถูก ผิด ให้คุณ โทษ โยก และย้าย ข้าราชการพลเรือนนับล้านคนได้ ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ต้องยำเกรง

ขณะที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เฟื่่องฟูจากอำนาจที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ทำให้สามารถเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเพื่อสร้างฐานประโยชน์ของตัวเองแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กรณีการตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากรจำนวน 4 คน เป็นตัวอย่างของการประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลข้าราชการและนักการเมืองได้อย่างชัดเจน

โดยรองอธิบดีกรมสรรพากรที่เป็นตัวละครหลัก ในการแต่งตั้งครั้งอื้อฉาวเมื่อปี 2545 ประกอบด้วย นายช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฏ์, นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ, นายวิชัย จึงรักเกียรติ และ นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา

กระบวนการเอื้อประโยชน์ เกิดขึ้นเมื่อคุณหญิงทิพาวดีมีคำสั่งแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ “ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี” โดยยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง และไม่ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักของผู้บริหารระดับสูง สามารถเข้ารับการคัดเลือกได้ ทั้งๆ ที่หลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง มีอยู่ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2543 ซึ่งถือเป็นกฎเหล็กควบคุมคุณภาพอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

เบื้องลึกของการแก้ไขระเบียบนี้ก็คือ เพื่อช่วยให้นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นสรรพากรภาค 2 ขึ้นมาเป็นใหญ่

มีการร่ำลือถึงขั้นที่ว่า นายบุญศักดิ์ มีความใกล้ชิดสนิทกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ แต่นายบุญศักดิ์ขาดคุณสมบัติบางประการจึงต้องมีการอุดรูรั่วทางกฎหมาย

ไม่เพียงเท่านั้น ข้าราชการที่ได้รับการโปรโมทครั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในวงจรการพิจารณายกเว้นภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปเรชั่น ของคนในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ รวมถึงคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้กับคนรับใช้ถือแทน

สุดท้าย รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องยืมมือคุณหญิงทิพาวดี ในการสร้าง “รันเวย์” ใหม่ให้แก่ข้าราชการกลุ่มนี้ในการไต่เต้า

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายกฎเหล็กปี 2543 ของคุณหญิงทิพาวดี ส่งผลทำให้นายไพรัช สหเมธาพัฒน์ อดีตสรรพากรภาค 1 ในขณะนั้น ซึ่งมีโอกาสจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร อันดับคะแนนหล่นไปอยู่ที่ 5 เพราะถูกนายบุญศักดิ์เบียดเข้าป้าย และเป็นที่มาของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร และทั้ง 4 คน กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร

กล่าวคือ นายช.นันท์ กลับไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษี นางจันทิมากลับไปดำรงตำแหน่งสรรพากรภาค 4 นายบุญศักดิ์กลับไปดำรงตำแหน่งสรรพากรภาค 2 ส่วนนายนายวิชัย เนื่องจากพ้นจากราชการไปแล้ว ไม่ต้องดำเนินการ

ขณะเดียวกัน วันที่ 13 มกราคม 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ มีมติชี้มูลความผิดคุณหญิงทิพาวดี รวมถึงนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร ที่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

ป.ป.ช. มีมติให้นำเรื่องส่งไปยัง รมว.กระทรวงวัฒนธรรม และ รมว.กระทรวงการคลัง ดำเนินการลงโทษทางวินัย

ในที่สุดคุณหญิงทิพวดี และนายศุภรัตน์ ก็ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ!!!