ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะวิทย์ จุฬาฯ เปิดผลทดลองอีเอ็มในห้องแลป ครั้งแรกของไทย

คณะวิทย์ จุฬาฯ เปิดผลทดลองอีเอ็มในห้องแลป ครั้งแรกของไทย

16 มกราคม 2012


การทดสอบประสิทธิภาพของอีเอ็ม ในการบำบัดน้ำเสีย โดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การทดสอบประสิทธิภาพของอีเอ็ม ในการบำบัดน้ำเสีย โดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “เมื่อนักวิทยาศาสตร์เตือนสติสังคมไทย จาก GT 200 สู่ อีเอ็มบอล…เราเรียนรู้อะไรจากอดีต” ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพของอีเอ็มในการบำบัดน้ำสีย ได้ผลการทดลองที่สรุปว่า การเติมอีเอ็มลงไปในน้ำส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนภายในน้ำลดลงไม่มีผลทำให้น้ำใสขึ้น ขณะที่ปล่อยน้ำเสียไว้ตามธรรมชาติกลับทำให้คุณภาพน้ำดีกว่าเติมอีเอ็มลงไป

จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่สร้างความเดือดให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง จนนักวิชาการบางกลุ่มแนะนำให้ใช้อีเอ็มบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอีเอ็มที่นำมาใช้ก็มีทั้งแบบที่เป็นผลิตภัณฑ์โดยบริษัทเอกชนและอีเอ็มที่กลุ่มชาวบ้านได้ผลิตขึ้นมาใช้กันเอง มีการรณรงค์ให้ใช้อีเอ็มบำบัดน้ำเสียกันอย่างแพร่หลาย เกิดการใช้งบประมาณของภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก

แต่ในขณะที่มีการรณรงค์และใช้อีเอ็มกันอย่างแพร่หลาย ก็ได้มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ออกมาคัดค้านแนวคิดการใช้อีเอ็มในการบำบัดน้ำเสีย โดยให้เหตุผลว่า อีเอ็มไม่สามารถช่วยบำบัดน้ำเสียได้และยังทำให้น้ำเสียมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสับสนในสังคมว่าอีเอ็มสามารถใช้บำบัดน้ำเสียได้จริงหรือไม่

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำการทดลองในวันที่ 6–16 ธันวาคม 2554 เพื่อทดสอบว่าอีเอ็มสามารถบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยการเพิ่มปริมาณค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำได้จริงหรือไม่ และนอกจากนี้ยังศึกษาด้วยว่า ความสามารถในการบำบัดน้ำเสียดังกล่าว (ถ้ามี) มาจากการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำเสีย หรือมาจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เชื้อสร้างขึ้นระหว่างนำมาขยายด้วยกากน้ำตาลก่อนเอาไปทดลอง

การทดลองครั้งนี้ ถือเป็นการทดลองอย่างเป็นทางการครั้งแรกของสถาบันวิจัยในประเทศไทย ในรูปแบบการทดลองที่มีการกำหนดชุดควบคุมในพื้นที่ปิด ซึ่งต่างจากการทดลองครั้งอื่นๆ ก่อนหน้า ที่ทำกันในพื้นที่เปิดหรือในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีชุดควบคุม

วิธีการทดลองนี้เริ่มจากเก็บน้ำเสียในบริเวณที่มีการท่วมขังปริมาตร 80 ลิตร ตวงใส่โหลแก้วขนาด 2 ลิตร โหลละ 1 ลิตร จำนวน 45 ใบ จัดแบ่งโหลน้ำเสียเป็น 3 ชุดการทดลอง คือ ชุดควบคุม (ไม่ใส่อีเอ็ม) ชุดอีเอ็ม (ใส่อีเอ็มที่เตรียมจากการนำหัวเชื้ออีเอ็มที่เป็นที่นิยมยี่ห้อหนึ่ง มาขยายเพิ่มด้วยกากน้ำตาลตามปริมาณที่กำหนด เป็นเวลา 2 วัน) และชุด filtrated EM (ใช้อีเอ็มที่ขยายแล้ว มากรองเอาเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็มออกด้วยกระดาษกรองเนื้อละเอียดสูง ให้เหลือแต่น้ำและผลิตภัณฑ์ที่เชื้อสร้างขึ้น) โดยเติมอีเอ็ม และ filtrated EM อย่างละ 1 มิลลิลิตร ตามชุดการทดลองที่กำหนด

จากนั้น จัดวางชุดการทดลองตามลำดับวันที่จะเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจ คือ ชุดวันที่ 0 (วันแรก) 1 วัน 2 วัน 4 วัน และ 7 วัน โดยใช้วิธี Complete Randomized Design (CRD) ในการสุ่มวางตำแหน่งของโหลน้ำเสีย เพื่อให้แสงจากหลอดไฟขนาด 60 วัตต์ ที่ฉายให้วันละ 12 ชั่วโมง สามารถกระจายได้ทั่วถึงโดยสุ่ม เปิดฝาขวดทิ้งไว้เผื่อให้น้ำสัมผัสกับอากาศ

ในแต่ละครั้งที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจ จะนำมาถ่ายรูปกับฉากหลังฟิวเจอร์บอร์ดสีขาว จากนั้นแบ่งตัวอย่างน้ำไปตรวจค่า BOD ซึ่งจะต้องใส่สารเคมีเพื่อตรึงออกซิเจนในน้ำก่อน น้ำที่เหลือนำใส่กระบอกส่งไปหน่วยงานมาตรฐานที่รับตรวจคุณภาพน้ำ โดยขอตรวจค่า Biological Oxygen Demand (BOD), Chemical Oxygen Demand (COD), Dissolved Oxygen (DO) (ด้วยวิธีไทเทรต), ค่าไนโตรเจนอินทรีย์ในน้ำ (Organic Nitrogen) และค่า Total Suspended Solid (TSS; ของแข็งที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ เพื่อดูความสามารถในการตกตะกอนของอีเอ็มให้น้ำใสขึ้น) ก่อนนำผลที่ได้มาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของอีเอ็ม และหาความแตกต่างทางสถิติของค่าเฉลี่ยทั้ง 5 ตัวแปร ในแต่ละวันระหว่างชุดการทดลอง ด้วยวิธี One way ANOVA

เมื่อครบ 7 วัน พบว่าน้ำใสหมดทุกขวด และแต่ละขวดก็ใสพอๆ กัน แสดงว่าไม่ต้องใช้อีเอ็มหรือน้ำกรองอีเอ็ม เชื้อที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็สามารถทำให้น้ำใสได้ ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม คือ มีการถ่ายเทของอากาศที่เพียงพอ และไม่มีสารอินทรีย์เติมเข้าไปเพิ่มในระบบ

ส่วนผลการวัดและวิเคราะห์ดัชนีคุณภาพน้ำ เริ่มจากค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand – ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ค่ายิ่งมากยิ่งสกปรก) พบว่าอีเอ็มไม่ได้มีผลทำให้ค่า BOD ลดลงในอัตราที่เร็วกว่าชุดควบคุมแต่อย่างไร รวมทั้งไม่ได้เร็วกว่าชุดน้ำอีเอ็มที่กรองเอาเชื้อออกด้วย

สำหรับค่า COD (Chemical Oxygen Demand – ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์) พบว่าในแต่ละชุดการทดลอง พบว่ามีค่าค่อนข้างคงที่ (ไม่ได้มีแนวโน้มลดลงอย่างค่า BOD )

อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่า DO (Dissolved Oxygen – ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ค่ายิ่งมากยิ่งดี) ชี้ให้เห็นว่าเชื้ออีเอ็มไม่สามารถสร้างออกซิเจนเองได้ เนื่องจากค่า DO ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้สูงกว่าชุดควบคุม

ค่าเฉลี่ยของไนโตรเจนอินทรีย์ (Organic Nitrogen – บ่งชี้ของเสียในน้ำ) ในแต่ละชุดการทดลอง พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในทุกชุดการทดลองของแต่ละวัน จึงแสดงให้เห็นว่า ทั้งอีเอ็มและ filtrated EM ไม่ได้ส่งผลให้ไนโตรเจนอินทรีย์ในน้ำเสียมีค่าลดลงแต่อย่างใด

และสุดท้ายคือ ค่าเฉลี่ยของ TSS (Total Suspended Solid – เป็นการวัดค่าตะกอนที่อยู่ในน้ำ) พบว่าในวันแรกที่เพิ่งจะเริ่มต้นการทดลองเท่านั้น ที่ค่า TSS ในชุดควบคุมมีค่าต่ำกว่าในชุดอีเอ็มและชุด filtrated EM อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากนั้นก็ไม่มีความแตกต่างกันอีกเลย

จากการทดลองทั้งหมดจึงนำปสู่ข้อสรุปที่ว่า การเติมอีเอ็มลงไปในน้ำส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนภายในน้ำลดลง โดยอีเอ็ม หรือส่วนน้ำใสของอีเอ็ม (filtrated EM) ไม่ได้มีผลให้น้ำใสขึ้น และจากดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำทั้ง 5 ตัวแปร ชุดควบคุมซึ่งเป็นการปล่อยน้ำเสียไว้ตามธรรมชาติให้ค่าที่ดีกว่าชุดการทดลองที่มีการเติมอีเอ็ม และ filtrated EM

หลังจากที่ผลการทดลองออกมา ได้มีผู้นำการทดลองดังกล่าวไปลงใน เว็บไซต์พันทิป ห้องหว้ากอ ซึ่งเป็นห้องที่พูดคุยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนนำไปสู่การถกเถียงทั้งจากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผลการทดลองเป็นจำนวนมาก โดยประเด็นหลักๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันคือ วิธีการทดลองที่อาจยังมีข้อบกพร่อง โดยตัวอย่างน้ำที่นำมาทดลองในครั้งนี้นั้น ไม่ตรงกับน้ำในสภาวะน้ำท่วมที่มีขยะมูลฝอยขนาดใหญ่ปนอยู่ในน้ำ แต่น้ำที่นำมาใช้ทดลองกลับนำขยะมูลฝอยขนาดใหญ่ออกไป หรือกรณีน้ำที่นำมาทดลองมีค่า BOD ต่ำ คือประมาณ 14 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นน้ำเสียมาก และการขยายเชื้ออีเอ็มในกากน้ำตาลเพียง 2 วัน ยังไม่ยาวนานเพียงพอ อีเอ็มจึงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อสอบถามไปยัง ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาฯ ทีมการทดลอง ผศ.ดร.เจษฎาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การทดลองในครั้งนี้เป็นการตอบคำถามในเบื้องต้นว่า อีเอ็มทำให้มีค่าออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ แต่ผลการทดลองได้ชี้ว่า อีเอ็มไม่ได้ช่วยออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นได้ ส่วนกรณีสิ่งที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นมาจากอาหารหรือกากน้ำตาลต่างๆ ได้มีการเพิ่มชุดการทดลองโดยกรองเอาเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็มออก ให้เหลือแต่น้ำและสิ่งที่เชื้อสร้างขึ้นก็พบว่าให้ผลไม่ต่างกัน เมื่อดูจากชุดควบคุมที่ไม่ได้ใส่อะไรลงไปก็พบว่า น้ำสามารถบำบัดตัวเองได้ดีโดยที่ไม่ต้องใส่อีเอ็มลงไป

การทดลองครั้งนี้ต่างจากการการทดลองอื่นๆ ที่ทำกันในแหล่งน้ำธรรมชาติและไม่มีชุดควบคุม ทำให้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ที่น้ำดีขึ้นเป็นเพราะอีเอ็มหรือเพราะน้ำมีการบำบัดตัวเอง แต่การทดลองในห้องแล็บที่มีชุดควบคุม จะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างชุดควบคุมกับชุดที่มีการใส่อีเอ็มลงไป

ผศ.ดร.เจษฎากล่าวว่า การทดลองครั้งนี้ ยังมีสิ่งที่ขาดคือการตรวจดูปริมาณเชื้อในแต่ละวันว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนที่มีความยุ่งยากและใช้งบประมาณสูง เพราะการทดลองครั้งนี้ก็ใช้งบประมาณไปกว่า 50,000 บาทแล้ว

ส่วนความเห็นโต้แย้งเรื่องน้ำเสียที่มีค่า BOD ต่ำเกินไป ผศ.ดร.เจษฎาชี้แจงว่า น้ำที่เอามาใช้ทดลองถือเป็นน้ำเสียตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และการทดลองนี้ก็ต้องการหาคำตอบว่า น้ำเสียจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ อีเอ็มสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหนไม่ใช่นำน้ำเสียจากโรงงานมาทดลอง และเรื่องกลิ่นก็ไม่ใช่โจทย์หลักในการทดลองครั้งนี้ เพราะกลิ่นเป็นเรื่องของความรู้สึก ทำให้ยากในการคาดการณ์เป็นตัวเลขตามหลักทดลองทางวิทยาศาสตร์

“เรื่องการนำขยะมูลฝอยใส่ลงไปในน้ำที่ทำการทดลองนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี หากมีการออกแบบการทดลองและสามารถมาแสดงให้ดูได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ในความจริงเป็นเรื่องยาก ที่จะหาขยะหรือของเสียที่มีคุณสมบัติเดียวกันในปริมาณที่เท่ากันมาทดลอง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะการทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นการพยายามควบคุมปัจจัยให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เหลือแค่ประเด็นที่จะควบคุมและนำผลมาตรวจสอบกัน” ผศ.ดร.เจษฎากล่าว

ส่วนเรื่องระยะเวลาในการหมัก ที่มีคนอ้างว่ายิ่งหมักนานจะทำให้มีสารออกมามากนั้น ในทางจุลชีวิทยาพบว่า จุลินทรีย์ต่างๆจะสร้างสารในช่วง 2 วันแรก ดังนั้นเวลา 2 วัน จึงเพียงพอ โดยการทดลองครั้งนี้ใช้อีเอ็มในปริมาณมากกว่าที่มีการแนะนำ คือใช้อีเอ็มต่อน้ำ 1:1,000 เท่า มากกว่าปริมาณที่มีการแนะนำ คือ 1:10,000 เท่า

“หลังจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 มกราคม 2555 และเผยแพร่เป็นบทความลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ โดยเปิดโอกาสให้คนอื่นที่ทำการทดลองนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งหากมีคนไม่เห็นด้วยกับผลการทดลอง ก็สามารถทำการทดลองแล้วนำผลมาโต้แย้งได้ตามหลักวิทยาศาตร์” ผศ.ดร.เจษฎากล่าว

ดัชนีคุณภาพน้ำของการทดลองนี้ มีความหมายอย่างไร

จากการทดลอง เมื่อตั้งโหลน้ำเสียไว้ที่อุณหภูมิห้อง และให้สัมผัสอากาศโดยตรง ลักษณะของน้ำเสียในแต่ละวันจากการสังเกตด้วยตาเปล่า พบว่าน้ำจะเริ่มใสขึ้นชัดเจนเมื่อผ่านไป 4 วัน โดยเห็นตะกอนตกลงไปกองที่พื้นขวดของทุกขวด

เริ่มจากรูปของวันแรกเริ่มใส่น้ำลงขวด (นับเป็นวันที่ 0)พบว่าทั้ง 3 ชุด (c ควบคุม e ใส่อีเอ็ม w ใส่อีเอ็มกรองเชื้อออก) จะดูขุ่นเท่าๆ กัน
เมื่อผ่านไป 1 วัน เริ่มเห็นการจับตัวของตะกอนที่แขวนลอยในน้ำ สังเกตว่า เกิดขึ้นทุกชุดการทดลองรวมถึงชุดควบคุมด้วย
ไม่ใช่เฉพาะชุดอีเอ็ม
เมื่อผ่านไป 4 วัน น้ำเริ่มใสอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อครบ 7 วัน น้ำใสหมดทุกขวด และใสพอๆ กันด้วย แสดงว่าไม่ต้องใช้อีเอ็มหรือน้ำกรองอีเอ็ม เชื้อที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็สามารถทำให้น้ำใสได้ ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม คือ มีการถ่ายเทของอากาศที่เพียงพอ และไม่มีสารอินทรีย์เติมเข้าไปเพิ่มในระบบ

ส่วนผลการวัดและวิเคราะห์ดัชนีคุณภาพน้ำค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ถ้าค่าบีโอดีสูงแสดงว่าความต้องการออกซิเจนสูง นั่นคือมีความสกปรกหรือสารอินทรีย์ในน้ำมาก เมื่อพิจารณาความสกปรกของน้ำในรูป BOD ในวันที่ 0 พบว่า ชุดควบคุมมีค่า BOD เท่ากับ 13.33±0.58 มก./ลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 4 (มีค่าได้ไม่เกิน 4 มก./ลิตร) แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม (มีค่าได้ไม่เกิน 20 มก./ลิตร) เป็นเครื่องยืนยันว่าน้ำที่นำมาใช้ทดลองถือว่าเป็นน้ำเสียจริง (แต่ไม่ได้สูงมากเท่าระดับน้ำเสียจากโรงงาน) ตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ

หลังจากเติมอีเอ็มเอบำบัดน้ำเสีย (ชุดอีเอ็ม) พบว่า BOD มีค่าเท่ากับ 21.33±1.53 มก./ลิตร สูงกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่ชุดเติม filtrated EM มีค่า BOD เท่ากับ 19.67±1.53 มก./ลิตร ซึ่งสูงกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่แตกต่างทางสถิติจากชุดเติมอีเอ็ม จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหลังจากเติมอีเอ็มเพื่อบำบัดน้ำเสีย กลับจะส่งผลให้น้ำเสียมีความสกปรกมากขึ้นทันที เนื่องจากเป็นการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์และจุลินทรีย์ลงไปในน้ำเสีย ทำให้เมื่อมีการใส่อีเอ็มลงในน้ำเสีย เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอีเอ็มจะต้องนำออกซิเจนที่อยู่ในน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ค่า BOD ที่ตรวจวัดได้มีค่าสูงในวันแรกๆ ของการทดลอง

กราฟแสดงค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand – ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ค่ายิ่งมากยิ่งสกปรก)

จนเมื่อผ่านไปถึงวันที่ 4 น้ำเสียไม่มีแหล่งอาหารเหลือพอที่จะทำให้เชื้ออีเอ็มสามารถที่จะเพิ่มจำนวนได้ ทำให้ค่า BOD ของชุดอีเอ็มไม่มีความแตกต่างกันกับของชุดควบคุม ส่วนชุดการทดลองที่เป็น filtrated EM นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ แต่ภายในน้ำดังกล่าวมีสารอินทรีย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นจากตัว filtrated EM เอง ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมในน้ำเสีย สามารถที่จะนำสารอินทรีย์ดังกล่าวไปใช้ได้ ทำให้ค่า BOD ของชุดการทดลองนี้ค่าสูงกว่าชุดควบคุมเช่นกัน แสดงว่าอีเอ็มไม่ได้มีผลทำให้ค่า BOD ลดลงในอัตราที่เร็วกว่าชุดควบคุมแต่อย่างไร รวมทั้งไม่ได้เร็วกว่าชุดน้ำอีเอ็มที่กรองเอาเชื้อออกด้วย

กราฟแสดงค่า COD (Chemical Oxygen Demand – ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์)

สำหรับค่า COD (Chemical Oxygen Demand) คือค่าปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์ด้วยวิธีการทางเคมี มักใช้เทียบหาค่าบีโอดีโดยคร่าวๆ ปกติัอัตราส่วน COD:BOD ของน้ำเสียชุมชนมีค่าประมาณ 2-4 เท่า ในแต่ละชุดการทดลอง พบว่ามีค่าค่อนข้างคงที่ (ไม่ได้มีแนวโน้มลดลงอย่างค่า BOD ) และไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างแต่ละชุดการทดลองในวันที่ 0, 1, 2 และ 4 ยกเว้นจนกระทั่งถึงวันที่ 7 ของการทดลองที่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยของ COD ในชุดควบคุมมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ COD ในชุดอีเอ็ม และชุด filtrated EM ในวันที่ 7 ของการทดลอง

กราฟแสดงค่า DO (Dissolved Oxygen – ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ค่ายิ่งมากยิ่งดี)

สำหรับอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่า DO ซึ่งเป็นค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แหล่งน้ำที่เหมาะแก่การดำรงชีวิต การขยายพันธุ์และการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ควรมีค่า DO ไม่ต่ำกว่า 5 มก./ลิตร ถ้าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำกว่า 2 มก./ลิตร จะไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และถ้าไม่มีปริมาณ DO จะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยค่า DO ยิ่งมีมากถือว่าดี

ระหว่างชุดการทดลองนั้น พบว่าระหว่างวันที่ 0 ถึงวันที่ 1 ของการทดลอง น้ำเสียที่มีการเติมอีเอ็มลงไป มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่า DO แตกต่างทางสถิติจากน้ำเสียในชุดควบคุมและที่เติม filtrated EM อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเห็นได้ชัดถึงการที่จุลินทรีย์อีเอ็มในชุดทดลอง มีการนำออกซิเจนในน้ำไปใช้อย่างมากในวันแรกของการทดลอง พอเข้าช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 ถึง วันที่ 2 ของการทดลอง พบว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่า DO ของน้ำเสียในชุดอีเอ็มเริ่มกลับมามีมากขึ้น โดยมีอัตราการเพิ่มของค่า DO มากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ชุดควบคุมและชุดเติม filtrated EM มีอัตราการเพิ่มของค่า DO ไม่แตกต่างกัน ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวเข้าสู่สมดุลของชุดอีเอ็มที่เชื้ออีเอ็มลดการใช้ออกซิเจนลง แต่ไม่ใชว่าเชื้อจะสามารถสร้างออกซิเจนเองได้ เนื่องจากค่า DO ที่เพิ่มขึ้นเร็วนั้น ก็ยังไม่ได้สูงกว่าชุดควบคุมอยู่ดี นั้นคือ เมื่อพิจารณาถึงปริมาณค่า DO ที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 จะพบว่า ปริมาณของค่า DO ที่เพิ่มขึ้นในชุดควบคุมมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ดี และแตกต่างจากชุดอีเอ็มและชุด filtrated EM อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

กราฟแสดงค่าเฉลี่ยของไนโตรเจนอินทรีย์ (Organic Nitrogen – บ่งชี้ของเสียในน้ำ)

ค่าเฉลี่ยของไนโตรเจนอินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงของเสียที่อยู่ในน้ำ ในแต่ละชุดการทดลอง พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในทุกชุดการทดลองของแต่ละวัน จึงแสดงให้เห็นว่า ทั้งอีเอ็ม และ filtrated EM ไม่ได้ส่งผลให้ไนโตรเจนอินทรีย์ในน้ำเสียมีค่าลดลงแต่อย่างใด

กราฟแสดงค่า TSS (Total Suspended Solid – เป็นการวัดค่าตะกอนที่อยู่ในน้ำ)

ค่าเฉลี่ยของ TSS ซึ่งเป็นการวัดค่าตะกอนที่อยู่ในน้ำ โดยเป็นค่าที่แสดงถึงความขุ่นของน้ำ โดยที่ค่า TSS สูง แสดงให้เห็นว่าน้ำมีความขุ่น ในแต่ละชุดการทดลอง พบว่าเฉพาะในวันแรกที่เพิ่งจะเริ่มต้นการทดลอง ที่ค่า TSS ในชุดควบคุมมีค่าต่ำกว่าในชุดอีเอ็มและชุด filtrated EM อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากนั้นก็ไม่มีความแตกต่างกันอีกเลย