ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทักษิณ & เปรมชัย คอนเน็คชั่น ดูดเงินลงทุนทวายสองแสนล้าน

ทักษิณ & เปรมชัย คอนเน็คชั่น ดูดเงินลงทุนทวายสองแสนล้าน

27 ธันวาคม 2011


มีสัญญาณชัดจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืองน้ำลึก ที่เมืองทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า ซึ่งบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานนานถึง 60 ปี

ถือเป็นการเบนเข็มนโยบายแบบ 360 องศา หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ค่อนข้าง “เย็นชา” กับเมกะโปรเจกต์เฟสแรกมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีการผลักดันโครงการในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ซึ่งเคยประกาศว่าโครงการลงทุนทวาย ไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ก็ยังต้องกลับลำ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกผัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางเยือน นครเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ไปเมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค. 2554 เพื่อร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และได้พบกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่เพิ่งได้รับอิสรภาพ เดินตามรอย นางฮิลลาลี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ได้มาเชื่อมสัมพันธ์ไว้ก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันหลังเทศกาลปีใหม่ ในวันที่ 7 ม.ค. 2555 นี้ ทางรมว.ต่างประเทศ รมว.คลัง และรมว.คมนาคม ก็เตรียมการลงพื้นที่ก่อสร้างทวายโปรเจกต์ เพื่อตอกย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้สนับสนุนการขยายโครงสร้างพื้นฐานมายังเขตเศรษฐกิจใหม่ของเพื่อนบ้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้แกนนำรัฐบาลเข้าไปสนับสนุนโครงการนี้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในด้านการเงินที่โปรเจกต์ระดับนี้ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งทางบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้พยายามจัดโรดโชว์ดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืองน้ำลึก ที่เมืองทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-LmZLYjRBxYc/Ta-vnyUZ-WI/AAAAAAAAAMY/DBcDLPkw-fk/s1600/Dawei1.jpg
นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืองน้ำลึก ที่เมืองทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-LmZLYjRBxYc/Ta-vnyUZ-WI/AAAAAAAAAMY/DBcDLPkw-fk/s1600/Dawei1.jpg

แหล่งข่าว กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้คอนเน็คชั่นส่วนตัวในการชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้าไปร่วมทุน ทั้งการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยหลักๆจะเป็นการระดมทุนจากสถาบันการเงินส่วนหนึ่งและภาคเอกชนอีกส่วนหนึ่ง

“การระดมทุนในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ แม้ทางอิตาเลียนไทยจะต้องการถือหุ้นเอง 51 % แต่ก็ยังต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดอีกกว่าแสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินมหาศาลไม่ใช่เรื่องง่ายในการหาผู้สนับสนุน”แหล่งข่าวระบุ

ก่อนหน้านี้ นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานกรรมการบริหารบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนธ.ค. 2554 เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าพักในโรงแรมหรูแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์เช่นกัน

หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ธ.ค.2554 ตามแผนคารวะผู้นำอาเซียนหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งมีข่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตผู้นำไทยและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ได้พบกันอย่างลับๆที่สิงคโปร์ เพื่อติวเข้มเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจ

แหล่งข่าว กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังให้มีการตั้งทีมพิเศษเข้ามาเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการทวายดังกล่าว โดยดึงบุคลากรที่มีฝีมือด้านการต่างประเทศและมีคอนเน็คชั่นกับรัฐบาลพม่า ในพรรคเพื่อไทย มาเป็นตัวช่วยในการผลักดันให้เฟสแรกของการลงทุนสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทย ถือว่ามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกันอย่างใกล้ชิด ในสมัยที่บริษัทอิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิวงเงินงบประมาณกว่าแสนล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานก่อสร้างหลายแห่งในต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือทวายโปรเจกต์

สัญญาที่ลงนามระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศพม่าและบริษัทอิตาเลียนไทยเมื่อเดือนพ.ย. 2553 ระบุถึงโครงการลงทุนดังกล่าวว่า ทางการพม่าจะจัดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในการขยายการลงทุน โดยครอบคลุมการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมหนัก อาทิ โรงงานเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ ปิโตรเลียมคอมเพล็กซ์ และโรงงานผลิตปุ๋ย

นอกจากนั้น ทางผู้รับสัมปทานจะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก เมืองพาณิชยกรรมและอยู่อาศัยควบคู่ไปกับเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นถนน รถไฟ และท่าส่งก๊าซ เชื่อมโยงมายังจังหวัดกาญจนบุรี เขตชายแดนของประเทศไทย โดยอิตาเลียนไทยจะได้รับสัมปทานระยะยาว 60 ปี และอาจมีการต่ออายุได้ตามความเหมาะสม

ที่ผ่านมาทางประเทศจีนและอินเดีย สนใจที่จะลงทุนในโครงการดังกล่าวมาก เพราะจะได้ประโยชน์จากการเปิดท่าเรือน้ำลึกที่ชายทะเลฝั่งตะวันตก ขณะที่ประเทศไทยจะสามารถส่งสินค้าไปยังยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ได้รวดเร็วมากขึ้น

โดยนายเปรมชัย ในฐานะประธานกรรมการบริษัทอิตาเลียนไทย ได้จัดโรดโชว์ดึงดูดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมคัดเลือกให้ธนาคารไทยพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาการลงทุน มีการจัดโรดโชว์ทั้งที่เกาหลี, จีน และสิงคโปร์

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ล่าสุดทางรัฐบาลพม่าได้เร่งรัดให้บริษัทอิตาเลียนไทย เริ่มเดินหน้าโครงการลงทุน เพราะต้องการใช้โครงการนี้เป็นการโชว์ให้ต่างชาติเห็นว่าพม่ามีการเปิดประเทศจริง และต้องการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจ เหมือนในช่วงที่จีนเปิดประเทศเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

“แรงบีบของรัฐบาลพม่า เป็นสาเหตุให้ทางอิตาเลียนไทย ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเร่งเจรจากับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทเพื่อผลักดันโครงการให้สำเร็จ เห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้”แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม อีกปัญหาหนึ่งที่ทางบริษัทอิตาเลียนไทย ต้องพบในการบุกเบิกพื้นที่เมืองทวายก็คือปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ยังมีอยู่ เพราะพื้นที่สัมปทานยังเป็นป่าเขาและชายฝั่งทะเลนับแสนไร่ ที่ไม่เคยมีการพัฒนามาก่อน และความเจริญยังเข้าไปไม่ทั่วถึง ทำให้มีชนกลุ่มน้อยกระจัดกระจายหลายพวก ซึ่งแต่ละพวกก็มีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่รัฐบาลพม่าจะเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนเท่านั้น แต่ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก กำลังจับตาดูการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ในพม่า

“เชื่อว่ารัฐบาลพม่าจะเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่เร็วๆนี้ เนื่องจากพม่าเองก็ต้องการรายได้ ไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในเมืองเนปยีดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ต้องใช้เงินมหาศาล” แหล่งข่าวระบุ

นักลงทุนยังมองว่า บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในพม่า ยิ่งทำให้โอกาสที่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากบริษัทพลังงานหลายประเทศทราบดีถึงศักยภาพแหล่งพลังงานที่มีเหลือเฟือในพม่า

ในส่วนของรัฐบาลไทยจะเน้นเจรจาทวิภาคี เพื่อให้โอกาส บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(มหาชน)หรือปตท.สผ. ให้ได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทผู้รับสัมปทาน รวมถึงการร่วมกันศึกษาการสร้างเขื่อน กั้นแม่น้ำสาละวิน เพื่อกักเก็บน้ำและผลิตไฟฟ้า แต่ยังติดปัญหาการต่อต้านจากชนกลุ่มน้อย

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่เมืองทวาย ซึ่งจะเป็นโครงการขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง ขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังศึกษาร่วมกันเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมหนักที่จะเกิดขึ้น

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า 1.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 25 % ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่ายังมีการสำรวจและนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ไม่มากนัก และคาดว่าในพม่าจะมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมหาศาล ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติของไทยมีปริมาณลดลงอย่างชัดเจน

“เป้าหมายในการเจรจาด้านพลังงานที่ประเทศไทยต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ การเจรจาเรื่องสัมปทานก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยนำก๊าซธรรมชาติจากพม่าส่งกลับมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น”นายทรงภพระบุ

ก่อนหน้านี้ ทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต จำกัด (มหาชน) เข้าไปสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในพื้นที่แหล่งซอติก้า ในแปลง M9 ตั้งแต่ปี 2551 และจะมีเป้าหมายการส่งก๊าซฯกลับมายังไทยเพิ่มอีก 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2556 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

แน่นอนว่าคอนเน็คชั่นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมจะทำให้ไทยได้อานิสงค์จากการเปิดประเทศของพม่า และหากไม่ช่วงชิงผลประโยชน์ตอนนี้ ไทยอาจเสียโอกาสให้กับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ปูทางเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วก็ได้

เส้นทางสัมปทาน 60 ปี

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ไทยและสหภาพพม่า ได้บรรลุความตกลงร่วมกันในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี โดย รมว.ต่างประเทศของไทย และรมว.กระทรวงการต่างประเทศของพม่าได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ในเมืองทวาย ซึ่่งเป็นเมืองหลวงของเขตตะนาวศรี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ใกล้ชายแดนจังหวัดกาญจนบุรีของไทย

จากนั้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นช่วงการบริหารในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการท่าเรือพม่า (Myanmar Port Authority: MPA) กับบริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวลลอปเมนต์ ในการสำรวจและดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ มีการลงนามในกรอบความตกลงกันเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับพม่า โดยผู้ได้รับสัมปทานจะก่อสร้าง ดำเนินการ และโอนคืนกรรมสิทธิ์แก่รัฐตามระยะเวลาที่ตกลงไว้ (Build Operate and Transfer หรือ BOT) ในระยะเวลาโครงการ 60 ปี

เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้งบประมาณทั้งหมดราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.9 แสนล้านบาท โดยเงินลงทุนในโครงการนั้น จะเป็นลักษณะการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติที่มีความชำนาญในแต่ละธุรกิจ ที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการดังกล่าว

สำหรับรายละเอียดโครงการประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือเส้นทางคมนาคมระหว่าง จ.กาญจนบุรี และท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นการก่อสร้างเส้นทางถนน 4 เลน ระหว่างบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร และจะมีการพัฒนาเป็นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงจังหวัดกาญจนบุรีกับทวายในอนาคตด้วย

การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย จะตั้งอยู่บริเวณตำบล Nabule ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทวายไปทางตอนเหนือเป็นระยะทาง 34 กิโลเมตร กำหนดโครงสร้างท่าเรือไว้ 2 ท่า แต่ละท่ามี 2 เทอร์มินอล (Terminal) ซึ่งจะรองรับสินค้าแตกต่างกัน โดยในเฟสแรกจะทำการก่อสร้างเพียง 1 ท่า นอกจากนี้ ยังมีแผนการก่อสร้างอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ระดับเรือ VLCC (Very Large Crude Oil Carrier) และเรือ ULCC (Ultra Large Crude Oil Carrier) ได้

ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จในปี 2563 คาดว่าท่าเรือน้ำลึกทวายจะมีศักยภาพรองรับสินค้าได้มากถึง 200 ล้านตัน หรือเทียบเท่า 14 ล้าน TEU (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ต่อปี ซึ่งมากกว่าท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม อยู่บนพื้นที่ราว 250 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ราว 2 แสนไร่ ประกอบด้วยโซน A คือ เขตอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือ โซน B เขตอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โซน C1 เขตอุตสาหกรรมปลายน้ำ โซน C2 เขตอุตสาหกรรมต้นน้ำ โซน D เขตอุตสาหกรรมขั้นกลาง และโซน E เขตอุตสาหกรรม

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมจะมีการก่อสร้างในเฟสสอง หลังจากที่ท่าเรือน้ำลึกทวายก่อสร้างไปได้ระยะหนึ่งแล้ว

โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่จะอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อาทิ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 440 เมกะวัตต์ โรงบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนราชการเพื่อดูแลจัดการและบริหารอื่นๆ รวมถึงเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟในพม่า เป็นต้น