ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำมา..อาสาฯ เห็นอะไร

น้ำมา..อาสาฯ เห็นอะไร

1 ธันวาคม 2011


รณพงศ์ คำนวณทิพย์
Twitter: @rockdaworld

น้ำมีทั้งให้คุณและให้โทษ วิกฤติน้ำท่วม ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้จะทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั้งประเทศ สั่นคลอนสภาวะเศรษฐกิจและภาคการผลิตไปได้ทั้งโลกในหลายอุตสาหกรรม แต่น้ำท่วมครั้งนี้ก็ยังได้แสดงธรรมให้เห็นว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน และตอกย้ำให้รู้ซึ้งว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้น้ำยังเผยให้เห็นธาตุแท้ของคนในสังคมให้เราได้เห็น และมีแง่มุมที่น่าสนใจอีกมากมาย

แม้เราผู้รอดชีวิตจากอุทกภัยครั้งจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน แต่แน่นอนว่าประสบการณ์ย่อมแตกต่างกัน บ้างต้องสูญเสีย ชีวิต ทรัพย์สิน บุคคลอันเป็นที่รัก แต่บางคนก็ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ละคนได้เห็นภาพของน้ำท่วมกันคนละมุม คนละส่วน เปรียบเหมือนคนที่เห็นส่วนต่างๆของช้าง บางคนเห็นหู บางคนเห็นหาง บางคนเห็นงวง แทนที่จะมามัวถกเถียงกันว่าสิ่งที่ตนเห็นนั้นมันคือสัตว์อะไร จะเป็นเรื่องที่ดีถ้าเรานำภาพเหล่านั้นมาประกอบรวมกันเป็นภาพใหญ่ เพื่อที่จะได้เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ไปพร้อมๆกัน และสามารถเตรียมการณ์รับมือ บริหารจัดการภัยพิบัติต่างๆเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ในอนาคตกันครับ

นั่นเป็นที่มาของเหล่าอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ อย่างเช่น สภากาชาดไทย แพทยสภา มูลนิธิ1500ไมล์ #FM99 อาสาสไมล์ Gen-V(คนรุ่นใหม่หัวใจอาสา) สยามอาสา Backline2011 “Wellness Today For Beautiful Tomorrow” บ้านอาสาใจดี ดูดีคลับ ทวิตเตอร์ฟอร์ไทยแลนด์(#TWT4TH) และ อาสาประเทศไทย(Volunteer Connex) ได้มารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับพิบัติภัยครั้งนี้ จนทำให้ได้ข้อคิดแง่มุมต่างๆที่น่าสนใจจากเหล่าอาสาสมัครดังนี้ครับ

รุนแรงเหลือเกิน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้มีความรุนแรง ขยายวงกว้าง และกินเวลานานมากกว่าทุกครั้งชนิดที่คนไทยในยุคนี้ไม่มีใครเคยประสบ ด้วยความรุนแรงของมัน ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดจะเข้าไปดูแลผู้ประสบภัยได้ทั้งหมด และที่สำคัญคือ อาสาฯจำนวนไม่น้อยกลับกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบากครับ

เหนือความคาดเดา น้ำท่วมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่คนในหลายพื้นที่เตรียมตัวรับมือไม่ถูก เพราะเป็นน้ำทุ่งที่ล้นมาจากแม่น้ำถึงเคลื่อนตัวมาอย่างช้าๆ แต่ด้วยมวลมหาศาล มันจึงมีความรุนแรงจนสามารถทำลายคันกันน้ำต่างๆได้อย่างง่ายดาย มิหนำซ้ำมันยังสามารถมุดมาตามท่อน้ำบนถนน และภายในอาคารบ้านเรือนต่างๆได้อีกด้วย การกั้นแนวกระสอบทรายหน้าบ้านจึงแทบจะไร้ประโยชน์

นักวิชาการและอาสาฯหลายๆคนต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่าการพยากรณ์ความเคลื่อนไหวของน้ำทำได้ยากเพราะนอกจากปัจจัยทางธรรมชาติที่ยากจะคาดเดาแล้ว ยังมีหลายปัจจัยที่มีผลจากฝีมือมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เช่นการตั้งแนวคันกั้นน้ำของอาคารบ้านเรือน ความตื้นเขินของคูคลอง (ในหลายพื้นที่พบว่าคูคลองในพื้นที่ได้หายไป เพราะมีคนถมเพื่อยึดเอาที่ดิน) การอุดตันของท่อระบายน้ำ และการเปิดปิดประตูระบายน้ำต่างๆ

ดังนั้นการคาดการณ์ที่ดีที่สุดคือการประมวลผล ณ สถานที่จริง โดยนำข้อมูลทุกด้านที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ดาวเทียม แผนที่ทางภูมิศาสตร์ มาวิเคราะห์ร่วมกับ ปัจจัยแวดล้อม เช่นระดับน้ำในแหล่งน้ำใกล้เคียง ระดับน้ำในท่อน้ำ จึงจะสามารถทำการพยากรณ์ได้อย่างใกล้เคียงมากที่สุด เช่นถ้าบริเวณใกล้เคียงท่วมไล่กันมาแล้ว และระดับน้ำโดยรอบสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความสูงของพื้นที่ เช่น หากต่ำกว่าบริเวณรอบข้างก็ต้องเตรียมการอพยพทันที ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก เพราะถึงแม้จะใช้โมเดลหรือสูตรคณิตศาสตร์ใดๆ ก็ไม่สามารถตอบเราได้ดีกว่าการวิเคราะห์จากความเป็นจริงครับ

ช่วยเหลือลำบาก เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่ยอมอพยพออกจากพื้นที่ด้วยเหตุผลต่างๆกัน ทั้งประเมินความรุนแรงของน้ำท่วมต่ำเกินไป คิดว่าคงท่วมไม่เยอะ ท่วมไม่นาน หรือยังไงก็ไม่ยอมทิ้งบ้านเพราะห่วงทรัพย์สิน แต่บางคนย้ายก็ไม่ทันหรือย้ายไม่ได้จริงๆเพราะมีผู้ป่วยหรือคนชรา จึงทำให้การให้ความช่วยเหลือทำได้โดยยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเช่นพื้นที่สายไหมหรือรามอินทราที่มีตรอกซอกซอยเยอะมาก หรือในพื้นที่ที่มีความสูงต่ำแตกต่างสลับกันไป บางจุดต้องใช้เรือ แต่พอถึงบางจุดเรือผ่านไม่ได้ ก็ต้องยกเรือกันไป ต่างจากประสบการณ์ในต่างประเทศอย่างกรณี พายุคัทรินาที่สหรัฐอเมริกา หรือสึนามิ ที่ญี่ปุ่น ที่ผู้ประสบภัยถูกสั่งการให้อพยพและนำตัวออกจากพื้นที่ การดูแลช่วยเหลือจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น แพทย์คนหนึ่งสามารถตรวจรักษาคนในศูนย์อพยพได้เป็นร้อยคนต่อวัน แต่หากเข้าไปในพื้นที่จะช่วยได้แค่ 10 คนต่อวันเท่านั้น

นอกจากนี้การที่มีคนอยู่ในพื้นที่จึงทำให้การไฟฟ้าไม่สามารถหยุดการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพราะไฟดูดนับร้อยราย ผู้ประสบภัยหลายคนบอกว่าไม่เห็นต้องอพยพไปไหนเลย ติดอยู่ที่บ้านก็สบายดี เดี๋ยวก็มีคนเอาอาหารข้าวของเครื่องใช้มาให้ เดี๋ยวก็มีคุณ ส. มาสัมภาษณ์ ได้ออกทีวี การให้ความช่วยเหลือและนำเสนอข่าวสารแบบนี้จึงเหมือนเป็นดาบสองคมจริงๆครับ

เต็มไปด้วยอันตราย นอกเหนือจากไฟฟ้ารั่วลงน้ำแล้ว น้ำท่วมครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์มีพิษ และสัตว์ร้ายต่างๆอย่างเช่นจระเข้ ซึ่งหลุดออกมามากกว่าทุกครั้ง นอกจากนั้นน้ำที่ไหลสะสมมาตั้งแต่ภาคกลางตอนบนยังเต็มไปด้วยสารปนเปื้อนจากทั้งภาคเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ขยะต่างๆจากบ้านเรือน รวมถึงน้ำเสียจากท่อระบายน้ำและบ่อเกรอะ มันจึงเป็นแหล่งรวมของโรคร้ายต่างๆอย่างมากมาย หากเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ตา หรือทางปาก ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ผุดจิตอาสา ด้วยความรุนแรงของน้ำท่วมครั้งนี้ จึงทำให้หลายคนได้ตระหนักและออกมาอาสาช่วยเหลือผู้อื่น มีอาสาสมัครกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีเยาวชนที่พร้อมจะช่วยเหลืองานอาสาทุกด้าน ทั้งแพ็คถุงยังชีพ ปั้นอีเอ็มบอล กรอกกระสอบทราย ดูแลผู้พักพิง ลงพื้นที่ และอื่นๆ อย่างเช่น อาสาสมัครที่ให้ข้อมูล อย่างเจ้าปลาวาฬสีฟ้าของ “รู้สู้ Flood” ก็ให้ความรู้ในการรับมือกับน้ำท่วมได้อย่างเข้าใจง่ายกว่าข้อมูลของภาครัฐ หรือ “รู้ทันน้ำ” ที่ให้ข้อมูลแผนที่แสดงความสูงต่ำของพื้นที่อย่างละเอียด และเว็บไซต์ “แก้มลิง” ที่เปิดให้ประชาชนอัพเดทสถานการณ์น้ำและภาพถ่ายล่าสุดได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของพิบัติภัยครั้งนี้ที่กระตุ้นและปลูกฝังให้เกิดจิตอาสาและความคิดสร้างสรรค์ดีๆขึ้นในสังคม

ได้โมเดลใหม่ น้ำท่วมครั้งนี้ยังทำให้เกิดโมเดลการทำงานภาคประชาชนที่แข็งแรง อย่างเช่นในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้มีอาสาภาคประชาชนเข้าไปทำความรู้ความเข้าใจ แม้จะได้รับแรงต้านในตอนแรกเพราะคนในพื้นที่ยังไม่ตระหนัก แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน มีการพร่องน้ำออกจากบ่อปลา บ่อกุ้งของตนเองทั้งที่ยังไม่ได้เวลา เพื่อป้องกันความเสียหายและคอยเป็นแก้มลิงรับน้ำ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับ สว.ในพื้นที่ ภาครัฐ และเอกชน มีการสร้างคลองประดิษฐ์เพื่อช่วยระบายน้ำจนทำให้พื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครได้รับความเสียหายน้อยมาก โมเดลหรือรูปแบบการบริหารจัดการนี้ยังได้ถูกนำไปขยายผลในการปกป้องสวนส้มโอที่นครปฐมอีกด้วย โดยมีการช่วยเหลือกันทั้งชุมชนปกป้องพื้นที่ 20 % ที่เหลืออยู่เพื่อให้ต้นส้มโออยู่รอดและจะได้นำต้นกล้ากลับไปแจกจ่ายให้กับ 80 % ที่สูญเสียไปอีกด้วย

นอกจากนี้การทำงานของกลุ่ม @backline2011 เป็นอีกโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจโดยการจัดหาของต่างๆ ที่ทีม Frontline หรือทีมลงพื้นที่ อย่างเช่นทีมของมูลนิธิ 1500 ไมล์ และอื่นๆต้องการและนำไปจัดส่งให้ โดยการระดมการรับบริจาคทั้งตัวเงินและสิ่งของ หรือการโยกย้ายของจากศูนย์พักพิงต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นอีกโมเดลการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

น้ำท่วมครั้งนี้ได้ให้บทเรียนเราอย่างมากมาย แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของภาครัฐ ทั้งในด้านการปรับปรุ่งโครงสร้างการระบายน้ำ ขั้นตอนการบริหารจัดการ การวางแผนสำรอง การสื่อสารกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ความเด็ดขาดในการสั่งการของผู้นำ และการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งสำคัญมากในการฝ่าวิกฤติ..

..หากปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้รับการแก้ไข และมีการประสานงานที่ดีระหว่างผู้นำและคนในชุมชน และโครงข่ายอาสาฯ และบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ รวมทั้งภาครัฐ และ เอกชน มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันไปตามพื้นที่และความถนัดของแต่ละกลุ่ม ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน แล้วละก็ จะเกิดวิกฤติขึ้นอีกกี่ครั้งก็น่าจะ “เอาอยู่” ครับ