ThaiPublica > คนในข่าว > “ชูศักดิ์ ศิรินิล” เร่งเครื่องแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เปิดแผนตัดวงจร “ตุลาการภิวัฒน์”

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” เร่งเครื่องแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เปิดแผนตัดวงจร “ตุลาการภิวัฒน์”

16 ธันวาคม 2011


“…คุณจะมีใครเข้ามาก็ตามที ใครจะมาช่วยคุณมากมาย หากรัฐธรรมนูญยังเข้าใจยากแบบนี้ หากยังยุบพรรคกันง่ายๆ แบบนี้ สมมุติใครเข้ามาเป็นรัฐบาล จะเก่งกาจขนาดไหน รัฐบาลอาจจะพังไปใน 1-2 วัน โดยเอาเรื่องยุบพรรคมาสู้กัน…”

ในขณะที่ 6 ข้อเสนอในการสร้างความปรองดองในแบบฉบับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ถูกโยนขึ้นมาสร้างกระแสแย้งในสังคม

ในยุคที่ “คนต่างขั้ว-ต่างค่าย” ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือประหัตประหารกันอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง

ในทุกย่างก้าวบนถนนสายการเมืองของนักการเมืองหน้าใหม่ นาม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้นำรัฐบาลโคลนนิ่ง จึงสุ่มเสี่ยงต่อการพลาดท่า-พลัดหล่นจากอำนาจทุกขณะ

ด้วยความเชื่อว่าขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ยังทำงานอย่างแข็งขันนับจากปี 2548

ด้วยความมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 คือเครื่องมือทำลายล้าง “พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก” ที่ทรงพลานุภาพ

เป็นผลให้ข้อเสนอในการแก้ไข “มรดกคมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ)” ถูกบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยวางแผนไล่-รื้อ-โละ ทันทีที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2554 นี้

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่งอยู่ใน “วอร์รูมกฎหมายพท.” พลิกดูบทบัญญัติที่เป็นปัญหา ก่อนเปิดแผนตัดวงจร “ตุลาการภิวัฒน์” ผ่าน “สำนักข่าวไทยพับลิก้า”

อะไรทำให้ “รัฐบาลโคลนนิ่ง” มิอาจทนอยู่ภายใต้ “กติกาสูงสุด” ฉบับนี้อีกต่อไป

อะไรทำให้พวกเขามั่นใจว่าการเปิดเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จะไม่นำไปสู่หายนะทางการเมือง เหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ

จากบรรทัดนี้มีคำตอบ…

นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตรมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่งอยู่ใน “วอร์รูมกฎหมายเพื่อไทย”
นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตรมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่งอยู่ใน “วอร์รูมกฎหมายเพื่อไทย”

ไทยพับลิก้า : ผ่านมากว่า 3 เดือนของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” พบปัญหาในการบริหารจัดการทางกฎหมายอย่างไรบ้าง

ประเด็นสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารจัดการประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ทราบดีว่ามีปัญหาในการยกร่างตั้งแต่ชั้นแรก และถูกวิจารณ์ว่าเป้าหมายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดขั้นตอนต่างๆ ไว้ในเชิงตุลาการภิวัฒน์ และในเชิงกีดกันนักการเมืองต้องไม่กระทำการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จุดเน้นหนักคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หลายเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ บางครั้งก็ยากต่อการปฏิบัติ บางครั้งก็ยากต่อการตีความ

ตัวอย่างปัญหาทางข้อกฎหมายที่ชัดเจนคือ กรณีการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ มีการนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.ต.อ. ประชา (พรหมนอก รมว. ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรณีแต่งตั้ง 4 ส.ส. พรรคเพื่อไทย เข้าไปบริหารจัดการถุงยังชีพและสิ่งของบริจาคของศปภ.) ถูกตีความว่าก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ

ถามว่าทำไมเขาห้ามเช่นนั้น เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้เกิดการทับซ้อนทางผลประโยชน์ ทีนี้พอเรามาใช้กฎหมาย กลายเป็นอะไรก็แทรกแซง อะไรก็ก้าวก่าย ต้องมองว่าถ้าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เขาเจตนาจะไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย โดยไม่มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ผมก็คิดว่าตั้ง หรือไม่ตั้งส.ส. เป็นกรรมการ ก็ไม่มีความหมาย

ลองไปสำรวจส.ส. ในสภาสิ มีใครบ้างที่ไม่ไปช่วยชาวบ้าน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายเป็นกลาง และไปย้อนดูอดีตสิ งบประมาณที่เอาไปช่วย ถุงยังชีพที่เอาไปช่วย ส.ส. ซื้อเองหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่มีล่ะ อาจจะมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ขอความอนุเคราะห์จากส่วนราชการทั้งนั้น เป็นหน้าที่ของส.ส. ที่ต้องไปช่วยชาวบ้าน ถ้าเรามาตั้งแง่ บอกว่านี่เป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ก็แปลว่าส.ส. ทำอะไรไม่ได้เลย เห็นประชาชนตกทุกข์ได้ยากก็อยู่กับที่ เพราะเป็นหน้าที่หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ ซึ่งผมว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ผิด แล้วก็เอาเรื่องนี้มาอภิปรายกัน มาถอดถอนกัน จะไปกันใหญ่

ไทยพับลิก้า : ส.ส. อาจมีเจตนาดีไปช่วยชาวบ้าน แต่ก็จงใจหาเสียงไปในตัวด้วยหรือไม่ คนร่างรัฐธรรมนูญจึงเขียนมาตรา 265-266 ขึ้นมา เพื่อป้องกันการนำงบหลวงและของหลวงไปสร้างแต้มต่อทางการเมือง

เป็นมาตราที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 นะ แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังมาห้ามต่อไปอีกเยอะ เช่น ส.ส. เป็นได้ตำแหน่งเดียวคือรัฐมนตรี ตำแหน่งทางการเมืองอื่นไม่ได้ ทำให้ข้าราชการการเมืองทั้งเลขานุการ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอื่นๆ ส.ส. สอบตก กลายเป็นคนนอก ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ส.ส. สอบตกไปรายล้อมนายกฯ ไปรายล้อมรัฐมนตรี ผมไม่ได้ดูถูกส.ส. สอบตกนะ แต่ต้องการบอกว่าเพราะคุณดีไซน์รัฐธรรมนูญแบบนี้ เจตนาคุณต้องการแบบนี้ ท้ายที่สุดจะมีผลพวงตามมาคือความผิดพลาดบกพร่องในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจะโดยเจตนา หรือไม่เจตนา รัฐบาลชุดนี้ก็พยายามระมัดระวัง แต่ก็ยังมีปัญหาตามมาซึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้จริงๆ หรือไม่เข้าใจ

แม้กระทั่งจะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่น กรณีคุณจตุพร (พรหมพันธุ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พท. ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมี(กกต.) มติให้ส่งเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขาดสมาชิกภาพ เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม เพราะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ) มันก็เป็นปัญหาตามกฎหมายพรรคการเมืองโดยแท้ เกิดจากจะตีความอย่างไร จะใช้กันอย่างไร

ไทยพับลิก้า : การสร้างบรรทัดฐานในแต่ละกรณี เป็นหน้าที่ขององค์กรเจ้าของเรื่อง หรือขั้วตรงข้ามทางการเมืองที่ต้องไปร้อง ไปฟ้องกันมากๆ หรือควรแก้ปัญหาด้วยการปฏิบัติตามตัวบทอย่างเคร่งครัด

เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้แก้ไข ความแตกแยกที่ยังไม่ได้แก้ไข คนเอาประเด็นทางกฎหมายมาห้ำหั่นกัน มาสู้กัน ตัวอย่างชัดเจนคือคำร้องถอดถอนพล.ต.อ. ประชา ถ้าจะอภิปรายเรื่องการทุจริต คุณต้องยื่นถอดถอนเขาก่อน ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าเขาทุจริตอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้เช่นนี้ ดังนั้นเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่จบสิ้น คุณก็พยายามอธิบายอย่างไรก็ได้ให้มันเข้าเงื่อนไข เพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบในแง่ที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ พยายามเอาเงื่อนโน้นเงื่อนนี้ บางทีเรื่องไม่ใหญ่โต ก็เอามาเป็นประเด็นทางการเมือง แล้วก็เอาข้อกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญมาจับ มาเอาเรื่องเอาราวกัน ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่… ถ้าอธิบายทางการเมืองคือความขัดแย้งมันไม่จบ ก็ต้องสู้กัน ขณะเดียวกันเป็นธรรมชาติของบ้านเราที่ใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ไทยพับลิก้า : คือตั้งธงไว้ก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนภายหลัง

(พยักหน้า) ใช่ มันมีธง ต้องการแบบนี้ ก็หาเหตุผลทางกฎหมาย เหตุผลต่างๆ มาใช้กัน โดยที่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าต้องการอะไร… สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีแนววินิจฉัยที่ชัดเจน ต้องพึงระมัดระวังอย่างยิ่งว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ควรทำหรือไม่ควรทำ และขณะเดียวกันควรมีมือกฎหมายของรัฐบาล เหมือนกับเป็นรัฐมนตรีคอยดูแลด้านกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำอะไร ก็สุ่มเสี่ยง พูดง่ายๆ ว่ากฤษฎีกาต้องเป็นหลัก และรัฐมนตรีที่กำกับกฤษฎีกาต้องเป็นหลัก ต้องชี้ว่าทำได้หรือทำไม่ได้

ต้องเข้าใจว่ากฤษฎีกาทำงานเป็นรูปองค์คณะ แต่ขณะเดียวกันเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เข้าประชุมครม. ดังนั้นสิ่งที่เลขาฯ ให้ความเห็นไว้ เป็นความเห็นของเลขาฯ ซึ่งอาจจะผิด อาจจะถูก

ไทยพับลิก้า : เวลามีคดีความ เอาไปยันไม่ได้

ก็ไม่ได้ ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจอะไรก็เอาไปให้กฤษฎีกาตีความเสีย แต่ที่สำคัญคือควรมีแนวทางของรัฐบาลอยู่ว่าในอดีตเรื่องไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ มันต้องสรุป

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้ตัวละครต่างๆ ที่เคยมีบทบาทในยุคตุลาการภิวัฒน์เมื่อปี 2549 กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมเกือบหมด ฝ่ายพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็กลับมาเป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน องค์กรอิสระที่เกิดจากการรัฐประหาร 2549 ก็ยังอยู่ ประเมินว่าก้าวต่อไปของคดีความต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างฟ้องร้องกันจะเป็นอย่างไร

ผลจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ องค์คณะตุลาการก็ดี ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) กกต. ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าคิดว่าระบบนิติรัฐต้องมีในประเทศคือ ทุกคนอยู่ภายใต้กติกาของกฎหมาย แต่ข้อสำคัญที่สุดคือองค์กรเหล่านี้ต้องเข้าใจด้วยว่านิติรัฐ ต้องควบคู่กับหลักนิติธรรม เมื่อคุณยึดอำนาจการปกครองประเทศ แล้วออกประกาศและคำสั่งต่างๆ มากมาย บ้านเราประกาศและคำสั่งทั้งหลายของพล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) กลายเป็นกฎหมายไปหมด แม้จะสั่งโดยคนๆ เดียว พอมีคนฝ่าฝืน คุณก็บอกว่าคนนี้ไม่เคารพหลักนิติรัฐ เพราะเราไปเข้าใจในทำนองว่าถ้ามีกฎมายใดๆ ออกมา ไม่ว่ากฎหมายฉบับนั้นจะมีที่มาที่ไปอย่างไร มีเหตุผลหรือไม่ มีตรรกะหรือไม่ เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ คนส่วนใหญ่ องค์กรส่วนใหญ่ แม้กระทั่งศาลไทยก็ไปยอมรับว่านี่เป็นกฎหมาย ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตาม แปลว่าไม่ยอมรับหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

นิติรัฐคือยอมอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งกฎหมายนั้นต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย เมื่อกฎหมายบอกให้ลงโทษย้อนหลัง นานาสากลอารยประเทศห้ามลงโทษย้อนหลัง คุณจะมาบอกว่าตัดสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่โทษ ผมว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมใดๆ เลย และถ้ายังใช้กฎหมายเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าจงใจนำกฎหมายนั้นมาเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารกัน ทำลายล้างกัน และเป็นการบั่นทอนหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง

ไทยพับลิก้า : ปัญหาคือคนที่ออกมาพูดเรื่องนิติรัฐ-นิติธรรม เป็นเครือข่ายของพรรคไทยรักไทย (ทรท.) พรรคพลังประชาชน (พปช.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งสังคมมองว่าคือผู้เสียประโยชน์จากเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังนั้นแนวร่วมที่มีน้ำหนักในการผลักให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมจะมาจากส่วนไหน

ส่วนหนึ่งคือรัฐบาลเขาเดินมาถูกทางแล้ว ด้วยการใส่นโยบายเร่งด่วนเอาไว้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) และให้มีการออกเสียงประชามติ เข้าใจว่านี่เป็นบทเรียนจากทรท. และพปช. ที่พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็มีกระแสต่อต้านทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ต่อต้านจนบ้านเมืองพังพินาศไปมากมาย ยึดสนามบิน ยึดทำเนียบฯ แต่จุดยืนของพท. ในขณะนี้คือจะแก้ แต่แก้โดยส.ส.ร. เป็นคนที่ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่นักการเมืองมาแก้กันเอง จึงคิดว่ารัฐบาลเขาเดินมาถูกทางแล้ว

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึงไหนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลกางปฏิทินว่าจะมีการยื่นญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในการประชุมสภา สมัยสามัญ แต่จนปิดสมัยก็ยังไม่เห็นรูปเห็นร่าง

ตอนนี้ยังไม่ได้เสนอเลย เพียงแต่เขียนไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 1 ปี หน้าที่ของรัฐบาลหลังจากนี้คือต้องไปสรรหาคณะกรรมการมาชุดหนึ่ง เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีส.ส.ร. เพื่อให้มีประชามติ แล้วก็เอาร่างนี้เสนอต่อรัฐสภา พอแก้ไขมาตรา 291 สำเร็จ จากนั้นก็จะมีส.ส.ร. มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คุณก็ไปว่ากันว่าส.ส.ร. จะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการสรรหา เป็นกระบวนการที่ไม่เอานักการเมืองมาแก้กันเอง ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการชุดคุณดิเรก (ถึงฝั่ง ส.ว. นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ) คณะกรรมการชุดคุณสมบัติ (ธำรงธัญวงศ์) ที่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ต้องแก้ แต่นักการเมืองไม่ควรมาแก้กันเอง ดังนั้นเมื่อใช้กระบวนการส.ส.ร. คิดว่าสังคมน่าจะยอมรับกันได้

ไทยพับลิก้า : เปิดประชุมสภา สมัยนิติบัญญัติ น่าจะยื่นญัตติเสนอแก้ไขมาตรา 291 ได้เลย

ได้เลย

ไทยพับลิก้า : ในการออกแรงดันรอบนี้ คิดว่าแนวร่วมในพท. มีมากน้อยแค่ไหน เพราะในเดือนพฤษภาคม 2555 สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ก็จะพ้นโทษแบนการเมือง 5 ปีแล้ว

ก็นี่ไงๆ บางทีฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ไปมองว่าทำอันนี้เพราะต้องการอันนี้ โดยไม่เข้าใจเนื้อหาสาระจริงๆ ว่าถ้าจะทำอย่างนั้น ในทางกฎหมายต้องทำอย่างไร เช่น ที่บอกว่าถ้าแก้มาตรา 237 เท่ากับบ้านเลขที่ 111 และ 109 จะกลับมา มาตรา 237 เรื่องอะไร เรื่องยุบพรรคง่ายๆ สมมุติเราแก้ว่าต่อไปนี้ให้ยุบพรรคยาก ก็ไม่ได้หมายความว่าคน 111 และ 109 จะกลับมา เว้นแต่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะหลักกฎหมายมีว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาใดๆ ไปแล้ว ผลในทางกฎหมายมันมี ถ้าคุณจะแก้ผลในทางกฎหมาย คุณก็ต้องไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างผลจากคำพิพากษา แต่พอคนจะต่อต้านก็บอกว่าที่ทำแบบนี้เพราะต้องการเอา 111 และ 109 มา ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่ ไม่ใช่เลยในทางกฎหมาย ถ้าจะใช่ คุณต้องไปออกกฎหมาย แต่พอผมจะค้าน ผมคิดว่าเป็นอย่างนี้ ก็เหมารวมไปหมดว่าสิ่งที่ทำทั้งหลายทั้งปวงเพื่อการนี้

ไทยพับลิก้า : หากวิเคราะห์จังหวะชิงเปรียบในทางการเมือง อีก 6 เดือน พท. มีตัวเล่นเพิ่ม 111 คน ซึ่งไม่มีเหตุจำเป็นเลยในการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อันนี้ไม่เกี่ยวกับการได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ แต่นโยบายเรื่องการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายที่มีมานานแล้ว คุณจะมีใครเข้ามาก็ตามที ใครจะมาช่วยคุณมากมาย หากรัฐธรรมนูญยังเข้าใจยากแบบนี้ หากยังยุบพรรคกันง่ายๆ แบบนี้ สมมุติใครเข้ามาเป็นรัฐบาล จะเก่งกาจขนาดไหน รัฐบาลอาจจะพังไปใน 1-2 วัน โดยเอาเรื่องยุบพรรคมาสู้กัน

ไทยพับลิก้า : มีสิทธิจะถูกยุบพรรคภาค 3, 4, 5 ได้ หากยังอยู่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550

(พยักหน้า) ดังนั้นไม่เกี่ยวกับใครจะเข้ามา แต่เกี่ยวกับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องมากมายใช่ไหม ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมใช่ไหม คุณยืนหลักการต้องแก้ ดังนั้นก็ต้องแก้ ผมว่าไม่เกี่ยวกับประเด็น 111 หรือ 109 หรอก

ไทยพับลิก้า : นอกจากมาตรา 265-266 และมาตรา 237 แล้ว คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพท. เห็นว่าประเด็นสำคัญที่ควรเสนอแก้มีอะไรอีก

ประเด็นสำคัญที่สุดคือการสรรหาองค์กรอิสระ เรื่องตัวตุลาการภิวัฒน์ทั้งหลาย คนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้สรรหา โดยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย พอสรรหาเสร็จก็ส่งไปให้วุฒิสภา วุฒิสภามีหน้าที่เพียงเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ถ้าเกิดไม่เห็นชอบ ส่งกลับมา กรรมการสรรหาทั้งหลาย ตุลาการทั้งหลาย ประธานองค์กรอิสระทั้งหลาย ถ้าเขายืนยัน ก็เสนอโปรดเกล้าฯ ได้เลย นี่คือการเขียนกฎหมายมอบให้ 7 อรหันต์มีอำนาจเด็ดขาดในประเทศไทย ถึงขนาดเลือกวุฒิสมาชิกได้ด้วยตัวของเอง วุฒิสภาไม่เห็นชอบไม่เป็นไร สามารถยืนยันเสนอโปรดเกล้าฯ ได้ ก็คือ 7 อรหันต์คุมกลไกการบริหารประเทศ คุมกลไกการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่าทำไมเขาเรียกว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์ เป็นรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย

ไทยพับลิก้า : การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวเพียงพอต่อการสร้างนิติธรรมในสังคมหรือไม่ หรือต้องบวกข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ให้ล้มผลพวงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เข้าไปด้วย

ผลพวงของนิติราษฎร์เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าในหลักแล้ว สมควรต้องมีบทบัญญัติทำนองนั้นหรือไม่ เพราะในทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การล้มผลพวงการปฏิวัติทั้งหลายส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะตราเป็นพ.ร.บ. เช่น พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศปว. ฉบับที่เท่านั้นเท่านี้ แต่ถ้าจะหยิบยกเอาประเด็นนิติราษฎร์ไปใช้ หมายความว่าต่อไปให้ยกเลิกผลพวงการปฏิวัติทั้งหมด ก็จะมีคำถามตามมาว่ายกเลิกในที่นี้หมายความอย่างไร ยกเลิกในระดับไหน ยกเลิกแบบเป็นศูนย์เลย หรือยกเลิกโดยให้เริ่มต้นใหม่ ซึ่งผมว่าในทางที่ถูกที่ควรต้องให้คนกลางๆ คนที่ได้รับการสรรหาจากประชาชนคือส.ส.ร. ไปคิดกันว่าควรจะมีหรือไม่ ควรจะทำหรือไม่ แต่เป็นข้อเสนอหนึ่งที่ควรต้องพิจารณา

ไทยพับลิก้า : ความยากของเรื่องนี้คือทุกอย่างถูกผูกโยงกับพ.ต.ท. ทักษิณ เพราะถ้าล้างหมดแล้วกลับไปใช้กลไกปกติ ฝ่ายตรงข้ามไม่เชื่อว่าจะจัดการพ.ต.ท. ทักษิณได้

(หัวเราะ) ทีนี้เลยต้องใช้กระบวนการปฏิวัติ ก็เหมือนกับในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านๆ มา บ้านเมืองไม่เรียบร้อย ดังนั้นปฏิวัติเสียเลย ปรบมือ ให้บ้านเมืองเรียบร้อย ทีนี้ผ่านไปสัก 5-6 เดือนมันยิ่งแล้วกว่าเดิม ที่ว่าจัดการคุณทักษิณไม่ได้ คำถามคือจัดการไม่ได้เพราะอะไร 1. เขาผิดจริงหรือเปล่า 2. เขาอาจจะถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เมื่อจัดการไม่ได้เลยใช้กระบวนการผิดปกติ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ มันก็อาจจะคล้ายๆ ยุคก่อนๆ บ้านเมืองไม่เรียบร้อย โจรผู้ร้ายเต็มเมือง ดังนั้นจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) มา โอ้โห! ชาวบ้านปรบมือ บ้านเมืองเรียบร้อย พออันนี้ปั๊บ… ใช้มาตรา 17 เลย ประหารเลย แต่ผลพวงที่ตามมา เราเห็นชัดเจนว่าบ้านเมืองเละเทะ การทุจริตคอรัปชั่นมากกว่าเดิม ก็กลายเป็นท้ายสุดคุณเอาคนอีกชนชั้นหนึ่งมาดูแลประเทศ ซึ่งไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าเดิมเลย แถมจะทุจริตกันได้ง่ายกว่าเดิมด้วย

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จจริงๆ ควรแกะปัญหาส่วนตัวของพ.ต.ท. ทักษิณออกไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้สังคมหวาดระแวง

ผมว่าไม่ควรต้องไปแกะ แต่คนทำต้องมองด้วยความเป็นกลาง และต้องรู้จริงๆ ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเกิดจากอะไร ในความเป็นจริงไปตัดใครออกไม่ได้หรอก แต่คนที่ทำเนี่ย ต้องมองด้วยความเป็นกลางจริงๆ ต้องแยกระหว่างเรื่องการไขรัฐธรรมนูญ กับเรื่องความปรองดองของคนในชาติออกจากกัน แม้จะคาบเกี่ยวกันก็ตาม ตัวอย่างเช่น ก่อนคุณทักษิณโดนยึดอำนาจ ถูกมองว่าผูกขาด เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ดังนั้นต้องล้มเสียเพราะจะพาประเทศไปสู่ระบอบอะไรต่างๆ แต่คนร่างรัฐธรรมนูญต้องดูว่าสุดท้ายประเทศนี้ควรมีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งอย่างนั้นหรือ มีรัฐบาลที่ล้มลุกคลุกคลาน 1 ปีไป 1 ปีไปแบบในอดีตหรือ คุณจะล้มเขา คุณก็เอาเหตุผลต่างๆ นานามาใช้ โดยไม่ได้มองหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น วันหนึ่งคุณทักษิณก็อาจจะต้องลง ทรท. อาจต้องลงถ้าบริหารประเทศไม่ดี มันเป็นสัจธรรมทางการเมือง แต่นี่คุณบอกว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ดังนั้นต้องปฏิวัติ เป็นความคิดที่ถูกแล้วหรือ

ไทยพับลิก้า : ประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ทันทีที่ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะรัฐบาล “สมัคร” และ “สมชาย” ก็เคยมีอันเป็นไปมาแล้ว หลังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผมยังมองว่ามันไปได้ เหตุที่ไปได้เพราะ 1. มีกระบวนการส.ส.ร. 2. มีกระบวนการประชามติ แม้จะใช้งบประมาณพอสมควร แต่ท้ายสุดประชาชนทั้งประเทศมีความคิดเห็นว่าควรหรือไม่ควรแก้ อันนี้ไม่อยากใช้คำว่าปิดปาก แต่ในปี 2540 เราร่างรัฐธรรมนูญมาทำนองนั้น ปี 2550 ก็ประชามติ เมื่อจะแก้ไขก็ประชามติอีกที ก็ควรจะเป็นอย่างนี้ ผมว่าเหล่านี้น่าจะไปได้

ไทยพับลิก้า : แต่คนก็เชื่อเหมือนกันว่าพรรคการเมืองล็อคชื่อส.ส.ร. ได้

เป็นเหตุผลชอบธรรมแล้ว พท. เขาแถลงไว้แล้วเป็นนโยบายเร่งด่วน สภาก็รับทราบแล้ว เอาล่ะ… ต่อไปนี้ก็ร่วมมือกัน ก็มีส.ส.ร. คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านมาก็สรุปตรงกันแล้วว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ย้อนควันไฟการเมือง จากพลุแก้รัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรค-พวก-เพื่อน “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาจุดพลุแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550

หากแต่มีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า ในการ “ฉีกรัฐธรรมนูญ” ฉบับผ่านการประชามติ 14.7 ล้านเสียง ทว่าไม่เคยสำเร็จ

จุดตั้งต้นในการไล่รื้อรัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2551 เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรับพิจารณาคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชน (พปช.) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ในขณะนั้น) กรณีทุจริตเลือกตั้งด้วยการแจกเงินให้หัวคะแนนกลุ่มกำนัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไปซื้อเสียงจากประชาชน

ด้วยเพราะ “ยงยุทธ” คือรองหัวหน้าพปช. จึงสุ่มเสี่ยงต่อถูกสั่ง “ยุบพรรคภาค 2” และลากเอากรรมการบริหาร (กก.บห.) พปช. รวม 37 ชีวิต ติดร่างแห-ถูกแช่แข็ง 5 ปีไปด้วย

จุดเน้นหนักในการรุกคืบโละรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอยู่ที่มาตรา 237 (การยุบพรรค) และมาตรา 309 (การนิรโทษกรรมความผิดให้คณะปฏิวัติ) ส่วนประเด็นอื่นๆ ถือเป็นไม้ประดับ

8 เมษายน 2551 พปช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 ทั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากฝ่ายต่างๆ เพราะรับไม่ได้กับการแก้กฎหมายเพื่อนักการเมือง

21 พฤษภาคม 2551 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รวม 164 คน นำโดย “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” ส.ส.นครราชสีมา พปช. ได้ยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ต่อ “ชัย ชิดชอบ” ประธานสภา (ในขณะนั้น)

4 วันให้หลังคนการเมืองจุดพลุแก้รัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ใช้เป็นตัวจุดชนวนก่อม็อบระลอกใหม่ นัดชุมนุมใหญ่ล้อมทำเนียบรัฐบาล และปักหลักกินนอนอยู่บนถนนยาวนานถึง 193 วัน

ข้ามรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” มาถึงรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”

แต่ยังไม่ทันได้ลงมือรื้อ-ล้างมาตราใดๆ ของ “มรดดกคมช.” นายกฯ คนที่ 25 นาม “สมัคร” ก็ตกเก้าอี้จากพิษจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551

ตามด้วยการถูกสอยร่วงจากอำนาจของ “สมชายและคณะ” ด้วยปลายดาบศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งยุบพปช. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จากคดีใบแดงของ “ยงยุทธ” และยังยุบพรรคชาติไทย (ชท.) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) ที่กก.บห. ถูกร้องว่าทุจริตเลือกตั้งเหมือนกัน พร้อมตัดสิทธิกก.บห. 3 พรรคการเมืองรวม 109 ชีวิต

จากนั้นแนวร่วมในสภาที่เคลื่อนไหวให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับพิฆาตเครือข่ายทักษิณก็มากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงขั้นที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลใช้เป็นข้อต่อรองก่อนยอมพลิกขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อปลายปี 2551

ในยุครัฐบาล “เทพประทาน” นี้เองที่เกิดการตั้งสารพัดคณะกรรมการขึ้นมาสานฝัน “พลพรรคผีหัวขาด”

1 พฤษภาคม 2552 “ชัย ชิดชอบ” ประธานสภา ลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี “ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน

ซึ่งได้ชงแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกก.บห. (มาตรา 237) 2.ที่มาของสส. (มาตรา 93-98) 3.ที่มาของสว. (มาตรา 111-121) 4.การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 190) 5.การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสส. (มาตรา 265) และ 6.การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของส.ส. และส.ว. (มาตรา 266)

ขณะที่ “อภิสิทธิ์” ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มี “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน ขึ้นมา “ศึกษาซ้ำ” ข้อเสนอจากคณะกรรมการชุด “ดิเรก” ท่ามกลางเสียงสาบส่งจาก “ผู้มีบารมีนอกพรรคร่วมฯ” ว่าปชป. ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่รักษาสัญญาสุภาพบุรุษ ถึงแตกเป็น 2 ก๊ก “ตี 2 หน้า เล่น 2 บท” จนเกมแผ้วถางรัฐธรรมนูญต้องล่าช้าออกไป

หลังยื้อ-ยุด-ฉุด-กระชากกันอยู่นาน ในที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 190 เรื่องสนธิสัญญา และมาตรา 93-98 เรื่องที่มาส.ส. ที่ปรับให้กลับไปใช้สูตรส.ส. เขต : ส.ส. บัญชีรายชื่อ 400 : 100 จากเดิมเป็นสูตรส.ส. สัดส่วน : ส.ส. เขต 375 : 125 ก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554

และนำมาใช้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

เป็น 6 มาตรา จาก 2 ประเด็นแรก ที่นักการเมืองรื้อสำเร็จ หลังใช้ความพยายามมา 3 ปี

ในครั้งนี้เมื่อรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จุดพลุรื้อใหญ่ “มรดกคมช.” น่าติดตามว่าจะทำให้ประเทศเดินไปสู่ “ไฟความขัดแย้ง” อีกรอบหรือไม่!!!