ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แจงงบแต่ละจังหวัดที่ได้รับเงินฟื้นฟูน้ำท่วม

แจงงบแต่ละจังหวัดที่ได้รับเงินฟื้นฟูน้ำท่วม

18 ธันวาคม 2011


เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2554 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการฟื้นฟู เยียวยา จากสถานการณ์อุทกภัย สำหรับโครงการดำเนินการทันทีภายในเดือนม.ค. 2555 เป็นเงิน 20,110.55 ล้านบาท จากวงเงิน 60,983.20 ล้านบาท ที่ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2554

หากดูข้อมูลเป็นรายจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปนั้น พบว่ามี 63 จังหวัด โดย 5 จังหวัดแรกที่ได้งบประมาณมากสุด อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ จำนวน 3,159.71 ล้านบาท รองลงมาคือ ปทุมธานี จำนวน 2,843.14 ล้านบาท พระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,537.27 ล้านบาท นนทบุรี จำนวน 2,481.37 ล้านบาท และนครสวรรค์ 740.01 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการของแต่ละจังหวัดที่ต้องใช้งบประมาณเร่งด่วนในการดำเนินการ จะเน้น 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านคุณภาพชีวิต และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยแต่ละด้านมีโครงการดำเนินการรวมกันทั้งสิ้น 9 โครงการ ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัยครัวเรือนละ 5 พันบาท ใน 62 จังหวัดและเขตกรุงเทพมหานคร 2,635,110 ครัวเรือน เป็นเงิน 13,175.55 ล้านบาท

ด้านคุณภาพชีวิต ได้แก่ (2) โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตตามข้อเสนอของจังหวัด 314.5 ล้านบาท (3) โครงการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนและโรงเรียน 2,006 แห่ง เป็นเงิน 456 ล้านบาท (4) โครงการช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณสุขในพื้นที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง 9 จังหวัด เป็นเงิน 121.9ล้านบาท (5) โครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาเลิกจ้าง 100,000 ราย เป็นเงิน 606 ล้านบาท (6) โครงการจัดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center) เป็นเงิน 17.8 ล้านบาท

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ (7) โครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน 296 แห่ง เป็นเงิน 1,382.6 ล้านบาท (8) โครงการฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายสำคัญ 708 สายทาง เป็นเงิน 1,813.8ล้านบาท (9) โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องมาจากอุทกภัย 11 สายทาง เป็นเงิน 139.8 ล้านบาท

การจัดสรรงบประมาณน้ำท่วมของจังหวัดต่างๆ ที่มา :  มติครม. 12 ธันวาคม 2554
การจัดสรรงบประมาณน้ำท่วมของจังหวัดต่างๆ ที่มา : มติครม. 12 ธันวาคม 2554

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การอนุมัติงบประมาณดังกล่าว สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้กำหนดเป้าหมายเร่งด่วนไว้ว่า การช่วยเหลือประชาชน สถานประกอบการ และแรงงานภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ต้องสามารถให้กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว และทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถตั้งหลักได้โดยเร็ว ส่วนการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้การได้นั้น การจัดทำแผนงานหรือโครงการควรมีลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย

ส่วนแผนงานหรือโครงการส่วนที่เหลืออีกจำนวน 40,872.64 ล้านบาท ครม.มีมติให้ทบทวนในรายละเอียดอีกครั้ง โดยให้ส่วนราชการประสานงานและตรวจสอบกับจังหวัด เพื่อพิจารณายืนยันความจำเป็นในการดำเนินโครงการ แล้วนำเสนอคณะกรรมการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยประเด็นสำคัญในการพิจารณาแต่ละด้าน ได้แก่

ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน ควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชน สถานประกอบการ และแรงงานภาคเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน

ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ควรให้ความสำคัญกับการสร้างงานที่เป็นการจ้างงานโดยตรงที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงบปกติ และไม่ควรให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกอบรม สัมมนา หรือค่าใช้จ่ายที่เป็นเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กรณีที่เกี่ยวกับ การขุดลอกคลอง แหล่งน้ำ หรือถนนที่กั้นทางน้ำ ให้นำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) พิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มติครม.ยังระบุด้วยว่า เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการข้างต้นแล้วแต่กรณี ให้เสนอคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) พิจารณาภายใต้กรอบวงเงิน 47,600 ล้านบาท เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทรบ และทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ กรอบวงเงิน 47,600 ล้านบาท เป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี 2554 ที่ครม. มีมติให้ส่วนราชการสามารถใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณปี 2554 ไปพลางก่อน เนื่องจากงบประมาณปี 2555 ยังไม่ผ่่านรัฐสภา ซึ่งงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของปี 2555 รัฐบาลตั้งไว้สูงถึง 120,000 ล้านบาท