ThaiPublica > เกาะกระแส > กางแผนที่เสี่ยงภัยพิบัติโลก “เอเชีย” ระวัง “ไทย” เสี่ยงระดับกลาง

กางแผนที่เสี่ยงภัยพิบัติโลก “เอเชีย” ระวัง “ไทย” เสี่ยงระดับกลาง

3 พฤศจิกายน 2011


เหตุภัยพิบัติหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้นในโลก สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีมนุษย์คนใดสามารถหลีกหนีจากหายนภัยธรรมชาติได้พ้น

เฉพาะในปีนี้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุแผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ น้ำท่วมหนักในออสเตรเลีย รวมถึงเหตุธรณีพิโรธขนาด 9 ริกเตอร์ ที่ส่งผลให้เกิดสึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

น่าสนใจว่า ภัยพิบัติครั้งรุนแรงหลายๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เคยประสบอยู่เนืองๆ ความรุนแรงและความถี่ของหายนภัยที่มากขึ้นนี้ส่งสัญญาณให้เห็นมาตลอดหลายปีมานี้

ไม่เพียงแต่ความเสี่ยงของภัยธรรมชาติที่จะพัฒนาไปสู่หายนภัยครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ เฮอร์ริเคน หรืออุทกภัย ทว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในพื้นที่เสี่ยงภัย การเตรียมพร้อมและการรับมือของผู้คน ต่างก็มีส่วนต่อโอกาสที่จะอยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้น

รายงานความเสี่ยงโลก (World Risk Report) ประจำปี 2554 ที่จัดทำโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (UNU-EHS) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน ได้นำเสนอดัชนีความเสี่ยงโลก (World Risk Index-WRI) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะเผชิญกับภัยพิบัติ โดยวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ รวมถึงปัจจัยด้านสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

ภาพรวม World Risk Index 2011 ที่มา: World Risk Report 2011
ภาพรวม World Risk Index 2011 ที่มา: World Risk Report 2011

ดัชนีความเสี่ยงดังกล่าวที่ประเมินความเสี่ยงของ 173 ประเทศทั่วโลก แบ่งเกณฑ์การประเมินหลักๆ ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1.ความเสี่ยงภัยพิบัติที่มองเห็นได้ชัดเจน (exposure) อาทิ แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม ภัยแลง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล 2.ความเสี่ยงอื่นๆ (susceptibility) อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน สภาพของที่อยู่อาศัย ภาวะโภชนาการ และกรอบทางด้านเศรษฐกิจ 3.ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ (coping capacities) ที่พิจารณาการบริหารจัดการของภาครัฐ การเตรียมรับภัยพิบัติและการเตือนภัยล่วงหน้า บริการทางการแพทย์ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และ 4.ความสามารถในการปรับตัว (adaptive capacities) สำหรับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคต

ดัชนีความเสี่ยงโลก ประจำปี 2554
ดัชนีความเสี่ยงโลก ประจำปี 2554

ดัชนีความเสี่ยงโลกล่าสุด พบว่า โลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติสูงมาก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกา

เมื่อมองในภาพรวม ประเทศที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติสูงสุดในโลก ได้แก่ “วานูอาตู” ครองแชมป์ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยมีความเสี่ยงคิดเป็น 32% ตามมาด้วย “ตองกา” มีความเสี่ยง 29.08% ส่วนอันดับ 3 คือฟิลิปปินส์ มีความเสี่ยง 24.32%

อันดับ 4-10 ได้แก่ หมู่เกาะโซโลมอน (23.51%) กัวเตมาลา (20.88%) บังกลาเทศ (17.45%) ติมอร์-เลสเต้ (17.45%)
คอสตาริก้า (16.74%) กัมพูชา (16.58%) เอลซัลวาดอร์ (16.49%)

จากการวิเคราะห์ข้อมูลค้นพบความเสี่ยงของประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับสูงมาก ถึงแม้ปัจจัยเรื่องสังคมจะดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ในแง่ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติและปรับตัวยังไม่เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงจากหายนภัย

ขณะที่ “ไทย” ติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงปานกลาง โดยรั้งอันดับ 85 มีความเสี่ยงที่ 6.86% เมื่อแยกความเสี่ยงรายประเภท พบว่า 1.ความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ ฯลฯ มีสัดส่วน 14.84% 2.ความเสี่ยงในแง่โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจอยู่ที่ 22.44% 3.ขาดการรับมือภัยพิบัติ 76.23% 4.ขาดการปรับตัวระยะยาว 40.10% ซึ่งหากนำความเสี่ยง 3 ประเภทหลังรวมกัน ไม่นับความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรม ไทยมีคะแนนความเปราะบาง 46.25%

ประเทศในทำเนียบที่เสี่ยงระดับปานกลาง ได้แก่ โคลัมเบียในอันดับ 86 ส่วนเยเมนอยู่ในอันดับ 87 มีความเสี่ยง 6.83% ตามด้วยอาเซอร์ไบจาน เสี่ยง 6.80% สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี 6.72% ทรินิแดดและโตเบโก 6.70% มาเลเซีย 6.69%

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงรั้งท้ายในทำเนียบนี้ ซึ่งหมายความว่ามีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติน้อยสุด ได้แก่ กาตาร์ มีความเสี่ยง 0.02% มอลตา 0.72% ซาอุดีอาระเบีย 1.26% ไอซ์แลนด์ 1.56% บาห์เรน 1.66% คิริบาติ 1.88% สวีเดน 2.00% ฟินแลนด์ 2.06% เอสโตเนีย 2.25% นอร์เวย์ 2.28%

เมื่อเปรียบเทียบดัชนีความเสี่ยง WRI ในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกับไทย พบว่า ฟิลิปปินส์ครองแชมป์เสี่ยงสูงสุดในอันดับ 3 ตามมาด้วยกัมพูชาในอันดับ 9 อินโดนีเซีย อันดับ 28 เวียดนาม อันดับ 34 พม่า อันดับ 57 ไทย อันดับ 85 มาเลเซีย อันดับ 91 ลาว อันดับ 104 และสิงคโปร์ อันดับ 153

ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงอยู่ในอันดับ 35 อินเดีย เสี่ยงในอันดับ 71 จีน อันดับ 95 ออสเตรเลีย อันดับ 119 สหรัฐ อันดับ 133 และเยอรมนี อันดับ 150

หากแยกความเสี่ยงออกเป็นประเภทหลักๆ ในแง่ความเสี่ยงภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงด้านนี้มากที่สุด คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกากลาง

อย่างไรก็ตาม บางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ชิลี เนเธอร์แลนด์ กลับมีความเสี่ยงในแง่นี้แบบเต็มๆ เมื่อประเมินจากจำนวนประชากรที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง ทว่าทั้ง 3 ประเทศทำคะแนนได้ดีในแง่การเตรียมตัวรับมือและปรับตัว ทำให้ความเสี่ยงภัยพิบัติโดยรวมลดลงอยู่ในอันดับ 35, 25 และ 69 ตามลำดับ

ขณะที่หมู่เกาะโซโลมอนและบรูไนถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงในแง่นี้จากความเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงและภาวะภัยแล้ง

เมื่อประเมินในแง่ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน โภชนาการ เศรษฐกิจ พบว่า ทวีปแอฟริกา เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านนี้มากสุดในโลก ไม่นับรวมไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนความเสี่ยงด้านนี้เพียง 22.44% และ 20.12%

ประเทศที่มีความเสี่ยงด้านนี้มากส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา โดยประเทศไนเจอร์มีคะแนนความเสี่ยงสูงสุดที่ 69.38%
โมแซมบิก 68.19% ไลบีเรีย 67.59% มาดากัสการ์ 67.51% เอริเทรีย 67.17%

ในแง่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ จากข้อมูลพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อย่างอิตาลี บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา อัลเบเนีย มีคะแนนเรื่องนี้ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ เพราะประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสงครามและความขัดแย้ง ทำให้ขาดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ประเทศที่ขาดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติที่สุด 5 อันดับแรก คือ ชาด มีคะแนนความเสี่ยง 94.36% อัฟกานิสถาน 93.94% กินี 92.13% แอฟริกากลาง 91.20% และซูดาน 90.90%

มีเพียงบอตสวานาและแอฟริกาใต้ ตัวแทนจากทวีปแอฟริกาที่ทำผลงานเรื่องนี้ได้ดี โดยมีเหตุผลจากเสถียรภาพทางการเมืองและระบบสุขภาพที่ได้รับการพัฒนา

และสำหรับความสามารถในการปรับตัวรับหายนภัย รายงานไม่ได้สะท้อนความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
อย่างกรณีของอเมริกาใต้กลับทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการศึกษาและการวิจัย รวมถึงการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศนั้นๆ มีศักยภาพในการปรับตัว

ท็อป 5 ประเทศที่ปรับตัวได้น้อยที่สุด คือ อัฟกานิสถาน มีระดับความเสี่ยง 73.55% ตามด้วยโคโมรอส 68.75% ไนเจอร์ 68.65% มาลี 67.85% และชาด 66.78%

หากผนวกเอา 3 ประเด็น ทั้งจุดอ่อนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ การขาดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ และขาดความสามารถในการปรับตัว จะสะท้อนถึงความเปราะบาง (vulnerability) ของประเทศต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีความล่อแหลมมากที่สุด แต่มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ยังมีความล่อแหลมน้อยที่สุดเมื่อเทียบในภูมิภาคเดียวกัน

ประเทศที่มีคะแนนความเปราะบางมากสุด คือ อัฟกานิสถาน ไนเจอร์ ชาด เซียร์ราเลโอน เอริเทรีย แอฟริกากลาง ไลบีเรีย
โมแซมบิก บุรุนดี และเฮติ

น่าสังเกตว่า ภัยธรรมชาติทั่วๆ ไปอาจแปรสภาพเป็นหายนภัยรุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือและการปรับตัวของภาครัฐ

ยกตัวอย่าง แผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ในเฮติ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากถึง 220,000 คน และมีผู้คนไร้ที่อยู่กว่า 1.5 ล้านคน ทว่าสิ่งที่ทำให้ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้หนักหนาสาหัส ไม่ใช่เพียงเพราะความรุนแรงจากแผ่นดินไหว แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวในการจัดการของรัฐบาลเฮติเอง เทียบกับแผ่นดินไหวในชิลีขนาด 8.8 ริกเตอร์ ที่มีผู้เสียชีวิต 562 ราย เนื่องจากชิลีมีธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการได้ดีกว่า

คล้อยหลังจากรายงาน World Risk Report ไม่นาน “เมเปิลครอฟท์” ได้เผยแพร่แผนที่ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change and Environment Risk Atlas) และจัดทำดัชนีความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (CCVI) ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ซึ่งประเมินสถานการณ์ใน 193 ประเทศทั่วโลก โดยวิเคราะห์ในเรื่องจำนวนประชากร การพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม และความขัดแย้ง

รายงานฉบับนี้ระบุว่า หลายประเทศในโลกที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็วมีความเสี่ยงแบบสุดๆ (extreme risk) รวมถึงเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ทั้งนี้ เศรษฐกิจของบังกลาเทศและฟิลิปปินส์ขยายตัวปีละ 6.6% และ 5%

รายงานของเมเปิลครอฟท์ ค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นความท้าทายสำคัญ 2 เรื่องในศตวรรษต่อจากนี้ ซึ่งประเด็นเรื่องประชากรโลกตามการประเมินขององค์การสหประชาชาติแตะระดับ 7 พันล้านคน

ดัชนี CCVI จัดอันดับ 30 ประเทศที่มีความเสี่ยงมากสุด ได้แก่ เฮติ บังกลาเทศ เซียร์ราเลโอน ซิมบับเว มาดากัสการ์ กัมพูชา โมแซมบิก คองโก มาลาวี และฟิลิปปินส์ ส่วนบราซิลและจีนถูกจัดอยู่ในความเสี่ยงระดับปานกลาง

เมื่อประเมินความเสี่ยงของเมืองใหญ่ในโลกที่เติบโตเร็วที่สุด 20 แห่ง พบว่ามี 6 เมืองในเอเชียที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติสูงมาก (extreme risk) ได้แก่ กัลกัตตาในอินเดีย มะนิลาในฟิลิปปินส์ จาการ์ตาในอินโดนีเซีย กรุงธากาและเมืองจิตตะกองในบังกลาเทศ และเมืองแอดิสอาบาบาในเอธิโอเปีย

ส่วนเมืองที่ความเสี่ยงสูง (high risk) มี 10 เมือง คือ กวางตุ้ง มุมไบ เดลี เชนไน การาจี และลากอส

“ดร.ชาร์ลี เบลดอน” นักวิเคราห์ด้านสิ่งแวดล้อมของเมเปิลครอฟท์ กล่าวว่า หลายๆ เมือง อาทิ มะนิลา จาการ์ตา กัลกัตตา เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของตลาดเกิดใหม่ แต่เมืองเหล่านี้กลับเผชิญกับคลื่นความร้อน น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำ และพายุ ซึ่งเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น อย่างกรณีของกรุงมะนิลา เมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ มีความเปราะบางมากที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งความเสี่ยงจากภัยพิบัติเอง และปัจจัยเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการในการปรับตัวที่อยู่ในระดับต่ำ

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเมืองใหญ่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ จำนวนประชากรจะต้องสอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่อพลเมือง เพราะเมื่อเมืองขยายตัวรวดเร็ว ผู้คนอาจถูกบีบให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติมากขึ้น

ประกอบกับการบริหารจัดการของภาครัฐที่ด้อยประสิทธิภาพ การคอร์รัปชั่น ความยากจน และปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ล้วนมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้คนและภาคธุรกิจ เพราะจะทำให้การรับมือกับหายนภัยไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ภัยพิบัติมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ย่อมจะส่งผลต่อการก่อสร้างอาคาร เส้นทางคมนาคมขนส่ง ระบบน้ำ พลังงาน และสุขภาพของผู้คน

สิ่งเหล่านี้อาจสร้างผลกระทบมากและขยายไปไกล ไม่เพียงกระทบต่อผู้คนในท้องถิ่น แต่ยังรวมถึงธุรกิจ เศรษฐกิจ ทั้งของประเทศนั้นๆ และนักลงทุนทั่วโลก

กรณีวิกฤตน้ำท่วมในไทย เมเปิลครอฟท์ระบุว่าเป็นเครื่องสะท้อนความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องจากสภาพอากาศที่ส่งผลต่อธุรกิจในวงกว้าง เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ จึงส่งผลสะเทือนถึงห่วงโซ่อุปทานในโลกด้วย

ดังนั้น ภาคธุรกิจและนักลงทุนจึงควรเรียนรู้จากเหตุการณ์น้ำท่วมในไทย เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคต

จำนวนหายนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ระหว่างปี 1970-2010
จำนวนหายนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ระหว่างปี 1970-2010
(ที่มาภาพ: WorldRiskReport 2011)