ThaiPublica > เกาะกระแส > สิ่งที่ควรรู้เมื่อกลับบ้านหลังน้ำลด ฟื้นฟูอย่างปลอดภัย ปลอดโรค

สิ่งที่ควรรู้เมื่อกลับบ้านหลังน้ำลด ฟื้นฟูอย่างปลอดภัย ปลอดโรค

20 พฤศจิกายน 2011


ที่มาภาพ: Reuters-http://cruziest.wordpress.com/2011/10/28/blessings-to-the-people-of-thailand
ที่มาภาพ: Reuters-http://cruziest.wordpress.com/2011/10/28/blessings-to-the-people-of-thailand

น้ำท่วมได้กลืนกินพื้นที่ในหลายจังหวัดให้จมน้ำเน่ามานานหลายสัปดาห์ ผู้ประสบภัยบางส่วนอาจเลือกเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้อยู่ที่บ้านตัวเอง แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ตัดสินใจอพยพหนีน้ำไปอยู่ที่อื่น

หลังเวลาล่วงผ่าน ระดับน้ำในหลายพื้นที่เริ่มลดลง บางพื้นที่กลับสู่สภาพปกติ ทำให้ผู้คนเริ่มกลับเข้าบ้านพร้อมกับภารกิจที่รออยู่มากมาย ทั้งเก็บ กวาด เช็ด ถู ล้าง ขัด ทิ้ง รวมถึงซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ที่เสียหายจากมหาอุทกภัย

“ไทยพับลิก้า” รวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ เพื่อให้การกลับบ้านหลังเผชิญวารีวิปโยคดำเนินไปอย่างปลอดภัย

สิ่งสำคัญลำดับแรกที่ต้องทำก่อนกลับบ้านคือตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้แน่ใจว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว จะได้ไม่ต้องย้ายเข้าย้ายออกหลายรอบ ศึกษาเส้นทางว่าจะไปอย่างไรได้บ้างเพราะถนนบางช่วงบางตอนอาจมีน้ำท่วมสูง

จากนั้นให้ “เตรียมใจ” ว่าการฟื้นฟูบ้านต้องใช้เวลาและความอดทน พยายามมองโลกในแง่บวก ให้กำลังใจตัวเอง

อย่าลืมแจ้งให้คนใกล้ชิดรู้ว่าคุณจะกลับเข้าบ้าน กันเหนียวไว้เผื่อกรณีมือถือแบตฯหมดหรือไม่มีสัญญาณ จดเบอร์โทร.ของคนสำคัญและหาช่องทางติดต่อสำรองไว้ด้วย

ต่อมาคือ “เตรียมพร้อม” จัดหาสิ่งของจำเป็น อาทิ น้ำสะอาด อาหารพร้อมกินที่ไม่เน่าบูดง่าย ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ทำความสะอาด เจลหรือน้ำยาล้างมือ กระดาษชำระ ยากันยุงและแมลง ไฟฉายและถ่านไฟฉาย วิทยุพกพาเอาไว้รับฟังข่าวสาร กล้องถ่ายรูปสำหรับเก็บภาพเป็นหลักฐานสำหรับเคลมประกันหรือค่าชดเชยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พกเงินสดติดตัวไว้ด้วยเผื่อตู้เอทีเอ็มยังจมในน้ำและบัตรเครดิตไม่มีความหมายสำหรับร้านโชห่วย

ถึงเวลากลับบ้านอย่าห่วงหล่อห่วงสวย ให้แต่งกายรัดกุมไว้ก่อน สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบูทและถุงมือยาง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจมองไม่เห็น แรกเข้าบ้านไม่ควรพาเด็ก คนแก่ และสัตว์เลี้ยงมาด้วย เพราะจะเป็นภาระและเสี่ยงจะเกิดอันตรายมากกว่า

เริ่มภารกิจ

ที่มาภาพ: AP-http://www.theatlantic.com/infocus/2011/10/thailand-floods-pass-their-peak/100181/
ที่มาภาพ: AP-http://www.theatlantic.com/infocus/2011/10/thailand-floods-pass-their-peak/100181/

ระลึกไว้เสมอว่าน้ำท่วมทำให้ลื่นล้มได้ง่าย แม้ระดับน้ำจะลดลงไปแล้วก็ตาม จึงต้องระมัดระวังทุกย่างก้าวเมื่อกลับเข้าบ้าน โดยเฉพาะเศษกระจก เศษซากปรักหักพังแหลมคมที่เกลื่อนกลาดในบ้าน ไม่อย่างนั้นร่างกายอาจได้แผลแถมมาอีกนอกเหนือจากแผลใจ

ก่อนเปิดประตูบ้านให้ตรวจสอบภายนอกว่ามีสัตว์ร้ายแอบเข้ามายึดครองพื้นที่ในช่วงที่เราไม่อยู่หรือไม่ ถ้ามีเพื่อร่วมโลกสายพันธุ์ที่อยู่ในวิสัยจัดการเองได้ก็ใช้คาถาตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่หากเกินกำลังความสามารถควรติดต่อเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ

ต่อมาให้ตรวจดูบริเวณรอบบ้านว่าสายไฟฟ้าชำรุดหรือมีไฟฟ้ารั่วบ้างไหม ใช้อุปกรณ์ตรวจสอบหรือให้ผู้มีความรู้เรื่องไฟฟ้าดูให้แน่ใจ เพราะเรื่องไฟฟ้าไม่เข้าใครออกใคร รวมทั้งต้องตรวจสอบระบบท่อน้ำและปั๊มน้ำต่างๆ หากเกิดการอุดตันแตกหักควรให้ช่างมาดำเนินการ ไม่อย่างนั้นอาจทำให้สิ่งปฏิกูลยิ่งอุดตันและสร้างความเสียหายมากขึ้นอีก

อีกเรื่องที่สำคัญคือการดมกลิ่นและฟังเสียงว่ามีแก๊สรั่วหรือไม่ หากมีสัญญาณของการรั่วไหลให้ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระวังอย่าทำให้เกิดประกายไฟอย่างเด็ดขาด

จากนั้นเปิดประตูบ้านและหน้าต่างเพื่อระบายความอับชื้น หากบ้านถูกปิดไว้เกินกว่า 48 ชั่วโมง ควรปล่อยให้อากาศถ่ายเทสักครู่ก่อนเข้าไปในบ้าน

อย่าเพิ่งเปิดไฟฟ้าและระบบน้ำประปาจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย และต้องจำใส่ใจว่าอย่าเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างเด็ดขาดเมื่อยังยืนอยู่ในน้ำ

ตรวจสภาพบ้าน ทั้งพื้น ผนัง หลังคา ดูว่ามีแนวโน้มจะพังหรือไม่ เพราะน้ำที่แช่ขังอาจทำให้พื้นและผนังผุจนไม่ปลอดภัยต่อการอยู่อาศัย

เก็บภาพความเสียหายทั้งภายในและภายนอกบ้านเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเคลมประกันภัยและขอรับเงินชดเชยจากผู้เกี่ยวข้อง

รับบท “แรงงาน” ฟื้นฟูบ้าน

ที่มาภาพ: AFP-http://www.theatlantic.com/infocus/2011/10/thailand-floods-pass-their-peak/100181/
ที่มาภาพ: AFP-http://www.theatlantic.com/infocus/2011/10/thailand-floods-pass-their-peak/100181/

หลังตรวจสอบสภาพจนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือภารกิจแจ๋ว เพราะมีงานบ้านสารพัดมารออยู่ เริ่มจากการเคลื่อนย้ายซากปรักหักพังและเฟอร์นิเจอร์ที่เน่าเกินกว่าจะใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งชุ่มโชกน้ำและหนัก

โละทิ้งบรรดาอาหาร เครื่องดื่ม และยาที่เปียกน้ำ แม้แต่เครื่องกระป๋องที่สภาพไม่สู้ดี หรือขวดแบบฝาปิด รวมถึงของกินในตู้เย็นที่ดึงปลั๊กออกนานกว่า 4 ชั่วโมง อย่าเสียดายจนได้ไม่คุ้มเสีย หากไม่แน่ใจก็ให้เก็บทิ้งดีกว่า แถมด้วยโยนทิ้งบรรดาข้าวของเครื่องใช้ที่ดูดซับน้ำและไม่สามารถทำความสะอาดได้ อาทิ ที่นอน พรม โซฟา รวมถึงสิ่งของที่เป็นอันตรายอย่างเช่นยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆ

ระมัดระวังเมื่อใช้น้ำยาทำความสะอาด เพราะมันอาจก่อให้เกิดควันที่เป็นพิษและอันตรายเมื่อผสมรวมกัน หากได้กลิ่นสารเคมีแรงๆ หรือระคายตา ให้เปิดหน้าต่างระบายและหลบออกมานอกบ้าน

จากภารกิจโละทิ้งสิ่งของก็มาถึงขั้นตอนทำความสะอาดพื้นและบรรดาข้าวของเครื่องใช้ทั้งที่สัมผัสน้ำและไม่โดนน้ำ โดยควรใช้น้ำร้อนกับสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาด

เมื่อบ้านถูกน้ำท่วมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจมีเชื้อรา ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งเจ้าเชื้อราเหล่านี้เป็นภัยเงียบต่อสุขภาพ เพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ การกำจัดเชื้อราทำได้ด้วยการใช้สารฟอกขาว (bleach) ผสมน้ำขัดล้างด้วยแปรง ล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วทำให้แห้ง อย่ามองข้ามเครื่องทำความร้อน ระบบระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมักเป็นแหล่งสะสมเชื้อรา

เมื่อบรรลุภารกิจทำความสะอาดบ้านให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หากไม่แน่ใจว่าน้ำในบ้านปนเปื้อนหรือไม่ให้ต้มน้ำก่อนใช้ หรืออาจใช้สารฆ่าเชื้อผสมในน้ำ อาทิ คลอรีน รวมทั้งซักเสื้อผ้าชุดที่สวมใส่ทำความสะอาดบ้านด้วยน้ำอุ่นและผงซักฟอกแยกจากเสื้อผ้าปกติ

ใส่ใจความปลอดภัย

ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ ถ้ายังไม่สะดวกที่จะกลับมาอยู่อาศัย ให้ทยอยซ่อมแซมจนแน่ใจก่อน แต่หากจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านทั้งที่สภาพยังไม่ปกติเต็มร้อย ระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย อันตรายจากสัตว์ร้ายที่มักชอบซุกในพื้นที่เปียกชื้น และหลีกเลี่ยงการใช้แก๊ส ไฟฟ้า เทียน ไม้ขีดไฟ ควรใช้อุปกรณ์สร้างแสงสว่างจากแบตเตอร์รี่แทน

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแหล่งน้ำในบ้านสะอาดเพียงพอที่จะใช้ หากไม่แน่ใจให้ใช้น้ำบรรจุขวดหรือต้มน้ำสำหรับใช้ จนกว่าจะซ่อมระบบน้ำให้สะอาดได้ตามปกติ

อย่าใช้น้ำต้องสงสัยปนเปื้อนในการแปรงฟัน หรือนำไปล้างจาน ล้างมือ อาบน้ำ เพราะน้ำเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายจากสารเคมี นอกจากนี้ ยังต้องระวังไม่ให้เกิดบาดแผล เพราะเชื้อโรคอาจแทรกซึมเข้าไปได้ หากเกิดบาดแผลและมีสัญญาณไม่ดี เช่น อาการบวม แดง ควรรีบไปพบแพทย์

หากไม่มีน้ำสะอาด เราสามารถต้มน้ำไว้ใช้และดื่มได้ เพราะความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต หรืออาจใส่สารฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน ไอโอดีน โดยต้องปฏิบัติและใช้ในปริมาณที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากกาชาดอเมริกัน สำนักงานจัดการภัยพิบัติฉุกเฉินของสหรัฐ (FEMA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)