ThaiPublica > คนในข่าว > ออมสินลุยสร้างทุนสังคมทีละกลุ่ม ใช้โมเดล “กลุ่มร่วมกลุ่ม” ปฏิรูปคนจนเมือง

ออมสินลุยสร้างทุนสังคมทีละกลุ่ม ใช้โมเดล “กลุ่มร่วมกลุ่ม” ปฏิรูปคนจนเมือง

1 พฤศจิกายน 2011


นางสาวนงเยาว์ พาชีรัตน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย นางรสริน โศจิพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ นายสมบุญ พัฒนดิลก หัวหน้าส่วนพัฒนา สถาบันชุมชน ฝ่ายสินเชื่อองค์กรชุมชน
นางสาวนงเยาว์ พาชีรัตน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย นางรสริน โศจิพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ นายสมบุญ พัฒนดิลก หัวหน้าส่วนพัฒนา สถาบันชุมชน ฝ่ายสินเชื่อองค์กรชุมชน (ภาพจากขวามาซ้าย)

ปัจจุบันบทบาทของสถาบันการเงินไม่ใช่แค่รับเงินฝาก ปล่อยกู้ และให้บริการการเงินที่ครบวงจร แต่เป็นบริการที่ต้องให้มากกว่าบริการการเงิน เพราะบางครั้ง “เงิน” ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

บ่อยครั้งที่พาดหัวข่าวของสื่อสิ่งพิมพ์ว่ารัฐบาลทุบกระปุกออมสินเอาเงินไปทำโครงการประชานิยม อาทิ ให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือโครงการธนาคารประชาชน ให้รากหญ้ามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น นโยบายดังกล่าวหวังว่าเงินจะช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างได้

ยิ่งเป็นการกำจัดหนี้นอกระบบด้วยการใช้ “เงินซื้อเงิน” ด้วยแล้ว อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

จากการได้สัมภาษณ์นางสาวนงเยาว์ พาชีรัตน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย นางรสริน โศจิพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ นายสมบุญ พัฒนดิลก หัวหน้าส่วนพัฒนา สถาบันชุมชน ฝ่ายสินเชื่อองค์กรชุมชน เกี่ยวกับโครงการการเงินชุมชน ทั้ง 3 คนได้ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์จากการลงพื้นที่และได้พูดคุยกับชุมชนต่างๆ ว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วย “เงิน” อย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะคนกลุ่มนี้แค่เตะลมก็ล้มได้

จากนโยบายการให้สินเชื่อชุมชน ตามโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยธนาคารออมสินได้เริ่มโครงการนี้มาประมาณ 1 ปี มุ่ง 3 กลุ่ม เป็นโครงการนำร่องคือ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มแท็กซี่และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า

นงเยาว์ : จากการลงพื้นที่ ปัญหาของสังคมส่วนใหญ่มาจากการไม่มีเงินออม แต่ทุกคนไม่เห็นความสำคัญของการออมเงิน เชิญมาคุยเรื่องการออมไม่มีใครมา แต่บอกให้มากู้เงิน มา เราใช้เงินกู้มาเป็นเงื่อนไขในการออม ทุกคนไม่เห็นความในเรื่องนี้ คนที่เป็นกำลังหลักของครอบครัว หากเป็นอะไรก็ยังมีเงินออมเหลืออยู่

รสริน:จริงๆ โครงการนี้เริ่มจากรัฐบาลที่แล้ว มีการลงทะเบียนช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ และมีส่วนหนึ่งที่ไม่มีคนค้ำประกัน รายได้ไม่เพียงพอ จึงเข้าระบบไม่ได้ รัฐบาลบอกว่าจะทิ้งไม่ได้ จะทำอย่างไรช่วยเขาให้ได้ จึงมีการระดมสมองกัน มีแบงก์รัฐ 6 แบงก์มาหารือกัน

“เรามองว่าคนกลุ่มนี้หากเขาเดินเข้ามาเดี่ยวๆ เขาไม่มีสามารถกู้ได้ คนกลุ่มนี้มีข้อจำกัด แต่คนกลุ่มนี้เขารู้จักพวกเขากันเอง เราก็เลยเอาขบวนการกลุ่มมาใช้ โดยมี 3 กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มหาบเร่แผงลอยซึ่งลักษณะของเขาจะห่วงแต่ขายของ กลุ่มที่สอง แท็กซี่ ลักษณะจะขับเดี่ยวๆ ไม่ค่อยรู้จักกัน และกลุ่มที่สาม มอเตอร์ไซค์วิน กลุ่มนี้จะง่ายที่สุด ขับแป๊บเดียวก็มาเจอกัน กลุ่มนี้จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นถ้าเขารวมกลุ่ม 10 คนขึ้นไป ไม่เกิน 25 คน ก็สามารถกู้ได้คนละ 100,000 บาท ซึ่งเราเชื่อว่าเขาน่าจะรู้จักกันดี มีใครติดยา มีใครเล่นการพนัน ใครรายได้เท่าไหร่ มีกิ๊กไหม หากใครไม่มีวินัย ไม่มีความตั้งใจจะแก้ปัญหาตัวเอง ขี้เกียจ เขาไม่เอาเข้ากลุ่มอยู่แล้ว จะสะกิดกันเอง”

ส่วนใหญ่เขาบ่นว่าทำไมตั้ง 10 คน เราก็บอกว่าเฉลี่ยความเสี่ยงแล้วต่อคนไม่เท่าไหร่ ให้เขาจับกลุ่มกัน เราเอาหลักเกณฑ์เงื่อนไขมาคุยกับเขา ถ้าเอาสินเชื่อไป อันที่หนึ่ง คุณต้องพร้อมก่อน เพราะนี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เกณฑ์หย่อนหมดแล้ว พร้อมจะช่วยแล้ว เราเป็นเหมือนหมอ คุณเป็นคนไข้ หากคุณไม่บอกอาการเราทั้งหมด ก็รักษาคุณไม่ได้ ให้เขาเปิดใจ เราเป็นที่ปรึกษา เรามาให้กำลังใจเขา แบงก์ออมสินคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ธนาคารแทบไม่ได้อะไรอยู่แล้ว แต่เราต้องลงไปทำความเข้าใจ อธิบาย เปรียบเทียบกับหนี้นอกระบบ คุณกู้ 10,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 20 แต่ได้เงินไปแค่ 5000 บาท ดอกเบี้ย วันหนึ่งละ 800 – 1,000 บาท แต่ออมสินดอกเบี้ยร้อยละ 6 วันหนึ่งขอเก็บเงินฝากวันละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 400 บาท ถ้าคุณจ่าย 400 บาทต่อวัน คุณได้วงเงินกู้ 100,000 บาท

มีกลุ่มหนึ่งแถวประชาชื่น เขาบอกว่าถ้าเก็บวันละ 400 บาท กลุ่มเขามีคุณสมบัติพร้อม เขาจับมือกันเหมือนญาติ จากเดิมที่เขาต้องจ่ายวันละ 600 บาท เพื่อเช่าแท็กซี่มาขับ เมื่อเขาเข้าโครงการเขามีเงินไปดาวน์รถ 100,000 บาทมีเงินจ่ายค่ารถวันละ 600 บาท และมีเงินฝากวันละ 400 บาท แล้วได้รถอีก หลังจากปล่อยกู้ เราพยายามโทรคุยกับเขา พยายามบอกว่ามีปัญหาเข้ามาหาเรา อย่าหนี เขาซื่อสัตย์มาก บางทีโทร.มาบอกว่าเขาไม่อยู่ จะกลับบ้านต่างจังหวัด 10 วัน เขาจะทำอย่างไร เราก็บอกว่าถ้ามีเอามาให้ก่อน หรือถ้าไม่มี ก็ให้เขาชดเชยเพิ่มขึ้นทีหลัง สมมติต้องจ่ายให้เราวันละ 400 บาทก็เพิ่มเป็น 500 บาท พยายามเป็นพี่เลี้ยง เป็นเพื่อนคู่ทุกข์ให้เขา

นางสาวนงเยาว์ พาชีรัตน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย
นางสาวนงเยาว์ พาชีรัตน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย

นงเยาว์:โครงการนี้ที่เขาจับได้คือความหวัง เขาจับได้ว่าเขามีโอกาสจะยืนบนลำแข้งของเขาเองได้ จากที่เขาไม่เคยมองว่าเงินที่เขามีจะแบ่งอย่างไร เราอธิบายให้เขาฟังว่า หากคุณฝากทุกวันๆ ละเท่านี้ เราบอกได้ว่า 14 เดือน (ระยะเวลาให้กู้ 14 เดือน) คุณจะหมดหนี้และเหลือเงินออมเท่าไหร่ เขามีความหวังและเห็นเป้าหมายชัดเจน ไม่งั้นเขาจะอยู่แบบลอยๆ ไปวันๆ โครงการนี้ทำให้เขาอยู่อย่างพึ่งพากลุ่มกันมากขึ้น อย่าง แท็กซี่ที่ขนส่งสายใต้ใหม่ สิ่งที่ประชาสัมพันธ์ได้ดีมากๆ คือพวกเขากันเอง เป็นการบอกต่อ เขาจะรวมตัวกันแล้วเข้ามาหาเรา บางทีมาเป็นกลุ่ม 10-13-15 คน

“เราสื่อสารกับเขาเสมอว่า ปกติคุณเข้ามากู้ไม่ได้เลย ถ้าหาคนค้ำประกันไม่ได้ มูลค่าเพิ่มของโครงการนี้คือการรวมกลุ่มกัน คุณจับกลุ่มมาให้ได้ โดยคุณต้องมี 3 ใจ วางใจ ไว้ใจ เชื่อใจ มี 3 ใจก็มาได้ นี่มูลค่าเพิ่มคือไม่ต้องมีคนค้ำประกัน”

เพราะฉะนั้นมูลค่าเพิ่มคือการลดการค้ำประกัน โครงการนี้อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ6 ต่อปี ถ้ากู้ 100,000 บาท ดอกเบี้ย 6,000 บาทต่อปี หารเป็นเดือนๆ ละ 500 บาท เฉลี่ยต่อวันๆ ละ 16.66 บาทต่อวัน หากคุณสูบบุหรี่วันละซองๆละ 58 บาท คุณใช้เงินวันเดียว แพงกว่าดอกเบี้ยออมสินอีก เราพยายามสื่อสารแบบนี้ นี่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เพื่อจะชี้ว่าคุณใช้เงินเกินดอกเบี้ยที่จ่ายให้ออมสินต่อวันแล้ว เราพยายามย่อยตัวเลขให้เขามากที่สุด หรืออย่าง ซื้อหวย หากคุณลดได้เท่าไหร่ ก็ลดรายจ่ายคุณได้มากขึ้น

“กับกลุ่มคนเหล่านี้ การรับรู้ หรือชวนให้เขาคิดอะไรง่ายๆ หลายสาขาบอกว่าดีมาก ไม่มีหนี้เสียเลย เราไม่ได้หวังแค่นี้ เราทำมาตั้งแต่โครงการธนาคารประชาชน หนี้นอกระบบ สิ่งที่เราพบคือลูกค้ากู้เสร็จ ใช้หนี้หมด ก็กลับมากู้ใหม่ เพราะเขาไม่มีเงินออม หรือใช้หนี้ยังไม่หมด ก็มากู้หักกลบหนี้ใหม่ เขาไม่สามารถยืนได้ แต่โครงการนี้ เป็นโครงการที่สร้างวินัยการออมเงินทุกวัน เป็นการสร้างวินัยให้เขาเอง เมื่อเป็นความเคยชิน ก็จะทำให้เขาหงุดหงิดหากเขาไม่ได้เก็บเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขามีความหวังและสร้างประวัติลูกค้าที่ดี ต่อไปวันข้างหน้าเขาสามารถเดินเข้ามาแบงก์ได้ตลอดเวลา หลายคนมีความสุขที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ลองคิดดูคุณกู้เราแค่ 4 รอบๆ ละ 14 เดือน คุณจะมีเงินเก็บเท่ากับที่กู้เรา เช่น ถ้าเขากู้ 50,000 บาท 14 เดือนต่อรอบ เขาจะมีเงินออม 12,500 บาท หากกู้ 4 ครั้ง เงินที่ออมได้เท่ากับวงเงินกู้เแล้ว ดังนั้นเขาจะมีเงินเก็บของเขาเอง ออมสินมาชวนให้เขาคิด

สมบุญ:โมเดลนี้มาจากภูมิภาค เป็นโครงการสินเชื่อไทยเข้มแข็ง ผมเสนอเปลี่ยนเป็นสินเชื่อออมสินเข้มแข็ง โครงการนี้ไม่สนใจรายได้ คอนเซ็ปต์คือลดค่าใช้จ่ายที่เขาจ่ายทุกวัน พอลดค่าใช้จ่ายได้ รายได้เขาก็เพิ่มขึ้น พอคุยเรื่องรายได้ เป็นเรื่องยาก พอคุยเรื่องลดค่าใช้จ่าย มันง่าย จากค่าใช้จ่ายที่เขาจ่ายทุกวันมาบริหารใหม่ เลยเกิดเป็นโครงการนี้

แต่กว่าจะเกิดโครงการนี้ได้ก็ใช้เวลานาน ไประดมความคิดกันที่ศูนย์ราชการ ณ วันนี้ชุมชนเมือง ร้อยละ 60-70 ที่ใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยรายวันร้อยละ 20 เราระดมปัญหาจากชุมชน เอาปัญหาชุมชนมาคิดโมเดลออกมา โดยใช้ประสบการณ์พื้นฐานของภูมิภาค เพราะพฤติกรรมพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของ ไม่ว่าคนที่ขายข้าวแกง ขายดอกมะลิ ขายกล้วยทอด อยู่ดีๆที่ให้เขาเอาเงินมากฝากแบงก์ 200 บาท ทุกๆวัน ไม่มีทาง ไม่มีใครทิ้งร้านมาแล้วเอาเงินมาฝากแบงก์ หรือระหว่างขายของ หากให้มาฝากเงิน แล้วต้องเข้าคิวอีก ใครจะมา นี่เอาปัญหาเขามาวิเคราะห์ แต่ถ้าเขาอยากได้เงินกู้ ส่วนใหญ่ก็รับปาก ทำได้หมด แต่หลังจากนั้นไม่มีทางทำได้ นี่คือปัญหาชุมชนเมือง

“เราจึงต้องคิดใหม่ ลดค่าใช้จ่ายรายวันเขาลง เขาไม่ต้องทิ้งร้าน ไม่ต้องไปแบงก์ หาคนมาบริหารเงินรายวันของเขาใหม่ หากไม่มี ก็เป็นเอ็นพีแอลอีก เพราะ ในสังคมของเขา ไปช่วยเขาแล้ว ให้เงินกู้แล้ว แต่สิ้นเดือนเขามีรายจ่ายอื่นๆ อีก ค่าเช่า ค่าเล่าเรียนลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ พฤติกรรมสังคมตรงนี้ เขาต้องจ่าย เมื่อถึงเวลาถ้าเขาไม่มีเขาก็ไปเอานอกระบบอีก อย่างไปกู้นอกระบบมา 5,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยวันละ 200 บาทต่อวัน 30 วัน ก็ 6,000 บาท หรือกู้นอกระบบ 10,000 บาท ดอกเบี้ยวันละ 400 บาท เดือนละ 12,000 บาท เราก็บริหารรายจ่ายของเขา มาคิดให้เขาใหม่ วางกรอบใหม่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะดีไซน์โมเดลไม่เหมือนกัน “

เริ่มต้นครั้งแรกขงโครงการนี้ ไม่มีใครเอาด้วยว่าทำไมต้อง 10 คน มีการกลั่นกรองคนเข้ากลุ่ม แต่บางกลุ่มมีสมาชิกใจบุญมาค้ำให้อย่างเดียว ไม่กู้ เพื่อให้กลุ่มครบ 10 คน กว่าจะเป็นวันนี้ลูกค้าเขาสอนเรา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงโครงการมาเรื่อยๆ วันนี้เราลงพื้นที่ ขาใหญ่ในซอยไม่ให้เข้า เพราะเขาปล่อยเงินกู้ 500,000 บาท เดือนหนึ่งเขามีรายได้ 100,000 บาท เราตรวจสอบพบว่ามีลูกพี่อยู่ข้างหลัง บางทีเข้าไปเขาจุดประทัดไล่ ขู่ไม่ให้เข้า บางทีโดนขีดรถ แต่ทางชุมชนดูแลเราดี

ชุมชนเมืองกรุงเทพมี 53 เขต 903 หมู่บ้าน หลายคนบอกว่า “ชุมชนเมือง” ไม่มีทางทำได้สำเร็จ เพราะต่างคนต่างอยู่ ต่างไม่เอื้ออาทร แต่วันนี้โมเดลที่สำเร็จ มีคนไปดูงาน และนำไปลองทำดู ปัจจัยสำเร็จคือมีผู้นำกลุ่มที่มีจิตอาสา จริยธรรม โปร่งใส ซื่อสัตย์ ตั้งใจ

“วัฏจักรหนี้นอกระบบ คนที่ใช้บริการเหมือนต้องคำสาป เขาอยู่ในวงจรนอกระบบมา 30 – 40 ปี พอเราเข้ามาช่วยให้เขาหลุดจากหนี้นอกระบบ แต่กลับไม่ใช่ มันต้องคำสาป เขากลับไปเอาเงินนอกระบบใหม่ จากที่ผมได้เก็บข้อมูลมา เขารู้สึกไม่สบายใจหากไม่มีใครมาเก็บหนี้ เขาเสพจนติด เขาไม่ยอมออกจากวงจร หากเราเจอแบบนี้ ต้องตัดทิ้ง ยอมเสียทั้งกลุ่ม ไม่งั้นลาม”

นงเยาว์:ปัญหาเหล่านี้ เราอยากให้รัฐบาลมองให้ครอบคลุมว่า “หนี้สิน” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ตัวอย่างลูกค้า มีคนหนึ่งมาโทร.มาขอกู้ เขาแต่งงาน มีลูกชาย 3 คน ทุกคนเริ่มเกเร ตัวเขาไม่สบายเป็นรูมาตอย บวมปวด ต้องหาหมอ โรงงานให้หยุดรักษาตัว ขณะที่ลูกชายไปพรากผู้เยาว์ ถูกเขาฟ้อง ต้องเสียเงินให้ฝ่ายหญิง ต้องส่งเสียให้เล่าเรียน และเด็กคนนี้มีลูก คำถามว่าลูกค้ารายนี้เขาจะยืนได้อย่างไร มันยืนไม่ได้ การแก้ปัญหาหนี้อย่างเดียวแก้ไม่ได้ แก้ไม่จบ เราประสานสาขาว่าจะช่วยอะไรให้เขาได้บ้าง ช่วยหาโรงพยาบาลให้เขา ทำอย่างไรให้เขาผ่อนคลายกว่านี้ ดังนั้นเงินไม่ใช่ปัญหาเดียวในสังคม เพราะไม่งั้นเราปล่อยกู้ไป ก็กลายเป็นหนี้เสีย

หรือตัวอย่าง ลูกค้ารายหนึ่งต้องเอาหลานมาเลี้ยง ทำส้มตำขาย ลูกชายมีครอบครัว ภรรยาทิ้ง ให้ย่าเลี้ยงหลาน ต้องซื้อนมเลี้ยง ลูกชายไม่มีอาชีพ เป็นภาระของคนที่ทำมาหากินได้ ภาระตกอยู่ที่คนๆ นั้น แรง 1 คนต้องเลี้ยงกี่ท้อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เขายืนได้ ทำให้คนที่เป็นหนี้อยู่ในวงจรอย่างนี้

“การแก้ด้วยเงินอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ ทำอย่างไรให้ภาครัฐ หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูกัน”

ปัญหาคนไทยเป็นปัญหาสังคมโครงสร้างที่ต้องแก้ไข คนอ่อนแอต้องใช้เวลาในการแก้ไข กว่าจะพัฒนาคน กว่าจะทำให้คนเข้มแข็งขึ้นมาได้ พอรุ่นลูกเป็นอย่างนี้ เมื่อเขามีลูกต่อก็อ่อนด้อยลงไปเรื่อยๆ และด้อยในอัตราเร่งที่เร็วมาก เขาก็กลับไปสร้างหนี้ใหม่ ส่งหนี้เราไม่ได้ เพราะมีภาระเพิ่มขึ้นมา เขาไม่สามารถเบรกหรือหยุดลูกหยุดหลานว่าอย่าสร้างภาระหนี้ ขึ้นมา และเขาไม่สามารถหารายได้ให้พอเพียง ต่อไปโครงสร้างสังคมจะล้มทั้งยืนได้

“คนกลุ่มนี้ไม่มีสำรอง ออมสินจึงช่วยสร้างระบบสำรองคือการออมให้ลูกค้า พร้อมดีไซน์เงื่อนไขการให้กู้ เพื่อให้มีระบบสวัสดิการในกลุ่มได้ใช้ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วแต่เขาตกลงกันในกลุ่ม ถ้าในกลุ่มมี 10 คน มีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นจะให้หัวกี่ร้อย คนแก่จะให้หัวละเท่าไหร่ เวลาเจ็บป่วยจะให้เท่าไหร่ คืนละกี่ร้อยบาท อยู่ที่จะตกลงกัน และอยู่ที่ว่ากองทุนนี้โตเท่าไหร่ เงินก้อนนี้จะเกี่ยวให้กลุ่มเข้มแข็ง กลุ่มร่วมกลุ่มจะไม่อยากแตกกลุ่มเพราะระบบสวัสดิการ เมื่อจ่ายเงินในกลุ่มแล้ว หากออกจากกลุ่มก็จะไม่ได้เงินคืน เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่เงินฝากที่จะถอนได้”

สวัสดิการจะดีไซน์ตามแต่วัตถุประสงค์ของกลุ่ม เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์ มีอุบัติเหตุบ่อยก็เน้นเรื่องพวกนี้ ขณะที่ต่างจังหวัดกลุ่มจะรวมตัวกันแน่น เพราะมีสวัสดิการ แต่การรวมกลุ่มในกรุงเทพ ไม่ค่อยสนใจเรื่องสวัสดิการ

“อยากเรียนว่าปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเดียว ปัญหาเขาเกิดตลอดเวลา แก้ยากมาก คนกลุ่มนี้เตะลมก็ล้มได้ เพราะเขาง่อนแง่นมาก เพราะฉะนั้นออมสินเป็นสถาบันเพื่อการออม เงินออมช่วยป้องกันเรื่องพวกนี้ให้เขาได้ เขาถามว่าทำไมต้องออม ทุกคนร้อยละร้อย เป็นหนี้นอกระบบ เราก็บอกว่าคุณทำกับนอกระบบอย่างไรก็ทำกับเราอย่างนั้น แต่ผลลัพธ์ต่างกันเยอะ ดอกเบี้ยออมสินถูกกว่า เราเก็บรายวัน แต่ของเราไม่ได้เก็บเพื่อส่งดอกเบี้ย ดังนั้นถ้าเขาจ่ายนอกระบบได้ ทำไมทำกับเราไม่ได้ เพราะโมเดลการกู้ของเรา เงินที่คุณจ่ายไป 400 บาทต่อวัน เมื่อครบกำหนดเงินกู้ 14 เดือน คุณมีเงินออมกลับไป มีสวัสดิการกลุ่ม เราทำความเข้าใจว่าเขาคือผู้ที่ได้มากสุด ออมสินก็สมประโยชน์เพราะสร้างการออมให้เกิด

“หากปราศจากการออม เขาจะไม่เข้มแข็ง เราไม่ได้หวังให้คุณมีแค่นี้ เราหวังให้คุณมีปัจจัย 4 ครบ”

กลุ่มมอเตอร์ไซค์มีรายได้ดีมาก อย่างปากซอยทองหล่อ มีรายได้วันละเป็นพันบาท ยิ่งเป็นวันหยุดยิ่งดี และเขาวิ่งเป็นแมสเซ็นเจอร์ด้วย แต่เขาซื้อหวยเดือนละ 5,000 บาท กลุ่มนี้เก่งมาก เดิมเขามีเงินกลุ่มของสมาชิก 3 แสนบาทเป็นเงินกองกลาง ตอนแรกเขาจะให้สมาชิกกู้กันเอง พอออมสินมา เขาเลยมาใช้ของเราแทน แบงก์ออมสินสาขาทองหล่อแฮปปี้กับกลุ่มนี้มาก

“ที่ผ่านมาเราไปพูดตามเขตกทม. กรมการขนส่ง ว่าเขาจะเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้อย่างไร เราเปิดเวทีใหญ่ เรามาลงเวทีย่อย เราวิ่งไปกวาดต้อนมาวินมอเตอร์ไซค์ เข้ามา อย่างหัวหน้ากลุ่มวินถนนเจ้าคำรพ แถวป้อมปราบ เขาสามารถแนะนำเราได้หมดว่าวินไหนเป็นอย่างไร เราเปิดเวทีที่แถวพลับพลาไชยสอง เรามีแม่ค้าในตลาดเยาวราชหลายกลุ่ม ขายซาลาเปา คนเหล่านี้เขารู้ว่าโครงการนี้ดอกเบี้ยถูกกว่ากันเยอะ สร้างการออมให้เขา ขณะที่นอกระบบทุกสิ่งที่จ่ายออกไปหายไปกับสายลมและแสงแดด แต่โครงการนี้กลับมาเป็นเงินออม สร้างวินัยการออม”

จริงๆ คนกลุ่มนี้เขามีวิธีคิดลึกซึ้งมาก บางอย่างเราเรียนรู้จากเขาเยอะมาก เขาคิดเลขเก่งมาก บริหารความเสี่ยงเก่งมาก นอกจากนี้เขามีวินัย ลูกค้ารับปากว่าจะไม่ซื้อหวย หรือลอตเตอรี่ แต่ด้วยความเคยชิน พอคนขายลอตเตอรี่ถามและหยิบใส่มือ บอกว่ายังไม่เก็บเงินตอนนี้ เชื่อไว้ก่อน เดี๋ยวนี้การขายเป็นการยัดเยียดขาย เก็บเงินที่หลัง ลูกค้าหยิบมาแล้ว เลือกแล้ว พอประธานกลุ่มบอกว่าสัญญาแล้วไงว่าจะไม่ซื้อ เขาทิ้งเล่มทันที ดังนั้น 10 คนในกลุ่ม ประธานไม่ใช่แค่คนเก็บเงิน แต่ดูแลคนในกลุ่มด้วย ต้องเตือนและดูแลความประพฤติคนในกลุ่มด้วย อะไรที่รับปากแล้วต้องดูแลให้เป็นไปตามนั้น และเราพยายามโทรศัพท์ไปพูดคุยเป็นระยะๆ

นางรสริน โศจิพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย
นางรสริน โศจิพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย

รสริน :โครงการนี้ทำให้เขาขยันขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรม ตอนรวมกลุ่ม 10 คนเขาบอกว่าทำไม่ได้ ยิ่งต้องหาคนที่เขาไว้ใจเป็นเรื่องยากมาก ต้องบอกว่าคุณเชื่อใจตัวเองก่อน อย่าไปฟังคนอื่น ให้ทุกคนมั่นใจว่าตัวเองทำได้ คิดที่ตัวเองก่อน หากมั่นใจว่าทำได้ และไม่ต้องไปคิดว่าไม่ไว้ใจคนนั้นคนนี้ พอเขากลับไปคิด ก็โทรกลับมาว่ารวมกลุ่มได้แล้ว

อย่างสังคมเมืองจะสนใจแต่เงินตัวเอง แต่สังคมต่างจังหวัดมีสวัสดิการกลุ่มช่วยเหลือกัน เอื้ออาทรในกลุ่มกันเอง บางคนที่ไม่เข้ากลุ่ม วันหนึ่งเขาจะมาเอง ขอให้ทำเป็นตัวอย่างให้เห็น 14 เดือน มีเงินออม เขาจะทยอยเข้ามา ณ วันนั้นเขาอาจยังคิดไม่ได้

“เรามองว่าถ้าคุณมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มันเป็นสินเชื่อที่ช่วยสังคมทีละกลุ่มๆ ถ้ากลุ่มนี้โตก็จะโยงไปกลุ่มอื่นได้”

นงเยาว์:เขาต้องพึ่งและช่วยตัวเองด้วย หากทำตัวเหมือนเดิม และหวังว่าจะมีคนเข้าไปช่วย ไม่ได้ เขาก็จะไม่เข้มแข็ง ดังนั้นถ้าเขาช่วยตัวเอง หากทำอย่างนี้เขาจะลุกขึ้นยืนได้ และเขาจะภาคภูมิใจ ว่าเขาสามารถ ไม่ใช่แค่ความฝัน คนไทยต้องมีความรู้สึกนี้ คุณอาจจะอาศัยคนอื่นระยะหนึ่ง แต่คุณจะยืนได้ด้วยตัวเอง การทำสิ่งที่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีเร็ว หากเริ่มนับหนึ่งก็จะมีวันร้อย หากจะหวังผลเร็ว ยาก เป็นไปไม่ได้

“ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เขาขาดโอกาส การให้โอกาสหนึ่งครั้งคือทั้งครอบครัว เพราะเขาอยู่ในสภาพค่อนข้างเสียเปรียบทั้งเศรษฐกิจสังคม ความรู้ และมีอีกหลายปัจจัยมากที่ทำให้เขายืนไม่ได้ เพราะหนึ่งคนก็ต้องเลี้ยงคนหลายคน มีภาระเยอะ ปัญหาภายนอกมาแทรกเยอะ มันไปไม่ไหว เตะลมก็ล้มได้ แต่คนเหล่านี้จริงใจ”

โครงการนี้ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 200 กลุ่ม วงเงิน 100 กว่าล้านบาท ได้แก่ แม่ค้า 44 กลุ่ม มอเตอร์ไซค์ 114 กลุ่ม ที่เหลือเป็นกลุ่มแท็กซี่

นายสมบุญ พัฒนดิลก หัวหน้าส่วนพัฒนา สถาบันชุมชน ฝ่ายสินเชื่อองค์กรชุมชน
นายสมบุญ พัฒนดิลก หัวหน้าส่วนพัฒนา สถาบันชุมชน ฝ่ายสินเชื่อองค์กรชุมชน

สมบุญ:สำหรับต่างจังหวัดกลุ่มองค์กรการเงินชุมชน หรือองค์กรสถาบันเงินชุมชน เราเอาเครื่องไม้เครื่องมือไปช่วยเขา มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แจกไป 17,224 เครื่อง อยู่ตามหมู่บ้าน มีโปรแกรมเพื่อให้ฝากถอนได้ ออกสัญญาเงินกู้ได้ นอกจากนี้ให้โปรแกรมเคาน์เตอร์เซอร์วิส เช่น กลุ่มหนองแขม ให้บริการเติมเงินมือถือที่ศูนย์ โอนเงินได้ ชำระค่าไฟฟ้า น้ำ โทรศัพท์ บัตรเครดิตได้ด้วย ต่อไปจะโอนไปต่างประเทศได้ด้วย รายได้ค่าธรรมเนียมก็กลับคืนมาที่ชุมชน ตอนนี้มีกลุ่มให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส ประมาณ 300 แห่ง

หรือกลุ่มสตรีเหล็ก ที่จ.สตูล เขากู้เงินซื้อรถยนต์เพื่อรับซื้อน้ำยาง เพียงแค่ 7 เดือน ก็ผ่อนไปครึ่งหนึ่งแล้ว อีกกลุ่มขายสินค้า โดยให้ลูกค้าไปซื้อที่ร้านค้า ชอบอะไรไปชี้แต่มาเอาเงินที่กลุ่มไปจ่าย และผ่อนกับกลุ่ม โดยที่เขาไม่ต้องมีสินค้า

หรือการจัดไฟแนนซ์รถมอเตอร์ไซค์ ถ้าไปกู้ไฟแนนซ์ ถือว่าเลือดไหลออก วันนี้เราหยุดเลือด ให้มากู้ที่องค์กรการเงินชุมชน ให้เงินกลับมาที่ชุมชน เพราะดอกเบี้ยถูกกว่า มีโบนัสให้สมาชิกด้วย

กลุ่มสัจจะ บ้านวังสัปปะรด ที่จันทบุรี ให้บริการพวงหรีด แต่ไม่ใช่พวงหรีดดอกไม้ เขาให้ข้าวสาร ให้พัดลม พอมีกำไรสะสม เอามาจัดสวัสดิการให้ชุมชน นอนโรงพยาบาลได้วันละ 700 บาท เป็นต้น

“สิ่งที่ได้ยินจากลูกค้า ไม่มีแบงก์ไหนแนะนำเขา เขาไม่ลงมาดูเรื่องบัญชีการเงินของกลุ่ม จึงไม่มีใครแนะนำเรื่องนี้ให้เขา แต่เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาชีพของชาวบ้าน เขาเก่งอยู่แล้ว การให้สินเชื่ออะไร ต้องเผื่อสภาพคล่องด้วยทุกครั้ง เป็นหลักความเสี่ยงสินเชื่อ เราจึงต้องบอกว่า เวลาซ่อมรถเขาต้องเติมน้ำมันให้เขาด้วย เพราะเวลาแก้ไขหนี้ ถ้าเขาติดหนี้แสนหนึ่งให้เขาแสนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าสิ้นเดือนเขามีรายจ่าย ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า ถูกตัดน้ำตัดไฟไป เขาไปเอานอกระบบแค่ 5,000 บาท ก็ทำให้แสนหนึ่งของเราเสียหายไปด้วย วันนี้เราช่วยบริหารจัดการเงินให้เขาใหม่”