ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 2 บิ๊กชาติไทยพัฒนา “บรรหาร – ธีระ” 2 แพะน้ำท่วมตัวจริง

2 บิ๊กชาติไทยพัฒนา “บรรหาร – ธีระ” 2 แพะน้ำท่วมตัวจริง

15 พฤศจิกายน 2011


วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 กินพื้นที่กว้างขวางมากและท่วมขังเป็นเวลานาน บางพื้นที่ท่วมขังไม่น้อยกว่า 2 เดือน ท่ามกลางแสงแดดเจิดจ้าและท้องฟ้าสดใส ก่อให้เกิดคำถามที่ติดค้างในใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นต้นเหตุ เพื่อที่จะหาคนผิดมารับผิดชอบ เพราะความเสียหายครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ามหาศาลทั้งในแง่เศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

การค้นหาความจริงจึงเกิดขึ้นในสังคม หลายคนหลายหน่วยงานถูกกล่าวหา สมมติฐานต่างๆ ผูกโยงเข้ากับข้อเท็จจริง หลายคนเตรียมฟ้องรัฐบาล สิ่งเหล่านี้สะท้อนความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล

จนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ต่างไม่ต้องการเป็น “แพะ” ได้ออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ความจริงบางส่วนได้ถูกยอมรับแล้ว สำนักข่าวไทยพับลิก้าขอถอดคำพูดของ 2 บิ๊กพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ตัวการ” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่และรุนแรงในครั้งนี้ เพราะระบายน้ำหรือพร่องน้ำออกจากเขื่อนช้าเกินไป แม้นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธ แต่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับยอมรับในการประชุมรัฐสภาว่าเป็นผู้สั่งให้ชะลอพร่องน้ำในเขื่อนภูมิพลจริงเพื่อให้ชาวนาสุพรรณบุรีได้เก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อน จึงทำให้มีมวลน้ำจำนวนมากที่ถูกกักเอาไว้

“เติ้ง” งัดภูมิความรู้เรื่องน้ำ 30 ปีโต้

“บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นชื่อที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอสำคัญของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ตกเป็นจำเลยสังคม ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ไม่ยอมให้พร่องน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลในช่วงที่ต้องพร่องน้ำ ได้ออกมาชี้แจงผ่านรายการ “ทีนี่ไทยพีบีเอส ช่วงรายการตอบโจทย์” นายบรรหารกล่าวว่าตนถูกกล่าวหาจากอดีตส.ส.สิงห์บุรี ที่แพ้การเลือกตั้งคราวที่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือที่สุพรรณบุรีน้ำก็ท่วมสูงเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นที่ตลาดสามชุก กับตลาด 100 ปี ที่มีการลงทุนสร้างเขื่อนกันน้ำสูงถึง 80 เซ็นติเมตรเอาไว้เป็นแนวยาว นอกนั้นท่วมสูงเกือบทุกพื้นที่

นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มา: http://www.voicetv.co.th/cache/images/77deaec25944c27a64e1239e31e19c2d.jpg
นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มา: http://www.voicetv.co.th/cache/images/77deaec25944c27a64e1239e31e19c2d.jpg

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่านายบรรหารใช้กำลังภายใน สั่งการให้กรมชลประทานชะลอการระบายน้ำจากเขื่อนออกไป เพื่อรอให้คนสุพรรณเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก่อน จึงค่อยปล่อยน้ำให้เข้ามาท่วมทุ่งนา มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

นายบรรหาร ตอบว่า “เมื่อ 2-3 วันก่อน มีคนนำประเด็นนี้ขึ้นไปโพสบนเฟสบุ๊ค ปรากฏว่ามีคนสุพรรณ คีย์ข้อความขึ้นไปโต้ตอบประมาณ 200 คน จนในที่สุดคนที่เข้าโพสข้อความนี้ต้องออกมากล่าวคำขอโทษคนสุพรรณ ผมไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งการใครได้ เรื่องการระบายน้ำออกจากเขื่อน กฟผ.จะมีคณะอนุกรรมการดูแล แม้แต่รัฐบาลก็สั่งไม่ได้ อย่างคราวที่แล้วกฟผ.ปล่อยน้ำออกมา 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ผมจึงขอให้กรมชลประทานไปเจรจาต่อรองกับกฟผ. ขอลดเหลือสัก 70 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ไหม ซึ่งกฟผ.ก็มีเหตุผลของเขา”

จากนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีปี 2538 ก็อาศัยประสบการณ์จากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในสมัยนั้น มาประกอบกับการติดตามข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้านตะวันตกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยอธิบายปรากฏการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

นายบรรหารกล่าวว่า “นักวิชาการก็จะรู้แต่วิชาการ แต่ไม่เคยลงพื้นที่จริง แต่ผมลงไปดูพื้นที่จริงมาแล้วกว่า 30 ปี ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

การผันน้ำมาทางตะวันตก นายบรรหารอธิบายว่าทำได้ 2 ทาง คือ 1) ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ลงสู่แม่สุพรรณหรือแม่น้ำท่าจีน 2) ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุเข้าในแม่น้ำน้อย ซึ่งประตูน้ำพลเทพมีความสามารถในการเปิดรับน้ำได้แค่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนประตูบรมธาตุรับน้ำลงแม่น้ำน้อยได้แค่ 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่พอมีคนไปพูดต่อๆ กันว่าเอาสุพรรณเป็นหลัก สุพรรณน้ำไม่ท่วม ทางกรมชลประทานก็เลยระบายน้ำเพิ่มเข้ามาอีก 1 เท่าตัว โดยที่ประตูน้ำพลเทพเพิ่มจาก 200 เป็น 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และประตูน้ำบรมธาตุเพิ่มจาก 180 เป็น 260 ลูกกบาศ์กเมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำซึ่งก่อนหน้านี้เคยไปกองอยู่ที่อำเภอผักไห่ และตำบลเจ้าเจ็ดน้ำ จ.อยุธยา ก็เลยไหลลงล่าง ผ่านเข้ามาที่คลองพญาบรรลือ ซึ่งเป็นคลอองที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อน้ำไหลเข้ามาในคลองพญาบรรลือ น้ำก็ไหลไปลงคลองพระพิมล แล้วตลบหลังตีท้ายครัวเข้าไปท่วมจ.ปทุมธานีและจ.นนทบุรีหมดเลย หลังจากนั้นก็พยายามจะผันน้ำเข้าคลองมหาสวัสดิ์ และคลองทวีวัฒนา พื้นที่ฝั่งตะวันตกจึงโดนน้ำท่วมเข้าไปเต็มๆ หนักกว่าฝั่งตะวันออก สาเหตุก็เพราะผันน้ำมามากเกินไป

“ผมดูน้ำทางฝั่งตะวันตกมากว่า 20 ปี พื้นที่ตรงนี้รับน้ำได้แค่ไหน ควรเอาแค่นั้น ไม่ควรปล่อยมามาก อย่างเช่น แม่น้ำท่าจีนรับได้ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ควรจะผันมาแค่ 200 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แม่น้ำน้อยรับได้แค่ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ควรจะปล่อยมาแค่ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่ควรจะปล่อยมามากกว่านี้ แต่นี้ผันมาเต็มที่ทั้งหมด ผลก็เป็นแบบนี้แหละ”

เรื่องการผันน้ำเข้าทุ่งก็เป็นปัญหาสำคัญ พอน้ำสะสมได้ระดับหนึ่ง เขื่อนกั้นน้ำมันก็จะแตก อย่างเช่นที่บางโฉมศรีผันน้ำเข้าไป 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจนเขื่อนแตกหลายจุด น้ำก็ไหลลงแม่น้ำลพบุรีและเข้าไปท่วมจังหวัดลพบุรีแล้วไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จนเต็มเขื่อน พอปล่อยน้ำออกมาก็ไปบรรจงกับแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำไหลไปที่ประตูน้ำข้าวเม่าจนแตก ที่นั่นมีชาวบ้านถือปืนมา 10 กระบอก เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปิด ก็ปิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย น้ำจึงไหลเข้าไปท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ

ผู้ดำเนินรายการถามต่อไปว่า ตกลงระบายน้ำผ่านทางตะวันตกก็ไม่ได้ ตะวันออกก็ไม่ได้ เข้ากรุงเทพก็ไม่ได้ แล้วจะระบายน้ำลงทางไหน

นายบรรหาร ตอบว่า ก็ต้องปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยา คงต้องปล่อยให้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาท่วมบ้าง สมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2538 ยังปล่ออยให้น้ำท่วมถนนเจริญนครสูง 1.5 เมตร กว่าน้ำจะลดใช้เวลา 1 เดือน ทำไมรับได้ สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมหนักคือการกั้นน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ แล้วผันน้ำเข้าทุ่ง ตอนนี้ฝั่งตะวันตกจึงหนักกว่าฝั่งตะวันออกมาก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านทนไม่ได้ จึงเข้าไปขออนุญาตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าจะขอดูแลบริหารจัดการน้ำทางด้านบนเอง อย่าให้หน่วยงานอื่นเข้ามายุ่ง โดยนายธีระจึงไปชะลอน้ำด้านบนไม่ให้ไหลเข้ามาที่ทุ่งเจ้าเจ็ด พร้อมกับลดปริมาณน้ำที่จะผ่านประตูน้ำพลเทพและประตูบรมธาตุลง ส่วนเขื่อนและประตูน้ำที่แตก 14 จุด ก็ได้มอบหมายให้บริษัทเอกชนเข้าไปซ่อมแซมอีกไม่เกิน 5 วัน ก็น่าจะเสร็จเรียบร้อย

นี่คือคำตอบของนายบรรหาร

นายธีระ วงศ์สมุทร รมต.เกษตรและสหกรณ์ ที่มาภาพ : http://media.thaigov.go.th/Sitedirectory/471/1820/44968_MOA_7546.jpg
นายธีระ วงศ์สมุทร รมต.เกษตรและสหกรณ์ ที่มาภาพ : http://media.thaigov.go.th/Sitedirectory/471/1820/44968_MOA_7546.jpg

“ธีระ” ยอมรับชะลอพร่องน้ำออกจากเขื่อน

จากนั้นอีก 4 วันต่อมา ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการอภิปรายถึงการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในช่วงวันที่ 9-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ตลอด 3-4 วัน ทั้ง 2 ฝ่ายต่างงัดข้อมูลการบริหารหารจัดการน้ำของกรมชลประทานเอาออกมาโจมตีกัน จนทำให้นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องการระบายน้ำมาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลุกขึ้นมาชี้แจงหลายครั้งหลายคราว และก็กล่าวย้ำแล้วย้ำอีกว่า

“เรื่องบริหารจัดการน้ำ ผมอยากจะขอให้ยุติกันเสียทีว่าใครผิดใครถูก ผมบอกว่าไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก เราควรมาคิดกันว่าต่อไปเราจะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร กฟผ. ไม่ผิด กรมชลประทานไม่ผิด รัฐบาลที่แล้วก็ไม่ผิดไม่มีการกักเก็บน้ำ รัฐบาลนี้ก็ไม่ผิด เพราะไม่ได้ปล่อยน้ำมาให้ท่วม ถ้าจะผิด ขอให้ความผิดอยู่ที่ผมนะครับ เขาเรียกผมว่าพญานาค1 ตราสัญลักษณ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็คือพระพิรุณทรงนาค แต่ตอนนี้ไม่สามารถบังคับพญานาค ไม่ให้ปล่อยน้ำไม่ได้เลย ถ้าผิดก็คือผม ทีไม่ได้เป็นเหมือนขงเบ้งที่หยั่งรู้ดินฟ้าอากาศได้ทั้งหมด ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ฝนจะตกเมื่อไหร่ หยุดตกเมื่อไหร่ แม้แต่กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดการณ์ไม่ได้” นายธีระ กล่าว

นายธีระ กล่าวต่อไปอีกว่า ข้อมูลที่ผู้อภิปรายทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลนำมาแสดงที่ที่ประชุมสภาฯ นั้นถูกทั้งหมด เพราะเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งเดียวกัน แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่จะเอาแค่ข้อมูลปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับข้อมูลบริหารจัดการน้ำย้อนหลังไป 3-4 ปีมา มันจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะสถานการณ์นั้นไม่เหมือนกัน ส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฟผ. ก็จะมี “คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ” เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามคำสั่งของ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม

คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กฟผ. กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง และกพร. โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ประสานงาน แลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล ติดตามข้อมูลภูมิอากาศ น้ำฝน น้ำท่า และวิเคราะห์แนวโน้มสภาพน้ำ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ และพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำ

สมมุติ บางช่วงระดับน้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว แต่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตร บางครั้งก็ต้องยอมให้น้ำต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือบางครั้งน้ำเกินเกณฑ์สูงสุดแล้ว แต่ข้างล่างฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังอยู่มาก ถ้าระบายออกมา ก็จะไปซ้ำเติมพี่น้องประชาชน จึงต้องมีการกักเก็บน้ำเอาไว้ และการเก็บกักน้ำจะต้องไม่เป็นอันตรายกับตัวเขื่อนด้วย

บริหารน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ปี 2554 ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
บริหารน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ปี 2554 ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
บริหารน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ปี 2554 ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
บริหารน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ปี 2554 ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

คงจะจำได้ช่วงปลายปี 2553 น้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่กักเก็บได้มีอยู่ประมาณ 31% ของความจุทั้งหมด ในจำนวนนี้มีน้ำที่นำออกมาใช้ได้ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนั้นผมจึงประกาศให้พี่น้องเกษตรกรให้เลื่อนการทำนาปีออกไป และผมก็ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว จัดงบฯไปชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ขอให้เลื่อนการทำนาปีออกไปด้วย

จากนั้นตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุลูกใหญ่อีกหลายลูกติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่พายุไหหม่า นกเตน ถางไห่ เนสาด จนมาถึงนาแก ติดต่อกันมาหลายเดือน แถมยังมีร่องความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ประกอบกับมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงผ่านเข้ามาอีก ทำให้มีฝนก็ตกอยู่บริเวณนี้ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50 % ทำให้มีปริมาณน้ำ ทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนเป็นจำนวนมาก

เขื่อนภูมิพลน้ำสร้างมา 47 ปี ปกติจะมีน้ำไหลลงอ่างเฉลี่ย 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น และมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้เต็มที่ถึง 13,400 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มาปีนี้มี ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 11,000 ล้านลูกกบาศก์เมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีถึง 2 เท่า ลองนึกดูถ้าไม่มีเขื่อนภูมิพลอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ผมอยากจะให้เครดิตทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์

ต่อมาช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกิดปัญหาน้ำท่วมที่ลุ่มน้ำยมและแม่น้ำน่าน ตอนนั้นประชาชนกำลังประสบอุทกภัยอยู่ ถามว่าในวันนั้นจะให้ระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ลงมาซ้ำเติมได้อย่างไร

ขณะที่การคาดการณ์น้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา บอกล่วงหน้าได้แค่อาทิตย์เดียว ว่าอะไรจะมา อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำเหมือนกับขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้าอากาศ วันนี้ก็คงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกัน ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน จึงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลักๆ จะมีอยู่ 4 สาย คือปิง วัง ยม น่าน แม่น้ำปิงเรามีเขื่อนภูมิพล น่านเรามีเขื่อนสิริกิติ์ ยมไม่มี ส่วนวังเรามีเขื่อนกิ่วลมอยู่ที่ลำปาง ซึ่งรับน้ำได้เพียง 100 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ทั้ง 4 สายไหลมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในขณะนั้นที่แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านยังมีน้ำท่วมขังอยู่ กรมชลประทานจึงต้องระบายน้ำออกไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

ฝั่งตะวันออกจะมีคลองชัยนาทผันลงแม่น้ำป่าสักแล้วใช้เขื่อนพระรามหก ทดน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ เพื่อระบายน้ำลงทะเลผ่านสมุทรปราการ และก็แบ่งน้ำอีกส่วนหนึ่งผ่านไปทางจ.นครนายก และจ.ฉะเชิงเทรา

ถามว่าทางฝั่งตะวันออกระบายน้ำได้แค่ไหน คลองระพีพัฒน์มีความสามารถในการรับน้ำได้ 200ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่พอปล่อยมาข้างลงมาถึงคลอง 13 ผลปรากฏว่าคลอง 13สามารถรับน้ำเพื่อส่งไปยังจ.สมุทรปราการได้แค่ 30-40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้นเอง เราจึงมาอาศัยคลองรังสิต เพื่อที่จะสูบน้ำไปออกยังแม่น้ำนครนายกไปออกที่ประตูน้ำศรีเสาวภา และคลองหกวาสายล่างไปออกที่ประตูน้ำศรีสมบูรณ์ไปออกที่บางขนาด ท่าไข่ ท่าถั่ว นี่คือการระบายน้ำทางตะวันออก ผ่านมาทางคลองชัยนาทแม่น้ำป่าสักรับน้ำได้เต็มที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น

แต่หลังจากนั้นกลับมีฝนตกหนักที่จังหวัดลพบุรี ประกอบกับประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ที่ชำรุดเสียหายตรงคอสะพาน นอกจากนี้คันกั้นน้ำตามแนวคลองชัยนาทลงมาจนถึงอยุธยา ขาดอีกประมาณ 10 จุด และเหนือขึ้นไปจากชัยนาทขึ้นไปจนถึงประตูระบายน้ำมโนรมมีคันกั้นน้ำขาดอีกหลายจุด น้ำทั้งหมดก็ทะลักไปท่วมจังหวัดลพบุรี

ล่าสุดผมจึงจำเป็นต้องลดการส่งน้ำเข้าไปเติมที่แม่น้ำป่าสัก จาก 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันส่งเข้าไปแค่ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น

หันมาดูการระบายน้ำทางฝั่งตะวันตกกันบ้างมีอะไร เรามีคลองมะขามเฒ่ารับน้ำได้ประมาณ 30-40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปล่อยลงแม่น้ำท่าจีนที่ความจุแค่ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ถัดมาก็จะเป็นแม่น้อยผ่านทางประตูระบายน้ำบรมธาตุ ซึ่งประตูน้ำแห่งนี้จะเป็นทางเบี่ยงน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปท่วมตัวจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทองและอยุธยา แต่สุดท้ายก็ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร อยุธยา

เดิมทีเดียวเราก็ส่งน้ำเข้าไปทางตะวันตกอย่างเต็มที่ แต่สภาพลำน้ำมันไม่เอื้อ จำได้ไหมครับน้ำท่วมที่ตลาด 100 ปี สุพรรณบุรี เมื่อท่วมแล้ว เราก็มาบริหารจัดการจนน้ำแห้ง เมื่อระบายน้ำเข้าไปทางแม่น้ำท่าจีนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ไหลลงทะเล แต่แม่น้ำท่าจีนมีความคดเคี้ยวมาก ทำให้การไหลของน้ำยากลำบาก เมื่อเอาน้ำเข้าไปทางแม่น้ำท่าจีนแล้ว น้ำก็จะมาตุงอยู่ที่บริเวณอำเภอสองพี่น้อง บางปลาม้า บางเลนออกไม่ได้ นี่คือส่วนหนึ่ง

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จึงต้องลดปริมาณน้ำที่จะส่งเข้าไปในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถไปตรวจสอบได้จาก เว็บไซต์ของกรมชล บันทึกเอาไว้ทั้งหมด

และผมก็ไม่ปฏิเสธว่าเคยสั่งให้กรมชลประทานประสานกับกฟผ. เพื่อชะลอน้ำจากเขื่อนภูมิพลลงมา ผมพูดจริง เพราะน้ำข้างล่างมันท่วมอยู่

“จากนั้นผมก็คิดว่าทำอย่างไร ถึงจะช่วยแบ่งเบาภาระในการรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาออกมาได้บ้าง ตอนนั้นผมจึงมองหาทุ่งนาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเอาไปทำแก้มลิง เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ที่ผมไปประสานให้กฟผ.ชะลอการปล่อยน้ำลงมา เพราะพี่น้องเกษตรกรเขากำลังเกี่ยวข้าวกันอยู่ ทั้งที่ทุ่งท่าวุ้งและท่าอื่นๆ ผมก็ทำในลักษณะนี้ และก็บริหารจัดการน้ำในลักษณะนี้มาตั้งแต่ตอนเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว”

เพราะฉะนั้นถึงอยากจะเรียนว่า เรื่องนี้ไม่มีใครผิดหรอก กฟผ.ก็ไม่ผิด กรมชลประทานก็ไม่ได้ผิด เพราะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการ รัฐบาลชุดที่แล้วก็ไม่ได้เก็บกักน้ำไว้เกิน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ผิด ไม่มีใครผิดในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ

นอกจากนี้ยังมีคำชี้แจงของกฟผ.ได้ที่ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ และติดตาม สถานการณ์น้ำและการระบายน้ำจากเขื่อนของกฟผ.แบบ REALTIME