ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชู “ความร่วมมือ” เท่านั้นรับมือวิกฤตได้

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชู “ความร่วมมือ” เท่านั้นรับมือวิกฤตได้

6 ตุลาคม 2011


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(กลาง) ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร(ขวา) และนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(กลาง) ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร (ขวา) และนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

วันนี้( 5 ตุลาคม 2554) ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจปี 2555” ในงานสัมมนาเศรษฐกิจ “Thailand: Moving Forward with the New Government” จัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ก่อนจะเริ่มปาฐกถาพิเศษ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตัวว่า “ก่อนหน้านี้ทั้งคุณวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร และคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ต่างก็เป็นคู่แข่ง แต่ไม่สามารถชี้ได้ว่าใครเป็นแชมป์ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีตราใบโพธิ์อยู่ข้างหน้าที่ผมยืนอยู่ ผมอนุมานได้ว่าผมสามารถสร้างความประทับใจให้ลูกค้าในมาตรฐานของ SCB ได้” (หัวเราะ)

และผมรู้สึกยินดีมากที่มีโอกาสอย่างนี้ ในยามนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทย ธุรกิจ เผชิญความไม่แน่นอน ความท้าทายหลายอย่าง การที่ได้มาพูดกับท่าน(นักธุรกิจ)ที่เป็นแนวหน้าเศรษฐกิจไทย เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และการมาพูดในนามผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือว่าได้มาทำหน้าที่ ว่าเรามีข้อมูลส่วนหนึ่ง แม้จะรู้ไม่หมด รู้ไม่ครบ แต่ว่าเท่าที่เราพอรู้ เรามาแชร์ มาสะท้อนกันเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ

ผมจะพูดใน 3 ประเด็นด้วยกัน คือ1) แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยใน 8 – 9 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าได้หรือไม่ 2) ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่ค่อยดี ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น คำถามสำคัญว่าแล้วจะกระทบประเทศไทยอย่างไร 3) ความท้าทายของนโยบายการเงินการคลังโดยเฉพาะในช่วงปีนี้

ประเด็นที่หนึ่ง แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั่วๆ ไป เท่าที่ประเมิน โดยรวมสรุปว่าเศรษฐกิจไทย ยังมีแรงขับเคลื่อนภายในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ในปีหน้า

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 เศรษฐกิจไทยถือว่าขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ถ้าเปรียบเทียบกับศักยภาพของเรา แม้ว่าเผชิญปัจจัยลบต่างๆ จากน้ำท่วม การเมือง เหตุเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่ก็ยังสามารถทำงานได้ เพราะแรงขับเคลื่อนหลักมาจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ระดับรายได้ที่ยังเพิ่มขึ้น การจ้างงานใกล้กับระดับศักยภาพที่เกือบเต็มกำลังแรงงาน รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ และกระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ จากภาครัฐจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง และสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีหน้ายังเดินหน้าต่อไปได้

ด้านการลงทุนของภาคเอกชนในปีหน้ายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่ยังเติบโตค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจดีพอสมควร คำสั่งซื้อก็ยังมีแนวโน้มดีเช่นกัน

แม้แนวโน้มของการใช้จ่ายทั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศ จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ต่อเนื่องในปีหน้า แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นชัดเจนในขณะนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้

ในประเด็นที่ 2 ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโร ขยายวงกว้างขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้

ผมขอสรุปโดยสังเขปของเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม คือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเอเชีย

กรณีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราต่ำเป็นเวลายาวนาน เพราะขาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งจากภาคเอกชนและทางการ ภาคครัวเรือนชะลอใช้จ่าย และอัตราว่างงานขณะนี้เพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลก็ขาดกระสุน ขาดกำลังทางด้านการเงินการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมาจากอีกฝ่ายรัฐสภาที่ต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนที่ผูกพันไว้หลังการปรับเพิ่มเพดานหนี้

จากข้อตกลงเบื้องต้นในระยะข้างหน้า 10 ปีที่ต้องขาดดุล 9 ล้านล้านเหรียญ ต้องลดลง 2 – 4 ล้านล้านเหรียญ เป็นข้อตกลงที่ทำให้กระสุนกระตุ้นเศรษฐกิจลดลงไป

ตลาดการเงินเองก็คาดหวังให้ทางการสหรัฐฯ ออกมาตรการที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดของภาครัฐไม่สามารถทำได้ ตลาดการเงินผิดหวัง ไปกระทบความเชื่อมั่น การผิดหวังของตลาดการเงินมีโอกาสที่จะเกิดอีก และเกิดอีก ลักษณะการผิดหวังคาดว่ายังเกิดขึ้นได้ต่อไป และกระทบตลาดการเงินโลกเป็นระยะๆ

ส่วนกลุ่มเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรก็มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประเทศสมาชิกโดยรวมขาดความร่วมมือ ขาดความเด็ดขาดการแก้ปัญหาที่ล่าช้าทำให้ปัญหาลุกลามเป็นวงกว้างขึ้น

ผมได้สนทนากับผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งหนึ่งของยุโรปว่า ถ้าจัดการแต่เนิ่นๆจะใช้ทรัพยากรแค่ 5% ของจีดีพี แต่ถ้าปล่อยปัญหาทิ้งไว้ หากแก้ไขต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น

ในระยะข้างหน้าก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการตัดสินใจของ EU ว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่กรีซต่อไปหรือไม่ อย่างไร มากน้อยแค่ไหน และตลาดยังมีความกังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของกรีซ ตลอดจนการดำรงสถานะของกรีซใน EU เพื่อแลกกับอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ความไม่แน่นอนและความล่าช้าในการแก้ปัญหาของกลุ่มยูโรนี้ นับวันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ PIIGS มากขึ้น และอาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรในภาพรวมได้

นอกจากนี้ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกต่อไปเป็นระยะๆ หากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาในทางที่ดีขึ้น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

จากประสบการณ์เล็กๆน้อยๆของเราที่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คิดว่าความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับการเลือกเงื่อนเวลา (Timing) ลำดับขั้นตอน (Sequencing) และขนาดของมาตรการ (Size) ที่เหมาะสม เราได้รับบทเรียนไม่น้อยจากประสบการณ์ของเรา เงื่อนเวลาแต่ละจุด และการลำดับความสำคัญ และขนาดในการเข้าจัดการ หากจัดการผิดก็ลุกลามใหญ่โตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการเร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

กรณีที่สถานการณ์ในสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรลุกลามบานปลาย ก็มีโอกาสเกิดปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกตึงตัวรุนแรงได้ คนที่บริหารธนาคารพาณิชย์ย่อมรู้ดี สถานการณ์อย่างนี้กระทบสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ที่ถือครองพันธบัตรของประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่ด้อยค่าลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น จนธนาคารพาณิชย์เหล่านี้อาจต้องเพิ่มทุน หรืออาจมีการขายสินทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาสถานะทางการเงิน ทำให้ตลาดการเงินและตลาดทุนผันผวนอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้สหรัฐฯ และกลุ่มยูโรต้องมีการดำเนินนโยบายที่เด็ดขาด และควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร รวมถึงแผนสร้างความยั่งยืนทางการคลังด้วย

ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคงไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจโลกได้ในเวลานี้เช่นกัน ลำพังตัวเองต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นตัวจากภัยพิบัติเมื่อช่วงต้นปีของปีนี้ และยังมีข้อจำกัดในนโยบายการเงินการคลังเช่นกัน

ส่วนเศรษฐกิจเอเชียเองมีแนวโน้มขยายตัวได้จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่คาดว่าจะชะลอลง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศหลัก ทั้งนี้ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนการรวมตัวเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียได้ในระยะต่อไป

ประเด็นที่ 3.สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย ในแง่เศรษฐกิจไทย ตลาดเงิน และการปรับตัวของภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นนั้น คงจะเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจให้สูงขึ้น แม้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆไทยขณะนี้ยังไม่สะท้อนว่าได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าว

ผมมักจะบอกกับทีมงานเสมอว่า ถ้าเราถอยหลังกลับไปในปี 2007 ปี 2008 เราคาดได้หรือเปล่าว่าเป็นอย่างไร ทุกคนก็บอกว่าคาดไม่ถึงว่าจะออกมาอย่างไร ดังนั้นก็ต้องระวัง

เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง และ G3 ก็ยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งมีขนาดเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกของเรา เศรษฐกิจไทยจึงอาจได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกได้ แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบชัดเจนได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตามหากสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน อย่างเป็นระบบจนไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากนัก เศรษฐกิจไทยก็ยังพึ่งพาการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และอุปสงค์ภายในภูมิภาคได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวมากนัก

แต่ถ้ายังมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถมองข้ามได้ในกรณีเลวร้าย โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรชะลอตัวมาก ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ถึงภาคสถาบันการเงิน จนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักถดถอยลง เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอลงมากตามการส่งออกที่หดตัวรุนแรงได้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าผลกระทบจะมากแค่ไหน

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง ตามความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่โดยรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายก็ยังมีแนวโน้มจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย

เนื่องจากว่าในปีหน้าเศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศในภูมิภาค สำหรับเศรษฐกิจไทย ความอ่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อความเชื่อมั่นดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และอาจผันผวนได้ทั้งสองทิศทาง

ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ยังต้องพร้อมรับมือการส่งออกที่หดตัวลง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพจาก http://www.prachachat.net/online/2010/11/12885724751288579490l.jpg
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพจาก http://www.prachachat.net/online/2010/11/12885724751288579490l.jpg

นอกจากนี้ความภายใต้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมีผลต่อตลาดเงินตลาดทุน นักลงทุนควรต้องระวังในการเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนด้วย เวลานี้ที่มีความต้องการจะตั้งกองทุนมั่งคั่ง ตอนนี้เฮจด์ฟันด์เหนื่อย ปีนี้โชว์ผลงานไม่ออก ขาดทุนกันบางรายถึง 40 % อันนี้ต้องรอบคอบ ( หัวเราะ )

สำหรับผลกระทบต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ น่าจะยังคงมีอยู่ และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยที่มีอยู่แล้วเกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดโลกชะลอลง จนทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอลงด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้า ทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้ามีโอกาสปรับสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย การจำนำข้าว การยกเลิกมาตรการลดค่าครองชีพ ตลอดจนการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงมีมีอยู่ นั่นไม่ใช่ว่างานของคณะกรรมการนโยบายการเงินจะเรียบร้อย สบาย นั่งเฉยๆ พิงเก้าอี้ เพราะมีทั้งปัจจัยที่ทำให้ ราคาพลังงาน และราคาโภคภัณฑ์ไม่น่าจะถีบตัวสูงขึ้น อาจจะลดลงบ้าง แต่มีหลายอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ผมขอมาที่ประเด็นที่ 3 ความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ยิ่งสร้างความท้าทายในการตัดสินใจด้านนโยบายเศรษฐกิจ

ด้านนโยบายการเงิน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องกระทำอย่างระมัด ระวัง ยิ่งขึ้น (เน้นคำพูด) โดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง

ในปีหน้านโยบายการเงินยังควรมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านราคาและป้องกันความไม่สมดุลทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีขณะนี้นโยบายการเงินมีความพร้อม หากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง และเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้น เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายการเงินได้ทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ปรับเข้าสู่แนวโน้มปกติ หลังการฟื้นตัวจากวิกฤต

ด้านนโยบายการคลัง ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันภาครัฐควรเตรียมกระสุนไว้ให้พร้อม สำหรับยามจำเป็น หากจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

ผมมีความเห็นดังนี้

นโยบายการคลังขณะนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้าต้องรอบคอบและระมัดระวัง ภาครัฐไม่ควรใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ และมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่แล้ว ทำให้ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง แม้บางท่านมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสูงขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นทางการคลังแต่เนิ่นๆ อันนี้ก็มีเหตุผล

แต่ด้วยลักษณะของนโยบายการคลัง ที่สามารถส่งผ่านผลไปยังเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ในเวลานี้จึงสามารถรอเก็บกระสุนไว้ก่อน เพื่อเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ เมื่อสถานการณ์ที่ชัดเจนยังสามารถดำเนินการมาตรการที่ส่งผลได้ทันท่วงที

แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐในปีหน้า จึงควรทำเท่าที่จำเป็น เน้นกลุ่มเป้าหมายตามลำดับความเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะมีบทบาทได้คือการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ไม่ควรเน้นการบริโภค เพราะการที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวในอนาคต ต้องอยู่บนพื้นฐานความสามารถการผลิตอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับบทเรียนเศรษฐกิจสหรัฐในวิกฤตครั้งนี้

โดยภาครัฐควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านคมนาคมขนส่ง ประสิทธิภาพแรงงาน ปรับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆที่จำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐจะช่วยปรับสมดุลให้เศรษฐกิจในประเทศมีบทบาทมากขึ้น และรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกได้

ในแง่นี้การลงทุนภาคเอกชนก็มีบทบาทเช่นกัน นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาวให้พร้อมรับโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว และรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน ที่ไม่เพียงสร้างโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน บริการทางการเงิน ตลอดจนประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้น

แต่โอกาสเหล่านี้จะมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย ภาครัฐจึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบภายในให้พร้อมรองรับการเกิดขึ้นของ AEC ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัวหลายอย่างทั้งการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะและประสิทธิภาพสูง และเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ตลอดจนการสร้างแบรนด์ที่จะเป็นที่นิยมของตลาดอาเซียน เพื่อให้ไทยสามารถรับประโยชน์จากการรวมตัวของอาเซียนอย่างเต็มที่

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ความสอดคล้องของนโยบายการเงินและการคลังจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวผ่านปีหน้าไปได้ และเนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังใช้เวลาในการส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ผู้ดำเนินนโยบายจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

ในระยะต่อไปเพื่อให้การดำเนินนโยบายรอบคอบและทันท่วงที โดยจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว มาตรการการคลังคงไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากนัก หากอำนาจซื้อของประชาชนถูกบั่นทอนจากเงินเฟ้อที่เร่งตัว จึงจำเป็นต้องมีการหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตรงกัน เพราะเราอยู่ในประเทศเดียวกัน และผสมผสานการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายทั้งสองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้

ถ้ากล่าวโดยสรุปปี 2555 จะเป็นปีที่ต้องการ “ความร่วมมือ” ทั้งในเวทีโลก เวทีอาเซี่ยนและในประเทศ โดยในเวทีโลก เวทีอาเซียน และในประเทศเอง โดยเวทีโลกต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้อย่างเด็ดขาดและให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วเพื่อลดทอนผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ในเวทีอาเซียนก็ต้องการความร่วมมือจากประเทศในอาเซียนเพื่อเริ่มปูทางไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกันไทยเองก็ต้องการความร่วมมือนโยบายการเงินการคลัง เนื่องจากเศรษฐกิจในปีหน้า แม้ยังมีแรงส่งให้เดินหน้าต่อไปได้จากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท อีกทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อก็ยังมีอยู่ การตัดสินใจด้านนโยบายทั้งการเงินและการคลังในปีหน้าจึงมีความท้าทายและต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยง และความไม่แน่นอนสูงนี้ ผู้ดำเนินนโยบายจึงต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างๆ ให้ดี และเตรียมกระสุนนโยบายไว้ให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งผมเชื่อว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะแก้ปัญหาและร่วมดำเนินนโยบายอย่างจริงจังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถก้าวผ่านปี 2555 ไปได้อย่างราบรื่น