กิตติภัต แสนดี : BIOSCOPE
ณ ต้นเดือนตุลาคมปี 2011 ที่สวนสาธารณะซัคคอตตี นิวยอร์ค อันเป็นศูนย์กลางการชุมนุมของกลุ่ม Occupy Wall Street ซึ่งได้รวมตัวเรียกร้องหาความรับผิดชอบของนักการเงิน การธนาคาร ที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศอเมริกา พบชายรูปร่างท้วมสวมเสื้อแดงหนวดเฟิ้ม ขึ้นมาอ่านคำปราศรัย ด้วยสำเนียงอังกฤษแบบชาวยุโรปตะวันออก ด้วยท่วงท่าของมือที่ขยับปัดแกว่งไปมาอย่างดุดัน เนื้อหาที่สะท้อนแนวคิดของฝ่ายซ้ายทางการเมือง ทั้งหมดนี้ไม่มีทางเป็นใครอื่นได้นอกจากสลาวอย ชีเชค นักคิดร่วมสมัยชาวสโลเวเนีย
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเข้ามาพัวพันเกี่ยวกับการเมือง เขาเคยเป็นถึงอดีตผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสโลเวเนียเมื่อปี 1990 ในนามพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ภายหลังจากการร่วมขบวนการปฎิรูปเสริมสร้างประชาธิปไตยในสโลเวเนียอย่างเข้มข้น และนี่ก็ยิ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการปรัชญา การเมือง แล้วนำเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
ถ้าเราอยากจะทำความรู้จักนักวิชาการคนนี้ตั้งแต่แรก ก็โชคดีที่มีผู้กำกับหนังอเมริกันที่ใฝ่รู้ด้านศิลปศาสตร์ อัสตรา เทย์เลอร์ มาช่วยบันทึกบุคคลิก ความคิดอ่านในแง่มุมสาธารณะและส่วนตัวของชีเชค ในหนังเรื่อง Zizek! (2005)
ว่าด้วยความนิยม
เมื่อเลือกที่จะเป็นอาจารย์ หรือนักวิชาการ กิจกรรมอันดับท้ายๆ ที่เขาจะทำคือ การสอดแทรกมุกตลกลงไปในงานเขียนงานปาฐกถา จับหนัง วัฒนธรรมร่วมสมัยมาวิเคราะห์แบบวิชาการปนบันเทิง ทำตัวเองให้โด่งดังในรูปแบบ “ร็อคสตาร์” ด้วยการออกสื่อ พูดจาลีลาน่าพิศวง
นักวิชาการที่ทำกิจกรรมข้างต้นครบถ้วน อาจพบปัญหาว่ามีผู้มอบหมายงานวิจัยลดลง ความน่าเชื่อถือลดลง โอกาสการได้ทุนศึกษาประเด็นที่สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ก็ลดลง โอกาสได้รับการตีพิมพ์งานเขียนก็ลดลง แต่สำหรับสลาวอย ชีเชค ทุกอย่างตรงกันข้าม นอกจากเขาจะได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายที่ หนังสือของเขาก็ยังถูกตีพิมพ์หลายเล่ม
ในหนังเรื่อง Zizek! ผู้กำกับติดตามนักคิดท่านนี้ ในเวลาลงสนามสัมมนาตามที่ต่างๆ ซึ่งจะพบว่าทุกที่ที่ไป ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอเมริกาใต้ ในอเมริกาเหนือ ในยุโรป เสียงตอบรับจะดีเกินคาด ทุกคนจับจองพื้นที่คับคั่งจนอาจต้องขี่คอดู ราวกับรอชมคอนเสิร์ตของนักร้องชื่อดัง ความนิยมที่ได้รับเกิดจากความบ้าบิ่นทางวิชาการที่เขาพยายามนำตัวเองออกรายการวาไรตี้ทางโทรทัศน์ เขียนบทความวิจารณ์หนัง ล่าสุด ความนิยมชมชอบมีมากจนเลยไปถึงขั้นการมีข่าวลือจับจองในพื้นที่ข่าวบันเทิง เช่น ข่าวลือว่าเขากำลังคบหากับเลดี้ กาก้า เป็นต้น
เขากล่าวในหนังว่า เป็นความตั้งใจของเขาเองที่ต้องการทำให้ตนเองเป็นที่นิยม เป็นความตั้งใจที่เขาจะทำให้ตัวเองดูเป็นคนตลก ชอบใส่อารมณ์ขันลงไปในงานวิชาการ เพราะไม่ต้องการให้สังคมมองเขาอย่างจริงจังมากเกินไป
นี่ทำให้แนวคิดของชีเชคเมื่อถูกนำเสนอในที่สาธารณะนั้น จะเข้าใจง่าย และบางครั้งอาจจะดูเหมือนเอาแต่ตลกจนดูไม่ฉลาด แต่ถ้าหากเข้าไปศึกษาเบื้องหลังของความคิดง่ายๆ เหล่านั้น กลับพบความซับซ้อนที่เทียบกันไม่ได้กับสิ่งที่เห็นในพื้นที่สาธารณะ และเรากำลังจะได้ลงไปสัมผัสต่อไป
ว่าด้วยปรัชญา
ฉากแรกของหนัง ชีเชคออกมาพูดถึงธรรมชาติของจักรวาล เขาเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าแท้จริงแล้วจักรวาลมีพื้นฐานจากความว่างเปล่า แต่เป็นความว่างเปล่าที่แฝงพลังบางอย่าง ซึ่งเมื่อถูกรบกวนแล้ว พลังในความว่างเปล่าจะก่อกำเนิดสิ่งต่างๆ ตามที่เห็นในปัจจุบัน โลกทั้งใบ จักรวาลทั้งมวลจึงเกิดจากความบังเอิญที่ผิดพลาด เราทุกคนปรารถนาที่จะยอมรับความผิดพลาด และย้อนกลับไปสู่ความว่างเปล่าอีกครั้ง และ “ความรัก” เป็นอุปกรณ์ทางความคิดที่ช่วยย้อนกลับไปสู่ความว่างเปล่าอีกครั้งได้ ความรักเป็นสิ่งว่างเปล่า เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นจากปรัชญาหัวข้อใด มีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับฉากเปิดนี้ เพราะที่สำคัญกว่าคือ มันแสดงให้เห็นกระบวนการของชีเชคที่ฉีกแนวออกไปจากนักปรัชญาในโลกอเมริกัน หรืออังกฤษ สำหรับนักปรัชญาเหล่านี้แค่นำเรื่องธรรมชาติของจักรวาลหรือความรักประเด็นเดียวมาพูดถึง ก็อาจต้องคุย ต้องวิเคราะห์กันยาวนานถึงคุณสมบัติภายในของมัน แต่สำหรับชีเชค เขาไม่กลัวที่จะพูดถึงเรื่องนี้ แล้วเข้าไปเชื่อมโยงกับเรื่องอีกเรื่องทันทีภายในสองนาที เทคนิกเช่นนี้ทำให้ชีเชคได้มิตร คือผู้กระหายใคร่รู้แนวคิดแปลกใหม่ และได้ศัตรูคือนักวิชาการแบบดั้งเดิม และผู้ชอบตั้งคำถามถึงความแม่นยำทางตรรกะ
ชีเชคกล่าวในหนังว่า ปรัชญาไม่ได้มีเพื่อนำมาแก้ปัญหาที่มีอยู่บนโลกใบนี้ เขายอมรับว่าเขาช่วยอะไรไม่ได้ถ้าดาวหางจะพุ่งชนโลก และข้าพเจ้าก็คิดว่าเขาคงช่วยอะไรไม่ได้เช่นกันถ้าต้องตอบคำถามว่า ระหว่างคนๆ เดียว หรือกลุ่มคนห้าคน ควรช่วยเหลือใครก่อนกัน หรือหนังแบบไหนติดตาคนดูดีที่สุด ฯลฯ เพราะปรัชญาสำหรับชีเชคคือการกำหนดคำถามใหม่ๆ ค้นหานิยามใหม่ๆ ให้กับสิ่งที่เราเข้าใจกันว่าคุ้นเคยดี เช่นอะไรคือเสรีภาพ อะไรคือทุนนิยม ไม่ใช่การค้นหาทางแก้ไขจากโลกอุดมคติแบบที่นักปรัชญาแบบจารีตชอบทำกัน
ปรัชญาของชีเชคจึงเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น เหมือนกับแนวคิดของเฮเกลในเรื่อง dialectical ที่ว่าด้วยการต่อสู้อันไม่มีที่สิ้นสุดของแนวคิดขั้วตรงข้ามกัน
ว่าด้วยจิตวิเคราะห์
นอกจากจะฝักใฝ่นักปรัชญาเยอรมันอย่างเฮเกล คาร์ล มาร์กซ์ ลายเซ็นของเขาที่หากขาดแล้วจะเท่ากับว่าความเป็นชีเชคจะหายไป คือการเอาเรื่องจิตวิเคราะห์เข้ามาปะปนพัวพันกัน แบบเดียวกับที่เขาทำกับเรื่องจักรวาลและความรัก
จิตวิเคราะห์ที่เขานิยมชมชอบคือแนวทางณาคส์ ลากอง ที่แตกต่างจากจิตวิเคราะห์แบบซิกมันต์ ฟรอยด์ตรงที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่อาการผิดปรกติทางจิตใจ ภาวะหมกมุ่นทางเพศ แต่ไปสนใจที่โครงสร้างภาษากับจิตใต้สำนึกแทน
ลากองมองว่ามีความแตกต่างระหว่างจิตมนุษย์ก่อนและหลังการรับภาษาเข้ามาใช้ ภาษาทำให้เกิดช่องว่างระหว่างระเบียบตามธรรมชาติของจักรวาลที่มีความต่อเนื่องอย่างหนึ่ง กับระเบียบทางวัฒนธรรมมนุษย์ที่มีภาวะแบ่งแยกด้วยภาษาอีกอย่างหนึ่ง ลากองยังพูดต่อเนื่องไปว่ามนุษย์ล้วนปรารถนาจะกลับไปประสบพบเจอกับภาวะที่ต่อเนื่องดั้งเดิมก่อนการรับรู้ภาษา ท้ายที่สุดต้องผิดหวังเพราะภาษาได้ครอบงำทุกมิติทางความคิดของคนเราไว้หมดแล้ว แต่กระนั้น ความพยายามดังกล่าวก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาไม่มีวันจบสิ้น
ชีเชคเอาเรื่องทุนนิยมมาผูกกับความคิดพิลึกนี้อย่างไร
เขามองว่าสินค้าในระบบทุนนิยม ล่อให้ผู้คนบริโภคต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด โดยใช้ประโยชน์จากความหวังของมนุษย์ที่จะกลับเข้าไปหาภาวะก่อนภาษาอีกครั้งหนึ่ง สินค้าที่นำมาหลอกล่อจะมีคุณสมบัติที่ดูเหมือนว่างเปล่า จนขาดไปในสาระสำคัญ เช่น ให้ดื่มโค้กที่ไม่มีน้ำตาล ให้ดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน การหลอกล่อนี้ทำให้ผู้บริโภคต้องบริโภคสิ่งเหล่านี้ตลอดไป
นอกจากนี้เรื่องหมึกแดงหมึกน้ำเงินในคำปราศรัย Occupy Wall Street ก็เป็นอีกผลงานที่เขานำมาเรื่องจิตวิเคราะห์ลากองมาใช้ เพราะเขามองว่าในสังคมทุนนิยม ภาษาที่ถูกปลูกฝังทำให้มนุษย์ไม่สามารถคิดถึงสภาพอื่นได้นอกจากภาวะทุนนิยม ภาวะที่การบริโภคที่เกินความจำเป็น ภาวะความยากจน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นั้นคือจุดบรรจบของจิตวิเคราะห์ของลากอง การวิพากษ์ระบบทุนนิยม และยังเป็นเรื่องการกำหนดนิยามใหม่ให้กับคำที่เราคุ้นเคยอย่างบริโภคนิยมว่าแท้จริง มีพื้นฐานมาจากเรื่องจิตใต้สำนึก สามเหลี่ยมนี้จะหาได้ชัดก็จากงานเขียนของเขา
กระนั้นก็ดี ชีเชคก็ไม่ได้ชื่นชมลากองไปทุกเรื่อง เขาวิพากษ์วิจารณ์สไตล์การพูดในที่สาธารณะของลากองว่าดัดจริต เวิ่นเว้อ ไม่ตรงไปตรงมา เขากล่าวหาลากองในหนัง ต่อหน้าต่อตาวิดีโอเทปเลกเชอร์ของลากอง
สไตล์การนำเสนอที่คลุมเครือเหล่านี้ ชีเชคนำมาแก้ไขอย่างจริงจัง
ว่าด้วยความเคลื่อนไหวล่าสุด
ในหนังเรื่อง Zizek! เราอาจจะไม่ได้เห็นพัฒนาการใหม่ล่าสุดของเขา ในช่วงปี 2008 กับแนวคิดเรื่องทุนนิยมเชิงวัฒนธรรม
เป็นอีกครั้งที่เขาได้หาคำนิยามใหม่ให้กับบริโภคนิยม โดยคำนึงถึงกระแสรักโลก รักสังคมที่กำลังวงเวียนอยู่ในอาณาเขตของสินค้าหลากชนิดเช่น กาแฟร้านดังที่อ้างว่ามีการจ่ายราคายุติธรรมต่อชาวไร่ที่ผลิตเมล็ดกาแฟเมื่อมีการจ่ายเงินเพิ่ม รองเท้าที่อ้างว่าทุกคู่ที่มีการซื้อ จะมีการนำรองเท้าอีกคู่ไปแจกให้ผู้ยากไร้
ซีเซคชี้ว่านี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีว่าทุนนิยมมีการพัฒนา แต่กลายเป็นสัญญาณที่แย่กว่าเดิมว่าบริโภคนิยมกำลังปกปิดตัวเองด้วยการกลบเกลื่อนผลร้ายที่ตามมากับการบริโภค เพราะนอกจากมันมันไม่ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องรู้สึกผิดจากภาวะความยากจน การกดขี่แรงงานที่เกิดขึ้นจากการบริโภคของตนเองแล้ว ยังช่วยทำให้รู้สึกดีว่าตัวเองได้ช่วยสังคม ทั้งที่ความจริงผลร้ายจากการบริโภคก็ยังมีอยู่
กระแสรักโลก รักสังคมในสายตาซีเชคจึงเป็นอีกมุกใหม่ของบริโภคนิยม ที่ช่วยให้คนบริโภคเกินความจำเป็นต่อไปได้ โดยไม่รู้สึกผิด และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่แฝงในบทปาฐกถา Occupy Wall Street ล่าสุด
ว่าด้วยบทวิพากษ์
ชีเชคไม่ใช่นักปรัชญาที่ดี โดยให้ความหมายของคำว่าดี ว่ามีการให้เหตุผลชัดเจนเป็นขั้นตอนแบบจารีต
ความคิดของเขากระโดดข้ามไปมาระหว่างหลายๆ สิ่ง แล้วนำสิ่งที่ไม่น่าจะเทียบกันได้มาเทียบกัน อย่างในตัวอย่างเรื่องระบบเศรษฐกิจ กับจิตวิเคราะห์ของลากอง เป็นต้น หรือแม้แต่ในบทปาฐกถาใน Occupy Wall Street เอง สำหรับนักปรัชญาแบบจารีตแล้ว ต้องถือว่าสามารถคัดค้านได้ไม่ยาก เช่น อ้างว่าไม่มีหลักฐานแบบเห็นได้ชัดๆ สำหรับข้อกล่าวอ้างว่า “ภาษาปัจจุบันทำให้คิดถึงระบบอื่นที่ไม่ใช่ทุนนิยมไม่ได้” ข้ออ้างเรื่องทุนนิยมเชิงวัฒนธรรมก็ยังไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ มีแต่คำบรรยายว่าอันนั้นเป็นแบบนั้นแบบนี้ ฯลฯ และสารคดีเรื่อง Zizek! ก็ละเลยไม่พูดถึงประเด็นนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจจะคัดค้านยากหน่อยคือศักยภาพที่ความคิดของชีเชคเหล่านี้ เปิดให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการอ่านความคิดดั้งเดิมของนักปรัชญารุ่นเก่าๆ ที่เชื่อว่ามีอยู่เปี่ยมล้น แม้ว่าความเป็นไปได้ที่เขาหยิบยื่นให้ อาจต้องสานต่อเพิ่มเยอะขึ้นกว่าจะทำให้เป็นแนวคิดที่มั่นคงแข็งแรงได้
ถ้าชีเชคจะมีแนวคิดอะไรที่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด ก็คงต้องเป็นประโยคสุดท้ายในปาฐกถา Occupy Wall Street ของเขาว่า “อย่ากลัวที่จะอยากได้ในสิ่งที่ปรารถนา” นี่เป็นคำกล่าวที่ปรับใช้ได้ดีทั้งในเรื่องของการเมืองฝ่ายซ้ายใหม่ในยุคที่มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมครอบงำ และยังใช้ได้กับเรื่องวิธีการทางวิชาการในการค้นหาความรู้ใหม่ด้วย