ThaiPublica > คอลัมน์ > Unrealized Loss: ขาดทุนแต่ไม่เสียหาย?

Unrealized Loss: ขาดทุนแต่ไม่เสียหาย?

8 กันยายน 2011


ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม

จากรายงานงบการเงินประจำปี 2553 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฎว่างบดุล ณ วันที่ 31 ธันวาคม นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลการดำเนินการขาดทุนสุทธิ 1.17 แสนล้านบาท และทำให้ส่วนของทุนติดลบเป็นมูลค่าเท่ากับ 4.32 ล้านบาท ประเด็นมูลค่าของการขาดทุนนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลสนับสนุนการตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ โดยความเชื่อมโยงเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า การบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มิได้ทำให้ดอกผลงอกเงยเท่าใดนัก ซ้ำร้ายยังบริหารจัดการจนขาดทุนมหาศาลอีกด้วย ดังนั้นจึงสมควรดึงเงินก้อนโตนี้ออกมาจากมือธนาคารแห่งประเทศไทย และจัดตั้งในรูปของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ นำไปลงทุนในด้านอื่นๆ แทนที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือในรูปบัญชีเงินฝากสกุลดอลล่าร์

ณ วันนี้ กระแสเรื่องการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติได้ซาลงและลดระดับความเร่งด่วนในการดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ดีประเด็นเรื่องการขาดทุนของแบงก์ชาติยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เนื่องจากมูลค่านั้นมากมหาศาล ดังนั้นสังคมสมควรได้รับรู้ว่า การขาดทุนนั้นอธิบายได้อย่างไร และถือเป็นความเสียหายหรือไม่ อย่างไร

หากเราพิจารณาลงในรายละเอียดของสาเหตุที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประสบภาวะขาดทุนในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าสาเหตุสำคัญมาจากการที่สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองมีมูลค่าในรูปเงินบาทที่ลดต่ำลงจากช่วงปีก่อนหน้า ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ

ดังนั้นเมื่อเราตีมูลค่าสินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองด้วยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เราจะพบว่ามูลค่าของสินทรัพย์ต่างประเทศเมื่อคิดในรูปเงินบาทจะมีมูลค่าลดลงจากแต่ก่อน เช่น แต่เดิมอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 40 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์ฯ เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์ฯ มูลค่าของสินทรัพย์ต่างประเทศจะหายไป 10 บาทต่อทุกๆ หนึ่งเหรียญสหรัฐฯ ในทันที

ผู้เขียนมองว่า การสูญค่าของสินทรัพย์ต่างประเทศจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินนี้ แม้จะทำให้เกิดการขาดทุนขึ้นตามวิธีการตีราคาสินทรัพย์เพื่อลงบัญชี แต่เป็นความเสียหายที่ยังมิได้เกิดขึ้นจริง (Unrealized loss) แต่ประการใด ทั้งนี้เป็นเพราะเรายังไม่ได้ทำการขายสินทรัพย์นั้นออกไป การขาดทุนจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อเราได้ขายสินทรัพย์นั้นออกไปในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เราซื้อมานั่นเอง

หลายท่านอาจมองต่างมุมว่าความเสียหายที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นนั้น ในที่สุดก็ย่อมจะต้องเกิดขึ้น ดังนั้นควรนับรวมเป็นการขาดทุนที่สร้างความเสียหายและจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งด้วย ผู้ที่มองเช่นนี้มักยึดติดกับการมองงบดุลของบริษัทโดยลืมไปว่าเรากำลังพิจารณางบดุลของธนาคารกลางอยู่ เหตุผลที่ทำให้เราต้องมองในมุมที่แตกต่างนั้นเป็นดังนี้

หนึ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นเรื่องของอนาคตเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขายสินทรัพย์ต่างประเทศออกไป ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น มีองค์ประกอบของนานาปัจจัยที่ยากแก่การคาดเดาเกี่ยวข้องอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงมิใช่จะเป็นจริงเสมอไปที่ความเสียหายที่ยังมิได้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนี้ จะต้องเกิดขึ้นเสมอในอนาคต

สอง การขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งสะท้อน (แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม) ถึงความแข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบของเศรษฐกิจไทย ตัวบ่งชี้ต่างๆ ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจจริงที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมั่นคง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและอยู่ในกรอบจำกัด รวมถึงความน่าลงทุนของภาคธุรกิจไทยที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล ฯลฯ หากมองในมุมตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจไทยประสบวิกฤติ เกิดภาวะหดตัวรุนแรง ค่าเงินบาทย่อมอ่อนลงมาก จนทำให้เกิดการเพิ่มค่าของสินทรัพย์ต่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมจะมีงบการเงินที่มีกำไร สถานการณ์เช่นนี้ย่อมมิใช่ภาวะที่เราจะยินดีปรีดาอย่างแน่นอน หากเรามิได้ยินดีกับการที่เกิดกำไรทางบัญชี แล้วเหตุใดเราจึงต้องเป็นทุกข์กับการขาดทุนทางบัญชีด้วยเล่า

ภาวะการณ์ดอลล่าร์อ่อนในช่วงปีที่ผ่านมามิได้กระทบกับงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงรายเดียว ธนาคารกลางทั่วโลกต่างประสบกับการขาดทุน และส่วนของทุนติดลบด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางของประเทศชิลี อิสราเอล สาธารณรัฐเชค หรือแม้แต่ธนาคารกลางของแคนาดา ผู้เขียนขอยกตัวเลขเงินทุนติดลบของบางธนาคารกลางมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมานี้ ธนาคารกลางของอิสราเอลมีการขาดทุนสุทธิและการขาดทุนสะสม ซึ่งส่งผลให้ส่วนของทุนติดลบเป็นมูลค่า 33.96 พันล้าน NIS (New Israel Shetel) หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ส่วนธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐเชคมีส่วนของทุนติดลบเป็นมูลค่า 143 พันล้าน CZK (Czech Koruny) หรือราว 2.45 แสนล้านบาท

ธนาคารกลางเหล่านี้มิได้มองว่าการขาดทุนหรือมีทุนติดลบเป็นปัญหาสำหรับการดำเนินกิจกรรมธนาคารกลางแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญกว่าตัวเลขงบดุลของธนาคารกลาง คือการที่ธนาคารกลางสามารถทำให้สาธารณะมีความเชื่อมั่นในค่าเงินได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการรักษาเสถียรภาพด้านราคา หรือการที่รักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ

เหลียวมองไปดูธนาคารกลางแห่งชาติยุโรป ที่ได้ออกมาตำหนิธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐเชค ในรายงาน Convergence Report ปี 2010 ว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดการขาดทุนสะสมจนส่วนของทุนติดลบจำนวนมาก โดยทางธนาคารกลางแห่งชาติยุโรปมองว่า การมีทุนติดลบนี้จะเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง อย่างไรก็ดีธนาคารกลางแห่งชาติยุโรปที่มีทุนเป็นบวก กลับเป็นฝ่ายที่ต้องเร่งเพิ่มทุนในช่วงปี 2010-2012 นี้
เนื่องจาก ธนาคารกลางแห่งชาติยุโรป ได้ใช้เงินเข้าไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลกรีซไว้เป็นจำนวนมาก (ราว 5 หมื่นล้านยูโร) ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลกรีซนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการผิดชำระสูง ดังนั้นเพื่อให้ตลาดการเงินมีความมั่นใจในเสถียรภาพของเงินยูโร ธนาคารแห่งชาติยุโรปจึงจำเป็นต้องทำการเพิ่มทุนเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับความเสี่ยงที่สินทรัพย์ในครอบครองของธนาคารกลางจะต้องสูญค่า

จะเห็นได้ว่า ส่วนของทุนในกรณีของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐเชค และของธนาคารกลางแห่งชาติยุโรป มีนัยต่อเสถียรภาพทางการเงินและการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การตัดสินการดำเนินการของธนาคารกลางเพียงจากงบการเงิน ด้วยมุมมองของการเงินระดับบริษัทจึงมิใช่วิธีการที่ถูกต้อง

และที่สำคัญเราต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน (หรือของธนาคารกลาง) นั้นมิใช่เพื่อการแสวงหากำไร

ป้ายคำ :