โตมร ศุขปรีชา
สภาพสังคมของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น มีอะไรหลายอย่างละม้ายสภาพสังคมไทยในปัจจุบันไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชนชั้น
คนตะวันตกมักจะค่อนขอดคนอังกฤษอยู่เสมอว่า สังคมอังกฤษนั้นเป็นสังคมที่ ‘หมกมุ่น’ อยู่กับชนชั้น เรื่องนี้ถ้าย้อนกลับมาดูบ้านเรา ก็จะพบว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ นอกจากไม่แตกต่างกันแล้ว ดูเหมือนสังคมไทยจะหมกมุ่นกับเรื่องชนชั้นมากยิ่งกว่าด้วยซ้ำ แต่ในเวลาเดียวกัน เรามักบอกตัวเองและคนอื่นบ่อยๆว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับชนชั้นมากสักเท่าไหร่
ในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น คนที่ได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษสงครามของอังกฤษ หนีไม่พ้นวินสตัน เชอร์ชิล ผู้โด่งดัง ดังนั้น ในช่วงปลายสงครามโลกอย่างปี 1945 เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ แทบทุกคนจึงคาดเดากันว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของเชอร์ชิลจะต้องได้ชัยชนะแน่ๆ

ครั้นผลไม่ออกมาดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ในเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม 1945 เชอร์ชิลจะเขียนบันทึกไว้ว่า เขาตื่นนอนขึ้นมาด้วยอาการเหมือน ‘ถูกแทงด้วยของแหลม จนเกือบรู้สึกได้ทางกาย’ เมื่อเขาพบว่า ตัวเองและพรรคอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไป
ผมคิดว่า อาการ ‘ไม่เชื่อ’ (จนทำอะไรไม่ถูก) นั้น ก็น่าจะเกิดขึ้นกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนอยู่เหมือนกัน จนบางคนก็ออกอาการ ‘ไปไม่เป็น’ ทำให้ออกมาวิเคราะห์ความพ่ายแพ้กันด้วยตรรกะประหลาดๆ เชอร์ชิลก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เพราะในเวลานั้น น้อยคนนักจะคิดว่าเชอร์ชิลจะมีวันพ่ายแพ้ แม้กระทั่งผู้นำของฝ่ายตรงข้าม คือพรรคแรงงาน หลายคนก็วิเคราะห์ว่าเชอร์ชิลต้องได้กลับมาแน่ๆ รวมไปถึงพวกนักธุรกิจ สื่อ และนักสังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไล่ตั้งแต่วอชิงตันไปจนถึงมอสโคว์ ทั้งนี้ก็เพราะเชอร์ชิลกำลังอยู่บนจุดสุดยอดของชัยชนะ เวลาเขาออก ‘บัญชร’ มาโบกมือให้กับประชาชนนั้น ประชาชนโห่ร้องต้อนรับเขายิ่งกว่ากษัตริย์และราชวงศ์เสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะไม่เคยมีความสำเร็จทางทหารในประวัติศาสตร์อังกฤษครั้งใดยิ่งใหญ่เท่านี้มาก่อน
แล้วเกิดอะไรขึ้น เชอร์ชิลถึงแพ้การเลือกตั้ง
คำตอบที่พรรคประชาธิปัตย์อาจนำไปใช้ในการมองโลกและสังคมไทยยุคใหม่ได้ด้วยก็คือ สังคมอังกฤษได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว!
น่าทึ่งทีเดียว ที่สังคมอังกฤษในยุคนั้นเปลี่ยนแปลงไป ‘คล้าย’ กับสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา นั่นก็คือเกิดการเรียกร้อง ‘ความเสมอภาค’ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สงครามโลกที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลเฉพาะเรื่องแพ้ชนะในสนามรบนอกประเทศเท่านั้น แต่ตัวสงครามเองยังสร้างผลสะเทือนทางโครงสร้างสังคมภายในบ้านของอังกฤษอีกด้วย ในไทย แรงผลักอาจเป็นการมองเห็นความไม่ชอบธรรมและสองมาตรฐานบางอย่าง แต่ในอังกฤษสมัยนั้น แรงผลักหนึ่งซึ่งนับว่า ‘แรง’ มาก ก็คือแรงผลักทางศาสนา
สงครามทำให้สังคมอังกฤษค่อนข้างเดือดร้อนเพราะความขาดแคลน แต่ในเวลาเดียวกัน สงครามก็ผลักดันให้คนที่เคยอยู่ใน ‘ชนชั้น’ ต่างๆ ต้องหลอมรวมเข้ามาอยู่ด้วยกันไปด้วยโดยปริยาย ในยุคนั้น ประชากรอังกฤษราว 60 เปอร์เซ็นต์ คือคนทำงานใช้แรงงาน ซึ่งมีตั้งแต่คนงานในโรงงาน แรงงานภาคเกษตร คนงานสร้างถนน คนงานเหมือง ชาวประมง คนรับใช้ หรือคนทำงานซักรีด พูดได้ว่าเป็นคนทำงานใช้แรงงานทั้งนั้น คนเหล่านี้ได้ค่าแรงเป็นเงินสดรายสัปดาห์ โดยคนอังกฤษยุคนั้นจะแบ่งแยก ‘ชนชั้น’ กันโดยดูจากถิ่นที่อยู่ ภาษาที่ใช้ รวมไปถึงความบันเทิงที่เสพด้วย
ตัวอย่างของการแบ่งแยกชนชั้นในอังกฤษที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ในภาพยนตร์เพลงอย่าง My Fair Lady ที่ตัวเอกมีการร้องเพลง Why Can’t the English? เพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมคนอังกฤษถึงไม่สามารถสอนคนอังกฤษให้พูดภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากอังกฤษในยุคนั้นมีชนชั้นล่างอย่างพวกค็อคนีย์อยู่มาก ภาษาอังกฤษแบบค็อคนีย์นั้นแทบไม่เหมือนภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ และในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ด้านภาษาก็สามารถแยกแยะได้ว่า คนที่พูดสำเนียงแบบไหนพักอยู่แถบถิ่นไหนในลอนดอน เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นจะมีสำเนียงแยกย่อยแตกต่างกัน ซึ่งก็บ่งบอกได้ด้วยว่าคนเหล่านั้นอยู่ใน ‘ชนชั้น’ แบบไหน
อย่างไรก็ตาม สงครามได้ทำให้การแบ่งชนชั้นอ่อนตัวลงบ้าง และได้สร้างรากฐานต่อการปฏิวัติวัฒนธรรมที่จะเกิดตามมา ชายหญิงจากพื้นฐานที่แตกต่างกันต้องมาร่วมกันทำงานรับใช้ชาติ เช่น ผู้หญิงชนชั้นกลางก็ต้องมาช่วยทำงานในโรงงาน นักเรียนในโรงเรียนระดับสูงก็ต้องไปช่วยงานเหมือง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงชนชั้นแรงงานหลายคนก็มีโอกาสได้ผละออกจากบ้าน เงยหน้าขึ้นจากอ่างล้างจาน ไปพบปะสังสรรค์กับคนในชนชั้นอื่นๆ ที่เข้ามาร่วม ‘ช่วยชาติ’ กันในยามสงคราม ที่สำคัญก็คือ เมื่อคนในชนชั้นสูงกว่าต้องมาทำงานที่ชนชั้นแรงงานชำนาญ พวกเขาต้องมาเรียนรู้จากคนเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะ ‘กลับข้าง’ ทางชนชั้นในยามทำงานช่วยชาติร่วมกันขึ้น
ในยุคนั้น คำว่า Blimps ซึ่งหมายถึงข้าราชการชนชั้นสูง กลายเป็นคำล้อเลียนที่นิยมกันมาก แสดงให้เห็นถึง ‘การตายลง’ ของอังกฤษแบบเก่า
นอกจากนี้ ในช่วงสงคราม แนวคิดแบบสังคมนิยมผสมเคร่งศาสนาก็เข้ามาแพร่หลายในอังกฤษด้วย ที่เห็นได้ชัดก็คืออาร์คบิช็อพแห่งแคนเทอร์เบอรี วิลเลียม เทมเพิล ซึ่งถือว่าเป็นคนสำคัญทางศาสนา ได้เรียกร้องว่า ‘ความไม่เท่าเทียมอย่างเอกอุในทรัพย์สินเงินทองจะต้องถูกกำจัดไป’ ซึ่งนั่นคือการพุ่งเป้าโดยตรงไปยังระบบสังคมที่เป็นอนุรักษ์นิยม แล้วปรากฏเป็นรูปธรรมในการเลือกตั้งที่ ‘ไม่เอาเชอร์ชิล’
ในเมืองมิลลิงตัน ซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อ ‘ความร่ำรวยที่ทัดเทียมกัน’ (หรือ Common Wealth) ถึงกับขึ้นป้ายไว้กลางตลาดระหว่างการเลือกตั้งว่า ‘นี่คือการต่อสู้ระหว่างพระคริสต์กับเชอร์ชิล’ โดยมองว่าศาสนาคริสต์นั้นเน้นไปที่ความเท่าเทียมเสมอภาคกันระหว่างมนุษย์ กับแนวคิดรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง แต่พรรคอนุรักษ์นิยมหนุนโครงสร้างสังคมแบบเก่าที่มีชนชั้นและสองมาตรฐาน
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับลึก รวดเร็ว และเชื่อว่าแม้แต่คนอังกฤษเองก็ไม่ทันตั้งตัวรับกับผลแบบนี้ ในตอนนั้น พรรคที่ได้เสียงข้างมากก็คือพรรคแรงงาน ทว่าแม้แต่ผู้นำอย่างคลีเมนต์ แอตลี (Clement Attlee) ก็ยังไม่ทันตั้งตัว แถมในพรรคแรงงานเอง หลายคนก็คิดว่าผลการเลือกตั้งแบบนี้เป็นการ ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’ (Overturn) ระบบชนชั้นของประเทศมากเกินไปด้วยซ้ำ ความลังเลทำให้แอตลีเกือบชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนมีผู้มากระซิบว่าเขาควรเข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อรับการแต่งตั้งได้แล้ว เขาจึงตัดสินใจได้ และรีบกระโดดขึ้นรถคันเล็กบึ่งไปพระราชวังบัคกิงแฮมในทันที แม้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หกผู้ทรงติดอ่างจะเป็นอนุรักษ์นิยมเต็มตัว แต่พระองค์ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องแต่งตั้งให้แอตลีเป็นนายกรัฐมนตรีปกครองสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม อำนาจเก่าก็คืออำนาจเก่า ชนชั้นปกครองเดิม (หรือเราอาจพอกล้อมแกล้มเรียกให้เข้ายุคได้ว่า ‘อำมาตย์’) ก็ยังลุกขึ้นต่อสู้ต่อรอง ในตอนนั้น พูดได้ว่าถึงคนส่วนใหญ่ (คือ 60%) จะเป็นชนชั้นแรงงาน แต่อังกฤษทั้งประเทศกลับตกอยู่ใต้การปกครองของคนเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำที่พบหน้ากันมาตั้งแต่เล็กผ่านโรงเรียนชั้นนำทั้งหลาย รวมถึงมหาวิทยาลัยอย่างออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ จนคนเหล่านี้ได้ชื่อเล่นอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นพวก ‘ออกซ์บริดจ์’ คนที่จบจากโรงเรียนอย่างอีตัน แฮร์โรว์ และวินเชสเตอร์ เหล่านี้อาจรวมกันได้เพียง 5% ของประชากรทั้งหมด แต่คนเหล่านี้กลับเป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้นำทางการเมือง ไม่ใช่แค่ในพรรคอนุรักษ์นิยม ทว่าแม้กระทั่งในพรรคแรงงานเองก็ตามที
สภาพการณ์แบบนี้มีส่วนคล้ายสังคมไทยในตอนนี้ไม่น้อย เมื่อคนที่นิยมระเบียบเก่าแพ้การเลือกตั้ง หลายคนทำใจไม่ได้ ในอังกฤษก็เป็นแบบเดียวกัน หรือบางทีอาจจะเลวร้ายกว่าก็ได้ เพราะคนที่อยู่ในชนชั้นนำจำนวนหนึ่งถึงกับหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่อื่น หลายคนไปไอร์แลนด์ บางคนไปออสเตรเลีย บ้างก็ไปแอฟริกาใต้และอเมริกา แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่างโนเอล โคเวิร์ด ก็กล่าวทันทีที่พรรคแรงงานได้ชัยชนะในปี 1945 ว่าเขารู้สึกเสมอมาว่าอังกฤษจะต้อง ‘อยู่ไม่สบายอย่างแน่นอน’ (Bloody Uncomfortable) ในทันทีหลังสงคราม และเมื่อพรรคแรงงานได้ชัย ก็เกือบจะแน่นอนแล้วว่ามันจะเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม คำทำนายของโนเอล โคเวิร์ด ไม่เป็นจริง เพราะภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานคนแรก (ถึงแม้ไม่ได้เป็นผู้หญิงก็เถอะครับ!) อย่างแอตลี อังกฤษก็ยังเต็มไปด้วยคลับเฮาส์ส่วนบุคคล การแข่งขันเรือใบและม้าแข่งแบบผู้ดีอังกฤษขนานแท้ เอกสิทธิ์ต่างๆ ทั้งหลายแหล่ ที่น่าสังเกตก็คือ ชนชั้นล่างต่างพากันแห่ไปเรียนวิธีชงชา หรือแม้กระทั่งการเรียนพูดภาษาอังกฤษแบบที่เรียกว่า The King’s English กันขนานใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวเหมือนลูกศรชี้ไปทิศเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อน แต่ละองคาพยพมีแนวคิดและความต้องการเป็นของตัวเอง คนชั้นล่างที่เคยถูกกำหนดด้วยภาษา การพูด และถิ่นที่อยู่ สามารถเปลี่ยนสถานะและ Modify ตัวเองได้ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ใครทำอะไรได้ และแม้ว่าจะเลือกพรรคเดียวกันคือพรรคแรงงาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่เลือกแบบเดียวกันจะต้องคิดเหมือนกันในทุกเรื่อง บางคนต่อต้านระบบชนชั้น แต่บางคนก็ต่อต้านในตอนแรกเพื่อจะสมาทานตัวเองเข้าสู่ระบบนั้นในภายหลังเมื่อมีอำนาจต่อรองมากเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นล่าง กลาง สูง หรือเป็นคนที่มีเสียงข้างน้อยหรือข้างมาก ต่างสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อรอง และหยิบเอาอุดมการณ์ของตัวเองออกมาวางประกวดประขันกับของคนอื่นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครเลือกหยิบไปใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกคนล้วนสามารถ ‘เปล่งเสียง’ ออกมาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน เพราะอยู่ในสังคมที่สืบทอดอุดมการณ์ชนชั้นอย่างแข็งแรงหมกมุ่นก็ตามที
บางทีอาจเป็นเรื่องเหล่านี้เอง ที่กรุงเทพฯ ควรเรียนรู้จากลอนดอน พรรคประชาธิปัตย์ควรเรียนรู้จากพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคเพื่อไทยควรเรียนรู้จากพรรคแรงงาน
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราชัดเจนว่า แม้สังคมอังกฤษจะเป็น ‘แม่แบบ’ แห่งประชาธิปไตยที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
แต่กว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และต่อสู้ต่อรองอันซับซ้อนอย่างคิดไม่ถึง!