ThaiPublica > เกาะกระแส > ก้าวข้ามกับดัก 6 ด้านสู่ Digital Economy แก้โจทย์ “แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา เหลื่อมล้ำสูง”

ก้าวข้ามกับดัก 6 ด้านสู่ Digital Economy แก้โจทย์ “แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา เหลื่อมล้ำสูง”

26 ธันวาคม 2017


ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

กระแสของเทคโนโลยีเป็นคลื่นลูกใหญ่เข้ามาพร้อมการเปลี่ยนโฉมหน้าโลกอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และสังคมผู้สูงอายุ จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้อง “เปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่” ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนับ 10 คณะ เพื่อปรับโครงสร้างและวางแผนให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยี่ที่ก้าวกระโดดได้ ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์นักว่า ผลงานของคณะกรรมการมีเป้าหมายและแนวทางอย่างไร

เช่นเดียวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งผลักดันไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy)ได้เท่าเทียมโลก ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไรกันแน่ และควรจะต้องมีแนวทางดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงมาหาคำตอบจาก ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงาน National e-Payment ระบบการชำระเงินอิเลคทรอนิกส์แห่งชาติ ผู้ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศไทยใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือระบบ “พร้อมเพย์” ที่เปิดใช้กันไปในปีที่แล้ว

“เศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี 6 ด้าน ประกอบขึ้นเป็น building block รองรับ” ดร.อนุชิตกล่าวพร้อมฉายภาพให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และชวนถกถึงการวางแผนเทคโนโลยีที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญว่า แท้จริงนั้น นอกจากระบบการชำระเงินแล้วยังมี “โครงสร้างพื้นฐาน” อีกหลายด้านที่ประเทศไทยจะต้องรีบเดินหน้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังงวดเข้ามาทุกที

“ผมเห็นหลักๆ เรื่องที่ประเทศไทยจะมีปัญหา 6 อย่าง ซึ่งต้องมีการวางแผน การวางแผนเทคโนโลยีต้องวางให้ตรงโจทย์ ซึ่งโจทย์ต้องรู้ว่าประเทศเราต้องการอะไร มีอยู่ 6 เรื่องที่จะฆ่าเราทั้งประเทศ คือ แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา เหลื่อมล้ำสูง นี่คือโจทย์ แล้วจะตอบโจทย์อย่างไร ทำไมการแพทย์สำคัญ ทำไมการศึกษาสำคัญ ไม่ต้องวิจัยเรื่องอื่น เพราะเรื่องความยากจน เรื่องอาชีพ เรื่องทำมาหากิน เราไม่มีข้อมูลสักอย่าง อีกกว่า 10 ปี 6 ปัญหานี้จะถล่มใส่เมืองไทยพร้อมๆ กัน วันนั้นเราก็เจ๊ง ทำตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะทันไหมเลย เพราะว่าหลีกไม่พ้นแล้วอีกกว่า 10 ปีจากนี้ แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ทั้ง 6 อย่างมาพร้อมๆ กันอยู่แล้ว แรงงานหดลงเพราะคนแก่ ผลิตภาพลดลง ฐานภาษีหด สวัสดิการเพิ่มขึ้น ธุรกิจหนีออกนอกประเทศ จะชนกันทุกอย่าง”

ดร.อนุชิตออกตัวว่า สิ่งที่จะพูดวันนี้ไม่ใช่พูดของที่มีอยู่แล้ว แต่พูดถึงของที่ประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งเป็นชิ้นที่สำคัญและสำคัญอย่างไรถึงต้องมี แล้วสิ่งเหล่านี้คือไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้สำเร็จได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันทำ ไม่เหมือนกับที่เราใส่เงินเข้าไปแล้วมีขึ้นมา เป็นงานที่แต่ละคน คนละไม้คนละมือใส่เข้ามา เป็นเรื่องยากตรงนี้

พร้อมย้ำว่า”ความสำเร็จอยู่ที่ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ถ้าคนไม่ร่วมมือ รวมทั้งการสื่อสารให้คนเข้าใจว่ามันจำเป็นต้องมี และมีความสำคัญ ต้องมาช่วยกันทำ”

6 โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องทำกับการไปสู่ Digital Economy

ดร.อนุชิตกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริงต้องมีชิ้นที่เป็นพื้นฐานรองรับทุกสิ่งทุกอย่าง โดยโครงสร้างพื้นฐานมีด้วยกัน 6 ด้าน ซึ่งด้านที่ทำไปแล้วคือ 1.ระบบชำระเงิน หรือ payment system เพราะหากชำระเงินแบบดิจิทัลไม่ได้ เศรษฐกิจดิจิทัลก็ไม่เดินหน้า 2.หากไม่มีระบบพิสูจน์ตัวตน หรือ digital identity ก็ไม่รู้ว่าใครทำอะไร ไม่รู้ว่าใครเป็นใครจะไปทำอะไรด้วยกันได้ 3. logistic & location 4.data ถ้าไม่มีข้อมูลก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน 5. network security และ 6.คน human resource ทั้งหมดนี้ที่จะต้องลงมือทำ เพราะพวกนี้เป็นรากฐาน หรือ building blocks ของเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ใช่จัดนิทรรศการและไม่ต้องไปดูงานที่ไหน แต่ต้องแปลงงบประมาณ จัดสรรคนทุกอย่างมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ อันนี้คือพื้นฐาน

“ยกตัวอย่างถ้าเราพูดถึงยุคที่เป็น manufacturing เขาต้องพูดถึงว่าโครงสร้างพื้นฐานคือ ไฟฟ้ามีหรือไม่ ถนนมีหรือไม่ น้ำมีหรือไม่ นิคมอุตสาหกรรมมีหรือไม่ มีท่าเรือ มีอะไร แต่digital economy ไม่ค่อยพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัล กลับไปพูดถึงโครงการกี่แสนล้านที่ตัดถนน พูดถึงอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งก็เป็นเพียงท่อ แต่ยังไม่มีการพูดถึงการต่อสายไปถึงทุกหมู่บ้าน”

ระบบพิสูจน์ตัวตน – Digital ID

ดร.อนุชิตกล่าวต่อไปว่า งานที่กำลังทำอยู่ปัจจุบันคือ ระบบพิสูจน์ตัวตน ซึ่งความสำคัญของระบบนี้และเป็นปัญหาอย่างเดียวในโลกดิจิทัล คือ การอยู่บนโลกที่มองไม่เห็นตัว ซึ่งการไม่เห็นตัวก็ไม่รู้ว่าคนที่เราทำอะไรด้วยนั้นเป็นใคร พร้อมยกตัวอย่างว่า รัฐบาลต้องการจะผลักดัน ease of doing business หรือการทำให้การทำธุรกิจมีความง่ายขึ้น หมายถึงว่า เมื่อประชาชนหรือเอกชนต้องการจะขอใบอนุญาต หรือจะติดต่อภาครัฐ ให้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รัฐก็ไปตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ง่าย แต่เมื่อต้องการใช้ข้อมูลจริงเกิดปัญหาว่าคนที่ขอมาใบอนุญาตหรือติดต่อเรื่องนี้คือใคร ดังนั้น การจะทำอะไรบนอิเล็กทรอนิกส์ ประเด็นสำคัญคือจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนั้นคือตัวคนนั้นจริง เป็นหัวใจ

การที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ จึงไม่สามารถเริ่มต้นทำอะไรได้เลย ต้องใช้วิธีเดียวคือให้คนไปแสดงตัวแสดงหน้าทุกครั้ง แม้มีการให้กรอกข้อมูลบนระบบอินเทอร์เน็ตแล้วก็ตาม ยังต้องมีการไปแสดงตัว เพื่อจะรู้ว่าคนนี้ทำรายการนี้จริง เมื่อต้องการพัฒนาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลนี่คือปัญหา

ส่วนการใช้บริการราชการแต่ละที่ก็ต้องทำ username กับ password เองหมด และต้องไปแสดงตัวอย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อสร้างตัวตน หากใช้บริการหลายที่ก็มี username กับ password จำนวนมาก ทำให้ติดขัดไปหมด ดังนั้นการที่จะผลักดันเรื่อง ease of doing business ทำ business portal ของรัฐบาลก็ต้องติดขัด ต้องมีโจทย์แก้ปัญหาการระบุตัวตน

นอกจากการพิสูจน์ตัวตนแล้วยังมีปัญหาการยินยอมและการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น การขอสินเชื่อออนไลน์ จะต้องขอข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโร แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเจ้าตัวเป็นคนขอ ถ้าไม่มีก็ไปเอาข้อมูลจากเครดิตบูโรอย่างถูกต้องมาไม่ได้อีก ก็เป็นเรื่อง e-consent

สรุปแล้วมี 2 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวโยงกับการพิสูจน์ตัวตนว่าคนนั้นทำธุรกรรมจริงโดยไม่ต้องเห็นหน้า เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับการที่พิสูจน์ตัวตนได้แล้วเขายินยอมให้เอาข้อมูลของเขาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ไปยังคนที่ต้องใช้ข้อมูล อย่างในกรณีเครดิตบูโร ถ้าพิสูจน์ตัวตนได้ว่าเป็นคนนี้จริง เป็นเจ้าของจริง เขาจะบอกเครดิตบูโรว่าเขายินยอมให้เอาข้อมูลของเขาไปให้ธนาคารที่จะขอกู้เป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด

ดร.อนุชิตกล่าวต่อว่า”ใน 2 ปีที่ผ่านมาความต้องการที่จะยืนยันตัวตนของลูกค้าผ่าน e-channel (ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) เกิดขึ้นจำนวนมาก และมีคนทำเป็น 10 โครงการเลย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเป็น 10 โครงการที่ต่างคนต่างทำ และพอนึกถึงประชาชนจะใช้งานทีก็เหนื่อยแล้ว จะติดต่อราชการจะต้องใช้วิธีนี้ ถ้าจะติดต่ออีกหน่วยงานหนึ่งต้องใช้อีกวิธีหนึ่ง หากสมมติว่ามีคนอยู่ในระบบที่ให้บริการ 1,000 ราย ถ้าจะให้คุยกันได้หมด เป็นโครงการ 1 ต่อ 1 ก็ต้องมีเป็น 1,000 คูณ 1,000 โครงการ หมายถึง 1,000,000 โครงการ เพื่อให้ผู้บริการ 1,000 รายทำงานร่วมกันได้ จะเป็นไปได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานตรงกลาง จึงตกลงที่จะให้แต่ละหน่วยงานแต่ละคนทำเพียงแค่ของตัวเองแล้วเชื่อมต่อเข้ามาที่ platform ตรงกลางเรียกว่า digital ID platform ซึ่งทุกคนก็คุยกันได้หมด แนวคิดคือแบบนี้”

“ปัจจุบันยังไม่เป็นโครงสร้างพื้นฐานตรงกลาง ยังต้องเซ็นชื่อ ฉะนั้นทุกอย่างที่ต้องมีการขอข้อมูลข้ามกัน ต้องมีเรื่อง identity อะไรก็ตามที่ยังต้องมีการถ่ายเอกสารพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องให้ ซึ่งหากยังมีแบบนั้นแสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้ใช้ digital identity เพราะการที่มีสำเนาถูกต้องหมายถึงว่าผมจะต้องติดต่อคุณ แล้วผมต้องให้ข้อมูลบางอย่าง เช่น การสมรส ผมต้องส่งสำเนาทะเบียนสมรสให้ แต่ถ้าผมไม่ส่งให้แปลว่าผมยังไม่สมรสไหม หรือที่ส่งเอกสารให้ไป จะรู้ได้อย่างไรว่าจริงหรือไม่ ไม่รู้หรอก เพราะว่าผมรับรองเอง แต่จริงๆ ข้อมูลที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่ทะเบียนราษฎร์ แต่เนื่องจากไม่มีระบบที่เอาข้อมูลออกมาได้ วิธีเดียวคือส่งข้อมูลโดยตรง ซึ่งคนที่ได้ไปก็ต้องหาวิธีพิสูจน์เอาเอง ทำให้ประเทศไทยเรามีการหลอกลวงเยอะ”

“การจะเดินหน้าทำดิจิทัลอีโคโนมี โดยที่ข้อมูลมั่วๆ แล้วแต่คนจะให้ข้อมูล มันทำไม่ได้ แต่ถ้ามี digital ID พิสูจน์ได้ ข้อมูลที่ให้ไปคือข้อมูลจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่ปั้นเองแล้วรับรองตัวเอง เศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่บนข้อมูลที่หลอกลวงได้หรือ? ผมถึงบอกว่าพวกนี้คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องทำ เพื่อเอาข้อมูลที่จริงไปใช้ได้ จึงต้องมาทำเพื่อให้ทุกคนคุยกันรู้เรื่อง ส่งข้อมูลข้ามกันได้ พิสูจน์ตัวตนได้ รักษาข้อมูลให้อีกคนหนึ่งส่งไปอีกคนได้”

ดร.อนุชิตกล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้ใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักเป็น digital ID ว่า เลขประจำตัวประชาชนเป็นเพียงแค่ตัวเลข ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะพิสูจน์ตัวคน เช่น การใช้บริการของรัฐหน่วยงานหนึ่งแล้วใส่เลข 13 หลัก ไม่ได้หมายความว่าคนที่ใส่หมายเลขคือคนนั้นจริง ให้ใครกรอกตัวเลขให้ก็ได้ ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ตัวตน แต่เป็นการบอกว่าเป็นข้อมูลของคนนั้น บอกว่ามีบัตรประชาชน มีลายนิ้วมือ ก็จริงอยู่ แต่หมายความว่าต้องเอาหน้าไปโผล่ตรงนั้น ต้องเสียบบัตร ต้องเอานิ้วไปด้วย แล้วไม่สามารถใช้บัตรประชาชนได้ทั้งหมด ต้องไปถึงที่ว่าการอำเภอที่มีเครื่องอ่านข้อมูล หรือหากจะบอกว่าพัฒนาระบบให้ส่งจากที่บ้าน หมายความว่าต้องแจกเครื่องอ่านไว้ทุกบ้านในประเทศไทย นอกจากทำบัตรแล้วต้องพกเครื่องอ่านด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่ เป็นวิธีพิสูจน์ตัวตนอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการที่ทุกอย่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สมบูรณ์

ในต่างประเทศ หากต้องไปติดต่อราชการหรือหน่วยงานเอกชน หรือเปิดใช้บริการอะไรก็ตาม จะใช้วิธียืนยันตัวตนผ่านของที่ใช้บ่อยๆ เช่น ใช้ mobile banking ซึ่งมีการตรวจสอบอยู่แล้วว่าเป็นคนนี้จริง เวลาจะใช้บริการสามารถยืนยันได้เลย แต่ละประเทศในยุโรปพัฒนาเคลื่อนไปแบบนี้ ผ่านไปไม่กี่ปีทั้งโลกจะต้องไปทำแบบนี้กันหมด

“หรือกรณีสิงคโปร์ ตอนที่เราทำ National e-Payment เขาตื่นเต้นมากกับเรา เรานำเขา เขาเดินตาม แต่เขาเดินตามไปถึง national ID เลยเพราะเขารู้ว่าต้องทำ อันที่จริงช่วงแรกที่กระทรวงการคลังเริ่มพัฒนาทำ e-payment เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราก็บอกว่าต้องทำ digital ID แต่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของกระทรวงการคลัง จึงได้เพียงแต่ผลักดันเรื่องการชำระเงินไปและตอนนั้นหวังว่าจะมีใครมาทำเรื่อง ID อย่างไรก็ตามตอนนี้เราก็ทำแล้ว”

ดร.อนุชิตกล่าวต่อไปว่า ระบบที่กำลังพัฒนาขณะนี้จะใช้วิธีให้แต่ละฝ่ายช่วยกันพิสูจน์ตัวตนกันและกัน และเพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพ สมมติให้มีผู้ใช้งานต้องการใช้งานบริการของเว็บไซต์หนึ่ง เขาก็เปิดไปที่เว็บไซต์ อาจจะเป็นภาครัฐภาคเอกชนก็ได้ เพื่อสมัครขอใช้บริการหรือยื่นคำร้อง แต่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ขอใช้บริการไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้มี username และ password ผู้ให้บริการจึงบอกให้ผู้ขอใช้บริการไปหาคนอื่นพิสูจน์ตัวตนมาให้ ผู้ขอใช้บริหารซึ่งได้ใช้บริการอันหนึ่งอยู่ประจำ เช่น บริการธนาคาร ก็สามารถ log in เข้าที่ธนาคาร ธนาคารก็บอกว่าถูกต้อง พิสูจน์ตัวตนแล้วส่งข้อมูลไปบอกผู้ให้บริการว่า ใช่คนนี้ หลักการพื้นฐานที่สุดแค่นี้เอง แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้น ถ้าทำได้ธนาคารรู้จักลูกค้าอยู่แล้ว ก็ช่วยพิสูจน์ให้ได้ ผู้ให้บริการใหม่ไม่รู้จักก็รู้จักแล้ว แนวคิดในประเทศอื่นๆ ก็ทำกันแค่นี้ แต่คำถามคือจะออกแบบอย่างไรให้ดี

digital ID platform จะเป็นจุดเชื่อมต่อกลางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยเอกชนร่วมลงเงินกันเพื่อสร้าง digital ID platform ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงาน digital ID foundation โดยวางกรอบการทำงานด้านเทคนิคไว้ว่า จะเริ่มพัฒนาระบบ digital ID platform เดือนมิถุนายน 2561 ส่วนเดือนธันวาคม 2561 เริ่มให้มีการยืนยันตัวตนภาคการเงินและภาครัฐบางส่วน (IdP) และเชื่อมโยงหน่วยงานผู้ให้ข้อมูลอย่างน้อย 10 หน่วยงาน เดือนธันวาคม 2562 จะมีการยืนยันตัวตนเต็มรูปแบบพร้อมเชื่อมโยงฐานข้อมูลเต็มรูปแบบ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

ทั้งนี้การขอคำยินยอมให้เอาข้อมูลให้คนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่งก็เหมือนกัน เช่น อาจจะเป็นเครดิตบูโร สมมติว่า ผู้ขอใช้บริการจะไปสมัครขอเงินกู้จากผู้ให้บริการซึ่งต้องการเอาข้อมูลจากเครดิตบูโร แต่ทั้งคู่ไม่รู้จักกัน เครดิตบูโรก็ไม่รู้จักผู้ให้บริการ แต่มีธนาคารรู้จักผู้ขอใช้บริการที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว จากการใช้ mobile banking ประจำ ผู้ขอใช้บริการไปสมัครขอใช้บริการกู้เงิน ผู้ให้บริการก็ไปขอให้ธนาคารพิสูจน์ตัวตนให้ ก็ใช้วิธีพิสูจน์ใส่ username และ password แต่ในคำขอเพิ่มขึ้นมาว่าให้เอาข้อมูลมาให้ด้วย พอพิสูจน์ให้เสร็จแล้วธนาคารก็ลงชื่อว่าตรวจแล้ว ลูกค้าขอมาและยินยอมให้เครดิตบูโรส่งข้อมูลจริงๆ ผู้ให้บริการก็ขอข้อมูลไปทางเครดิตบูโร เครดิตบูโรก็ตรวจสอบเห็นว่าคนนี้พิสูจน์ตัวตนแล้วก็ให้ข้อมูลไปได้

นอกจากนี้การพิสูจน์ตัวตนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ username กับ password ยังมีการอ่านลายนิ้วมือ อ่านหน้า มีเทคโนโลยีมากมาย ต่อไปโทรศัพท์มือถืออาจจะตรวจ DNA ก็ได้ ฉะนั้น วิธีการคือ จากตัวอย่างข้างบนใช้ username กับ password ตรวจสอบตัวตน หากไม่ใช่เว็บไซต์ แต่เป็นแอปพลิเคชันอย่าง mobile banking ซึ่งเวลาสมัครอะไรก็ขึ้นมาบนโทรศัพท์มือถือ ก็รู้ว่าใช่คือคนนี้ มีหลายวิธี คนที่จะมาช่วยพิสูจน์ก็เป็นไปได้หลายคนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้ดี วิธีพิสูจน์ตัวตนจะทำได้หลากหลาย แล้วเทคโนโลยีเคลื่อนที่ไปก็ไม่เป็นไร วันหนึ่งเราอาจจะเอามือถือขึ้นมาส่องหน้าก็ไม่เป็นไร ก็ยังไปได้กับโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมคือให้คนอื่นช่วยยืนยันที่ยกตัวอย่างได้ ทำได้ทุกอย่าง

ภาครัฐต้องกำหนดมาตรฐาน เช่น กำหนดว่าถ้าทำ username กับ password จะต้องมีความยาวอย่างน้อยเท่าไร ถ้าใช้วิธีอ่านหน้าต้องทำแบบไหน ซึ่งมาตรฐานนี้ใครทำก็ได้ นอกจากนั้นการออกแบบต้องรองรับทั้งระบบดิจิทัลและที่ไม่ใช่ดิจิทัลด้วย เนื่องจากยังมีคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่เริ่มใช้บริการดิจิทัล ความพร้อมของทุกคนไม่เท่ากัน ดังนั้นก็ต้องทำให้ระบบไขว้กันระหว่างดิจิทัลและไม่ดิจิทัล เช่น ไปใช้บริการบางอย่างแต่ไม่มีวิธีพิสูจน์ตัวตน ก็ไปหาจากที่ที่พิสูจน์ตัวตนที่ใกล้ที่สุดมาแสดง หรือเห็นหน้าตรวจสอบตัวตนได้

“จะเห็นว่าถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานนี้(digital ID)ตั้งแต่หลายปีมาแล้ว ตอนที่เราไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เราไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคาร ตอนนี้ที่ต้องไปเพราะว่าต้องไปแสดงตัวอยู่ แต่ถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานนี้ digital ID ผู้มีรายได้น้อยก็ไปลงทะเบียนจากที่ไหนก็ได้แล้วใช้วิธีพิสูจน์ตัวตน คนไหนมีธนาคารก็ใช้ธนาคาร คนไหนไม่มีก็ไปจุดที่ทำได้ใกล้ที่สุด ไปอำเภอก็ได้ หรือแม้แต่ฟินเทค สมมติอันหนึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ คนยังไม่รู้ตัวตนก็ไปที่ใกล้ที่สุดที่มีเครื่องอ่านบัตรประชาชนก็สามารถอ่านและยืนยันกลับมาที่ผู้ให้บริการได้ โดยที่บริษัทไม่ต้องมีสาขาทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เรื่องต่างๆ พัฒนาได้ง่ายกว่ากันเยอะเลย จริงๆ เราวางไว้ตอนเริ่ม National e-Payment จะให้มีเครื่องอ่านบัตร เครื่อง EDC กระจายทั่วประเทศ เพื่อไว้รองรับงาน digital ID ด้วย”

ความปลอดภัยของการพิสูจน์ตัวตน

ดร.อนุชิตกล่าวถึงความปลอดภัยของการพิสูจน์ตัวตนว่า เป็นระบบที่ดี เพราะยืนยันได้จากหลายแหล่ง การใช้แหล่งพิสูจน์ตัวตนเพียงแห่งเดียว หากระบบเกิดมีปัญหาก็ไม่สามารถทำธุรกรรมหรือทำงานอะไรได้เลย แต่หากระบบนี้มีแหล่งยืนยันตรงกันหลายแหล่ง เช่น อาจจะมี 3 ที่ ก็ต้องถือว่าเป็นตัวตนจริง เพราะคงไม่มีใครเจาะระบบได้ทั้ง 3 ที่ เช่น นาย ก. สมัครใช้บริการของรัฐ แล้วล็อกอินจากธนาคาร 2 ธนาคาร แล้วธนาคารยืนยันว่าเป็น นาย ก. ก็มีความแน่นอนมากกว่า 1 ธนาคารยืนยัน นอกจากนี้อาจจะพัฒนาลึกไปอีก โดยมีแนวคิดว่าจะพัฒนาเป็น universal ID ไปอีก 1 ชั้น เช่น ถ้าเป็น นาย ก. จะต้องยืนยันจากธนาคาร A และ ธนาคาร B ร่วมกันเท่านั้น ถ้าเป็นการยืนยันตัวตนจากที่อื่นก็นับว่าไม่ใช่ นาย ก. แบบนี้ก็ทำได้ เพิ่มความเข้มงวดอีก 1 ระดับ ไม่ใช่ใครก็มายืนยันตัวได้ ถ้าเกิดมีใครพยายามจะยืนยันว่าจะเป็น นาย ก. จากแหล่งอื่น 2 เจ้าหนี้ก็จะเตือนว่ามีคนพยายามปลอมตัวเป็น นาย ก.

ดังนั้นไม่ใช่ ID เดียว เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เราเรียกว่า platform แล้ว ID มีหลายแบบ เหมือนเวลาเราออกแบบระบบชำระเงิน ถึงเรียกว่า any ID คู่กันกับโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ ID ได้หลายๆ แบบที่ยืนยันตัวตน เปรียบเหมือนกับเวลาใช้บริการธนาคารยังใช้ได้หลายธนาคาร ไม่ว่าจะล็อกอินด้วยวิธีไหน ทั้ง username กับ password หรืออะไรก็ได้ แต่ยืนยันว่าเป็นคนนั้นจริงจากหลายๆ แหล่งได้ แหล่งที่หนึ่งยืนยัน แหล่งที่สองยืนยัน แหล่งหนึ่งยืนยันผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกแหล่งก็ยืนยันอีกแบบ แต่มาจากหลายแหล่งด้วย

“เราไม่จำเป็นต้องมีระบบเดียวสำหรับทุกคน ไม่ใช่ว่ามีอะไรใหม่ไม่รู้แต่ทุกคนต้องใช้ ใครจะใช้วิธีไหนก็เอาที่สบายใจ แต่ระบบนี้รองรับอยู่ เวลาออกแบบเราถึงบอกว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน คือไม่ได้ยึดกับใครคนใดคนหนึ่ง คนไหนบริการดีคนก็ไปใช้อันนั้น เทคโนโลยีเคลื่อนที่ออกแบบให้เป็นแบบนั้น ก็เกิดการแข่งขันเสรี ตลาดเปิด ใครอยากจะให้บริการก็ให้ ไม่ได้ผูกขาด แล้วข้อสำคัญก็ไม่มีที่ไหนที่หนึ่งเก็บข้อมูลทุกอย่างของคนเดียวกันด้วย โครงสร้างพื้นฐานจะไม่มีข้อมูลเลย เป็นแค่ที่รับคำร้องและพิสูจน์คำร้อง ข้อมูลจริงจะยังอยู่ตามหน่วยงานแต่ละที่ พอเขาอนุญาตก็ไปดึงมาจากแต่ละที่ได้ จะไม่มีถังใหญ่ๆ เก็บข้อมูลของทุกคน ไม่แตกต่างจากปัจจุบัน”

Location & Logistic

ดร.อนุชิตกล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เช่น logistic ยกตัวอย่างของจริง รหัสตำบลของไปรษณีย์กับรหัสของกรมการปกครองไม่ตรงกัน แต่ไม่มีใครรู้ ปกติที่ผ่านมาใช้ตามไปรษณีย์ซึ่งไม่ถูกกฎหมาย เพราะกฎหมายกำหนดให้ใช้ตามกรมการปกครอง เป็นที่อยู่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าส่งของแล้วใส่รหัสตามกรมการปกครองของนั้นส่งไม่ถึงผู้รับ ฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐาน logistic หากไม่ทำ e-commerce ก็เกิดช้า

“อันนี้เป็นตัวอย่างแบบง่าย ยังไม่รวมถึงเรื่องอื่นๆ สิงคโปร์บอกว่าอีกไม่กี่ปีจะเป็นแท็กซี่แบบไม่มีคนขับ แต่ไทยทุกวันนี้ใช้คนขับใช้แผนที่ GPS ยังพาขึ้นทางเท้าเลย แล้วแบบนี้หุ่นยนต์จะขับได้หรือไม่ แล้วเห็นภาพความไม่พร้อมของไทยว่าไม่พร้อมขนาดไหน เราไม่ได้ทำพวกนี้ให้พร้อม ถึงเวลามีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขับเองมาใส่ลงไปเจอแผนที่แบบไทยตายแน่นอน ไม่ได้วางแผนออกแบบเมืองไว้สำหรับให้หุ่นยนต์อยู่ในเมืองได้ ไม่มีภาพเป็นนัยให้จดจำได้ ถึงบอกว่าพวกนี้เป็นพื้นฐานมาก”

ขณะที่ logistic จะกว้างออกไปคือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรถึงของทุกอย่างจะไปได้ ยกตัวอย่าง การตัดถนน แต่ไม่ได้คิดว่าตัดเสร็จแล้วจะส่งของอย่างไร มีโครงการสร้างถนน แต่ไม่ได้คิดว่าถนนใช้ส่งของด้วย ทำแต่ถนน เพราะมีหน้าที่ทำแค่ถนน

ระบบ Data ต้องพร้อม

ดร.อนุชิตกล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานประการที่ 5 คือข้อมูล ซึ่งประเทศไทยยังขาดข้อมูลลักษณะของฐานข้อมูลบูโรหรือ data bureau มีเพียงข้อมูลเครดิตของเครดิตบูโร ขณะที่สิงคโปร์มีข้อมูลที่ครบถ้วน เช่น เข้าระบบกดเรียกข้อมูลเด็กนักเรียนคนหนึ่งขึ้นมาก็จะมีประวัติการศึกษาตั้งแต่เด็ก เรียนอะไรเกรดเท่าไร นิสัยใจคอ ประวัติมีอะไร เมื่อสิงคโปร์มีข้อมูลแบบนั้นสามารถจัดโรงเรียน จัดเด็ก วางแผนแรงงาน เด็กต้องเรียนวิทยาศาสตร์กี่คน ต้องใช้อะไรเท่าไรอย่างไร เพราะมีข้อมูล แต่ประเทศไทยไม่มีข้อมูล ข้อมูลการศึกษาไม่มี ไม่มีข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีการถ่ายสำเนาใบเกรดอยู่เลย แล้วก็โกงเปลี่ยนข้อมูลได้

นอกจากนี้ข้อมูลการแพทย์ไม่มี ไม่ว่าจะพูดถึงอะไร ด้านไหนก็ไม่มีข้อมูลสักอย่าง และไม่เป็นระบบด้วย ไม่ได้จัดให้เป็นข้อมูลที่ใช้งานได้สักอย่างหนึ่ง รวมทั้งไม่ได้แบ่งปัน ใช้งานไม่ได้แม้จะเอามาใช้ในการวางนโยบาย

สังเกตเวลารัฐบาลทำนโยบายทุกอย่างไม่มีข้อมูล เช่น นโยบายด้านการเกษตรที่จะทำเกษตร 4.0 จำนวนเกษตรกร จำนวนแปลงที่ทำกิน ข้อมูลแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ ไม่มีข้อมูล จึงทำอะไรไม่ได้ อย่างมากก็ทำท่อเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ซึ่งอิสราเอลทำมา 30 ปีแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นจะเห็นว่า แปลงนาญี่ปุ่นจะเป็นรูปร่างเรขาคณิต สามารถใส่ระบบ automate เข้าไปได้ แต่ของไทยรูปร่างนาไทยไม่เป็นทรงไม่เป็นสี่เหลี่ยม ใส่ระบบไม่ได้ ใส่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ ต้องมองเห็นพื้นฐานก่อนไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เอาอะไรใส่ลงไปได้

ข้อมูลที่เรามีมากที่สุด คือ ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนา National e-Payment ก่อนหน้านั้นรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ไม่มีข้อมูลเลยว่าใครยากจน ยากจนแค่ไหน อยู่ตรงไหน แต่ข้อมูลคนยากจนที่เก็บได้นี้ยังไม่ถูกต้อง 100% แต่ดีกว่าไม่มีอะไรเลยเทียบกับก่อนหน้าที่เป็นข้อมูลมั่ว ตอนนี้เริ่มมีข้อมูลแล้วว่าใช้ซื้ออะไร กลุ่มไหนอะไรเท่าไร หนี้นอกระบบเท่าไร ดีกว่าไม่มีข้อมูล

“ยุทธศาสตร์ประเทศจริงๆ ต้องวางเรื่องพวกนี้ แต่ผมไม่เห็นเลยในกรรมการชุดไหนเลยสักเรื่องเดียว แล้วสมัยก่อนหลายปีแล้วกระทรวงไอซีทีเชิญเราไปดูเรื่องแผนไอซีทีชาติให้ไปวิจารณ์แผน หันไปข้างๆ ศาตราจารย์ดอกเตอร์อายุ 78 หันไปอีกทางศาตราจารย์ดอกเตอร์อายุ 70 กวาดตาทั้งห้องเราอายุน้อยที่สุด คนอื่นอายุต่ำที่สุด 65 ปี สงสัยว่าเขาจะวางอนาคตชาติที่เขาไม่ได้อยู่ใช้ได้อย่างไร ผมเองยังรู้สึกว่าแก่เลย บางคนยังไม่ใช้อีเมลเลยแต่เชิญมาวางยุทธศาสตร์ไอซีทีชาติ จึงได้แผนแบบนามธรรม ทั้งๆ ที่เราต้องมีระบบที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่เขาก็เลิกเชิญผมมาตั้งแต่นั้น มาพูดแล้วไม่เข้าหู แต่เขาก็นั่งมีความสุขคุยกัน อนาคตจะไปถึงตรงไหนไม่มีใครวาง วางมาก็ไม่ได้อยู่ดู เป็นปัญหาชาติหรือไม่”

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล

Network Security ไทยเสียเอกราชไปนานแล้ว

ดร.อนุชิตกล่าวว่า “เรื่องสุดท้าย คือ network security แบ่งเป็น network กับ security อันแรกก็ยังขยายเครือข่ายอะไรต่ออะไร จริงๆ ก็วางไม่ถูก เพราะผมคิดว่าไม่ได้วางสำหรับการบริหารจัดการเพียงแต่ขยายๆ ไป พอมีปัญหาจะต้องป้องกันประเทศ ทำอะไรไม่ได้ เราเสียเอกราชไปนานแล้ว ตัวอย่างเช่น เกมโปเกม่อนที่ปล่อยในทำเนียบ นายกรัฐมนตรียังขอว่าไม่ให้มาปล่อย แต่เราเสียเอกราชไปนานแล้ว หมายความว่าเราไม่มีอธิปไตยบนไซเบอร์เลย แต่ถ้าวางถูกต้องสามารถบล็อกได้หมดเลย ถ้าวางจริงๆ วางดีจริงๆ กดไปถูกบล็อกทิ้งหมด ไม่มีทางเราป้องกันได้หมด หรือตอนนี้ธนาคารเจออีเมลล่อลวงเอาข้อมูลก็บอกต่างประเทศให้ช่วยปิด เราทำอะไรไม่ได้เพราะบ้านเราควบคุมอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ามองเห็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มี ID เราจะรู้ว่าใครใช้งานจากจุดไหนเครื่องไหนอยู่ตรงไหน จัดการได้ ไม่ต้องห่วงการก่อการร้าย ความมั่นคง ประเทศยังมีแผ่นดินยังต้องมีด่าน มีรั้ว แต่โลกไซเบอร์ไม่มี บริหารอะไรไม่ได้เลย

ที่เล่าให้ฟังคือเป็นแบบนี้หลายๆ เรื่องต้องแก้อะไรเยอะแยะไปหมด ท่วมท้นไปหมด เมืองไทยดิจิทัลอีโคโนมีคงสรุปเป็น 2 แบบ อันหนึ่งคือดิจิทัลไร้สาระ ไร้สาระคนไทยเก่ง อินสตราแกรม เฟซบุ๊ก คนไทยรับรองนำโลก แต่ไม่ได้เกิดมรรคเกิดผลในทางที่มีชีวิตดีขึ้น กับอีกข้างหนึ่งคือว่าก็จะรอให้ต่างชาติจีนหรืออะไรเข้ามายึดทุกอย่างและเราก็รอเป็นลูกหาบ เราพร้อมจะเป็นลูกหาบให้ต่างชาติอยู่แล้ว ฝรั่งมาเราก็หาบ ญี่ปุ่นมาเราก็หาบ จีนมาเราก็หาบให้จีน ก็เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ลูกจ้างฝรั่ง ลูกจ้างญี่ปุ่น เป็นแบบนี้แหละ คนไทยพร้อม แค่นี้ แต่เอาเจริญกว่านี้ก็คงยาก แต่ก็ไม่เจ๊ง

“ไทยแลนด์ 4.0 มีอะไรที่จับเป็นรูปธรรม เคยเห็นไหม นอกจากจัดสัมมนา จัดโชว์สินค้า เพราะไม่มีคนลงมือทำ ถ้านิยามจริงๆ ก็คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผมเล่าไป 5 อย่าง จริงๆ มี 6 อย่าง คือ มนุษย์ เด็กไทยคุณภาพยังไม่พอ ยังไม่เห็นว่าทำอะไร เขียนโปรแกรมอะไร คุณภาพแบบนี้ประเทศไปไม่ถึงไหน”