ThaiPublica > เกาะกระแส > สศช. กางสภาพสังคมไทยปี’59 -ว่างงานเพิ่ม-การศึกษารั้งท้ายเวทีโลก-เยาวชนดื่มสุรามากขึ้น

สศช. กางสภาพสังคมไทยปี’59 -ว่างงานเพิ่ม-การศึกษารั้งท้ายเวทีโลก-เยาวชนดื่มสุรามากขึ้น

8 มีนาคม 2017


รายงานโดย ศาสตรกวิน ลภัสรดาเศรษฐ์ นักศึกษาฝึกงาน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2559 โดยนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้แถลงถึงความเคลื่อนไหวทั้งในส่วนที่มีแนวโน้มดีขึ้น และประเด็นที่ต้องติดตามเฝ้าระวังดังนี้

คนว่างงานเพิ่มขึ้น 360,000 คน

ในไตรมาสสี่ปี 2559 มีการจ้างงาน 37,429,716 คน ลดลง 2.5% จากไตรมาสสี่ปี 2558 โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 6.0% เนื่องจากความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกจากอุทกภัยและเกษตรกรต้องเลื่อนการเพราะปลูกออกไป ภาคนอกเกษตรมีการจ้างงานลดลง 0.7% โดยในสาขาการผลิตและการขนส่งลดลง 4.4% และ 3.1% ส่วนสาขาก่อสร้าง การค้าส่ง/ค้าปลีก และการโรงแรม ภัตตาคารเพิ่มขึ้น 0.2% 1.9% และ 0.1% ตามลำดับ

ส่วนอัตราการว่างงานจาก 0.8% ในไตรมาสสี่ปี 2558 เป็น 0.97% มีผู้ว่างงาน 366,331 คน มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 48.9 ชั่วโมง/สัปดาห์ จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ 47.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนด้านค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้น 1.5% ส่งผลให้ตลอดปี 2559 มีผู้มีงานทำ 37,692,651 คน ลดลงจากปี 2558 0.9%

ส่วนประเด็นที่คาดว่าจะมีผลต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในปี 2560 ได้แก่

1. การจ้างงานภาคเกษตร แม้ว่าในปี 2560 สภาพอากาศได้คลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2559 ถึงมกราคม 2560 ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนและเกษตรกรโดยมีพืชมากกว่า 1,095,302 ไร่ ด้านประมง 96,114 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์ 8,882,014 ตัว ซึ่งต้องช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูที่ทำกินของเกษตรกรต่อไป ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งประเทศที่เป็นน้ำต้นทุนใช้ในฤดูแล้งปี 2560 มีปริมาณปกติเทียบเท่ากับปี 2556 แต่ในบางเขื่อนยังมีน้ำน้อยกว่าปีปกติ เช่น เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง การจัดสรรน้ำ และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

2. การว่างงาน แม้อัตราการว่างงานต่ำ ปี 2559 เท่ากับ 1.0% แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556–2558 จาก 0.8% 0.9% และ 0.9% ตามลำดับ และในเดือนมกราคม 2560 อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.2% ประกอบกับการคาดการณ์ผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2560 ประมาณ 5.5 แสนคน และประมาณ 61% เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2560 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3-4% คาดว่าจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน และสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

3. การปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการแรงงานทั้งคุณสมบัติและผลตอบแทนของแรงงาน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็นกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ “Productive Manpower” ผ่านการสร้างระบบและรากฐานการดำเนินงานด้านแรงงานที่มีความยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากลเพื่อสอดรับกับการนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0

หนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น

ในไตรมาสสี่ปี 2559 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,335,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.1% ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จาก 11.5% เป็น 6.6% ในปี 2557 5.2% ในปี 2558 4.7% ในไตรมาสแรกปี 2559 และ 4.3% ในไตรมาสสองปี 2559 โดยคิดเป็นสัดส่วน 81% ต่อ GDP และชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจนไตรมาสสี่ปี 2559 สะท้อนให้เห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงเหลือ 4.9% โดยเป็นการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งขยายตัวชะลอลงจาก 7.7% และ 1.9% ในไตรมาสสามปี 2559 เป็น 7.0% และ 1.3% ในไตรมาสนี้

ส่วนด้านความสามารถในการชำระหนี้นั้น เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมพบว่าลดลงจากไตรมาสที่แล้ว 2.73% เป็น 2.71% ในไตรมาสนี้ และลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือนแต่ไม่ถึง 3 เดือนลดลงจาก 3.26% จากไตรมาสที่แล้วเหลือ 3.19% ในไตรมาสนี้ ขณะที่การผิดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 10,602 ล้านบาท ลดลง 36.9% คิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 10,383 ล้านบาท ลดลง 0.7% คิดเป็นสัดส่วน 2.9% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

“ส่วนของหนี้ครัวเรือนนั้นเริ่มทรงตัวและลดลง ดูจากสินเชื่อและการสร้างหนี้ของครัวเรือนก็ไม่ได้สูงมากเหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน และหากเศรษฐกิจหรือรายได้ฟื้นตัวในส่วนของหนี้ก็จะลดลง ในไตรมาสที่ 4 ก็มีสัญญาณที่เริ่มลดลง และหากในปีนี้เป็นปีที่รายได้เพิ่มขึ้นไปอีก ก็จะช่วยให้หนี้สินครัวเรือนลดลง หลายส่วนที่มีหนี้เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วในเรื่องของรถยนต์ ก็จะอยู่ในจุดที่เริ่มผ่อนกันมาถึงจุดที่จะเริ่มลดภาระหรือว่าเริ่มหมดหนี้ในส่วนของหนี้ครัวเรือนไปได้ และในส่วนของหนี้ใหม่ที่ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในระยะหลัง ก็น่าจะเป็นแนวโน้มให้หนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง” นายปรเมธีกล่าว

การศึกษาไทยรั้งท้ายเวทีโลก เร่งยกระดับและพัฒนาคน

แม้ประเทศไทยจะลงทุนด้านการศึกษามากกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายรวม หรือกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี และมีสัดส่วนงบประมาณการศึกษาต่องบประมาณรวมสูงที่สุดในอาเซียน แต่เมื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากผลการสอบ ONET ในปี 2554-2558 คะแนนเฉลี่ยในวิชาหลักยังคงไม่ถึง 50% แม้โดยเฉลี่ยผลคะแนนในปี 2558 จะสูงขึ้นกว่าปี 2557 และภาษาอังกฤษได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดในทุกระดับการศึกษา

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศจากผลการประเมิน PISA และ TIMSS พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ของเวทีโลก รัฐจึงได้เตรียมแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เชิงบูรณาการแบบ STEMS และที่ได้กำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ว่าจะเร่งพัฒนาคะแนนการประเมิน PISA ของประเทศไทยทุกด้านให้เพิ่มขึ้นประมาณ 100 คะแนน

ปี’60 คาดไข้หวัดใหญ่เพิ่ม 2 เท่า

ไตรมาสสี่ปี 2559 มีผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังรวม 144,094 ราย ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 3.8% แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงถึง 70.5% เนื่องจากมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ โดยภาพรวมทั้งปี 2559 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2558 15.8% โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากถึง 169,362 ราย เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เนื่องจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ว่าในปี 2560 โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดสูง จะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกหลายสายพันธุ์ในทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ได้เริ่มระบาดในภูมิภาคยุโรปและเอเชียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยพบเชื้อไข้หวัดนกทั้งหมด 11 สายพันธุ์ที่สามารถติดต่อในคนได้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาแบบเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง สำหรับในปี 2560 ยังคงต้องดำเนินการแบบเข้มข้นต่อเนื่องทั้งการป้องกัน เฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ

ส่วนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยังเป็นปัญหาสำคัญและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2558 ผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2557 โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดเพิ่มขึ้นมากที่สุด 23.9% โรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 23.1% โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 20.8% โรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 19.6% และโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 10.9% ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง

เยาวชน 15-24 ปี ดื่มสุราเกือบ 30%

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 38,415 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 10.8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 13,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 6.5% อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยยังมีแนวโน้มดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 30% หรือ 15.36 ล้านคนในปี 2550 เป็น 34% หรือ 18.64 ล้านคนในปี 2558 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจาก 22.2% ในปี 2550 เป็น 29.5% ในปี 2558 และเมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ที่ดื่มเป็นประจำซึ่งดื่มตั้งแต่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไปพบมีสัดส่วนสูงถึง 39.9% โดยเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี 12%

ความรุนแรงในเด็กและสตรีส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด

จากข้อมูลสถิติเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2550-2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 207,891 ราย เป็นเด็ก 105,622 ราย และสตรี 102,269 ราย ในปี 2559 มีผู้มารับบริการ 20,018 ราย โดยในเด็กมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของครอบครัว ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม จนเป็นเหตุให้เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จักไว้วางใจและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น แฟน รองลงมาคือเพื่อน สำหรับในกลุ่มสตรีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสัมพันธภาพในครอบครัว การนอกใจ การหึงหวง การทะเลาะวิวาท ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุด รองลงมาคือแฟน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่ากังวลคือ จากผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่มผู้ชายอายุ 20-35 ปี จำนวน 1,617 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่เคยพูดตะคอกเสียงดังต่อภรรยาและคนรัก และมักใช้คำหยาบคายเมื่อโมโห ชอบระบายอารมณ์โดยการทำลายข้าวของในบ้าน ออกไปดื่มเหล้านอกบ้าน และกลุ่มตัวอย่าง 44.8% เมื่อดื่มเหล้าจนเมาแล้วจะทำร้ายภรรยาหรือแฟน 42.4% บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ทั้งนี้ 12.9% เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่เข้าไปห้ามเมื่อพบเห็นการทำร้ายร่างกายและการใช้ความรุนแรง ที่สำคัญมีถึง 14% ระบุว่าการที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงเป็นเพราะหึงหวง ต้องการแสดงออกว่ารัก รวมถึงระบุว่าหากมีโอกาสแล้วไม่ล่วงเกินผู้หญิงถือว่าไม่ฉลาด

คดีอาญาปี’59 ลด สัดส่วนคดียาเสพติดยังสูง 84%

ปี 2559 คดีอาญารวมมีการรับแจ้งมีทั้งหมด 330,457 คดี โดยรวมลดลงจากปี 2558 6.3% คดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดียาเสพติดลดลง 18.9% 18.2% และ 3.1% ตามลำดับ ขณะที่โดยรวมแล้วในไตรมาสสี่ปี 2559 คดีอาญารวมมีการรับแจ้ง 88,501 คดี เพิ่มขึ้น 6.2% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 14.8% และยังคงสัดส่วนมากที่สุดที่ 84.2% ของคดีอาญารวม ขณะที่คดีต่อชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลง 34.4% และ 18.7% ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น

อุบัติหตุเพิ่ม จักรยานยนต์เสี่ยงสูงสุดกว่า 80%

ไตรมาสสี่ปี 2559 อุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2558 21.6% และ 29.3% แต่มูลค่าความเสียหายลดลง 72.7% ทั้งปี 2559 เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20.7% และ 31.5% โดยรถที่เกิดอุบัติเหตสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 11.9% รองมาเป็นรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 8.5% รถโดยสารสาธารณะลดลง 11.6% รถตู้โดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 11.2% ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ เพิ่มขึ้น 16% 25.8% และ 17.8% จากช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา 36.6% ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 31.3% โดยผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตสูง เกิดอุบัติเหตุ 81.8%

แรงงาน 18 ล้านคน ไม่มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ

ประชาชนมีการออมเพื่อเกษียณอายุเพิ่มขึ้น ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในปี 2559 มีจำนวน 14.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% จากปี 2558 เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 2.24 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีจำนวน 524,317 คน เพิ่มขึ้น 31.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ค้าขาย และไม่ประกอบอาชีพ อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30-50 ปี และกลุ่มแรงงานอายุ 15-30 ปีมีสัดส่วนน้อยเพียง 5.3% ขณะผู้อายุสูงกว่า 60 ปีมีสัดส่วนถึง 15.5%

“ความมั่นคงในชีวิตเรื่องของการออมเพื่อเกษียณอายุ นับเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต ผู้ที่เข้ามาสู่กลไกสนับสนุนเรื่องการออมเรื่องของการเกษียณอายุมีเพิ่มขึ้น และต้องพยายามเร่งผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานให้สัมพันธ์กับการสะสมการออมในอนาคตให้เพิ่มขึ้น ส่วนนี้ต้องไปดูในส่วนของการดึงดูดของกองทุน ว่าทัศนคติ พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาเป็นแรงงาน ว่าอาจจะยังไม่ได้ให้ความสนใจของสวัสดิการในอนาคตมากพอ คงจะต้องเร่งทั้งจำนวนและเรื่องของกลุ่มคนที่จะเข้ามาสู่เรื่องของการออมเพื่อเกษียณอายุมากขึ้น” นายปรเมธีกล่าว

ปี’59 ร้องเรียนขายตรงและโฆษณาออนไลน์พุ่ง

การรับร้องเรียนของ สคบ. และ กสทช. ลดลง 5.5% และ 9.6% จากไตรมาสก่อน ซึ่งตลอดปี 2559 การร้องเรียนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.1% โดยการขายตรงและตลาดแบบตรง และการโฆษณามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากตามการค้าขายและโฆษณาผ่านทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ธุรกิจขายให้ผู้บริโภค (B2C) ในปี 2559 จะมีมูลค่า 729,292.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 43% และมีการร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น 52.9% จากปี 2558

การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยและค่าขนส่งที่มีราคาแพง จึงต้องเร่งให้ความรู้ ออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวก

“ในอนาคตคาดว่าจะมีประเด็นของผู้บริโภคในสังคม 4.0 ในเรื่องของบริการออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น ก็ต้องมีกฎระเบียบที่จะดูแลในเรื่องของความปลอดภัย ดูแลข้อมูลส่วนบุคคล และการให้ความมั่นใจในคุณภาพการบริการ ซึ่งจะช่วยเรื่องของความมั่นคงในสังคมและการเจริญเติบโตทางธุรกิจในยุค 4.0 จะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต” นายปรเมธีกล่าว

คาดปี 59 ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น

ด้านสถานการณ์การจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 384,233 ตันหรือ 2.3% และจากการรวบรวมข้อมูลสถิติขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ในปี 2558 มีซากทีวี 2.69 ล้านเครื่อง เพิ่มเป็น 2.79 ล้านเครื่องในปี 2559 มีโทรศัพท์มือถือ 10.34 ล้านเครื่องในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 10.91 ล้านเครื่องในปี 2559 ขณะที่ซากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลพบว่า ในปี 2558 มี 2.42 ล้านเครื่อง เพิ่มเป็น 2.63 ล้านเครื่องในปี 2559

ปัจจุบันการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะถูกจัดการโดยกลุ่มรับซื้อของเก่าและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีแหล่งชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบ 100 แห่ง รัฐบาลได้มีการบริหารจัดการของเสียอันตรายในปี 2560

    1. การจัดการขยะอันตรายชุมชน โดยมีสถานที่สำหรับรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนของจังหวัด จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำการขนส่งไปกำจัดโดยบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาต
    2. มีแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 โดยของเสียอันตรายชุมชนได้รับการรวบรวมและส่งไปกำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการไม่น้อยกว่า 30% และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการคัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชนที่ต้นทางได้ไม่น้อยกว่า 50%
    และ 3. มีแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” พ.ศ. 2559–2560 ได้กำหนดให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ มีการจัดตัง้ “จุดรวมขยะอันตราย” อย่างน้อยหมู่บ้าน/ชุมชนละ 1 แห่ง

รวมทั้งการผลักดันกฎหมายและยุทธศาสตร์ 2 ฉบับ คือ 1. ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ พ.ศ. 2557-2564 และ 2. (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่