ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกแจงไม่ตรวจ ภาษีหุ้นชินฯ ผิด ม.157 – ปฏิเสธใช้ ม.44 ปราบอูเบอร์ – มติ ครม. ผ่านภาษีที่ดิน เริ่ม ปี 62 – ชงปล่อยรกร้างเก็บ 2%

นายกแจงไม่ตรวจ ภาษีหุ้นชินฯ ผิด ม.157 – ปฏิเสธใช้ ม.44 ปราบอูเบอร์ – มติ ครม. ผ่านภาษีที่ดิน เริ่ม ปี 62 – ชงปล่อยรกร้างเก็บ 2%

21 มีนาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งในช่วงเวลา 16.30 น. มีพิธีต้อนรับนายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการหารือกันทั้งเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจการค้า การลงทุน รวมไปถึงจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) อีก 3 ฉบับ เป็นการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศและในอาเซียนให้มากขึ้น

ยก ภาษีหุ้นชินฯ เทียบจำนำข้าว แจงไม่ตรวจ ผิด ม.157

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ระบุการขยายเวลาการออกหมายเรียกไม่สามารถทำได้ จะส่งผลต่อการเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน ส่วนจะถูกต้องและสามารถทำได้หรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามกระบวนยุติธรรม

“ส่วนตัวผมให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่ขอให้นึกถึงการปฏิบัติของรัฐบาลด้วย ซึ่งบางอย่างไม่ชัดเจน ยังคลุมเครือ รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงเป็นความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต โดยรัฐบาลระมัดระวังอย่างเต็มที่ เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ในคดีรับจำนำข้าว รัฐบาลจำเป็นต้องทำ หากไม่ทำก็ผิดมาตรา 157  ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ป.ป.ช. ทำตามหน้าที่ ตรวจทรัพย์สินอดีตนักการเมือง – ยันไม่รังแกใคร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการตรวจสอบภาษีนักการเมืองในอดีตและปัจจุบันที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ว่า เป็นการตรวจสอบปกติที่ทำทุกรัฐบาล รัฐบาลนี้ก็ถูกตรวจสอบเช่นกันตามระเบียบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินก่อนเข้ามาทำหน้าที่ และหากพ้นจากตำแหน่งก็ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินอีก 2 ปี ซึ่งหลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้วภายใน 5 ปี ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะเรียกตรวจสอบอยู่หากพบความผิดปกติ เช่น เรื่องการเสียภาษี

“การถูกตรวจสอบหลังพ้นตำแหน่งในระยะเวลา 5 ปีไม่ใช่ทุกคนที่ถูกตรวจสอบ แต่จะตรวจสอบผู้ที่มีรายได้ไม่ปกติ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขออย่ากล่าวหาว่าจะเป็นการรังแกใครหรือเหมารวมใครทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยินดีให้ สตง. ตรวจสอบ จัดซื้อ “เรือดำน้ำ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีน หลังพบความผิดปกติของการจัดซื้อเรือดำน้ำจาก 2 ลำ เพิ่มเป็น 3 ลำ ว่า เรือดำน้ำลำที่เพิ่มมาเป็นผลจากข้อตกลงซื้อ 2 ลำได้ 3 ลำ ขอให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการที่จะต้องมี และถ้าต้องมีจะซื้อจากไหน เพราะเราผลิตเองไม่ได้ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของแพงๆ แต่ตัวเลือกนี้คุณสมบัติอย่างต่ำเราจะรับได้และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งมีหลายอย่าง และในวันนี้กองทัพไทยซื้อของแบบนี้ เพราะเงินเรามีน้อย

“กรณีนี้รู้สึกว่าราคาถูกที่สุด คุณภาพใช้ได้ มีการบริการต่างๆ ทั้งระบบอาวุธ ระบบการซ่อม โรงเก็บเรือ และเป็นโครงการรัฐต่อรัฐ ผมได้สอบถาม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ท่านยินดีให้ สตง. เข้ามาตรวจสอบ ที่ผ่านมา สตง. ก็ตรวจสอบมาตลอด เรื่องการซื้ออาวุธของกองทัพ สมัยผมเป็น ผบ.ทบ. เขาก็เข้าไปตรวจสอบ มีข้อสังเกตให้ทางกองทัพก็รับข้อสังเกตมาพร้อมชี้แจงตามข้อเท็จจริง เมื่อรับได้เขาก็ให้หน่วยงานดำเนินการต่อ ไม่ใช่เป็นรัฐบาลนี้แล้วไม่ตรวจสอบ เขาตรวจสอบทุกโครงการ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ต่อคำถามเรื่องการใช้งบประมาณในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบริษัทที่รับงานเป็นบริษัทล้มละลายแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ผมได้เน้นย้ำ และสั่งการให้กรมบัญชีกลางเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ว่าเป็นบริษัทที่ล้มละลายแล้วมาจดทะเบียนใหม่หรือไม่ ต่อไปต้องมีมาตรการทำอย่างไรไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีที่ยืนเข้าสู่ระบบการประมูลอีก ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ ศูนย์อำนวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตรวจสอบช่องโหว่ทางกฎหมายเพิ่มเติมด้วย”

ปฏิเสธใช้ ม.44 ปราบอูเบอร์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาแท็กซี่อูเบอร์ว่า ตนไม่มีแนวคิดที่จะนำมาตรา 44 มาใช้กับกรณีดังกล่าว แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปหาแนวทางแก้ปัญหา อันดับแรกต้องดูก่อนว่าการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันของอูเบอร์ทำถูกกฎหมายหรือไม่

“หลายคนมีความรู้สึกว่าแท็กซี่เก่าก็ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นการมีแท็กซี่ใหม่น่าจะดีกว่า ถ้าคิดอย่างนี้มันไปไม่ได้หมด เพราะมันต้องมีกฎหมาย หรือใครจะบอกว่าในเมื่อไม่มีกฎหมายจะต้องทำได้ มันจะเกิดผลกระทบกับอะไรบ้าง วันนี้ถ้าเราทำกับฝ่ายถูกกฎหมายแล้วฝ่ายถูกกฎหมายให้ทำได้ด้วย คราวนี้จะตีกันหรือไม่ระหว่างอูเบอร์กับแท็กซี่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า อูเบอร์แท็กซี่เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีของผู้ใช้บริการ แต่ต้องมีกฎหมายรองรับ และต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา ซึ่งกฎหมายการให้บริการการขนรับส่งผู้โดยสารโดยมีค่าตอบแทน มีกฎระเบียบ ข้อบังคับอยู่แล้ว คือกฎหมายที่ควบคุมเรื่องแท็กซี่ มีป้ายเหลือง และป้ายต่างๆ ต้องดำเนินการตามข้อบังคับ ที่ผ่านมามีการตรวจสอบและจับกุมเพราะมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ไม่ได้ทำการล่อซื้อแต่อย่างใด วันนี้อูเบอร์แท็กซี่ยังผิดกฎหมาย ก็ต้องคุ้มครองให้คนที่ขับแท็กซี่ที่ถูกต้องกฎหมายก่อน

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

ผ่านภาษีที่ดิน เริ่ม ปี’62 – ชงปล่อยรกร้างเก็บ 2% เพิ่มทุก 3 ปีชนเพดาน 5%

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตนีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เดิมที่เคยผ่าน ครม. ไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใน 5 ประเด็น ได้แก่

    1) อัตราภาษีที่แบ่งตามลัษณะการใช้ประโยชน์ โดยกรณีที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ก่อประโยชน์จากเดิมให้เก็บไม่เกิน 5% ของมูลค่าประเมินที่ดิน เป็น ไม่เกิน 2% และให้ปรับขึ้น 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5% หากยังคงทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ใช้ประโยชน์

    2) การลดภาษีในกรณีมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสภาพแห่งท้องที่ ให้กระทรวงการคลังตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีได้ไม่เกิน 90% ของมูลค่าภาษีที่ต้องเสีย จากเดิมกำหนดไว้ 75% (มาตรา 51)

    3) จัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมที่ไม่มี

    4) กรณีที่ดินใดมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันออกหลักเกณฑ์เป็นกรณีและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บ จากเดิมที่ให้จัดเก็บตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์โดยตรง

    5) เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลแปลงที่ดินและข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ อปท. เตรียมการจัดเก็บภาษี

“กระบวนการหลังจากนี้คือนำเข้าไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะประกาศใช้ ซึ่งคิดว่าอย่างเร็วคงประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะใช้เวลาเตรียมการตามกฎหมายอีก 1 ปี คือจนถึงปี 2561 ก่อนจะเริ่มต้นนับปีภาษีใหม่ในปีถัดไปคือปี 2562 จะเริ่มเก็บภาษีดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีก็สั่งการให้ออกมาให้เร็วที่สุดเพราะการเก็บภาษีดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน เนื่องจากภาษีที่ดินเป็นการเก็บบนฐานสินทรัพย์และทำให้คนรวยจะถูกเก็บภาษีมากกว่า ต่างจากภาษีหลายอันที่เก็บบนฐานของรายได้มากกว่า” นายณัฐพรกล่าว

ปล่อยกู้ช่วย SMEs 15,000 ล้านบาท เน้นสตาร์ทอัพ – อุตสาหกรรม 4.0

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงินสินเชื่อรวมทั้งโครงการ 15,000 ล้านบาท (รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท) โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ  และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ ครม. มีมติ หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน

“ทั้งนี้ ในช่วงแรกอาจจะปล่อยกู้ไม่ถึง 15 ล้านบาท แต่เมื่อเริ่มมีข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นก็จะค่อยๆ เพิ่มวงเงิน  โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ไม่ได้เป็นลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น และมีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อรายแล้วไม่เกิน 100 ล้านบาท ณ วันที่ยื่นสินเชื่อ เช่น  ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและมีปัญหาสภาพคล่อง ผู้ประกอบการใหม่ (New Startup) หรือที่มีนวัตกรรม ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0  เช่น กลุ่มธุรกิจ S-Curve และ SMEs ที่ส่งออกหรือขายธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย  ปีที่ 1-3 ร้อยละ 3 (โดยรัฐจะชดเชยให้ ธพว. ร้อยละ 2 ต่อปี)   ปีที่ 4-7 ตามที่ ธพว. กำหนด” นายณัฐพรกล่าว

อนึ่ง โครงการนี้จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 15,000 ล้านบาท ช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 3,000 ราย  รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 คน  และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 68,700 ล้านบาท ทั้งนี้ ในอดีต ครม. เคยมีมติเมื่อ 14 มีนาคม, 16 มิถุนายน และ 14 กรกฎาคม 2558 อนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ที่มีวงเงินรวมทั้งโครงการ 15,000 ล้านบาท (อนุมัติสินเชื่อต่อรายไม่เกินรายละ 30 ล้านบาท มีระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 4 ส่วนปีที่ 4-5 เป็นไปตามที่ ธพว. กำหนด โดยรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้กับ ธพว. ในปีที่ 1-3) มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันในวงเงินที่กำหนด และต่อมา ครม. มีมติ 9 กุมภาพันธ์ และ 28 มิถุนายน 2559 ขยายระยะเวลาโครงกรออกไปอีก 2 ครั้ง ซึ่งล่าสุดนี้หมดเขตขยายเวลาไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559  ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีวงเงินโครงการคงเหลืออยู่ 4,532 ล้านบาท

ลงทุน 1,660 ล้านบาท พัฒนานิคมอุตสาหกรรม “สระแก้ว”

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วในกรอบวงเงิน 1,660.26 ล้านบาท แบ่งเป็น งบ กนอ. ร้อยละ 57.84 (960.26 ล้านบาท) และงบประมาณแผ่นดินอีกร้อยละ 42.16 (700 ล้านบาท) สำหรับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ แปรรูปสินค้าเกษตร, โลจิสติกส์, บรรจุภัณฑ์และเครื่องใช้พลาสติก,  ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะหรือเครื่องจักร,  เครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ตั้งโครงการอยู่ที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ห่างจากด่านอรัญประเทศ 9 กิโลเมตร จ.สระแก้ว 54 กิโลเมตร กรุงเทพฯ 255 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 225 กิโลเมตร และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 247 กิโลเมตร

สำหรับที่ดินในโครงการ รวมทั้งสิ้น 660 ไร่ 223 ตารางวา ทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์เป็นเวลา 50 ปี โดยคาดว่าจะขายพื้นที่ได้หมดภายใน 5 ปี แบ่งเป็น

  • พื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม บริการ และพาณิชยกรรม 427 ไร่ 208 ตารางวา
  • ระบบสาธารณูปโภค 163 ไร่ 172 ตารางวา
  • พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 69 ไร่ 241 ตารางวา

ไทยเล็งเป็นเจ้าภาพ “โมโต จีพี” ชิงแชมป์โลก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก ในรายการโมโต จีพี เป็นเวลา 3 ปี (2561-2563) ซึ่งได้อนุมัติกรอบงบประมาณรอไว้แล้ว โดยจะใช้เงินจากรัฐสมทบปีละ 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี (เวิลด์ ซีรีย์) ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการแข่งขันเพื่อชิงแชมป์โลก 18 สนามต่อปี และการจัดเตรียมสนามที่ใช้จัดการแข่งขันของไทยถือว่ามีความพร้อม โดยเฉพาะสนามที่ จ. บุรีรัมย์

“จริงๆ แล้วต้องใช้ค่าใช้จ่ายประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีในการจัดงาน แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมาครั้งนี้ขอเป็นเงินสมทบจากรัฐเพียงปีละ 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการสมทบจากภาคเอกชน” นายณัฐพรกล่าว

นายณัฐพรกล่าวต่อไปว่า หากไทยได้รับเลือกให้จัดการแข่งขันดังกล่าว จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลกจากการถ่ายทอดสดมากกว่า 200 ประเทศ ผ่านสายตาผู้ชมกว่า 600 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง เกิดการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเฉพาะใน จ.บุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง และเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงจะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น