ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เล็งหาทางออกร่วม รัฐ-วัดพระธรรมกาย – มติ ครม. ปรับแนวจัดซื้อจัดจ้างฯ รับ กม.ใหม่ – ลงทะเบียนรับเงินสวัสดิการรัฐรอบใหม่ 3 เม.ย. – 15 พ.ค.นี้

นายกฯ เล็งหาทางออกร่วม รัฐ-วัดพระธรรมกาย – มติ ครม. ปรับแนวจัดซื้อจัดจ้างฯ รับ กม.ใหม่ – ลงทะเบียนรับเงินสวัสดิการรัฐรอบใหม่ 3 เม.ย. – 15 พ.ค.นี้

28 กุมภาพันธ์ 2017


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทีมาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ซึ่งในวันนี้การประชุม คสช. ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง จากที่ปรกติใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยมีการหารือประเด็นความเหมาะสมของการออกคำสั่งตามกฎหมายมาตรา 44

เล็งหาทางออกร่วม รัฐ-วัดพระธรรมกาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามประสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับวัดให้ได้ ซึ่งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ด้านเองวัดก็มีความเชื่อมั่นและความศรัทธา จึงต้องมาหาทางออกร่วมกัน ตนได้มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไปพิจารณาหาทางออกร่วมกับพระสงฆ์ แต่ย้ำว่าต้องยึดกฎหมาย และตนไม่อยากทำให้พระสงฆ์หรือทุกคนเดือดร้อน แต่อยากให้ทุกอย่างสงบเงียบให้เร็วที่สุด เพราะมีผลกระทบในหลายด้าน

“การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งอยู่แล้ว หากใครหลบหนีคดีก็สามารถจับกุม ใช้กำลังเข้าไปจู่โจม หรือต่อสู้ใช้อาวุธ แต่ในกรณีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะมีคนหมู่มากถึง 2,000-5,000 คน มีการใช้กฎหมู่มาสู้กฎหมาย แต่ทุกคนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเร็วๆ โดยวันนี้ต้องหาวิธีการพูดคุยกันให้ได้มากที่สุด ว่าจะลดการใช้มาตรา 44 ได้อย่างไร ซึ่งต้องพึ่งกันทั้งสองฝ่าย ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นโดยไม่ขัดขวาง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า กระแสข่าวที่ว่าตนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และกระแสข่าวการเคลื่อนไหวขององค์กรพุทธศาสนาไม่เป็นความจริง ซึ่งการประชุมดังกล่าวในเกาหลีใต้เป็นเพียงการประชุมพุทธศาสนาโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำ ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังเมียนมา และได้ชี้แจงไปยังสถานทูตของประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งตนหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเรียบร้อยในเร็ววัน

รัฐบาลเตรียมทำหน้าที่กาวใจ กฟผ.-ปชช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า ตนได้สั่งการไปแล้วให้ยุติทั้งหมดแล้วก็ไปทำใหม่ ให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งต้องเข้าใจว่าตรงนี้เป็นการทำตามกฎหมาย เมื่อมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นจะต้องมีการทำ EIA และ EHIA ตามกฎหมายของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ต้องมาทบทวนกันใหม่ โดยรัฐบาลจะเปิดเวทีสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงาน ว่าอะไรดี อะไรปลอดภัย ต้องให้สอดคล้องกันระหว่างการใช้พลังงานจากฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน เพราะไม่ใช่มีผลกระทบเรื่องไฟฟ้าเฉพาะที่ จ.กระบี่เท่านั้น

“ผมได้สั่งการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้วในการดำเนินงานตามขั้นตอน ส่วนรัฐบาลจะมีคณะทำงานลงไปช่วยชี้แจง ไปช่วยในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชน ขอร้องอย่าเพิ่งเปิดประเด็นใหม่ ปัญหาทุกอย่างต้องเคลียร์คัตไปทีละเรื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจงดูงานต่างประเทศยังจำเป็น ตรวจสอบส่วนตรวจสอบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินเผ่นดิน (สตง.) จะดำเนินการตรวจสอบงบประมาณดูงานต่างประเทศขององค์กรอิสระต่างๆ ว่า เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรขององค์กรไหนก็ตาม ซึ่งต้องดูความเหมาะสมด้วย แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย เพราะถ้ามีแล้วเกิดประโยชน์ก็ควรมี ซึ่งตนได้กำชับให้ทำสรุปรายงานกลับมาที่ตนเสมอ เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางนโยบายต่างๆ ส่วนเรื่องการใช้เงินว่าคุ้มหรือไม่ ก็ให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบเอง เนื่องจากมีหลายหลักสูตรและเกิดขึ้นมานานแล้วด้วย ตอนนี้เราต้องมาตีกรอบกันว่าควรจะทำอย่างไร

ส่วนกรณีที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นในห้างหุ้นสามัญเกิน 5% จนอาจส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างถูกต้อง หากมีข้อสงสัยทั้งคู่ก็ยินดีเข้ารับการตรวจสอบ

ยันไม่เลิกประกันสุขภาพฯ-ขอโทษหากทำไม่ถูกใจ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีปัญหาหมอกควันในภาคเหนือว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเป็นผลมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการควบคุมฮอตสปอต ขณะเดียวกัน ในพื้นที่อื่นๆ ก็ยังคงพบปัญหาการเผาวัชพืชเพื่อทำการเกษตร ให้ลดการเผาป่าเป็นการไถกลบ หรือใช้น้ำยาเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ

สำหรับกระแสข่าวยกเลิกงบบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด ตนได้อนุมัติงบประมาณดังกล่าวไปหมดแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะยกเลิกได้ ขอให้ตรองให้ดี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่เคยยอมแพ้ในการทำงาน และขอบคุณแรงใจแรงสนับสนุนของประชาชนส่วนหนึ่ง แต่บางส่วนอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ ผมบังคับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ให้รู้ว่าผมตั้งใจจริงในการที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น และผมก็รู้ว่าอยู่ในฐานะใด ไม่เคยลืมตัวเอง อะไรถูกคือถูก อะไรผิดคือผิด อะไรที่ผมทำไปแล้วอาจจะมีปัญหาผมก็ขอโทษ คนเรามันอยู่ด้วยคำเหล่านี้ ขอโทษ ขอบคุณ”

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ดึงผู้เชี่ยวชาญกลับประเทศ ลดภาษีเหลือ 17% อัตราเดียว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงที่ทำงานอยู่ภายนอกประเทศให้มาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะรายการเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง และโบนัส ให้เสียภาษีเพียง 17% ต่อปีอัตราเดียว ขณะที่รายได้อื่น เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ ยังคงต้องเสียภาษีปกติ ทั้งนี้ ผู้มีความสามารถระดับสูงสามารถเลือกได้ว่าจะเสียภาษีอัตราเดียว 17% หรือใช้สิทธิลดหย่อนภาษีและเสียภาษีตามรูปแบบปกติในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35% ได้ตามความต้องการ

“สำหรับการประมาณการสูญเสียรายได้ กระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่เสีย เนื่องจากคนที่จะเข้ามาเดิมก็ทำงานอยู่ในต่างประเทศไม่ได้ถูกรวมอยู่ในฐานภาษีของประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ประเทศได้รายได้เพิ่ม รวมไปถึงสามารถแข่งขันด้านภาษีกับต่างประเทศได้ เช่น กรณีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย จากเดิมผู้เชี่ยวชาญของบริษัทดังกล่าวอาจจะเลือกรับเงินได้ผ่านทางบัญชีที่อยู่ในประเทศอื่น เพราะอาจจะเสียภาษีเงินได้น้อยกว่าในประเทศเหล่านั้น แต่ต่อไปเมื่อเลือกเสียภาษีที่ลดลงเหลือ 17% บริษัทเหล่านี้ก็อาจจะจ่ายเงินเดือนตรงเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เป็นรายได้ของประเทศ และประเทศไทยสามารถแข่งขันและดึงดูดผู้เชี่ยวชาญกับประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์คุณสมบัติสำหรับผู้เชี่ยวชาญเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร จะกำหนดในภายหลัง โดยเบื้องต้นจะต้องเข้ามาทำงานอยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี และบริษัทจะต้องได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีสถานประกอบการในอีอีซี นอกจากนี้  ผู้ที่คุณสมบัติจะได้รับการลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นผู้ไม่เคยเสียภาษีภายในประเทศไทยมาก่อน ส่วนกรอบเวลาว่าหากเป็นคนไทยที่เคยทำงานในประเทศไทย ก่อนจะย้ายไปทำงานในต่างประเทศ และอยากจะกลับมารับสิทธิอีกครั้ง อธิบดีกรมสรรพากรจะเป็นผู้กำหนดต่อไป

“ดังนั้น การย้ายจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ เข้าไปยังอีอีซี หรือย้ายออกไปต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาเพื่อรับสิทธิภาษีจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงมันสมองของประเทศต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย รวมไปถึงคนไทยที่ออกไปทำงาน หรือที่เรียกว่าสมองไหล ให้กลับเข้ามา เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ แต่กรอบเวลาว่าไปนานแค่ไหนถึงจะกลับมารับสิทธิได้ยังต้องกำหนดต่อไป” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ปรับแนวทางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ–รับ กม.ใหม่เดือนสิงหาคม

นายกอบศักด์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในส่วนของราชการและรัฐวิสาหกิจ แบ่งเป็น 3 ประเด็น

1) ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตของงาน หรือ TOR ไม่ชัดเจน มีการล็อกสเปกและกำหนดราคากลางสูงเกินความเป็นจริง มีแนวทางให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการโครงการร่วมมือป้องกันกันทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามแนวทางข้อตกลงคุณธรรม โดยการส่งผู้สังเกตการณ์ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบการจัดทำโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ, ให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสอบทานราคากลางงานก่อสร้าง, ให้กรมบัญชีกลางจัดทำข้อมูลการจัดซื้อครุภัณฑ์มากำหนดเป็นราคากลางครุภัณฑ์แก่ทุกหน่วยงาน แทนที่แต่ละหน่วยงานจะกำหนดเอง

2) ปัญหาการสมยอมราคาในการเสนอราคาหรือฮั้วประมูล มีแนวทางโดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักเกณฑ์และตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้างให้สามารถกำหนดทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าประมูลโครงการ ต่างจากเดิมที่แต่ละหน่วยงานจะกำหนดเองและทำให้เปิดโอกาสให้มีผู้ประมูลน้อยเกินไปหรือเกิดการฮั้วประมูล, ให้กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางการประเมินผู้ประกอบการที่เข้ามาในอดีตว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลในอนาคต

กำหนดแนวทางเพื่อเพิ่มการแข่งขัน โดยหากเป็นงานก่อสร้างที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาทและมีรายละเอียดทางเทคนิคขั้นสูง จะต้องประมูลแบบนานาชาติเท่านั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันและทำให้ภาครัฐประมูลงานได้ด้วยราคาที่ดีที่สุด ขณะที่โครงการอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานก่อสร้างและมีวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปและเป็นงานที่มีความซับซ้อนและต้องการเทคโนโลยีขั้นสูง จะต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้

3) ปัญหาการซื้อผ่านคนกลาง หรือ Agent มีแนวทางโดยในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีผู้ขายน้อยราย มีเทคโนโลยีสูง ซับซ้อน ให้หน่วยงานราชการจัดซื้อโดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้แทนจำหน่าย เว้นแต่มีเหตุผลจำเป็นทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องระบุเหตุผลมาให้ชัดเจนด้วย

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบ 1) แนวทางการกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ทัดเทียมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนด ซึ่ง ครม. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2559 2) ให้กรมบัญชีกลางพัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยให้เปิดเผยรายชื่อและประเภทของผู้ชนะการประมูลว่าเป็นผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลของแต่ละหน่วยงาน โดยให้มีข้อมูลของผู้ชนะ วงเงินโครงการ ประเภทโครงการ และสัดส่วนร้อยละของการจัดซื้อจัดจ้างต่องบประจำปี เผยแพร่ในเว็บไซต์ และ 3) กำหนดแนวทางกำกับไม่ให้ข้าราชการและพนักงานของราชการรับทรัพย์สินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท โดยให้แต่ละหน่วยงานกำหนดแนวทางปฏิบัติตนตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคร่งครัด

ลงทะเบียนรับเงินสวัสดิการของรัฐรอบใหม่ 3 เม.ย. – 15 พ.ค. 2560

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. รับทราบผลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2559 และการลงทะเบียนในรอบปี 2560 โดยปี 2559 มีผู้ลงทะเบียน 8,375,385 คน มีสิทธิ์ตามเงื่อนไข 7,715,359 คน และได้รับการโอน 7,525,363 คน หรือคิดเป็น 97.5% โดยที่เหลือไม่ได้รับเนื่องจากไม่มีบัญชีธนาคารหรือถูกอายัด หรือไม่มาติดต่อธนาคาร ใช้วงเงินไปทั้งสิ้น 17,469 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2560 ภาครัฐจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 3 เมษายน 2560 – 15 พ.ค. 2560 โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • อายุ 18 ปีขึ้นไป หรือเกิดก่อน 16 พฤษภาคม 2542
  • ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
  • ไม่มีสินทรัพย์ทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ เกิน 100,000 บาท
  • ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือหากเป็นเจ้าของ ในกรณีที่อยู่อาศัยเท่านั้น หากเป็นบ้านหรือทาวน์เฮาส์จะต้องไม่เกิน 25 ตารางวา, ห้องชุดไม่เกิน 30 ตารางเมตร, ในกรณีที่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดิน  หรือใช้ประโยชน์จากที่ดินเพียงอย่างเดียว หากเพื่อการเกษตรจะต้องไปเกิน 10 ไร่ และหากไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องไม่เกิน 1 ไร่

ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, กรมบัญชีกลาง (สำนักงานคลังจังหวัด), และสำนักงานเขต กทม. โดยลงทะเบียนที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ขณะที่มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา โดยผู้มาลงทะเบียนภายหลังได้รับการตรวจสอบยืนยันแล้ว ภาครัฐจะออกบัตรประจำตัวให้อีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบได้จาก www.epayment.go.th หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

สานต่อ “30 บาท รักษาทุกโรค”-วงเงิน 1.7 แสนล้าน เพิ่มรายหัว 87.4 บาท

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติกรอบวงเงิน 172,861.29 ล้านบาท สำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2561 โดยเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้า 7,088.28 ล้านบาท มีค่าบริการการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,197.32 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 87.43 บาทต่อคน ขณะที่ค่าบริการอื่น เช่น ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้น 95.83 ล้านบาท ค่าบริการโรคไต เพิ่มขึ้น 636.7 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2561 ยังเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับบริการใหม่อีก 3 รายการได้ ได้แก่ ค่าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน, ค่าบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และค่าบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งหมดคนละ 10.5 บาท ขณะที่การบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 1,853 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะจัดสรรให้ตามความจำเป็นและจ่ายจริงต่อไป

แก้ กม. เอาผิดวินัยข้าราชการเกษียณ

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติจำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 2) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 3) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  4) ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 5) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่พ้นจากข้าราชการฝ่ายพลเรือน เพื่อให้กฎหมายขององค์กรกลางบริหารบุคคลในราชการเป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ขององค์กรที่ตรวจสอบการทุจริต อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

“สาเหตุที่ต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 5 ฉบับ เพราะขาดความสอดคล้องกันในระหว่างบทบัญญัติของกฎหมายที่ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาคในการดำเนินการทางวินัย อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการพิจารณาโทษกับผู้ที่ถูกองค์กรตรวจสอบข้อมูลความผิดหลังจากพ้นราชการไปแล้ว” นายอธิสิทธิ์กล่าว

แก้ กม.คุ้มครองผู้บริโภค – สคบ. ชงเรื่องถึงนายกฯ โดยตรง

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เนื่องจากโครงสร้างการแบ่งอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่เป็นไปอย่างบูรณาการ

โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคพร้อมบูรณาการหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย แก้ไขให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาออกคำสั่งกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกฎหมายเฉพาะไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และแก้ไขให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และแก้ไขเรื่องค่าปรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

เห็นชอบ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตร – สั่งทบทวนแผนปฎิรูปเดินรถฯ-การต่อสัญญา e-passport

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐในตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม คสช. ได้มีการหารือใน 3 เรื่อง เพื่อให้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้กฎหมายมาตรา 44

  • เรื่องการแก้ปัญหาการขอรับสิทธิบัตร ที่ประชุม คสช. เห็นชอบให้ใช้ ม.44 ในการเร่งออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ที่ยื่นคำขอมากว่า 10-20 ปี จำนวน 12,000 ราย โดยจะดำเนินการให้กับผู้ที่มีการยื่นขอมาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการขอสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้ว คาดว่าภายใน 3 เดือนจะสามารถดำเนินการให้ผู้ตกค้างที่เข้าข้อกำหนดได้ทั้งหมด แต่หากตรวจพบว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จ หน่วยงานก็สามารถยกเลิกสิทธิบัตรดังกล่าวได้ทันที

“การดำเนินการที่ล่าช้าอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์การประเมิน Doing Business สำหรับกรณีสิทธิบัตรยาที่หลายฝ่ายกังวล จะมีมาตรการพิเศษที่ออกมาควบคู่กันเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ผู้บริโภค” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

  • เรื่องการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ประชุม คสช. ยังไม่เห็นชอบให้ใช้ ม.44 แต่ เห็นชอบในการปรับเปลี่ยนให้ผู้ที่ต้องการใบบริการขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็น ขสมก. หรือบริษัทเอกชนสามารถเข้าขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรง จากเดิมที่กรมการขนส่งทางบกผู้ออกใบอนุญาตการเดินรถมีแนวคิดที่จะยกเลิกใบอนุญาตทั้งหมดที่เคยออกให้กับ ขสมก. เพียงรายเดียว ทำให้ ขสมก. ที่มีกำลังการเดินรถไม่เพียงพอต้องจ้างเอกชนเข้าร่วมบริการ เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการ และปรับระบบการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม

“เนื่องจากการปรับระบบใหม่อาจต้องเพิ่มเส้นทางการเดินรถอีกกว่า 60-70 สาย อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน และเรื่องดังกล่าวยังคงต้องทำความเข้าใจกับเอกชนที่ให้บริการรถรวมให้มากขึ้น คสช. จึงเห็นว่าจะยังไม่ออก ม.44 ให้ เพราะยังไม่มีการทำแผนให้เป็นรูปร่าง ขอให้ไปทำแผน และสร้างความเข้าใจกับเอกชนให้ชัดเจนจนกว่าแผนจะลงตัว มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมระหว่างกรมการขนส่งทางบก ขสมก. เอกชนผู้ให้บริการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

  • เช่นกันเรื่องการต่อสัญญาจัดทำหนังสือเดินทาง ที่ประชุม คสช. ยังไม่เห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา แต่เห็นชอบในหลักการที่กระทรวงการต่างประเทศจะว่าจ้างบริษัทเอกชนรายเดิมให้รับผิดชอบในการจัดทำหนังสือเดินทางไปจนว่าจะมีการทำ e-bidding เสร็จสิ้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากปริมาณการขอทำหนังสือเดินทางมีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 เล่มต่อวัน และตามสัญญาระบุว่าจะสิ้นสุดเมื่อบริษัทการดำเนินการครบ 7 ล้านเล่ม ซึ่งปัจจุบันโควตาที่เหลือสามารถให้บริการได้ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2560 นี้เท่านั้น

“ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า ใช้มาตรา 44 ฟุ่มเฟือยไปไม่ดี อย่างไรก็ตาม การต่อสัญญาให้บริษัทเดิมดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการทำ e-bidding เสร็จสิ้น ไม่สามารถทำได้ หากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบจะเป็นความผิด ที่ประชุมจึงเห็นชอบเพียงในหลักการ โดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้าน กฎหมายเป็นผู้กำกับดูแลในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งหากได้ข้อยุติอาจไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว