ThaiPublica > คอลัมน์ > เก็บตกจากการประชุม “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” (ตอนที่ 2)

เก็บตกจากการประชุม “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” (ตอนที่ 2)

18 กันยายน 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

ในการประชุม เรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด (Integrated Constructive (Meth) amphetamine Control And Innovative Justice in Draft Narcotics Code)” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ วันที่ 29-30 สิงหาคม 2559 นั้นมีวิทยากรมากมายทั้งจากในไทยและต่างประเทศมาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการกับปัญหายาเสพติด ซึ่งเปลี่ยนแนวทางจากการทำสงครามกับยาเสพติดบนแนวคิดที่ว่าเป็นเรื่องที่จะยินยอมมิได้ (zero tolerance) มาสู่การดำเนินการที่เอามุมมองทางสาธารณสุขเป็นตัวตั้ง ผ่านแนวทางของการลดทอนความเป็นอาชญากรรม (decriminalization) ของการใช้ยาเสพติด รวมทั้งการลดอันตรายจากการจากการใช้ยาเสพติด (harm reduction)

แนวคิดและวิธีการเหล่านี้คือการเบี่ยงเบน (diversion) ผู้ใช้ยาเสพติดออกจากกระบวนการยุติธรรมอันมักจะมีปลายทางเป็นการต้องโทษจำคุก ซึ่งหลายๆ ชาตินั้นต่างก็เรียนรู้แล้วว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผลในการลดปัญหาหรือกระทั่งกำจัดยาเสพติดให้หมดไป ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังที่บอกไปในตอนที่แล้วว่าจำนวนนักโทษในคดียาเสพติดที่มีอยู่นั้น หากนำมาคำนวณว่าถ้าคนเหล่านี้ไม่ต้องเข้าคุกแต่ทำงานตามปรกติด้วยค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท พวกเขาจะสามารถสร้างผลิตภาพ (productivity) ให้ประเทศไทยได้ปีละ 17,945,772,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การจำคุกยังทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ดังที่เราก็อาจจะพอเห็นกันอยู่ว่า ประเทศไทยของเรานั้นไม่ได้มีทัศนคติต่อผู้ต้องโทษจำคุกไปในทางว่าต้องส่งเสริมโอกาสในการกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี แต่การจำคุกกลับเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต ที่นอกจากสายตารังเกียจของสังคมแล้ว อีกสิ่งซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือในคุณสมบัติของการรับสมัครคนเข้าทำงานของหลายๆ ที่ ที่จะไม่ยอมรับคนที่มีประวัติอาชญากรรมหรือเคยต้องโทษจำคุกเข้าทำงาน ทั้งตัวเรือนจำเองก็ยังนับได้ว่ามีปัญหา เพราะเรายังมีทัศนคติในแง่ที่ว่าต้องทำให้หลาบจำ จึงส่งผลให้ความเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นมีลักษณะในการลดทอนความเป็นมนุษย์ในทุกๆ ด้าน มากกว่าจะส่งเสริมให้เต็มผู้เต็มคน ให้มีความหวังว่าจะสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปรกติชน ซึ่งดูอย่างนี้แล้ว การจำคุกนั้นคงจะเหมือนการทำให้สูญสิ้นศักดิ์ศรีอย่างตลอดกระบวนการ มากกว่าจะเป็นการฟื้นฟูให้กลับสู่สังคม

หรือปัญหาในทางการเมือง พูดกันง่ายๆ ก็คือการมุ่งจัดการกับยาเสพติดด้วยมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงทำให้เกิดการใช้งบประมาณไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะก็อย่างที่บอกไปน่ะครับ หรือคุณเองก็น่าจะเห็น ว่านี่ก็รุนแรงกันมายี่สิบปีแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้น แถมคนยังล้นคุกเพราะยาเสพติดอีก แต่พรรคการเมืองใดๆ ก็คงอยากเลือกทางนี้ เพราะคงเป็นที่ถูกใจประชาชน ปลอดภัยต่อฐานเสียงมากกว่าการจะเสนออะไรอย่างการหันมาใช้วิธีการทางสาธารณสุขเป็นธงนำ ซึ่งพอไม่ทำแบบนั้น ผลที่ได้ก็เป็นอย่างทุกวันนี้นั่นเองครับ คือการใช้ทรัพยากรงบประมาณ (หรือก็คือภาษีของเราทุกคน) ไปกับวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง ทั้งยังสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา

เพราะฉะนั้นนะครับ แนวทางที่ควรจะเป็นในการแก้ปัญหายาเสพติด ก็คงต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่ในระดับทัศนคติของสังคม ที่จะต้องไม่มองผู้ใช้ยาเสพติดว่าเป็นคนร้ายที่ควรมีโทษอาญาตามกฎหมาย แต่คือผู้ป่วยที่มีสิทธิและควรได้รับการบำบัดรักษาเฉกเช่นการป่วยไข้อื่นๆ เราต้องเริ่มที่ตรงนี้เพราะปัญหาพื้นฐานทุกวันนี้คือเราโหมประโคมให้มองคนใช้ยาเสพติดเป็นคนร้ายมาตลอด นี่คือเราต้องแก้ไขกันตั้งแต่ทัศนคติตั้งต้นที่เลือกจะจัดการกับผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิถีทางกฎหมายอาญามากกว่าทีท่าทางสาธารณสุข เราหวาดกลัวจนพยายามขับไล่คนเหล่านี้ออกไปจากสังคมมากกว่าจะหาทางทำให้เขากลับเข้ามาอยู่ในสังคมอย่างสมผู้สมคน ซึ่งระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมารวมกับสถิติจำนวนผู้ต้องขังที่ยังคงเป็นคดียาบ้าเกือบทั้งหมดรวมทั้งข่าวคราวการจับกุมใหญ่โตที่ยังคงเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์นั้นน่าจะเป็นตัวชี้ชัดว่าวิธีคิดเดิมๆ ของเรานั้นไม่ได้ผล เราเหมือนคนที่เดินชนกำแพงไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าวันหนึ่งจะเดินทะลุไปได้ ซึ่งมันไม่ใช่น่ะครับ เราเดินชนกำแพงมายี่สิบปี เราน่าจะหาวิธีอื่นกันได้แล้ว

แอน ฟอร์ดแฮม (Ann Fordham Fordham, Executive Director, International Drug Policy Consortium (IDPC)] หนึ่งในวิทยากรในการประชุมเสนอเกี่ยวกับเรื่องของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในกรณีของเมทแอมเฟตามีนว่า จะต้องไม่ตัดสินผู้ใช้ ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงเกี่ยวกับผลของยาที่มีต่อผู้ใช้ พร้อมทั้งเสนอวิธีการและโอกาสที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานเชิงรุก คือออกไปตามหาผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการแต่ยังไม่มาเข้ารับบริการหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการ และจะต้องให้ความช่วยเหลือในการส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

ในขณะที่เรากลัวพิษภัยของยาบ้าทั้งจากภาพข่าว เสียงเล่าลือในสังคม จากคนใกล้ชิด หรือกระทั่งจากการที่เคยลองใช้ด้วยตัวเอง นายแพทย์อภิชัย มงคล ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรของการประชุมได้ทำให้ผมสงสัยขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วเรารู้จักความกลัวของตัวเองดีแค่ไหน นายแพทย์อภิชัยบอกทำนองว่าเวลาเจอคนป่วยที่คุ้มคลั่งจากยาบ้า เอาเข้าจริงแล้วมีการเสพยาเสพติดอื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ คืออย่างน้อยๆ ก็สุรา แต่เวลาตรวจก็อาจจะตรวจกันแต่ยาบ้า พอพบแบบนั้น ก็กลายเป็นข้อสรุปว่าคุ้มคลั่งเพราะยาบ้า ซึ่งถือว่าไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด และทำให้ยาบ้าตกเป็นจำเลยหลักของสังคม ทั้งที่ในความเป็นจริง ถ้าย้อนไปถึงที่ผมเคยพูดไว้ในตอนที่ผ่านๆ มา มันมีหลายปัจจัยนอกจากยาบ้าที่เราต้องพิจารณาร่วม เราต้องพิจารณาในเรื่องของผลจากการอดหลับอดนอน แนวโน้มการมีปัญหาทางจิตดั้งเดิมจากสาเหตุต่างๆ (เช่น ความเครียด) หรือกระทั่งพันธุกรรมแฝงที่แต่ละคนมีในตัว

คือ การเสพยาบ้านั้นทำให้คนคุ้มคลั่งได้แน่นอนครับ เมทแอมเฟตามีนในยาบ้าสามารถส่งผลแบบนั้น แต่ภาพติดหัวในสังคมมักจะเป็นว่าถ้าเสพแล้วอย่างไรเสียก็ต้องคลั่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งระดับของการเสพที่ทำให้คุ้มคลั่งอยู่ ซึ่งแต่ละคนอาจจะมากน้อยต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่เสพยาบ้าแล้วจะต้องคุ้มคลั่งสถานเดียว มันไม่ใช่แบบนั้นน่ะครับ ซึ่งปัญหาใหญ่ทุกวันนี้ที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเสพกันได้ก็คือไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้องในการเสพ รวมทั้งที่เสพกันนั้นก็ไม่ใช่ยาบ้าที่มีเพียงส่วนผสมของเมทแอมเฟตามีน แต่คือมีส่วนผสมของสารเคมีหลายอย่างที่ทำให้ตัวยานั้นรุนแรงกว่าปรกติอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นผลจากการที่ผู้ผลิตพยายามเพิ่มความรุนแรงให้คนเสพติดได้ง่ายขึ้น

สตีฟ โรลส์ (Steve Rolles, Senior Policy Analyst, Transform Drug Policy Foundation ประเทศอังกฤษ) หนึ่งในวิทยากรของการประชุมเสนอว่า การทำให้ผู้เสพติดไม่มีความผิดทางอาญานั้นจะทำให้รัฐสามารถเป็นผู้ควบคุมตลาดยาเสพติดแทนองค์กรอาชญากรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมอันตรายทางสุขภาพและสังคมที่จะเกิดจากการใช้ยาเสพติดได้ โดยใช้การควบคุมโดยแพทย์ หรือหากเป็นการค้าปลีกก็ต้องมีการควบคุมให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น อายุ หรือปริมาณ โดยผู้ค้าปลีกก็ต้องเป็นเภสัชกรหรือผู้ได้รับการอบรวมให้มีความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ ต้องมีรูปแบบการควบคุมที่แตกต่างกันสำหรับประชากรต่างกลุ่มด้วย เพราะถ้าเข้มงวดเกินไปก็เสี่ยงต่อการผลักออกไปหายาเสพติดที่ผิดกฎหมายได้อีก

เพราะฉะนั้นนะครับ

  1. ต่อกรณีของยาบ้า เราอาจต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ตั้งคำถามกับความกลัวของเรา ว่าเรารู้จักความกลัวของเรานี้ดีแค่ไหน เป็นความกลัวที่อยู่บนฐานข้อเท็จจริงทางวิทยาศาตร์หรือยัง ดังที่บอกว่าแอมเฟตามีนในยาบ้าอาจเป็นผลให้คนคุ้มคลั่งได้จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเสพเข้าไปแล้วจะต้องคุ้มคลั่งทันที เพราะประเด็นอยู่ที่เสพอย่างไร ซึ่งถ้าเราควบคุมการเสพได้ โดยเฉพาะควบคุมผ่านมือผู้เชี่ยวชาญ เราก็ทำให้เสพแล้วไม่คุ้มคลั่งได้น่ะครับ ตัวอย่างที่ผมพอจะยกได้เองเลยก็คือ เพื่อนๆ ผมสมัยวัยรุ่นนี่เขาเสพกันทุกคนนะครับ แต่ไม่มีใครคุ้มคลั่ง เต็มที่ก็คือผอมกันหมด และพอถึงวันหนึ่งพวกเขาก็เลิกไปเอง เพราะเขาไม่ได้จำเป็นต้องเสพมากๆ เพื่อให้ตัวเองมีแรงไปทำงานหนัก และในแง่ของเสพเพื่อความบันเทิง ชีวิตพวกเขาก็สามารถเข้าถึงความบันเทิงอื่นๆ จนยาบ้าไม่ใช่สิ่งบันเทิงหนึ่งเดียว เท่านี้ก็น่าจะเห็นได้บ้างนะครับ ว่าประเด็นไม่ใช่การเสพยาบ้า แต่คือเสพยาบ้าอย่างไร และเสพเพราะอะไร
  2. อันที่จริง เล่ากันมา 3-4 ตอน ก็น่าจะพอเห็นนะครับ ว่าพิษภัยของยาบ้านั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ ที่เราน่าจะเรียกร้องกันก็คือมาตรการควบคุมแบบบูรณาการและรอบด้าน คือตอนนี้เราเห็นคอนเซปต์เห็นแนวคิดอะไรเต็มไปหมด แต่สิ่งที่เรายังไม่เห็นก็คือ แล้วเวลาจะปฏิบัติจริงในบ้านเรานั้น หน้าตาของการผ่อนคลายความเป็นอาชญากรรมของยาบ้า (decriminalization) หรือกระทั่งการทำให้ยาบ้าถูกกฎหมายแต่อยู่ภายใต้การควบคุม (controlled legalization) นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร คือเรายังมองไม่เห็นรูปธรรมของมาตรการที่จะนำมาควบคุมอย่างชัดเจน เรามองไม่เห็นว่าหน่วยงานไหนจะทำอะไรบ้าง จะมีหน่วยงานอะไรในการควบคุมบ้าง รูปแบบการควบคุมจะเป็นอย่างไร รับแนวคิดมาจากต่างประเทศแล้วจะมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในไทยอย่างไร พอไม่เห็นภาพชัดเจนมันก็ทำให้กังวลน่ะครับ อันนี้ผมก็ฝากกลับไปถึงทางผู้ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เพราะขนาดผมเองค่อนข้างเอนเอียงไปในทางที่เห็นด้วย แต่ความไม่ชัดเจนตรงนี้ก็ยังทำให้ผมมีความกังวลอยู่เช่นกัน
  3. เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราควรเลิกมองว่าผู้ใช้ยาเสพติดเป็นอาชญากร แต่มองว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เราควรคิดคำนึงไปในทางที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดนั้นสามารถใช้ยาเสพติดอย่างไม่ก่ออันตรายแก่ตัวเองและสังคม คือเราต้องเลิกมองว่าการใช้ยาเสพติดเป็นความชั่วร้ายก่อนน่ะครับ ควรมองว่ามันก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง จะเลือกผิดเลือกถูกก็ว่ากันไป แต่ถ้าเลือกผิด เราก็ควรคิดอย่างหาทางดึงเขากลับเข้ามาอยู่ในสังคม (โดยที่เขาก็ยังอาจจะใช้ยาอยู่ แต่ก็อย่างที่ผมบอกว่าในทางที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและสังคม) ไม่ใช่กีดกันเขาออกไปจนถลำไปไหนต่อไหนและไปถึงจุดที่ย้อนกลับมาเป็นภัยกับสังคมในที่สุด ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งข้อนี้ก็สำคัญมากนะครับ เพราะต่อให้กระบวนการในข้อ 2. นั้นมีภาพเป็นรูปธรรมชัดเจนทั้งหมด แต่สังคมยังพร้อมจะตีตราว่าผู้ใช้ยาเป็นคนชั่วร้าย ก็คงไม่มีผู้ใช้ยาเสพติดที่ไหนกล้าจะออกมาสู่แสงสว่างที่บ้านเมืองสาดส่องไว้ให้หรอกครับ เพราะมันจะกลายเป็นไฟสังคมที่คอยแผดเผาเขามากกว่า