ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิด “ท่อน้ำเลี้ยง” ทีมลูกหนังอาชีพไทย พึ่งเงินสปอนเซอร์เป็นหลัก – งบทำทีมเฉลี่ย 122 ล้าน สูงกว่าเงินรางวัลคว้าทุกแชมป์ถึง 3 เท่า

เปิด “ท่อน้ำเลี้ยง” ทีมลูกหนังอาชีพไทย พึ่งเงินสปอนเซอร์เป็นหลัก – งบทำทีมเฉลี่ย 122 ล้าน สูงกว่าเงินรางวัลคว้าทุกแชมป์ถึง 3 เท่า

12 กันยายน 2015


หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ตรวจสอบผลประกอบการของสโมสรฟุตบอลอาชีพระดับชาติของไทย ที่สามารถตรวจสอบได้ 28 สโมสร จากทั้งหมด 38 สโมสร ก่อนพบว่า มีรายได้รวมกันทะลุ 2,000 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย แสดงให้เห็นถึงความนิยมลีกฟุตบอลอาชีพไทยที่กำลังบูมเป็นอย่างยิ่ง

โดยสโมสรที่มีรายได้มากที่สุด 5 ลำดับแรก หรือ “ท็อฟไฟว์” ประกอบด้วย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 405.23 ล้านบาท เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 302.35 ล้านบาท บีอีซี เทโรศาสน 172.30 ล้านบาท บางกอกกล๊าส เอฟซี 149.02 ล้านบาท และเพื่อนตำรวจ 148.49 ล้านบาท

ภาพรวมธุรกิจฟุตบอลไทย

มาครั้งนี้ จะขอแจกแจง “แหล่งรายได้” ของสโมสรฟุตบอลไทยอาชีพไทยให้ดูว่าที่มาจากแหล่งใดบ้าง

โครงสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลอาชีพของไทย จะมาจาก 4 แหล่งหลัก ประกอบด้วย

  1. ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
  2. เงินอุดหนุนการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน และเงินรางวัลตามผลงาน
  3. ค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และยอดขายสินค้าที่ระลึก
  4. เงินจากสปอนเซอร์ของแต่ละทีม

อย่างไรก็ตาม เงินจากส่วนที่ 1. 2. และ 3. ยังอยู่ที่เพียงหลักสิบล้านบาทเท่านั้นสำหรับสโมสรในพรีเมียร์ลีก (และไม่กี่ล้านบาทสำหรับสโมสรในลีกวัน) ไม่เพียงพอต่อการทำธุรกิจฟุตบอลที่ในแต่ละปีมีรายจ่ายตั้งแต่หลายสิบล้านบาท ไปจนถึงหลายร้อยล้านบาท รายได้ที่ค้ำจุนแต่ละสโมสรอย่างแท้จริง คือเงินจากส่วนที่ 4

จะเห็นว่า โครงสร้างของทีมฟุตบอลไทยยังแตกต่างจากทีมฟุตบอลในลีกชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในอิงลิชพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ที่มีการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ ทำให้แต่ละสโมสรมีรายได้ไม่ห่างกันมากนัก เงินไม่ไปกระจุกตัวอยู่ที่ทีมใหญ่ซึ่งมีผลงานดีหรือหาสปอนเซอร์เก่งเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันประเภทลีก ระดับ “ไทยพรีเมียร์ลีก” ทั้ง 18 สโมสร จะมีรายได้ขั้นต่ำ 21 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น

  • ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจาก บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด (มหาชน) สโมสรละ 20 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันจากสปอนเซอร์หลักของไทยพรีเมียร์ลีก คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สโมสรละ 1 ล้านบาท
  • เงินรางวัลตามผลงาน โดยแชมป์จะได้ 10 ล้านบาท รองแชมป์ 3 ล้านบาท ที่สาม 1.5 ล้านบาท ที่สี่ 8 แสนบาท ที่ห้า 7 แสนบาท ที่หก 6 แสนบาท ที่เจ็ด 5 แสนบาท และที่แปด 4 แสนบาท ส่วนสโมสรที่เหลือจะไม่ได้แม้แต่บาทเดียว

ส่วนทีมที่เข้าร่วมแข่งขันประเภทลีก ระดับ “ลีกวัน” ทั้ง 20 สโมสร จะมีรายได้ขั้นต่ำ  4 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น

  • ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจาก บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด (มหาชน) สโมสรละ 3 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันจากสปอนเซอร์หลักของไทยพรีเมียร์ลีก คือ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด สโมสรละ 1 ล้านบาท
  • เงินรางวัลตามผลงาน โดยแชมป์จะได้ 5 ล้านบาท รองแชมป์ 3 ล้านบาท ที่สาม 1 ล้านบาท ที่สี่ 5 แสนบาท ที่ห้า 3 แสนบาท  ที่หก 1 แสนบาท และที่เจ็ด 5 หมื่นบาท ส่วนสโมสรที่เหลือจะไม่ได้แม้แต่บาทเดียว

ขณะที่การส่งทีมเข้าร่วมฟุตบอลถ้วย ประเภทน็อกเอาท์ ทั้ง “เอฟเอคัพ” ที่มีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้าง เป็นสปอนเซอร์หลัก และ “ลีกคัพ” ที่มีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นสปอนเซอร์หลัก จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนการส่งทีมเข่ารวมการแข่งขัน มีเฉพาะเงินรางวัลตามผลงานเท่านั้น

โดยทั้ง 2 รายการ จะได้รับเงินรางวัลเท่ากัน คือ แชมป์ 5 ล้านบาท และรองแชมป์ 3 ล้านบาท ตามลำดับ

ดังนั้น โอกาสที่จะทำรายได้สูงสุดจากการแข่งขันภายในประเทศ คือได้ทั้งแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก แชมป์เอฟเอคัพ และแชมป์ลีกคัพ ก็จะทำให้ได้รับเงินอุดหนุนและเงินรางวัลทั้งสิ้น 41 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียดงบการเงินของ 5 สโมสรที่น่าสนใจประกอบด้วย

– “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ทีมฟุตบอลอาชีพอันดับหนึ่งของไทยยุคปัจจุบัน
– “เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด” ยักษ์ใหญ่ที่มีลุ้นแชมป์ทุกปี
– “ชลบุรี เอฟซี” ต้นแบบสโมสรฟุตบอลที่บริหารงานแบบมืออาชีพ
– “บีอีซี เทโรศาสน” ทีมที่ร่วมก่อตั้งลีกอาชีพในปี 2539 ซึ่งไม่เคยตกชั้นแม้แต่ครั้งเดียว
– “เพื่อนตำรวจ” สโมสรอาชีพเดียวที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

(หมายเหตุ : แต่ละสโมสรมีวิธีในการจัดทำงบการเงินไม่เหมือนกัน บางสโมสรลงประเภทรายรับ-รายจ่ายค่อนข้างละเอียด บางสโมสรระบุเพียง รายได้จากการขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ฯลฯ สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงต้องมาจัดหมวดหมู่ใหม่ เพื่อให้สามารถดูเปรียบเทียบกันแต่ละสโมสรได้ โดยข้อมูลที่ใช้นำมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของปี 2556)

580912บุรีรัมย์
ในปี 2556 สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์การแข่งขันในประเทศ ทั้ง 3 รายการอย่างยิ่งใหญ่ แต่รายได้หลักของทีมก็ยังมาจากเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ไม่ใช่เงินรางวัลจากการแข่งขัน ซึ่งมียอดรวมสูงสุดเพียง 41 ล้านบาท ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BuriramUTD/photos/a.476489429137671.1073742013.104581442995140/476491005804180/?type=3&theater

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

บริหารงานโดย บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด มีนายเนวิน ชิดชอบ (นักการเมือง) เป็นประธานสโมสร

มีรายได้รวม 405.23 ล้านบาท มาจากเงินสนับสนุนของสปอนเซอร์ถึง 139.60 ล้านบาท จากการขาย (สินค้าที่ระลึกและอื่นๆ) 116.33 ล้านบาท จากค่าตัวนักกีฬา 55.30 ล้านบาท จากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 42.25 ล้านบาท และอื่นๆ 13.25 ล้านบาท

โดยเป็นรายได้จากเงินรางวัลและค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด 38.5 ล้านบาท (ในปี 2556 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ Triple Champs คือกวาดแชมป์ 3 รายการที่ลงแข่งขัน ทั้งไทยพรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ และลีกคัพ)

ขณะที่มีรายจ่ายรวม 404.02 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนเกี่ยวกับกีฬา (เงินเดือนนักฟุตบอล ฯลฯ) 126.39 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 122.98 ล้านบาท ต้นทุนสินค้าที่ขาย 79.83 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 37.46 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 31.80 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5.56 ล้านบาท

เมื่อนำมาหักต้นทุนทางการเงิน 3.67 ล้านบาท จะทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 2.46 ล้านบาท ทั้งที่ปีนั้นมีผู้เข้าชมการแข่งขันเฉลี่ยถึงนัดละ 1.9 หมื่นคน

เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด

บริหารงานโดย บริษัท เมืองทอง ยูไนเต็ด จำกัด มีนายระวิ โหลทอง (ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือสยามกีฬา – สื่อมวลชน) เป็นประธานสโมสร

มีรายได้รวม 302.35 ล้านบาท มาจากเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ถึง 218.84 ล้านบาท จากการขาย (สินค้าที่ระลึกและอื่นๆ) 52.30 ล้านบาท จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 21.38 ล้านบาท จากเงินรางวัล 4.17 ล้านบาท และอื่นๆ 5.66 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไม่มีการระบุรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด คาดว่าน่าจะอยู่ในรายการเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์

ขณะที่มีรายจ่ายรวม 385.06 ล้านบาท แบ่งเป็นต้นทุนบริหารสโมสรฟุตบอล (เงินเดือนนักฟุตบอล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ฯลฯ) 333.04 ล้านบาท ต้นทุนสินค้าที่ขาย 36.17 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 7.66 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 5.20 ล้านบาท และอื่นๆ 2.99 ล้านบาท

เมื่อนำรายได้มาหักรายจ่าย และต้นทุนทางการเงิน จะพบว่า มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิสูงถึง 88.84 ล้านบาท โดยปีนั้น เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด พลาดหวัง ไม่ได้แชมป์แม้แต่รายการเดียว

ชลบุรี เอฟซี

บริหารโดย บริษัท ชลบุรี เอฟ.ซี. จำกัด มีนายวิทยา คุณปลื้ม (นักการเมือง) เป็นประธานสโมสร

มีรายได้รวม 109.23 ล้านบาท มาจากเงินสนับสนุนของสปอนเซอร์ 51.13 ล้านบาท จากการขาย (สินค้าที่ระลึกและอื่นๆ) 28.28 ล้านบาท จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 7.67 ล้านบาท และอื่นๆ 6.29 ล้านบาท

โดยเป็นรายได้จากเงินรางวัลและค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด 15.86 ล้านบาท

มีรายจ่ายรวม 114.18 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (เงินเดือนนักฟุตบอล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ฯลฯ) 29.31 ล้านบาท และต้นทุนสินค้าที่ขาย 84.87 ล้านบาท

เมื่อนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะพบว่า มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 4.95 ล้านบาท

บีอีซี เทโรศาสน

บริหารโดย บริษัท บีอีซี-เทโรศาสน จำกัด มีนายไบรอัน มาร์การ์ (ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 – สื่อมวลชน) เป็นประธานสโมสร

มีรายได้รวม 172.30 ล้านบาท มาจากเงินสนับสนุนของสปอนเซอร์ 157.20 ล้านบาท จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 3.10 ล้านบาท จากการขายสินค้าที่ระลึก 1.85 ล้านบาท และอื่นๆ 10.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการระบุว่าเป็นรายได้จากเงินรางวัลกว่า 5 แสนบาท แต่ไม่มีการระบุเรื่องค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด คาดว่าจะถูกรวมไว้ในส่วนเงินสนับสนุนจากสปอนเรอซ์

มีรายจ่ายรวม 169.13 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสโมสรฟุตบอล (เงินเดือนนักฟุตบอล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ฯลฯ) 148.66 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 14.10 ล้านบาท ต้นทุนสินค้าที่ขาย 3.60 ล้านบาท และอื่นๆ 2.77 ล้านบาท

เมื่อนำรายได้มาหักรายจ่าย และต้นทุนทางการเงิน จะพบว่า มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 2.52 ล้านบาท

เพื่อนตำรวจ

บริหารงานโดย บริษัท สโมสรฟุตบอลโลห์เงิน จำกัด (มหาชน) มีนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา (นักธุรกิจ) เป็นประธานสโมสร

มีรายได้รวม 148.49 ล้านบาท มาจากเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ 141.67 ล้านบาท จากการขาย (สินค้าที่ระลึก ฯลฯ) 4.54 ล้านบาท และอื่นๆ 2.28 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไม่มีการแยกว่าได้เงินราวัลการแข่งขันและค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเท่าใด คาดว่าน่าจะรวมอยู่ในเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์

มีรายจ่ายรวม 156.88 ล้านบาท มาจากต้นทุนพนักงาน (น่าจะรวมถึงเงินเดือนนักฟุตบอล) 106.23 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการแข่งขัน 6.24 ล้านบาท ค่าเดินทาง 2.93 ล้านบาท ต้นทุนสินค้าที่ระลึก 1.82 ล้านบาท อื่นๆ 39.66 ล้านบาท

เมื่อนำรายได้มาหักรายจ่าย และต้นทุนทางการเงิน จะพบว่า มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ  8.39 ล้านบาท ปัจจุบัน เพื่อนตำรวจตกชั้นจากไทยพรีเมียร์ลีกไปแข่งในลีกวัน เนื่องจากมีผลงานย่ำแย่ในปี 2557

580912ชลบุรี
แม้จะมีแฟนคลับเหนียวแน่น และเป็นทีมชั้นนำของประเทศ แต่ผู้บริหารสโมสรฟุตบอล “ชลบุรี เอฟซี” กลับต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย หลังพลาดแชมป์ทุกรายการ ในปี 2557 จนทำให้สปอนเซอร์บางรายตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/media/set/?set=a.967557739937322.1073742161.195535323806238&type=3

ยอดงบทำทีม เฉพาะ 18 ทีมไทยพรีเมียร์ลีก พุ่ง 2.2 พันล้าน

ในการแข่งขันฤดูกาลล่าสุด สโมสรฟุตบอลอาชีพระดับชาติของไทย โดยเฉพาะในไทยพรีเมียร์ลีก ประกาศทุ่มเงินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับพัฒนาทีม หรือที่เรียกว่า “งบทำทีม” ตั้งแต่ 30 ล้านบาท ไปจนถึง 300 ล้านบาท

– เมืองทอง ยูไนเต็ด มีงบทำทีม 300 ล้านบาท วางเป้าหมาย กลับมาคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก

– บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด  มีงบทำทีม 250 ล้านบาท วางเป้าหมาย คว้าแชมป์ทุกรายการที่แข่งขัน

– แบงค็อก ยูไนเต็ด มีงบทำทีม 200 ล้านบาท วางเป้าหมาย ติดอันดับ 1-5 ของตารางคะแนน

– บางกอกกล๊าส เอฟซี มีงบทำทีม 150 ล้านบาท วางเป้าหมาย ลุ้นคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก

– สุพรรณบุรี เอฟซี มีงบทำทีม 150-170 ล้านบาท วางเป้าหมาย ทำผลงานให้ดีกว่าปีที่แล้ว

– บีอีซี เทโรศาสน มีงบทำทีม 120 ล้านบาท วางเป้าหมาย คว้าแชมป์ให้ได้อย่างน้อย 1 รายการ

– อาร์มี่ ยูไนเต็ด มีงบทำทีม 100-150 ล้านบาท วางเป้าหมาย ติดอันดับ 1-5 ของตารางคะแนน

– ชลบุรี เอฟซี มีงบทำทีม 100-110 ล้านบาท วางเป้าหมาย กลับมาคว้าแชมป์ให้ได้อย่างน้อย 1 รายการ

– โอสถาสภา เอ็ม-150 มีงบทำทีม 100 ล้านบาท วางเป้าหมาย จบฤดูกาลด้วยอันดับเลขตัวเดียว ลุ้นแชมป์ฟุตบอลถ้วย

– นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี มีงบทำทีม 100 ล้านบาท วางเป้าหมาย อยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางคะแนน

– ราชนาวี มีงบทำทีม 100 ล้านบาท วางเป้าหมาย อยู่รอดในไทยพรีเมียร์ลีกต่อไป

– ชัยนาท ฮอร์นบิล มีงบทำทีม 100 ล้านบาท วางเป้าหมาย ติดอันดับ 1-5 ของตารางคะแนน

– ราชบุรี มิตรผล มีงบทำทีม 80 ล้านบาท วางเป้าหมาย ทำผลงานให้ดีเท่าปีที่แล้ว

– สระบุรี เอฟซี มีงบทำทีม 80 ล้านบาท วางเป้าหมาย อยู่ในไทยพรีเมียร์ลีกต่อไป ไม่ตกชั้นไปลีกวัน

– ศรีสะเกษ เอฟซี มีงบทำทีม 70-100 ล้านบาท วางเป้าหมาย อยู่ในไทยพรีเมียร์ลีกต่อไป ไม่ตกชั้นไปลีกวัน

– เชียงราย ยูไนเต็ด มีงบทำทีม 70 ล้านบาท วางเป้าหมาย ติดอันดับ 1-6 ของตารางคะแนน

– ทีโอที เอฟซี มีงบทำทีม 50 ล้านบาท วางเป้หมาย อยู่ในไทยพรีเมียร์ลีกต่อไป ไม่ตกชั้นไปลีกวัน

– การท่าเรือ เอฟซี มีงบทำทีม 30-50 ล้านบาท วางเป้าหมาย ติดอันดับ 1-5 ของตารางคะแนน

เมื่อรวมงบทำทีม 18 สโมสรไทยพรีเมียร์ลีก ในปีนี้ จะพบว่า จะมีการใช้จ่ายตั้งแต่ 2,200-2,280 ล้านบาท หรือเฉลี่ยทีมละ 122-126 ล้านบาท สูงกว่ายอดเงินรางวัลสูงที่จะได้จากการแข่งขัน (41 ล้านบาท) ถึง 3 เท่า

แน่นอนว่า การพึ่งพาเงินจากสปอนเซอร์เป็นท่อน้ำเลี้ยงหลัก ทำให้บางสโมสรประสบปัญหา เมื่อผลงานไม่ดีจนต้องรัดเข็มขัด เช่นกรณี “ชลบุรี เอฟซี” ที่หลังจากไม่ได้แชมป์ใดเลยแม้แต่รายการเดียว ในปี 2557 ทำให้สปอนเซอร์บางรายไม่ต่อสัญญา จนงบทำทีมลดจาก 120 ล้านบาท เหลือ 100 ล้านบาท ท้ายสุดผู้บริหารชลบุรี เอฟซี ตัดสินใจรัดเข็มขัดไม่ต่อสัญญาผู้จัดการทีมชาวญี่ปุ่น และลดเพดานเงินเดือนนักฟุตบอลลงจาก 8.5 ล้านบาท/ปี เหลือ 7 ล้านบาท/ปี และเตรียมขายสโมสรพันธมิตร 3 สโมสรได้แก่ พัทยา ยูไนเต็ด (อยู่ในลีกวัน), ศรีราชา และพานทอง (ทั้งคู่อยู่ในดิวิชั่น 2 ลีกระดับภูมิภาค) ให้กับนายทุนที่สนใจเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

หรือกรณี “สระบุรี เอฟซี” ที่สปอนเซอร์หลักอย่าง บริษัท กัล์ฟ เจพี จำกัด ถอนการสนับสนุนระหว่างฤดูกาล กระทบต่อการบริหารงานของทีม โดยเฉพาะการจ่ายเงินเดือนนักฟุตบอล จนต้องถอนตัวจากการแข่งขันฟุตบลถ้วยในประเทศ อย่าง เอฟเอคัพ และลีกคัพ

ดังนั้น การหวังพึ่งท่อน้ำเลี้ยงจากสปอนเซอร์เป็นหลัก จึงถือเป็น 1 ใน “ความเสี่ยง” ที่สโมสรฟุตบอลของอาชีพของไทย หากวันใดผลงานไม่เป็นไปตามเป้า หรือกระแสความนิยมลดลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน