ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เม็ดเงินธุรกิจฟุตบอลไทยทะลุ 2 พันล้าน “บุรีรัมย์-เมืองทอง-บีจี-เทโร” โกยเกินครึ่ง – แต่สโมสรสามในสี่ขาดทุน

เม็ดเงินธุรกิจฟุตบอลไทยทะลุ 2 พันล้าน “บุรีรัมย์-เมืองทอง-บีจี-เทโร” โกยเกินครึ่ง – แต่สโมสรสามในสี่ขาดทุน

5 กันยายน 2015


580902ไทยพรีเมียร์ลีก
การแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก นัดระหว่างสโมสรนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี (ชุดสีส้ม) กับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (ชุดสีขาว) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 มีจำนวนผู้เข้าชมมากเป็นประวัติการณ์ถึง 34,659 คน เทียบเท่าการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงในทวีปยุโรป ที่มาภาพ: http://goo.gl/wLndya

แม้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จะพยายามเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศ จากรูปแบบสมัครเล่นมาเป็นรูปแบบอาชีพในปี 2539

แต่กว่าที่สโมสรฟุตบอลไทยจะมีการบริหารจัดการแบบ “มืออาชีพ” จริงๆ ก็ต้องรอจนถึงปี 2551 เมื่อสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asia Football Confederation: AFC) ออกระเบียบบังคับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการแข่งขันและสโมสรฟุตบอลทุกสโมสรในประเทศต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่เช่นนั้นจะตัดสิทธิ์การส่งสโมสรเข้าแข่งขันรายการของ AFC

นำมาสู่การจัดตั้งบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด และส่งผลให้การแข่งขันฟุตบอลภายในของไทย ตั้งแต่ปี 2552 (ซึ่งเปลี่ยนชื่อรายการแข่งขันลีกฟุตบอลสูงสุด เป็น “ไทยพรีเมียร์ลีก”) มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

สโมสรฟุตบอลของไทยในยุคสมัครเล่นหรือกึ่งอาชีพ หากไม่เป็นหน่วยงานราชการ ก็เป็นสถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชน (โดยเฉพาะบรรดาธนาคารพาณิชย์ เช่น กสิกรไทย กรุงไทย กรุงเทพ) ทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาทีม ส่วนนักฟุตบอลยุคก่อนต้องทำงานประจำควบคู่ไปกับการเล่นฟุตบอล หลายคนต้องเดินสายแข่งขันไปทั่วประเทศ เนื่องจากรายได้จากเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ

เมื่อเข้าสู่ยุคฟุตบอลอาชีพ สโมสรทุกแห่งต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและบริหารงานแบบบริษัทเอกชน ทำให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ส่วนนักฟุตบอลก็รายได้เพิ่มขึ้นจนสามารถทุ่มสมาธิให้กับการพัฒนาฝีเท้าเพียงอย่างเดียว (อาทิ ชาริล ชัปปุยส์ นักฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 700,000 บาท/เดือน) และทำให้ทีมชาติไทยมีผลงานที่ดีขึ้นตามลำดับ หลังซบเซามากว่าทศวรรษ

ปัจจุบันการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย มี 2 ประเภท คือ ประเภทลีก มี 3 ดิวิชั่น คือ ไทยพรีเมียร์ลีก (18 ทีม) ลีกวัน (20 ทีม) และดิวิชั่น 2 (83 ทีม) และประเภทน็อกเอาต์ คือ เอฟเอคัพ ลีกคัพ และถ้วยพระราชทาน ประเภท ก.

อาจถือได้ว่า การแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย กำลัง “บูม” สุดขีด

สถิติฤดูกาล ปี 2557 เฉพาะไทยพรีเมียร์ลีก มีคนเข้าชมการแข่งขันในสนามถึง 1.91 ล้านคน ขายตั๋วเข้าชมได้กว่า 164.54 ล้านบาท ส่วนลีกวัน มีคนเข้าชมการแข่งขันในสนาม 7.8 แสนคน ขายตั๋วเข้าชมได้กว่า 49.55 ล้านบาท

ผลสำรวจของนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า คนไทยติดตามชมการถ่ายทอดสดไทยพรีเมียร์ลีก (29.1%) มากกว่าอิงลิชพรีเมียร์ลีก (21.81%) ของอังกฤษ

เมื่อลีกได้รับความนิยม ย่อมส่งผลให้ “ธุรกิจ” ของแต่ละสโมสรซึ่งจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

ธุรกิจฟุตบอลไทยบูมสุดขีด รายได้รวมพุ่ง 2 พันล้าน

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูผลประกอบการของแต่ละสโมสร อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2556 ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า เนื่องจากข้อมูลปี 2557 มีหลายสโมสรยังไม่ครบรอบระยะบัญชีที่ต้องส่งงบการเงิน บางสโมสรอาจครบรอบปีบัญชีแล้วแต่ยังไม่ส่งงบการเงิน บางสโมสรอาจส่งงบการเงินแล้วอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากผู้ตรวจบัญชี

โดยข้อมูลในปี 2556 จากสโมสรที่ร่วมแข่งขันอยู่ในลีกระดับชาติ ทั้งไทยพรีเมียร์ลีก และลีกวัน รวม 38 สโมสร สามารถตรวจสอบดูงบการเงินได้ 28 สโมสร แบ่งเป็นไทยพรีเมียร์ลีก 15 สโมสร (จากทั้งหมด 18 สโมสร) และลีกวัน 12 สโมสร (จากทั้งหมด 20 สโมสร) พบว่า มีรายได้รวมกัน 2,008.96 ล้านบาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

Print

สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีก 15 สโมสร มีรายได้รวมกัน 1,585.33 ล้านบาท

– บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีรวมได้รวม 405.23 ล้านบาท

– เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด มีรวมได้รวม 302.35 ล้านบาท

– บีอีซี เทโรศาสน มีรายได้รวม 172.30 ล้านบาท

– บางกอกกล๊าส เอฟซี มีรายได้รวม 149.02 ล้านบาท

– สุพรรณบุรี เอฟซี มีรายได้รวม 111.71 ล้านบาท

– ชลบุรี ยูไนเต็ด มีรายได้รวม 109.23 ล้านบาท

– อาร์มี่ ยูไนเต็ด มีรายได้รวม 102 ล้านบาท

– โอสถสภา เอ็ม-150 มีรายได้รวม 80.39 ล้านบาท

– ทีโอที เอสซี มีรายได้รวม 64.68 ล้านบาท

– แบงค็อก ยูไนเต็ด มีรายได้รวม 59.65 ล้านบาท

– ราชบุรี มิตรผล มีรายได้รวม 46.43 ล้านบาท

– เชียงราย ยูไนเต็ด มีรายได้รวม 30.18 ล้านบาท

– สระบุรี เอฟซี มีรายได้รวม 28.07 ล้านบาท

– ชัยนาท ฮอร์นบิล มีรายได้รวม 24.95 ล้านบาท

– ราชนาวี มีรายได้รวม 18.88 ล้านบาท

สำหรับสโมสรที่ไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินได้ มีจำนวน 3 สโมสร ประกอบด้วย นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี, ศรีสะเกษ เอฟซี (ทั้ง 2 สโมสร เพิ่งก่อตั้งบริษัทในปี 2556) และการท่าเรือ เอฟซี (เพิ่งก่อตั้งบริษัท หลังเข้าบริหารแทนบริษัทเดิม ในปี 2558)

สโมสรในลีกวัน 13 สโมสร มีรายได้รวมกัน 423.63 ล้านบาท

– เพื่อนตำรวจ มีรายได้รวม 148.49 ล้านบาท

– พีทีที ระยอง มีรายได้รวม 99.32 ล้านบาท

– บีบีซียู เอฟซี มีรายได้รวม 49.04 ล้านบาท

– ภูเก็ต เอฟซี มีรายได้รวม 48.62 ล้านบาท

– แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล มีรายได้รวม 23.53 ล้านบาท

– ตราด เอฟซี มีรายได้รวม 14.23 ล้านบาท

– สงขลา ยูไนเต็ด มีรายได้รวม 13.38 ล้านบาท

– กระบี่ เอฟซี มีรายได้รวม 8.90 ล้านบาท

– อยุธยา เอฟซี มีรายได้รวม 6.74 ล้านบาท

– นครปฐม ยูไนเต็ด มีรายได้รวม 5.29 ล้านบาท

– สุโขทัย เอฟซี มีรายได้รวม 5 ล้านบาท

– พิจิตร เอฟซี มีรายได้รวม 1 ล้านบาท

– สมุทรสงคราม บีทียู มีรายได้รวม 42,356 บาท

สำหรับสโมสรที่ไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินได้ มีจำนวน 7 สโมสร ประกอบด้วย อ่างทอง เอฟซี (เพิ่งก่อตั้งบริษัท ในปี 2556) เชียงใหม่เอฟซี (เพิ่งก่อตั้งบริษัท ในปี 2557) ไทยฮอนด้า ลาดกระบัง, ประจวบ เอฟซี สโมสรยาสูบ เอฟซี (ทั้ง 2 สโมสร เพิ่งก่อตั้งบริษัท ในปี 2558) พัทยา ยูไนเต็ด (เพิ่งถูกเทกโอเวอร์จากบริษัทเดิม ในปี 2558) และบางกอกเอฟซี (ยังไม่ส่งงบการเงิน ตั้งแต่ปี 2556)

บิ๊กโฟร์โกยรายได้เกินครึ่ง – แต่สโมสร 3 ใน 4 ขาดทุน

แม้ภาพรวมรายได้ของสโมสรฟุตบอลในลีกระดับชาติของไทยอยู่ที่กว่า 2 พันล้านบาท อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่า ฟุตบอลไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดก็จะเห็นถึงสิ่งที่อาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคต เมื่อสโมสรฟุตบอลทุกวันนี้ จัดการในรูปแบบของธุรกิจเต็มรูปแบบ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลประกอบการฟุตบอลไทยลีก

1. มีเพียง 8 สโมสรที่มีรายได้รวมเกินกว่า 100 ล้านบาท และเฉพาะสโมสรที่มีรายได้สูงสุด 4 ลำดับแรก ได้แก่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เมืองทอง ยูไนเต็ด, บีอีซี เทโรศาสน และบางกอกกล๊าส เอฟซี ก็มีรายได้รวมกัน (1,028.90 ล้านบาท) มากกว่าสโมสรที่เหลือรวมกัน (980.06 ล้านบาท)

2. จากการตรวจสอบงบการเงิน พบว่า มีสโมสรฟุตบอลถึง 21 สโมสรจากทั้งหมด 28 สโมสรที่ตรวจสอบได้ คิดเป็น 75% มีผลประกอบการ “ขาดทุน” แบ่งเป็น สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีก ขาดทุน 10 สโมสร กำไร 5 สโมสร และสโมสรในลีกวัน ขาดทุน 11 สโมสร กำไรเพียง 2 สโมสร

เพราะการบริหารฟุตบอล ยังเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนกลับยากจะคุ้มค่า การขายสโมสรให้กับบุคคลอื่นเข้ามาบริหารงานแทนจึงเป็นภาพชินตาที่เกิดขึ้นแทบทุกปี อย่างเช่นในปี 2558 ที่ “นางนวลพรรณ ล่ำซำ” แห่งเมืองไทยประกันชีวิต เข้ามาบริหารสโมสรการท่าเรือ เอฟซี แทนเจ้าของเดิม หรือกรณี “นายพรรณธฤต เนื่องจำนงค์” นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุ่ม เครือบริษัทไพร์ม เนเจอร์ เข้าเทกโอเวอร์สโมสรพัทยา ยูไนเต็ด

3. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ผู้ควบคุมและจัดการแข่งขัน ได้กำหนดคุณสมบัติของสโมสรจะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพเอาไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ “ทุนจดทะเบียน” บริษัทขั้นต่ำ เพื่อให้มั่นใจว่าฐานะทางการเงินมั่นคงเพียงพอที่จะเข้าร่วมแข่งขันได้ โดยสโมสรที่จะเข้าร่วมการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ส่วนลีกวัน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่า มีสโมสรที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องทุนจดทะเบียน ถึง 13 สโมสร แบ่งเป็น สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีก 8 สโมสร ได้แก่ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี (มีทุนจดทะเบียน 14 ล้านบาท) บีอีซี เทโรศาสน (10 ล้านบาท) สระบุรี เอฟซี (10 ล้านบาท) เชียงราย ยูไนเต็ด (5 ล้านบาท) ราชนาวี (5 ล้านบาท) ทีโอที เอสซี (2 ล้านบาท) โอสถสภา เอ็ม-150 (2 ล้านบาท) และราชบุรี มิตรผล เอฟซี (1 ล้านบาท)

และสโมสรในลีกวัน อีก 3 สโมสร ได้แก่ เชียงใหม่ เอฟซี, ประจวบ เอฟซี และสุโขทัย เอฟซี (ทั้งหมด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท)

4.โครงความเป็นเจ้าของสโมสร ปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของสโมสรฟุตบอลอาชีพไทย หรือ 50% (19 สโมสร) เป็นของนักการเมือง ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตามมาด้วย เป็นของนักธุรกิจ (12 สโมสร) ซึ่งประกอบธุรกิจทั้งสื่อ เครื่องดื่ม โรงแรม ประกันภัย รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นของหน่วยงานราชการ (5 สโมสร) ทั้งทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ ตำรวจ และรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. ที่เหลือคืออื่นๆ (2 สโมสร)

การที่สโมสรฟุตบอลอาชีพระดับชาติของไทยกว่าครึ่งมีเจ้าของเป็นนักการเมือง แน่นอนว่า ผลดีคือจะทำให้แฟนคลับในระดับหนึ่งจากฐานเสียงของนักการเมืองคนนั้นๆ รวมถึงสามารถระดมทุนได้จากคอนเน็กชั่นที่ผู้นั้นมีอยู่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อำนาจทางการเมืองก็มีความอ่อนไหวสูง ไม่รวมถึงสิ่งที่หลายคนอาจต้องข้อสังเกตว่า จะทำสโมสรฟุตบอลอย่างจริงจัง หรือใช้เป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือการทำประชาสัมพันธ์ตนเอง

สิ่งเหล่านี้ คือความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ภายใต้ธุรกิตฟุตบอลไทยที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงยุคปัจจุบัน

ป้ายคำ :