ThaiPublica > คนในข่าว > “ปองพล สะสมทรัพย์” ทายาทรุ่น 3 “กลุ่ม 79” เจ้าพ่อขยะกรุงเทพฯ เล่าเรื่องขยะ ที่มากกว่าขยะ

“ปองพล สะสมทรัพย์” ทายาทรุ่น 3 “กลุ่ม 79” เจ้าพ่อขยะกรุงเทพฯ เล่าเรื่องขยะ ที่มากกว่าขยะ

4 สิงหาคม 2015


ปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยของไทยตกค้างสะสมทั่วประเทศ 14.8 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณขยะตกค้างเพิ่มขึ้นทุกปี

ขยะจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องจัดการ โดยมีโครงการนำร่องใน 6 จังหวัดที่มีขยะชุมชนสะสมมากที่สุด ได้แก่ สมุทรปราการ ลพบุรี ปทุมธานี สระบุรี อยุธยาฯ และนครปฐม

ในขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลิตขยะมากที่สุดของประเทศแต่ไม่มีขยะตกค้าง นั่นเป็นเพราะว่าจ้างให้บริษัทเอกชนรับขยะไปกำจัดทั้งหมด โดยมีจังหวัดนครปฐมเป็นเป้าหมายหลักในการฝังกลบขยะจากกรุงเทพฯ ซึ่งบริษัท “กลุ่ม 79” ได้รับสัมปทานมายาวนานกว่า 20 ปี จนกลายเป็น “เจ้าพ่อขยะกรุงเทพฯ” ด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ที่ทำให้นครปฐมมีขยะล้นเมือง กลายเป็นจังหวัดนำร่องที่ต้องจัดการ

นายปองพล สะสมทรัพย์ วิศวกรโครงการและทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทกลุ่ม 79 จำกัด
นายปองพล สะสมทรัพย์ วิศวกรโครงการและทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทกลุ่ม 79 จำกัด

“กลุ่ม 79” จากธุรกิจรถทัวร์สู่บริษัทรับกำจัดขยะ

นายปองพล สะสมทรัพย์ วิศวกรโครงการและทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทกลุ่ม 79 จำกัด ได้เล่าถึงธุรกิจกำจัดขยะของตระกูลสะสมทรัพย์ว่า “บริษัทรับกำจัดขยะของกรุงเทพฯ มากว่า 20 ปี บริษัทกลุ่ม 79 ก่อตั้งขึ้นในสมัยคุณปู่คุณย่า โดยเริ่มจากการวิ่งรถสิบล้อเป็นเจ้าแรกๆ ในปี 2531 จนวันหนึ่งเริ่มมีธุรกิจรถสิบล้อมากขึ้นจึงขายรถสิบล้อแล้วเปลี่ยนมาทำธุรกิจรถทัวร์สาย 79 หลังจากนั้นจึงตั้งเป็นบริษัทกลุ่ม 79 จนปี 2539 ทายาทรุ่นที่ 2 เห็นว่าธุรกิจรถทัวร์มีมากขึ้นก็เปลี่ยนมาทำธุรกิจรับกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบแบบถูกสุขลักษณะ (Sanitary Landfill)

การวิ่งรถสิบล้อในช่วงแรกๆ นั้นคือรับจ้างขนส่งขยะไปทิ้งให้กับ กทม. มีบ่อฝังกลบอยู่ที่สมุทรปราการและเขตประเวศ เป็นการทิ้งแบบเทกอง หลังจากนั้นก็คิดว่าทำธุรกิจกำจัดขยะเองดีกว่า ทำให้ธุรกิจนี้เริ่มต้นขึ้น ในช่วงแรกๆ จ้างต่างชาติมาทำงาน ล้มลุกคลุกคลานแต่พัฒนาจนมีวันนี้ บริษัทได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มีคนสนใจมาดูงานจำนวนมาก จากที่มีที่ดินฝังกลบขยะเพียง 80-90 ไร่ จนวันนี้มีที่ดินกว่า 2,000 ไร่

ปัจจุบันกลุ่ม 79 ได้สัมปทานกำจัดขยะให้ กทม. เป็นเวลา 5 ปี ต้องกำจัดขยะ 1,700 ตันต่อวัน ทำสัญญาเมื่อปี 2557 ประมูลราคาที่ประมาณ 600 บาทต่อตัน

นอกจากนี้ยังมีบริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด เป็นบริษัทของครอบครัวที่รับกำจัดขยะชุมชนแบบฝังกลบให้ กทม. เช่นกัน ทำสัญญาปี 2558 ระยะเวลา 10 ปี ต้องกำจัดขยะ 2,000 ตันต่อวัน โดยประมูลราคา 800 บาทต่อตัน

“การประมูลงานของ กทม. แต่ละสัญญาจะมีวงเงินงบประมาณโดยรวมก้อนหนึ่งและจ่ายให้กับผู้ประมูลเป็นงวดๆ ตามราคาและปริมาณที่รับขยะไปกำจัดจริง ซึ่งถ้างบประมาณหมดก่อน เพราะมีปริมาณขยะต่อวันสูงกว่าปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ตามสัญญาจำนวนมาก เช่น งบหมดใน 3 ปีจาก 5 ปี พอเงินหมดแต่เวลาเหลือ กทม. อาจต่อสัญญาเราจนหมดระยะเวลาแล้วทำสัญญาใหม่ก็ได้ เพราะในสัญญากำหนดไว้แล้วว่าต้องมีพื้นที่สำรองจากปริมาณคาดการณ์อีกร้อยละ 30 หรือจะจบแล้วประมูลใหม่เลยก็ได้ แต่รอยต่อระหว่างนี้ต้องมีคนทำงานซึ่งก็ใช้พื้นที่ร้อยละ 30 ดังกล่าว เพราะขยะค้างไม่ได้”

ทั้งนี้ แม้ว่าหลุมขยะจะปิดไปแล้ว ถ้าหลุมระยะ 10 ปีเราก็ต้องดูแลต่ออีก 5 ปีตามสัญญา และต้องวางเงินค้ำประกันให้ กทม. 20 ล้านบาท หากเกิดร้องเรียนหรือมีผลกระทบ กทม. มาตรวจเราก็ต้องแก้ไข แต่ถ้าเราไม่ทำ กทม. ก็เอาเงินประกันนั้นมาแก้ไขแทน แต่เมื่อครบ 5 ปี ไม่มีปัญหา กทม. คืนเงินค้ำประกันทั้งหมด หรือถ้าระยะเวลาหลุม 5 ปี ก็ดูแลต่อ 2.5 ปี วางเงินค้ำประกัน 10 ล้านบาท

ประมูลเสมือนผูกขาดรับกำจัดขยะจาก กทม.

กลุ่ม 79 เข้าร่วมประมูลขยะ กทม. มาตั้งแต่ยุคแรกๆ จนวันนี้เรามีบริษัทในเครือที่รับกำจัดขยะเหมือนกันคือ บริษัทวัสดุภัณฑ์ธุรกิจ ซึ่ง กทม. มีสถานีขนถ่ายขยะ 3 แห่ง คือ หนองแขม รับขยะเขตฝั่งธนฯ, ท่าแร้ง รับขยะด้านเหนือของ กทม. และอ่อนนุช รับขยะด้านตะวันออกของ กทม. และให้บริษัทเอกชนมาแข่งประมูลขยะจากสถานีแต่ละแห่ง

สถานีหนองแขม บริษัทกลุ่ม 79 จำกัด ชนะการประมูล ซึ่งได้มาตั้งแต่เปิดบริษัทแรกๆ จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็มีบางช่วงที่บริษัทอื่นได้รับสัปทานไปบ้าง ส่วนบริษัทวัสดุภัณฑ์รับขยะที่สถานีท่าแร้ง สำหรับอ่อนนุชผู้ที่ประมูลได้คือบริษัทไพโรจน์สมพงษ์ ด้วยวิธีการฝังกลบ และขยะที่ขนมาต้องฝังกลบทันทีโดยไม่มีการคัดแยก อีกทั้งขยะห้ามค้างที่สถานีขนถ่าย มิฉะนั้นบริษัทจะถูกปรับร้อยละ 0.1 ของสัญญา ซึ่งสัญญาหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 3,050 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งต้องกำจัดขยะรวมกว่า 7 ล้านตัน

รถขนขยะกลุ่ม 79

ในภาพรวมปริมาณขยะจาก กทม. นำมากำจัดที่นครปฐมประมาณร้อยละ 50-60 ของขยะทั้งหมดใน กทม.ประมาณ 10,000 ตัน โดยบริษัทกลุ่ม 79 รับจากสถานีขนถ่ายขยะหนองแขมประมาณ 3,000 ตัน บริษัทวัสดุภัณฑ์ธุรกิจ รับจากสถานีขนถ่ายขยะท่าแร้ง 2,000 ตัน รวมเป็น 5,000 ตัน ซึ่งขยะทั้งหมดที่รับมาจาก กทม. ไม่ได้เป็นขยะตกค้างในนครปฐม เพราะเงื่นไขสัญญาระบุชัดเจนว่า ห้ามมีขยะตกค้าง

นครปฐมติดอันดับ 1 ใน 6 จังหวัดที่มีขยะตกค้างสะสมมากที่สุดของประเทศ

นายปองพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาการกำจัดขยะมักถูกโจมตีจากประชาชน เพราะทุกวันนี้เกือบทุกจังหวัดที่มีปัญหาขยะ เช่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ ทั้งที่เป็นเมืองเล็กกว่า กทม. ทั้งสิ้น แต่ กทม. ไม่เคยมีปัญหาเรื่องขยะ

“แม้แต่ช่วงน้ำท่วมปี 2554 ก็ขนขยะออกมาได้ เพราะว่ากลุ่ม 79 เป็นคนจัดการให้ วันที่ กทม. น้ำท่วมเราเอารถเซมิเทรลเลอร์ไปจอดตามฟุตบาทถนนเส้นพุทธมณฑล ให้รถทหารขนขยะออกมาทิ้งแล้วเราก็ลากขยะมาที่นครปฐม แต่ถ้าเป็นบริษัทใหม่ๆ ไม่มีประสบการณ์กำจัดขยะมา 5-10 ปี ที่ปริมาณขยะวันละเป็นพันๆ ตัน ผมเชื่อว่าทำอย่างนี้ไม่ได้”

จุดขนถ่ายขยะจากเซมิเทรลเลอร์ใส่รถบรรทุกเพื่อไปเทในบ่อขยะ
จุดขนถ่ายขยะจากเซมิเทรลเลอร์ใส่รถบรรทุกเพื่อไปเทในบ่อขยะ

“ส่วนขยะสะสมของนครปฐมไม่ได้อยู่ที่กลุ่ม 79 แต่อยู่ที่เทศบาลเมืองนครนครปฐม ซึ่งกำจัดขยะแบบเททิ้งกองกลางแจ้งสะสมไว้เรื่อยๆ กว่า 10 ปีแล้วจนวันหนึ่งก็กลายเป็นกองใหญ่ วันนี้เทศบาลนครรู้ว่ามีปัญหาเรื่องขยะจึงซื้อที่ดินเพิ่ม และยังมีที่ดินเหลืออีกเป็น 100 ไร่ ซึ่งในวันที่ คสช. ออกโรดแมปมานั้น ในเทศบาลนครนครปฐมก็คุยกันว่ากลุ่ม 79 จะไปแย่งขยะหรือไม่ ในความเป็นจริงผมจะไปแย่งทำไม เพราะในวันที่กรมควบคุมมลพิษ ให้เราเข้าไปหารือ ก็ถามว่ากลุ่ม 79 รับกำจัดให้ได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ แต่ต้องขออนุญาต กทม. ให้เรา เพราะเรารับกำจัดขยะให้เฉพาะ กทม. เท่านั้น ถ้ามีขยะจากที่อื่นมาเราก็ต้องแจ้งให้ กทม. ทราบ ซึ่งทางจังหวัดก็ทำเรื่องขออนุญาตเรียบร้อย รวมถึงหาบริษัทรับจ้างขนขยะมาที่บ่อ แต่สุดท้ายแล้วเกิดความขัดแย้งระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงมหาดไทย ทำให้เรื่องหยุดชะงักลง”

นายปองพลเล่าต่อว่า เท่าที่ทราบจากการประชุมระดับท้องถิ่น พบว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากต้นทาง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งจ่ายเงินต่อสัญญาไม่เกิน 50 ล้าน แต่การขนย้ายขยะที่นครปฐมใช้เงินกว่า 200 ล้าน ทำให้ผู้ว่าฯ อนุมัติไม่ได้ หรือจะไปทำเรื่องจัดจ้างพิเศษก็ทำไม่ได้เพราะงบประมาณเกิน 2 ล้านบาท ในขณะที่โรดแมประบุแล้วว่าปลายทางขยะไปกำจัดที่กลุ่ม 79 นี่คือปัญหาติดพัน จนล่าสุด คสช. เดินหน้าโรดแมปต่อแล้ว แต่ให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ไม่ใช่กรมควบคุมมลพิษอย่างเดิม และเทศบาลนครได้งบจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงหลุมขยะตัวเองแล้ว

ที่ผ่านมาเทศบาลนครมีระบบจัดการขยะเอง จึงไม่ได้ว่าจ้างเอกชนเหมือน กทม. รวมถึงมีเรื่องการเมืองเล็กๆ ด้วย ซึ่งบ่อขยะของเทศบาลนครประมาณ 100 กว่าไร่ ปริมาณขยะประมาณ 4-5 แสนตัน แต่มีปัญหาเพราะทิ้งเทกองกลางแจ้ง (open dumb) ทั้งนี้การทำฝังกลบถูกสุขลักษณะไม่ใช่ว่าทำง่าย เพราะต้องสำรวจพื้นที่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ความลึกน้ำใต้ดิน ก่อนเลือกเป็นบ่อฝังกลบขยะ เช่น ถ้าน้ำใต้ดินอยู่ตื้นก็ทำบ่อขยะไม่ได้แล้ว

“ทุกวันนี้ขยะไปอยู่ตรงไหนก็มีปัญหาหมด เพราะถ้าขยะหอมก็ไม่มีคนทิ้ง แล้วกว่าขยะจะออกนอกบ้านก็ 2-3 วัน กว่ารถ กทม. จะเก็บก็อีก 1 วัน กว่าจะรวบรวมและถึงบ่อฝังกลบขยะก็ประมาณ 6 วัน ซึ่งเป็นขยะจริงๆ ที่เหม็นเต็มที่แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานจึงมีกลิ่นออกไปแน่นอน ซึ่งโครงการเราเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แน่นอนว่ากลิ่นก็ต้องฟุ้งออกมา แต่เราขอบอกว่าเราตั้งใจทำให้เกิดผลกระทบน้อยสุด จากทำงาน 24 ชม. วันนี้เหลือเพียง 16 ชม. และพยายามตัดให้เหลือ 12 ชม. ให้ได้ แต่วันนี้ที่เปลี่ยนไปแล้วจากเดิมคือ เดิมดินที่ขุดมาเรากองไว้ สิบล้อรับขยะขึ้นไปทิ้งพอได้ระดับค่อยกลบขยะ แต่วันนี้เมื่อเราได้อายุสัญญายาวขึ้น เราวางแผนงานได้ชัดเจนขึ้น โดยรถคันแรกเอาขยะมาที่แพลตฟอร์ม 7.00-11.00 น. แล้วปิด ไม่ลงขยะแล้ว หลังจากนั้นขนขยะไปทิ้งที่บ่ออย่างเดียว พอ 11.00 น. รถจะขนดินขึ้นไปรอที่บ่อขยะ และก่อนเที่ยงต้องกลบขยะเสร็จแล้ว ช่วงบ่ายเปิดแพลตฟอร์มใหม่ลงขยะถึง 16.00 น. เวลา 17.00 น. ต้องกลบดินเสร็จแล้ว ซึ่งต้องเป็นอย่างนี้ทุกวัน คือขยะลงปุ๊บก็กลบดินปั๊บเพื่อให้เกิดกลิ่นในระยะเวลาสั้นที่สุด”

นอกจากนี้ยังมีกำแพงต้นไม้ล้อมรอบบ่อขยะ บางส่วนก็กั้นรั้วตาข่ายล้อมไว้ เพื่อให้ขยะติดอยู่ในพื้นที่ กลิ่นก็ออกไปข้างนอกน้อยลง แต่เมื่อถมสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็มีปัญหาขยะปลิวออกไปบ้างเหมือนกัน ทั้งนี้รอบๆ บ่อขยะต้องมีทางระบายน้ำฝน ส่วนน้ำขยะก็สูบลงบ่อบำบัดน้ำเสียต่อไป

เซมิแทรลเลอร์ที่ใช้ขนขยะจาก กทม. โดยกลุ่ม 79 จำกัดมีรถกว่า 80 คัน และบริษัทวัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด มีรถประมาณ 50 คัน
เซมิเทรลเลอร์ที่ใช้ขนขยะจาก กทม. โดยกลุ่ม 79 จำกัด มีรถกว่า 80 คัน และบริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด มีรถประมาณ 50 คัน

ทำกิจกรรมกับชุมชน สร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง

ส่วนความขัดแย้งรุนแรงกับชุมชนไม่มี เพราะทุกวันนี้ถ้าเราทำดีแล้วไปบอกเขา เขาก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อมี ISO การันตีก็เป็นข้อพิสูจน์มาตรฐานการทำงานได้ชัดเจน ซึ่งต่อไปบริษัทวัสดุภัณฑ์ฯ ก็ต้องขอ ISO 14001 ให้ได้

“เราสร้างสัมพันธ์ผ่านกิจกรรม เช่น โครงการเสาร์สุขภาพ ทุกๆ วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนในช่วงเช้า มีแม่บ้านและชาวบ้านใกล้เคียงหมุนเวียนมาทำกับข้าวโดยเราให้เงินค่าอาหาร แล้วก็ให้ชาวบ้านเดินดูบ่อขยะของเรา บางคนที่ไม่เคยมาก็ต่อต้านแต่เมื่อเข้ามาเห็นสภาพพื้นที่บ่อขยะจริงๆ ทัศนคติก็เริ่มเปลี่ยน เพราะพื้นที่ดูสะอาดตาและไม่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง รวมถึงมีต้นไม้ล้อมรอบ ทั้งนี้ยังมีต้นไม้พันธุ์ต่างๆ ให้ชาวบ้านปลูกในพื้นที่บ่อขยะและมีชื่อผู้ปลูกด้วย ซึ่งชาวบ้านสามารถ เข้ามารดน้ำดูแลได้ตลอด”

“ต้องเข้าใจว่าฝังกลบคนจะมองว่าลงหลุมไปหมดแล้วตรวจสอบอะไรไม่ได้หรอกเพราะมองไม่เห็น แต่ทุกวันนี้ กทม. ใช้เครื่องยิงระดับคำนวณกลับปริมาตรว่าขยะหายหรือเปล่า รถที่ขนส่งวิ่งเข้าออกก็มีแท็กติดที่รถไว้ยิงข้อมูลเข้าออนไลน์ไปยัง กทม. 2 ที่ดินแดง ตาชั่งก็ยิงน้ำหนักออนไลน์ตรงไปยัง กทม. 2 แล้วเขาก็เอาตัวเลขนี้มาจ่ายเงินเรา เราเองก็ต้องชั่งเองที่ปลายทางด้วย แล้วเวลาตรวจสอบเขาก็เอาตัวเลขต้นทางปลายทางมาตรวจสอบกัน คือทุกอย่างของเราตรวจสอบได้หมด”

นอกจากนี้ยังมีนโยบายชุมชนสัมพันธ์ คือ ลูกๆ ของพนักงานเราให้ทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรีครอบครัวละ 2 คน และโรงเรียนใกล้เคียงประมาณ 4-5 แห่ง เราให้ทุนการศึกษาเด็กทุกคน คนละ 1,000 บาท นั่นคือถ้าบ่อขยะเราสร้างผลกระทบอะไรให้เขาเราคงชดเชยให้ไม่ได้ แต่เหมือนเราทดแทนที่เรามาอยู่ตรงนี้ และสนับสนุนฟุตบอลกลุ่มกำแพงแสน 79 คัพ ปีละ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในนครปฐมโดยส่งทีมเข้ามาแข่งกันหลายทีม กิจกรรมนี้ทำมาเป็น 10 ปีแล้ว ส่วนเสาร์สุขภาพและทุนการศึกษาทำมา 5-6 ปีแล้ว

สำหรับโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ถ้ารัฐบาลมีโรดแมปออกมา มีคำสั่งมายังจังหวัด มายัง อบต. ให้สำรวจปริมาณขยะในพื้นที่แล้วให้บอกว่ากำจัดอย่างไรเพื่อรายงานขยะตกค้าง ซึ่งขยะตกค้างที่เทศบาลนครปฐม จะให้เทศบาลนครจัดการเอง โดย อปท. อนุมัติงบประมาณให้ 120 ล้านบาท ในส่วนของจังหวัดที่ อบต. เล็กๆ ให้แบ่งเป็นคลัสเตอร์แล้วหาเอกชนมารับกำจัด ซึ่งขยะปริมาณนี้กลุ่ม 79 รองรับได้แน่นอน เพียงแต่ผู้ว่าจ้างต้องทำเรื่องขออนุญาตจาก กทม. ก่อน เพื่อให้ กทม. ทราบว่าพื้นที่ถูกเบียดเบียนเท่าไหร่ ถ้า กทม. ไม่มีปัญหาเราก็ทำได้ แต่ขออย่างเดียวคือต้องเป็นขยะชุมชนเท่านั้น

“ขยะอันตรายที่ปะปนมากับขยะชุมชนเป็นปัญหามาก ซึ่งเวลาไปบรรยายหลายคนก็ถามว่าขยะมากขนาดนี้รู้ได้ไงว่าไม่มีขยะอันตราย ผมก็ถามกลับว่าแล้วคุณแยกขยะก่อนหรือไม่ เพราะถ้าทิ้งขยะเหล่านั้นก็เดินทางมาที่ลุ่ม 79 แต่อย่างถ่านไฟฉายที่ปนมากับขยะนั้นจะตรวจหาโลหะหนักไม่พบ เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณขยะทั้งหมด แต่หากเป็นขยะอันตรายล้วนๆ ก็ต้องฝังกลบอย่างปลอดภัยนั้นจะมีวิธีการที่แตกต่างจากการทำงานของกลุ่ม 79”

จากฝังกลบขยะมาสู่การหมุนเวียนใช้หลุมขยะเก่า

นายปองพลเล่าย้อนให้ฟังว่า ในปี 2538 บริษัทได้ดำเนินการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ได้เงินสนับสนุน 1 ล้านบาทในนามมูลนิธิชัยพัฒนา กองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ ให้กับกลุ่ม 79 และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ทำงานวิจัยร่วมกัน ในโครงการที่ต้องการจะหมุนเวียนการใช้หลุมขยะเก่า แต่เนื่องจากระยะเวลาสัญญาที่ได้รับจาก กทม. ไม่แน่นอน คือ บางสัญญา 5 ปี บางสัญญา 10 ปี บางสัญญา 4 ปี บางสัญญา 3 ปี

แต่หลังจากที่กลุ่ม 79 ริเริ่มโครงการตามแนวพระราชดำริ ทำให้ กทม. ให้ระยะเวลาสัญญายาวขึ้นเป็น 10 ปี จึงทำให้ ณ วันนี้โครงการประสบความสำเร็จในขั้นที่ 1 คือสามารถเอาหลุมขยะเก่ามาฝังกลบซ้ำใหม่ได้แล้วในปี 2557 โดยบ่อขยะเก่าขนาดประมาณ 170 ไร่ หลังจากที่ขุดรื้อขยะเก่าขึ้นมาแล้ว ทำให้ได้พื้นที่ว่างที่สามารถสร้างหลุมฝังกลบบนพื้นที่เก่า โดยที่ กทม. ยินยอมให้ใช้พื้นที่เก่าได้

“ถ้าคิดเร็วๆ คนอาจจะมองว่าการเอาที่เก่ามาฝังกลบใหม่ต้นทุนต้องถูกลง แต่ทำไมราคาที่ประมูลสูง ต้องชี้แจงว่า ต้นทุนไม่ได้ถูกลง เพราะอย่าลืมว่าวันที่เราได้ที่ดินมาเราเสียค่าขุดอย่างเดียว ดินที่ได้ก็ต้องไว้ใช้ฝังกลบขยะและใช้ดินบางส่วนบดอัดก้นหลุม สิ่งที่เราได้คือ เราเสียค่าขุดแค่ครั้งเดียว แต่ถ้าเอาหลุมขยะเก่ามาใช้ซ้ำ ต้องเสียค่าขุดขยะออก เสียค่าร่อนขยะ เพราะฉะนั้นต้นทุนไม่ได้ถูกลงเลย ทั้งนี้แม้ว่าจะเอาบ่อขยะเก่ามาใช้ใหม่ แต่ด้วยหลุมเก่าที่มีพื้นที่จำกัด จึงเพียงพอสำหรับฝังกลบขยะแต่ไม่เพียงพอสำหรับทำระบบบำบัดน้ำเสีย”

บำบัดน้ำเสียจากขยะเป็นประชาชุมชน

สำหรับการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากขยะ เดิมต้องทำในโครงการมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ แต่วันนี้กลุ่ม 79 ได้พัฒนาทำระบบบำบัดน้ำเสียจากขยะแบบใหม่ซึ่งใช้พื้นที่แค่ 15 ไร่ เนื่องจากที่ดินมีจำกัด โดยมีแพลนบำบัดน้ำเสียที่น้ำสุดท้ายผ่านเครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis System) ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่าน้ำอุปโภคใช้เป็นน้ำประปาได้ โดยระบบบำบัดนี้ลงทุน 100 ล้านบาท และปัจจุบันเริ่มใช้ระบบนี้ดำเนินงานแล้ว น้ำที่ได้มาจากระบบ RO นำมาใช้ได้ เพราะใน TOR ระบุชัดเจนว่าห้ามปล่อยน้ำออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ในอนาคตวางแผนไว้ว่าจะจ่ายเป็นน้ำประปาฟรีให้ชุมชน เพราะปัจจุบันคนแถวนี้ใช้น้ำบาดาลซึ่งมีสีแดง และค่อนข้างเค็ม/กร่อยมาก น้ำที่เราบำบัดต่อวันอยู่ที่ 1,200 คิวต่อวัน ซึ่งได้น้ำสะอาด 800 คิวต่อวัน และเป็นน้ำที่นำกลับไปใช้ในระบบบำบัดต่ออีก 400 คิวต่อวัน นั่นหมายถึงว่าเราจะมีน้ำดี สะอาด ให้ใช้ได้วันละ 800 คิวต่อวัน

พื้นที่บำบัดน้ำเสียระบบชีวภาพโดยใช้บ่อผึ่งและเติมอากาศในบ่อสุดท้าย ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟสๆ ละ 8 บ่อ รวมทั้งหมด 16 บ่อ ขนาดพื้นที่รวม 80 ไร่
พื้นที่บำบัดน้ำเสียระบบชีวภาพ ใช้บ่อผึ่งและเติมอากาศในบ่อสุดท้าย แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 8 บ่อ รวม 16 บ่อ ขนาดพื้นที่ 80 ไร่

นายปองพลเล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินในพื้นที่บ่อขยะ เพื่อตรวจวัดว่าน้ำขยะรั่วซึมสู่น้ำใต้ดินหรือไม่ และก่อนที่จะนำขยะมาฝังกลบได้ต้องเตรียมพื้นที่บ่อโดยการบดอัดดินเหนียว 1 เมตร ปูแผ่นพลาสติก HDPE ภายในบ่อ หลังจากก็ลงทรายเพื่อกัน HDPE ขาด แล้วก็วางท่อสูบน้ำไปยังบ่อบำบัดน้ำเสีย ส่วนบ่อสังเกตการณ์ก็อยู่ด้านล่าง จะตรวจสอบจากบ่อสังเกตการณ์ได้ว่าน้ำรั่วไปใต้ดินหรือเปล่า โดยมีบ่อสังเกตการณ์ที่ต้นน้ำ 2 บ่อ และท้ายน้ำอีก 3 บ่อ และตรวจสอบโดยเทียบค่าระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำ ซึ่งต้องตรวจและรายงานผลต่อ กทม. ทุกเดือน และมีคณะกรรมการตรวจรับงานจาก กทม. มาทุกเดือน ว่าฝังกลบเป็นยังไง การบำบัดน้ำเป็นอย่างไร มีเรื่องร้องเรียนไหม ฯลฯ อีกทั้งต้องมีท่อเพื่อให้มีเทนระบายออกจากกองขยะแล้วแฟร์ทิ้งทันทีที่ปล่อยท่อ

การฝังกลบขยะแต่ละชั้น จะมีความหนา 3 เมตร แบ่งเป็นขยะ 2.7 เมตร และปิดทับด้วยดินบดอัด 0.30 เมตร เป็นชั้นๆ ต่อๆ กันไปจนกระทั่งเต็มเสมอพื้นดินปกติ หลังจากนั้นจึงเริ่มตั้งคันดินให้สูงขึ้นโดยมีฐานกว้าง 12 เมตร หลังคันกว้าง 3 เมตรต่อ 1 ชั้น เพื่อรองรับการถมขยะให้สูงขึ้นไป ดังนั้นขยะจึงถูกอุ้มด้วยดินทำให้โอกาสที่แก๊สมีเทนจะรั่วออกไปด้านข้างบ่อจะไม่มี จึงบังคับให้มีเทนระบายออกได้ทางเดียวคือท่อที่ทำไว้ ทั้งนี้ แม้ว่ามีเทนทั้งหมดจะถูกแฟร์ทิ้ง แต่มีขยะ 1 บ่อที่นำไปใช้ประโยชน์ในโครงการที่กลุ่ม 79 ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ โดยส่งมีเทนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเริ่มโครงการมากว่า 5 ปีแล้ว โดย กฟผ. ให้ราคา 2.5 บาทต่อหน่วย และรัฐบาลสนับสนุนเป็นแอดเดอร์ให้อีก 2.5 บาทต่อหน่วย

เตาเผาดีแต่ไม่มีเตาเผาที่เหมาะกับขยะไทย

นายปองพลเล่าต่อว่าขยะบ่อเก่าที่รื้อขึ้นมานั้น จะนำมาร่อนออก ทำให้ส่วนหนึ่งเป็นต้นทุนดินที่ใช้อัดบนฝังกลบขยะต่อไป และส่วนหนึ่งเป็นพลาสติกและขยะที่ไม่ย่อยสลาย ขยะนี้เป็นวัตถุดิบของโครงการระยะที่ 3 ตามแนวพระราชดำริ โดยจะนำไปเผาเป็นขยะเชื้อเพลิง คือ การแปรสภาพขยะให้เป็นเชื้อเพลิงแข็ง เป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขาย กฝผ. ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะทำได้เป็นที่แรก เพราะว่าปริมาณขยะและอายุสัญญาเหมาะสม

“ผมบอกว่าเตาเผาดีแต่ไม่มีเตาเผาที่เหมาะกับขยะไทย เพราะไทยไม่แยกขยะ แล้วขยะมีความชื้นสูง เพราะฉะนั้นเวลาเผาต้องใช้เชื้อเพลิงตั้งต้นสูงคือน้ำมัน ทุกวันนี้เตาเผาที่มีในไทยปัจจุบันไม่ผ่านสักที เพราะอุณภูมิต่ำกว่า 900 องศาเชลเซียส จะก่อไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เพราะฉะนั้น เวลาเกิดปัญหามันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนมากกว่าว่าทำธุรกิจนี้จะปล่อยให้เกิดปัญหาหรือไม่ แต่ในมุมเรา เรามองว่าเราจะทำเตาเผาได้ ผมเชื่อว่าตัวเองดูเตาเผามาแล้วทั่วโลก พบว่าทุกที่ไม่มีเอาขยะสดไปเผา ทุกที่ใช้วิธีเอาไปรวมกัน แล้วเตาเผาเอาพวกขยะดี เช่น RDF หรือพลาสติกมาใส่โรงงาน พออุณภูมิได้ที่ก็เอาอุณภูมิปล่องควันมาเผาขยะให้แห้งก่อนเอาไปเผา แต่ในไทยคือพอไฟติดก็เอาขยะใส่อัดๆ ลงไป เพราะฉะนั้นอุณภูมิเตาจึงไม่คงที่ ถ้าหากให้อุณหภูมิสูงคงที่ต้องอัดน้ำมัน ทำให้ต้นทุนสูง นี่คือข้อจำกัด”

“ผมเป็นผู้ทำธุรกิจนี้รุ่นที่ 3 แล้ว ณ วันนี้เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องขอ ISO เพราะช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงานมีคนว่ามากมาย ผมก็บอกว่าไม่เป็นไรเราจะบอกว่าตัวเองดีไม่มีใครเชื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องไปขอ ISO14001 และวันนี้เราก็ได้มาตรฐานดังกล่าวแล้ว และคนที่อยู่ในละแวกนี้เขารู้ว่าเราทำอะไรซึ่งถ้าเราทำไม่ดี เราอยู่พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้เพราะร้อยละ 70-80 ของพนักงานบริษัทเป็นคนในพื้นที่ ดังนั้น ถ้ามีน้ำเสีย มีกลิ่นเหม็น หรืออะไรรั่วไหลออกไป คนตรงนี้อยู่กันไม่ได้”

ทั้งนี้ เรื่องกลิ่นเหม็นมีบ้าง เพราะขยะไม่เหม็นเป็นไปไม่ได้ ทุกๆ การเคลื่อนไหวของขยะมีกลิ่นแน่นอน เพียงแต่วิธีการฝังกลบของเราจะกำจัดอุปสรรคสำคัญ 2 อย่างคือตากับจมูก คือถ้าตามองเห็นว่าสกปรก สมองก็จะไปบอกจมูกว่าเหม็นแน่ๆ แต่ถ้า ณ วันนี้พื้นที่บ่อขยะปลูกต้นไม้ล้อมรอบทำให้ตามองว่าดี และพยายามทำให้เหม็นน้อยที่สุด โดยการเทขยะและกลบดินทับให้เร็วที่สุด

“วันนี้เรามีหลุมฝังกลบทั้งหมด 4 บ่อ รวมพื้นที่แล้วประมาณ 2,000 ไร่ แต่เมื่อรวมพื้นที่ของวัสดุภัณฑ์ฯ ด้วยก็ประมาณ 3,000 กว่าไร่”

พื้นที่ด้านบนของบ่อขยะขนาด 202 ไร่ซึ่งปิดบ่อไปเมื่อมีนาคม 2548
พื้นที่ด้านบนของบ่อขยะขนาด 202 ไร่ซึ่งปิดบ่อไปเมื่อมีนาคม 2548

พลังงานทางเลือกจากขยะ

นายปองพลเล่าว่า สมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศสนับสนุนพลังงานทดแทนในไทย 400 เมกะวัตต์ โดยจะจ่ายเงินสนับสนุนหรือแอดเดอร์ให้ 7 ปี ซึ่งกลุ่ม 79 ก็ได้ดำเนินโครงการพลังงานทดแทนจากขยะเช่นเดียวกัน โดยยื่นขอทำโรงไฟฟ้า RDF เพื่อทำพลังงานทดแทนโดยขอรับแอดเดอร์เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ ณ วันนี้เรื่องถูกปฏิเสธ จนกระทั่งรัฐบาลยกเลิกมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากแอดเดอร์มาเป็นฟีดอินทาริฟ (Feed in Tariff) ซึ่งเหตุผลในการเปลี่ยนไม่ใช่เพราะมีปริมาณไฟฟ้าครบ 400 เมกะวัตต์ เพราะในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา มีคนขออนุญาตเพียง 60 เมกะวัตต์เท่านั้น

ที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติบุกตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) จำนวนมากเพื่อเสนอลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่วันนี้บริษัทต่างชาติหายไปหมดแล้ว การลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุนเป็นแอดเดอร์มีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าฟีดอินทารีฟ เพราะแอดเดอร์จ่ายเงินให้ไปเรื่อยๆ จนครบ 7 ปี แต่ฟีดอินทารีฟรัฐบาลยืดระยะเวลาจ่ายเงินออกไปบางโครงการจากที่ได้ 7 ปีกลายเป็น 12-15 ปี แต่ตัวเงินน้อยลง เพราะฉะนั้น เวลาคืนทุนยาวขึ้น ในมุมมองของผมมองว่าเราเสียโอกาสที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ โอกาสที่พัฒนาธุรกิจตัวเอง

จุดชั่งน้ำหนักขยะที่เข้ามาในโครงการ
จุดชั่งน้ำหนักขยะที่เข้ามาในโครงการ

“ในวันที่เราเดินเรื่องนี้เรายังไม่รู้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะถูกปฏิเสธ เพราะว่าเป็นโครงการต่อเนื่องกัน ที่รื้อบ่อขยะเก่ามาใช้ใหม่ เอาน้ำมาบำบัด RO ทำประปา และนำขยะที่ร่อนดินออกแล้วมาเผาทำ RDF แล้วขอสนับสนุนแอดเดอร์จากรัฐบาล โดยทางบริษัทได้ลงทุนร่วมกับโตโยต้าจากญี่ปุ่น ซึ่งมาดูงานกันระดับหนึ่งที่พร้อมจะเซน MOU แล้ว ประสานงานว่าจ้างบริษัทออกแบบเตาเผาและเสียค่าออกแบบและค่าปรึกษาไป 40-50 ล้านบาทแล้ว สุดท้ายโครงการก็ถูกปฏิเสธ ทำให้ ณ วันนี้โครงการเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุนถ้าใช้ระบบฟีดอินทาริฟ

“แต่จากที่ได้ลุงชัยยศ สะสมทรัพย์ ได้คุยกับคุณดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้บอกว่ามีฟีดอินทาริฟน่าจะดีกว่า ซึ่งทางเราก็บอกว่าไม่เป็นไรถ้าฟีดอินดีกว่า ได้เงินมากกว่าเราไม่เอา เราขอกลับไปเป็นแอดเดอร์ ถือว่าช่วยประเทศชาติเพราะระยะคืนทุนจะสั้นลง แล้วการทำงานจะง่ายขึ้น”

“ฟีดอินทาริฟดีในกรณีที่ลงทุนผลิตไฟฟ้า 1-3 เมกะวัตต์ แต่พอเริ่มผลิตไฟฟ้ามากขึ้นยิ่งได้เงินน้อย เพราะเงินก้อนหนึ่งจากที่ต้องจ่ายให้หมดใน 7 ปีก็ยืดเป็น 12 ปี และเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วต้องไปแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ อีก คือ ถ้าใครผลิตน้อยกว่ารัฐก็ให้เงินคนนั้นก่อน ซึ่งต่างประเทศยกเลิกฟีดอินไปแล้วเพราะไม่โอเค แต่ประเทศไทยกลับเอามาใช้ อาจะเป็นเพราะรัฐบาลต้องการลดค่าใช้จ่าย”