ThaiPublica > คนในข่าว > ประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า แจงฝุ่นดำ “แค่สร้างความรำคาญ”

ประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า แจงฝุ่นดำ “แค่สร้างความรำคาญ”

18 สิงหาคม 2014


จากความเดือดร้อนของประชาชนในอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกี่ยวกับปัญหาต่อเนื่องที่เกิดจากการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือในอำเภอ โดยเฉพาะถ่านหิน มันสำปะหลัง ปุ๋ย ข้าว และอื่นๆ ซึ่งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอในซีรีส์ “ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ”

ต่อประเด็นนี้ นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง และในฐานะผู้บริหารบริษัททีเอช นครหลวง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจท่าเรือและขนถ่ายถ่ายมันสำปะหลัง ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ว่า “ประเด็นความเดือดร้อนตอนนี้จะเป็นเรื่องฝุ่นดำจากถ่านหิน และมีแนวโน้มว่าจะมีการนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพลังงานทดแทนที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาใช้ เพราะราคาที่ถูกที่สุด สะอาดที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด ที่ว่าสะอาดในที่นี้คือ ไม่สร้างความเสียหายให้ชั้นบรรยากาศแต่อาจสร้างเหตุรำคาญ และถ่านหินที่นี่ไม่เหมือนที่แม่เมาะที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ซึ่งการบ่มตัวของมันยังไม่ถึงอายุ แต่ที่อำเภอนครหลวงส่วนมากจะใช้ถ่านหินที่ดีกว่าลิกไนต์ คือ บิทูมินัส”

 นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวงและผู้บริหารบริษัททีเอช นครหลวง จำกัด
นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวงและผู้บริหารบริษัททีเอช นครหลวง จำกัด

ทั้งนี้ ปัจจุบันอำเภอนครหลวงมีท่าเรือทั้งหมด 39 ท่า เป็นสมาชิกชมรม 26 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่มีท่าเรือ 22 บริษัท และบริษัทที่อาศัยการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรืออื่น 4 บริษัท และในจำนวน 39 ท่าเรือมีบริษัทถ่านหิน 16 บริษัท ขนส่งถ่านหินปีละ 9 ล้านตัน กล่าวได้ว่าอำเภอนครหลวงเป็นท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้

ไทยพับลิก้า : บริษัทขนถ่ายถ่านหิน 16 บริษัท เทียบกับพื้นที่แล้วรองรับได้แค่ไหน

ไม่ทราบครับ เพราะมันเป็นการลงทุน เราไปบังคับเขา (ผู้ประกอบการ) ไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ถ่านหินที่ขนถ่ายที่นครหลวงส่วนมากเอาไปทำอะไร

ในส่วนของการขนถ่ายถ่านหิน จะมี 2 ลักษณะงาน คือ 1) ขนเพื่อนำไปใช้แล้วส่งมอบต่อได้เลย กับ 2) ขนแล้วนำไปเก็บในคลังสินค้า เนื่องจากภูมิประเทศแม่น้ำป่าสัก พอเข้าฤดูฝน ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน น้ำจะเริ่มสูงขึ้น พอเข้าเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเป็นช่วงน้ำหลากก็จะเกิดอุทกภัย ทุกปีจะเป็นแบบนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการลากเรือสินค้าเข้ามาในช่วงนั้น เพราะการขนส่งจะติดทางลอด และจากปกติใช้เรือ 1 ลำลากเรือขนสินค้า ถ้าเป็นช่วงน้ำหลากต้องใช้เรือ 5 ลำลาก เพราะมันทวนกระแสน้ำ

ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บสินค้าเพื่อใช้ในช่วงฤดูน้ำหลากประมาณ 3 เดือน เพราะลูกค้า เช่น โรงปูนซีเมนต์ ต้องใช้ถ่านหิน 12 เดือนเหมือนกัน ดังนั้นการขนสินค้าในวงจรของเขาก็จะปรับวัฏจักร โดยจะเร่งปริมาณเอาสินค้าเข้ามาเทกองไว้ จึงมองเห็นความแออัด และท่าเรือบางบริษัทก็มีความกว้างที่ไม่เท่ากัน บางท่าอาจจะ 100 เมตร บางท่า 150-300 เมตร

ไทยพับลิก้า : นอกจากความแออัดของท่าเรือแล้ว ณ วันนี้มีบริษัทที่ใช้เรือขนเกินความจุ 500 ตันกรอส ไหม

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ขณะนี้ท่าเรือที่ทำการก่อสร้างมันมีข้อกำหนดว่า 1) ความยาวหน้าท่าไม่เกิน 100 เมตร 2) พื้นที่โดยรวมทั้งหมดไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ถ้าเกินกว่านั้นต้องไปยื่นให้กับกฎหมายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ต้องทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งท่าเรือที่กรมเจ้าท่าไปสร้าง ยังสร้างไม่เกิน 500 ตันกรอส เลย

ไทยพับลิก้า : เพื่อเลี่ยงการทำ EIA

อย่าเรียกว่าเลี่ยงเลย มันเป็นเรื่องของขนาดเรือ ซึ่งในเรื่องน้ำหนักเรือ 500 ตันกรอส กับเมตริกตันไม่เท่ากัน ใน 1 ตันกรอส คูณ 2.8 ถึงจะเป็นเมตริกตัน โดยประมาณการ 500 ตันกรอส มันรองรับได้เกือบ 2,000 ตัน คือ ตันกรอสมันเป็นกฎหมายสากล ส่วนเมตริกตัน จะมาแตกย่อยอีก มันเหมือนกับคุยเป็นศอกเป็นวา ที่นี้กลายเป็นเซนติเมตร ในเรื่องตรงนี้ก็ต้องรู้ว่าระเบียบหรือข้อกฎหมายมันถูกกำหนดมาเป็นแบบนั้น

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้มีมาตรฐานข้อกำหนดในการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือต่างๆ หรือไม่

ในส่วนนี้ก็อยู่ที่การพัฒนาของกรมเจ้าท่า แต่ที่ผ่านมาก็เป็นไปตามสภาวะของการเมือง ปัจจัยการขนส่งหรือขนย้ายก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะในพื้นที่ค่อนข้างสูง โดยที่ผ่านมาผู้ที่เดือดร้อนและชาวบ้านก็พยายามหาทางให้รัฐมีส่วนร่วมในการแก้ไข บูรณาการ ซึ่งการแก้ไขก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ผมก็ได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการพหุภาคีระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อนำประเด็นปัญหาและวิธีการแก้ไขในเชิงบูรณาการในภาคของอุตสาหกรรมว่าควรเป็นอย่างไร เพราะธุรกิจแต่ละประเภท (การขนถ่ายสินค้าแต่ละประเภทในพื้นที่) ที่มีปัญหาด้านฝุ่นละออง มีวิธีการป้องกันที่ต่างกัน

อย่างในกลุ่มของการขนถ่ายถ่านหิน ก็จะใช้เครื่องมือที่ต่างจากการขนถ่ายปูนซีเมนต์ เพราะปูนซีเมนต์เป็นสินค้าส่งออกก็จะมีระบบที่ออกเป็นแบบกอง (bulk) และแบบบรรจุถุง (bag) ในส่วนของแบบบรรจุถุงก็จะแบ่งออกเป็นขนาดเล็ก 50 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เรียกว่าถุงจัมโบ้ ซึ่งการส่งออกของสินค้าแต่ละประเภทจะมีเครื่องมือที่ต่างกัน สินค้าด้านการเกษตรอย่างข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ก็จะมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ต่างกัน ผมในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการมีโอกาสได้ร่วมหารือในหลายๆ เวที ก็เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่จะออกข้อกำหนด MOU หรือระเบียบการต่อไปในท้องถิ่นได้ เช่น การขนถ่ายสินค้าด้วยระบบปิด

ไทยพับลิก้า : ตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต กำหนดให้การขนถ่ายสินค้าต้องเป็นระบบปิดตั้งแต่แรกหรือไม่

ในเรื่องของข้อกำหนดการสร้างการควบคุม ประเด็นนี้กรมอนามัยก็เห็นปัญหา ในช่วง 17-27 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ทางกรมอนามัยเข้าไปสุ่มตรวจผู้ทำธุรกิจประเภทถ่านหิน โดยทางกรมอนามัยใช้เครื่องมือของเขาตรวจสอบว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีเครื่องมืออะไรบ้างในการทำธุรกิจ แล้วทำให้เกิดมลพิษอะไรบ้าง เป็นการตรวจสอบในพื้นที่จริง พร้อมตรวจสอบในส่วนภาคประชาชนในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบโรงงาน ว่าได้รับผลกระทบอะไรหรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพไหม และมีการสอบถามท้องถิ่นถึงหลักเกณฑ์ของใบอนุญาต การร้องเรียน การแก้ไข ว่ามีมาตรการอย่างไร การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อจะนำไปกำหนดมาตรการของข้อกฎหมายที่จะบังคับใช้ของธุรกิจประเภทนี้ นี่คือความคืบหน้าในการแก้ปัญหามาถึงระดับแล้ว

ไทยพับลิก้า : กฎเกณฑ์ของรัฐบาลหรือสำนักงานอุตสาหกรรมที่ผ่านมามีข้อกำหนดใช่ไหม ถ้าจะตั้งโรงงานต้องทำตามมาตรฐาน ไม่ใช่ทำแล้วค่อยมาแก้ไข

เรื่องของอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ทำธุรกิจ 2 ลักษณะ คือ 1. ท่าเรือ ตามใบอนุญาตของท่าเทียบเรืออันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับกรมเจ้าท่า 2. ส่วนเรื่องของธุรกิจที่ทำการกองสินค้าที่ไม่มีเครื่องจักร อันนี้ก็ไม่ต้องขอใบอนุญาตเพราะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.สาธารณสุข ที่เป็นการควบคุมข้อบังคับ ข้อกฎหมาย ที่ต้องไม่ก่อเหตุรำคาญ การขอใบอนุญาตก็จะมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว อาทิ พ.ร.บ.สาธารณสุข ถ้าโรงงานอยู่ในเขตรัศมีที่อยู่ใกล้ชุมชนก็จะเรียกมารับฟังความคิดเห็น อันนี้เป็นมาตรฐาน ซึ่งทุกพื้นที่ผ่านกระบวนการรับฟังหมดแล้ว

ไทยพับลิก้า : แล้วผ่านได้ยังไงทั้งที่มีชาวบ้านร้องเรียน

หลังจากที่ทำธุรกิจไปแล้ว อาจจะมีเรื่องของกระแสลมที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าลมไม่เดินหรือสภาวะลมปกติอาจจะไม่ส่งผล แล้วก็จะมีการควบคุมระบบป้องกันโดยมีการออกแบบ เช่น มีต้นไม้ แสลน ระบบสปริงเกอร์น้ำ ซึ่งทุกคนก็มองเห็นว่าเป็นการป้องกันการแพร่กระจายฝุ่นละออง และจากปัญหาที่เกิดขึ้น (ฝุ่น) ไม่ได้เป็นเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เป็นเรื่องของเหตุรำคาญ

การขนถ่ายมันสำปะหลัง บริเวณท่าเรือของบริษัทที.เอช.นครหลวง
การขนถ่ายมันสำปะหลัง บริเวณท่าเรือของบริษัทที.เอช.นครหลวง

ไทยพับลิก้า : จากการลงพื้นที่ ระบบป้องกันทั้งแสลนและการปลูกต้นไม้ สัดส่วนของพื้นที่กันชนมีขนาดน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่โรงงานหรือพื้นที่เทกองสินค้า (ส่วนใหญ่ปลูกต้นไม้ไล่ตามรั้วโรงงาน)

จริงๆ แล้วท่านรองผู้ว่าปัญญา สระทองอุ่น มองเห็นนโยบายเหล่านี้และให้คณะกรรมการตำบลเข้าไปแก้ไขตามความเหมาะสม แล้วจะยกร่างให้เป็นข้อกฎหมายกับท้องถิ่น เพื่อเป็นการบังคับใช้ วันนี้แนวทางการแก้ไขมันเดินหน้าแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ไม่เป็นกฎหมาย ไม่เป็นระเบียบกลาง ว่าพื้นที่ 1 ไร่ คุณต้องมีการแบ่งพื้นที่กันชนเท่าไหร่ ความสูงต้องเท่าไหร่ กฎหมายไม่ได้เขียนไว้

ไทยพับลิก้า : มาตรฐานทั่วไปไม่มี

ยังครับ การประกาศใช้แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : แต่มีมาตรฐานปกติที่โรงงานจะต้องมี

จะต้องมีระบบกำจัดก็คือ ไซโคลนดักฝุ่นกับตัวกรองฝุ่น อันนี้คือจะเป็นเรื่องของการกำจัดฝุ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบปิด ส่วนการป้องกันจะมองเห็นจากภายนอก เช่น ม่านแสลน ต้นไม้ ไม่ได้ผลหรอก ตอนนี้ผมกำลังหาข้อมูลว่า ความสูงของกองสินค้าใหญ่ขนาดไหน แล้วจะใช้อะไรควบคุม เพื่อจะนำมาปรับใช้กับกลุ่มถ่านหิน ถ้าคุณทำไม่ได้ (การคลุมผ้ากองสินค้า) ก็ต้องมีอาคารปกคลุมแทน กระบวนการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ตอนนี้ผมคุยแต่ละเวที ผมไม่ได้คุยแล้วทิ้ง

ผมคุยกับกรมเจ้าท่าเรื่องการตรวจการขนถ่ายสินค้าที่วันนี้ยังมีประชาชนเดือดร้อน เราจะแก้ไขยังไง ผมบอกว่าถ้าการขนถ่ายด้วยรถแมคโคร แล้วมีสปริงเกอร์น้ำมาควบคุม แล้ววิเคราะห์ว่าสาเหตุมันเกิดจากตรงนั้นที่เดียวหรือไม่มันไม่ใช่ และอำนาจของกรมเจ้าท่าขึ้นมาบนฝั่งได้ไม่เกิน 10 เมตร เอง ต่อจากนั้นก็เป็นอำนาจของสาธารณสุขแล้ว ส่วนทาง อบต. ก็บอกว่าไม่มีอำนาจ ตอนนี้ก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ไทยพับลิก้า : ย้อนกลับมาในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ซึ่งรู้ว่าได้สร้างเหตุรำคาญให้แก่ชาวบ้าน ทำไมไม่ทำระบบป้องกันให้ดีตั้งแต่แรกของการลงทุนสร้างท่าเรือ หรือการขนถ่ายสินค้า

ในส่วนหนึ่งทุกคนเริ่มตั้งแต่แรก แต่ด้วยผลของการค้าที่ผ่านมา ปริมาณการค้าเติบโต โดยเพิ่มทั้งผู้ประกอบการและปริมาณสินค้า พอมันเกิดขีดลิมิตในการควบคุมจึงทำให้เกิดผลกระทบ เดิมตอนที่มี 15 ท่าเรือ ปัญหายังไม่เยอะเท่ากับ 26 ท่าเรือ ซึ่งมีมาตรการควบคุม อาทิ การคลุมผ้ากองสินค้า หรือการควบคุมการใช้รถที่ขนถ่าย เพราะเมื่อก่อนมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 4-9 ล้านตันต่อปี แต่พอมันมีความถี่มากขึ้นโอกาสจึงทิ้งช่วง การควบคุมบริหารตรงนั้นมีน้อยลง

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าหน่วยงานกำกับดูแลในพื้นที่ทราบปัญหาอยู่แล้วว่าแค่ 4 ล้านตัน ยังมีปัญหา แต่ยังอนุญาตให้มีการขยายผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีก

ในส่วนของอำเภออาจจะมองการปกครองทั้งหมดใน 12 ตำบลที่เกิดขึ้น อำเภอต้องรู้ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ถ้าดูในส่วนของจิกซอว์เรื่องของอำนาจการปกครอง กระบวนการมันถูกครรลองที่ทำโดยชอบธรรม ซึ่งกฎหมายกำหนดเกณฑ์ในขอใบอนุญาต ต้องขอความคิดเห็น ส่วนเรื่องการออกใบอนุญาต อบต. จะออกโดยข้อขัดแย้งตามเงื่อนไขต่างๆ ขณะที่ในส่วนของ พ.ร.บ.ท้องถิ่นได้ยกเอาไว้ ถ้าตรงนี้มันผ่านก็จะเดินต่อไป อันนี้คือจุดเริ่มต้น

เนื่องจากในพื้นที่ของอำเภอนครหลวง ผู้อนุมัติให้ขยายเป็นหน้าที่ของตำบลที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีบางตำบลมีพื้นที่ติดกัน เช่น ตำบลคลองสะแกมีรอยต่อติดกับบางเดื่อ สินค้าไปตั้งอยู่เขตบางปะหัน แต่เส้นทางที่วิ่งผ่านต้องผ่านคลองสะแก ถามว่าเขาควบคุมได้ไหม

ไทยพับลิก้า : แต่ในแง่ของการกำกับดูแลเรื่องฝุ่นละออง ปัญหามีมานานถึง 10 ปี ทำไมเพิ่งมาเร่งแก้ไขตอนนี้

ไม่ใช่เพิ่งมาแก้ แต่ลำดับของประเด็นปัญหามันเป็นไปตามลำดับขั้นตอน อย่างของชมรมฯ มีหนังสือที่ทำเป็นรายงานเอาไว้ตั้งแต่เป็นชมรมฯ ทุกปีก็จะมีการประชุมทุกเดือน ในแต่ละเดือนก็จะสอบถามถึงปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนว่าเป็นอย่างไร แนวทางแก้ไขในภาพรวมเป็นอย่างไร ซึ่งการคุยตรงนี้เป็นการพูดคุยเฉพาะสมาชิกของชมรมฯ

ไทยพับลิก้า : สมาชิกของชมรมฯ ทำระบบป้องกันได้มาตรฐานไหม

โดยส่วนใหญ่ทำได้มาตรฐาน แต่ไม่ได้ทั้งหมด เกณฑ์การวัดคือเอาเจ้าหน้าที่กฎหมายเข้ามา ค่าฝุ่นละอองกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5 แล้วทุกคนวัดออกมาแล้วมันไม่เกิน คือกฎหมายไม่ได้รองรับ เหลือแค่คุณธรรม จริยธรรม ผมคุยในที่ประชุม พูดไว้ว่าเครื่องวัดที่สำคัญที่สุดอยู่ข้างบ้านคุณ

ไทยพับลิก้า : เห็นชาวบ้านปิดหน้าต่างปิดบ้านหมดเลย มันเป็นตัวชี้วัดไหมเพราะอำเภออื่นที่นี่ไม่เป็นแบบนี้

เขาไม่อยู่หรือเปล่า ไปทำงานหรือเปล่า ต้องดูพฤติกรรมด้วย ถ้าเป็นคนในพื้นที่จริงๆ จะเข้าใจว่าในส่วนของสังคมวันนี้ไม่ได้เกิดจากมลภาวะอย่างเดียว วันนี้ยาเสพติดก็เยอะในพื้นที่ ขอให้มองอย่างเป็นธรรมนิดนึง ถ้าเอาตัวนั้นเป็นดรรชนีชี้วัดการวิเคราะห์ก็จะลำบาก ในแรงงานของกลุ่มถ่านหิน ปูนซีเมนต์ แป้งมัน ก็มีกลุ่มที่เป็นต่างด้าวก็ดีที่มาอยู่ในพื้นที่ เรียกว่าประชากรแฝง อันนี้สามารถเช็คข้อมูลในส่วนของภาครัฐได้ ผมไม่ได้ปกป้องเพื่อนสมาชิก

ไทยพับลิก้า : สมาชิกที่ไม่ได้มาตรฐาน ชมรมมีการออกกฎหรือบทลงโทษไหม

เคยออกกฎไป เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การเทกองที่ตั้งอยู่เฉยๆ แล้วลมมันพัดไป กับปัญหากรณีขนส่งสินค้า (การขนถ่ายที่ท่าเรือจากเรือขึ้นคลังสินค้าและขนจากท่าเรือไปให้ลูกค้าหรือนำไปเทกอง) อันนี้เป็นหัวใจหลัก ถ้า 2 ตัวนี้สามารถแก้ไขได้ ความเดือดร้อนหรือความรุนแรงในเรื่องของมลภาวะมันจะเบาบางลง

ไทยพับลิก้า : ในส่วนของกระบวนการขนถ่ายสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถ้าหากผู้ประกอบการในซัพพลายเชนรายใดไม่ได้มาตรฐาน ควรจะไม่ทำธุรกิจด้วยหรือไม่

ในส่วนของโรงปูนซีเมนต์ได้จัดตั้งทั้งหมด 5 ปูนซีเมนต์ใหญ่ อาทิ ปูนตราช้าง ปูนนกอินทรี ที่พูดถึงกลุ่มนี้เพราะเขาจัดตั้งร่วมกับลูกค้า คือคนที่อยู่ในพื้นที่ จัดเป็นกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์ชุมชน แล้วใช้มาตรการในทางสังคมและธุรกิจเข้ามาควบคู่กัน ของใครไม่ได้มาตรฐานเขาจะตัดออกจากรายชื่อ ซึ่งก็เป็นมาตรการทางการค้าที่กดดัน

ไทยพับลิก้า : แล้วของทางชมรมฯ มีแบบนี้ไหม

ทำแล้วในสมาชิกกลุ่มถ่านหิน ตอนนี้ก็คือจะเป็นกลุ่มของ บริษัท จัมโบ้เจตตี้ จำกัด, บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด, บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด ที่เป็นสมาชิกจะมี 5 บริษัท ยกเว้นของ บริษัท ที พี ไอ จำกัด ที่ไม่ได้เข้ามา โดยมีนโยบาย เช่น

1) ห้ามใส่น้ำหนักเกิน อันนี้เป็นมาตรการอยู่แล้ว ต้นทางปลายทางถ้าเกิดต้นทางน้ำหนักเกินก็จะมีปัญหา ทางนี้จะต้องรับผิดชอบ พอถึงปลายทางเขาจะไม่ให้เข้าเลย นี่คือมาตรการที่ใช้ควบคุม

2) พฤติกรรมของคนขับรถ มองถึงการขนส่ง ปัญหาคนเมา ถ้ามีก็ไม่ให้เข้าโรงงานเลย

ส่วนของภาคธุรกิจกลุ่มถ่านหินในอำเภอนครหลวง กลุ่มรักษ์บ้านรักษ์ชุมชนก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด จาก 16 ราย ที่ทำธุรกิจถ่านหิน ทางชมรมฯ ขอความร่วมมือเชิงป้องกันก็ลำบาก ชมรมฯ เป็นส่วนหนึ่งที่นำข้อมูลจากเพื่อนสมาชิกประสานให้ทางภาครัฐออกข้อระเบียบหรือวิเคราะห์ได้ถูกทาง โดยไม่ต้องรอเวลาไม่ต้องวิเคราะห์ว่าออกมาแล้วนำไปใช้ไม่ได้ ผมอยากจะได้ข้อบังคับที่ออกมาแล้วสามารถปฏิบัติได้

นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม
นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม

ไทยพับลิก้า : ทางชมรมฯ สามารถมีมติให้สมาชิกที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากชมรมฯ ไหม

เขียนไว้ในข้อบังคับ ผมแบ่งเกรดของผู้ประกอบการไว้ สีเขียวก็คือผ่านการยอมรับจากประชาชน สีเหลืองคือการลงทุนในสถานที่ที่ไม่มีความเหมาะสม และสีแดงคือไม่ทำอะไรเลย เชิญประชุมก็ไม่มา ซึ่งอำนาจก็จะอยู่ที่สมาชิก ให้สมาชิกโหวตเลยว่า ท่าเรือนี้ถ้าเชิญเข้ามาแล้วจะเป็นปัญหาต่อเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ก็มีมาตรการที่เขียนไว้ในข้อบังคับเช่นกัน

ไทยพับลิก้า : มีสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสีแดงไหม

ขณะนี้เป็นการประนีประนอมในส่วนหนึ่ง เพราะว่าเป็นมาตรการระเบียบกฎหมาย ถ้าจะเก็บแต่คนดีเอาไว้คนไม่ดีปัดออกก็ไม่ใช่การแก้ที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าเราจะเอาระเบียบต่างๆ คนส่วนใหญ่ทำได้ แต่ส่วนเล็กทำไมทำไม่ได้ จะยกหนีเขาไม่ได้ เราต้องช่วยให้คนที่เป็นสีแดงขยับมาเป็นสีเขียวให้ได้ ถ้าเราเกิดตัดเขาไป แต่ภาคธุรกิจก็จะมองเป็นภาพรวมอยู่ดี คุณเป็นแกะดำ เขาก็ต้องมองเห็นว่าทำไมคนอื่นถึงทำได้ ทำไมคนอื่นกล้าลงทุน คุณจะมาบอกว่าผมอย่างโน้นอย่างนี้ นั่นคือปัญหาของคุณที่สร้างปัญหาให้กับชุมชน

ไทยพับลิก้า : สัดส่วนสีแดง เขียว เหลือง มีเท่าไหร่ของชมรมฯ

30% ที่ยังเป็นสีแดง เพราะเป็นเรื่องของมาตรการควบคุม การขนถ่าย ที่เคยคุยกันไว้ว่า ห้ามเกินขอบกระบะรถบรรทุก ต้องมีผ้าใบปกปิด ก็ยังมีบางกลุ่มทำผิดกฎอยู่ ซึ่งคุณต้องไปเพิ่มอัตราการจ้างเข้ามา ต้องเริ่มวางโปรแกรมแต่ละลอต ตอนนี้กำลังใช้มาตรการ รถที่มาขนถ่ายต้องติดป้ายว่ามาจากท่าเรือไหน ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะให้วิ่งรถกลับไป ข้อมูลก็จะเข้ามาที่ชมรมฯ แล้วทางชมรมฯ ก็จะส่งไปที่อำเภอหรือท้องถิ่นว่าให้ช่วยกำกับหน่อย เพราะผมไม่มีอำนาจทางกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : มีระบบในการตรวจสอบอย่างไร

ตอนนี้ชาวบ้านมีกล้องวงจรปิด ชาวบ้านส่งข้อมูลผ่านให้ทางชมรมฯ โดยตรง แล้วก็ความร่วมมือส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกในพื้นที่กับรถบรรทุกของชาวบ้านในกลุ่มที่ทำในพื้นที่อยู่แล้ว เรียนตรงๆ ถ้าจะแก้ปัญหาของคนหมู่มากให้ได้วันนี้พรุ่งนี้ ก็คือหยุดทั้งหมดเหมือนตั้งค่าใหม่ ภาคการค้าจะเกิดผลกระทบต่อเนื่อง ณ วันนี้ผมก็คุยกับเพื่อนสมาชิก แม่น้ำในประเทศไทยหลักๆ 5 สาย เหลือสายไหนที่จะไปทำธุรกิจถ่านหินได้อีก เพราะคุณย้ายมาจากสมุทรสาคร ปัญหาหลักของคุณคืออะไร ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ในขณะเดียวกันคนที่มาเช่าพื้นที่ที่อำเภอนครหลวง พวกนี้จะขาดในเรื่องของการลงทุน ขาดการพัฒนาที่เรียกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม

โดยส่วนใหญ่คนที่อยู่กลุ่มสีเขียว จะเป็นพวกที่ซื้อทรัพย์สิน ที่ดิน สร้างโรงงานสร้างทุกอย่าง มีใบอนุญาตเป็นชื่อของตัวเองหมด เพราะอยู่ภายใต้ระเบียบ กลุ่มนี้ก็จะให้ความสำคัญ มีการควบคุม การดูแลหรือ CSR ให้กับชุมชนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ ในกลุ่มนี้ก็จะได้รับความชื่นชมจากเพื่อนสมาชิกและประชาชน รวมถึงท้องถิ่นด้วย แต่ถ้าผมบอกว่าเราลองหยุดกลุ่มสีแดง ผมมั่นใจเลยว่าความเดือดร้อนน้อยลงทันที

ไทยพับลิก้า : ทางชมรมฯ ได้คุยกับหน่วยงานที่เซ็นใบอนุญาตหรือไม่ ว่าทางชมรมฯ ไม่สามารถออกกฎมาบังคับตามกฎหมายได้

มีการพูดคุยกับ อบต. คือในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการตำบล เพื่อจะได้มีส่วนร่วมภาคท้องถิ่น ประชาชนและผู้ประกอบการมาตรวจสอบระหว่างประกอบกิจการทุก 3 เดือน ก็จะตรวจสอบว่าเครื่องมือที่มีอยู่ใช้ได้จริง ควบคุมได้จริง ตอนนี้ก็มีมาตรการเข้าไปสู่พื้นที่แล้ว ในเขตของปากจั่น บ่อโพง ที่อยู่พื้นที่ในการขนส่งทั้งสิ้น ในมาตรการเหล่านั้นก็จะมีคณะกรรมการต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นโดย อบต. เข้ามาตรวจสอบและควบคุม

ไทยพับลิก้า : ผลการตรวจสอบจะเปิดเผยเป็นทางการไหม

สามารถดูได้ เพราะตอนนี้มีคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน ในส่วนสมาชิกของ อบต. ที่อยู่ในพื้นที่ถูกคัดเลือกมา คุณมีสิทธิร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ส่วนภาคประชาชนและหน่วยงานก็เข้ามาตรวจสอบว่าที่เรารับปากและตกลงไว้ได้ทำอะไรไปบ้าง ต้องใช้เวลาในการที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมตรงไหน ซึ่งอะไรที่แก้ไขได้เลยก็ดำเนินการทันที

ไทยพับลิก้า : สามารถดูผลการตรวจสอบได้ที่ไหน

ดูได้ที่ชมรมฯ ผมทำงานในส่วนของชมรมฯ ตอนนี้ปีที่ 7 ในฐานประธานสมัยที่ 3 ต้องยอมรับว่าหนักใจและเหนื่อย ต้องไปพูดทุกเวทีให้ยอมรับในเรื่องของมลภาวะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เรายอมรับ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเชิงด้านความเดือดร้อน ทั้งเรื่องเสียง กลิ่น ฝุ่นละออง ที่เกิดขึ้น เรารับและนำไปประชุมและแก้ไข แล้วอะไรที่สามารถดับทุกข์ได้เลยหรือแก้ปัญหาได้เลย อาทิ ถ้าลมแรงขอให้โรงงานหยุดชั่วคราวได้ไหม ก็จะโทรศัพท์ไปหาผู้ประกอบการรายนั้นเลยว่าช่วยดูแลหน่อย ในกรณีที่สินค้ามันตกหล่น เราสามารถพูดคุยและแก้ไขปัญหา เพราะว่ามาตรฐานต่างๆ ส่วนใหญ่ท่าเรือก็จะเป็นพื้นที่ระบบเปิด ตัวอาคารค่อนข้างเป็นพื้นที่เปิดพอสมควร ผมก็พยายามแนะนำสร้างมาตรการให้เกิดขึ้น นั่นก็คือเบี่ยงเบนกระแสลม ยกลมให้มันสูงขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่มาสัมผัสสินค้า

วิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ออกข้อกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้ข้อกฎหมายแก้ไขเพราะว่านายก อบต. ยังไม่เข้าใจในบริบทของตัวเองเลย ถ้าผู้นำไม่เข้าใจบริบทแล้วจะเอาบริบทเหล่านั้นมาพัฒนาการควบคุมได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เกิดชาวบ้านไปฟ้องร้องแล้วโดนสั่งปิดโรงงานหมด มันจะไม่ใช่เรื่องเล็ก

ผมทราบ เพราะผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจถ่านหินก็มีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านั้น มีการลงรายละเอียดกระบวนการปราบจริงๆ ในกลุ่มที่เป็นสีแดง จะให้เขาแจ้งว่ามีปัญหาอะไรแล้วเอามาตรการเหล่านี้เข้าไปใส่ ผมว่ามันเหมือนฉีดยาเลย จบแน่นอน บางครั้งผมเสนอแม้กระทั่งว่าในส่วนของท้องถิ่นไม่ต้องให้เวลาแล้วถ้าเกินกว่านี้ คุณบอกจะติดตั้งระบบดูดฝุ่น ทำเสร็จแล้วค่อยเดินก็ได้ คุณอ้างมาหลายครั้ง พอครั้งที่ 3 จบเลย ต่อจากนี้หยุดก่อน ถ้าใส่เครื่องมือแล้วค่อยทำต่อ ผมแนะนำทางท้องถิ่น แต่เขาก็ไม่เข้าใจบริบทเลย

ไทยพับลิก้า : ทางชมรมฯ มีช่องทางให้ชาวบ้านคอยติดตามตรวจสอบหรือแจ้งความเดือดร้อนไหม

ในส่วนของสาธารณะมีเฟซบุ๊กชื่อ ชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง ซึ่งจะไม่สามารถกีดกันใครได้ แต่ในเฟซบุ๊กจะไม่ค่อยมีการร้องเรียนของชาวบ้าน เพราะถ้ามีปัญหาอะไรชาวบ้านจะโทรศัพท์มา แต่ก็มีส่งเข้ามาทางข้อความเฟซบุ๊กด้วยเหมือนกัน และมีไลน์กลุ่มที่เป็นการสอดส่องผู้ประกอบการด้วยกันแล้วคอยสื่อสารเวลาได้ข้อมูลจากส่วนกลาง

ไทยพับลิก้า : ชาวบ้านสามารถโพสต์ในเฟซบุ๊กได้โดยที่ไม่โดนกีดกันหรือบล็อกใช่ไหม

ไม่มีบล็อกครับ คือต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้มาปกป้องเพื่อนสมาชิก ผมต้องการยกเพื่อนขึ้นมา เพราะว่าผมเหนื่อย ผมมีธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ก็จะบอกให้เขามาดูว่าเราได้พัฒนาระบบกำจัดฝุ่นแล้วนะ เราไม่ได้ป้องกันแต่ใช้คำว่ากำจัดแล้ว ผมได้ทำการเดินหน้าไปแล้ว มันเป็นโมเดล เพราะผมอยู่ในหมวกใบนี้ ไม่ใช่มีคนมาบอกว่าของประธานยังไปไม่รอดเลย ผมเองถูกบังคับด้วยสถานภาพที่จะต้องเป็นผู้นำในส่วนนี้

กองถ่านหินและการขนถ่ายเพื่อให้ลูกค้า
กองถ่านหินและการขนถ่ายเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า

ท่านรองผู้ว่าฯ ท่านนี้มาจากที่เคยมีปัญหาประเด็นนี้ (สมุทรสาคร) และแนวคิดของท่านตอบโจทย์ วิธีการที่จะมองไปข้างหน้า ที่ผ่านมาเรายอมรับว่าไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ แต่เราเอาประเด็นปัญหาที่ผ่านมาเป็นตัวตั้งโจทย์ ว่าจะแก้ไขในเชิงบูรณาการอย่างไร

ผมพร้อมที่จะให้ส่วนร่วมแล้วในทุกภาคส่วนจากกระบวนการที่ออกมา ผมในฐานะประธานชมรมฯ เองก็ไปผลักดันให้ท่านนายอำเภอ เปิดวาระการประชุมด้วยซ้ำ ซึ่งการประชุมครั้งก่อนเป็นเรื่องข้อกำหนดในการที่จะดำเนินงานระหว่างท้องถิ่นระหว่างสภาที่ยกเป็นข้อกฎหมาย เพื่อประกาศใช้ในต้นปี 2558 โดยผู้ประกอบการยังมีเวลาเหลืออีก 6 เดือน สิ่งที่คุณรับปาก คุณรู้อยู่แล้ว ไม่ต้องบอกว่าอะไรเป็นมาตรฐาน กฎเกณฑ์เหล่านั้น คุณไม่ต้องรอให้บอก ผมบอกนายอำเภอว่า การจะออกข้อกฎหมายจะต้องออกถึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกชมรมฯ ด้วย และคนที่อยู่ในชมรมฯ ถ้าในชมรมฯ ผมสามารถสื่อสารให้ได้

“เพื่อนสมาชิกในชมรมบางครั้งเขารู้สึกว่าตกเป็นผู้ต้องหา เขารู้สึกแบบนั้น เพราะผู้ประกอบการที่อยู่ข้างนอกไม่ต้องมาเป็นสมาชิกชมรมฯ ไม่ต้องรับรู้อะไรดีกว่า เขาก็เดินหน้าไป อย่างผมไม่มาเป็นก็ได้ เพราะผมดูแลในส่วนการป้องกัน ทำทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการแล้ว ทำไมผมต้องมานั่งดูแลเรื่องเหล่านี้ เราเดินมาถึงขนาดนี้แล้วมาถอยชาวบ้านจะอยู่อย่างไร วันนี้เราอยากคืนกำไรให้กับชุมชนมากกว่า สิ่งที่เราได้ใช้ทรัพยากรไปมากกว่าคนอื่น ใช้ในเรื่องของการขนส่งทางบกทางน้ำก็ดี เราจะคืนกำไรกับเขาบ้างเพื่อจะผลักดันเรื่องของกระบวนการ”

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าทางชมรมฯ รู้ใช่ไหมว่าต้องแก้ปัญหายังไง ในเรื่องการขนถ่ายถ่านหินและมันสำปะหลัง

อย่าเอาเรื่องของต้นทุนมาคุย เอาความรู้สึกหรือความรับผิดชอบต่อสังคมมาคุยกันก่อน และมันจะผ่อนคลาย ในเรื่องของการขาดทุน ถ้าขาดทุนก็หยุดธุรกิจไปก่อน จะได้ไม่ต้องขาดทุน เพราะผมเคยคุยกับกลุ่มพ่อค้าทำถ่านหิน เขาก็พูดยกตัวอย่างนั่นนี่ แต่ผมบอกว่าไม่ต้องไปยกตัวอย่าง เอาปัจจุบันในการแก้ไข ขอให้ดูปัจจุบัน สิ่งที่ไม่ดีคุณก็อย่าไปยกมา แก้ไขแบบดั้งเดิมดีกว่า ผมก็พยายามผลักดันให้เป็นรูปธรรม ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการของทางท้องถิ่นกับอำเภอ แต่เราไม่ได้มีการเขียนเป็นรูปเล่มเพราะเป็นกติกากลาง

ไทยพับลิก้า : ทราบมาว่าคุณอธิษฐ์เคยเป็นรองนายกตำบลคลองสะแกมาก่อน ตอนนั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง

ตอนนั้นท่านนายกมอบภารกิจให้ผมดูเรื่องของภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ในเรื่องของข้อระเบียบผมลุยอย่างเดียวเลย เช่น บ่อขยะในพื้นที่ที่ปิดไป ผมก็บอกท่านนายกให้ไปแจ้งความดำเนินการแล้วก็ส่งเรื่องให้ตำรวจจับได้เลย ก็เรียกผู้ประกอบการมาแล้วแต่เขาก็ยังไม่ทำอะไร ในข้อกฎหมายเรื่องบ่อขยะถ้าไม่ทำตามกฎหมายก็ปิดไป อันนั้นศาลก็ดำเนินการ นี่คือสิ่งที่หนึ่งที่ผมได้ทำไป ส่วนเรื่องของระเบียบพื้นที่ก็มีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ซึ่งช่วงนั้นกำลังก่อสร้างที่จะเป็นชมรมฯ ก็เลยสวมหมวก 2 ใบ แล้วเอาความรู้หรือข้อกฎหมาย พ.ร.บ. มาให้ผู้ประกอบการเข้าใจ

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นตำบลคลองสะแกมีข้อกำหนดท้ายใบอนุญาตกี่ข้อ

ผมเอา พ.ร.บ. เรื่องเหตุรำคาญเลย มาตรา 28, 31, 32 แต่นั่นเป็นมาตรการของกรมเจ้าท่า ตอนนั้นความไม่ชัดเจนหรือการรวมตัวของชมรมฯ ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมแบบปัจจุบัน สมัยนั้นผมก็เลยทำประเด็นปัญหาในส่วนของคลองสะแกให้เป็นรูปธรรม

“ช่วงนั้นอัตราการร้องเรียนก็น้อยลง เพราะว่าเดินเข้าไปเรียกผู้ประกอบการและเจ้าของบริษัทมาชี้แจง ผมบอกว่า ผมเป็นผู้ก่อการ คุณเป็นผู้ประกอบการ เพราะผมมีหมวกอีกใบเท่านั้นเอง ก็มีการออกหนังสือให้มีการแก้ไข ถ้าไม่แก้ไข ผมก็ขอหนังสือไปอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเกิดจากเหตุอะไร การผลิตหรือเปล่า ก็ให้อุตสาหกรรมเข้ามาดูว่าผู้ประกอบการมีมาตรฐานไหม”

ไทยพับลิก้า : พอโรงงานไม่ทำตามข้อกำหนดแนบท้าย มีการสั่งปิดโรงงานบ้างไหม

ส่วนใหญ่เขาให้ความร่วมมือ และหลังจากนั้นมาพอผมหมดภาระก็ไม่ได้เป็นต่อ พอจะใช้มาตรการเข้มตรงนั้นก็หยุด

อย่างน้อยสิ่งที่ผมทำไปตอนเป็นรองนายก ผมได้เอากฎหมายที่มีการบังคับใช้ลงสู่ผู้ดำเนินงาน มาตรการต่างๆ มีการใส่ข้อกำหนด ถ้าไม่มีตรงนี้การเชื่อมโยงเรื่องการวิเคราะห์ปัญหาคงเลวร้ายไปกว่านี้ อย่างที่บอกว่าเห็นบ้านเรือนมีปัญหาปิดประตูหน้าต่าง ตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว มันมีการพัฒนาไปในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ในเรื่องการขนส่ง ถ้าเป็นถ่านหินที่รถวิ่งเข้าไปให้ทำการล้างล้อก่อนเข้า หรือจะออกก็แล้วแต่โรงงานเขา

ถ้าถามว่ามันตอบโจทย์ได้ไหม มันก็ยังมีปัญหาอยู่แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่ทำแล้ว อย่าง บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด ที่ติดกับชุมชนเลย เขามีบ่อล้างล้อ บนถนนจะไม่เห็นฝุ่นสีดำเลย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นท่าเรือที่ทำได้ ผมก็มองว่านี่เป็นโมเดลในเรื่องของการอยู่กับชุมชนอย่างไร เราก็เอาสิ่งดีๆ ของผู้ประกอบการมาเป็นโมเดล เขาเรียกว่าการทำงานในเชิงรุก แบบในส่วนของคนที่ประสบความสำเร็จ

ส่วนการทำงาน สุดท้ายเราได้เอาอุตสาหกรรมทางจังหวัดเข้ามาร่วมทำโครงการ CSR ในระดับแค่เริ่มต้นในการรับผิดชอบ อย่างผมทำก็มีตัวเลือกให้เลือก เป็นตัวเลือกของกระบวนการ เพราะเราละเอียดอ่อนกับฝุ่นละอองและละเอียดอ่อนกับชุมชน ก็เป็นการสอบถามเข้าหาชุมชนทุกคนก็ได้รับโล่และประกาศนียบัตรโดยคณะอาจารย์ เพราะผมเห็นผู้ประกอบการที่มีผลงานหรือดำเนินกิจกรรมแบบนั้นเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็เลยมองว่านี่เป็นโมเดลนะ ชวนมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับชมรมฯ

ผมเองก็เป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของมันสำปะหลัง ส่วนของเขาก็เป็นพี่เลี้ยงถ่านหิน พอทุกคนเข้ามาก็คุยกันว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้ไหม ณ วันนี้การไปพูดคุยในทุกเวที บางครั้งเราก็เสริมสร้างจุดเหล่านี้ไป การแก้ปัญหาเราต้องยอมรับว่าเราขาดความจริงใจ ผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นเองที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา แต่ที่บอกถ้าผมคัดเอากลุ่มสีแดงออกเหลือแต่สีเขียว เพราะฉะนั้น มันจึงต้องเกาะกันไปแบบนั้น แต่วันหนึ่งคนที่ชี้บอกจะไม่ใช่เรา จะเป็นชาวบ้าน เราทำมาตรการเหล่านั้นเราก็ต้องทำให้มันเป็นรูปธรรมจับต้องได้