ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ประสบการณ์ตรงของบุคคลที่คลุกวงในกลโกงสมัครเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

ประสบการณ์ตรงของบุคคลที่คลุกวงในกลโกงสมัครเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

1 มีนาคม 2014


หลังจากที่มีข่าวเด็กไทยโกงใบสมัครเรียนต่อต่างประเทศ ‘But you don’t like to read. Why do you want to go to Harvard?’ ของนิตยสารฟอร์จูน เผยแพร่ออกไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวางในสังคมไทย และเกิดกระแสข่าววิพากษ์เกี่ยวกับการแต่งเรื่องเพื่อเขียนเรียงความของบริษัทที่ปรึกษาการศึกษาต่อต่างประเทศในโซเชียลมีเดีย และหลังจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาที่ถูกพาดพิงถึงได้ชี้แจงรายละเอียด เกี่ยวกับเรื่องนี้

ความคิดเห็นของประชาชนที่อ่านข่าว

จากกระแสข่าวดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์คลุกวงในกับกลโกงการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยแหล่งข่าวรายนี้ได้ข้อมูลทั้งจากประสบการณ์ทางตรงที่ได้ประสบกับตัวเองและการพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่เล่ากันในวงในถึงขบวนการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ไม่ตรงไปตรงมา

แหล่งข่าวเล่าว่า การไปเรียนต่อต่างประเทศนั้น เหตุผลหนึ่งที่นักศึกษาจะต้องมีที่ปรึกษาดูแลใบสมัครและเรียงความให้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากกระแสคนรอบข้าง จากสังคม เพราะเมื่อหันไปถามใครๆ ที่จะยื่นใบสมัครไปเรียนต่อต่างประเทศ ทุกคนก็จะบอกว่าจ้างคนนั้นคนนี้ช่วยดูเรียงความให้ จนทำให้เรารู้สึกว่าอย่ามั่นใจในตัวเองนักเลย เพราะใครๆ ก็มีผู้ช่วยกันหมด ดังนั้นเรื่องการสมัครเรียนต่อและเขียนเรียงความจึงเป็นที่ปกปิดของคนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะไม่ให้ใครอ่าน เพราะเกรงจะรู้ว่าไม่ได้เขียนเอง

แหล่งข่าวเล่าว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังจากตนทำงานมาสักระยะจึงวางแผนไปศึกษาต่อ MBA ที่ต่างประเทศ และมีคนแนะนำให้ใช้บริการที่ปรึกษา จึงมีโอกาสได้ไปใช้บริการที่ปรึกษาในการช่วยเตรียมการ สมัครและดูเรียงความให้ ในแง่คุณสมบัติ ตนเรียนจบระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง

ในตอนนั้นธุรกิจนี้ยังไม่ได้เป็นบริษัทวางแผนการศึกษาต่อต่างประเทศอย่างในปัจจุบัน เป็นเพียงบุคคลที่รับเป็นที่ปรึกษาด้านนี้เท่านั้น

แหล่งข่าวเล่าว่า จากที่ได้ไปใช้บริการของที่ปรึกษารายหนึ่ง วิธีการนำเสนอของเขาคือเริ่มต้นด้วยการพูดถึงบุคคลมีชื่อเสียงที่เขาเคยเป็นที่ปรึกษาให้ และสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ หรือพูดถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยเดียวกันหลายๆ คนที่เคยมาใช้บริการเขา ต่อมาก็จะพูดให้ฟังว่าที่ผ่านมาเขาประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง โดยบอกจำนวนคนที่ได้ศึกษาต่อและยอดการตอบรับจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งเขาบอกว่าคนที่มาใช้บริการเขาเกือบทั้งหมดได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่สมัครไป หลังจากนั้นเขาก็ให้ตนเล่าประวัติการศึกษาและการทำงานให้เขาฟัง และขอประวัติย่อ (resumé) ไป

“แค่ได้คุยเพียงครั้งเดียวก็ตัดสินใจเลยว่าจะไม่ใช้บริการของที่ปรึกษารายนี้ เพราะความรู้สึกแรก คิดว่าการทำธุรกิจที่ปรึกษาไม่ควรเปิดเผยชื่อลูกค้าว่าใครมาใช้บริการบ้าง เพราะลูกค้าที่มาใช้บริการลักษณะนี้ ใช่ว่าทุกคนอยากจะเปิดเผยเรื่องนี้กับใคร และไม่ใช่ทุกคนที่ฟังเรื่องนี้แล้วจะรู้สึกดี เนื่องจากการจ้างที่ปรึกษามาดูแลใบสมัคร โดยเฉพาะเรียงความให้ ในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะยอมรับได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดในแง่จริยธรรม”

แหล่งข่าวเล่าว่า หลังจากวันนั้น ที่ปรึกษารายนี้ก็โทรศัพท์ตามตนทุกวันติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แต่ได้ปฏิเสธที่จะใช้บริการมาตลอดโดยให้เหตุผลว่าขอคิดดูก่อนบ้าง แพงเกินไปบ้าง ฯลฯ แต่ไม่กล้าพูดออกไปตรงๆ ว่า “ที่ไม่ใช้บริการเพราะเรื่องจริยธรรม” เมื่อตนปฏิเสธทางเขาพยายามเจรจาเพราะเห็นคุณสมบัติของตนมีโอกาสสูงที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะรับ และต่อรองว่าจะลดราคาให้จาก 200,000 บาทเหลือ 40,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าตนจะต้องเขียน testimonial ให้เขาเป็นการตอบแทน

“ตอนที่ปฏิเสธ และบอกไปว่าใช้บริการคนอื่นไปแล้ว จากน้ำเสียงรู้สึกได้ว่าเขาโกรธมาก จากนั้นก็เลิกโทรศัพท์ตาม”

แหล่งข่าวเล่าต่อว่า จากการพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่ไปใช้บริการ ที่ปรึกษารายนี้จะซักถามประวัติเด็กแต่ละคน เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบการเขียนเรียงความ และวางแผนยื่นสมัครให้เด็ก บางคนสมัครหลายมหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้และเล็งมหาวิทยาลัยว่ายังไงเด็กคนนั้นต้องติดอย่างน้อยหนึ่งแห่งไว้รองรับเสมอ หรือถ้ามีเด็กที่ต้องเป็นที่ปรึกษาหลายๆ คนและต้องยื่นสมัครมหาวิทยาลัยที่เหมือนกัน ก็พยายามเขียนเรียงความให้โทนที่แตกต่างกัน

แหล่งข่าวเล่าว่า แม้ตนจะไม่ได้ใช้บริการที่ปรึกษารายนี้ แต่ทราบจากน้องรหัสของตนที่มาถามว่า “พี่ใช้บริการของ…ด้วยเหรอ เขาเอาประวัติย่อพี่ออกมาให้ดู แล้วบอกว่าขนาดรุ่นพี่คุณเขาได้เกียรตินิยมเหรียญทองยังมาใช้บริการเลย แล้วคนที่ไม่ได้เหรียญทองอย่างคุณล่ะทำไมถึงจะไม่ใช้บริการเขา”

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ประวัติย่อว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหนและต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่าย 10,000 บาท ส่วนค่าบริการหลังจากนั้นแต่ละคนจะจ่ายเงินไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าจะใช้บริการที่ปรึกษาอะไรบ้าง และเงื่อนไขอื่นๆ

“ก็ต้องยอมรับว่าคนที่มีมาใช้บริการของที่ปรึกษารายนี้คงมีหลายระดับ ถ้าหากคุณสมบัติพร้อม อาจจะเขียนเรียงความเอง เพียงแต่ให้ช่วยอีดิท (edit) เล็กๆ น้อยๆ แต่คนที่ไม่ค่อยพร้อมอาจจะก้ำกึ่ง คือมีข้อเท็จจริงระดับหนึ่ง และแต่งเติมเข้าไปแต่ไม่ได้เขียนเรียงความเอง ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือไม่ทำอะไรเลย ให้ที่ปรึกษาทำให้ทั้งหมด ดังนั้น การจะเหมารวมว่าเขาเป็นอย่างนั้นก็อาจจะไม่ใช่เสียทีเดียว”

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจจะเคยคุยกับที่ปรึกษารายนี้แค่ครั้งเดียวเช่นตน แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับบริษัท โดยเขาจะเก็บประวัติย่อของเด็กที่ประวัติดีๆ เอาไว้ ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้ใช้บริการก็อาจจะได้ลดราคาลงเหลือ 40,000-50,000 บาท เพราะในระยะยาวเขาจะได้ประโยชน์มากมาย เช่น สามารถเก็บบันทึกจำนวนการตอบรับของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศไว้ได้ เพราะเด็กเก่งๆ คนหนึ่งอาจจะเข้าได้ 5 มหาวิทยาลัย บริษัทที่ปรึกษารายนี้จะบันทึกมหาวิทยาลัยทั้ง 5 นี้เอาไว้เป็นประวัติผลงานตัวเองทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเด็กคนนี้เลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ยิ่งถ้าได้มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์เวิร์ดก็จะยิ่งเป็นที่นำไปพูดบ่อยๆ ในรุ่นต่อๆ มา

แหล่งข่าวเล่าต่อว่า แต่บางคนที่ใช้บริการที่ปรึกษารายนี้จริง ๆ และก็ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตัวเองใช้บริการก็มี เช่น กรณีรุ่นน้องคนหนึ่งเรียนระดับปานกลางไปใช้บริการที่ปรึกษารายนี้แล้วสามารถเข้ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ ซึ่งเพื่อนๆ คาดว่าน่าจะใช้บริการ แต่เจ้าตัวยืนยันกับทุกคนว่าเขียนเรียงความเอง จนกระทั่งวันหนึ่ง รูปถ่าย ชื่อ-นามสกุลของรุ่นน้องคนนี้ก็ปรากฏเด่นชัดในใบปลิวของบริษัทที่ปรึกษารายนี้ ทำให้รุ่นน้องคนนี้อายมาก และเป็นการยืนยันว่าบริษัทเปิดเผยชื่อลูกค้าทั้งๆ ที่ลูกค้าไม่ทราบล่วงหน้าและไม่เต็มใจ

แหล่งข่าวกล่าวว่า มีหลายกรณีที่ฟังเพื่อนเล่าให้ฟัง เช่น “รุ่นไม่กระดิกนิ้ว” ลูกค้ารายนี้ฐานะทางบ้านดีมาก การเรียนปานกลาง ได้ยื่นใบสมัคร 10 มหาวิทยาลัย ปรากฏว่าที่ปรึกษารายนี้คิดราคา 1 ล้านบาท เป็นราคาที่ไม่ต้องทำอะไรเลย และสามารถเข้ามหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ เพียงแค่เล่าประวัติชีวิตให้เขาฟังแล้วที่เหลือทางที่ปรึกษารายนี้จัดการให้หมดเอง

หรือมีกรณีของเด็กคนหนึ่งที่มาใช้บริการ พ่อแม่ทำงานในกรมราชทัณฑ์มีตำแหน่งใหญ่โตพอสมควร ทางที่ปรึกษาทราบประวัติตรงนี้ก็แต่งเรียงความให้ประมาณว่า เนื่องด้วยพ่อแม่ทำงานที่กรมราชทัณฑ์จึงได้ใช้เวลาช่วงฤดูร้อน 3 เดือนมาฝึกงานในกรมราชทัณฑ์ เพื่อศึกษา เรียนรู้ชีวิตคนคุก…. ซึ่งความจริงคือน้องคนนี้ไม่ได้มาฝึกงานจริงๆ และเป็นเรื่องเกินจริงกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะเชื่อได้ จึงส่งจดหมายกลับมาขอหลักฐานการฝึกงานดังกล่าว โชคดีที่พ่อแม่ของเด็กคนนี้มีอำนาจมากพอที่จะทำเอกสารรับรองจากราชการได้ว่าลูกตัวเองมาทำงานจริงจึงรอดตัวไปได้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าไปขอดูเรียงความของใครแล้วเขากล้าให้ดู นั่นแหละแปลว่าเป็นเรื่องจริง เจ้าตัวเขียนเอง จึงไม่กลัวที่จะให้เพื่อนและคนใกล้ตัวอ่าน แต่ถ้าใครไม่ได้เขียนเองและเป็นเรื่องแต่งก็จะไม่กล้าให้เพื่อนๆ ดู เพราะเพื่อนจะรู้ว่าเรียงความนั่นเป็นเรื่องโกหก

นอกจากนี้ ในบางปีหรือบางมหาวิทยาลัยจะกำหนดหัวข้อการเขียนเรียงความที่กว้างมาก ส่งผลให้ใครๆ จะเขียนให้ก็ได้เพราะไม่ต้องแสดงความเป็นตัวตนหรือสะท้อนคุณสมบัติใดๆ ของผู้สมัครเรียนเลย เช่น ให้ออกแบบมาสคอตของมหาวิทยาลัย แค่ใช้จินตนาการและทำความเข้าใจกับคุณค่าของมหาวิทยาลัยนั้นก็มาเขียนเรียงความได้แล้ว

“แม้ว่าปัจจุบันจะมีบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศหลายแห่ง แต่บริษัทที่ปรึกษารายนี้เป็นบริษัทแรกๆ ที่ก่อตั้งขึ้น และมีชื่อเสียงที่สุด และมีมูลเรื่องกลโกงโดยเฉพาะการเขียนเรียงความมากที่สุดมาตลอดกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายที่ปลาเน่าไม่กี่ตัวทำให้ธุรกิจนี้เหม็นไปทั้งวงการ และถ้าหากบริษัทที่ปปรึกษารายนี้ไม่ได้ทำ ทำไมถึงยังมีเรื่องเล่าเช่นนี้ออกมาเรื่อยๆ ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอื่นๆ ไม่มี” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยังบอกอีกว่า กลวิธีการว่าจ้างเขียนเรียงความเช่นนี้ ทำให้คนที่เรียนเก่งแต่ไม่ได้ใช้บริษัทที่ปรึกษาก็จะเสียเปรียบ เสียโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวเรื่องกลโกงการสมัครเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้โรงเรียนนานาชาติหลายแห่งส่งจดหมายแจ้งผู้ปกครอง และหากนักเรียนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศจะต้องส่งเรียงความให้ทางโรงเรียนตรวจสอบและรับรองก่อนยื่นใบสมัคร