ThaiPublica > คอลัมน์ > หยุดการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย

หยุดการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย

30 ตุลาคม 2013


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ความเชื่อถือและเชื่อมั่น ( Trust) เป็นฐานที่สำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นหลักประกันการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม คนทุกคนที่ได้ยอมเสียสิทธิส่วนตัวส่วนหนึ่งให้แก่รัฐประชาธิปไตยก็เพื่อที่จะได้หลักประกันการอยู่ร่วมกันและการคาดหมายอนาคตได้ระดับหนึ่งในรัฐ

แน่นอนว่านักการเมืองทั้งหลายก็มีหลักการประจำตัวอยู่ข้อหนึ่ง ก็คือ ความพร้อมที่จะโกหาหรือไม่พูดความจริงทั้งหมด แต่พรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักการที่จะรักษา “สัตย์” ที่ให้ต่อสังคมและพลเมือง ไม่อย่างนั้นแล้ว การกล่าวถึงนโยบายต่างๆของพรรคก็เท่ากับน้ำลายที่พ่นออกมาเท่านั้น พรรคการเมืองใดที่ไม่รักษา “ สัตย์” ในเรื่องหนึ่งใด ก็เท่ากับได้ทำลายฐานความเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว

แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรื่อง “หยุดการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการตระบัดสัตย์
ของพรรคเพื่อไทย” ( รบกวนท่านผู้อ่านหาอ่านในสื่อมวลชนทั่วไปนะครับ ) ชี้ให้เห็นว่าการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทยในกรณีการบิดเบือนกฏหมายนิรโทษกรรมนี้เป็นการทำให้ความผิดทั้งหลายทุกประการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยถูกซุกเข้าไปอยู่ใต้พรมอีกครั้งหนึ่ง และจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในสังคมไทย โดยเน้นให้เห็นว่าการตระบัดสัตย์ครั้งนี้ทำไปเพื่อ “ทักษิณ” เพียงคนเดียว

ประเด็นสำคัญของแถลงการณ์ได้เรียกร้องจากประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้แสดงพลังยับยั้งกฏหมายนิรโทษกรรมนี้ เพราะ “พรรคการเมืองก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของบุคคลผู้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค หากพรรคการเมืองใดตัดสินใจดำเนินนโยบายของตนไปโดยเห็นแก่ผู้มีอำนาจภายในพรรคและไม่เห็นหัวฐานเสียงของพรรค ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้การสนับสนุนพรรคดังกล่าวต่อไป”

ข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในการจัดการการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย (เพื่อ “ ทักษิณ”) ในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างบรรทัดฐานในการสร้างความยุติธรรมแห่งรัฐ และการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองจะต้องฟังเสียงประชาชน

ผมขอใช้คำพูดเดียวกับน้องสาวและน้องเขยทักษิณนะครับที่กล่าวทำนองว่า” หากไม่ทำตอนนี้ แล้วจะทำตอนไหน” ( ออกกฏหมายนิรโทษกรรมพี่ชาย/พี่เขย ข่าวบอกว่ามีการหลั่งน้ำตาออดอ้อนด้วยซิ ) เพราะถ้าประชาชนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยไม่แสดงพลังประชาธิปไตยหยุดกฏหมายที่ลากสังคมไทยไปสู่หุบเหวของความขัดแย้งในวันนี้ แล้วจะกำกับพรรคการเมืองไม่ให้ตระบัดสัตย์ต่อไปได้ในวันไหนกัน หากจะรอให้ถึงการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องยอมเลือกพรรคตระบัดสัตย์นี้ต่อไป เพราะไม่มีตัวเลือก พรรคการเมืองตระบัดสัตย์ก็จะเหลิงอำนาจมากขึ้นไปอีก

ผมขอย้ำต่อประชาชนทุกคนนะครับว่า “ ถ้าไม่ทำวันนี้ แล้วจะทำวันไหน” เพราะกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะเป็นปัจจัยขัดขวางการจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างรัฐกับสังคม และที่สำคัญ ในวันนี้ เชื่อได้ว่ากลุ่มชนชั้นนำไทยที่เคยขัดแย้งกันนั้นได้จัดความสัมพันธ์กันใหม่แล้ว จึงสามารถที่จะร่วมกันออกกฏหมายฉบับนี้มา ดังนั้นหากปล่อยกฏหมายฉบับนี้ออกไปได้ ก็จะเป็นการวางรากฐานอันเอื้อให้แก่การร่วมมือกันระหว่าง “ อำมาตย์เหลืองและอำมาตย์แดง ” ให้สามารถกดขี่/บีฑาประชาชนได้มากขึ้น

ต้องบอกกล่าวกันให้ชัดเจนนะครับ ว่าธรรมชาติของกลุ่มคนที่เป็นอำมาตย์ (หรืออยากเป็นอำมาตย์) ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นเหลืองหรือแดง ล้วนแล้วแต่เหมือนกันทั้งสิ้น สีเสื้อเป็นเพียงเครื่องหมายให้เห็นถึงสังกัด “นาย” ที่ต่างกันเท่านั้น ดังนั้น “ อำมาตย์เหลืองและอำมาตย์แดง ”ไม่ได้แตกต่างกัน อย่ามัวแต่ต่อต้านเฉพาะอำมาตย์สังกัด “ นาย” คนไหนเท่านั้น ต้องคิดถึงภาระที่จะกดบนหัวของเราจากอำมาตย์ทั้งหลายครับ

นอกจากการเข้าใจธรรมชาติของ “ อำมาตย์ แล้ว การหลุดออกจากการอยู่ใต้สังกัดมูลนายสมัยใหม่นั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิและสังคมในช่วงที่ผ่านมาด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลบีบบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐไปมากแล้ว ดังจะเห็นได้จาก การขยายตัวของรัฐทางด้านบริการ ไม่ว่าจะเป็น การสาธารณสุข การศึกษา ซึ่งการขยายตัวของรัฐเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีคนบางคนฉลาดหรือจริงใจต่อประชาชนหรอกครับ หากแต่เป็นการรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง เช่น การขยายการบริการของรัฐทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาก็เพื่อที่จะสร้างแรงงานที่แข็งแรงและมีศักยภาพในการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่

ที่สำคัญ ก็คือ เมื่อเกิดการขยายตัวของรัฐทางด้านบริการแล้ว ไม่มีทางที่จะหดกลับไปได้ครับ เพราะหากหดกลับก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทั้งในระดับของการเคลื่อนไหวประชาชน และในระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น หากจะถอยออกมาจากการเป็นพลเมืองใต้สังกัดมูลนายสมัยใหม่ไม่มีผลกระทบต่อการได้รับบริการจากรัฐในลักษณะที่เป็นมาครับ

ในแถลงการณ์ส่วนท้ายของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงเน้นว่า “ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ตระหนักถึงความจำเป็นของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ได้ร่วมกันกดดันและปฏิบัติการเพื่อยุติการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรมและการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย ด้วยการแสดงความเห็นคัดค้านและถอนตัวจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการแสดงถึง “อำนาจ” ของประชาชนในการกำกับนโยบายและทิศทางของพรรคการเมือง ทั้งนี้จะไม่เพียงเป็นการสั่งสอนพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากยังจะเป็นบทเรียนให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ตระหนักต่อไปถึงความสำคัญของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองต่อไปในวันข้างหน้า”

สำหรับผมเอง ขอร้องท่านผู้อ่านทั้งหมดช่วยกันหารายชื่อคัดค้านแล้วส่งไปยังสื่อมวลชน หรือผ่านไปยังตัวแทนลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หากใครสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนได้ ก็ช่วยขยายกลุ่มให้กว้างขวางมากที่สุดครับ เพื่อที่จะยืนยันว่าเราทั้งหมดไม่ใช่ “ เบี้ย” หรือ “ไพร่สังกัดมูลนาย” อย่างที่พวกเขาคิดอยู่

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หยุดการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย

การแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังบังเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยนับว่าเป็นการกระทำที่ “บิดเบือน” ต่อหลักการสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้มีการนำเสนอไว้ในวาระแรกอย่างแจ้งชัด ความเร่งรีบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยิ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษอันบิดเบี้ยวฉบับนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธ

กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ประเด็นสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งพอจะเป็นที่ยอมรับกันได้อย่างกว้างขวางในชั้นต้นก็คือ การนิรโทษกรรมให้แก่บรรดามวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือสีใดก็ตาม ซึ่งก็ได้เป็นส่วนสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอในวาระแรกโดย ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยเอง รวมทั้งการยืนยันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาผู้นำ ผู้สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้กระทำความผิดอย่างรุนแรงต่อการทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมาสู่การพิจารณาในวาระที่สอง พรรคเพื่อไทยก็ได้ปฏิบัติการ “ตระบัดสัตย์” ต่อหลักการที่นำเสนอมา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ประการแรก การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งซึ่งทำให้บุคคลทุกฝ่ายพ้นไปจากความผิด จะเป็นการกระทำที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยถูกซุกเข้าไปอยู่ใต้พรมอีกครั้งหนึ่ง นอกจากจะทำให้บุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามสามารถลอยนวลไปจากความผิดแล้ว สังคมไทยจะไม่ได้เรียนรู้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาบังเกิดขึ้นได้อย่างไร และโดยกระบวนการอย่างไร และใครบ้างที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ อันจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการทำความเข้าใจและนำไปสู่การพยายามป้องกันไม่ให้ความรุนแรงได้บังเกิดซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

ประการที่สอง แม้กฎหมายนิรโทษกรรมอยู่ในอำนาจทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม แต่การใช้อำนาจในทางการเมืองก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะติดตามมาจากการใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งกรณีการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรมโดยพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่ากำลังสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงการไม่เห็นด้วยในหมู่ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ บรรดาแกนนำหรือนักการเมืองฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ต่างพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจาณาคดีเพื่อให้ความจริงปรากฏ ความพยายามในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของพรรคเพื่อไทยจึงไม่อาจถูกมองไปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากการมุ่งรับใช้ “นายใหญ่” แบบไม่ลืมหูลืมหา กระทั่งไม่สนใจว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะสร้างผลเสียเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

ประการที่สาม แม้ว่าฝ่ายเสื้อแดงจำนวนหนึ่งอาจไม่อยากแสดงความขัดแย้งต่อพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีความเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายตนเองมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ต้องพึงตระหนักว่าการจะสัมพันธ์กับพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดๆ ก็ตาม พรรคการเมืองก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของบุคคลผู้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค หากพรรคการเมืองใดตัดสินใจดำเนินนโยบายของตนไปโดยเห็นแก่ผู้มีอำนาจภายในพรรคและไม่เห็นหัวฐานเสียงของพรรค ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้การสนับสนุนพรรคดังกล่าวต่อไป

มวลชนคนเสื้อแดงควรต้องตระหนักว่าพรรคเพื่อไทยก็จะอยู่ในภาวะเฉกเช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ หากยังคงดำเนินการไปในลักษณะที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเสียงเรียกร้องที่ได้บังเกิดขึ้น ทั้งต้องตระหนักว่าการปกป้องระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกป้องพรรคเพื่อไทย หากมวลชนคนเสื้อแดงไม่สามารถกดดันให้พรรคเพื่อไทยทำการแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมได้ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะทิ้งกลุ่มที่เป็นมวลชนของพรรคไปได้อย่างง่ายดายเช่นกัน พรรคการเมืองเช่นนี้ย่อมไม่สามารถฝากความหวังต่อการพัฒนาประชาธิปไตยต่อไปได้อย่างแน่นอน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ตระหนักถึงความจำเป็นของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ร่วมกันกดดันและปฏิบัติการเพื่อยุติการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรมและการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย ด้วยการแสดงความเห็นคัดค้านและถอนตัวจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการแสดงถึง “อำนาจ” ของประชาชนในการกำกับนโยบายและทิศทางของพรรคการเมือง ทั้งนี้จะไม่เพียงเป็นการสั่งสอนพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากยังจะเป็นบทเรียนให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ตระหนักต่อไปถึงความสำคัญของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองต่อไปในวันข้างหน้า
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
30 ตุลาคม 2556