ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อแม่น้ำ(โขง)ถูกรุมกินโต๊ะ (2)

เมื่อแม่น้ำ(โขง)ถูกรุมกินโต๊ะ (2)

25 มกราคม 2013


รายงานโดย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

ที่มาภาพ : Occupy Wall Street
ที่มาภาพ : Occupy Wall Street

ย้อนเวลาหาอดีต

จากตอนที่แล้วเมื่อแม่น้ำ(โขง)ถูกรุมกินโต๊ะตอนที่ 1 ในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงเส้นทางการเดินหน้าหาอนาคตของคนลุ่มน้ำโขงในประเทศท้ายน้ำ

ทั้งนี้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา พวกเราชาวเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานเวทีสาธารณะ “23 ปี การต่อสู้ของคนปากมูล กับเส้นทางการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชน 5 ปี วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และผองเพื่อนผู้จากไป” ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เราได้พบผู้คนจากทั่วสารทิศ จากทุกภูมิภาค หลากหลายวิทยากรน้อยใหญ่ ที่พรั่งพรูถึงความทรงจำ ความรัก ความรู้สึกที่มีต่อ “พี่มด” ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่นำพาและเคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องชาวปากมูลในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน เพื่อวิถีชีวิต เพื่อปากท้องที่ขอเพียงแค่กินอิ่มนอนอุ่น

ถึงแม้พวกเราจะได้ร่วมพูดคุยในเวทีนี้ในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานนัก มีสิ่งหนึ่งที่เราชาวลุ่มน้ำโขงได้แลกเปลี่ยนกับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ปัญหายังคงอยู่ แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 20 ปี ปลาแม่น้ำมูลก็ไม่สามารถฝึกทักษะเพื่อกระโดดผ่านบันไดปลาโจนของเขื่อนปากมูลไปได้ วาทกรรมของนักการเมือง รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า แหล่งทุน เช่น ธนาคารโลก ก็ล้วนแต่ได้รับบทเรียนอันยากจะลืมเลือน เมื่อภาคประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ มาจัดการปัญหาของตัวเอง และก่อนจากกัน เราสัญญากันว่า การร่วมต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็นบทบาทหน้าที่ของภาคประชาชนโดยแท้

อนุสาวรีย์การต่อสู้ชาวบ้านปากมูล เดินหน้าหาอนาคต

พวกเราและพี่น้องเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี เกือบ 20 ชีวิต ได้เดินทางศึกษาดูงานพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 17-23 ธันวาคม 2555 ซึ่งก่อนหน้านั้น พี่น้องชาวกัมพูชากลุ่มนี้ ได้เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราในช่วงเดือนกันยายนในปีเดียวกัน มีคำพูดที่พวกเรายังจดจำและถือเป็นคำมั่นสัญญาในการปกป้องลำน้ำทุกสายร่วมกันว่า “แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนพ่อกับแม่ แม่น้ำสาขาเปรียบเสมือนลูก สายใดสายหนึ่งเจ็บไข้ มันจะกระทบกันหมด”เป็นเหตุให้โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ TERRA ต้องนำพาพวกเราไปเยี่ยมเยือน ไปเยี่ยมชมวิถีชีวิต วัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ของเครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในประเทศเวียดนาม เขื่อนเซซาน 2 ล่างในกัมพูชา รวมทั้งเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาสำคัญๆ เช่น เซกอง สะเรป็อค ชะตากรรมและคำถามสำคัญของคนลุ่มน้ำแห่งนี้ที่ต้องหาคำตอบร่วมกันคือ พวกเราจะตั้งรับ ปรับตัว และมีความร่วมมือกันเช่นไร กับกระแสการพัฒนาในระดับภูมิภาค ที่มองพลังสายน้ำในมิติที่แตกต่าง

จากช่องเม็กสู่สตึงเตรง

ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้แตกต่างจากหลายสิบปีที่แล้ว อย่างน้อยก็พิธีการการยื่นเอกสาร เครื่องไม้เครื่องมือในการผ่านแดนในส่วนของฝั่งไทยดูทันสมัยขึ้น ร้านค้าถูกจัดระเบียบเป็นแนว พวกเราหิ้วกระเป๋าที่อัดแน่นด้วยเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่เตรียมไปสำหรับการอยู่เกือบสัปดาห์ ลอดอุโมงค์ทางเดินเพื่อเข้าสู่ผืนแผ่นดินลาว 50 บาทแรกสำหรับค่าธรรมเนียมการเหยียบแผ่นดินรายคน รถตู้กลางเก่า 2 คันที่รอรับพวกเราเต็มไปด้วยข้าวของเหมือนมาตลาดนัด มีไม้กวาด กระสอบกาแฟ กล้วยไม้ พร้อมผู้โดยสาร 2-3 คน เป็นอีกหนึ่งอย่างที่แตกต่างจากการเช่าเหมาคันของไทย ที่คนเช่าต้องได้สิทธิ์ในการใช้พื้นที่ทั้งคันโดยไม่มีคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกร่วมเดินทางไปด้วย สภาพรถ สภาพแอร์ในรถไม่ต้องพูดถึง เป็นเอาว่าผิดหวังตั้งแต่แรก ที่หอบเอาเสื้อกันหนาวผืนใหญ่ติดตัวมาด้วย

เราใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมงในผืนแผ่นดินลาว สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ ยังดูยิ่งใหญ่ตระการตา มันดูแปลกสำหรับคนที่ข้ามมาแขวงนี้ครั้งแรกตรงที่ว่า ฝั่งซ้ายขวาเป็นของลาวทั้งหมด ไม่เหมือนแม่น้ำโขงที่แบ่งแยกดินแดนจากจังหวัดเลยถึงอุบลราชธานีที่เราคุ้นเคย สภาพป่าไม้สองข้างทางในลาว เส้นทางมุ่งสู่สตึงเตรงไม่แปลกตาเท่าใดนัก รถตู้ยังคงจอดรับส่งผู้โดยสารที่ติดรถมาด้วยด้วยความเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แขกของเจ้าของรถตู้คนสุดท้ายเป็นหญิงสาววัยกลางคนพร้อมกระบะใส่ต้นเฟิร์นป่าที่วางกินที่นั่งผู้โดยสารไปหนึ่งที่ ขำไม่ออกกับท่าทางการนั่งกึ่งนอนสไตล์สบายๆ ประมาณว่ารถเพื่อนฉันแบบไม่เกรงใจผู้จ้างเหมารถชาวไทยแม้แต่น้อย

ทั้งหมดต้องลงจากรถตู้เพื่อยื่นเอกสารการเดินทางที่ด่านชายแดนกัมพูชา 3 ชั่วโมงผ่านไป เริ่มรู้สึกถึงสิ่งที่แตกต่างในระเบียบการเข้าออก การเรียกเก็บเงินเพิ่มภายใต้คำบอกเล่าว่าต้องตรวจสุขภาพ ข้างทางมีเต็นท์และสาวพยาบาลใส่ชุดขาวรออยู่ พวกเราเริ่มตั้งคำถาม แต่ท้ายสุด ต้องจ่ายคนละ 100 บาทโดยไม่มีใบเสร็จและไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่อย่างใด หลายคนเดินเข้าป่าข้างทางเพื่อหาทางลดน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ผู้เขียนเดินตรงไปที่ห้องน้ำหลังด่านตรวจด้วยความดีใจว่าอย่างน้อยก็มีห้องน้ำ แต่ต้องผิดหวัง เพราะห้องถูกปิดตายด้วยกุญแจตัวเขื่อง สภาพป่าด้านหลังเต็มไปด้วยกระดาษทิชชู ผลงานของนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาดินแดนนี้ และต้องแก้ไขปัญหาเบื้องต้นกับการไม่มีที่ปลดปล่อย

ตะลึงตะลานตากับผืนป่า บ้านไม้ สายน้ำ

ไม่น่าเชื่อว่า พอผ่านพ้นเข้าเขตกัมพูชา สิ่งที่ทำให้ทุกคนหลับไม่ลงคือการชื่นชมผืนป่าสองข้างทางที่ยังมีให้เห็นอย่างหนาแน่น บ้านแต่ละหลังที่ทำจากไม้แบบไม่มีอิฐหินปูนทรายเป็นส่วนประกอบ ไม้ล้วนๆ! และการสร้างบ้านที่เรียงแผ่นไม้แนวตั้ง ทำให้รู้สึกแตกต่างจากบ้านไทยอย่างชัดเจน เสียงโหวกเหวกชี้ชวนให้ดูความอุดมสมบูรณ์ สภาพการตัดป่าเป็นผืนๆ ไม้ที่ถูกเลื่อยรอการใช้ประโยชน์ การเผาตอไม้ขนาดใหญ่ ยังคงเป็นประเด็นฮอตฮิตติดอันดับตลอดเส้นทาง ประมาณว่าเสียดาย ไม่น่าเลย บ้านเราราคาแพงมาก เหมือนไทยเมื่ออดีตที่ผ่านมา ล้างผลาญจนไม่เหลืออะไร ฯลฯ จนกระทั่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ คนนำทางบอกเราว่า นี่คือแม่น้ำเซกองแห่งสตึงเตรง แม่น้ำที่พวกเราได้รู้จากสื่อหลายแขนงว่า เป็นแหล่งค้าปลาขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญไม่แตกต่างกับแม่น้ำชี แม่น้ำมูล หรือลำน้ำสงครามของไทย

สะพานปลาแม่น้ำเซกอง
สะพานปลาแม่น้ำเซกอง

สายน้ำหลายสายกำลังป่วยไข้ ผลกระทบข้ามพรมแดนที่ยากจะเยียวยา

“เซ”เป็นภาษาลาว ตั้งแต่แขวงคำม่วน (ตรงข้ามกับจ.นครพนม) ลงมา เรียกแม่น้ำว่า “เซ” เซกอง (Kong River) คือแม่น้ำกอง นั่นเอง เซกองเป็นแม่น้ำที่มีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดเถอะเทียนเฮว(ThuaThien-Hue) ในเวียดนามกลางและไหลผ่านลาวใต้ กัมพูชาตะวันออก มาบรรจบกับแม่น้ำโขงอีกครั้งที่จังหวัดสะตึงเตร็งแห่งนี้ ความยาวกว่า 480 กิโลเมตร ทำให้บางส่วนของแม่น้ำเซกองเป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างกัมพูชากับลาว ว่ากันว่า แม่น้ำสายนี้ไม่แตกต่างจากแม่น้ำสายอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในระยะทาง 325 กิโลเมตรที่ไหลผ่านแขวงสาละวัน เซกอง และอัตตะปือ ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีการสัมปทานการขุดค้นและร่อนหาแร่ทองคำ ทองแดง บ็อคไซด์ ตลอดแนวแม่น้ำ

การปล่อยกากสารเคมีจากกระบวนการแต่งแร่ ทำให้เกิดการขุ่น เป็นมลภาวะ มีคดีฟ้องร้องการละเมิดกฎหมายและข้อตกลงหรือสัญญาต่างๆในปี 2009 กว่า 8,000 คดี ซึ่งสอดคล้องกับท่านคำพัน พมมะทัด เจ้าแขวงเซกองได้แถลงข่าวยอมรับว่า เหตุที่เกิดขึ้น เป็นผลเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ในปี 2009 ที่ผ่านมา ทางการลาวได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนลาวและต่างประเทศจำนวน 154 รายดำเนินการสำรวจและขุดค้นแร่ธาตุในลาวจำนวนกว่า 268 โครงการและ 118 รายเป็นบริษัทจากจีนและเวียดนามเป็นหลัก คาดการณ์ว่าปี 2015 จะทำให้รัฐบาลลาวมีรายได้จากการค้าแร่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

เหตุการณ์ที่เป็นข่าวถึงการลงทุน ฝีมือของมนุษย์ที่ขึ้นชื่อว่ากระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อประชาชนลาวกว่า 2 แสนคนในแขวงเซกองและแขวงอัตตะปือ คือการพังถล่มของคันเขื่อนกักเก็บน้ำของโครงการเขื่อนเซกะหมาน3 ที่เวียดนามลงทุนก่อสร้าง สาเหตุเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางและรวดเร็วจนทำให้ไม่มีป่าไม้คอยอุ้มน้ำในปริมาณมากๆที่มากับพายุโซนร้อนเกดสะหนา(Ketsana)เอาไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นข่าวคึกโครม

“มีชาวเวียดนามเสียชีวิตอย่างน้อย 164 คน อีกเกือบ 20 คนสูญหาย ทางการลาวระบุว่าในลาวเองยอดผู้เสียชีวิต 14 คนและ ในกัมพูชาจ.กัมปงธม (Kampong Thom) เพียงแห่งเดียวมีคนตายอย่างน้อย 17 คน ไม่รวมยอดผู้เคราะห์ร้ายในจังหวัด รัตนคีรี (Ratanakiri) สตึงเตร็ง (Stung Treng) กับจ.กระแจ๊ะ (Kratie)เพียงสองวันไต้ฝุ่นชื่อไม้หอมนี้ ทิ้งคนตายเอาไว้เกลื่อนกลาดในเวียดนามกัมพูชาและลาว และ ยังทำลายนาข้าวกับพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ถนนหนทาง ระบบไฟฟ้าโทรคมนาคม บ้านเรือนที่อาศัย สิ่งปลูกสร้างนับแสนหลัง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อราษฎรหลายแสนคนในสามประเทศและทุกๆ ปีจะมีพายุพัดเข้าสู่ทะเลจีนใต้และเข้าฝั่งเวียดนาม 8-10 ลูกส่วนใหญ่อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเข้าถึงฝั่งแต่ถ้าหากพายุลูกใดยังคงความเร็วสูญกลางในระดับไต้ฝุ่นได้ก็จะสร้างความหายนะให้กับอนุภูมิภาคนี้เสมอมา” (ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์,9 ตุลาคม 2552)

ส่วนการลงทุนของบรรดาบริษัทที่มีการทำเหมืองแร่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจีนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ ในอนาคตอันใกล้ หากว่ามลพิษจากเหมืองแร่ได้รั่วไหลลงแม่น้ำทุกสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงด้วยแล้ว มันย่อมหมายถึงภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงด้านเสบียงอาหาร ประชากรกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำสายนี้และพลเมืองโลกอีกว่า 250 ล้านคนที่พึ่งพาอู่ข้าวอู่น้ำต่างตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือเหตุการณ์ ผลกระทบข้ามพรมแดน ที่มวลมนุษยชาติต้องทบทวนร่วมกัน

มื้อค่ำแสนอร่อยกับโฆษณาไทยและอังกอร์

มัวแต่บ่นถึงสาเหตุความป่วยไข้ของสายน้ำ ถึงเวลามื้อค่ำ พวกเราได้ลิ้มรสอาหารรสชาติถูกใจในวันแรก ผู้จัดได้แจกจ่ายเงินเรียลเพื่อให้แต่ละคนได้รับผิดชอบจับจ่ายซื้อของและอาหารในบางมื้อ ทำให้บางคนแช่มชื่นกับการลิ้มรสชาดเบียร์อังกอร์หลายคนชะล่าใจกับดีกรีที่แอลกอฮอล์เท่ากับไวน์ จนเกิดอาการเดินเป๋กลับที่พักไม่ถูก พวกเราสนุกสนานแลกเปลี่ยนภาษามือกับเด็กเสริฟประจำร้าน เพื่อสั่งรายการอาหารเครื่องดื่ม พลางดูรายการโฆษณาทีวีที่เป็นดารานักแสดงคนไทยในเวอร์ชั่นภาษาเขมร เป็นค่ำคืนแรกที่ประทับใจในสะตึงเตร็ง

ผลกระทบจากเขื่อนเซซานล่าง 2 ที่ตำบลสะเรกอร์

พวกเราจัดการอาหารเช้าแบบตัวใครตัวมันที่ร้านอาหารข้างๆโรงแรมที่พัก หลายคนเดินสำรวจตลาดเช้า ได้ภาพปลาตัวเขื่องจากแม่น้ำเซกองมาฝากเพื่อนฝูง 07.00 น. รถตู้คันใหม่แต่สภาพใกล้เคียงกับคันเดิมมารับพวกเราพร้อมกับเจ้าหน้าที่ CEPA เป้าหมายอยู่ที่บ้านนากอ นางิ้ว ต.สะเรกอร์ อ.เซซาน จ.สตึงเตร็ง

เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าจะถึงจุดหมาย สิ่งที่ทำให้หายเมาค้างเป็นปลิดทิ้งไม่ใช่สภาพถนนลูกรัง ป่ามันสำปะหลัง แต่กลับเป็นไร่ยางพารา ทิวแถวของบ้านพักคนงาน โรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ พร้อมกับสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ที่ถูกแผ้วถางเป็นแนวกว้าง ไม้ที่ถูกตัดกองโตกองแล้วกองเล่า บ้างถูกเผาตอเตรียมพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวตัวนี้ ต้นยางพาราหลายขนาดหลดหลั่นกันไป เสียงอื้ออึงในรถตู้ไม่แตกต่างจากที่เดินทางมาเมื่อวาน เพียงแต่ว่า เมื่อวานเห็นป่าหาย มีบ้านไม้และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้หลากหลายสไตล์ในเมืองสะตึงเตร็งทดแทน แต่วันนี้เจอของจริง ป่าหายและมีไร่ยางพาราแทนที่!

จากการสืบค้นข้อมูลการสัมปทานที่ดินเพื่อการเกษตรของกัมพูชาพบว่า กระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมง จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการลงนามสัญญาในโครงการที่มีมูลค่าลงทุนตั้งแต่ 10,000,000,000 เรียล (หนึ่งหมื่นล้านเรียล หรือ 100 ล้านบาท) หรือเป็นโครงการที่ใช้ที่ดินที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 เฮกตาร์ (6,250 ไร่) ขึ้นไป และในส่วนของจังหวัด หรือกรุงจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการที่มีมูลค่าน้อยกว่า 100 ล้านบาท และใช้ที่ดินน้อยกว่า 6,250 ไร่ที่โครงการนั้นๆตั้งอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดคงเป็นเพราะเหตุผลนี้กระมัง ที่ทำให้เราเห็นป่าไม้สองข้างทางอยู่ในสภาพแบบที่เห็น หลายคนบอกว่า แค่ขายไม้ก็คุ้มแล้ว ไม่ต้องรอผลกำไรจากขายน้ำยางพาราให้เมื่อย!

สภาพป่าไม้ที่ถูกทำลาย สองข้างทางเป็นบริเวณกว้าง
สภาพป่าไม้ที่ถูกทำลาย สองข้างทางเป็นบริเวณกว้าง

บริเวณวัดข้างแม่น้ำเซซาน คือสถานที่นัดพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่างถ่ายรูปทั้งมือสมัครเล่นและฝีมือดีในกลุ่มพวกเราต่างรัวชัตเตอร์กันแบบไม่ยั้ง พี่น้องชาวกัมพูชาบางคนคุ้นหน้าคุ้นตา ทักทายกับพวกเราเป็นภาษาลาว-อีสาน ทำให้เรายิ้มได้ว่า บรรยากาศไม่น่าจะเหมือนการสั่งอาหารในร้านเมื่อคืนผ่านมาเป็นแน่แท้

เจ้าหน้าที่ของCEPAได้แนะนำแขกที่มาเยือนและเจ้าหน้าที่TERRA ได้แนะนำวัตถุประสงค์ของการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพี่น้องจากไทย กว่า 2 ชั่วโมง ที่ชาวบ้านทั้งชายหญิงได้ผลัดกันบอกเล่าถึงความกังวล ความไม่มั่นคงในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะโครงการพัฒนาสายน้ำในมิติพลังงาน โครงการเขื่อนเซซาน 2 ล่างอยู่ห่างจากหมู่บ้านนากอเพียงแค่ 10 กิโลเมตร ทางการบอกว่า ประชาชนใน 2 หมู่บ้านนี้ต้องย้ายออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ที่จัดเตรียมไว้ให้ น้ำเสียงที่พรั่งพรูล้วนแต่ตรงกันว่า บ้านใหม่ ที่ทำกินใหม่ไม่รู้จะเป็นอย่างไร จะอพยพโยกย้ายฝูงวัว ควายซึ่งเป็นสัตว์ที่เราต้องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษอย่างไร ที่แห่งใหม่มีแม่น้ำให้ได้หาปลาเช่นนี้ไหม ซึ่งปลาเราจับได้จำนวนมากไปขายได้ไกลถึงบ้านลุง-รัตนคิรีเป็นอาชีพเดียวที่เราคุ้นเคยจะเพาะปลูกอะไร ความอุดมสมบูรณ์ การกินอยู่ อาหาร น้ำดื่ม จะเป็นอย่างไร สร้างเขื่อนแล้วน้ำท่วมบ้าน วัด โรงเรียน ป่าช้า ผีบรรพบุรุษจะต้องจมน้ำตาย เราจะเป็นรุ่นที่ไม่สามารถดูแลได้แม้แต่ป่าช้าอันเป็นที่อยู่ของผีปู่ย่าตายาย ค่าชดเชยเป็นเงินก็ไม่รู้จะได้เท่าไหร่และนำพาชีวิตเราได้หรือไม่ ฯลฯ สารพัดข้อคำถามที่ไม่มีใครมีคำตอบ

ท้ายสุดแกนนำหมู่บ้านได้บอกเล่าเก้าสิบกับพวกเราคือ พวกเขาไม่เข้าใจว่า “การสร้างเขื่อนเพื่อลดความยากจนคืออะไร เราไม่ได้ค้านเขื่อน แต่เรามีความกังวลเรื่องชีวิตใหม่ หากโยกย้าย ผีในที่แห่งใหม่จะไม่ทำร้ายเราหรือ? เราขอให้รัฐบาลกัมพูชาได้พิจารณาทบทวนเรื่องการสร้างเขื่อนแห่งนี้ด้วย เราไม่อยากเห็นแม่น้ำเซซาน เน่าเสีย มีแต่เชื้อโรคเหมือนน้ำจากเขื่อนยาลีในเวียดนาม”

มื้อเที่ยงในหมู่บ้านกับลาบเหนียวปลาน้ำโขง ผัดหมูป่า เป็นไปอย่างฝืดคอ ทั้งรสชาติและความรู้สึก อนาคตที่ไม่มีคำตอบ รู้สึกห่อเหี่ยวใจพิกล!

ชะตากรรมของชนชาติพันธุ์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตที่หมู่บ้านกบาล โรเมียะส์  “เซ” สายที่ 3
ชะตากรรมของชนชาติพันธุ์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตที่หมู่บ้านกบาล โรเมียะส์ “เซ” สายที่ 3

พวกเราย้อนกลับทางเดิมและเลี้ยวซ้ายมุ่งตรงไปที่หมู่บ้านกบาล โรเมียะส์(KbalRomeas) ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสะเรป็อค อาจารย์ที่นำทีมพวกเราบอกว่า คนในหมู่บ้านนี้เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่ชื่อว่า “พะนอง” เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เหลือน้อยที่สุด นักมานุษยวิทยาบางท่านระบุว่า พะนอง จัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer) จัดเป็นพวกคนป่า ในไทยจะมีวิถีที่ใกล้เคียงกับพวกละว้า แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย ตามประวัติศาสตร์ไทยระบุว่า ชนชาตินี้เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินถึง 6 ประเทศเมื่อ 5,000 ปีล่วงมาแล้ว คือในไทยบางส่วนของภาคเหนือ อีสาน พม่าบริเวณรัฐฉาน มณฑลยูนนานในจีน ลาว เวียดนาม และกัมพูชาตอนเหนือ

                                                  แม่น้ำสเรป็อกยามสาย
แม่น้ำสเรป็อกยามสาย

เส้นทางเข้าหมู่บ้าน ยังคงผ่านผืนป่าผืนใหญ่ที่มีการเร่งแผ้วถางเพื่อใช้ปลูกไม้เศรษฐกิจ เราพบไม้กองโตระหว่างทางเป็นระยะๆ หวนคิดคำนึงถึงตอนเด็กๆ ที่ท่องจำวิชาภูมิศาสตร์ ว่าเมืองไทยส่งออกข้าว ไม้สัก แร่ดีบุกเป็นอับดับต้นๆของโลก กัมพูชาวันนี้คงไม่ต่างกันกับเมืองไทยเมื่อ30-40 ปีที่แล้ว สภาพถนนเข้าหมู่บ้าน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหมู่บ้านแรก หลายครั้งที่ต้องลุ้นกับรถตู้ที่เช่าไปว่าจะผ่านได้ไหม และทุกคนเห็นตรงกันว่า เราไม่ควรออกจากหมู่บ้านนี้เกินบ่าย 3 โมง ระยะทางที่กันดาร ไกล เปลี่ยว และในใจสงสัยถึงการตัดสินใจของชนชาติพันธุ์ที่เหลือน้อยนี้ว่า บุกป่าฝ่าดงมาตั้งรกรากกลางป่าเขาลำเนาไพร และที่สำคัญ หมู่บ้านนี้ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

ราวๆชั่วโมงเศษ ที่ทำให้เราหายสงสัย สภาพบ้านไม้ฝาขัดแตะ ที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก เรียงรายราวๆ ไม่เกิน 60 หลัง จุดนัดหมายเป็นบริเวณวัดเช่นเคย ต้นงิ้ว(ต้นนุ่น)ขนาดใหญ่ริมแม่น้ำสะเรป็อกยืนตระหง่าน สายลมพัดเย็นเอื่อยๆ แม้จะบ่ายคล้อย ทัศนียภาพของสายน้ำแห่งนี้ยังดูน่าชมพลางนึกว่า คนกลุ่มนี้เขาเข้าใจเลือกที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน

เด็กๆ วิ่งเล่นบริเวณวัด เห็นหน้าตา ผมเผ้าแล้ว “แตงไทย”น้องผู้หญิงหนึ่งในทีมงานของเราบอกว่า “ผมทรงเหาหลง” เหตุเพราะทั้งฟู หยิก แดง เป็นลอน ท่าทางไม่ได้สระผมแรมเดือน ทำให้เราอดขำไม่ได้ถึงความช่างกระทบกระเทียบเปรียบเปรย

สุ้มเสียงของชาวพะนองต่างกังวลไม่แพ้กันกับพี่น้องชาวสะเรกอร์ ความไม่อยากย้ายถิ่นฐาน วิถีชีวิตที่พึ่งพิงสายน้ำ การขึ้นลงของน้ำวันละ 1-3 เมตรผลกระทบจากเขื่อนในเวียดนาม และการถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานจากโครงการเขื่อนเซซาน 2 ล่าง การแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างเข้าอกเข้าใจในชะตากรรมมากขึ้น ท้ายสุด ชาวพะเนียงกลุ่มสุดท้ายยังยืนยันว่า
“เรากินปลา เราไม่ได้กินไฟฟ้าเป็นอาหาร”

แสงแดดอ่อนแรง พวกเราร่ำลาพี่น้องพะนองแห่งหมู่บ้านที่แปลเป็นไทยว่า “บ้านหัวแรด” ออกมาด้วยหัวใจที่บอกตัวเองว่า หมู่บ้านนี้เสร็จแน่ๆ ไกลปืนเที่ยง ชนกลุ่มน้อย ประวัติชาติพันธุ์ที่เป็นคนป่า หนทางการแก้ไขปัญหาแบบ “ปิดประตูตีแมว” มีโอกาสเกิดขึ้นเป็นแน่แท้

ค่ำคืนที่สอง พวกเรายังคงพักค้างที่โรงแรมติดตลาดเมืองสะตึงเตร็งเช่นเดิม มื้อเย็นเราเปลี่ยนบรรยากาศ ไปที่ร้านอาหารริมแม่น้ำเซกอง อาหารร้านนี้ไม่จัดจ้านซ่านลิ้นเท่าใดนัก อังกอร์วันนี้รสชาดไม่เหมือนเดิม ไม่เป็นที่ถูกใจพอๆกันกับยำหมูมะนาวจานใหญ่ใส่ผักสะเดารสขม

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้กำลังใจกัน
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้กำลังใจกัน

อาหารเช้าข้างโรงแรมร้านเดิม ต่างที่วันนี้เย้าหยอกเป็นกันเองกับสาวแม่ค้าได้มากขึ้น วันที่สองที่สะตึงเตร็งทำให้รูภาษาเขมรบางคำ มันหมายถึงว่า สั่งอาหารได้หลากหลายมากขึ้น ด้วยความที่อยากกินเกาเหลาแทนก๋วยเตี๋ยวเพื่อความแตกต่างจากวันวาน ต้มกระดูกหมูชามเบ้อเริ่มจึงเป็นที่มาของการหยอกล้อกันในรถตู้ระหว่างเดินทาง ว่าอย่าเผลอไปสั่งเกาเหลาเชียว

นึกในใจว่าเสื้อกันหนาวจะได้ใช้ไหมหนอ ใจชื้นขึ้นเมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านปุ๊ก ซึ่งเป็นหมู่บ้านท้ายเขื่อนเซซาน 2 ล่าง ห่างจากจุดสร้างเขื่อนไม่ถึง 10 กิโลเมตร แม่น้ำเซซานยามเช้า ช่างสดใส เด็กๆ 3 คนดำผุดดำว่าย พระและคนหาปลาพายเรือแถวๆเกาะดอนกลางแม่น้ำเซซาน

“โตเลเซซาน” หรือ แม่น้ำเซซาน ไหลมาจากเขื่อนยาเล จังหวัดกวนตุมประเทศเวียดนาม เข้ากัมพูชาทางด้านอำเภอโอยาเดา จังหวัดรัตนคิรี และไหลลงแม่น้ำโขง ทางด้านจังหวัดสะตึงเตร็งเป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญของทั้งสองประเทศ มีการสำรวจแร่ทองคำในแม่น้ำสายนี้ซึ่งคาดการณ์ว่ามีทองคำค่อนข้างมาก ในช่วงฤดูแล้ง น้ำเหือดแห้ง ดอนทรายแก่งหินโผล่กลางลำน้ำมากมาย ผู้คนในแถบลุ่มน้ำมักร่อนแร่ทองส่งขายพ่อค้าคนกลางได้รายได้ไม่น้อยตรงกับข้อมูลที่ชาวบ้านในหมุ่บ้านปุ๊กที่เล่าให้เราฟังว่า ยามแล้ง เกาะแก่ง หาดทรายขาวสะอาดโผล่ ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากพอๆกันกับการจับปลาขาย

การแลกเปลี่ยนเริ่มต้นคล้ายเมื่อวานแตกต่างตรงที่เช้านี้ “น้องณเดช”แกนนำจากฝั่งไทยเริ่มคุ้นเคย และนำพูดคุยแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำหน้าที่แปลสารให้พวกเราบอกว่าน่าจะเป็นจุดที่ใช้เวลาไม่มากในการพูดคุย เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อบทสนทนาบนศาลาวัดท่ามกลางลมหนาวได้เริ่มต้น แบบแตกต่างกันระหว่างผู้นำและชาวบ้าน ผู้นำทางการของหมู่บ้านได้พยายามให้ข้อมูล และสรุปภาพรวมให้ที่ประชุมเห็นความพยายามของรัฐบาลว่า การสร้างเขื่อนเซซาน 2 ล่างจะส่งผลกระทบด้านดีอย่างไรบ้าง ถนนหนทางจะดีขึ้น มีการสร้างงาน จ้างคนงานสร้างเขื่อนวันละหลายพันคนข้อดีของเขื่อนในการใช้น้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การไปร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงหลายครั้ง รัฐบาลก็ไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะดูแลหมู่บ้านท้ายเขื่อนเช่นไร เช่น ระบบชลประทาน ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น

เช้าที่สดใสกับใจดวงเดิมที่บ้านปุ๊ก(Pouk)
เช้าที่สดใสกับใจดวงเดิมที่บ้านปุ๊ก(Pouk)

แกนนำผู้หญิงหลายคนที่เปิดฉากตั้งคำถามแบบน่าสนใจ บ้างบอกว่า “เวลาพวกสร้างเขื่อนระเบิดหิน พวกเราต้องออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย ต้องงดกิจกรรมการทำมาหากินทุกอย่าง ต้องดูแลลูก ทิ้งบ้านช่อง วัดวา โรงเรียน สัตว์เลี้ยงเป็นวันๆ ทางการไม่เคยสำรวจตัวเลขการสูญเสียอาชีพจับปลาที่พบว่ามีการจับปลาในฤดูกาลหาปลาได้ถึงวันละ 1,000 กิโลกรัม นอกฤดูกาลจับปลาได้ถึงวันละ 500-600 กิโลกรัม”

ตัวเลขดังกล่าวได้รับการยืนยันจากกำนันซึ่งเป็นพ่อค้ารับซื้อปลา “สิ่งสำคัญคือ ทุกวันนี้การหาปลา หากินลำบากมากขึ้น ความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลหมู่บ้านเหนือเขื่อน แต่หมู่บ้านใต้เขื่อนไม่มีการชี้แจงใดๆเลย หากเขื่อนพัง น้ำท่วมหนักจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจะมีระบบเตือนภัยเช่นไรไม่มีใครแจ้งจนกระทั่งปัจจุบันไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือมาช่วย”

น้ำเสียง แววตาที่กดดัน สร้างแรงสะเทือนใจให้กับพี่น้องไทยที่ร่วมเรียนรู้ จนทำให้ “แตง” สาวน้อยแห่งลุ่มน้ำมูล ได้ให้ข้อมูลถึงหนทางการต่อสู้ของพี่น้องบ้านตามุย จ.อุบลราชธานี ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ว่าวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำเป็นเช่นไร การเก็บกำสำรวจข้อมูล การแสวงหาพรรคพวก การสร้างเครือข่ายพันธมิตร การสร้างความเข้มแข็งจากภายในบอกกล่าวให้โลกภายนอกรับรู้พร้อมแนะให้ชาวบ้านปุ๊ก ให้ค้นหาของดีๆที่มีในชุมชน เช่น แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง”ต้อม” หนุ่มลุ่มน้ำโขงเมืองหนองคายได้กล่าวอย่างสะเทือนใจว่า เราคงต้องเลือกว่าเราจะมีวิถีชีวิตแบบใด เราต้องกำหนดอนาคตชุมชนของเราเอง และร่วมใจกันพูดเสียงดังๆ สร้างเครือข่าย ทำป้ายข้อมูลให้คนทั่วไปได้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ลมหนาวไม่ได้ทำให้เวทีวันนี้หายร้อนรุ่ม พวกเราเดินทางกลับมากินมื้อเที่ยงที่สะตึงเตร็งอีกครั้ง เป็นอีกวันที่ไม่ธรรมดา

CEPA กับการเสริมหนุนองค์กรชุมชน

บ่ายคล้อย พวกเราได้มีโอกาสสรุปงานกับ CEPA ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ผู้อำนวยการของ CEPA เล่าว่า ทำงานร่วมกันกับ TERRA ตั้งแต่ปี 1996 ในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งน้ำสายสำคัญๆในภูมิภาค มีการศึกษาแลกเปลี่ยนดูงานทั้งระดับเจ้าหน้าที่และแกนนำชาวบ้านหลายครั้ง ทั้งที่เขื่อนปากมูน เขื่อนราษีไศลนับว่าความเข้มแข็งของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมของไทยมีความเข้มแข็งในการวิพากษ์ วิจารณ์ การแสดงออก และการติดตามตรวจสอบค่อนข้างสูง

สิ่งที่ CEPA ทำได้คือ การเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในพื้นที่ กรณีเขื่อนเซซานล่าง 2 มีการปรับบันทึกความร่วมมือหรือ MOU หลายครั้ง ซึ่งรัฐบาลเองก็ยืนยันว่า ปัจจุบันมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ระหว่างจีนและกัมพูชา (ตัวเลขไม่เปิดเผย) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmenttal Impact Assessment:EIA)นอกจากนี้องค์กรยังส่งเสริมความร่วมมือในการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับอำเภอเพื่อให้ความรู้กับประชาชน ทั้งในเรื่องการประมง การอนุรักษ์ป่า การท่องเที่ยว การรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับลุ่มน้ำ ความแตกต่างทางการปกครองทำให้องค์กรต้องระมัดระวังการแสดงออก ทำอะไรได้ไม่มากนัก ผู้อำนวยการ CEPA กล่าวอย่างระมัดระวังตลอดการแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งเอ่ยถึง ท่านสมบัด สมพอน NGO อาวุโสของลาวที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เสมือนเป็นสิ่งหนึ่งที่ย้ำเตือนให้พวกเราได้รู้เป็นนัยๆ บทสนทนาได้สิ้นสุดลงแล้ว

เซซาน 2 ล่าง ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของแม่น้ำเซซาน

ข่าวในเดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555ระบุว่า รัฐบาลกัมพูชา อนุมัติงบประมาณ 781.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
( ราว 24,226 ล้านบาท ) สำหรับโครงการสร้างเขื่อน “เซซาน 2” กำลังผลิต 400 เมกะวัตต์ บริเวณพื้นที่ริมฝั่งตอนล่างของแม่น้ำโขง ในจังหวัด สตึงเตร็ง ทางตอนเหนือของประเทศ โดยบริษัทก่อสร้างจากจีน และเวียดนามนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และจัดหาพื้นที่ทำกินทางเกษตรให้แก่ประชาชนที่ต้องอพยพจากพื้นที่ เนื่องจากการถูกเวนคืนและแม้ประชาชนในประเทศจะส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 50,000 คน รวมถึงระบบนิเวศทั้งลุ่มน้ำ แม้หลายฝ่ายเช่น นายเซอร์ยา ซูเบดี ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ประจำกัมพูชา ที่ออกมาแสดงความกังวลต่อการสร้างเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมกับเปิดเผยรายงานว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังไม่มีความรู้ และความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง

ระหว่างการเดินทางการเดินหน้าหาอนาคตของพี่น้องลุ่มน้ำโขง 2 วันแรกในกัมพูชา พวกเราพบว่า ชะตากรรมคนลุ่มน้ำไม่ว่าประเทศไหน ต่างแขวนอยู่ในเส้นด้าย หากรัฐและทุนผนึกกำลังจับมือกันอย่างเหนี่ยวแน่น มองสายน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ค้าขายกันในระดับภูมิภาค มิไยที่พูดถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นสายส่ง งานก่อสร้างอื่นๆไม่ได้มองสายน้ำเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงคนทั้งภูมิภาค คำถามของชาวบ้าน 3 หมู่บ้านที่เรามีโอกาสได้ไปเยือน เป็นคำถามเดียวกันกับพี่น้องชาวลุ่มน้ำโขงทวงถามรัฐบาลไทย ทวงถามผู้เกี่ยวข้องตลอดสายน้ำ ถึงเวลาหรือยังที่ทุกฝ่ายต้องตอบคำถามชัดๆ ผลกระทบข้ามพรมแดนเหล่านี้ใครต้องรับผิดชอบ

โปรดติดตาม เมื่อแม่น้ำ(โขง) ถูกรุมกินโต๊ะ..3 ว่าด้วย “เซซานมีชู้” เร็วๆนี้