ThaiPublica > คนในข่าว > ปากกาพูดได้ “เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” เล่าเรื่องหลังฉากผู้นำสหรัฐฯ กับหนังสือบนโต๊ะ “บิล คลินตัน”

ปากกาพูดได้ “เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” เล่าเรื่องหลังฉากผู้นำสหรัฐฯ กับหนังสือบนโต๊ะ “บิล คลินตัน”

12 ธันวาคม 2012


สัมภาษณ์โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

หลายครั้งที่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นจากเคล็ดลับเพียงเล็กๆ

หลายครั้งที่ “คนแถวหน้า” ยืนโดดเด่นเพราะมีหลายคนยอมอยู่ “แถวหลัง”

ทว่า น้อยคนจะมีความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่ โดยเฉพาะคนที่ต้องเปลี่ยนสถานะ-สลับบทบาทเป็นว่าเล่น อย่าง “เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจก้าวหน้าใน มูลนิธิโกลบอล เวิร์ค (Director of the Progressive Economy think tank, Global Works Foundation) ซึ่งเคยผ่านงานที่ปรึกษาผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่ปรึกษาของสมาชิกสภาคองเกรส นักวิจัยหัวข้อการเมืองและการพัฒนา

“เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจก้าวหน้าใน มูลนิธิโกลบอล เวิร์ค
“เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจก้าวหน้าใน มูลนิธิโกลบอล เวิร์ค

นอกจากนี้ยังเป็น “วิทยากรขาประจำของไทย” เมื่อได้รับเชิญจากส่วนราชการ-องค์กรด้านการค้า-สถาบันการศึกษา ให้เปิดบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของอเมริกา เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ด้านบวก-ลบให้คนไทยฟัง

เป็นผลให้ชื่อ “เอ็ดเวิร์ด” เริ่มคุ้นหูคนไทย นับจากยุคบุกเบิกเอฟทีเอไทยสมัยรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”

นอกจากบทบาท “นักพูด” เขายังเป็น “นักเขียน” ผลิตบทความป้อนรัฐบาลและรัฐสภาของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทว่าน้อยคนจะรู้ว่า “เอ็ดเวิร์ด” คนนี้เคยเป็นมือยกร่างสุนทรพจน์ให้ “บิล คลินตัน” ประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐฯ มาแล้ว 2 ครั้ง

งานที่ไม่มีชื่อปรากฏในฐานะเจ้าของ แต่ทำให้เจ้าตัวภาคภูมิใจทุกครั้งที่หวนนึกถึง และนำเขาไปพบในสิ่งที่หลายคนไม่อาจเห็น!

ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1998 เมื่อ “คลินตัน” เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

อีกครั้ง ในการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เมื่อปี ค.ศ. 2000

“ตอนนั้นผมไม่ได้ทำงานให้ประธานาธิบดีคลินตันโดยตรง แต่ผมเป็นผู้อำนวยการการค้าและการตลาดโลกของสถาบันนโยบายก้าวหน้า (Trade and Global Markets Director for the Progressive Policy Institute) คอยให้คำปรึกษาด้านนโยบาย และเขียนสุนทรพจน์ให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United State Trade Representative: USTR) แต่เวลาประธานาธิบดีคลินตันจะไปกล่าวสุนทรพจน์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า คณะทำงานทำเนียบขาวก็จะขอความเห็นในการเขียนสุนทรพจน์มา”

“อย่างในการประชุมองค์กรการค้าโลก ทางทำเนียบขาวก็ขอความเห็นมา ผมก็ลิสต์หัวข้อ ยกร่าง แล้วส่งให้ทำเนียบขาว จากนั้นเขาก็ดูทีละย่อหน้า ปรับแต่งบางคำ ก่อนส่งให้สภาคองเกรสพิจารณา เพราะสมาชิกรัฐสภาต้องการรู้ว่าผู้นำกำลังจะไปพูดอะไรกับต่างชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อเมริกาหรือไม่ ซึ่งในทุกปีประธานาธิบดีจะเดินทางไปสภาคองเกรสเพื่อเล่าถึงวาระที่จะทำ จากนั้นก็จะมีองค์กรหนึ่งคอยจัดการยกร่างสปีชให้ ส่งร่างให้ประธานาธิบดีดู ซึ่งเขาสามารถเปลี่ยนแปลงบางคำได้ถ้าต้องการ เพราะเขาคือประธานาธิบดีของประเทศนี้ โดยเฉพาะคลินตัน ซึ่งมักทำอะไรด้วยตัวเอง เขาก็จะเปลี่ยนบางคำ เพิ่มเติมบางเนื้อหา ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ อาจมีคนร่างให้เขา แต่ถ้าเป็นสุนทรพจน์การเมือง ส่วนใหญ่เขาจะคิดของเขาเอง”

“คลินตันเป็นคนชอบทำอะไรด้วยตนเอง เขาสามารถคิด ทำ และอธิบายเรื่องยากๆ ด้วยการใช้คำพูดสามัญๆ ตัวอย่างสุนทรพจน์ที่ผมค่อนข้างชอบคือการปราศรัยต่อประชุมใหญ่ประจำปีพรรคเดโมเครต (เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2012) เพื่อเสนอชื่อบารัก โอบามา เป็นแคนดิเดตชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เขาพูดยาวเกือบชั่วโมง แต่ในจำนวนนี้เป็นมุมมองต่อพรรครีพับลิกัน และไม่ลืมขมวดปมว่า “ไม่มีประธานาธิบดีคนไหน ไม่ว่าผม ไม่ว่าใครก่อนหน้าผม จะสามารถซ่อมแซมความเสียหายที่โอบามาเจอทั้งหมดในเวลาแค่ 4 ปี” ถือเป็นคำสั้นๆ แต่สามารถอธิบาย หรือให้คำจำกัดความเสียหายที่เกิดจากพรรครีพับลิกันได้หมด”

จึงน่าสนใจว่า กว่า “คลินตัน” จะเป็นผู้พูดที่จับใจคน เป็นผู้ฟังที่จับใจความได้ดี เขานิยมทอดสายตา “อ่านคน-อ่านความ” ผ่านหนังสือโปรดประเภทใด?

“เท่าที่ผมรู้ เขาชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์นะ แต่ครั้งหนึ่งในปี 2000 เจ้านายผม แชร์เลน บาร์เชฟสกี (ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ) โทรศัพท์ตามผมไปคุยงาน หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับคลินตัน ผมแปลกใจมากๆ ที่เห็นหนังสือ Meditations ซึ่งเขียนโดยมาร์คุส ออเรลิอุส (อดีตจักรพรรดิโรมัน ซึ่งถือเป็นกษัตริย์นักปรัชญาลัทธิสโตอิกคนสำคัญ) วางอยู่ตรงที่นั่งของประธานาธิบดี ผมประหลาดใจที่คลินตันอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ออเรลิอุสเขียนในช่วงประสบปัญหาหลายด้าน เขาพยายามค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้เขามีพลัง กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทำอย่างไรให้มีสถานภาพสูงและรักษามันไว้ได้ ทำอย่างไรจะรักษาความเป็นมิตรกับคนอื่นไว้ได้ ทำอย่างไรจะมีชีวิตที่ดีเมื่อมีอำนาจมาก เราสามารถรักษาพื้นฐานตามที่เราเป็น และเข้าใจพื้นฐานที่คนอื่นเป็นอยู่ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าหากได้อ่านจบ มันจะส่งผลต่อความคิด ต่อบุคลิกภาพของคนอ่าน และเชื่อว่ามันอาจส่งผลต่อความเป็นคลินตันด้วย” เอ็ดเวิร์ดกล่าว

บิล คลินตัน ที่มาภาพ : http://nationalpostnews.files.wordpress.com
บิล คลินตัน ที่มาภาพ : http://nationalpostnews.files.wordpress.com

แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าข้อเขียนของ “จักรพรรดิออเรลิอุส” ที่เกิดขึ้นกว่า 1800 ปีก่อน เพื่อสนทนากับความคิด-จิตใจตัวเอง ส่งผลต่อความคิด-ชีวิตผู้อ่านที่ชื่อ “บิล คลินตัน” อย่างไร แต่สิ่งที่ “เอ็ดเวิร์ด” ยืนยันได้คือ “อดีตผู้นำสหรัฐฯ” รายนี้มี “บุคลิกพิเศษ” และผลักให้เขาเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการสนับสนุนจากพลเมืองมะกันมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

“อดีตมือร่างสปีช” ยกเรื่องหลังฉากของ “คลินตัน” ซึ่งไม่เคยถูกบันทึกที่ไหนมาก่อน ขึ้นสนับสนุนความเห็นดังกล่าว

“ตอนปี 2000 ผมมีโอกาสร่วมคณะประธานาธิบดีไปเยือนเวียดนาม พวกเราเข้าพักโรงแรมในกรุงฮานอย สิ่งแรกที่คลินตันทำหลังเข้าโรงแรมคืออะไรรู้ไหม เขาเริ่มต้นจากการเดินไปที่ห้องน้ำ ทักทายพนักงานทำความสะอาด จากนั้นก็เดินไปรอบๆ โรงแรมเพื่อคุยกับพนักงานเปิดประตู เชคแฮนด์พนักงานยกกระเป๋า พนักงานต้อนรับ เดินไปที่เคาน์เตอร์เลยนะ ทำให้พนักงานหญิงที่เป็นวัยรุ่นเวียดนามเข้ามาขอถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็เดินขึ้นชั้น 2 ไปทักพนักงานทำความสะอาด นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจมาก และยังประทับใจมากระทั่งวันนี้ เพราะไม่คิดว่าเขาจะทำ อ้อ! ผมลืมบอกไปว่าคลินตันเป็นคนที่มือนุ่มมากๆ เหมือนมือเด็ก เวลาไปเชคแฮนด์ใคร ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเลย ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้น (หัวเราะ)”

“แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ปรากฏต่อสาธารณะ เพราะเวลาประธานาธิบดีไปกัมพูชา เวียดนาม ก็ต้องไปพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำรัฐบาลประเทศนั้นๆ สิ่งที่ปรากฏต่อสื่อจึงเป็นเรื่องที่เป็นทางการในหนังสือพิมพ์ ซึ่งมันคือความสำเร็จในการเยือนประเทศๆ หนึ่ง แต่สิ่งที่เขาทำที่โรงแรมฮานอยไม่ได้จัดฉากหรือทำเพราะต้องการให้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เขาทำเพราะมีความสุข ทำเพราะนี่คือสิ่งสำคัญสำหรับเขา”

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ “เอ็ดเวิร์ด” ภาพหลังฉากเช่นนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับ “ประธานาธิบดีรุ่นน้อง” นาม “บารัก โอบามา” เนื่องจากเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่พูดมาก ชอบอยู่กับครอบครัว ไม่ชอบอยู่กลางฝูงชน ต่างจาก “คลินตัน” ที่สนุกกับการเปิดฉากสนทนาและพบปะคนมากหน้าหลายตา

“ผมไม่คิดว่าโอบามาจะทำแบบเดียวกันนี้นะ เพราะเขามักโฟกัสว่าวันนี้ในตารางงานมีอะไร ประชุมอะไร ต้องไปพบใคร นี่คือความแตกต่างอย่างมากของประธานาธิบดีทั้ง 2 คนที่มาจากพรรคเดโมแครตเหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประเทศมันแตกต่างกันมากด้วย ในยุคคลินตัน (ปี 1993-2001) สถานการณ์เศรษฐกิจดี ประชาชนมีความสุข แต่ในช่วง 4 ปีของโอบามา (ปี 2008-2012) เศรษฐกิจแย่ คนตกงาน บริบทมันต่างกันมาก จึงไม่มีทางที่โอบามาจะเป็นเหมือนคลินตันได้ อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ในตัวโอบามาคือเป็นคนฉลาด เป็นคนทำงานหนัก รักครอบครัว จะเห็นว่าเขาใกล้ชิดภริยาและลูกสาว 2 คนมาก ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ชื่นชอบโอบามาจากสิ่งเหล่านี้”

แล้วความเหมือนระหว่าง “คลินตัน” กับ “โอบามา” คืออะไร?

“ในความคิดผม ทั้งคู่มีนโยบายที่เหมือนกัน เช่น พยายามผลักดันนโยบายด้านการประกันสุขภาพ และทั้งคู่มีพื้นเพครอบครัวคล้ายคลึงกัน เพราะเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน และตอนนี้เขาเป็นเดโมแครตที่ได้เป็นประธานาธิบดี 2 สมัยเหมือนกัน โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าเรื่องในอดีตหรือเรื่องเล่าหลังฉากจะเป็นอย่างไร แต่เวลาประธานาธิบดีอยู่หน้าฉาก พวกเขาต้องแสดงความมั่นใจว่าสามารถจัดการได้ดีกว่า ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่กลัว เพื่อให้คนประทับใจ พวกเขาต้องการโชว์ว่าอะไรคือปัญหา และจะแก้มันได้อย่างไร”

และเพราะการเข้าฉากร่วมกันระหว่าง “ผู้นำคนที่ 42 และ 44 ของสหรัฐฯ” บนเวทีการเมืองนี่เอง ที่นำไปสู่ชัยชนะของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน และส่ง “โอบามา” หวนคืนทำเนียบขาวอีกครั้ง

“เอ็ดเวิร์ด” ชี้ว่า ปรากฏการณ์ “พี่ช่วยน้อง” หาใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของ “พรรคสีฟ้า” ไม่ เพราะในอดีตประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่มักเสียชีวิตก่อนมีโอกาสเห็นความสำเร็จของคนการเมืองร่วมพรรค ขณะที่บางรายที่ยังอยู่ก็เลือกหายใจแบบเงียบๆ หรือไม่ก็เคลื่อนไหวในนามส่วนตน ไม่อิงกับพรรค

ไม่มีใครออกโรงทำหน้าที่ “ป๋าดัน” เดินสายปราศรัยราว 30 เวที เพื่อช่วย “น้องร่วมค่าย” อย่างที่ “คลินตัน” ทำให้ “โอบามา”

“ผมคิดว่าหลายปีที่ผ่านมา โอบามากับคลินตันมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกันมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะโอบามาต้องเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างจากคลินตัน เช่น เขาทั้งคู่ต้องทำงานหนักในช่วง 2 ปีแรกเพื่อพิสูจน์อะไรหลายอย่าง และในการเลือกตั้งกลางเทอม สถานการณ์ก็เลวร้ายลง เมื่อพรรคเดโมแครตเสียที่นั่งในสภาไปมาก โอบามาจึงพยายามเรียนรู้ว่าคลินตันทำอย่างไรเพื่อผ่านจุดย่ำแย่นั้นไปได้ หลายครั้งพวกเขาไปคุยกันเพื่อหาไอเดีย และทำให้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

ถ้าเช่นนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก “โอบามา” จะตอบแทนบุคคลที่เขาเคยยกให้เป็น “เพื่อนที่ยอดเยี่ยม” ด้วยการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของสหรัฐฯ ประจำกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ตามที่สื่อบางสำนักเสนอข่าว?

“จริงหรือ ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย” เขาเบิกตา ทำท่าประหลาดใจแบบสุดๆ ก่อนพูดต่อว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการตั้งอดีตประธานาธิบดีไปเป็นทูตนี่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน ในอดีตเรามีอดีตประธานาธิบดีที่ไปเป็นผู้พิพากษาในศาลสูงของสหรัฐฯ (Supreme Court) หลังพ้นตำแหน่ง มี “จอห์น ควินซี แอดัมส์” ประธานาธิบดีคนที่ 6 กลับไปทำหน้าที่ ส.ส. หลังพ้นวาระ แต่นั่นเป็นเวลาที่นานมาแล้ว ข่าวที่ออกมานี้จึงทำให้ผมแปลกใจมากๆ”

ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับครอบครัว “คลินตัน” หรือไม่?

“ในการเป็นทูตหรือ ผมคิดว่าการเป็นทูตไอร์แลนดเป็นทางเลือกที่ดีนะ เพราะคลินตันมีบทบาทสำคัญและประสบความความสำเร็จในการสร้างสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี 1998 อีกทั้งปัจจุบันเรามีไอริชอเมริกันเยอะมากในนิวยอร์กและบอสตัน”

เป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักในการผลักดันศรีภริยาอย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 หรือไม่?

“ผมไม่คิดว่านี่จะเป็นยุทธศาสตร์การเมืองล้วนๆ นะ ตอนนี้ฮิลลารีอายุ 65 ปีแล้ว แต่ถ้าเธอต้องการเป็นประธานาธิบดีก็อาจเป็นได้ เพราะโรนัลด์ เรแกน ก็เป็นประธานาธิบดีตอนอายุ 70 ปี ซึ่งฮิลลารีก็มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะ มีผลงานจับต้องได้ การที่เธอถอยออกจากเทอมที่ 2 ของรัฐบาลโอบามาก็สามารถคิดได้ว่าจะทำอะไรต่อ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีเธอคนเดียวที่จะเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีที่เข้มแข็งในนามพรรคเดโมแครต ยังมีคนอื่นๆ อีก”

“ในประวัติศาสตร์ชาติ เราเคยมีประธานาธิบดีพ่อ-ลูกมาแล้ว เช่น ครอบครัวบุช ครอบครัวแอดัมส์ แต่ไม่เคยมีประธานาธิบดีสามี-ภริยา ไม่เคยมีประธานาธิบดีหญิงมาก่อน ก็คงเหมือนประเทศไทยที่เพิ่งมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก เธออาจจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่”

หาก “คลินตัน” ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอเมริกัน พวกเขาต้องทำอะไรใน 4 ปีหลังจากนี้?

“ผมไม่รู้ว่าเธอกำลังจะทำอะไรในช่วง 4 ปีนี้ แต่ฮิลลารีต้องวางตนอยู่ในสถานะที่น่าสนใจ ซึ่งคิดว่าเธอไม่ต้องการมีตำแหน่งในรัฐบาลโอบามา 2 แต่เธอจะไม่หยุดเป็นนักเคลื่อนไหวไม่ว่าในเรื่องใดๆ”

เหล่านี้เป็นมุมคิดจาก “เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” บุคคลที่เคยเห็น “คลินตัน” ในมุมอันซีน ล่วงรู้เคล็ดลับการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ จากการทำหน้าที่ “ปากกา” ให้ผู้นำสหรัฐ!!!