ThaiPublica > เกาะกระแส > ปิดฉาก 6 ปีคดีกุหลาบแก้ว ดาโต๊ะสุรินทร์หายตัว-การเมืองเปลี่ยนขั้ว ธุรกรรมอำพราง 7 หมื่นล้านไม่คืบ

ปิดฉาก 6 ปีคดีกุหลาบแก้ว ดาโต๊ะสุรินทร์หายตัว-การเมืองเปลี่ยนขั้ว ธุรกรรมอำพราง 7 หมื่นล้านไม่คืบ

13 สิงหาคม 2012


ความพยายามในการเข็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ยังคงอึมครึม มีประเด็นให้สังคมได้พูดต่อไป แม้พรรคเพื่อไทยจะถอยก็ไม่ถอน ดูคล้ายกับ “ใส่เกียร์ถอยหลัง แต่ยังไม่ดับเครื่อง”

เป้าหมายของกฎหมายทั้งสองฉบับถูกมองจากสังคมและกลุ่มที่ต่อต้านว่า มุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือการนิรโทษกรรมคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การคืนเงินที่ถูกยึดไป 4.6 หมื่นล้านบาท

หาก “ย้อนรอย” กลับไปดูที่มาของการยึดเงินก้อนดังกล่าว เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากคดีขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ถูกระบุว่าเป็นการทำธุรกรรมอำพราง

โดยเฉพาะการใช้บริษัท “นอมินี” ที่เป็นคนไทย ในนาม “บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด” เป็นการกระที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.กำกับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งไม่อนุญาตให้ต่างด้าวถือหุ้นเกิน 49%

ธุรกรรมอำพรางครั้งดังกล่าว ได้ถูก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ “เกียรติ สิทธีอมร” เป็นหนึ่งในแกนหลักที่เข้าไปล้วงลึกข้อมูล ตั้งแต่กระบวนการถือหุ้น การจดทะเบียนพาณิชย์ การใช้นอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย รวมถึงการผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์ส่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง

“คดีนี้ผมเองเป็นผู้ยื่นให้กระทรวงพาณิช์ตรวจสอบ ในช่วงต้นปี 2549 และต่อมากระทรวงได้ส่งไปยังตำรวจและอัยการ แต่คดียังค้างเติ่ง เพราะจำเลยผู้ถูกกล่าวหาหายตัวไป ไม่สามารถนำมาดำเนินคดีได้ คือกรณีของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล หรือดาโต๊ะสุรินทร์ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทกุหลาบแก้ว ได้หายตัวไป จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าจำเลยต้องรับฟังข้อกล่าวหาต่อหน้าศาลในนัดแรก แล้วถึงจะดำเนินคดีลับหลังก็ว่ากันไป แต่ตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ พูดได้ว่าเงียบไปเลย” นายเกียรติระบุ

จากการตรวจสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในขณะนั้น พบหลักฐานว่า บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพนโฮลดิ้งส์ เข้าซื้อหุ้นเมื่อ 23 มกราคม 2549 โดยมีผู้ถือหุ้นเกี่ยวโยงกันหลายทอด

โดยเฉพาะบริษัทซีดาร์โฮลดิ้งส์นั้นมีบริษัทกุหลาบแก้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัท ไซเพรสโฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นร่วมกันอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบหลักฐาน เส้นทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนของบริษัทกุหลาบแก้วไม่ได้มาจากคนไทย แต่มาจากบริษัทลูกของเทมาเส็ก ซึ่งตามกฎหมายถือได้ว่าเป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อช่วยให้บริษัทซีดาร์โฮลดิ้งส์และบริษัทชินคอร์ปเป็นนิติบุคคลไทย

นายเกียรติกล่าวต่อว่าเหตุการณ์ขณะนั้น ช่วงแรกที่กระทรวงพาณิชย์ไปยื่นฟ้องที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ใช้เวลา 6 เดือน ถึงตัดสินใจส่งให้เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นคดีก็ใช้เวลาพิจารณาอยู่เป็นปีกว่าจะไปถึงชั้นอัยการ เพราะมีการสอบพยานจำนวนมาก ทั้งๆ ที่พยานเอกสารที่ทางกระทรวงพาณิชย์ยื่นให้ก็มีรายละเอียดเพียงพอแล้ว

นายเกียรติกล่าวอีกว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหลักฐานเป็นเส้นทางการเงินที่ชัดเจนว่า มีการใช้เงินของผู้ซื้อโอนให้ตัวแทนที่เป็นคนไทยใช้ซื้อขายและลงทุนในบริษัท ถือเป็นพฤติกรรมการถือหุ้นแทนที่ค่อนข้างชัดเจน เพื่อให้มีการละเมิดข้อกำหนดของกฎหมาย ที่ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาในกิจการโทรคมนาคม เช่น บริษัท เอไอเอส บริษัท ชินแซทเทลไลท์ และกิจการการเดินอากาศอย่าง ไทยแอร์เอเชีย เพราะกิจกรรมที่บริษัทลูกของชินคอร์ปเกือบทั้งหมดดำเนินการอยู่ ไม่อนุญาตให้บริษัทที่มีต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่ากึ่งหนึ่งดำเนินการได้

นายเกียรติกล่าวว่าหากคดีเดินหน้าต่อไปได้ และไปจนถึงการดำเนินการในชั้นศาล ก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป อาจหมายถึงการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปในครั้งนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ หรือทำผิดไปแล้วก็ต้องปรับปรุงให้ถูก หรือเป็นโมฆะ ตรงนี้ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้ เพราะไม่เคยมีกรณีตัวอย่างให้อ้างอิง

“ช่วงนั้นที่ผมทำคดีนี้ โดนยิ่งกว่าหนามกุหลาบตำ มีการข่มขู่หลายอย่างสารพัด เจอมาหมด เรียกว่าจัดหนัก จัดเต็ม บางครั้งก็มีรถตู้ไม่ติดป้ายทะเบียนตามมา มีโทรศัพท์มาตอนตีสามแล้วก็มาหายใจดังๆ ให้ฟัง ท้ายที่สุดก็คือถึงขนาดต้องไปหาที่อยู่ชั่วคราวพักหนึ่ง เรียกว่าคุกคามกันทุกรูปแบบ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าสภาพการคุกคามเช่นนี้ เป็นสังคมประชาธิปไตยแบบไหน”นายเกียรติกล่าว

นายเกียรติ กล่าวอีกว่า แรงกดดันยังมีมาก ถึงขนาดหลังจากการปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 ยังมีคนในเครื่องแบบ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้หวังดี แนะนำไม่ให้ไปให้การกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แต่สุดท้ายเราก็ไปตามนัด เพราะอย่างไรก็เชื่อว่า “ทางที่ถูกต้องคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ถ้าไม่ทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต้องถามว่าชีวิตที่เหลือจะอยู่กับตัวเองได้อย่างไร”

อย่างไรก็ตามคดีนอมินีกุหลาบแก้วถือเป็นหนึ่งใน “มหากาพย์” ของคดีขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งนำไปสู่การลงลึกไปถึงดีลที่ไม่โปร่งใสมากมาย รวมทั้งการใช้อำนาจทางการเมืองช่วยผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้น จนนำไปสู่คำตัดสินของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ยึดทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาท

นายเกียรติกล่าวว่าหากย้อนกลับไปในวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ราคาหุ้นชินคอร์ปอยู่ที่ 16 บาท แต่ในวันที่ขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก โดยผ่านกุหลาบแก้วและบริษัทในเครือของเทมาเส็ก ที่จดทะเบียนในเกาะบริติชเวอร์จิน 5 บริษัท ขายได้ราคาสูงกว่า 40 บาทต่อหุ้น คำถามก็มีอยู่ว่า เหตุใดทรัพย์สินงอกงามอย่างรวดเร็วระหว่างอยู่ในตำแหน่ง นั่นคือโจทย์ข้อที่หนึ่ง โจทย์ข้อที่สองคือว่า พ.ต.ท.ทักษิณยื่นบัญชีกับ ป.ป.ช.แจ้งว่าทรัพย์สินมีแค่ 1,000 กว่าล้าน ทำให้เกิดคดีซุกหุ้นภาคหนึ่ง

นอกจากนี้การที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์บอกว่าเงินที่โดนศาลยึดไปเป็นของตนเองที่มีมาก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 ตรงนี้ก็ตีความได้ว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเท็จ ซึ่งก็จะเป็นความผิดที่ต้องมีการดำเนินคดี แล้วในระหว่างที่อยู่ในอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินการใดๆ ที่อ้างว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ ก็จะกลับมาเป็นคดีความ เพราะเป็นการกระทำผิดในการใช้อำนาจโดยมิชอบ

“เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเราไม่อยากเรียกว่าปรองดอง เพราะปรองดองแต่ชื่อ ก็ไม่ใช่เป็นเพียง 4.6 หมื่นล้านที่คนเข้าใจ แต่คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่โยงถึงนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน สมาชิกในครอบครัว ก็จะโดนล้างผิด เพราะฉะนั้นคุณทักษิณไม่ได้กลัวคดี 4.6 หมื่นล้าน หรือคดีที่ดินรัชดาเท่านั้น แต่ยังมีคดีอื่นๆ ที่จะโยงใยมาจากผลการวินิจฉัยของศาล และหลักฐานที่ปรากฎจากการตรวจสอบของ คตส. อีกหลายคดีซึ่งเป็นความผิดทางอาญา” นายเกียรติกล่าว

นายเกียรติกล่าวต่อว่า ในช่วงพิจารณาคดีที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวก็ยังมีการตั้งทนายความต่อสู้ในชั้นศาลโดยตลอด และคำพิพากษาก็มีในช่วงที่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำอธิบายอยู่ในคำพิพากษาของศาลชัดเจนว่า ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นผลให้มูลค่าของทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น เช่น กรณีการแก้สัญญาสัมปทานโทรคมนาคม คดีภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทางธุรกิจและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการปล่อยเงินกู้ให้ประเทศพม่า 4,000 ล้านบาท โดยใช้เงินของเอ็กซิมแบงก์

นอกจากนั้นยังมีการอนุมัติให้เปลี่ยนดาวเทียม ซึ่งต้องใช้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ต้องทำตามสัญญาไม่ต้องทำ แต่กลับเป็นการกระทำเพื่อเพิ่มรายได้ของธุรกิจตนเอง และอ้างว่าทำตามสัญญา

“สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก็ชัดว่าทำให้มูลค่าทรัพย์สินของชินคอร์ปเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทของตัวเองและครอบครัว สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นายเกียรติกล่าวย้ำ

นอกจากนั้นยังเชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะมีเงินอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ในต่างประเทศ รวมทั้งทรัพย์สินและธุรกิจภายนอกประเทศ เชื่อว่ายังคงมีอีกมาก โดยที่ยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ ถือเป็นปริศนาที่หลายคนยังคงต้องการหาคำตอบ

คดีกุหลาบแก้วขณะนี้น่าจะถือว่าปิดฉากไปแล้ว ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สุดท้าย “ปฐมบท” ของคดีที่นำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ มากมาย กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายมากมายมหาศาล ก็ไม่มีคำตอบสุดท้ายใดๆ ให้กับสาธารณชน