ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจเพื่อนร่วมโลก กลยุทธ์ลด “ถุงพลาสติก” – บทเรียนนานาชาติ

สำรวจเพื่อนร่วมโลก กลยุทธ์ลด “ถุงพลาสติก” – บทเรียนนานาชาติ

28 มีนาคม 2012


ที่มาภาพ : http://www.reusethisbag.com/reusable-bag-infographics/plastic-bag-bans-world.asp
ที่มาภาพ : http://www.reusethisbag.com/reusable-bag-infographics/plastic-bag-bans-world.asp

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมืองไทยของเราตื่นตัวเรื่องลดการใช้ถุงพลาสติกกันมาก มีการลด-แลก-แจก-แถม หรือแม้กระทั่งขายถุงผ้าหลากหลายรูปแบบและสีสัน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาพกถุงผ้าไปช็อปปิ้ง ลดการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความตื่นตัวก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนไม่น่าแปลกใจถ้าเห็นใครต่อใครถือถุงพลาสติกกันอย่างเต็มไม้เต็มมือเหมือนเดิม

นอกจากเมืองไทยของเราแล้ว ก็ยังมีหลายประเทศทั่วโลกที่พยายามรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยแต่ละแห่งก็มีแนวที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การส่งเสริมการใช้ถุงผ้าเหมือนเมืองไทย เรื่อยไปจนถึงการเก็บภาษีถุงพลาสติก และการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.plasticbageconomics.com ระบุว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกกันประมาณ 500,000 ล้าน – 1 ล้านล้านใบ ซึ่งแม้จะมีประโยชน์หลากหลาย แต่ถุงพลาสติกเหล่านี้ก็สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากมหาศาล จึงทำให้หลายๆ ประเทศต้องพยายามแก้ปัญหานี้

เรามาลองดูกันว่า ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีมาตรการจัดการกับถุงพลาสติกกันอย่างไรบ้าง


บางประเทศเลือกแก้ปัญหาแบบ market based solution ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สุดโต่งเกินไปนัก เพราะเข้าใจดีว่า บางครั้งถุงพลาสติกก็มีความจำเป็น ไม่สามารถห้ามใช้ได้หมดทุกกรณี ดังนั้น “ไอร์แลนด์” จึงตัดสินใจใช้มาตรการ “เก็บภาษีถุงพลาสติก”

ในอดีต ไอร์แลนด์มียอดใช้ถุงพลาสติกประมาณ 1,280 ล้านใบต่อปี หรือโดยเฉลี่ยชาวไอริชใช้ถุงพลาสติกกันคนละ 325 ใบต่อปี ซึ่งร้านค้าปลีกต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อแก้ปัญหาการใช้ถุงพลาสติกมากเกินไป ไอร์แลนด์จึงเริ่มบังคับใช้ข้อบังคับการจัดการขยะเมื่อปี 2544 โดยเก็บภาษีถุงพลาสติก 15 ยูโรเซนต์ต่อใบ ซึ่งเป็นอัตราที่สูง และช่วยส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ชาวไอริชรู้ว่า ถึงเวลาต้องเลือกใช้ถุงแบบใช้ซ้ำแล้ว การเก็บภาษีนี้ครอบคลุมการใช้ถุงพลาสติกทุกใบ ยกเว้นกรณีถุงพลาสติกที่ใช้ใส่เนื้อสดหรืออาหารสด

ในปีแรกที่เริ่มเก็บภาษี พบว่า ไอร์แลนด์สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ประมาณ 90% จาก 1,200 ล้านใบ เหลือเพียง 235 ล้านใบ นอกจากนี้ยังนำเงินภาษีส่วนนี้ 10 ล้านยูโร ไปใช้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ขณะที่ยอดขายถุงแบบใช้ซ้ำก็พุ่งพรวด และสามารถลดขยะทั่วประเทศลงได้อย่างมาก

ต่อมาในปี 2550 ไอร์แลนด์ขึ้นภาษีถุงพลาสติกเป็น 22 ยูโรเซนต์ต่อใบ หลังจากมียอดใช้ถุงพลาสติกในช่วงปี 2547-2549 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นอกจาก “ไอร์แลนด์” แล้ว อีกหนึ่งประเทศในยุโรปที่เลือกมาตรการเก็บภาษีเหมือนกันก็คือ “เดนมาร์ก” แต่เป็นเก็บภาษีในรูปแบบที่ต่างกัน โดยเมื่อปี 2537 เดนมาร์กเริ่มเก็บภาษีถุงพลาสติกในอัตรา 22 เดนิชโครน หรือประมาณ 125 บาทต่อถุงพลาสติก 1 กิโลกรัม โดยภาษีนี้จะเก็บจากผู้ค้าปลีก และช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้ประมาณ 66% แต่ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้มากเหมือนกับการเก็บภาษีของไอร์แลนด์

ขณะที่ไอร์แลนด์และเดนมาร์กเลือกใช้มาตรการแบบ market based solutions แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เลือกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด หรือเรียกได้ว่าเป็นทางออกแบบ non-market based solution ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่เลือกแนวทางนี้ จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีโครงสร้างในการเก็บภาษีที่ดีพอ

หลายประเทศในเอเชียเลือกใช้แนวทางนี้ เช่น “บังกลาเทศ” ที่เป็นประเทศแรกของโลกที่ตัดสินใจ “แบน” ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด เพราะเคยประสบปัญหาขยะถุงพลาสติกจำนวนมหาศาลที่เข้าไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2531 และ 2541 เพราะน้ำระบายไม่ทัน

ปัญหาของบังกลาเทศเกิดจากการขาดระบบกำจัดถุงพลาสติกที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ บังกลาเทศเคยมียอดใช้ถุงพลาสติกประมาณ 9 ล้านใบต่อวัน และประมาณ 85% ถูกทิ้งเป็นขยะเรี่ยราดตามท้องถนน และตั้งแต่ปี 2545 บังกลาเทศประกาศห้ามผลิตและใช้ถุงพลาสติกโดยเด็ดขาด ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับสูงถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาตรการนี้ทำให้ชาวบังกลาเทศเลิกใช้และทิ้งถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด

ส่วนใน “อินเดีย” ก็มีปัญหาคล้ายคลึงกับในบังกลาเทศ คือ ถุงพลาสติกเข้าไปกีดขวางการระบายน้ำของท่อระบายน้ำ ซึ่งทำให้น้ำท่วมหนักเพราะระบายน้ำไม่ทัน ดังนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐหิมาจัลประเทศ เป็นรัฐแรกในอินเดียที่ประกาศห้ามผลิต สะสมสต็อก จำหน่าย แจกจ่าย หรือใช้ถุงพลาสติก

และในเวลาต่อมา ก็มีเทศบาลและรัฐบาลท้องถิ่นของอีกหลายรัฐตัดสินใจแบนถุงพลาสติก หรือบางแห่งก็ออกกฎหมายกำหนด “ความหนา” ของถุงพลาสติก เช่น เมืองมุมไบที่เริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2543 อันเป็นผลจากปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากน้ำท่วมหนักช่วงฤดูมรสมเพราะถุงพลาสติกเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ และการทิ้งถุงพลาสติกในพื้นที่เกษตรกรรมก็ทำให้มีสารปนเปื้อนในผักผลไม้และธัญพืช ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์

ทั้งนี้ หลังการบังคับใช้กฎนี้ เทศบาลมุมไบก็เก็บถุงพลาสติกได้น้อยลงประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อปี

ส่วนในกรุงเดลี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ได้ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านอาหาร ร้านขายของชำ และโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงขึ้นไป

ขณะที่เมืองปูเน่ ห้ามใช้ถุงพลาสติกที่บางเกินไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา และในเมืองจันดิกาฮ์ ก็ออกกฎแบนถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2551 เช่นกัน

ขณะเดียวกัน “ไต้หวัน” ก็ตัดสินใจห้ามใช้ถุงพลาสติกเหมือนกัน โดยก่อนหน้าออกกฎห้ามใช้ในปี 2544 ไต้หวันมียอดใช้ถุงพลาสติกช้อปปิ้ง 16 ล้านใบ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายก็มีหลายระยะ โดยระยะแรก ห้ามใช้ถุงพลาสติกในโรงเรียน กองทัพ และหน่วยงานราชการอื่นๆ ต่อมาในระยะที่ 2 ห้ามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และฟาสต์ฟู้ดใช้ถุงพลาสติก ส่วนระยะที่ 3 ที่เป็นระยะสุดท้าย ห้ามหาบเร่แผงลอยใช้ถุงพลาสติก และหากใครฝ่าฝืนก็จะเจอโทษปรับ 300,000 ดอลลาร์ไต้หวัน มาตรการห้ามของไต้หวันได้ผลชะงัด เพราะประชาชนเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด แต่ยอดการใช้ถุงกระดาษกลับเพิ่มขึ้นแทน

นอกจาก 3 ประเทศข้างต้นแล้ว ก็ยังมีหลายประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่ใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการกับปัญหาถุงพลาสติกล้นเมือง เช่น “ภูฏาน” ที่เริ่มแบนถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2542 แต่ไม่ได้ผลนัก เพราะมีปัญหาด้านการบังคับใช้กฎ และยังไม่มีทางเลือกอื่นมาทดแทนถุงพลาสติก จนต่อมารัฐบาลต้องออกแถลงการณ์ย้ำการบังคับใช้กฎนี้อีกครั้งในปี 2548 และปี 2552

ส่วนมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่าง “จีน” รัฐบาลเริ่มห้ามผลิต แจกจ่าย และใช้ถุงพลาสติกชนิด HDPE และอนุญาตให้ผู้ค้าปลีกเก็บค่าถุงพลาสติกชนิด LDPE จากลูกค้าได้ หากถุงมีความหนามากกว่า 0.025 ไมโครเมตร (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลาสติกแบบ HDPE และ LDPE)

ทั้งนี้ ประเมินกันว่ามาตรการแบนครั้งนี้ ทำให้การใช้ถุงพลาสติกของซูเปอร์มาร์เก็ตลดลงประมาณ 2 ใน 3 และก่อนหน้าการออกกฎดังกล่าว จีนมียอดการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 3,000 ล้านใบต่อวัน หรือเท่ากับการทิ้งถุงพลาสติกน้ำหนักประมาณ 3 ล้านตันต่อปี

นอกจากการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบเด็ดขาดข้างต้นแล้ว จีนก็มีการใช้มาตรการแบบสมัครใจเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก โดยโครงการ “วันปลอดถุงพลาสติก” แบบสมัครใจ เมื่อปี 2549 ทำให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงประมาณ 40%

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง “มาเลเซีย” ก็พยายามรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปลายปี 2552 โดยซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าในรัฐปีนังออกแคมเปญไม่ใช้ถุงพลาสติกในวันจันทร์แรกของเดือน ส่วนห้างคาร์ฟูร์ ให้สิทธิ์ลูกค้าที่พกถุงแบบใช้ซ้ำได้มาเองชำระเงินค่าสินค้าได้ก่อนลูกค้าที่ไม่พกถุง

ด้าน “เมียนมาร์” ก็ออกมาตรการแบนถุงพลาสติกในหลายเมือง เช่น มัณฑะเลย์ บากัน และ เนปิดอว์ และทางการเมียนมาร์ได้ประกาศให้พื้นที่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนืออย่างเมืองมี๊ตจินา และ เมืองสะกาย เป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติก

ขณะที่ “เมืองไทย” ของเราใช้มาตรการแบบรณรงค์ขอความร่วมมือกันมากกว่า แต่หากช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกไม่ได้มากเหมือนที่ตั้งใจไว้ ก็น่าจะลองศึกษาตัวอย่างความสำเร็จจากประเทศอื่นๆ และนำมาประยุกต์ใช้บ้าง

รวบรวมข้อมูลจาก www.treehugger.com ,www.planetark.org,www.plasticbageconomics.com