ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แผนปตท.ลอยตัวก๊าซแอลพีจี : แกะไส้ในต้นทุนก๊าซที่แท้จริง (1)

แผนปตท.ลอยตัวก๊าซแอลพีจี : แกะไส้ในต้นทุนก๊าซที่แท้จริง (1)

2 พฤศจิกายน 2011


กรณีที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในภาคขนส่งไปแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2555 เป็นต้นไป นโยบายดังกล่าวนี้จะมีผลทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีทยอยปรับราคาขึ้นไปเดือนละ 1 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลา 12 เดือน คาดว่าจะทำให้ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี ณ วันสิ้นปี 2555 มีราคาอยู่ที่ 16.21 บาทต่อลิตร ส่วนเอ็นจีวีจะมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 14.5 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับเหตุผลของการประกาศลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมารัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเดือนละ 3,000-4,000 ล้านบาท ไปจ่ายชดเชยให้กับคนที่ใช้ก๊าซแอลพีจี ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนที่ใช้น้ำมัน และในระยะยาวจะทำให้โครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศบิดเบือน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับราคาให้ลอยตัวขึ้นไปบ้าง ส่วนก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือน ยังคงตรึงราคาต่อไปจนถึงสิ้นปี 2555

ปตท.แจงต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีตามสถานีให้บริการ
ปตท.แจงต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีตามสถานีให้บริการ

ปตท.แปะใบปลิวหน้าปั๊ม แจงต้นทุน NGV

หลังจากที่รัฐบาลประกาศลอยตัวก๊าซที่ใช้ในภาคขนส่ง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้นำใบปลิว “รู้จริง เข้าใจ เพื่อการใช้ NGV” ไปติดที่ตู้หัวจ่ายก๊าซในปั๊มปตท.เกือบทุกแห่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่เติมก๊าซได้ทราบถึงต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีที่แท้จริงมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.96 บาท ไม่ใช่กิโลกรัมละ 8.50 บาท

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มาภาพ : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มาภาพ : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งได้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดกล่าวว่า จากเอกสารที่ปตท.นำออกมาเผยแพร่นั้น วัตถุประสงค์คือต้องการจะขอปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี แค่ตัวเนื้อก๊าซที่ถูกดูดขึ้นมาจากหลุม ก็มีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.39 บาท นำมามาขายที่กิโลกรัมละ 8.50 บาทได้อย่างไร เมื่อบวกต้นทุนค่าผ่านท่อก๊าซ ค่าบริหารจัดการ และต้นทุนในการจัดหารถบรรทุกขนาดใหญ่ลำเลียงก๊าซไปส่งที่ปั๊มอีกกิโลกรัมละ 5.56 บาท ทำให้ก๊าซเอ็นจีวีมีต้นทุนโดยรวมอยู่ที่ 14.96 บาท

“แต่ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซที่บริษัทปตท.นำออกมาเผยแพร่กับประชาชนที่ราคากิโลกรัมละ 8.39 บาท เป็นราคาเดียวกันกับที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทางคณะกรรมาธิการฯ เชื่อว่า ไม่น่าจะใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง แต่เป็นราคาที่บวกกำไรไปเรียบร้อยแล้ว” นางสาวรสนากล่าว

ต้นทุนที่แท้จริงกิโลกรัมละ 2 บาท

นางสาวรสนากล่าวต่อว่า หากนำราคาต้นทุนเนื้อก๊าซจากหลุมที่บริษัทปตท.ซื้อจากอ่าวไทย ไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก โดยเฉพาะที่แหล่ง HENRY HUB ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่สหรัฐ ปัจจุบันมีการโค้ดซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติกันที่ราคา 3 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ล้านบีทียู ซึ่งหน่วย 1 ล้านบีทียูจะมีค่าเท่ากับ 108 กิโลกรัม เมื่อคำนวณราคาออกมาแล้ว ราคาก๊าซดิบที่หลุม น่าจะมีราคาไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาต้นทุนที่ 8.39 บาทที่ปตท.นำออกมาแสดง จึงน่าจะเป็นราคาที่บวกกำไรไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องค่าขนส่งกิโลกรัมละ 5.56 บาท หากนำมาเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ปตท.นำมาชี้แจง ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นสัดส่วน 39.85 % แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบกับต้นทุนก๊าซที่ซื้อมาจากหหลุมอ่าวไทย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 73 % ประเด็นนี้ต้องไปถามนักเศรษฐศาสตร์ว่าต้นทุนค่าขนส่งสูงขนาดนี้สมควรที่จะดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ต่อไปหรือไม่ หากบริษัทปตท.บริหารจัดการต้นทุนไม่ดี สุดท้ายก็โยนภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค โดยการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี

ที่มา  :  จากรายงานนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
ที่มา : จากรายงานนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

เติม CO2 เกินมาตรฐาน หวั่นถังระเบิด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบ กล่าวคือ รถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ตัวเครื่องยนต์จะมีความร้อนสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี ทำให้รถยนต์สึกหรอเร็วขึ้น ค่าบำรุงรักษาเพิ่มสูงตาม และกรมธุรกิจพลังงานประกาศคุณสมบัติของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ในประเทศไทยให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่ได้ถึง 18% ของปริมาตร ในขณะที่มาตรฐานสากลทั่วโลกกำหนดให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยูในเนื้อก๊าซได้ไม่เกิน 3%

“ทำไมต้องออกประกาศให้มี CO2 สูงถึง 18% ถ้าไปดูแหล่งผลิตก๊าซในประเทศไทยจะมีCO2 ปะปนอยู่ตามธรรมชาติ แต่ละหลุมจะมีปริมาณ CO2 ปนอยู่ไม่เท่ากัน แต่ถ้านำทุกหลุมมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยจะมี CO2 ปนอยู่ที่ 17.33% รัฐบาลส่งเสริมให้คนหันมาใช้เอ็นจีวี โดยการใช้อำนาจรัฐออกประกาศแบบนี้ ถือว่าเป็นการตั้งโจทย์ให้ตรงกับคำตอบ แต่การที่ปตท.นำ CO2 มาเติมลงในก๊าซเอ็นจีวี มันอาจจะทำให้เกิดเหล็กคาร์บอนเนต กัดผนังด้านในของถังให้สึกกร่อนเร็วขึ้น และอาจจะมีผลทำให้ถังก๊าซที่มีแรงดันภายในสูงถึง 200 บาร์ ระเบิดได้” นางสาวรสนา กล่าว