ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > หมอณรงค์กับประเด็นยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค

หมอณรงค์กับประเด็นยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค

19 พฤศจิกายน 2014


 

บริบท

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 ตามรายงานข่าวจากเว็บไซต์ประชาไท ได้มีการนำเสนอข้อมูลที่พาดพิงถึงปลัด สธ. ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นผู้รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ว่าได้มีการนำเสนอเรื่องการปฏิรูประบบการเงินของ สธ. เสนอแก่ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ที่เข้าตรวจเยี่ยม สธ. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557

 

โดยปรากฏหลักฐานยืนยันว่า นพ.ณรงค์ได้เสนอเรื่องนี้แก่ พล.ร.อ. ณรงค์ ในรายงานสรุปผลการตรวจเยี่ยม สธ. โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ รายละเอียดส่วนที่เป็นประเด็นมีดังนี้

 

ในเอกสารสรุปการตรวจเยี่ยมข้อ 4 เป็นประเด็นที่ พล.ร.อ.ณรงค์ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยข้อ 4.7 ระบุว่า เห็นด้วยกับการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับการจ่ายค่าบริการ กระทรวงสาธารณะสุขต้องมีการคำนวณตัวเลขออกมาว่า การมีส่วนร่วมในการจ่ายของประชาชน ต้องจ่ายเท่าไร เช่น 30-50% และต้องหาหลักเกณฑ์ออกมา เพราะเห็นอนาคตข้างหน้าแล้วว่าแนวทางของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ไปต่อไม่ไหว

 

 

เอกสารสรุปการตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข ของพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ด้านสังคมจิตวิทยา

 

วิเคราะห์ข้อมูล

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ตามรายงานข่าวจากเว็บไซต์ประชาไทข้างต้น ได้กล่าวถึงสถานการณ์บอกเหตุอันเป็นเค้าลางว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

โดยอ้างว่า ปลัด สธ. ผู้รับผิดชอบหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่ในการเรียกประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ไม่มีการเรียกประชุมมา 2 เดือนแล้ว ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้มีการอนุมัติตัวยาใหม่ๆ หลายรายการ

 

“ตอนนี้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีก็ยังไม่ได้อนุมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ถ้าไม่ได้ยาก็พัฒนากลายไปเป็นมะเร็งตับ ค่ารักษาก็แพงอีก นี่เป็นความทุกข์ แต่ยังไม่ประชุมบอร์ดกว่า 2 เดือนแล้ว บอร์ดจะประชุมได้ประธานต้องเรียก ก็ไปดูแล้วกันว่าใครเป็นประธาน แล้วทำไมถึงไม่เรียกประชุมบอร์ดเสียที ตรงนี้อยากฝากไปถึง คสช. ที่พูดตลอดเวลาว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะและวางรากฐาน แต่ตอนนี้เรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน และไม่เคยมีข้อเสนอที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

ทั้งนี้ นายนิมิตร์ให้ความเห็นว่า ข้อมูลที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจ่าย (co-pay) หากไม่เช่นนั้นระบบจะล้มละลายตามที่ปลัด สธ. อ้างกับ คสช. นั้นเป็นข้อมูลที่ผิด อันที่จริงแล้วรัฐจ่ายแค่เพียง 7% อีกทั้งระบบประกันสุขภาพนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

 

“การที่ สธ. บอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะอยู่ไม่ได้เพราะใช้เงินเยอะ ไม่จริง เพราะรัฐจ่ายเพื่อสุขภาพเพียง 7% เท่านั้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มมาก ทั้งช่วยลดความยากจนในครัวเรือนได้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติมาโดยตลอดว่ามีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณที่ไม่มากแต่สามารถช่วยประชาชนให้พ้นความยากจนได้จริง ถ้ารัฐจะผลักภาระตรงนี้ ทหารเกณฑ์ที่ใช้บัตรทองก็ต้องมาแบกรับด้วย

 

ต่อมา ไทยโพสต์ออนไลน์ ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 รายงานข่าวการประชุมร่วมระหว่างปลัด สธ. และประชาคมสาธารณสุข ซึ่งนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ออกมารับว่าตนเป็นผู้เสนอต่อ คสช.

 

“ผมยอมรับว่าเป็นคนเสนอเรื่องนี้จริงๆ แต่ไม่ได้พูดถึงตัวเลข 30-50% เพราะถ้าพูดจริงๆ ไม่สามารถให้ประชาชนร่วมจ่ายได้มากขนาดนั้น ที่สำคัญคือรัฐไม่ยอมปล่อยให้คนยากจนต้องล้มละลาย คนที่ควรจะได้รับสิทธิฟรีก็ต้องได้รับการยกเว้น ที่สำคัญคือโรคที่ทำตนเอง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพ”

 

ด้านนายแพทย์ณรงค์ยังคงยืนยันคำเดิมว่า ข้อเสนอทั้งหมดได้จัดทำออกมาเป็นหนังสือข้อเสนอการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุข แม้ในการประชุมช่วงท้ายจะมีการเสนอให้แต่ละฝ่ายกลับไปทบทวนเรื่องที่จะให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่ในการประชุมยังไม่มีการเสนอตัวเลขว่าจะให้ประชาชนร่วมจ่ายเท่าไร

 

อย่างไรก็ตาม โพสทูเดย์ออนไลน์ ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ได้มีการนำเสนอข่าวในประเด็น “เปิดบันทึกประชุมถกร่วมจ่าย"

 

 โดยในรายงานระบุว่า

 

‘เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและยุติความสับสน "โพสต์ทูเดย์" ถอดคำพูดในการประชุมวันดังกล่าว ซึ่งเป็นความจริงที่ว่า นพ.ณรงค์ ไม่ได้พูดหรือนำเสนอให้มีการ "ร่วมจ่าย" ต่อ คสช. ด้วยตัวเอง

 

ทว่ากลับมีผู้บริหารระดับอธิบดีซึ่งเป็นคนใกล้ชิด นพ.ณรงค์ นำเสนอแทน โดยได้กล่าวแทรกขึ้นช่วงท้ายก่อนปิดการประชุมอย่างฉิวเฉียด อธิบดีรายนี้ยอมรับว่า สธ. มีแนวคิดดังกล่าวมานานแล้ว ขณะที่ประธานการประชุม พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ก็ได้ให้แนวทางการดำเนินการตามที่ สธ. นำเสนอ

การประชุมร่วมระหว่าง สธ. และ คสช. ดำเนินไปร่วม 2 ชั่วโมง กระทั่งช่วง 5 นาทีสุดท้าย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวแทรกขึ้น

 

"ขออนุญาตเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภาระในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ 65 ล้านคนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อย่างที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เรียนไว้แล้วว่าในระบบมีเงินที่จะต้องดูแลอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาทและทั้งหมดก็รักษาฟรี ส่วนใหญ่ก็จะมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็น สปสช. กรมบัญชีกลาง หรือประกันสังคม ตามจ่ายอยู่

 

ปัญหาก็คือว่า ในงบประมาณที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและก็มีค่าใช้จ่ายในการดูแลจำนวนครั้งต่อปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ส่งผลให้บุคลากร สธ. ไม่เพียงพอ ถ้ามองไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นระบบแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็คงจะชดเชยเงินเท่าไรก็คงไม่พอ ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้อเสนอก็คือว่า มองในระยะกลางและระยะยาวคงจะต้องมีการปรับระบบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตัวเองบ้าง นั่นก็คือการให้เกิด 'co-payment' ด้านสุขภาพเหมือนอย่างที่ทั่วโลกทำกัน เพราะในวันนี้ถ้าทุกอย่างฟรีหมดก็จะทำให้ประชาชนใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง

 

สิ่งนี้ (นโยบายร่วมจ่าย) เป็นเรื่องที่ทางเรา (สธ.) พยายามทำอยู่แล้ว แต่ที่ทำไม่ได้เพราะมีประเด็นปัญหาเรื่องของคะแนนเสียงอะไรต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็เป็นโอกาสที่จะมองในเชิงปรับระบบให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นและให้ประชาชนดูแลตัวเองมากขึ้น"

 

ทันทีที่ นพ.ธวัชชัย สิ้นสุดคำ พล.ร.อ. ณรงค์ ในฐานะประธานการประชุมกล่าวตอบ

 

"ที่พูดมานี้ถือว่าตรงเลย เพราะว่าเราเห็นปัญหาข้างหน้าอยู่แล้ว ปีนี้ 2 แสนล้านบาท ปีถัดไปคนอายุเพิ่มขึ้นแล้วไม่เสียชีวิตสักที (เสียงหัวเราะดังทั้งห้องประชุม) รวมทั้งตัวผมเองด้วย ก็มีค่าดูแลเพิ่มขึ้น แล้วถึงตอนนั้นเราคงไม่สามารถหาเงินมาอุดหนุนตรงนี้ได้

 

ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งในการที่จะให้ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาหรือประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการจ่าย แต่ก่อนมี 30 บาทรักษาทุกโรค ก็อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูแล้วมันต่ำไปหรือเปล่า หรือมันพอเหมาะไหม หรือถ้าจะมีส่วนร่วมทาง สธ. ก็ต้องคิดว่าจะต้องมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ในราคายาหรือราคาค่าตรวจรักษา 100 บาท คนที่ไปใช้บริการจะเสียสักเท่าไร 50% หรือ 30% หรืออะไรอย่างนี้ คงต้องหาตัวเลขหรือว่าหลักเกณฑ์ตรงนี้ออกมาให้ได้

 

ซึ่งผมว่าต้องมองแล้วในตอนนี้ เพราะเราคงอุดหนุนเงินทั้งหมดในระยะยาวคงเห็นอนาคตข้างหน้าแล้วว่าจะไปไม่ไหว นอกจากเราจะไปจดภาษีเรื่องสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้นๆ คนก็จะมีปัญหาอีกเหมือนกัน ก็ฝากให้คิดกันด้วย"

 

พล.ร.อ. ณรงค์ย้ำในช่วงสุดท้ายของการประชุมว่า ฝากเรียนทุกท่านว่า คสช. ไม่ได้ต้องการมาล้วงลูกหรือมาทำอะไรทั้งสิ้นใน สธ. แต่ต้องการช่วยผลักดันงานที่ค้างอยู่ให้ดำเนินการเร็วยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ พล.ร.อ. ณรงค์ยังให้อำนาจ ปลัด สธ. รื้อโครงการที่ดูแล้วไม่เหมาะสม หรือสุ่มเสี่ยงว่าเป็นใบสั่งทางการเมืองทิ้ง

 

"แผนงานโครงการต่างๆ ในปี 2558 ถ้าทาง สธ. เห็นว่าแผนโครงการใดที่พิจารณามาก่อนหน้านี้แล้วเบี่ยงเบนหรือไม่ตอบสนองข้อเท็จจริง อาจด้วยมีอะไรเข้ามาแทรกแซงบ้าง หรือโครงการไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มีความผิดเพี้ยนไป ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการที่จะปรับ คิดว่าท่านผู้บริหาร สธ. จะใช้ช่วงโอกาสดีๆ นี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่เดือน ตัดโครงการเหล่านั้นทิ้งไปให้หมดเลยเพื่อปฏิรูประบบให้เข้าที่เข้าทาง" หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ทิ้งท้ายก่อนกล่าวปิดการประชุม’

 

โดยในวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน ได้ทำการสัมภาษณ์นายนิมิตร์ เทียนอุดม ซึ่งให้ความเห็นว่า ตนทราบอยู่แล้วว่านายแพทย์ธวัชชัยเป็นผู้เสนอประเด็นดังกล่าว แต่ นพ.ณรงค์ในฐานะปลัด สธ. ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด และยังรักษาการประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ดูแลเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลับไม่ทักท้วงประเด็นนี้ ปล่อยให้มีการนำเสนอและให้มีการบันทึกเป็นเอกสาร หากสุดท้ายรายงานนี้ไปบรรจุในแผนปฏิรูประบบสุขภาพจะทำอย่างไร พร้อมตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า สมควรหรือไม่ที่ปลัด สธ. ควรรับผิดชอบเรื่องนี้

 

สรุป

 

จากข้อมูลข้างต้นโดยเฉพาะการถอดคำพูดในการประชุมตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 จะเห็นได้ว่า นายแพทย์ ธวัชชัย เป็นผู้เสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายในระบบประกันสุขภาพจริง และที่ประชุมไม่มีท่าทีคัดค้านแต่อย่างใด อีกทัั้ง พลร.อ. ณรงค์ก็ได้ทำการสรุปว่าตนนั้นเห็นด้วยกับการให้ประชาชนร่วมจ่าย และได้เสนอให้ สธ. คิดว่าจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด โดยยกตัวอย่างว่าอาจให้ประชาชนร่วมจ่ายโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 30% หรือ 50% อีกทั้งยังทิ้งท้ายด้วยการให้อำนาจ สธ. ปฎิรูประบบต่างๆ ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม จนออกมาเป็นสรุปการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว

 

ดังนั้น คำกล่าวของนายแพทย์ณรงค์ที่ว่า “สำหรับแนวคิดการให้ประชาชนร่วมจ่ายนั้น ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมและที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยและมีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อย่างใด” ข้อความนี้จึงจัดอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

 

ป้ายคำ :